Sunday, January 10, 2016

Achilles’ heel /โดย ดร.นิเวศน์

   
   ตามตำนานเก่าแก่ของกรีก  Achilles คือวีรบุรุษของกรีกในสงคราม Trojan แห่งเมือง Troy และเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเทพนิยาย Iliad ของนักประพันธ์เอกHomer แม่ของ Achilles คือเทพธิดา Thetis และพ่อก็คือ Peleus กษัตรแห่งเมือง Myrmidons  ในตำนานเล่าว่าในตอนที่อะคิลเลสเกิด  Thetis พยายามทำให้เขาเป็นอมตะฆ่าไม่ตายโดยการจับเท้าของเขาห้อยศีรษะและจุ่มลงในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ Styx ซึ่งทำให้ทุกส่วนของร่างกายทนทานต่อศาสตราวุธยกเว้นส้นเท้าที่ถูกมือของแม่จับไว้และนี่คือ  “จุดอ่อนสำคัญ” ที่ทำให้เขาถูกฆ่าตายโดย Paris นักรบฝ่ายตรงข้ามที่ยิงธนูอาบยาพิษเข้าไปที่ส้นเท้าและทำให้อะคิลเลสเสียชีวิต  ตำนานของ Achilles ที่เล่านั้น  ผมก็ไม่ยืนยันว่าถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะผมไม่ใช่นักวรรณกรรมแต่เรื่องนี้ต่อมากลายเป็นการเปรียบเทียบกับ  จุดอ่อนเล็ก ๆ ของคนที่อาจจะดูว่าแข็งแกร่งที่สุดในแทบทุกด้านแต่มันก็ทำให้ตายได้  ในประวัติศาสตร์ของทุกเรื่องนั้น  เราได้เห็นคนที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในทุกวงการนั้น ต่างก็มีคนที่ “ตกม้าตาย”  ด้วยเรื่อง “เล็ก ๆ” ที่เป็นจุดอ่อน  เช่น  ความประพฤติส่วนตัวบางอย่าง เป็นต้น  เช่นเดียวกัน  สถาบันหรือบริษัทหรือทีมงานนั้น  บ่อยครั้งก็ประสบกับสถานการณ์เดียวกัน  คือ  “ตายน้ำตื้น”  อาจจะเนื่องจากไม่ได้ปิดจุดอ่อนเพียงพอและจุดอ่อนนั้น  “บังเอิญ”  ถูก “ธนู” ยิง  ทำให้ “ล่ม” หรือล้มเหลว

            ในเรื่องของการลงทุนนั้น  “ส้นเท้าของอิคิลเลส”  นั้น  เป็นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นบ่อยมากกว่าวงการอื่น ๆ  เหตุผลก็เพราะว่าธุรกิจการลงทุนนั้นเป็นเรื่องของ  “ความเสี่ยง”  มหาศาลสารพัด    แต่เรื่องอะคิลเลสฮีล ไม่ใช่ความเสี่ยงทั่ว ๆ  ไปที่เกิดจากความผันผวนรายวัน รายเดือน หรือรายปีในเรื่องของผลตอบแทนของการลงทุน ที่ดีบ้างแย่บ้าง  แต่ไม่มาก  ความหมายของ อะคิลเลสฮีลนั้น จะเป็นเรื่องของความเสี่ยงที่รุนแรงมากที่ทำให้ถึงกับ  “ตาย” หรือเจ็บหนัก “สาหัส”  แต่เป็นเรื่องที่“เกิดยาก”  โอกาสเกิดค่อนข้างน้อยและบ่อยครั้งเจ้าตัวหรือนักลงทุน  “คิดไม่ถึง”  เขาคิดว่าสิ่งที่เขาทำนั้น  “ปลอดภัยมาก”  หรืออย่างน้อยก็ไม่น่าจะเกิดความเสียหายหนักเนื่องจากเขาเชื่อในการวิเคราะห์ของตนเองว่าเขา  มี  “Margin Of Safety” เพียงพอ  และเขาก็ทำสำเร็จมาทุกครั้ง  เปรียบเทียบไปก็คงคล้าย ๆ  กับอะคิลเลสที่เป็นนักรบที่เก่งกล้ามากและมีเกราะป้องกันรอบตัว  “จะแพ้ได้อย่างไร”  แต่ประวัติศาสตร์ก็บอกว่าในที่สุดเขาก็ต้องตายหรือแพ้เพราะแผลเล็ก ๆ  ที่ส้นเท้า

