Wednesday, February 4, 2015

เงินทองต้อง 'เพอร์เฟกท์'

         

         สาวน้อยหน้าตาสดใสวัย 20 ปลายๆ ที่เป็นแขกรับเชิญของ “เงินทองต้องรู้” ในวันนี้ ถ้าไม่บอกก็คงไม่มีใครรู้ว่า นอกจากเธอจะมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กร ของบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทิส” ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย โดยเป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาลทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ในฐานะผู้ถือหุ้นอันดับต้นๆ ของ “เคทิส” ยังผลักดันให้ ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล หรือ ดร.โจ้ กลายเป็นเศรษฐีหุ้นที่มีความมั่งคั่งสูงถึงกว่า 700 ล้านบาทอีกด้วย

                จากฐานข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ดร.สายศิริ ถือหุ้น “เคทิส” จำนวน 65 ล้านหุ้น ซึ่งหากคำนวณจากราคาหุ้นที่ซื้อขายเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 ที่ระดับ 11.60 บาท ก็เท่ากับหุ้น “เคทิส” ที่ ดร.สายศิริ ถือครองอยู่ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 754 ล้านบาท

                 “หลายคนเห็นแบบนี้ อาจจะมองว่าเราเป็นเศรษฐีหุ้น ซึ่งจริงๆ เราไม่เคยคิดแบบนั้นเลย เพราะการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนนำไปสู่การคำนวณความมั่งคั่ง เริ่มมาจากความตั้งใจในการที่จะทำให้บริษัทเติบโตขึ้น สามารถขยายกิจการได้อย่างมั่นคงขึ้น จากธุรกิจที่เคยเป็นธุรกิจครอบครัว วันนี้เคทิสเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และได้รับคัดเลือกให้อยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ 50 อันดับแรกที่ใช้ในการคำนวณดัชนี 50 หุ้น (เซตฟิฟตี้) รวมถึงยังได้รับคัดเลือกให้นำไปคำนวณดัชนีเอ็มเอสซีไอของมอร์แกนสแตนเลย์ ไม่ใช่แค่เราจะภูมิใจทั้งในฐานะผู้บริหารและในฐานะพนักงานของบริษัท แต่เรายังภูมิใจที่ทำให้ชาวไร่อ้อยที่เป็นครอบครัวเดียวกันกับเรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความมั่งคั่งขึ้น นี่คือเป้าหมายหลักของเรา”

                  ดังนั้น สำหรับดร.สายศิริแล้ว คำว่า “เศรษฐีหุ้น” จึงเป็นเพียงตำแหน่งที่คนอื่นมอบให้ และทุกวันนี้เธอก็ยังใช้ชีวิตปกติ โดยเฉพาะกับไลฟ์สไตล์การบริหารเงิน ที่เธอบอกว่า ยึดหลัก “เก็บก่อนใช้” มานานแล้ว

                   “จริงๆ มันมีเหตุ (หัวเราะ) คือ ตอนนั้นไปเรียนปริญญาโท-ปริญญาเอกที่อเมริกา 5 ปี ซึ่งทางบ้านก็จะส่งเงินไปให้ใช้ทุกเดือน มีอยู่ช่วงหนึ่งที่อยู่ๆ ทางบ้านก็ไม่ได้ส่งเงินไป นานถึง 3 เดือนเลยนะคะ ตอนนั้นเราคิดว่า ทางนี้คงมีปัญหาอะไรแน่ๆ คือ คิดไปเอง มโนเอง แล้วก็ไม่กล้าถาม จากที่เคยมีชีวิตปกติก็ไม่ปกติแล้ว และจากที่ไม่ปกติก็เริ่มกลายเป็นวิกฤติ ต้องพยายามทำทุกอย่างให้มีชีวิตรอด ต้องบริหารจัดการรายได้ด้วยการหางานทำ บริหารรายจ่ายที่จำเป็น ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ที่เหลือต้องเก็บสำรองเผื่อเหตุฉุกเฉิน จากเหตุการณ์ในตอนนั้นแหละค่ะ ทำให้ทุกวันนี้ยังต้องเก็บก่อนใช้เสมอ”

                   บทเรียนที่เธอได้รับในวันนั้น สอนอะไรหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงแค่ต้องรู้จักหารายได้ จากการทำงาน รู้จักเก็บก่อนใช้ เพราะวิกฤติหรือเหตุฉุกเฉินอาจมาเยือนเราได้เสมอ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นยังสอนเธอด้วยว่า “เรื่องบางเรื่อง อย่าคิดไปเอง แต่ต้องถาม ต้องหาคำตอบ และถ้ามีปัญหาต้องคุยกัน”  เพราะจริงๆ แล้ว ที่บ้านไม่ได้มีปัญหาทางการเงินเหมือนที่ ดร.สายศิริ ซึ่งตอนนั้นอยู่ในวัยเพียง 24 ปีคิดไปเอง แต่เกิดความผิดพลาดจากความหลงลืมของผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการส่งเงินให้เธอ

