Sunday, February 1, 2015

VI Summit 2015 ที่สิงคโปร์


บทความ ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากุล

VI Summit 2015 ที่สิงคโปร์  

 สัปดาห์ที่แล้วผมได้รับเชิญให้ไปพูดในฐานะ “Keynote Speaker” หรือเป็น “ผู้พูดหลัก” ในงานสัมมนาประจำปีของนักลงทุนแนว Value Investment ระดับ  “นานาชาติ” ชื่อ Value Investing Summit 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์  ปีนี้เข้าใจว่าเป็นปีที่ 4 แล้วที่มีการจัดสัมมนาประจำปีแบบนี้  ปีแรกมีผู้เข้าร่วมเพียง 4-500 คน หลังจากนั้นจำนวนคนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จนปีนี้มีผู้เข้าร่วมถึง 1,400-1,500 คนซึ่งทางผู้จัดอ้างว่าเป็นการชุมนุมนักลงทุนแนว VI ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก  อย่างไรก็ตาม  ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนสิงคโปร์  ตามด้วยคนมาเลเซีย  อินโดนีเซีย และอาจจะมีออสเตรเลียบ้างเล็กน้อย  ในขณะที่คนไทยนั้น  นับดูแล้วน่าจะเพียงแค่ไม่เกิน 7-8 คน  สถานที่จัดงานนั้นเนื่องจากต้องรับคนจำนวนมาก  ปีนี้จึงจัดที่ สิงคโปร์เอ็กซโปร์ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมและงานแสดงขนาดใหญ่ที่สุดแบบเดียวกับที่เมืองทองธานีของเรา

    งาน VI Summit 2015 นี้  จัดโดยบริษัทชื่อ 8I ของสิงคโปร์  โดยที่บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจหลักอย่างหนึ่งก็คือการให้บริการความรู้ทางด้านการลงทุนผ่านการเปิดคอร์สอบรมเรื่องการลงทุน  การขายหนังสือและสื่อทั้งหลายเกี่ยวกับการลงทุน  การจัดประชุมและสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุนและอาจจะมีบริการด้านอื่น ๆ  ที่ผมไม่ทราบอีกหลายอย่าง  นอกจากนั้น  บริษัทยังมีพอร์ตโฟลิโอเงินลงทุนของตนเองในสิงคโปร์และประเทศต่าง ๆ  รวมถึงหุ้นของไทยด้วย  ที่สำคัญก็คือ  บริษัทเพิ่งเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของออสเตรเลียเมื่อ 3-4 สัปดาห์มานี้  โดยที่หุ้น IPO ส่วนใหญ่ก็ขายให้กับคนสิงคโปร์โดยเฉพาะที่เป็นลูกค้าที่ใช้บริการเรียนรู้เรื่องการลงทุนของบริษัท  ตั้งแต่หุ้นเข้าจดทะเบียน  ราคาหุ้นก็ขึ้นมาน่าจะประมาณเท่าตัวแล้วนับจากวันเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นในวันแรก  ผมเชื่อว่าเขาวางตำแหน่งตนเองคล้าย ๆ  กับหุ้นเบิร์กไชร์ของบัฟเฟตต์ที่เน้นการลงทุนเงินของบริษัทเองในตลาดหุ้น  อย่างไรก็ตาม  บริษัทยังมีขนาดเล็กมาก  มูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัทน่าจะอยู่ในหลักพันล้านบาทบวกลบเท่านั้น

    งาน VI Summit ในครั้งนี้  ทำให้ผมได้รู้สถานการณ์เกี่ยวกับเรื่องของ VI สิงคโปร์หลายอย่างที่ดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากชุมนุมหรือสังคม VI ของไทย  ภาพโดยรวมก็คือ  การสนับสนุนจาก “สถาบัน” อย่างเช่น  ตลาดหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงินรวมถึงโบรกเกอร์และบริษัทจดทะเบียนต่อนักลงทุนน่าจะมีน้อยกว่าในกรณีของไทยมาก  สปอนเซอร์ของงานมีเพียงแบ็งค์เดียวและดูเหมือนว่าจะมานำเสนอในเรื่องของการประกันชีวิตเป็นหลัก  ดังนั้น  การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นเรื่อง “เชิงธุรกิจ” เป็นส่วนใหญ่นั่นคือ  ผู้เข้าร่วมสัมมนาต้องซื้อบัตรที่มีราคาค่อนข้างแพง  ตั๋วมีราคาใบละ 4-8,000 บาทขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ซื้อ  เช่น  ถ้าซื้อวันนี้เพื่อที่จะเข้าร่วมฟังในปีหน้า  ราคาอาจจะอยู่ที่ 4,000 บาทเป็นต้น  ราคาบัตรจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้วันงานที่ที่นั่งใกล้หมด

