Thursday, June 9, 2016

ความเสี่ยงของหุ้น PE ต่ำ โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ความเสี่ยงของหุ้น PE ต่ำ 


นักลงทุนที่เป็น VI แบบดั้งเดิมที่เน้นลงทุนแต่หุ้นที่มีราคาถูกมากหรือหุ้นที่มีค่า PE ต่ำหรือต่ำมากโดยที่ไม่ได้มีรายการกำไรพิเศษนั้น  ควรที่จะต้องรู้ว่า  บ่อยครั้งหุ้นที่มีค่า PE ต่ำก็ไม่ใช่หุ้นที่จะปลอดภัยหรือน่าลงทุน  เหตุผลมีมากมาย  ประเด็นสำคัญก็คือ  เราต้องรู้ว่าบริษัทนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอะไร  แนวโน้มหรือวัฏจักรอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงไหน  สถานะของกิจการในอนาคตจะเป็นอย่างไร  เป็นต้น

เหตุผลข้อแรกที่ทำให้หุ้น PE ต่ำมีความเสี่ยงนั้นอาจจะเป็นเพราะบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรม Cyclical หรืออุตสาหกรรมที่มีวัฏจักรขึ้นลงเป็นรอบ ๆ  รอบละอาจจะเป็นปีหรือหลายปี   ในช่วงที่อุตสาหกรรมเป็น  “ขาขึ้น”  กำไรอาจจะสูงมากจนทำให้ค่า PE ต่ำมากและนั่นอาจจะทำให้เราเข้าไปซื้อหุ้น   แต่ความเสี่ยงก็คือ  เราไม่รู้ว่าวัฏจักรยังจะขึ้นต่อไปไหมและอีกนานเท่าไร  ถ้าเราซื้อและถือไว้แล้วพบว่ากำไรในช่วงต่อไปกำลังลดลง  ค่า PE ก็จะ “กลับทิศ” คือเพิ่มขึ้นและอาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   และนั่นอาจจะทำให้คนเริ่มขายหุ้นและขายหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จนในที่สุดราคาก็จะตกลงมาอย่างหนักเนื่องจากวัฏจักรกลายเป็น  “ขาลง”  สมบูรณ์แบบ  กำไรของบริษัทที่เคยสูงมากกลายเป็นขาดทุน  เช่นเดียวกัน  ราคาหุ้นที่เคยสูงมากตกลงมาแทบจะเป็น  “หายนะ”  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดที่ผ่านมาในตลาดหุ้นไทยก็คือบริษัทเดินเรือที่เคยทำกำไรมหาศาลเป็นเวลาติดต่อกันหลายปีก่อนหน้านี้  แต่ในระยะหลังกลับขาดทุน  ราคาหุ้นเคยขึ้นไปหลายเท่าโดยที่ค่า PE ก็ต่ำมากนั้น  ตกต่ำลงอย่างหนักในขณะที่ค่า PE กลับสูงลิ่ว

ธุรกิจที่เป็น Cyclical นั้นยังมีอีกมากมาย  ตัวอย่างก็คือธุรกิจปิโตรเคมีและที่เกี่ยวเนื่องเช่นพวกพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์จากพลาสติกเช่นแผ่นฟิล์มต่าง ๆ นั้นต่างก็เคย  Boom และ Bust หรือราคาสินค้าขึ้นเป็น “ฟองสบู่”  และ “แตก” มาเป็นระยะ  ซึ่งในระหว่างนั้นหุ้นก็ปรับตัวขึ้น  บางตัวขึ้นไปหลายเท่าในเวลาอันสั้น  แต่หลังจากนั้นก็ตกลงมาเท่า ๆ  กับที่ขึ้นไปหรือลงมามากกว่าเมื่อวัฏจักร์ของราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไปเป็นขาลง   ในกระบวนการนั้นก็อาจจะทำให้นักลงทุนบางคนเป็น “เศรษฐี”  ในขณะที่หลายคนกลายเป็น  “ยาจก”  ทั้ง ๆ  ที่เขาคิดว่าหุ้นนั้นมี PE ต่ำและเป็นหุ้นที่ “ไม่เสี่ยง”  อย่างไรก็ตาม  ก็จะมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า  นักลงทุนในตลาดหุ้นนั้นมักจะมีความจำสั้นมาก  พวกเขามักจะสนใจแต่เรื่องที่กำลังเกิดขึ้น  ความโลภทำให้คนลืมความเสี่ยง  นี่คือสัจธรรมและคงติดอยู่ในยีนส์ของคนเรามานานตั้งแต่มีมนุษย์

