Tuesday, June 10, 2014

ลงทุนในสุขภาพ




  ผมพูดเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนมานานมากน่าจะประมาณ 20 ปีมาแล้ว  เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องของเงินทอง  หลักการสำคัญของการลงทุนก็คือการ  “อดหรือเลื่อนการบริโภคหรือการใช้เงินในวันนี้เพื่อที่จะสามารถบริโภคหรือใช้เงินได้มากขึ้นในวันข้างหน้า”    แต่การ “ลงทุน” นั้น  ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องของเงินทองแต่เพียงอย่างเดียว  เรื่องอื่น ๆ  ที่เราสามารถอดหรือเลื่อนออกไปในตอนนี้เพื่อที่จะได้สามารถใช้ได้มากขึ้นหรือดีขึ้นในวันข้างหน้าก็เป็นการลงทุนเหมือนกัน  ว่าที่จริงมีเรื่องอื่น ๆ  อีกไม่น้อยที่การลงทุนมีความสำคัญไม่แพ้เรื่องของเงินทอง  หนึ่งในนั้นก็คือการลงทุนกับ “สุขภาพ”  นี่คือการลงทุนในเรื่องของการ “ใช้” ร่างกายและจิตใจในวันนี้อย่าง “ถนอมรักษา”  เพื่อที่จะได้สามารถใช้มันได้มากขึ้นและ/หรือดีขึ้นในวันข้างหน้า—เมื่อร่างกายของเราเข้าสู่โหมดเสื่อมโทรมตามอายุของเรา

          การลงทุนในสุขภาพนั้นก็อาจจะคล้าย ๆ  กับการลงทุนในเงินทองในแง่ที่ว่าในยามที่เรายังเป็นหนุ่มสาวเรามักจะไม่ใคร่สนใจที่จะทำนักเนื่องจากความจำเป็นยังมีน้อยนั่นก็คือ  ในยามที่เป็นหนุ่มสาว  เรามักจะยังมีสุขภาพที่ดีหรือมีเงินใช้เพียงพอจากการทำงาน   เราไม่เห็นความจำเป็นมากนักที่จะต้องดูแลสุขภาพหรือต้องเก็บเงินเพื่อลงทุน   เราอยากจะใช้มันให้  “เต็มที่กับชีวิต”  สำหรับวันนี้มากกว่าที่จะเลื่อนออกไปในวันข้างหน้า  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  เราไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น  เราอาจจะตายเสียก่อนหรือถึงวันนั้นการมีเงินใช้มากก็ไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่มี  “แรง”  ที่จะใช้มัน   ทั้งหมดนั้นก็มักจะเป็นความคิดของคนที่ยังไม่เคยแก่  ยังไม่รู้สึกถึงคุณประโยชน์ของการมีเงินหรือมีสุขภาพที่ดีในวันที่ตนเองแก่ตัวลง  แต่สำหรับผมซึ่งผ่านชีวิตทั้งสองแบบมาแล้วผมคิดว่าคนเราต้อง “ลงทุน”  ในทั้งสองเรื่องอย่างจริงจังตั้งแต่อายุยังน้อย  การลงทุนจะช่วยเพิ่ม  “ผลประโยชน์รวม”  หรือ “ความสุขโดยรวม” ในชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ  พูดง่าย ๆ   ถ้าเราลงทุนอย่างพอเหมาะทั้งในเรื่องของการเงินและสุขภาพตั้งแต่ยังเด็ก  โอกาสที่เราจะมีความสุขในชีวิตตลอดชั่วอายุขัยจะสูงขึ้นมาก  ถ้าเราไม่ลงทุนหรือลงทุนน้อย  ชีวิตเราอาจจะมีความสุขสูงขึ้นในช่วงอายุไม่มากยังแข็งแรง  แต่เมื่อแก่ตัวลง  ความสุขแทบจะไม่เหลือ  เราจะลำบากตอนแก่  ถ้านำมาเฉลี่ยกัน  ความสุขโดยรวมของเราก็จะน้อยลงไปมาก

           การลงทุนในสุขภาพนั้นไม่เหมือนเงินทองในแง่ที่ว่า  ถ้าเรา “ไม่ใช้” ร่างกายหรือใช้น้อย  แบบนี้ไม่ใช่การลงทุน   ในทางตรงกันข้าม  การ  “ใช้” ร่างกายมากเกินไป  ก็ไม่ใช่การลงทุนเหมือนกัน   การลงทุนในสุขภาพนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เราต้องทำให้พอเหมาะในแต่ละเรื่องและเราจะต้องรู้จริงและเข้าใจร่างกายและการทำงานของมัน  โดยหลักการก็คือ  เราจะต้องดูแลรักษาให้ทุกส่วนของร่างกายทำงานได้เต็มหรือเกือบเต็มประสิทธิภาพแต่ไม่เกินกำลังในแต่ละช่วงเวลา  และคำว่าทุกส่วนนั้นรวมถึงที่อยู่ภายในที่เรามองไม่เห็นเช่นตับไตไส้พุงและสมองของเราด้วย  และนี่ก็ทำให้การลงทุนในร่างกายหรือสุขภาพเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรและต้องการการศึกษาทำความเข้าใจกับมันคล้าย ๆ  กับการลงทุนเหมือนกัน

           หัวใจของการรักษาและดูแลสุขภาพซึ่งจะเป็นการ “ลงทุน”  ที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ  การออกกำลังที่พอเหมาะตลอดช่วงอายุของเรา  การออกกำลังกายนั้นช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง  ทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยเรารักษาโครงของร่างกายเราในยามที่เราแก่ตัวลง  ซึ่งบางคนจะมีอาการกระดูกเปราะหรือบางซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการแตกหักหรือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงเสี่ยงต่อการที่ข้อต่อกระดูกจะมีปัญหาต่าง ๆ  เช่นหมอนรองกระดูกเคลื่อน   เป็นต้น  อาการเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นแล้วคุณภาพชีวิตคงเสียไปไม่น้อย  นอกจากนั้น  การออกกำลังสม่ำเสมอยังช่วยในเรื่องของหัวใจและระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้มัน “แก่” ช้าลง  รวมไปถึงสมองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดด้วย   ประเด็นสำคัญที่ผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ก็คือการออกกำลังมาก “เกินปกติ”  เช่น  นักกีฬาหรือคนที่เล่นกล้ามเพาะกายนั้น  เป็นการ “ลงทุน” หรือการ “ใช้” ร่างกายกันแน่  หรือพูดง่าย ๆ  มันคุ้มไหมที่จะทำอย่างนั้น?  ผมเองเคยพบเพื่อนคนหนึ่งที่ชอบวิ่งจ็อกกิ้งมากจนน่าจะเรียกได้ว่า “ติด”  เขาวิ่งแทบทุกวันวันละเป็นสิบ ๆ ก.ม. ดูจากภายนอกเขาจะผอมเกร็งไม่มีไขมันเลย  ร่างกายดูแข็งแรงยิ่งกว่าหนุ่มวัยรุ่นทั้ง ๆ  ที่อายุน่าจะ 40 ปีแล้ว  ต่อมาเมื่อพบเขาอีกครั้งหนึ่งเขาบอกว่าเขาเป็นมะเร็ง  เหตุผลเขาบอกว่าอาจจะเกิดจากการที่เขาใช้พลังมากเกินไปและกินเนื้อสัตว์มากเพื่อชดเชยเสริมสร้างกล้ามเนื้อซึ่งก่อให้เกิดมะเร็ง  นั่นเป็นการบอกเป็นนัยว่า  เขาใช้ร่างกายเกินไป

           อาหารน่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อสุขภาพไม่น้อย  การ “ลงทุน” ในเรื่องนี้  ไม่ใช่การกินแต่อาหารคุณภาพสูงราคาแพงอย่างเนื้อสัตว์หรืออาหารที่อร่อยที่มักมีไขมันหรือความหวานสูง  ตรงกันข้าม  การลงทุนในเรื่องนี้หมายความว่าเราจะต้อง “อด” หรือหักห้ามจิตใจที่อยากจะกินอาหารดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  ประเด็นหลักก็คือ  การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่อ้วน  เพราะน้ำหนักตัวที่เกินกว่าปกตินั้นมักจะเป็นสาเหตุของโรคและความไม่สบายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในตอนที่เราแก่ตัวลง  เช่น  โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ  โรคเบาหวาน  ความดันและอื่น ๆ   ซึ่งโรคเหล่านี้มักจะ  “เรื้อรัง”  และทำให้คุณภาพชีวิตของเราลดลงไปมาก  นอกจากอาหารตามปกติแล้ว  การลงทุนในสุขภาพอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องการการควบคุมจิตใจตัวเองสำหรับบางคนก็คือ  การบริโภค “สารพิษ”  หรือสิ่งที่จะทำลายอวัยวะบางอย่างของร่างกายเช่น  การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้บ่อย ๆ  การสูบบุหรี่หรือยาเสพติดอื่น ๆ   สิ่งเหล่านี้ในช่วงเวลาหนึ่งเราอาจจะไม่เห็นว่ามีผลอะไรต่อร่างกายเรา  อย่างไรก็ตาม  ในระยะยาวแล้วผมคิดว่าร่างกายมันจะ “ฟ้อง”  การทำงานของตับหรือปอดอาจจะแย่ลงมากหรือบางคนอาจจะร้ายแรงถึงขนาดตับแข็งหรือเป็นมะเร็งในปอดหรือตับได้

           เมื่อเร็ว ๆ  นี้  ความคิดเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพได้พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่งนั่นก็คือ  การเกิดขึ้นของ  “Anti Ageing”  หรือการ “ชะลอวัย” ในวงการแพทย์  นี่คือการใช้ศาสตร์ทางการแพทย์และสุขภาพหลาย ๆ  ด้านมาแนะนำหรือมาดูแลรักษาผู้สูงวัยไม่ให้ “แก่”  ตัวเร็วหรือมีปัญหาทางสุขภาพเนื่องจากความเสื่อมโทรมของร่างกายมากเกินไป  หมอบางคนก็คิดถึงขนาด  “ลดวัย”  ให้กับคนไข้ที่มารับการรักษา   กระบวนการหรือวิธีของหมอที่ทำเรื่องชะลอวัยนั้น   นอกจากเรื่องของการออกกำลังและการกินอาหารซึ่งรวมถึงวิตามินแล้ว  ยังรวมถึงการ  “ปรับ” ปริมาณฮอร์โมนในร่างกายของเราด้วย  เพราะปริมาณฮอร์โมนในร่างกายนั้น  มีส่วนสำคัญมากต่อระบบการทำงานต่าง ๆ  ของร่างกาย  ว่ากันถึงขนาดว่า  ฮอร์โมนนั้นเป็นตัวกำหนดว่าเราจะเป็นหนุ่มสาวหรือเราจะแก่กันเลยทีเดียว  แต่การทำเรื่องต่าง ๆ  เหล่านี้ก็มีต้นทุนที่สูงทั้งเรื่องของการตรวจวิเคราะห์  ยาหรืออาหารเสริม  และที่สำคัญค่าที่ปรึกษาแนะนำของแพทย์และบุคลากรด้านต่าง ๆ     และนี่ก็คือ  “การลงทุน” ในสุขภาพที่เป็นเม็ดเงินจริงสำหรับคนที่เชื่อหรือสนใจที่จะลอง  เรื่อง Anti Ageing นี้  ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะคุ้มไหมสำหรับคนทั่วไป  อย่างไรก็ตาม  สำหรับคนที่อายุมากและมีเงินมากแล้ว  ดูเหมือนว่ามันจะคุ้มที่จะลงทุนจ่ายเงิน  และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำต่างก็เสนอบริการนี้

           สุดท้าย  การลงทุนในเรื่องของสุขภาพนั้นก็ไม่ได้ต่างจากการลงทุนในเรื่องการเงินในแง่ที่ว่า  ผลลัพธ์ปลายทางนั่นคือ  ความมั่งคั่งหรือสุขภาพที่ดีโดยรวมของแต่ละคนนั้น  ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 3 ประการนั่นก็คือ  หนึ่ง  ต้นทุนเดิมของแต่ละคนที่มีอยู่  คนที่มี “ยีนส์” ดี ย่อมได้เปรียบคนที่มีกรรมพันธุ์ที่ไม่แข็งแรงซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ “ดวง” ของแต่ละคน  สอง การดูแลรักษาสุขภาพที่ดีและถูกต้องตามหลักวิชาซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่สูงต่อสุขภาพ  และสุดท้ายก็คือ  ระยะเวลาของการปฏิบัติตามแนวทางนั้นอย่างมีวินัยสูง  ถ้าทำได้เช่นนี้  เราก็จะมีสุขภาพที่ดีโดยรวมตลอดอายุขัย  และนี่ก็คือการลงทุนในชีวิตที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งไม่แพ้การลงทุนในเรื่องของเงินทอง

cr.ดร.นิเวศน์   เหมวชิรวรากุล