Sunday, January 31, 2016

การกำกับดูแลกิจการที่ดี โดย ดร.สันติ กีระนันท์



ท่านที่สนใจการลงทุน หรือสนใจวิชาการทางการเงินในยุคนี้ คงหนีไม่พ้นที่จะได้ยินหรือได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือมักจะเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า CG ซึ่งย่อมาจากคำว่า Corporate Governance ทั้งนี้ หากจะให้ตรงกับภาษาไทยที่ใช้คำว่า “การกำกับดูแลกิจการที่ดี” นั้น คงต้องใช้คำภาษาอังกฤษเต็ม ๆ ว่า Good Corporate Governance หรือ GCG มากกว่าครับ เพราะหากพูดถึงการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันนั้น ทุกองค์กรจำเป็นต้องนึกถึงเรื่องการกำกับดูแลกิจการ (governance) แต่การกำกับดูแลกิจการนั้น หากต้องการผลสำเร็จตามเป้าประสงค์ ก็ต้องเป็นการกำกับดูแลกิจการที่ดี (good governance) ด้วย ซึ่งมีหลักการที่น่าสนใจหลายประการ

          ในภาคราชการ ก็มียุคหนึ่งที่เน้นเรื่องธรรมาภิบาล และใช้ภาษาอังกฤษว่า Good Governance หรือ GG ซึ่งจะเห็นว่าคำว่า “ธรรมาภิบาล” มาจากคำว่า “ธรรม” และ “อภิบาล” ซึ่งหมายถึงการดูแลรักษาที่ดี อย่างไรก็ดี ในภาคราชการทุกวันนี้ คำนี้อาจจะไม่ได้ถูกยกมากล่าวอ้างมากอย่างที่เคยเป็นมาในยุคหนึ่ง

          ไม่ว่าจะใช้คำใดก็ตาม สาระสำคัญของเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น เริ่มต้นจากความเข้าใจของคนทั่วไป ก็คือ ความมุ่งหวังในการแบ่งปันประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholders) อย่างเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบคนอื่น ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจกันว่า บริษัทที่ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น ก็เพื่อทำให้บริษัทเป็นบริษัทที่ดี และด้วยเหตุผลของความเป็นธรรมในการแบ่งปันประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ทำให้วิชาการทางการเงินนั้น มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทว่ามีความสัมพันธ์กับราคาหลักทรัพย์หรือไม่ โดยอาจจะอธิบายถึงมูลเหตุของความสนใจว่า หากบริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีแล้ว นักลงทุนที่สนใจลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทนั้น ย่อมมีความเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบน้อยลง ทำให้มีความสบายใจในการลงทุนในบริษัทนั้น ซึ่งความสบายใจเช่นนั้น ก็จะสะท้อนมาในราคาหลักทรัพย์ที่ยอมจ่ายเพิ่มขึ้นนั่นเอง

          แต่ผมอยากจะแสดงความเห็นไว้ในที่นี้ว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น ความหมายที่กว้างขวางขึ้นกว่าความเป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาจจะตีความได้ว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น ทำให้ภายในองค์กรที่ดำเนินการโดยคำนึงถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น ลดโอกาสความผิดพลาดในการดำเนินงาน มีความรอบคอบรัดกุมในการบริหารงาน ซึ่งจะนำไปสู่ประสิทธิภาในการดำเนินงาน ทั้งนี้ ในปัจจุบันนี้ ความพยายามในการพัฒนาให้บริษัทแต่ละบริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น จุดหมายปลายทางคือ ต้องการให้บริษัทเหล่านั้นเป็นบริษัทที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน สามารถสร้างผลกำไรได้ มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง และนำไปสู่การเติบโตของกิจการอย่างยั่งยืน หรือที่นิยมเรียกกันว่ามี sustainable growth

          หากพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้กิจการมีการเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น แสดงว่า ไม่ใช่เพียงฉาบฉวยแค่ให้องค์กรเป็นองค์กรที่ดีเท่านั้น แต่ต้องการให้องค์กรนั้นมีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งหากเห็นความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว การกำกับดูแลกิจการที่ดีที่ทุกฝ่ายเพียรพยายามส่งเสริมให้เกิดขึ้นแก่บริษัทนั้น ย่อมไม่ใช่ต้นทุนเพื่อทำให้เป็นคนดีเท่านั้น แต่เป็นแนวทางเพื่อให้บริษัทแต่ละบริษัท องค์กรแต่ละองค์กรมีความเจริญเติบโต มีความก้าวหน้า และต้องเป็นความเติบโตก้าวหน้าที่ยั่งยืนด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น


แนวคิดในการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน

          ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการกำหนดถึงหลักการและแนวทางปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือปฏิบัติ ซึ่งในเบื้องต้นนั้น หากการดำเนินการตามหลักดังกล่าวเกิดขึ้นโดยบริษัทจดทะเบียนรับรู้เพียงว่า เป็นนโยบายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะให้บริษัทจดทะเบียนถือปฏิบัติ ก็ย่อมจะทำให้บริษัทจดทะเบียนรู้สึกเป็นภาระ แต่โดยสาระสำคัญแล้ว การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ ในเบื้องแรกก็เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนนั้น เกิดความมั่นใจว่า บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นั้น มีการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม ก็จะทำให้นักลงทุนเกิดความสบายใจว่าการลงทุนนี้ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและได้รับการดูแลที่เหมาะสม ความรู้สึกสบายใจของนักลงทุนก็จะนำไปสู่มูลค่าเต็ม (full valuation) ของราคาหลักทรัพย์นั้น ๆ  ในทางตรงกันข้าม หากนักลงทุนไม่สบายใจในเรื่องดังกล่าว นักลงทุนก็จะต้องคิดถึงส่วนลดในราคาของหลักทรัพย์นั้น ไม่ยอมให้มูลค่าเต็ม มูลค่าของหลักทรัพย์ก็จะเกิดส่วนลด (discount value) ขึ้น ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ที่เสียไปของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์

          ออกนอกเรื่องนิดหนึ่งนะครับ เมื่อใดก็ตามที่ได้กล่าวถึงหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนนั้น ไม่ได้หมายความแคบ ๆ เพียงแค่หุ้นสามัญ (common stock) ของบริษัทจดทะเบียน หรือหุ้นที่นักลงทุนรู้กันดีและซื้อขายอย่างแพร่หลายแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะหมายรวมกว้างขึ้นไปถึงหุ้นกู้ (corporate bond) ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนด้วย ยิ่งในปัจจุบันนี้ เครื่องมือทางการเงินที่บริษัทจดทะเบียนสามารถใช้เพื่อการจัดหาเงินทุนได้มีการพัฒนาให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund – IFF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (real estate investment trust – REIT) ก็อยู่ในขอบข่ายของหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียน ซึ่งนักลงทุนก็ต้องมีความมั่นใจและสบายใจในการลงทุน โดยผู้ออกหลักทรัพย์ทุกประเภท ต้องอยู่บนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อนำไปสู่มูลค่าของหลักทรัพย์ที่ออกเต็มบริบูรณ์ การที่นักลงทุนยอมให้มูลค่าเต็มแก่หลักทรัพย์เพื่อการจัดหาเงินทุนของผู้ออกนั้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ออกมีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง

          กลับมาเข้าเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์อีกครั้งนะครับ นอกจากจะคิดถึงความเสี่ยงหรือความไม่สบายใจของนักลงทุนที่จะกังวลในการลงทุนของตัวเองเป็นเบื้องแรกแล้ว การกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น สำหรับบริษัทจดทะบียนหรือบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นั้น ถือได้ว่า หลักการและแนวปฏิบัติของการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น จะเป็นกรอบปฏิบัติที่จะทำให้บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์สามารถใช้ในการดำเนินงาน เพื่อสร้างประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นในการดำเนินงาน