ข้อสองที่ทำให้หุ้นมี PE ต่ำ  บางทีต่อเนื่องมาหลายปีก็คือ  หุ้นตัวนั้นอยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรม  “ตกดิน” หรือ “Sun Set”  แล้ว   อุตสาหกรรมตกดินนั้นส่วนใหญ่ก็คืออุตสาหกรรมที่ประเทศไทย  “หมดความสามารถในการแข่งขัน”  เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น   ดังนั้น  ในอนาคตมันก็จะค่อย ๆ  เลิกกิจการไปเนื่องจากราคาสินค้าที่ขายมักจะต่ำแต่ต้นทุนการผลิตมักจะสูงจนทำให้ขาดทุนและการขาดทุนก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ  จนในที่สุดก็ต้องปิดกิจการ  และนี่ก็คือตอนท้ายของเรื่อง  แต่ในช่วงที่เพิ่งจะเริ่มเข้าสู่  Sun Set นั้น  หลาย ๆ  บริษัทก็จะยังมีกำไรและก็ยังมีกำไรต่อเนื่อง  ค่า PE ของหุ้นก็จะต่ำถึงต่ำมาก  บางทีเป็นเพราะราคาหุ้นถดถอยลงมา  แต่ถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้นและคิดว่ามันมีราคาถูกมากและอาจจะจ่ายปันผลดีด้วย  ผลสุดท้ายเมื่อกำไรเริ่มตกต่ำลงราคาหุ้นก็จะตกต่ำลงเรื่อย ๆ  และไม่มีทีท่าจะฟื้นได้เลย  การลงทุนก็อาจจะกลายเป็นหายนะได้  ตัวอย่างของหุ้นเหล่านี้น่าจะรวมถึงธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานสูงที่ต้องแข่งขันกับประเทศที่มีค่าแรงต่ำเช่นสิ่งทอและชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกบางอย่าง  เป็นต้น

ข้อสามที่ทำให้หุ้นมีค่า PE ต่ำโดยที่หลายคนก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้นก็คือหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลัง “อิ่มตัว” หรืออาจจะไม่โตแล้ว  หรือไม่ก็โตช้าลงไปมาก  ตัวอย่างของหุ้นกลุ่มนี้ก็น่าจะรวมถึงหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่โตช้าลงหรืออาจจะหยุดโตเนื่องจากประชากรคนไทยที่แทบจะไม่ค่อยเพิ่มแล้ว   ธุรกิจการเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหลักทรัพย์ที่การเพิ่มขึ้นของรายได้ในอนาคตน่าจะยากขึ้นเรื่อย ๆ  หรือธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ  ที่อาจจะต้องเผชิญกับการถดถอยหรือโตช้าลงของเศรษฐกิจไทยและโลกที่อาจจะต่อเนื่องไปอีกนานเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เน้นทางด้านดิจิตอลมากขึ้นเรื่อย ๆ  เทียบกับอุปกรณ์ที่จับต้องได้

หุ้นของกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังอิ่มตัวนั้นมีความเสี่ยงก็คือ  มันไม่โต  หรือบางทีก็ถดถอยลงเนื่องจากมันแพ้คู่แข่งในตลาดที่มีการแข่งขันสูงเนื่องจากผู้เล่นต่างก็ต้องแย่งตลาดที่ไม่โตกัน  และถ้าเป็นสถานการณ์ดังกล่าว  หุ้นตัวนั้นอาจจะมีกำไรลดลงหรือเพิ่มน้อยมากทำให้นักลงทุนไม่สนใจซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นไม่ไปไหนเป็นเวลานาน  ค่า PE ก็อาจจะมีแนวโน้มต่ำเช่นเดิมไปนานแบบ  “ต่ำเรื้อรัง”  เรียกว่าซื้อหุ้นอาจจะได้แค่ปันผล  แต่ถ้าโชคร้ายหุ้นที่ซื้อนั้นมีความสามารถต่ำกว่าคู่แข่ง  กำไรก็อาจจะลดลงและทำให้หุ้นตกลงตามไปด้วยแม้ว่าอาจจะไม่เป็นหายนะ  ดังนั้น  ความเสี่ยงของหุ้น PE ต่ำในกลุ่มนี้นั้นผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการ  “เสียโอกาส”  ของเงินมากกว่าประเด็นอื่น  อย่างไรก็ตาม  ถ้าหุ้นจ่ายปันผลสูง  เช่น ปีละไม่ต่ำกว่า 4-5%  นี่ก็อาจจะชดเชยการเสียโอกาสของเงินได้

