Sunday, January 17, 2016

รถที่ไม่ต้องใช้คนขับ / โดย ดร.นิเวศน์


   ถ้าจะถามว่าธุรกิจอะไรที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่าง “ใหญ่หลวง” และอาจทำลายผู้เล่นรายเดิมและสร้างผู้เล่นรายใหม่ให้เกิดขึ้น  รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้งานของสินค้าจนเราคิดไม่ถึงเช่นเดียวกับระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ  และประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้อง  นอกจากนั้น  มันก็ยังจะส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจและธุรกรรมที่เกี่ยวข้องมากมายมหาศาลในระยะเวลาอาจจะ 10-20 ปีข้างหน้าละก็  ผมคิดว่ามันคือการ “เกิดขึ้น” ของ “รถที่ไม่ต้องใช้คนขับ”  แต่สามารถขับเคลื่อนพาเราหรือพาตัวมันเองไปที่จุดหมายได้  หรือพารถเข้าไปจอดในที่จอดรถได้โดยเราไม่ต้องทำอะไรยกเว้นสั่งให้มันทำ  และนี่ก็จะเป็นการ “ปฏิวัติ” แบบแผนการใช้ชีวิตของคนอีกครั้งหนึ่งโดยความก้าวหน้าของ IT และอินเตอร์เน็ตที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีนี้

            สิ่งที่ผมพูดนั้น  ไม่ใช่เป็นการคาดเดาแบบนักพยากรณ์ศาสตร์ที่พยายาม “มองอนาคต” ซึ่งในอดีตที่ผ่านมานั้นเดาผิดมากกว่าถูกและห่างไกลจากความเป็นจริงค่อนข้างมาก  แต่สิ่งที่ผมพูดคือเรื่องรถที่ไม่ต้องใช้คนขับนั้น  ขณะนี้ในทางทฤษฎีและทางปฏิบัตินั้น  ถือว่ามันเป็นไปได้แล้ว  การทดลองที่ทำโดยบริษัทกูเกิลที่ให้รถยนต์ขับเคลื่อนในท้องถนนจริงในสถานที่หลากหลายนั้นเป็นผลสำเร็จแล้ว  โดยที่สถิติการขับเคลื่อนที่ผ่านมานั้นทำได้ดีกว่าคนขับทั่วไปมาก  รถสามารถแล่นไปตามจุดหมายที่กำหนดอย่างสมบูรณ์และอุบัติเหตุเกิดขึ้นน้อยมากและมักเกิดจากรถคันอื่น  พูดง่าย ๆ  อุปกรณ์หรือเครื่องมือควบคุมที่ประกอบไปด้วยเครื่องนำทางและแผนที่  กล้องที่เป็นเหมือน“สายตา” จับภาพต่าง ๆ รวมถึงรถ คน สัตว์และไฟจราจรได้ใกล้เคียงกับคน  และการควบคุมรถทำได้เร็วและถูกต้องกว่าคนจริง ๆ  เป็นต้น  ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นก็คือ  มันสามารถที่จะ “เรียนรู้” เพื่อที่จะสามารถเข้าใจสิ่งของและสภาพแวดล้อมรวมถึงการควบคุมรถให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อมันผ่านประสบการณ์นั้นมาด้วย  ถ้าจะพูดไป  มันคงจะคล้าย ๆ  กับคนเหมือนกันนั่นคือ  คนที่ขับรถมานานก็จะมีประสบการณ์และขับรถได้ดีขึ้น—โอ พระเจ้า

            สิ่งที่ทำให้รถที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองยังไม่สามารถถูกนำออกมาใช้ได้กว้างขวางนั้นไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี  แต่มันเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ที่สำคัญ 2-3 เรื่องนั่นก็คือ  ข้อแรก กฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ  ที่ควบคุมการใช้รถยนต์ที่ถูกเขียนขึ้นมานับร้อยปีที่อิงอยู่กับสมมุติฐานว่ามีคนขับรถที่จะต้องเป็นผู้ขับที่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตนเองเวลาเกิดอุบัติเหตุหรือทำผิดกฎจราจร  แต่ในเรื่องนี้ก็มีความพยายามของรัฐหลายแห่งที่จะแก้ไข  โดยล่าสุดที่ต้องถือว่าเป็น Breakthrough หรือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญก็คือ  กรมการขนส่งของสหรัฐเพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะเข้ามาดูและแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ซึ่งรวมถึงเรื่องของกฎหมาย กฎเกณฑ์ คำถามเกี่ยวกับเรื่องของการประกันภัย และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความไม่สบายใจต่าง ๆ  ของสังคมเช่นเรื่องอุบัติเหตุและอื่น ๆ  เช่นเดียวกับการที่อาจจะต้องกำหนดมาตรฐานเพื่อที่จะใช้กับรัฐทั้งหลายโดยไม่ขัดแย้งกัน

            อุปสรรคข้อสองที่น่าจะสำคัญยิ่งกว่าก็คือ  รถที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองนั้นผมเข้าใจว่าจะต้องเป็นรถที่ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไม่ใช่รถที่ใช้น้ำมัน  และนี่ก็ทำให้รถยนต์ที่ไม่ต้องใช้คนขับยังไม่แพร่หลายเนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าเองยังไม่แพร่หลายเนื่องจากสองประเด็นใหญ่นั่นก็คือ  มันยังมีราคาแพงกว่ารถใช้น้ำมันมาก  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  รถไฟฟ้ายังไม่ค่อยคล่องตัวในการใช้เนื่องจากสถานีชาร์จไฟแบตเตอรี่ยังมีน้อย  เวลาเดินทางไปในที่ต่าง ๆ  ก็อาจจะไม่สะดวก  แต่ทั้งสองประเด็นนี้ก็กำลังได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างรวดเร็ว  ประการแรก  ราคารถไฟฟ้านั้น  ถ้ามีการใช้และการผลิตมากขึ้น  ต้นทุนก็จะต่ำลง  นอกจากนั้น  ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของการผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นต้นทุนใหญ่ของรถไฟฟ้านั้นดีขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งสุดท้ายแล้ว  รถไฟฟ้าก็อาจจะมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ  จนถูกกว่ารถยนต์ใช้น้ำมันก็ได้เนื่องจากรถไฟฟ้านั้นไม่ต้องมีเครื่องยนต์ที่ต้องมีอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ซับซ้อนมาก  ส่วนเรื่องสถานีชาร์จไฟแบตเตอรี่นั้น  ผมคิดว่าถ้ามีรถไฟฟ้ามากขึ้น  สถานีก็น่าจะเกิดตามมาไม่ยาก  เพราะสถานที่ก็อาจจะเป็นปั๊มน้ำมันนั่นเองก็น่าจะได้

            สิ่งที่ผมคาดว่าเราจะเห็นนั้นน่าจะเป็นเรื่องของการที่รถใช้ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาแล่นบนท้องถนนมากขึ้น  ซึ่งที่จริงในขณะนี้ในสหรัฐเองรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาก็เริ่มเป็นที่นิยมขึ้น  ยอดขายโตขึ้นแม้ว่าจะยังเป็นหลักหมื่นคัน  แต่ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นรถ “คุณภาพเยี่ยม”  เหนือกว่ารถดั้งเดิมมาก  คนที่ขับในปัจจุบันนั้นน่าจะเป็นคน “มีระดับ” ที่ยอมจ่ายแพงและอาจจะยังไม่สะดวกในการใช้มากนัก  แต่ในเร็ว ๆ  นี้  เทสลาก็จะออกรถโมเดลใหม่ที่เป็น Mass หรือราคาถูกลงและขายให้กับคนทั่วไปมากขึ้น  ซึ่งดูเหมือนว่าน่าจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งและคนเชื่อว่านี่จะเป็น  “เมกาเทรนด์”  ความหมายก็คือการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้ารอบนี้เป็น  “ของจริง” ที่จะต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ  จนโลกอาจจะค่อย ๆ  เปลี่ยนรถจากการใช้น้ำมันเป็นไฟฟ้าจากแบตเตอรี  และสัญญาณที่สะท้อนออกมาก็คือ  ราคาหุ้นของเทสลาที่มีการซื้อขายกันล่าสุดนั้นสูงลิ่ว  มูลค่าหุ้นเท่ากับประมาณ 27 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือเกือบล้านล้านบาทไทยทั้ง ๆ  ที่ยังขาดทุนและมีรายได้น้อยมาก แต่คนเชื่อว่าเทสลาจะเป็นผู้นำที่โดดเด่นในเรื่องของรถไฟฟ้า  และก็แน่นอนว่าเทสลาก็กำลังทำและทดสอบรถที่ไม่ต้องมีคนขับแบบเดียวกับกูเกิลและเผลอ ๆ  จะเร็วกว่าเนื่องจากเขามีรถไฟฟ้าที่ใช้งานได้อยู่แล้ว

            ธุรกิจที่ผูกอยู่กับรถยนต์ใช้น้ำมันนั้น  แน่นอน  มีมานานและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ  เป็นร้อยปีแล้ว  นอกจากธุรกิจรถยนต์เองแล้ว  ธุรกิจที่ใหญ่มาก  “คับโลก” ก็คือธุรกิจค้นหาน้ำมันดิบ  การกลั่นและจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูป  ธุรกิจประกันภัยรถยนต์  และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่นการซ่อมเครื่องยนต์และบริการอื่น ๆ  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้  ในระยะที่ไม่ยาวนักน่าจะไม่เกิน 20 ปีเราก็น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างใหญ่หลวง  เช่นเดียวกับหุ้นของบริษัทที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายนั้นก็จะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลง  หลายบริษัทอาจจะหายไปหรือลดระดับลงไปมาก  บริษัทใหม่ ๆ  อาจจะเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว  บางครั้งแม้ว่ายอดขายยังน้อยและกำไรยังไม่มีแต่ก็อาจจะมี Market Cap. ที่ใหญ่กว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เก่า ๆ  ที่อยู่มาเป็น 100 ปี ได้

            ธุรกิจน้ำมันที่กำลังตกต่ำมากในวันนี้อาจจะเกิดจากความไม่สมดุลของอุปทานและอุปสงค์ชั่วคราว  แต่มันก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคนอาจจะคาดการณ์ไปในอนาคตแล้วว่า  “เวลาหรือยุคของน้ำมัน”  อาจจะกำลังหมดลงเพราะรถไฟฟ้าที่ไม่ต้องใช้คนขับกำลังมาแทนที่  ดังนั้น  หุ้นน้ำมันอาจจะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป  บริษัทผลิตรถยนต์ดั้งเดิมเองนั้น  แม้ว่าหลายบริษัทก็เริ่มหันมาให้ความสนใจกับรถไฟฟ้า  แต่เนื่องจากอาจจะไม่ทุ่มเทเต็มที่เนื่องจากกลัวว่ามันจะมาทำลายรถที่ใช้น้ำมัน  ซึ่งนั่นก็อาจจะทำให้ปรับตัวไม่ทันถูกบริษัทผลิตรถยนต์ที่เน้นรถไฟฟ้าและไม่ต้องใช้คนขับแย่งส่วนแบ่งตลาดไป  หุ้นของบริษัทผลิตรถยนต์จึงมีความไม่แน่นอนสูง

            ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่น  การประกันภัยรถยนต์เองนั้นก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปมหาศาลถ้าพบว่าการใช้รถไฟฟ้าและขับเคลื่อนด้วยระบบ ITทำให้เกิดอุบัติเหตุน้อยลงมาก  เบี้ยประกันก็อาจจะลดลง  ในส่วนของเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนหรือผู้ให้บริการเช่น  อู่ซ่อมรถยนต์เองนั้น  งานก็อาจจะน้อยลง  เช่นเดียวกับพนักงานขับรถที่อาจจะมีความจำเป็นน้อยลงไปเรื่อย ๆ   ส่วนในด้านที่ดีเองนั้น  ต้นทุนของบริษัทที่ต้องใช้พนักงานขับรถสูงเช่นบริษัทโลจิสติกที่ทำเรื่องของการขนส่งอาจจะสามารถลดคนลงได้มาก  อย่างไรก็ตาม  นี่ก็เป็นการได้กำไรเพิ่มในระยะสั้น  แต่ในระยะยาวแล้วทุกรายก็จะทำอย่างเดียวกันกำไรที่เพิ่มก็จะหายไป   คนที่จะได้ผลประโยชน์เต็มที่ที่สุดนั้น  ผมคิดว่าก็คือคนธรรมดาที่จะได้สินค้าที่ดีเยี่ยมคือ  ไม่ต้องขับรถหรือขับอย่างสบายและประสบอุบัติเหตุน้อยลง  ต้นทุนของระบบเศรษฐกิจโดยรวมก็ต่ำลงส่งผลให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเราส่วนใหญ่จะได้เห็นในช่วงชีวิตของเรานี้