          ในเรื่องนี้ ผมอยากจะอธิบายว่า หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนนั้น พื้นฐานที่สุดคือ หากจะดำเนินการอะไรก็ตาม ถ้ายังรู้สึกมีคำถามหรือข้อสงสัยว่า การดำเนินงานเช่นนั้นจะถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักการกำกับกิจการที่ดี เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ หากผู้ปฏิบัติยังมีคำถาม แล้วคนอื่นซึ่งรู้น้อยกว่าผู้ปฏิบัติเสียอีกจะไม่สงสัยได้อย่างไร เพราะฉะนั้นแล้ว หากมีเรื่องอะไรก็ตามที่เราไม่แน่ใจว่าปฏฺบัติไปแล้วจะดีหรือไม่ดี ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าน่าจะไม่ค่อยดี หากหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติได้ น่าจะดีกว่า หรือหากจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติเช่นนั้น อาจจะจำเป็นต้องมีวิธีการเพื่อหลีกเลี่ยงความสงสัยเช่นนั้น ยกตัวอย่างสักตัวอย่างหนึ่งประกอบนะครับ สมมติว่า นายสมศักดิ์เป็นกรรมการอิสระในบริษัท ดำเนินงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ในขณะนี้ บริษัท ดำเนินงานบริสุทธิ์ ต้องการจัดหาที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อใช้ในการขยายโรงงาน และเป็นเหตุบังเอิญว่า นายสมศักดิ์มีที่ดินที่มีคุณสมบัติอย่างที่บริษัท ดำเนินงานบริสุทธิ์ ต้องการ และแม้เปรียบเทียบกับที่ดินแปลงอื่นแล้ว ที่ดินของนายสมศักดิ์น่าจะเป็นที่ดินที่เหมาะสมที่สุดที่จะเสนอให้บริษัท ดำเนินงานบริสุทธิ์ ได้ซื้อไว้เพื่อใช้ในกิจการดังกล่าว

          กรณีตัวอย่างเช่นนี้ หากนายสมศักดิ์จะนำเสนอที่ดินที่ตนเองเป็นเจ้าของให้กับบริษัทพิจารณาซื้อนั้น นายสมศักดิ์คงจะมีความสงสัยว่า ตนเองสมควรจะกระทำหรือไม่ เพราะในฐานะกรรมการของบริษัทดังกล่าว มีอำนาจร่วมในการตัดสินใจว่าจะเลือกที่ดินแปลงใดเพื่อให้บริษัทได้รับประโยชน์สูงสุด โดยที่นายสมศักดิ์ก็จะเห็นคุณสมบัติและราคาของที่ดินแปลงอื่น ๆ ในการศึกษาเปรียบเทียบด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่า นายสมศักดิ์มีข้อมูลที่จะนำเสนอบริษัทเพื่อให้พิจารณาซื้อที่ดิน มากกว่าเจ้าของที่ดินรายอื่น กล่าวคือ นายสมศักดิ์ได้เปรียบมากกว่าเจ้าของที่ดินรายอื่นในการนำเสนอที่ดินให้บริษัท ดำเนินงานบริสุทธิ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพราะถือได้ว่านายสมศักดิ์ เป็นผู้ได้เปรียบและเป็นผู้ที่มีความขัดแย้งกันเชิงผลประโยชน์ หรือมี conflict of interest (COI) ซึ่งในเรื่อง COI นี้ หากเป็นภาคราชการนั้น แนวปฏิบัติที่ชัดเจนคือ หลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการเช่นนั้นเลยทั้งหมด ดังกรณีนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อสงสัยเช่นนี้ นายสมศักดิ์ควรจะเลือกที่จะไม่เสนอที่ดินของตัวเองให้กับบริษัท แต่หากทำเช่นนั้น บริษัทก็จะเสียประโยชน์ในการได้ที่ดินแปลงที่ดีที่สุดเพื่อใช้ในการดำเนินงาน

          ในภาคเอกชน การดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา COI แต่ยังคงให้เกิดประโยชน์ที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย อาจจะมีการดำเนินการที่ผิดไปจากแบบแผนของราชการ กล่าวคือ นายสมศักดิ์ยังอาจจะนำเสนอที่ดินของตนเองได้ แต่ต้องมีการเปิดเผยเรื่องดังกล่าวอย่างโปร่งใส หรือเป็นไปตามหลักการเปิดเผยข้อมูล (disclosure) และในฐานะกรรมการซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อใดก็ตามที่คณะกรรมการมีการพิจารณาเรื่องที่ดินนี้ นายสมศักดิ์ต้องไม่อยู่ในที่ประชุม และไม่มีส่วนร่วมในการประชุมเรื่องนี้ ทำให้ไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับผู้เสนอขายที่ดินรายอื่น

