Monday, November 24, 2014

เล่นหุ้น- ต้องดูคน

         

        การลงทุนในตลาดหุ้นนั้น  นอกจากต้องดูข้อมูล “พื้นฐาน”  ต่าง ๆ  เช่นตัวเลขผลประกอบการและข้อมูลเชิงคุณภาพอื่น ๆ  เช่นความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจแล้ว  การดู  “คน”   ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและหุ้นก็เป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่ง  นักลงทุนแนว VI นั้น  มักจะเน้นที่การดูผู้บริหารสำคัญและผู้บริหารสูงสุดของบริษัทเป็นหลักว่า  พวกเขานั้นมีความสามารถและความซื่อสัตย์และ  “เห็นแก่ผู้ถือหุ้น”  หรือมองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นมากน้อยแค่ไหน  การที่จะเข้าใจในตัวผู้บริหารได้ดีก็ต้องคอยติดตามว่าพวกเขามีพฤติกรรมอย่างไรในประเด็นต่าง ๆ  เกี่ยวกับบริษัท  และบางทีก็ในเรื่อง  “ส่วนตัว”  ด้วย   ส่วน “นักเก็งกำไร”  นั้น  จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ในเรื่องของ  “คน”  มากขึ้นมาก  เพราะนอกจากผู้บริหารแล้ว  พวกเขาจะต้องมองไปถึงผู้ถือหุ้นใหญ่  นักเล่นหุ้น  “ขาใหญ่” รวมไปถึงนักเล่นหุ้นคนอื่น ที่สนใจและเข้าไปเล่นหุ้นด้วย  ว่าที่จริงหลาย ๆ คนนั้นดูเรื่องนี้เป็นหลัก  ส่วนเรื่องพื้นฐานของบริษัทนั้นเป็นรอง  เหนือสิ่งอื่นใด  พวกเขาคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะวิเคราะห์หุ้นได้ถูกต้องจริง ๆ  และถึงจะวิเคราะห์ได้ถูกต้อง  มันก็เป็นเรื่อง  “ระยะยาว”  ที่ไม่มีประโยชน์มากนักในการเล่นหุ้นในช่วงสั้น ๆ  หรือวันต่อวัน

เรื่องของคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับหุ้นที่มีทุกวันเรื่องแรกก็คือ  การซื้อ-ขายของผู้บริหาร หรือที่เรียกว่า Insider Trading นั้น  เป็นสิ่งที่ผมมักตามดูอยู่ห่าง ๆ  โดยทั่วไป  การซื้อขายจำนวนน้อยและทำโดยพนักงานหรือคู่สมรสนั้น  ผมคิดว่าไม่ใคร่จะมีความหมายหรือมีสัญญาณอะไร  ว่าที่จริงผมคิดว่าพวกเขาไม่ได้รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับบริษัท  แต่การซื้อหรือขายโดยผู้บริหารระดับสูงสุดหรือเป็นคนสำคัญของบริษัทนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมีความหมายพอสมควร  การขายหุ้นจำนวนมากซึ่งบ่อยครั้งทำเป็นเรื่อง  “โอนออก” นั้น  เราจะต้องวิเคราะห์ให้ออกว่ามันหมายความว่าอะไร?  โดยส่วนใหญ่แล้วผมมองว่ามันอาจจะไม่ใคร่ดีนัก  เขาอาจจะดูว่าหุ้นมีราคาสูงมากหรืออาจจะเกินพื้นฐานไปแล้วเขาจึงขาย  หรือเขาแค่ต้องการลดความเสี่ยงที่มีหุ้นตัวเดียวมากเกินไป?  เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องคิด

บางครั้งผู้บริหาร  รวมถึงผู้บริหารสูงสุด  เข้ามาซื้อหรือขายหุ้นบ่อย ๆ  หรือ  “ตลอดเวลา”  ซึ่งในกรณีนี้  ส่วนมากแล้วจะเป็นการซื้อมากกว่าขาย  ถ้าเป็นแบบนี้  ผมมักมีความรู้สึกว่า  พวกเขาพยายาม “ส่งสัญญาณ”  ว่า  หุ้นเขา “ราคาถูกกว่าพื้นฐาน”  ดังนั้น  นักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นจึงควรเข้ามาซื้อ  เพราะ  “ขนาดเจ้าของที่มีหุ้นมากมายอยู่แล้วยังเข้ามาเก็บหุ้นเลย”  อย่างไรก็ตาม  เราก็ต้องดูอย่างอื่นประกอบด้วย  เพราะเจ้าของเองอาจจะมี  “วาระซ่อนเร้น” อยู่  พวกเขาอาจจะอยากทำให้ราคาหุ้นสูงเพื่อเหตุผลบางอย่าง  หรือไม่พวกเขาบางคนก็อาจจะคิดไปเองว่าหุ้นของตนเองมีราคาถูกโดยที่ตนเองก็วิเคราะห์ไม่เป็น  และมักจะมีความ  “ลำเอียง” ว่าหุ้นของบริษัทตนเองนั้นดีกว่าความเป็นจริง  ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน  สำหรับผมเองแล้ว  ผมไม่ชอบที่ผู้บริหารเข้ามาซื้อขายหุ้นตัวเองมากเกินไป  เพราะมันอาจจะทำให้ราคาหุ้นไม่เป็นไปตาม  “ธรรมชาติ”

