Tuesday, May 3, 2016

Competition Model/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


โลกทุกวันนี้มีความก้าวหน้าขึ้นมากอย่างรวดเร็วและนี่ทำให้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้วัดความสำเร็จและความก้าวหน้าหรือการเติบโตของปัจเจกบุคคล  องค์กร  และธุรกิจต่าง ๆ จำนวนมากเริ่ม “ล้าสมัย”  ตัวอย่างเช่น  การที่คน ๆ หนึ่ง “เก่ง” มากในด้านใดด้านหนึ่งนั้น  ในอดีตเราก็จะบอกว่าเขามักจะประสบความสำเร็จสูง  แต่ในปัจจุบัน  บางทีความสามารถของเขาอาจจะ “ไม่มีประโยชน์” อะไรนักถ้ามีคนที่  “เก่งกว่า” เขาจำนวนมาก   ตัวอย่างง่าย ๆ  ที่ผมเห็นก็เช่นกรณีของนักร้องเพลง  ในสมัยก่อนนั้นเราอาจจะรู้จักนักร้องเพลงระดับ  “แผ่นเสียงทองคำ” ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนในประเทศที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง  เสียงและความสามารถในการร้องของพวกเขาในสมัยนั้นต้องถือว่า  “สุดยอด”  หาคนเทียบได้ยากและเรามักคิดว่าเป็น  “พรสวรรค์”  แต่เดี๋ยวนี้ที่ผมได้ฟังคนรุ่นใหม่ที่มีการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก   ผมก็รู้สึกว่าคนที่เสียงดีและร้องเพลงได้ดีไม่แพ้นักร้องระดับสุดยอดในสมัยก่อนนั้นมีจำนวนมาก  แม้แต่คนที่เข้าประกวดร้องเพลงที่ออกอากาศทางทีวีมากมายนั้น  ผมคิดว่าบางคนก็ร้องได้ดีกว่านักร้องระดับดาราในสมัยก่อน   แต่คนที่จะประสบความสำเร็จในการเป็นนักร้องนั้นก็มีน้อยนิด  เหตุผลก็เพราะว่ามีนักร้องที่เก่งกว่าเขาอีกมาก  ดังนั้น  คนก็จะไม่สนใจฟังคนที่เสียงดี  คนฟังนักร้องที่เสียงดีกว่า   หรือไม่ก็ฟังนักร้องที่มีเสียงแปลกและแตกต่างจากนักร้องอื่น

    ในเรื่องของสินค้าที่ผลิตจากบริษัทที่เป็นธุรกิจเองก็เช่นเดียวกัน  ในสมัยหนึ่งในช่วงของการเฟื่องฟูของการผลิตสินค้าที่เป็น Mass ที่โลกเริ่มสามารถผลิตสินค้าจำนวนมากขายให้แก่ประชาชนทั่วไปนั้น  บริษัทไหนที่สามารถผลิตสินค้าที่มีราคาถูกและคุณภาพดีก็สามารถขายได้จำนวนมากและบริษัทเติบโตก้าวหน้าอย่างมหาศาล  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือรถยนต์ของฟอร์ด  แต่ต่อมาการผลิตรถยนต์ก็มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว  การผลิตรถยนต์ได้ดีก็ไม่เพียงพอต่อความสำเร็จ  ต้องผลิตให้ได้คุณภาพ “ดีขึ้น”  ซึ่งต่อมาการผลิตได้ดีขึ้นหรือเก่งขึ้นก็ไม่พอจะต้องมีบริการหลังการขายที่ดีขึ้น  ต้องมีการตลาดที่ดีขึ้น   อาจจะต้องมีระบบการผ่อนส่งค่ารถที่จูงใจกว่าและอื่น ๆ  อีกมาก  แต่สุดท้ายก็อาจจะยังไม่พอ  อาจจะต้องผลิตรถยนต์ที่แปลกหรือแตกต่างออกไป  เหตุผลก็คือ  คนหรือบริษัทพัฒนาและเก่งขึ้นจนสามารถเลียนแบบผลิตสินค้าที่มีสมรรถนะและคุณสมบัติใกล้เคียงกันจนลูกค้าไม่ใคร่เห็นความแตกต่าง  การที่บริษัทจะประสบความสำเร็จสูงจึงต้องทำอะไรก็ตามที่จะสามารถดึงดูดให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าของตนมากกว่าคู่แข่ง  ไม่ใช่ทำให้สินค้าของตน “ดี” หรือแม้แต่ “ดีกว่า”

    และนั่นนำมาถึงเรื่องที่ผมจะพูดในวันนี้นั่นก็คือ  การวิเคราะห์กิจการหรือหุ้นที่เราจะลงทุน  จุดอ่อนของ VI จำนวนมากก็คือ  เรามักจะฟังจากบริษัทมากกว่าที่จะศึกษาจากข้อมูลในวงกว้างที่ “เป็นกลาง”   สิ่งที่เรามักจะได้รับก็คือ  บริษัท “ดีอย่างไร”  หรือเก่งขนาดไหน  ยิ่งในบางครั้งบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรม  “ไฮเท็ค”  เราซึ่งบ่อยครั้งเป็นพวก  “โลว์เท็ค”  หรืออยู่ในอีกอุตสาหกรรมหนึ่งหรืออยู่ในทักษะอีกประเภทหนึ่งเช่นเป็นแนวอาร์ตหรือแนว  “ศิลปะ”  เราก็มักจะรู้สึกประทับใจและเชื่อในสิ่งที่ผู้บริหารของบริษัทบอก  ผลก็คือ  เรามักจะให้คะแนนบริษัทสูงกว่าความเป็นจริง  เราคิดว่าบริษัทจะต้องประสบความสำเร็จสูงและยั่งยืนไปอีกนาน  เราคิดว่าบริษัทมีคุณภาพที่ดี  เราเข้าไปซื้อหุ้นและให้ราคาสูง  เราถือหุ้นเหล่านี้ทั้ง ๆ  ที่ค่า PE บางทีสูงถึง 50-60 เท่าหรือสูงกว่านั้น  แต่แล้วในหลาย ๆ  กรณีเมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าบริษัทไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่คาด  ผลประกอบการไม่ได้โตอย่างที่คิด  เหตุผลอาจจะเป็นว่ามี “คู่แข่ง” ที่ “ไม่คาดคิด” เข้ามาแข่งขัน   ที่จริงคู่แข่งนั้นก็อาจจะมีอยู่แล้วแต่เราไม่รู้  หรือบางทีก็มีคู่แข่งที่เข้ามาแข่งด้วย “รูปแบบใหม่” ที่ลูกค้า “ชอบมากกว่า”

    ดังนั้น  ถ้าเราจะลงทุนหุ้นระยะยาวซึ่งต้องอิงกับ “พื้นฐาน” ของกิจการแล้ว  สิ่งที่จะต้องวิเคราะห์เป็นหลักก็คือการวิเคราะห์เรื่องของ “การแข่งขัน” มากกว่าเรื่องที่ว่าบริษัทดีหรือเก่งแค่ไหนหรือมีรูปแบบการดำเนินงานอย่างไร  จริงอยู่  การวิเคราะห์และรู้จักว่าบริษัทเป็นอย่างไรและมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นแต่ไม่เพียงพอ  เหตุผลก็เพราะว่าคู่แข่งก็อาจจะเก่งและมีรูปแบบหรือ Model ทางธุรกิจแบบเดียวกันหรือสามารถเลียนแบบสิ่งที่บริษัททำได้ในระยะเวลาอันสั้น  ดังนั้น  ผลงานที่ดีของบริษัทก็อาจจะคงอยู่ได้ไม่นาน  แต่การวิเคราะห์เรื่องของการแข่งขันจะทำให้เราเห็นภาพที่ดีกว่าโดยเฉพาะในระยะยาวว่า  ใครจะเป็น  “ผู้ชนะ”  และการชนะนั้นจะยังคงอยู่อีกต่อไปได้นานแค่ไหน  และนั่นจะเป็นตัวกำหนด “คุณภาพ” ที่แท้จริงของกิจการและหุ้น

    จุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์การแข่งขันก็คือการกำหนดว่าบริษัทเราแข่งกับใคร  ใครคือคู่แข่งทางตรงและทางอ้อม  นอกจากนั้น  ในโลกยุคดิจิตอลและไฮเท็ค  เรายังต้องวิเคราะห์ด้วยว่ามีโอกาสแค่ไหนที่จะมีคู่แข่งที่ “ไม่คาดคิด”  เกิดขึ้นจากพัฒนาการของเท็คโนโลยี   ในบางครั้งเราอาจจะคิดว่าบริษัทของเรา  “ไม่มีคู่แข่ง”  ตัวอย่างเช่น  บริษัทผลิตไฟฟ้าจากเซลแสงอาทิตย์หรือพลังงานทดแทนอื่น  เราคิดว่าบริษัททำกำไรได้ดีมาก  มีมาร์จินสูงและยอดขายจะขยายตัวไปได้อีกมากเนื่องจากความต้องการของทางการที่เพิ่มขึ้นจากแผนพลังงานทดแทนของประเทศ  เราขายพลังงานไฟฟ้าโดย “ไม่ต้องแข่ง” กับใครเพราะมีสัญญาแน่นอนแล้ว  แต่นี่อาจจะเป็นความเข้าใจผิด  จริง ๆ  แล้วการเสนอขายไฟให้การไฟฟ้าโดยเฉพาะในปัจจุบันนั้น  คู่แข่งจริง ๆ  ก็คือบริษัทหรือหน่วยงานอื่นที่เสนอขายไฟให้กับการไฟฟ้าจำนวนมาก  ปัจจัยการแข่งขันที่ใช้นอกจากเรื่องของเงินทุนและความสามารถในการติดตั้งอุปกรณ์ซึ่งคู่แข่งต่างก็มีความสามารถพอ ๆ  กันแล้วก็ยังขึ้นอยู่กับ  “ราคา”  ค่าไฟฟ้าที่ต่ำที่สุดหรือต่ำกว่าคู่แข่งอื่น  ถ้าจะว่าไป  การแข่งขันนี้ก็รุนแรงมากเพราะมันเป็นการแข่งขันทางด้านราคาเป็นหลัก   และธุรกิจที่มีการแข่งขันที่รุนแรงนั้นก็มักจะเป็นธุรกิจที่ “ไม่ดี”  ในแง่ของการทำเงิน  ดังนั้น  การที่เราจะลงทุนในธุรกิจขายพลังงานทดแทนในราคาหุ้นที่มีค่า PE สูงมาก ๆ  ในระยะยาวแล้วผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่อันตราย

    เมื่อพบว่าใครคือ “คู่แข่ง” จริง ๆ  แล้ว  ประเด็นต่อไปก็คือ  เราต้องดูว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่บริษัทในธุรกิจใช้ในการแข่งขัน  แน่นอน  เรื่องของผลิตภัณฑ์  การตลาด  การจัดจำหน่าย  และปัจจัยมาตรฐานทางการบริหารต่าง ๆ  นั้นเป็นเรื่องสำคัญ  แต่หลาย ๆ  ปัจจัยนั้นทุกบริษัทก็อาจจะทำได้ดีพอ ๆ  กันและก็อาจจะไม่ใช่เป็นประเด็นที่จะชี้ชัดว่าใครจะได้เปรียบใครมากนัก  สิ่งที่ต้องทำก็คือ  หาปัจจัยสำคัญหลักที่จะทำให้บริษัทได้เปรียบในการแข่งขันที่คู่แข่งไม่มีหรือมีแต่ด้อยกว่ามากและปัจจัยนั้นคู่แข่งเลียนแบบได้ยากและต้องใช้เวลายาวมาก  ตัวอย่างเช่น  ขนาดหรือปริมาณของธุรกิจที่ใหญ่กว่ามาก  หรืออาจจะเป็นยี่ห้อที่อยู่มานานเก่าแก่และผู้บริโภคหรือผู้ใช้ให้ความสำคัญกับยี่ห้อมาก  เป็นต้น

    สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษอย่างหนึ่งใน “โลกไร้พรมแดน”  อย่างในปัจจุบันก็คือ  สินค้าจำนวนมากหรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำนั้น  มีคู่แข่งหรือบริษัทที่อาจจะมาเป็นคู่แข่งที่อยู่ต่างประเทศ  ดังนั้น  เวลาคิดว่าบริษัทเรา “ใหญ่กว่าคู่แข่ง” มากนั้น  เราต้องดูถึงว่าเรามีคู่แข่งจากต่างประเทศที่เราอาจจะไม่ตระหนักหรือไม่รู้จักด้วยหรือไม่  เช่นเดียวกับเรื่องของยี่ห้อที่เดี๋ยวนี้มีคู่แข่งมากมายจากทั่วโลก

    ประสบการณ์ของผมที่ผ่านมานั้นเวลาใช้ Competition Model ในการวิเคราะห์หุ้นแล้วก็มักจะพบว่า  บริษัทที่จะมีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนและเป็นหุ้นที่มีคุณภาพดีมากในตลาดหุ้นไทยนั้น  ส่วนใหญ่ก็มักจะมีลักษณะที่ว่าปัจจัยในการแข่งขันส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งก็คือความเป็น  Local หรือความเป็นท้องถิ่นของตัวธุรกิจ  เช่น  กิจการที่เกี่ยวข้องกับทำเลหรือสถานที่ตั้งของกิจการหรือร้านค้าซึ่งช่วยตัดการแข่งขันของคู่แข่งอื่นโดยเฉพาะต่างประเทศไปได้มาก  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น  การท่องเที่ยว  โรงพยาบาล  ค้าปลีก  เป็นต้น

    บทสรุปของผมก็คือ  แทบทุกอย่างในชีวิตปัจจุบันนั้น  การวิเคราะห์ความสำเร็จและล้มเหลวในปัจจุบันและในอนาคตขึ้นอยู่กับเรื่องของการแข่งขันมากกว่าเรื่องอื่น ๆ  และคนหรือบริษัทที่คิดจะ  “ชนะ” นั้น  จะต้องเข้าใจว่าใครคือคู่แข่งจริง ๆ  อะไรคือปัจจัยในการแข่งขัน  และจะสามารถจำกัดสนามแข่งขันให้อยู่ในท้องถิ่นได้อย่างไร