          จะเห็นได้ว่า แนวคิดในการจัดการเรื่องความขัดแย้งในผลประโยชน์ที่ภาคราชการและภาคเอกชนถือปฏิบัติ อาจจะมีความแตกต่างกันในสาระและรายละเอียดได้พอสมควร สำหรับภาคราชการนั้น การกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือธรรมาภิบาลนั้น เป็นไปตาม “รูปแบบ” หรือ form เป็นอย่างมาก หากผิดพลาดไป ผู้ปฏิบัติมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินการตามกฎหมายได้ในภายหลัง ในขณะที่ภาคเอกชนนั้น สำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานอย่างมีความเข้าใจ ก็จะยึดถือ “สาระสำคัญ” หรือ substance มากกว่ารูปแบบ หรือที่เรียกว่ substance over form

          จากกรณีตัวอย่างที่สร้างขึ้น เพื่อทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์พื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น ผมจะมุ่งเน้นให้เห็นว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีที่จะทำให้เกิดประโยชน์นั้น ต้องมุ่งเน้น “สาระสำคัญ” และมุ่งเน้นถึงความมี “ประสิทธิภาพ” มากกว่าจะปฏิบัติให้ได้ตามรูปแบบโดยไม่สนใจเหตุผลใด ๆ ดังเช่น ในกรณีเรื่องที่ดินนั้น หากนายสมศักดิ์ทำเพียงแค่ “หลีกเลี่ยง” (avoidance) เพื่อให้ผิดตามรูปแบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีแล้ว บริษัท ดำเนินงานบริสุทธิ์ ก็จะเป็นผู้เสียประโยชน์ไปด้วย แต่หากคำนึงถึงประสิทธิภาพ ก็มีวิธีการบริหารจัดการเพื่อยังคงถึงวัตถุประสงค์ตั้งต้นของการกำกับดูแลกิจการที่ดีพร้อม ๆ กับทำให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินงานได้ด้วย


หลักการและแนวปฏิบัติของการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวางแนวทางและหลักการของเรื่องดังกล่าวไว้เป็น 5 เรื่อง ได้แก่

       1. สิทธิของผู้ถือหุ้น
       2. การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
       3. บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
       4. การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
       5. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

          ใน 5 หัวข้อข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่า ข้อ 1 – 4 นั้น เป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน หรือการปฏิบัติที่มี “มาตรฐานเดียวกัน” สำหรับผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้เกี่ยวข้องในกลุ่มเดียวกัน อย่างไรก็ดี ผู้เกี่ยวข้องต่างกลุ่มกันนั้น (เช่น ผู้ถือหุ้นสามัญ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท กับผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท ถือเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคนละกลุ่มกัน การปฏิบัติของบริษัทต่อคนทั้งสองกลุ่ม อาจจะมีความแตกต่างกัน เพราะสิทธิที่คนทั้งสองกลุ่มมีต่อบริษัทนั้น มีความแตกต่างกัน และมีลำดับสิทธิในการเรียกร้อง หรือที่เรียกว่า priority claim แตกต่างกัน) ก็จะได้รับการดูแลจากบริษัทที่แตกต่างกัน แต่เท่าเทียมในกลุ่มเดียวกัน ข้อ 4. ที่กล่าวถึงเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสนั้น โดยหลักการก็คือ การกระทำใด ๆ ก็ตาม ต้องมีความโปร่งใส ไม่งุบงิบทำโดยไม่มีการรายงานหรือไม่มีการเปิดเผย และการกระทำเหล่านั้น พร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบในภายหลัง หากมีข้อสงสัยเกิดขึ้นในหมู่ผู้มีส่วนได้เสีย

          กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลักปฏิบัติข้อ 1 – 4 นั้น เพื่อทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน เกิดความมั่นใจได้ว่า นักลงทุนจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ นักลงทุนจะได้รับการปฏิบัติที่ไม่แตกต่างกันกับนักลงทุนคนอื่นที่ลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลข่าวสารทั้งหลายที่บริษัทจดทะเบียนรับทราบและดำเนินการไป ต้องเปิดเผยอย่างโปร่งใสและเท่าเทียมกัน พร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบได้ หากมีข้อสงสัยเกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ผมได้กล่าวข้างต้นว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น ในเบื้องแรกเป็นไปเพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ หรือลดความเสี่ยงจากการลงทุนของนักลงทุนลง ซึ่งความเสี่ยงที่ว่านั้น เกิดจากความไม่แน่นอนในการดำเนินงานที่ขาดมาตรฐาน ปฏิบัติต่อนักลงทุนอย่างไม่เท่าเทียมกัน และเมื่อนักลงทุนไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงเช่นนี้ ก็ไม่ต้องเรียกร้องผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า มูลค่าของหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนที่ปฏิบัติตามหลักการที่ว่านี้จะเป็นมูลค่าเต็มที่ ต้นทุนเงินทุนจากการออกหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนก็จะเป็นต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้นทุนที่ไม่แพงเกินความจำเป็น

          จากหลักปฏิบัติในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกเหนือจาก 4 ข้อข้างต้นนั้น ข้อ 5. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เป็นข้อที่แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียน ในหลักการดั้งเดิมนั้น คณะกรรมการถือเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยเฉพาะหุ้นสามัญของบริษัท ซึ่งหมายความว่า คณะกรรมการเป็นตัวแทนของเจ้าของบริษัทนั่นเอง ในกรณีของบริษัทมหาชนนั้น หุ้นสามัญได้มีการกระจายการถือครองไปยังบุคคลหมู่มาก แต่โดยโครงสร้างทั่วไป จะมีกลุ่มผู้ถือหุ้นกลุ่มใหญ่ หรือเรียกว่า majority ซึ่งก็คือเจ้าของบริษัทก่อนที่จะมีการนำหุ้นมากระจายในตลาดนั่นเอง และมีกลุ่มผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นผู้ถือหุ้นกลุ่มย่อย หรือ minority ดังนั้น ในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเรื่องหนึ่ง ก็คือ โครงสร้างคณะกรรมการที่กำหนดให้ต้องมีกรรมการอิสระ (independent director) ซึ่งจะมีลักษณะสำคัญคือ ไม่เป็นผู้ถือหุ้น มีความเป็นอิสระจากบริษัทและกลุ่มผู้ถือหุ้นหลัก โดยกำหนดว่าจะต้องมีกรรมการอิสระเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด และต้องไม่น้อยกว่า 3 คน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การตัดสินใจในระดับนโยบายใด ๆ นั้น จะไม่ถือเอาประโยชน์ของกลุ่มผู้ถือหุ้นหลักเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้ถือหุ้นกลุ่มย่อยด้วย

          ความเข้าใจในประโยชน์และบทบาทกรรมการอิสระในเบื้องต้น อาจจะเป็นอย่างที่กล่าวนั้น อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง ผู้มีส่วนได้เสียในบริษัท ไม่ได้มีเพียงผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่น ๆ อีก เช่น เจ้าหนี้ ผู้บริโภค สาธารณชน เป็นต้น ซึ่งอันที่จริงแล้ว ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น การคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของกรรมการอิสระเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของกรรมการทุกฝ่าย และเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้เกิดผลในทางปฏิบัติ แม้จะมีการกำหนดจำนวนขั้นต่ำของกรรมการอิสระแล้ว แต่หากจะให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่เข้มข้นขึ้น บริษัทอาจจะมีจำนวนและสัดส่วนของกรรมการอิสระเพิ่มขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระไม่ควรจะนานเกินไป เพราะหากเป็นกรรมการนาน ๆ แล้ว ด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ปรกติ จะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ทำให้การพิจารณาหรือตัดสินใจใด ๆ นั้น ขาดความเป็นอิสระไป