                   “แต่ตอนนั้นภูมิใจมากที่หาเงินได้เอง ยังถามคุณพ่อเลยว่า โจ้ส่งเงินให้ได้นะ คุณพ่อก็งงว่าจะส่งมาทำไม ทำไมไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ” สาวน้อยผู้ผ่านวิกฤติยิ้มกว้างเมื่อนึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น

                   ดร.สายศิริ ไม่เพียงแต่ “รู้หาและรู้เก็บ” เท่านั้น แต่เธอยัง “รู้ใช้” เพราะการจับจ่ายใช้สอยของเธอ จะอยู่บนหลักคิดที่ว่า “ถ้าเราใช้เงินในสิ่งที่ไม่จำเป็น เราจะต้องเอาสิ่งที่จำเป็นออกไปแลก” เสมอ

                   “จริงๆ เป็นคนที่มีเวลาในการออกไปใช้เงินน้อยมาก เพราะทำงานค่อนข้างหนัก และเวลาส่วนใหญ่ก็หมดไปกับการทำงาน แต่ทีนี้เราเป็นผู้หญิงชอบแต่งตัว ชอบของสวยๆ งามๆ ดังนั้น ถ้าจะใช้จ่ายบ้างก็เรื่องพวกนี้แหละค่ะ กินข้าวนอกบ้านบ้าง ไปท่องเที่ยวบ้าง ซื้อเสื้อผ้า-เครื่องประดับบ้าง แต่เงินสำหรับใช้จ่ายคือ ส่วนที่เหลือจากการเก็บก่อนใช้ อาจจะเรียกได้ว่า เราใช้เงินในการบริหารความสุขของตัวเอง เราไม่เบียดเบียนตัวเองแบบเก็บหมด ไม่ยอมใช้ แล้วเราก็ไม่ทำร้ายตัวเองด้วยการใช้หมด จนไม่เหลือเก็บ”

                   ดร.สายศิริ ยังมีวิธีบริหารความสุขจากการใช้เงิน ด้วยการ “รู้จักแบ่งปัน” โดยที่เธอจะทำบุญและบริจาคอย่างสม่ำเสมอ เพราะถูกอบรมบ่มเพาะจากครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ย้ำเสมอว่า เมื่อเกิดมาค่อนข้างโชคดีและมีความพร้อมมากกว่าหลายคน ก็อย่าลืมที่จะแบ่งปันให้คนอื่น

                   “ส่วนหนึ่งของเงินที่เก็บ เราใช้เพื่อความสุขของตัวเองแล้ว เราก็ควรใช้เพื่อความสุขของคนอื่นบ้าง คืนให้กับสังคมบ้าง ก็คงสรุปได้ว่า หลักคิดเรื่องการบริหารเงินของเราอยู่บนพื้นฐานความสุขของตัวเองจริงๆ”

                    นอกจากการแบ่งปันในรูปของการบริจาคและทำการกุศลแล้ว ดร.สายศิริยังแบ่งปันประสบการณ์ของเธอ ในฐานะอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของครอบครัวศิริวิริยะกุล ด้วยการสอนให้เด็กๆ รู้เก็บ-รู้ใช้ และเห็นความสำคัญของการบริหารเงิน พร้อมไปกับสร้างสมดุลให้ชีวิต

                   สุดท้าย ดร.สายศิริ ยัง “รู้จักขยายดอกผล” ด้วยการจัดสรรเงินลงทุนในหุ้นและกองทุนรวม ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ ก่อนลงทุนต้องมีความรู้ความเข้าใจ ต้องศึกษาข้อมูล ถ้าจะเลือกหุ้นเพื่อลงทุนก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ต้องศึกษาหาข้อมูล ต้องรู้จักว่าบริษัททำธุรกิจอะไร และเมื่อจะตัดสินใจลงทุนแล้ว ก็ต้องคิดว่า หุ้นที่ดีที่ถูกใจเรา อาจจะไม่ใช่หุ้นที่ดีของคนอื่นก็ได้ อย่างน้อยเราก็จะได้ไม่ตัดสินใจลงทุนเพียงเพราะ “เขาบอกมา”

                   ถ้าจะมีคำจำกัดความสั้นๆ ให้ผู้หญิงคนนี้ในเรื่องเงินทอง คงไม่คำอื่นเหมาะสมเท่าคำว่า “เพอร์เฟกท์” เพราะเธอสมบูรณ์แบบตั้งแต่ “รู้หา” ด้วยการทำงานหนัก โดยไม่สนใจตำแหน่งเศรษฐีหุ้นที่คนอื่นหยิบยื่นให้ “รู้เก็บ” ด้วยการเก็บก่อนใช้ แบ่งจัดสรรชัดเจน  “รู้ใช้” บนพื้นฐานความสุขของชีวิต สร้างสมดุลให้การใช้จ่ายแบบที่ไม่เบียดเบียนและไม่ทำร้ายตัวเอง  “รู้ขยายดอกผล” ด้วยการลงทุนอย่างมีความรู้ความเข้าใจ และ “รู้แบ่งปัน” เมื่อเธออยู่ในฐานะที่ทำได้

                       จาก “เงินทองต้องรู้” ในวันนี้ จึงต้องเปลี่ยนเป็น “เงินทองต้องเพอร์เฟกท์” ตามวิถีแห่ง ดร.สายศิริ

โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล