Saturday, February 7, 2015

รักเธอประเทศไทย

รักเธอประเทศไทย / โดย คนขายของ

ช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าผมจะอ่านหนังสือพิมพ์ของต่างประเทศหรือบทวิเคราะห์หุ้นของฝรั่ง ส่วนใหญ่ให้ความเห็น เชิงลบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย และถ้าหันมาดูพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ในประเทศก็มักมี แต่ข่าวในด้านลบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ หนี้ครัวเรือนในระดับสูง การส่งออกที่ไม่ได้ขยายตัวมาก เหมือนในอดีต และ ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้มีนักลงทุนหลายท่านเริ่มเกรงว่าประเทศไทยจะประสบ กับวิกฤตเศรษฐกิจแบบ “ต้มยำกุ้ง” ที่เราเคยเจอเมื่อปี 2540 ผมเองก็ไม่ได้มีพื้นฐานการศึกษาทางด้าน เศรษฐศาสตร์คงมิอาจกล้าฟันธงในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ผมมั่นใจก็คือประเทศไทยยังมีจุดแข็งและข้อดีอีกมาก ที่หลายๆคนอาจมองข้ามไป เราลองมาดูกันว่ามีประเด็นหลักๆอะไรบ้าง

  หลังการต่อสู้เพื่อรักษาค่าเงินบาทในปี 2540 ประเทศไทยเหลือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพียง 2,850ล้านเหรียญ จากที่เคยอยู่สูงถึง 38,700 ล้านเหรียญในปี 2539 (ลดลงราว 92%) ทำให้เราต้องขอความ ช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ผ่านมา 18 ปี หลังจากที่เราได้เรียนรู้บทเรียนอันเจ็บปวด ตอนนี้ประเทศไทยเรามีทุนสำรองระหว่างประเทศมูลค่าสูงถึง158,000 ล้านเหรียญ สูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ การมีทุนสำรอง ระหว่างประเทศในระดับสูงช่วยให้เงินบาทมีเสถียรภาพมากกว่าประเทศคู่แข่งทางเศรษฐกิจหลายๆประเทศ

  มีหลายครั้งที่ผมได้ยินนักลงทุนพูดกันว่า “ดูดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของอินโดนีเซียสิ ก่อนวิกฤตในปี2540 ดัชนีเขา อยู่แค่ประมาณ 700 จุด แต่ตอนนี้เขาไป 5,200แล้ว SET ของไทยยังไม่เคยทะลุไฮเดิมเลย” แต่หากเรา มองดูเรื่องค่าเงิน Rupiah ของอินโดนีเซียประกอบด้วยจะพบว่า อ่อนค่าจาก2500 IDR/USD ในปี 2540 มาเป็น 12,755 IDR/USD ในปี 2558 อ่อนลงประมาณ 5 เท่า ในขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนตัว มาประมาณ 30% ในช่วงเดียวกัน ดังนั้นหากเราพิจารณา ราคาหุ้นของอินโดนีเซียเทียบหุ้นไทยโดยอ้างอิง สกุลเงินดอลล่าห์สหรัฐ เราก็อาจจะพบว่าการลงทุนในตลาดหุ้นอินโดนีเซียไม่ได้สวยงามมากมายขนาดนั้น

  จากการจัดอันดับล่าสุดของ World Economic Forum ในเรื่อง “ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” (Global Competitiveness Report 2014-2015) โดยวัดจาก 12 หัวข้อหลักเช่น สภาพโดยรวมของ เศรษฐศาสตร์มหภาค, โครงสร้างพื่นฐาน และ การสาธารณสุขและการศึกษา ของประเทศนั้นๆตอนนี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 31 จาก 140 กว่าประเทศ ถ้านับกันในอาเซียน ไทยยังเป็นรอง สิงค์โปร์อันดับ 2) และ มาเลเซีย (อันดับ 20) แต่ยังเหนือกว่า อินโดนีเซีย (อันดับ 34) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 52) และ เวียดนาม (อันดับ 68) หากมองจากหลักการลงทุนแบบ Warren Buffet ที่เน้นเรื่อง “ความสามารถในการแข่งขัน” ประเทศไทยถึงแม้จะไม่อยู่ในกลุ่มดีเลิศ แต่ก็ยังพอนับได้ว่าอยู่ในกลุ่มที่มีศักยภาพที่พอใช้ได้หากบริษัท ต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุน

  ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่เกื้อหนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศนั้น หากเปรียบเทียบ ระหว่างประเทศ “ตลาดเกิดใหม่” (Emerging Markets) ด้วยกัน ประเทศไทยนับว่ามีอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ซึ่งตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 2%  อัตราดอกเบี้ยของบราซิลอยู่ที่ 12.25% ตุรกีอยู่ที่ 7.75%และ อินโดนีเซียอยู่ที่ 7.75% การที่มีดอกเบี้ยต่ำจะช่วยเรื่องการระดมทุนไม่ว่าจะเป็น กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

หรือ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ได้ง่ายกว่าประเทศที่มีดอกเบี้ยสูง และเมื่อ รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชนมีการขายสินทรัพย์เดิมออกไปเข้ากองทุน ก็จะนำเงินที่ได้มาลงทุนใหม่ ทำให้การหมุนเวียนของสินทรัพย์ในประเทศดีขึ้น ทำให้ประเทศกลับมามีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้อย่างต่อเนื่อง

  MasterCard Global Destination Cities Index ได้รายงานเมืองที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากที่สุด ในโลกในปี 2014 อันดับหนึ่งได้แก่ มหานครลอนดอน ของอังกฤษ อันดับสอง ได้แก่กรุงเทพมหานคร ขนาดประเทศไทยมีความไม่สงบทางการเมืองเกิดขึ้นกลางเมืองหลวงในปีที่แล้ว ยังมีคนมาเยือนขนาดนี้ ในปี 2015 นี้หากไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นอีก ก็หวังว่ากรุงเทพฯจะคว้าเมืองอันดับหนึ่งมาได้อย่างง่ายดาย

  ผมไม่ปฏิเสธว่าประเทศไทยยังมีเรื่องที่ต้องแก้ไขและพัฒนาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนวัตกรรมใหม่ๆ, เรื่องการบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบอุปถัมภ์พวกพ้อง แต่ประเทศไทยก็ยังมีเรื่องดีๆที่หลายๆคนอาจจะมองข้ามไปดังเช่นประเด็นที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เมื่อไม่นาน นี้ผมลองหาข้อมูลของประเทศในอเมริกาใต้ที่ได้ชื่อว่ามีปัญหาเรื่องวิกฤตการเงินอยู่เสมอ กลับพบกับ ความประหลาดใจว่า ประเทศเหล่านั้นประชากรของเขามีความมั่งคั่งกว่าคนไทยในด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ที่สูงกว่า และ GDPต่อหัวที่สูงกว่า ด้วยศักยภาพที่ประเทศไทยมี ผมเชื่อว่าในอนาคตหากเรามีการบริหาร จัดการประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยเราคงเข้าสู่ยุคทองของการค้าและการลงทุนอย่างแน่นอน