ในช่วงที่ตลาดมีการเก็งกำไรในหุ้นโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นตัวเล็กอย่างหนักนั้น  นักเล่นหุ้นจำนวนมากนั้น  ชอบดู  “ขาใหญ่”  ว่ากำลังเข้ามาเล่นหุ้นตัวใดตัวหนึ่งหรือเปล่า?  เพราะเขาเชื่อว่า  ราคาหุ้นจะปรับตัวแรงมากน้อยแค่ไหนสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ   มีนักเล่นหุ้นรายใหญ่เข้าไปซื้อ  ซึ่งจะทำให้หุ้นสามารถวิ่งขึ้นไปได้อาจจะหลายเท่าในเวลาอันสั้น  ความคิดแบบนี้ผมคิดว่ามีอยู่มากในบรรดานักเล่นรายวันจำนวนมาก  ดังนั้น  นักเล่นหุ้นรายใหญ่จึงมักจะพยายามส่งข้อมูลหรือสัญญาณว่าตนเองได้เข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้นจำนวนมากเพราะเห็นว่ามันเป็นหุ้นที่ดีราคาถูกและจะปรับตัวขึ้นไปอีกมากอาจจะหลายเท่า  ผลก็คือ  ราคาหุ้นก็มักจะมีการปรับตัวขึ้นไปอย่างรวดเร็วด้วยแรงซื้อของนักลงทุนและคนเล่นหุ้นรายย่อยจำนวนมาก  แต่หุ้นลักษณะแบบนี้นั้นก็มักจะมีอันตรายสูงที่จะปรับตัวลงอย่างรวดเร็วถ้ารายใหญ่ขายหุ้นทิ้งเนื่องจากราคาอาจจะสูงเกินพื้นฐานไปมาก  พูดถึงเรื่อง  “ขาใหญ่”  แล้ว  ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นไทยในยามนี้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก  เหตุผลก็เพราะตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนสูงมายาวนานและนักลงทุนที่ “กล้าได้กล้าเสีย” สามารถทำกำไรมโหฬารจนกลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่จำนวนมาก  ผลก็คือ  หุ้นตัวเล็กที่ “วิ่งกันระเบิด”  นั้น  แทบทุกตัวก็จะต้องมี  “ขาใหญ่” บางคนหรือบางกลุ่มเข้าไปเล่นทั้งสิ้น

การดูผู้บริหารหรือเจ้าของที่เกี่ยวกับตัวหุ้นนั้น  ยังต้องดูแรงจูงใจของพวกเขาด้วย  ผู้บริหารบางคนนั้น  ชอบ  “ดูแลหุ้น” ตัวเองมาก  เขาจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้หุ้นมีราคาดีมีปริมาณการซื้อขายสูง  การพูดโปรโมตหุ้นนั้น  จะทำอยู่ตลอดเวลาถ้าทำได้  นอกจากนั้น  หลายคนยังเข้าไปซื้อขายหุ้นของตนเอง  โดยอาจจะผ่านนอมินีหรือส่งเสริมให้คนอื่นเข้ามาช่วย “ทำราคา” ด้วย  เจ้าของหรือผู้บริหารบริษัทบางคนโดยเฉพาะที่อยู่ในอุตสาหกรรมโตช้าหรือตะวันตกดินนั้น  ตรงกันข้าม  ไม่ดูแลหุ้นของตนเองเลย  พวกเขาไม่สนใจที่จะพบนักลงทุนหรือให้ข่าวข้อมูลของกิจการแก่นักลงทุนถ้าไม่จำเป็น  ราคาหุ้นจะเป็นอย่างไรเขาไม่สนใจ  ในกรณีแบบนี้  บ่อยครั้งก็พบว่าพวกเขาไม่ต้องการจะจ่ายปันผลที่งดงามให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วย  ดูเหมือนว่าพวกเขาอยากจะบริหารบริษัทคล้าย ๆ  กับบริษัทส่วนตัวมากกว่า  ในทั้งสองกรณีคือ  ดูแลหุ้นตัวเองมากเกินไปและไม่ดูแลหุ้นเลยนั้น  ผมไม่ชอบทั้งคู่  โดยที่ไม่ชอบมากกว่าก็คือการไม่ดูแลหุ้นเลย  หุ้นที่ดีนั้นผมคิดว่า  ควรจะเป็นหุ้นที่ผู้บริหารและเจ้าของควร “ดูแล” พอประมาณในด้านของการให้ข้อมูลและการจ่ายปันผลรวมถึงการปรับในเรื่องต่าง ๆ  ยกเว้นการเข้ามาซื้อขายหุ้นเอง  การดูแลหุ้นมากเกินไปนั้น  ผมคิดว่ามันทำให้หุ้นอาจจะไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง  ราคาอาจจะเกินมูลค่าที่แท้จริง  ในขณะที่หุ้นที่เจ้าของไม่ดูแลเลยนั้น  ผู้ถือหุ้นมักจะไม่ได้ผลตอบแทนตามพื้นฐานที่ควรเป็นและผมมักจะหลีกเลี่ยง

ประวัติหรือพฤติกรรมของผู้บริหารหรือเจ้าของหุ้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมมอง   ถ้าเจ้าของมีประวัติเป็น  “นักเล่นหุ้น” เคยซื้อขายหุ้นในฐานะ  “ขาใหญ่” ผมจะไม่ชอบ  ข้อแรกก็คือ  ผมไม่แน่ใจในเรื่องทักษะหรือความสามารถในการบริหารธุรกิจที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ  ข้อสองก็คือ  ผมคิดว่าเขามักจะเน้นไปที่การทำหรือดูแลราคาหุ้นมากเกินไปซึ่งนี่อาจจะนำไปสู่ราคาหุ้นที่สูงกว่าพื้นฐาน  ผู้บริหารที่ดีนั้น  ควรเป็นคนที่คลุกคลีและสร้างธุรกิจด้วยตนเองหรือสืบทอดธุรกิจต่อมาอย่างประสบความสำเร็จ  ในด้านของประวัติทางการเงินนั้น  ผมชอบคนที่มีความรับผิดชอบและน่าเชื่อถือ  ไม่เคยถูก  “Blacklist” หรือถูก  “ตราหน้า” ในสังคมของสถาบันการเงินว่าเป็นลูกหนี้ที่  “เบี้ยว” หนี้ทั้งที่ธุรกิจยังพอไปได้  เช่นเดียวกัน  เขาก็ควรจะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและสังคมไม่มีประวัติที่  “น่ารังเกียจ”  และสุดท้ายก็คือ  เมื่อนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายหุ้นและเป็นบริษัทมหาชนแล้ว  เขาควรที่จะต้องคำนึงถึงนักลงทุนเสมอเวลาที่จะตัดสินใจทำอะไรโดยเฉพาะในสิ่งที่มี  “ผลประโยชน์ขัดกัน” ระหว่างตนเองและบริษัทในฐานะที่เป็นของมหาชนที่เขาเป็นผู้บริหาร

สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือเรื่องของคนที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นหรือเล่นหุ้นแต่ละตัวว่าพวกเขามีหลักการหรือกลยุทธ์การลงทุนหรือเล่นหุ้นอย่างไร  เป็น VI หรือเป็นแนวเทคนิค  พฤติกรรมของพวกเขาที่ผ่านมาเป็นอย่างไรเช่นลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว  ต่าง ๆ  เหล่านี้  ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราต้องค่อย ๆ  เรียนรู้และต้องอาศัยประสบการณ์เพราะมันไม่มีใครเขียนเป็นบันทึกให้อ่านหรือบางทีเราอ่านพบก็อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง   ถ้าจะถามว่าเราจะต้องรู้ไปทำไมว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้ใครเป็นเจ้าของหรือใครเข้าไปเล่น  คำตอบของผมก็คือ  การที่รู้ว่าใครเข้าไปเล่นหุ้นตัวไหนนั้น  อาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยบอกหรือเตือนเราว่า  ราคาหุ้นที่เราเห็นนั้น  อาจจะต่างจากมูลค่าพื้นฐานได้มากน้อยแค่ไหน  หุ้นบางตัวนั้น  ผมคิดว่าราคาอาจจะสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานได้หลายเท่า  กลายเป็นหุ้น  “อภินิหาร”  ได้  เพียงเพราะคนที่เข้าไปเล่นนั้นกล้าทำและทำได้  ในกรณีแบบนี้เราอาจจะต้องหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปเล่นถ้าไม่ต้องการ  “หายนะ”

ดร.นิเวศน์  เหมวชริวรากุล