    งานสัมมนาคราวนี้กำหนดไว้ 2 วันเต็มคือวันเสาร์และอาทิตย์  โดยที่มีเวลาพักรับประทานอาหารกลางวันที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาต้องไปหาอาหารกินเองยกเว้นกลุ่มนักลงทุน “VIP” จำนวนอาจจะซักร้อยหรือสองร้อยคนที่จะมีการจัดเลี้ยงเพื่อที่จะให้พวกเขาได้รู้จักกันและได้คุยกับวิทยากรซึ่งผมเข้าใจว่าพวกเขาจะต้องจ่ายค่าสัมมนาอีกอัตราหนึ่ง  นอกจากไม่มีอาหารแล้ว  งานสัมมนาของเขายังไม่มีกาแฟหรือของว่างเลี้ยงด้วย  มีแต่น้ำเปล่าที่คนต้องไปกดเพื่อดื่มเอาเอง  เหตุผลที่เขาทำอย่างนั้นนอกจากเพื่อเป็นการลดต้นทุนแล้วผมยังคิดว่าเป็นเพราะจำนวนคนที่มีมากเกินกว่าที่จะให้บริการไหวด้วย  เช่นเดียวกัน ห้องประชุมนั้น  ก็ใช้ห้องจัดแสดงสินค้าแล้วนำเก้าอี้มาวางเต็มห้องซึ่งทำให้คนเข้าร่วมสัมมนาที่อยู่ท้ายห้องมองวิทยากรลำบากและคงต้องอาศัยดูจากจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่เป็นหลัก

    สถานการณ์ดังกล่าวนั้น  เมื่อเทียบกับสิ่งที่ VI ไทยได้รับแล้ว  ผมรู้สึกว่า  นักลงทุนไทยนั้น  ได้รับการดูแลและได้รับการสนับสนุนมากในด้านของการศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุน  เห็นได้จากการที่นักลงทุนส่วนบุคคลของไทยนั้น  สามารถฟังการสัมมนาฟรีได้มากมาย  หลาย ๆ  รายการมีอาหารเลี้ยง  ห้องสัมมนาก็มักจะเป็นห้องประชุมชั้นดีที่มีระดับลาดขึ้นและเก้าอี้สะดวกสบายเหมือนโรงหนัง  เหตุผลก็เพราะในเมืองไทยนั้น  เรามีสปอนเซอร์มากมายที่ต้องการขายบริการให้กับนักลงทุนรายย่อย  ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยของสิงคโปร์นั้น  น่าจะมีธุรกรรมน้อยจนบริษัทการเงินและหลักทรัพย์ไม่สนใจที่จะทำการตลาดด้วย  ไม่ต้องพูดถึงว่า  นักลงทุนรายย่อยของสิงคโปร์นั้น  ไม่มีโอกาสได้พบกับผู้บริหารบริษัทหรือเข้าร่วมฟังข้อมูลของบริษัทอย่างในงาน Opportunity Day ของไทย  ดังนั้น  นักลงทุนแนว VI ของสิงคโปร์จึงต้องจ่ายเงินและยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อแสวงหาความรู้เพื่อการลงทุนค่อนข้างสูงและพวกเขาดูตั้งใจฟังมากในงานสัมมนา

    หัวข้อของงาน VI Summit 2015 นั้น  ประกอบด้วยการบรรยายภาพรวมทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของสิงคโปร์  การวิเคราะห์และแนะนำหลักทรัพย์ประมาณ 4-5 ตัวโดยนักวิเคราะห์ของบริษัท 8I ซึ่งพวกเขาทำได้ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นโบรกเกอร์หรือมีใบอนุญาต  นอกจากนั้นก็มีการแจกรางวัลเป็นแนว  “แหวนอัศวิน”  ให้แก่นักลงทุนจำนวนประมาณ 8 คนที่เป็นสมาชิกหรือลูกค้าเรียนคอร์สการลงทุนของบริษัทที่สามารถสร้างผลงานการลงทุนดีเด่นจนพอร์ตเติบโตเป็น  “นักลงทุนเงินล้าน(เหรียญ)” รายการทั้งหมดนั้นคละเคล้าสลับกันไปเพื่อไม่ให้เกิดความน่าเบื่อหน่าย  ระหว่างเปลี่ยนรายการก็จะมีพิธีกรหรือผู้บริหารบริษัทขึ้นมาคั่นรายการเล็ก ๆ น้อยเพื่อสร้างความบันเทิงและโปรโมตผลงานการวิเคราะห์ในปีก่อนของบริษัทด้วย