            ภาวะตลาดหุ้นที่ตกต่ำอย่างรุนแรงด้วยสาเหตุหลาย ๆ  ประการนั้น  มักจะก่อให้เกิดสถานการณ์อะคิลเลสฮีลมากขึ้นมากแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด  เหตุการณ์และเหตุผลเฉพาะตัวของแต่ละคนและแต่ละบริษัทก็เป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน  การวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและการกำหนดกลยุทธ์ของพอร์ตโฟลิโอให้เหมาะสมน่าจะเป็นการป้องกันเรื่องของอะคิลเลสฮีลได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง  เรื่องแรกก็คือ  ไม่ว่าเราจะคิดว่าเราเก่งหรือมีความสามารถขนาดไหนในการเลือกหุ้นลงทุน  “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียว” เพราะการลงทุนในหุ้นตัวเดียวหรือสองตัวนั้น  มีโอกาสที่หุ้นตัวนั้นจะตกต่ำลงอย่างหนักแม้ว่าเราจะคิดว่ามันเป็นบริษัทที่ดีสุดยอดและไม่น่ามีอะไรหรือบริษัทไหนจะมาทำลายมันได้  เหตุผลก็คือ  บางทีเราคิดไม่ถึง  อย่าลืมว่า  “เหนือฟ้ายังมีฟ้า”  บริษัทที่เก่งและโดดเด่นกว่าบริษัทอื่นนั้นบางทีก็ถูกทำลายโดยรัฐหรืออำนาจเหนือรัฐเช่นองค์กรนานาชาติได้  ดังนั้น  เราจึงไม่ควรทำไม่ว่าในกรณีใด  ยกเว้นแต่ว่า  การลงทุนนั้นถึงหมดไปก็ไม่มีผลอะไรกับความมั่งคั่งหรือความสุขส่วนตัวของตนเอง  เช่น  มันเป็นเงินเล็กน้อยมาก  เป็นต้น

            คนที่เล่นหุ้นหรือลงทุนโดยใช้มาร์จินหรือกู้ยืมมาเต็มวงเงินที่จะใช้ได้  เช่น  มีเงิน 100 แต่ลงทุนถึง 200 บ่อย ๆ  หรือแทบจะตลอดเวลานั้น  ผมก็คิดว่าเขากำลังเป็นอะคิลเลสที่ไม่คิดว่าจะถูกยิงธนูเข้าไปที่ส้นเท้า  เขาคิดว่าวิธีลงทุนโดยใช้มาร์จินเต็มวงเงินนั้นเป็นวิธีที่จะทำกำไรได้เป็นทวีคูณเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากเพียง 6-7% เป็นอย่างมากขณะที่ผลตอบแทนการลงทุนของเขาที่ทำได้มาหลาย ๆ  ปีติดต่อกันนั้นสูงมากเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ต่อปี  นอกจากนั้น  เขาคิดว่าหุ้นตัวที่เขาลงทุนอาจจะหลายตัวนั้น  น่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงมากและโอกาสที่จะตกต่ำลงนั้นมีน้อย  ถ้าจะตกก็คงตกลงมาบ้าง 10-20% เป็นอย่างมาก ซึ่งเขาก็อาจจะเพียงแต่ต้องรอให้มันผ่านไป  เขามั่นใจว่าในที่สุดราคามันก็จะขึ้นไปและทำกำไรให้เขาได้มหาศาล  ลึก ๆ  แล้ว  เขาอาจจะคิดว่าอาจจะมีโอกาสซัก 1% ที่เขาจะถูกคอลมาร์จินหรือถูกเรียกเงินเพิ่มบ้างซึ่งเขาจะสามารถ “จัดการได้”  โอกาสที่จะถูกฟอร์ชเซลหรือบังคับขายหุ้นนั้นแทบจะเป็น 0  แต่ทั้งหมดนั้น  มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในยามที่เกิดความผิดปกติมากในหุ้นหรือในตลาดหลักทรัพย์  และถ้ามันเกิดขึ้นก็อาจจะกลายเป็น “หายนะ”  ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ผมก็คิดว่ามันคงกำลังเกิดขึ้นกับ “อะคิลเลส”  หลายคน

            คนที่เล่น “หุ้นปั่น”  เล่นหุ้นที่มีสตอรี่ที่ไม่น่าเชื่อถือ และเป็นหุ้นที่มีราคาแพงในทุกมิติเช่นPE สูงลิ่วเป็น 50 เท่าขึ้นไปหรือยังไม่มีกำไรเลย  ค่า PB สูงลิ่วตั้งแต่ 4-5 เท่าขึ้นไป ปันผลจ่ายไม่ถึง 1% ของราคาหุ้น แบบนี้ผมไม่ถือว่าเป็นอะคิลเลส  เหตุเพราะว่าดูแล้วโอกาสที่จะขาดทุนสูงมากตั้งแต่แรก  โอกาสชนะนั้นน้อยมากยกเว้นเขาจะเป็นเจ้ามือคุมเกมเอง  แต่คนที่เข้าไปซื้อหุ้นแพงโดยที่มีโครงการสนับสนุนชัดเจนเช่น ได้โครงการพลังงานทดแทนเป็นจำนวนเมกกะวัตที่สูงและคาดการณ์ว่าจะทำกำไรได้สูงมากจนคุ้มค่ากับราคาหุ้นที่สูงมาก  ขณะเดียวกันก็คาดว่าบริษัทจะสามารถขยายตัวไปได้เร็วและมากเนื่องจากอุตสาหกรรมกำลังเป็น  “เมกาเทรน์” ทุกอย่างดูแล้ว “ไม่พลาด”  เขาจึงทุ่มลงทุนอาจจะเรียกว่า  “ตีแตก”  และอาจจะใช้มาร์จินด้วยเพื่อเพิ่มกำไรเข้าไปอีกทวีคูณ  เหนือสิ่งอื่นใด  เขาคิดว่าถ้าจะพลาดเป้าหมายบ้างก็คงไม่มากและไม่อันตรายเพราะนี่คือโครงการจากภาครัฐที่ “ไม่มีเบี้ยว”  ทุกอย่างลงตัวแล้วตามสัญญา  ในกรณีแบบนี้ผมก็คิดว่าเขากำลังเป็นอะคิลเลสที่คิดว่าไม่มีทางแพ้  และนี่ก็คืออันตรายเพราะราคาหุ้นที่แพงมากนั้นทำให้ทุกอย่างของโครงการต้องสมบูรณ์แบบ  หากมีอะไรผิดพลาด  หุ้นอาจจะเสียหายหนักได้

            การลงทุนหุ้นที่  “ไม่มีวันแพ้” ในแง่ของผลประกอบการ  เพราะมันเป็นบริษัทใหญ่ระดับ 1 ใน 10 ของประเทศ  มันเป็นสินค้าที่จำเป็นและตัวบริษัทนั้นใหญ่กว่าคู่แข่งมาก  มันเป็นหุ้นบลูชิพที่“ไม่มีความเสี่ยง”  ทั้งด้านของความต้องการสินค้า  การแข่งขัน และทางด้านการเงิน  บริษัทได้พิสูจน์ตัวเองมานานว่าทำกำไรได้ต่อเนื่องและมีปันผลที่น่าประทับใจและจ่ายมาได้อย่างสม่ำเสมอไม่เคยขาดและสูงกว่าการฝากเงินและการซื้อพันธบัตร  ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ธุรกิจมันไม่ได้อิ่มตัวแต่ยังโต  บางทียังโตมากด้วยซ้ำ  ดังนั้น  อะคิลเลสจึงทุ่มซื้อหุ้น  เขาคิดว่ากำไรจากหุ้นอาจจะไม่ได้สูงหรือเร็วมากเนื่องจากเป็นหุ้นที่ตัวใหญ่มากไม่สามารถที่ใครจะไล่ราคาได้แต่โอกาสที่จะลดลงนั้นน้อยมาก  กำไรจากหุ้นอาจจะไม่สูงหรือเร็วโดยตัวของมันเอง  แต่ถ้าใช้มาร์จินเต็มที่เพื่อขยายกำไร  ผลตอบแทนจากการลงทุนก็จะสูงลิ่วได้เหมือนกันโดยที่  “ความเสี่ยงต่ำ”  และนี่ก็คือหุ้นยักษ์ใหญ่อย่างหุ้นพลังงานตัวใหญ่และหุ้นสื่อสารในตลาดหลักทรัพย์  ผมคงไม่ต้องพูดว่าความคิดที่ว่า “ไม่เสี่ยง” นั้นผิดพลาดแค่ไหน  เพราะเมื่อเร็ว ๆ  นี้หุ้นทั้งสองกลุ่มที่ทุกคนเชื่อมาตลอดว่ามั่นคงมากตกลงมาอย่างหนักด้วยเหตุผลคนละเรื่องผสมกับภาวะตลาดหุ้นที่เลวร้ายซึ่งไม่ควรจะเกิดพร้อมกันก็มาเกิดขึ้น  “ธนู” มันปักเข้าไปที่ส้นเท้าอย่างไม่คาดคิด  ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการที่คนเข้าไปเล่นหุ้นด้วยมาร์จินเพราะคิดว่าตัวหุ้นมัน  “ไม่เสี่ยง”

            การที่จะสามารถหลีกเลี่ยงการเป็นอะคิลเลสได้นั้น  เราต้องไม่คิดว่าเราเป็นอะคิลเลส  อย่ามั่นใจในตัวเองเกินไปเพราะไม่มีทางที่เราจะรู้ทุกสิ่ง  พยายามที่จะคิดถึง “จุดตาย”  ของทุกการลงทุนและพอร์ตของเราตลอดเวลา  อย่าลืมว่ายังเหลือ “ส้นเท้า” ของอะคิลเลสที่ยังไม่ได้รับการปกป้อง  ดังนั้น  ทำอะไรจึงต้อง  “เผื่อเหลือเผื่อขาด”  อย่าหวังผลเลิศและหวังรวยเร็วเกินไปเพราะการรวยช้าลงมาหน่อยนั้น  ไม่ได้มีความสุขน้อยลงเลย  แต่การล้มเหลวนั้นมันเป็นต้นทุนที่สูงเกินไปแม้ว่าโอกาสที่เกิดขึ้นอาจจะน้อยมาก