          ในเรื่องกรรมการอิสระนี้ ก็ยังหนีไม่พ้นปัญหาเรื่อง “รูปแบบ” กับ “สาระสำคัญ” เพราะแม้จะมีการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการอิสระในเรื่องต่าง ๆ ไว้แล้ว เช่น การถือครองหลักทรัพย์ของกรรมการอิสระ ความสัมพันธ์ของกรรมการอิสระกับผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ เป็นต้น แต่ความสัมพันธ์ทางใจที่ไม่ได้มีการกำหนดเป็นหลักการ เพราะหากมีการกำหนดเป็นหลักการแล้ว ก็ไม่สามารถวัดหรือบังคับให้เกิดผลขึ้นได้จริง แต่ความสัมพันธ์ทางใจ หรือความไม่อิสระในรูปแบบอื่นนั้น อาจจะเกิดขึ้นได้เป็น “สาระสำคัญ” แต่ไม่ผิดตาม “รูปแบบ” ที่กำหนด ซึ่งเรื่องกรรมการอิสระนี้ ก็เป็นเรื่องที่วัดได้ยากในความเป็นอิสระที่ต้องการให้เกิดขึ้นในคณะกรรมการ

          นอกเหนือจากเรื่องกรรมการอิสระ ซึ่งผมยกมาอภิปรายในหัวข้อ “บทบาทคณะกรรมการ” เป็นตัวอย่างเริ่มต้นนั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพิจารณาเพื่อตอบโจทย์เรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี


การแบ่งแยกหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหาร

          กรรมการถือเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ในการที่จะต้องกำกับดูแลกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ อยู่ในทำนองคลองธรรม และที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องกำกับดูแลให้กิจการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ในขณะที่ผู้บริหาร หรืออาจจะเรียกกันว่า ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายจัดการ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า management เป็นผู้มีบทบาทและหน้าที่แตกต่างไปจากกรรมการ กล่าวคือ ฝ่ายบริหารมีหน้าที่รับนโยบายของกรรมการมาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยกำหนดกลยุทธร่วมกับกรรมการ หรือกำหนดกลยุทธย่อยเพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธหลัก และนำไปสู่ผลสำเร็จตามที่คาดหมาย

          ตามนิยามภาระหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารข้างต้นนั้น อาจจะชี้นัยให้เห็นได้ว่า หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในเรื่องนี้ก็คือ การแบ่งแยกหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารอย่างชัดเจน และแนวคิดที่ผมอยากนำเสนอเพิ่มเติมด้วยก็คือ มีความเข้าใจผิดอยู่เนือง ๆ ว่า กรรมการคือ “เจ้านาย” ของผู้บริหาร ซึ่งผมเห็นว่าความเชื่อหรือความเข้าใจดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะกรรมการไม่มีอำนาจ “สั่งการ” ให้ผู้บริหารต้องทำตามที่กรรมการต้องการ แต่กรรมการมีหน้าที่กำหนดนโยบาย และมอบหมายให้ผู้บริหารทำตามนโยบาย โดยไม่ควรจะกำหนด “วิธีการ” ให้ผู้บริหารต้องปฏิบัติ แต่กรรมการมีอำนาจและหน้าที่ในการ “กำกับดูแล” ให้ฝ่ายบริหารดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายที่ได้มีการกำหนดขึ้น ผมสังเกตเห็นในหลายองค์กรนั้น กรรมการได้ข้ามมาสั่งการให้ฝ่ายบริหาร (ผมใช้คำว่าฝ่ายบริหาร ซึ่งหมายรวมตั้งแต่กรรมการผู้จัดการลงมาผู้บริหารคนอื่นภายใต้โครงสร้างองค์กรระดับไล่ลงมาจากกรรมการผู้จัดการ) ดำเนินการหลายอย่าง ซึ่งหากมีการข้ามลงมามาก ๆ ในหลายกรณีนั้น อาจจัดได้ว่าเป็นการ “ล้วงลูก” มากเกินไป เพราะโดยหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น กรรมการมีหน้าที่มอบหมายนโยบายและกำกับการดำเนินงานของฝ่ายบริหารเท่านั้น ไม่ควรล้วงลูกมาสั่งการ ข้อต่อระหว่างกรรมการและฝ่ายบริหารก็คือ “กรรมการผู้จัดการ” ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อให้กรรมการและฝ่ายบริหารมีการสื่อสารถึงกันได้ ดังนั้น หากกรรมการจะ “สั่งการ” นั้น ควรจะทำโดยผ่านกรรมการผู้จัดการ และให้กรรมการผู้จัดการเป็นผู้สั่งการผู้บริหารที่เหลืออยู่ เพราะกรรมการผู้จัดการจะเป็นผู้ที่ถูกประเมินและกำหนดผลตอบแทนโดยคณะกรรมการ ในขณะที่ผู้บริหารคนอื่น ควรจะถูกประเมินและกำหนดผลตอบแทนโดยกรรมการผู้จัดการ เว้นแต่องค์กรขนาดใหญ่ที่ให้การประเมินและกำหนดผลตอบแทนของฝ่ายบริหารถูกกระทำโดยคณะกรรมการกำหนดค่าจ้างและผลตอบแทน โดยที่กรรมการผู้จัดการเป็นหนึ่งเสียงของคณะกรรมการชุดดังกล่าว อย่างไรก็ดี โดยทั่วไป มักจะให้คณะกรรมการกำหนดค่าจ้างและผลตอบแทนมีหน้าที่พิจารณาฝ่ายบริหารไม่เกิน 2 ระดับ คือ กรรมการผู้จัดการและระดับรองลงมา 1 ระดับเท่านั้น ไม่ควรให้ก้าวล่วงมาหลายระดับต่อจากนั้น
       