    ส่วนตัวผมเองนั้นขึ้นพูดในวันสุดท้าย 2 ช่วง โดยช่วงแรกผมพูดในหัวข้อ  “A Golden Decade for Thai Value Investor” หรือ  “ทศวรรษทองของ VI ไทย” และในช่วงที่สองก่อนปิดงานสัมมนา  เป็นการพูดแบบอภิปรายตอบคำถามของผู้บรรยายหลายคนซึ่งประกอบด้วยผู้พูดจากออสเตรเลีย สิงคโปร์ และผม โดยมีผู้บริหารของ 8I เป็นผู้ดำเนินรายการ   เนื้อหาของการพูดของผมนั้นเป็นการอธิบายภาพของเศรษฐกิจ  การเงิน และตลาดหุ้นของไทย  รวมถึงเหตุผลและปัจจัยที่เป็นตัวผลักดันตลาดหุ้นของเราในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา  หลังจากนั้นผมได้เล่าถึงกลยุทธ์การลงทุนแนว VI สามแนวทางที่มีการใช้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่สามารถเอาชนะตลาดและสร้างผลตอบแทนที่สูงลิ่วจนทำให้ VI จำนวนไม่น้อยร่ำรวยขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ  ต่อจากนั้นผมก็สรุปถึงองค์ประกอบที่สร้างความสำเร็จให้กับ VI ไทย ซึ่งประกอบไปด้วย  “โชค” ที่พวกเขาเข้ามาลงทุนในตลาดในเวลาที่ถูกต้อง  การใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ VI ที่เน้นในหุ้นโตเร็ว  การเลือกหุ้นที่อยู่ในเมกาเทรนด์  ความนิยมของคนไทยต่อการลงทุนในหุ้น  และสุดท้ายก็คือ  ความกล้าที่จะลงทุนเงินร้อยเปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้นผ่านการซื้อหุ้นด้วยมาร์จิน ที่ทำให้ได้ผลตอบแทนที่งดงามมากและผมเชื่อว่าในอนาคตเราจะไม่สามารถทำได้อีกแบบง่าย ๆ  ในประเทศไทย  โดยที่ผมคิดว่า  อนาคตของการลงทุนน่าจะอยู่ที่ตลาดหุ้นในเอเชียโดยเฉพาะเวียตนามกับจีน

    บรรยากาศของที่ประชุมสัมมนานั้น  ผมรู้สึกว่านักลงทุนค่อนข้างมีความตั้งใจและมีอารมณ์ร่วมค่อนข้างมากทั้ง ๆ ที่เป็นสถานที่ขนาดใหญ่และมีคนร่วมฟังอยู่จำนวนมาก  ผมคิดว่านักลงทุนส่วนบุคคลแนว VI ของสิงคโปร์นั้น  ยังตามหลังไทยอยู่พอสมควรและพวกเขากำลังเริ่มศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางนี้อย่างมุ่งมั่น  ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ  VI นั้นยังไม่เป็นกระแสที่คนนิยมหรือพูดถึงเนื่องจากยังไม่มีใครที่ทำกำไรจากหุ้นมากพอ  ความนิยมในการลงทุนในหุ้นก็ยังน้อยเนื่องจากตลาดหุ้นไม่บูมมานาน  นอกจากนั้น  การส่งเสริมการลงทุนโดยหน่วยงานรัฐและสถาบันการเงินก็ยังมีน้อย  โลกของการลงทุนยังอยู่ในมือของนักลงทุนสถาบัน  อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่าการพัฒนาของ VI สิงคโปร์และในย่านเอเชียน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ไทยเองอาจจะสามารถเป็น “ผู้นำ”  ได้  เพราะประสบการณ์ VI ของเรานั้น  น่าจะยาวกว่าคนอื่นในย่านนี้