ข้อสี่หรือกลุ่มที่สี่ที่มีค่า PE ต่ำนั้น   อาจจะเป็นเพราะว่านักลงทุนกลัวหรือคาดว่ากิจการทั้งหมดในอุตสาหกรรมนั้นกำลังจะมีปัญหา  รายได้และกำไรกำลังจะลดลงหรือไม่โต  ตัวอย่างชัดเจนก็คือกลุ่มแบ้งค์ที่คนกลัวว่าจะเกิดหนี้เสียที่จะทำให้ต้องสำรองมากขึ้นเช่นเดียวกับที่สินเชื่อก็จะไม่โต  ทั้งสองประเด็นนั้นมาจากการที่ภาวะเศรษฐกิจไทยที่โตช้าลงไปมากในช่วงเร็ว ๆ  นี้   ความเสี่ยงของการลงทุนซื้อหุ้นกลุ่มที่คาดว่ากำลังจะเผชิญกับปัญหาก็คือ  ปัญหามันเกิดขึ้นจริงและผลกระทบมันรุนแรงเกินคาดเนื่องจากการที่มันอาจจะเป็นทั้งระบบ  ในภาวะอย่างนั้น  หุ้นก็อาจจะตกลงมาหนักมากจนบางครั้งกลายเป็น  “หายนะ”

กลุ่มสื่อสารเองก็น่าจะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีค่า PE ต่ำลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ในการได้สิทธิ์ใช้คลื่นวิทยุที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับการแข่งขันที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมทำให้คนกลัวว่ากำไรของบริษัทในอุตสาหกรรมจะลดลงในอนาคต  ซึ่งความเสี่ยงถ้าเราซื้อหุ้นเหล่านี้ก็คือ  กำไรของบริษัทลดลงมากกว่าที่คิด  นอกจากนั้นอนาคตต่อไปก็อาจจะ “ไม่นิ่ง”  เนื่องจากมีความไม่แน่นอนของผู้เล่นใหม่ที่อาจจะเข้ามาได้อีกซึ่งจะทำให้การทำกำไรของบริษัทลดลง

ถ้าจะพูดโดยรวมแล้วผมเองคิดว่าความเสี่ยงของการลงทุนซื้อหุ้นที่มี PE ต่ำนั้นน่าจะน้อยกว่าการถือหุ้น PE สูงมาก  เหตุผลแรกก็คือ  ความคาดหวังในการลงทุนของนักลงทุนที่ซื้อหุ้น PE ต่ำนั้นมีไม่มาก  ดังนั้น  โอกาสผิดพลาดก็จะน้อยลง  ตัวอย่างเช่น  พวกเขาคิดว่าเศรษฐกิจแย่และหนี้เสียคงจะมากขึ้น   แต่หนี้เสียอาจจะไม่เลวร้ายเท่าที่คิด  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  แบ้งค์เองก็ตั้งสำรองหนี้เสียไว้ค่อนข้างมากอยู่แล้วที่จะรองรับความเสียหายได้อย่างเพียงพอโดยไม่ทำให้ผลประกอบการตกลงมาหนักเกินไป  เป็นต้น  เหตุผลต่อมาก็คือ  ราคาหรือมูลค่าของกิจการตอนที่เราซื้อหุ้นที่มีค่า PE ต่ำนั้น  มักจะไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจ  ดังนั้น  หากเกิดความผิดพลาด  หุ้นก็อาจจะตกลงมา  แต่อาจจะไม่มากนักเนื่องจากผลประกอบการของบริษัทก็ยังดีพอที่จะทำให้มีนักลงทุนสนใจที่จะซื้อ  เพราะอย่างน้อยปันผลที่จะได้ก็อาจจะคุ้มที่จะถือระยะยาว  เป็นต้น

ก่อนที่จะสรุปว่าเราควรซื้อหุ้น PE ต่ำมากกว่า PE สูง  ผมคงจะต้องบอกด้วยว่า  ผลตอบแทนถ้าทุกอย่างไม่ได้แย่แต่ดีมากนั้น  ในกรณีของหุ้น PE ต่ำก็อาจจะไม่ดีเท่าหุ้น PE สูง  บางทีเป็นเรื่องยากที่หุ้น PE ต่ำจะวิ่งขึ้นไปหลายเท่าตัวในเวลาอันสั้น   ความคาดหวังที่ต่ำนั้นมักทำให้คนไม่อยากเข้ามาเก็งกำไรและการดันราคาหุ้นให้สูงลิ่วในเวลาอันสั้นนั้นยาก  ดังนั้น  คนที่เล่นหุ้น PE ต่ำก็ต้องทำใจว่าผลตอบแทนจากหุ้น PE ต่ำนั้นจะต้องค่อย ๆ มาถ้าเราเลือกที่จะ “เสี่ยง” อย่างรอบคอบแล้วกับหุ้น PE ต่ำ

