Sunday, January 24, 2016
New S-Curve คือทางรอดของธุรกิจ
ถ้าถามว่าบริษัทที่มี Innovation สูงในสินค้าอิเล็คโทรนิคในยุค 100 ปีที่แล้ว คืออะไร ? คงไม่มีใครนึกถึงบริษัทที่ชื่อว่า Zenith Radio Corporation บริษัทแห่งนี้ถูกก่อตั้งปี 1918 และให้กำเนิดวิทยุแบบพกพาเครื่องแรกของโลก ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงเกือบครึ่งศตวรรษก่อนที่เราจะรู้จัก Sony Walkman หรือ Ipod ในยุคนี้ หลังจากนั้นบริษัทก็สามารถย้ายจุดโฟกัสและผลิตทีวีได้สำเร็จในสองทศวรรษถัดมา บริษัทคิดค้นสิ่งที่สุดยอดที่สุดในยุคนั้นคือ “รีโมททีวี” และเริ่มผลิตทีวีสีได้ ในปี 1975 บริษัทครองส่วนแบ่งตลาดทีวีสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา
แต่ในยุค 1970s นี่เองที่ “ลมเริ่มเปลี่ยนทิศ” ทีวีจากประเทศญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาตีตลาดด้วยราคาที่ถูกกว่า ทำให้ผู้ผลิตทีวีของอเมริการวมถึง Zenith เสียส่วนแบ่งไปอย่างรวดเร็ว บริษัทญี่ปุ่นได้ส่วนแบ่งถึง 45% ในปลาย 1970s ซึ่งเติบโตหลายเท่าตัวในช่วงเวลาไม่กี่ปี บริษัท Zenith จึงหาทางออกโดยเริ่มเข้าสู่ธุรกิจ Personal Computer (PC) ในขณะเดียวกันธุรกิจทีวีก็เริ่มหาทางออกใหม่คือ “HDTV” หรือทีวีความละเอียดสูงเหมือนที่เราใช้ในปัจจุบัน
การเข้าสู่ HDTV นั้นเหมือนว่าเร็วเกินไปสำหรับผู้บริโภค เพราะสื่อต่าง ๆ ในยุคนั้นยังไม่รองรับ และเทคโนโลยีนี้มีราคาแพงมาก ที่แย่ไปกว่านั้นกว่าจะรอให้ผู้บริโภคพร้อม ฐานะการเงินของบริษัทก็เริ่มยากลำบากและในที่สุด Partner คนหนึ่งคือบริษัทเกาหลีที่ชื่อว่า LG Electrics ก็เริ่มเข้าซื้อหุ้นของกิจการ Zenith ที่ละน้อยเพื่อครอบครองเทคโนโลยี HDTV ในปี 1999 บริษัท Zenith เข้าสู่กระบวนการล้มละลายและ LG ก็ควบรวมเอาหุ้นที่เหลือ และ Zenith ก็เข้าเป็นบริษัทลูก LG ตั้งแต่นั้นมา
บริษัท Zenith เป็นตัวอย่างหนึ่งของหลายตัวอย่างบริษัทในโลกใบนี้ เช่น Kodak ในธุรกิจกล้องดิจิตอล APPLE ในยุคที่ผลิต Newton และแพ้ Palm inc. แต่ในที่สุดก็กลับมาชนะด้วย Iphone และ Ipad หรือแม้กระทั่งรัฐชาติ เช่น ไต้หวัน สิงค์โปร์ ญี่ปุ่น สวีเดน นอร์เวย์ เยอรมัน หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านช่วงเวลาที่รุ่งเรือง และชะลอตัวลง จนหาความรุ่งเรืองใหม่ได้ ซึ่งในทางทฤษฎีเรียกว่า “New S-Curve” ทั้งสิ้น ธุรกิจหรือรัฐไหนที่ไม่มี S-Curve ใหม่ หรือมี “ช้าเกินไป” ย่อมเกิดปัญหาในการเติบโต เพราะบริษัทหรือรัฐที่จะยิ่งใหญ่ในระยะยาว “ชนะครั้งเดียว” นั้น “ไม่เพียงพอ”
บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงที่ผ่านมา เช่น ค้าปลีก ก็มีการขยายไป “ต่างประเทศ” เพราะต้องการ S-Curve ใหม่ แม้ว่าจะขาดทุนช่วงแรก เพราะบริษัททราบดีว่า ถ้าเราต่อ S-Curve ช้าเกินไปย่อมเกิดปัญหาในการเติบโตและความอยู่รอดในระยะยาว อย่างไรก็ดีในทางกลับกันบริษัทค้าปลีกต่างชาติหลายแห่งในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามก็ม้วนเสื่อกลับบ้าน เพราะ “ตลาดยังไม่พร้อม” ที่จะรับ S-Curve ใหม่ คล้ายกับกรณี HDTV ของ Zenith หรือกรณีล่าสุดอย่างธุรกิจสื่อสาร บ้านเราที่มีผู้เล่นรายใหม่ พยายามเข้ามาต่อ S-Curve ของตัวเอง ความพยายามเหล่านี้ย่อมเกิดโอกาสและความเสี่ยงมหาศาลในธุรกิจ
การวิเคราะห์ว่าบริษัทจะสามารถ “กระโดด” ไปสู่ S-Curve ใหม่ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญคือ ขนาดธุรกิจใน S-Curve ใหม่จะต้อง “ใหญ่” และมี “โอกาส” เพียงพอ ตัวอย่างหนึ่งคือ Novo Nordisk ที่กระโดดสู่ S-Curve ใหม่โดยการทำยารักษาโรคเบาหวานซึ่งบริษัทมองทิศทางว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบันนั้น มีแนวโน้มเป็นเบาหวานสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจัยที่สองคือ “ความสามารถของบริษัท” นั้นจะต้องสูงกว่าและสามารถส่งมอบ “คุณค่า” ได้อย่างชัดเจน แต่บริษัทไม่จำเป็นต้องทำทุกเรื่องให้ดีกว่า แค่ “บางเรื่อง” ที่มีความสำคัญสูง บริษัทก็สามารถชนะได้ ตัวอย่างเช่น Walmart สามารถส่งมอบสินค้า “ราคาถูก” กว่าคู่แข่ง ผู้บริโภคไม่ได้สนใจความสวยงามของห้าง หรือความหรูของห้องน้ำ หรือบริการของพนักงานขายเป็นต้น
สำหรับปัจจัยที่สามที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด คือ บริษัทจะต้องมี “Talent” หรือบุคคลที่มีความสามารถสูง มีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์แรงบันดาลใจ มีแรงขับเคลื่อน มีพนักงานขายที่สู้ยิบตา มีวิศวกรที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง เพื่อที่จะขับเคลื่อนบริษัทไปได้ บริษัทที่มี S-Curve ใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลาจึงเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการ “ดึงตัวคนเก่ง” เข้ามา และ “รักษาคนเก่ง” ได้ตลอดเวลา บริษัทเหล่านั้นจะมีพนักงานที่มีความพึงพอในในบริษัทสูง
ทุก ๆ New S-Curve จะมี “ระเบิดเวลา” ของ S-Curve เก่าเสมอ ๆ บริษัทที่เกาะ S-Curve เก่าไปเรื่อย ๆ โดยไม่สามารถสร้าง S-Curve ใหม่ได้ ก็จะยากลำบาก ในแง่กลยุทธ์บริษัทจะต้องหา “แกนกลางธุรกิจ” หรือความสามารถเฉพาะของตัวเองให้ได้ว่าคืออะไร พร้อม ๆ ไปกับการหา “ความต้องการ” ของตลาดเร็วกว่า ดีกว่าคนอื่น ผมคิดว่าบริษัทในประเทศไทยนั้นหลายบริษัทกำลังหา New S-Curve หรือกำลังสร้างมันอยู่ รวมไปถึง “ประเทศไทย” เองก็กำลังสร้าง New S-Curve ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งถ้าบริษัทเหล่านี้ทำสำเร็จ นี่ไม่เป็นเพียงทางรอดของธุรกิจ แต่นี่กำลังเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศไทย