Sunday, November 2, 2014

เดือนที่เหมาะกับการซื้อหุ้น







   ในการตัดสินใจที่จะลงทุนในหลักทรัพย์นั้น  นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะมองหาตัวช่วยประกอบการตัดสินใจในการลงทุน  เช่น  บทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์  หรือการวิเคราะห์ทางเทคนิค  ความเข้าใจในการประกอบธุรกิจของบริษัทที่ต้องการลงทุน  ในขณะที่การเลือกช่วงเวลาในการลงทุนนั้น นับว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

    ในรอบระยะเวลา 1 ปี หรือ 12 เดือนนั้น  มักจะมีคำถามเกิดขึ้นสำหรับนักลงทุนว่า  เดือนใดจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น  หรือเดือนใดจะเป็นเดือนที่สร้างผลตอบแทนได้ต่ำที่สุด  ช่วงเวลาที่ดีที่สุดหรือฤดูของการลงทุนสำหรับนักลงทุนนั้นอาจจะหมายถึง  การวิเคราะห์ทางเทคนิคก่อนที่จะตัดสินใจเลือกเวลาที่ดีที่สุดที่จะลงทุน  หรืออาจจะมองไปที่สถิติผลตอบแทนย้อนหลังของตลาดหุ้นไทยในแต่ละเดือนตั้งแต่เริ่มซื้อขาย



      จากผลการศึกษาสถิติย้อนหลังในตลาดหุ้นทั่วโลกมักจะมีเดือนที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนจากปรากฏการณืต่างๆ ที่เกิดขึ้น  เช่น January Effect หรือปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นมักจะให้ผลตอบแทนที่สูงในช่วงเดือนมกราคม  รวมถึงมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นสูงด้วยเช่นกันเนื่องจากบรรดากองทุนรวมถึงนักลงทุนต่างประเทศจะเริ่มกลับมาซื้อหุ้นอีกครั้งหลังจากที่ขายไปตอนสิ้นปี

      ตลาดหุ้นไทยในปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่ค่อนข้างผันผวนจากความกังวลการชะลอมาตรการ QE การเคลื่อนย้ายเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติและความไม่แน่นอนจากปัจจัยในประเทศ  และจากสถิติผลตอบแทนในปีที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ทำผลตอบแทนสูงสูดในเดือนมกราคมที่ 9.01% มูลค่าการซื้อขาย 77,471 ล้านบาท
 
     หากมองอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรายเดือนย้อนกลับไปตัั่งแต่ที่ตลาดหุ้นทั้ง SET และตลาดหลักทรัพย์  เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้เริ่มเปิดซื้อขายในครั้งแรก  จากสถิติย้อนหลัง 39 ปี ของ SET Index เดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่น่าสนใจที่สุดสำหรับตลาด SET เพราะให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนได้สูงที่สุดที่ 1.871% รองลงมาคือเดือนมกราคม 1.818% และเดือนที่ SET Index ให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากที่สุดนับตั่งแต่ปี 2518 ที่เป็นปีที่ SET Index เริ่มการซื้อขายครั้งแรกคื เดือนมิถุนายนที่ SET Index ให้ผลตอบแทนเป็นบวกมาแล้วถึง 26 ครั้ง (67%) จากทั้งหมด 39 ครั้ง  รองลงมาคือเดือนเมษายน 63%

     ในขณะที่เดือนมกราคมหรือที่นักลงทุนมีความเชื่อเกี่ยวกับ January Effect จากข้อมูลสถิติ SET Index ในเดือนมกราคมสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกทั้งหมด 22 ครั้ง  หรือคิดเป็น 58% ของจำนวนครั้งทั้งหมด

     อย่างไรก็ตาม January Effect  ไม่ได้เกิดขึ้นสม่ำเสมอในตลาดหลักทรัพย์ และในทางตรงกันข้ามนั้นเดือนที่สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยรายเดือนได้น้อยที่สุดคือเดือนมีนาคมซึ่งมีค่าเฉลี่ยติดลบที่ -0.26% ซึ่งให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกแค่เพียง 47% จากจำนวนครั้งทั้งหมด

     นับตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นปีแรกที่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เริ่มทำการซื้อขาย  จากสถิติข้อมูลที่ผ่านมาผลตอบแทนเฉลี่ยรายเดือนของ mai index สูงที่สุดในเดือนตุลาคมที่ 6.590% ในขณะที่เดือน มิถุนายน และเมษายน เป็นเดือนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่เป็นบวกมากที่สุด 8 ครั้ง (73%) จากทั้งหมด 11 ครั้ง  เดือนที่ Mai Index ให้ผลตอบแทนเป็นบวกน้อยที่สุดคือเดือนมกราคมและพฤษภาคม ซึ่งให้ผลตรงกันข้ามกับตลาด SET ที่มีผลตอบแทนเป็นบวกบ่อยครั้งรวมถึงมีผลตอบแทนเฉลี่ยรายเดือนที่สูงทั้ง 2 เดือนนั้น

    อย่างไรก็ตามจากข้อมูลสถิติที่ผ่านมาไม่มีเดือนใดที่มีโอกาส 100% ในการสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวก  ดังนั้น  ตัวช่วยของนักลงทุนที่ดีที่สุดคือการมองไปที่ปัจจัยพื้่นฐานของตลาดทุนและบริษัทจดทะเบียนก่อนที่จะทำการตัดสินใจที่สำคัญว่าจะลงทุนหรือไม่ ณ ช่วงเวลานั้น

   การวิเคราะห์พื้นฐานรวมถึงความน่าสนใจของตลาด  การเติบโตของกำไรและสถาณการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ณ ปัจจุบันมีสำคัญมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต  นักลงทุนควรมีความรอบคอบในการตัดสินใจลงทุน  และตัดสินใจอย่างมีสติเพื่อนำไปสู่การลงทุนที่มีประสิทธิภาพในภาวะที่ตลาดหุ้นยังคงผันผวนยากแก่การคาดเดา...