Friday, May 27, 2016

หลักการเลือกหุ้นของ วอเร็น บัฟเฟตต์ warren buffett / โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


การเลือกหุ้นลงทุนของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นได้รับการติดตามและศึกษามากมาย  หนังสือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมีมากจนนับไม่ถ้วน แต่ละเล่มก็พยายามที่จะเขียนให้มีความ “ซับซ้อน” และยากที่จะปฎิบัติเพื่อที่จะทำให้รู้สึกว่าคนธรรมดาจะเลียนแบบได้ยาก  มีแต่คนที่มีความสามารถแบบ วอเร็น บัฟเฟตต์ เท่านั้นที่จะทำได้หรือวิเคราะห์ได้ถูกต้องว่าหุ้นหรือบริษัทไหนที่ดีน่าลงทุน  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ถ้าบอกว่าหลักการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้นง่ายและธรรมดามาก  ใครจะอยากซื้อหนังสือมาอ่าน นอกจากนั้น  น้อยคนจะเชื่อว่าคนจะประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้ด้วยสิ่งที่ “ทำได้ง่าย ๆ” ไม่อย่างนั้นคนก็คงจะ “รวยกันไปหมด”  ซึ่งเป็นไปไม่ได้!   แต่ทั้งหมดนั้นสำหรับผมแล้วมันก็คงจะเป็นเรื่องที่คล้าย ๆ  กับหนังสือเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทั้งหลายที่มักจะพูดถึงวิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อนซึ่งมักรวมถึงการปฏิบัติตนด้วยวิธีการต่าง ๆ   การกินอาหารและอาหารเสริม บางทีก็พูดถึงฮอร์โมนและเครื่องมือ “มหัศจรรย์” ต่าง ๆ  ที่จะช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น   ทั้ง ๆ  ที่ความจริงอาจจะเป็นว่าหลักการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดอาจจะง่ายมากและมีเพียง 3-4 เรื่องที่ต้องทำ  เช่น  กินอาหารครบหมู่  ออกกำลังพอประมาณ  นอนให้พอ  และอย่าเครียด  เป็นต้น

          จากการติดตามบัฟเฟตต์มานานรวมถึงอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับบัฟเฟตต์จำนวนมากผมกลับพบว่าที่จริงแล้วหลักการเลือกหุ้นลงทุนของบัฟเฟตต์นั้น  “ธรรมดาและง่ายมาก”  มันคล้าย ๆ กับการรักษาสุขภาพ  ถ้าเราทำได้ 3-4 เรื่องอย่างที่กล่าว  เราก็จะมีสุขภาพที่ดีเยี่ยมได้แล้ว  ไม่ต้องไปหาสูตรอะไรที่ดู “ขลัง” หรือทำได้ยากเกินความสามารถ  สิ่งที่ต้องทำดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของ“วินัย” และการปรับใจหรือทัศนะคติมากกว่า  มาดูกันว่าอะไรคือหลักการสำคัญที่บัฟเฟตต์ใช้จริง ๆ  เกือบตลอดชีวิตการลงทุนของเขา  ว่าที่จริงเขา  “ประกาศ” มันอย่างเป็นทางการด้วยว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องการจากหุ้นหรือกิจการที่เขาจะลงทุน  และมันมีแค่ 4-5 ข้อเท่านั้น

            ข้อแรกก็คือ  มันต้องเป็นธุรกิจธรรมดา ๆ ที่เราเข้าใจ และถ้ามันมีเรื่องเกี่ยวข้องกับเท็คโนโลยีมาก ๆ บัฟเฟตต์บอกว่าเขาจะไม่เข้าใจ   ข้อนี้  ถ้าดูจากกิจการและหุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนมานานหลายสิบปีก็จะพบว่าหุ้นส่วนใหญ่ที่เขาลงทุนนั้นมักจะเป็นกิจการธรรมดา ๆ  จริง  เช่น  กิจการเกี่ยวกับอาหาร เช่น น้ำอัดลม  ช็อกโกแล็ต ซอสมะเขือเทศ  กิจการเครื่องใช้เช่นเฟอร์นิเจอร์  เครื่องแต่งตัวเช่น เครื่องประดับเพชร รองเท้า  ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์  กิจการเดินทางเช่น รถไฟ เครื่องบิน  ผู้ให้บริการเกี่ยวกับการงานคอมพิวเตอร์ของสำนักงานและบริษัท  และที่เริ่มมากในระยะหลังก็คือพลังงานและพลังงานทดแทน  เป็นต้น  และแน่นอนก็คือ  ธุรกิจประกันภัยที่เป็นฐานดั้งเดิมของบัฟเฟตต์

            ประเด็นสำหรับนักลงทุนก็คือ  บ่อยครั้งเรามักลงทุนซื้อหุ้นที่เราไม่เข้าใจธุรกิจอย่างแท้จริง 
คนจำนวนมากลงทุนซื้อหุ้นปิโตรเคมีทั้ง ๆ  ที่เราไม่รู้จักแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่เขาผลิต  เราซื้อหุ้นอิเล็คโทรนิกส์ทั้ง ๆ  ที่ไม่รู้ว่ามันเอาไปทำอะไร  เรามักซื้อเพราะว่าหุ้นกำลังปรับตัวขึ้นแรงและมีคนเชียร์ว่ามันจะเติบโตขึ้นอีกมากในปีนี้  บัฟเฟตต์บอกว่าเราต้องมี Circle of Competenceหรือความรอบรู้ของเราในแต่ละธุรกิจหรืออุตสาหกรรม  เราไม่จำเป็นต้องรู้มากมายไปหมดในอุตสาหกรรมจำนวนมาก  แต่เราต้องรู้ว่าขีดความรอบรู้ของเรามีแค่ไหน  ตัวอย่างเช่น  เราอาจจะบอกว่าเรารู้เรื่องของอาหาร  ค้าปลีก  บันเทิง  เพราะเราเป็นคนที่บริโภคหรือใช้สินค้าเหล่านี้เป็นประจำ  เป็นต้น  และถ้าเป็นอย่างนั้น  เราจะไม่ซื้อหุ้นในกลุ่มอื่นที่เราไม่รู้จักเลย  อย่าไปห่วงว่านั่นจะจำกัดตัวหุ้นที่จะลงทุนไปมากและอาจทำให้  “เสียโอกาส”  ในการลงทุน  จำไว้ว่าสำหรับนักลงทุนรายย่อยนั้น  เราต้องการหุ้นจำนวนน้อยมากที่จะทำให้เรารวยหรือประสบความสำเร็จ บัฟเฟตต์ถึงกับบอกว่าในชั่วชีวิตเรานั้น  เราอาจจะต้องการหุ้นเพียงแค่ 20 ตัวเท่านั้น

            ข้อสอง บริษัทจะต้องเป็นธุรกิจที่มีอนาคตระยะยาวที่ดี  และคำว่าดีก็หมายความว่ามันมีความสม่ำเสมอของกำไร  และกำไรนี้จะต้องมีความยั่งยืน  และเหตุที่จะมีความยั่งยืนก็เพราะว่ามันมีความได้เปรียบที่ยั่งยืน หรือ Durable Competitive Advantage /images/emoticons/mozilla_laughing.gifCA) ที่จะป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแย่งธุรกิจ  บัฟเฟตต์เองไม่ค่อยเน้นเรื่องของการเติบโตของกำไรมากนัก  มันแทบจะไม่ใช่เงื่อนไขของการลงทุนด้วยซ้ำ  บัฟเฟตต์น่าจะมีความคิดว่าธุรกิจนั้นถ้าโตเร็วหรือมีกำไรดีมาก  สุดท้ายก็จะต้องมีคนเข้ามาแข่ง  และถ้าบริษัทไม่มี DCA ก็อาจจะพ่ายแพ้และสุดท้ายแม้แต่กำไรเท่าเดิมก็อาจจะรักษาไว้ไม่ได้  และเท่าที่สังเกตเห็น  หุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนนั้นมักจะมีกำไรที่แน่นอนและมีการเติบโตบ้างเท่านั้น  ผมไม่ค่อยเห็นบัฟเฟตต์ลงทุนในหุ้นที่โตเร็วมากเลย

          สิ่งที่บัฟเฟตต์ได้จากหุ้นที่ไม่ได้โตเร็วมากก็คือ  กำไรที่แน่นอนและปันผลที่เขาจะนำไปลงทุน  อาจจะในธุรกิจเดิมถ้ามันยังทำผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นได้สูงเกิน 10% ขึ้นไป  หรือไม่ก็นำปันผลที่เป็นเงินสดไปลงทุนในธุรกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า  โดยวิธี  “ทบต้น”  ด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่า 10% ต่อปีไปเรื่อย ๆ  นี้เองที่ทำให้ความมั่งคั่งของบัฟเฟตต์สูงขึ้นเรื่อย ๆ  ติดต่อกันถึง 60 ปี