เหตุผลที่กำหนดการแบ่งแยกบทบาทระหว่างกรรมการและผู้บริหาร เพราะว่า หากผู้กำหนดนโยบายเป็นผู้ดำเนินการตามนโยบายเอง รวมทั้งเป็นผู้กำกับดูแลเอง การดำเนินการที่ผิดพลาดไปก็จะไม่มีคนเห็น เพราะทุกคนต่างแข่งกันทำ ไม่มีคนมองมาจากข้างบน (bird eyes’ view) หรือไม่มีคนที่อยู่นอกวงมองเข้ามาในวง ซึ่งจะเห็นชัดกว่าคนที่คลุกวงในทั้งหมด นอกจากนั้น หากผู้กำกับดูแลเกิดมันมือ อยากเป็นผู้สั่งการหรือดำเนินการเอง หากเกิดความผิดพลาดขึ้น ก็ยากที่จะชี้ข้อผิดพลาดของตนเอง ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับการประเมินและกำหนดค่าตอบแทนนั้น การกำหนดให้กรรมการผู้จัดการเป็นผู้ “ให้คุณให้โทษ” แก่ผู้บริหารระดับล่างลงไปนั้น เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ ผู้ที่สามารถให้คุณให้โทษได้ ก็จะเป็นผู้สั่งการที่ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องฟังและปฏิบัติตาม หากให้คณะกรรมการเป็นผู้ให้คุณให้โทษแล้ว กรรมการผู้จัดการก็จะกลายเป็นหัวหลักหัวตอ การดำเนินการใด ๆ ภายใต้การสั่งการของกรรมการผู้จัดการก็จะไม่เป็นผล นโยบายที่คณะกรรมการมอบหมายให้ ก็อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ

          เรื่องการแบ่งแยกบทบาทระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายบริหารนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง กรรมการหลายท่านก็เข้าใจบาทของตัวเองผิดพลาดไป คิดว่าสามารถสั่งการได้ทั้งบริษัท ซึ่งหากจะพิจารณาตามกลุ่มของกรรมการแล้ว อาจจะเห็นได้ว่ามีการกำหนด “กรรมการผู้มีอำนาจ” ซึ่งจะเป็นกรรมการผู้จัดการ และ/หรือ ประธานกรรมการ กรรมการบางคนเท่านั้น ไม่ใช่กรรมการทุกคนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ซึ่งนั่นหมายความว่า กรรมการแต่ละคนต้องรู้ว่าบทบาทหน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง และแม้แต่กรรมการผู้มีอำนาจเอง ก็ต้องอ่าน “กฎบัตร” หรือ charter ของตนเองให้เข้าใจ ไม่ควรก้าวก่ายหรือทำหน้าที่ขาด ๆ เกิน ๆ เพราะไม่ว่าจะขาดหรือจะเกินไปนั้น ล้วนแล้วไม่เป็นผลดีต่อการดำเนินงานของบริษัททั้งสิ้น