            นักลงทุนที่เน้นหุ้นที่โตเร็วแต่ไม่มีความสม่ำเสมอของกำไรและไม่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนนั้น  ผมคิดว่าในบางช่วงโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมนั้น  อาจจะทำกำไรได้ดีมาก แต่ในระยะยาวแล้ว  โอกาสผิดพลาดก็อาจจะสูงและทำให้ขาดทุนหนัก  โดยเฉลี่ยแล้ว  ผลตอบแทนก็อาจจะต่ำกว่าการลงทุนแบบของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ได้

            ข้อสาม บริษัทจะต้องดำเนินการโดยผู้บริหารที่ซื่อสัตย์และมีความสามารถ  แต่บัฟเฟตต์เองไม่ได้คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้บริหาร  ถ้าผู้บริหารไม่อยู่แล้วธุรกิจก็อาจจะมีปัญหาได้  เขาคิดว่าธุรกิจจะต้องดีโดยตัวของมันเองไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม  หากพบว่าผู้บริหารโกงหรือมีการฉ้อฉลในบริษัท  เขาก็คงไม่ลงทุนซื้อหุ้น  สำหรับประเด็นเรื่องนี้นั้น  ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์จะไม่มีเกณฑ์อะไรที่ชัดเจนว่าแบบไหนจึงจะเรียกว่า “ยอมรับไม่ได้”  สิ่งที่เห็นก็คือ  ถ้าเขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของบริษัทแล้วพบว่าผู้บริหาร  “โกง” เขาก็มักจะ “บีบ” หรือปลดผู้บริหารรายนั้น

            ข้อสุดท้ายสำหรับการเลือกซื้อหรือลงทุนในหุ้นก็คือ  ราคาหุ้นต้องมีเหตุผลหรือยุติธรรม  ถ้าพูดง่าย ๆ  ก็คือ  ค่า PE ไม่ควรจะสูงเกินไป  ในช่วงเร็ว ๆ นี้ดูเหมือนว่าค่า PE ที่บัฟเฟตต์จ่ายจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 20 เท่าเศษ ๆ  ว่าที่จริงกฎข้อนี้ในอดีต บัฟเฟตต์ ใช้คำว่า “ราคาหุ้นต้องน่าสนใจมาก ๆ”  นี่อาจจะเป็นเพราะว่าในระยะหลัง ๆ  การหาหุ้นถูกที่มีขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายในการซื้อหรือเทคโอเวอร์นั้นยากมาก  เขาจึงใช้คำว่าราคาต้องมีเหตุผลหรือไม่แพงแทนคำว่าราคาถูกหรือถูกมาก

            ก่อนจะจบนั้น  ผมอยากจะเสริมว่า  ในกรณีที่เป็นการเทคโอเวอร์บริษัท  สิ่งที่บัฟเฟตต์เน้นอีกข้อหนึ่งก็คือ  เขาต้องการกิจการที่สามารถทำกำไรได้ดีวัดจากผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต้องสูงพอและบริษัทควรจะไม่มีหนี้หรือมีหนี้น้อย  ในกรณีของหุ้นจดทะเบียนในตลาดเองนั้น  เขาอาจจะไม่ได้พูดย้ำหรือเน้น  แต่ผมคิดว่าเกณฑ์หรือแนวความคิดก็คงคล้ายกัน  อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ข้อนี้คงมีความยืดหยุ่นมากกว่าเรื่องอื่น


            เกณฑ์ 4 ข้อของบัฟเฟตต์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  ดูแล้วก็  “ธรรมดาและง่ายมาก”  แต่คนส่วนใหญ่หรือแม้แต่ “มืออาชีพ”  เองก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  การถือหุ้นยาวแบบ  “ไม่มีกำหนด”  และไม่สนใจหรือไม่หวั่นไหวกับการขึ้นลงของราคาหุ้นและดัชนีตลาด ประเด็นก็คือ  คนที่ใช้หลักการของบัฟเฟตต์นั้นมักจะมีเวลาที่กำหนด  เช่น  ต้องรายงานผลการลงทุนรายเดือนหรือรายปีหรือต้องการใช้เงินในเวลาที่กำหนด  บางคนเมื่อลงทุนซื้อไปแล้วหุ้นไม่ขึ้นในระยะเวลาที่หวังก็เริ่มไม่แน่ใจว่าหลักการของบัฟเฟตต์ยังใช้ได้ไหมในช่วงเวลานี้   บางคนอาจจะเชื่อหลักการแต่คิดว่าตนเองวิเคราะห์ผิดหรือไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะบอกได้ว่าหุ้นหรือบริษัทนั้นเข้าเกณฑ์มีความได้เปรียบที่ยั่งยืนจริงไหม  และสุดท้ายก็คือ  คนจำนวนมากไม่แน่ใจเรื่องราคาหุ้นว่า PE เท่าไรจึงจะเรียกว่ายุติธรรมหรือมีเหตุผล  ทั้งหมดนี้ทำให้คนจำนวนมากมักจะ  “อ้าง”บัฟเฟตต์  แต่ไม่ปฏิบัติตาม  เขารอไม่ได้หรือไม่อยากรอ  และในเกมของการลงทุนนั้น  คนรอไม่ได้ก็คือ  “ผู้แพ้”

Monday, May 23, 2016

อนาคตกับรถยนต์ไฟฟ้า / โดย คุณชาย มโนภาส คนขายของ



“ตู้เย็น” เริ่มเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประจำบ้านราวๆปี 1920 ในช่วง 15 ปีแรกของการออกสู่ตลาด ยอดขายของตู้เย็นนั้นโตแต่คิดเป็นมูลค่าไม่มาก ทั้งนี้เพราะปัจจัยเช่น ราคายังสูง ผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคย ทำให้มูลค่าตลาดยังเล็ก แต่หลังจากนั้น ในช่วงปี 1935-1960 ยอดขายตู้เย็นทั่วโลก ได้เติบโตขึ้นเป็น อย่างมาก เรียกว่าเป็นยุคทองของการขายตู้เย็น แต่ในยุคต่อมาตลาดดูเหมือนจะอิ่มตัว ทุกบ้านเริ่มมีตู้เย็น กันหมดแล้ว การเติบโตสูงๆในอดีตก็หมดไป ตลาดตู้เย็นกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ แต่ไม่ได้ขายดีเหมือน แต่ก่อน วัฏจักรทำนองนี้มีมาต่อเนื่องหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์สี ที่เริ่มในปี 1960 หรือ โทรศัพท์ มือถือ ในปี 1985 วงจรที่มีลักษณะที่ เติบโตในตอนต้น พุ่งขึ้นด้วยอัตราเร่งที่สูงมากในตอนกลาง และชะลอ ตัวลงในตอนท้ายนั้น เป็นวงจรที่ฝรั่งเขาเรียกว่า “S-Curve”

อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ ที่รู้จักกันดีในนาม Electric Vehicle (EV) เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่ถูกกล่าวถึงว่าอยู่ในช่วงต้นของ S-Curve ที่ตลาดกำลังเติบโต แต่ยังเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ขนาดของมูลค่าตลาดจึงยังไม่ใหญ่มาก ข้อมูลจากสถาบัน ZSW ของเยอรมันได้รวบรวมว่า จำนวน EV ในโลกในช่วง ปี 2013 อยู่ที่ หนึ่งแสนคัน ในปี  2014 ตลาดขยายตัว 100% ปี 2015 ขยายตัว 83% และในปี 2016 ตลาด EV คาดว่าจะขยายตัว 76% มาอยู่ที่ราวๆ 560,000 คัน แล้วบริษัทไหนที่ผลิต EV ออกมาแล้วมี ยอดขายสูงสุด? ใช่ค่ายรถยนต์ชื่อดังหรือเปล่า? คำตอบที่ได้อาจจะทำให้หลายคนแปลกใจ เพราะ TESLA ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตรถยนต์ราวห้าหมื่นคันในปี 2015 ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับแชมป์ระดับโลกอย่าง TOYOTA ที่ผลิตรถถึงสิบล้านคัน แต่ TESLA กลับได้เป็นแชมป์โลกในตลาดของรถไฟฟ้า ในด้าน ยอดขายเป็นตัวเงิน ไม่ใช่จำนวนคัน)



จากยอดขายรถยนต์ทั่วโลกในปี 2015 ที่ราว 83 ล้านคัน เราจะเห็นได้ว่าส่วนแบ่งการตลาดของ EV ตอนนี้อยู่ที่แค่ราว 0.4% เท่านั้นเอง TESLA ประเมินว่าในปีนี้จะสามารถส่งมอบรถยนต์ได้เกือบ 1 แสนคัน หรือโตขึ้น 100% จากปี 2015 สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ภายในปี 2040 รถ EV จะมีส่วน แบ่งราว 35% ของรถยนต์ทั้งหมด ทำไมตลาด EV ถึงมีการขยายตัวที่สูงมาก? ผมคิดว่าเป็นเพราะ หนึ่ง แรงจูงใจเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาลในหลายประเทศ อย่างเช่นที่นอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่มี สัดส่วนของ EV มากที่สุดในโลก ราว 25% ของรถใหม่ในตลาด รัฐบาลยกเว้นภาษี VAT 25%, ค่าผ่านทาง Toll Road) ฟรี, วิ่งเข้าเลนรถเมล์ได้ และ จอดรถในตัวเมืองได้ฟรี ประเด็นผลักดันที่สอง คือ ราคารถ EV ที่มีแนวโน้มที่ลดลง ทั้งนี้เนื่องจากราคาของ Lithium-ion Battery ซึ่งเป็นเหมือนหัวใจของรถยนต์ EV มีราคาลดลงจาก 1,000$ ต่อ KWH ในปี 2010 มาเหลือเพียง 380$ ในปี 2015 และ ประเด็นที่สาม คือการตื่นตัวเรื่องโลกร้อน ของรัฐบาลและประชาชน ทำให้มีกฎควบคุมเรื่องการปล่อยมลพิษของรถยนต์ ซึ่ง EV ไม่มีปัญหาเรื่องมลพิษของไอเสีย เพราะไม่มีเครื่องยนต์ที่มีการจุดระเบิด

แต่ถึงกระนั้นโลกของ EV ก็ไม่ได้สวยหรูไปหมดทุกอย่าง ยังมีอีกหลายปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ระยะทางที่วิ่งต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งในตอนนี้รถ EV ในเซกเมนท์ประหยัด วิ่งได้แค่ 250 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปที่ใช้น้ำมันในตอนนี้ วิ่งได้ถึง 500-600 กิโลเมตรเมื่อเติมน้ำมันเต็มถัง นอกจากนั้น เรื่องแท่นชาร์จไฟ ก็ยังเป็นปัญหาหลักเมื่อวิ่งออกไปนอกเมือง ตอนนี้ TESLA ต้องมาลงทุน เรื่องสถานีชาร์จไฟเองเพื่อตอบสนองลูกค้า ระยะเวลาในการชาร์จก็ยังเป็นปัญหา ในตอนนี้เครื่องชาร์จแบบเร็วที่สุดจะใช้เวลาราว 30 นาที แต่ก็ยังเป็นเวลาที่ยาวนานกว่าการเติมน้ำมันเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่ ในปัจจุบัน ที่ชาร์จที่พบทั่วไปในที่สาธารณะจะเป็นแบบ 2.5 ชั่วโมง ซึ่งก็ดูเหมือนจะไม่สะดวกเท่าไรนัก และประเด็นอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องราคา รถ EV ส่วนใหญ่ยังมีราคาสูง อย่าง BMW i8 ที่อเมริกาขายราคา 4.9 ล้านบาท TESLA Model S ราคา 2.45 ล้านบาท หรือ แบบประหยัดอย่าง Nissan Leaf ก็ตกราว 1.15 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคา Honda Civic ที่ 7 แสนบาท ก็ดูเหมือนว่า EV ยังเป็นรถราคาสูงอยู่

อุตสาหกรรม EV ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของ S-Curve ดูเหมือนว่าตลาดนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆจากแรง ผลักดันจากหลายภาคส่วน โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นอุตสากรรมที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะศักยภาพของ ตลาดนี้ยังสามารถโตไปได้อีกยี่สิบปี บริษัทอย่าง TESLA ซึ่งหันมาโฟกัสทางด้านนี้ ในปี 2010 มียอดขาย แค่เพียง 117 ล้านเหรียญ แต่กลายมาเป็น 4 พันล้านเหรียญในปี 2015 ถึงแม้ว่าตอนนี้บริษัทยังไม่มีกำไร เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางด้านวิจัยและพัฒนาที่สูงขึ้น แต่อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในปีล่าสุด สามารถทำได้ ในระดับเดียวกับ TOYOTA และ HONDA ณ เวลานี้คงยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าใครจะเป็นผู้ชนะในศึก EV ของวงการรถยนต์ เพราะในช่วงแรกของ S-Curve เมื่อทุกคนเห็นว่าตลาดเติบโต จะมีผู้สนใจเข้ามา ร่วมแข่งขันกันเป็นอย่างมาก หากเรานึกถึงตลาดชาเขียวในเมืองไทยเมื่อราวสิบปีก่อน จะเห็นได้ว่ามีหลาก หลายแบรนด์ แต่ตอนนี้หลักๆคือแค่สองแบรนด์ ตลาด EV นั้นคงต้องผ่านการต่อสู้กันอย่างดุเดือดเช่นกัน ก่อนที่จะรู้แน่ชัดว่า ใครกันจะได้ขึ้นเป็นผู้นำตลาดเมื่อการดีดตัวอย่างรุนแรงของ S-Curve มาถึง