          นอกเหนือจากการแบ่งแยกบทบาทระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายบริหารดังที่กล่าวแล้ว การทำหน้าที่ของกรรมการแต่ละท่าน ที่เป็นหลักคือ พิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริง แล้วใช้การอภิปราย การถกประเด็น (discussion) การค้นหาข้อสรุปด้วยการใช้เหตุผลในที่ประชุมคณะกรรมการ เมื่อออกจากห้องประชุมคณะกรรมการแล้ว กรรมการไม่มีบทบาทหลักในการสั่งการ และการทำหน้าที่กรรมการนั้น ควรจะคำนึงถึงการทำหน้าที่อย่างกัลยาณมิตร ทั้งความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างกรรมการในคณะกรรมการด้วยกัน และความเป็นกัลยาณมิตรต่อฝ่ายบริหาร ในหลายครั้งอาจจะเห็นได้ว่า กรรมการและฝ่ายบริหารนั้น ไม่ได้มีความแตกต่างในแง่ของความสามารถ ประสบการณ์ หรือความชำนาญ สิ่งที่แตกต่างกันในองค์กรคงเป็นเพียงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งหากแยกแยะเรื่องนี้ไม่ออก การทำงานของคณะกรรมการและฝ่ายบริหารก็จะไม่ราบรื่น และนำมาสู่การเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จขององค์กรโดยส่วนรวมในที่สุด


พัฒนาการต่อไปจากการกำกับดูแลกิจการที่ดี

          ดูเหมือนว่าการบริหารงานที่คำนึงถึงการดูแลกิจการที่ดีในยุคปัจจุบันนี้ เป็นเพียงขั้นต้นของการบริหารกิจการเพื่อความยั่งยืน หรือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (sustainable development – SD) โดยขยายแนวคิดออกไปจากการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งอาจจะเป็นการคำนึงถึงการบริหารงานภายในองค์กรเองเป็นหลัก ออกไปสู่การคำนึงถึงระบบนิเวศ (ecosystem – ซึ่งนิยมใช้กันพร่ำเพรื่อมากในปัจจุบันนี้) โดยหมายรวมไปถึงการบริหารงานที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม (environment) และสังคมที่เกี่ยวข้อง (society) นอกเหนือไปจากการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) ดังจะเห็นว่าในปัจจุบันนั้น นิยมพูดกันเรื่อง ESG (environment, society, and governance) ซึ่งถือว่าเป็นการบริหารงานในองค์กรหนึ่งองค์กรโดยคำนึงถึงองค์รวมทั้งหมด และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ sustainable development – SD อย่างที่กล่าวในตอนต้น

          ไม่ว่าจะขยายแนวความคิดในการบริหารงานในองค์กรออกไปให้กว้างขวางขึ้นอย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าในที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถละทิ้งเรื่องการกำกับดูแลกิจการ ซึ่งสรุปอีกครั้งว่า มีสาระสำคัญอยู่ 2 นัย กล่าวคือ นัยที่หนึ่งเป็นเรื่องความเป็นธรรมในการแบ่งปันประโยชน์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย กับอีกนัยหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือ การมุ่งเน้นการบริหารงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

          อาจจะพูดได้ว่า หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น จุดหมายปลายทางไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่ให้เกิดความมั่นใจว่าองค์กรที่ดำเนินการตามหลักการนี้จะเป็นองค์กรที่ดีเท่านั้น แต่ต้องเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพด้วย จนถึงขนาดที่พูดกันเรื่อง high performance enterprise – HPE หรือองค์กรที่มีการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจอย่างสูงด้วย ไม่มีใครอยากจะเป็นคนดีที่ล้มละลาย ไม่มีใครอยากจะเป็นคนดีที่ขาดทุน ทุกคนต้องมุ่งหวังที่จะเป็นคนดีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงการเป็นองค์กรที่แบ่งปันประโยชน์อย่างเป็นธรรม เป็นองค์กรที่มีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม และเป็นองค์กรที่ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงด้วย และองค์กรอย่างนี้ จึงจะเป็นที่สนใจของนักลงทุนนั่นเอง