Tuesday, March 10, 2015

Quote ของการลงทุน /ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ผมเป็นคนชอบอ่าน Quote หรือคำพูดที่ “แหลมคม” ของ “นักปราชญ์”  คนที่มีความสามารถ  หรือ “คนดัง” ในแวดวงต่าง ๆ  เพราะผมรู้สึกว่า Quote นั้นมักจะมีแนวความคิดและปรัชญาที่สำคัญที่สามารถบรรจุอยู่ในคำพูดสั้น ๆ  ไม่กี่ประโยคอ่านแล้วก็เข้าใจได้ทันที  ซึ่งก็แน่นอนว่า  ผมชอบอ่าน Quote ของกูรูการลงทุนมากมายที่ได้พูดไว้  และต่อไปนี้คือ Quote ที่ถูกรวบรวมโดยคุณพรชัย  รัตนนนทชัยสุข นักเขียนและนักลงทุนอาวุโสทางด้าน VI ซึ่งได้จัดทำเป็นหนังสือเพื่อแจกให้แก่คนที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม  ผมจึงถือโอกาสนี้ขอบคุณคุณพรชัยและนำ Quote บางส่วนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของตลาดหุ้นในปัจจุบันที่กำลังร้อนแรงมาดูกัน

Quote แรกเป็นของ Michael K. Farr  “คุณไม่รู้ไม่เข้าใจ  แต่ราคาหุ้นมันขึ้นเอา ๆ  คุณเห็นคนที่ไม่ได้ฉลาดอะไรรวยเอา ๆ  ในขณะที่คุณมัวแต่ตั้งคำถามเพื่อพิจารณาเหตุผล  ในที่สุดคุณตัดสินใจว่า  การมัวนั่งพินิจพิเคราะห์ทำให้คุณไม่ได้กำไรอย่างคนอื่น  ไม่วิเคราะห์มันแล้ว  ซื้อเลยดีกว่า  คุณต้องมีหุ้นตัวนี้กับเขามั่งแม้ว่ามันจะเพิ่งทำจุดสูงสุดใหม่ก็เหอะ  ฟังคุ้น ๆ ปะ”

  คำพูดที่สองเป็นของ วอเร็น บัฟเฟตต์   “พอราคาหุ้นขึ้นต่อเนื่องแบบไม่ยอมตก  เราจะเริ่มคิดว่า  การขึ้นของราคาหุ้นมันคงสมเหตุผล  เราจะเริ่มมองเห็นโลกเสี้ยวเดียว  การขึ้นของราคาหุ้นและผลกำไรเป็นตัวกระตุ้นให้เราเชื่อ  เชื่อแม้ว่ามันจะขัดกับสามัญสำนึก  ข่าวดีกระจ้อยร่อยกระตุ้นราคาราวกับเป็นข่าวใหญ่น่าเฉลิมฉลอง  ส่วนข่าวร้ายและคำวิพากษ์วิจารณ์ถูกมองข้ามและไม่มีใครให้น้ำหนัก  จนในท้ายที่สุดเมื่อความเป็นจริงปรากฏ  “รู้งี้”  คือคำพูดที่จะหลุดออกมาจากปากเรา”

  บัฟเฟตต์ยังพูดต่อว่า  “ยามที่การใช้มาร์จินได้ผล  มันจะทำให้กำไรของคุณเพิ่มทวีคูณ  เมียคุณจะมองว่าคุณช่างฉลาดปราดเปรื่องยิ่งนัก  เพื่อนบ้านจะอิจฉาคุณ  แต่การใช้มาร์จินเป็นสิ่งเสพติด  พอเคยได้กำไรอย่างมหัศจรรย์แล้ว  น้อยคนนักจะหวนกลับมาลงทุนแบบระมัดระวังได้  และก็อย่างที่พวกเราเคยเรียนตอนอยู่ประถมและหลายคนได้เรียนอีกครั้งตอนวิกฤติในปี 2008 ว่า  ไม่ว่าตัวเลขมันจะสวยหรูแค่ไหน  มันจะมลายไปทันทีถ้ามันถูกเอาไปคูณกับเลขศูนย์เพียงแค่ตัวเดียว  ประวัติศาสตร์บอกเราว่า  มันกลายเป็นศูนย์ได้บ่อยครั้ง  แม้ว่าคนที่ใช้มันจะเฉลียวฉลาดมากก็เหอะ”

  คำพูดที่สี่และห้าเป็นของ Jack D. Schwager “จะซื้อหรือถือหุ้นที่มีค่า PE สูง ๆ  การเติบโตของกำไรสุทธิต้อง  Feasible, Visible, Predictable และ Durable”

  “จังหวะที่ดีที่สุดสำหรับการเริ่มต้นซื้อหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาวก็คือช่วงเวลาหลังจากที่หุ้นให้ผลตอบแทนไม่ดีติดต่อกันมายาวนาน”

คำพูดที่หกเป็นของ Peter Keefe  “คนชอบอยากรู้ว่าตลาดหุ้นเกิดภาวะฟองสบู่แล้วหรือยัง จนลืมไปว่า  ภาวะฟองสบู่ไม่ได้เกิดขึ้นได้กับตลาดโดยรวมเพียงอย่างเดียว  แต่อาจจะเกิดกับหุ้นเป็นกลุ่ม ๆ  หรือเป็นตัว ๆ ก็ได้”

  Quote ที่เจ็ดนั้นอาจจะเรียกว่าเป็นเอกลักษณ์การลงทุนอย่างหนึ่งของบัฟเฟตต์เลยก็ว่าได้เพราะเขาบอกว่า  “เวลาที่ตลาดหุ้นตกหนัก ๆ  จะเป็นช่วงเวลาที่เราสามารถซื้อหุ้น Philip Fisher (หุ้นเติบโต) ได้ในราคา Benjamin Graham (P/E, P/B ต่ำ)”

  คำพูดที่แปดเป็นของ Francisco Garcia Parames  “การที่ราคาหุ้นขึ้นมา 20 เปอร์เซ็นต์มันหมายความว่าหุ้นตัวนี้มีความน่าสนใจน้อยลงไป 20 เปอร์เซ็นต์”

  Joel Greenblatt พูดว่า  “ความผิดพลาดข้อใหญ่ที่สุดสามข้อของนักลงทุนคือ  1. ปล่อยให้อารมณ์เข้าครอบงำ ตัดสินใจซื้อขายหุ้นตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นตอนเห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น  ตอนอ่านบทวิเคราะห์หรืออ่านข่าว  2. ซื้อหุ้นแบบไม่รู้เรื่อง  ไม่มีความรู้  ประเมินมูลค่าบริษัทไม่ออก  ซึ่งถ้าประเมินไม่ได้  แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นถูกหรือเปล่า  3. ให้น้ำหนักกับผลประกอบการล่าสุดของบริษัทมากเกินไป”

  ถ้าเราคิดว่าหุ้น IPO คือสุดยอดของการลงทุน  เราควรฟัง วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่พูดว่า  “หุ้น IPO เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง  การที่ผู้บริหารต้องการขายหุ้น  ทำให้หุ้นพวกนี้ไม่น่าจะเป็นหุ้นที่ถูกที่สุดสำหรับการเข้าซื้อ”

  Quote ที่ 11 เป็นของ Stuart Walton  “ความเข้าใจผิดข้อใหญ่ที่สุดก็คือ  มีการเชื่อกันในวงกว้างว่า  การหาเงินด้วยการเทรดหุ้นเป็นเรื่องง่าย  คนพากันคิดว่า  พวกเขาสามารถเลิกทำงานและมานั่งเทรดหุ้นอย่างเดียวได้  สุดท้ายแล้ว  คนส่วนใหญ่จะต้องพบกับความผิดหวัง”

  คำพูดที่ 12 ถูกกล่าวโดย Jack Schwager  “ทำไมการขาดทุนครั้งใหญ่มักมีแนวโน้มเกิดตามหลังช่วงที่ดีที่สุด?  คำอธิบายหนึ่งก็คือ  ในยามที่อะไร ๆ ดูเหมือนจะสวยหรูเหมือนมีคนกำกับ  นักลงทุนมักจะเริ่มการ์ดตก  พวกเขาเริ่มลืมคิดถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น  อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ  ในช่วงดี ๆ แบบที่ว่า  แต่ละคนมักลงทุนสุดตัวทุ่มสุดขีด  คำเตือนของผมก็คือ  ในยามที่พอร์ตคุณสวยหรูดูดีนิวไฮมีหุ้นน้อยไป  อย่าการ์ดตกและจงระมัดระวังตัวให้มาก”

  คำพูดนี้เป็นของ Anthony Bolton  “จากการศึกษาพบว่า  เมื่อราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุด  นักลงทุนที่มีประสบการณ์น้อยมักคาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าและมั่นใจมากกว่าว่าตัวเองจะสามารถเอาชนะตลาดได้ เมื่อเปรียบเทียบกับนักลงทุนที่อยู่ในตลาดมานาน”

  Quote ที่ 14 และ 15 เป็นของ Gerald M. Loeb เซียนหุ้นเก็งกำไร  “ผลของตลาดกระทิงที่มีต่อความคิดของเรา:  1. เราจะชื่นชมตัวเองว่าเรานี่แหละเซียนหุ้น  2.  รู้สึกว่าตัวเองโง่ที่อนุรักษ์นิยมเกินไปในช่วงที่ผ่านมาและจะนั่งคิดว่าถ้ากล้ากว่านี้จะได้เงินอีกเยอะเลย  3. เริ่มเสี่ยงมากขึ้นและอยากได้กำไรเร็วๆ จนกลายเป็นนักเก็งกำไร”

  “สามสาเหตุหลักที่จะทำให้เราขาดทุนคือ

1. ซื้อหุ้นมาในราคาที่แพงเกินไป
2. ซื้อหุ้นที่มีงบดุลอ่อนแอ
3. ไปหลงเชื่อตัวเลขคาดการณ์ผลกำไรที่สูงเกินจริง”

  คำพูดที่ 16 ซึ่งเป็นคำพูดสุดท้ายที่ไม่ระบุชื่อคนพูดก็คือ  “เรื่องของเรื่องก็คือ  หุ้นมันก็เป็นแบบนี้แหละ  บางทีมันก็ขึ้น  บางทีมันก็ลง  ตอนหุ้นขึ้นได้กำไร  ก็อย่าผยองปากกล้าจนเกินงาม  ตอนหุ้นตกขาดทุนหนักก็อย่าหดหู่ซึมเศร้าจนเกินควร  ใช้เหตุผลและปัญญานำทาง  อย่าใช้อารมณ์ตัดสินใจ”

Thursday, March 5, 2015

เสือสองตัวในถ้ำเดียวกัน / โดย คนขายของ



เป็นที่รู้กันดีว่าสองมหาเศรษฐีนักลงทุนของโลก George Soros และ Warren Buffett ถึงแม้ว่าจะเกิด เดือนเดียวปีเดียวกัน แต่แนวการลงทุนของทั้งสองท่านแตกต่างกันมากทีเดียว Soros นั้นเน้นการเก็งกำไร โดยอาศัยทั้งหลักเศรษฐศาสตร์ การเมืองและจิตวิทยามวลชน แต่ Buffett จะเน้นแนวที่เรียก กันว่า Value Investing หากหันมาดูพอร์ตลงทุนของทั้งสองจะพบว่า หุ้นที่ Soros ถือมากที่สุดในพอร์ตตอนนี้คือหุ้น สุดยอดบริษัทขายของทางอินเตอร์เนตของจีนชื่อ Alibaba ซึ่งเป็นหุ้นแนวเทคโนโลยี โดยให้น้ำหนักถึง 5% ของพอร์ต แต่ Buffett กลับเลือกที่จะถือหุ้นธนาคาร Wells Fargo ซึ่งโมเดลการทำธุรกิจแทบจะไม่ เปลี่ยนแปลงจากในอดีต โดยให้น้ำหนักถึง 23% ของพอร์ต ถึงแม้ว่า แนวการลงทุนจะแตกต่างกัน หลังจาก ศึกษาหุ้นที่ทั้งสองนักลงทุนเอกของโลกถือครองอยู่ ณ ตอนสิ้นปี 2014 กลับพบว่ามีหุ้นอยู่ทั้งหมดเจ็ดตัวที่ทั้ง Buffett และ Soros ถือเหมือนกัน ซึ่งในบทความนี้ขอยกมา 3 ตัวเพื่อศึกษาว่ากิจการเหล่านี้มีดีอย่างไร



บริษัทที่หนึ่ง General Motor (GM) บริษัทผลิตรถยนต์ของอเมริกาซึ่งมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน Buffett ถือ GM อยู่ 1.3% ของพอร์ตในขณะที่ Soros ถือ GM อยู่ 1.5% ทำไมทั้งสองคนถึงสนใจลงทุน ในหุ้นบริษัทรถยนต์แห่งนี้ ทั้งๆที่ GM เคยมีประวัติในการสร้างผลประกอบการที่ย่ำแย่? นักวิเคราะห์ ต่างชาติหลายคนประเมินว่า หลังจากการเพิ่มทุนครั้งใหญ่หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ฐานะทางการเงินของ GM เปลี่ยนไปอย่างมาก ในตอนนี้ GM มีมูลค่ากิจการ 60,000 ล้านเหรียญ แต่บริษัทถือครองเงินสดไว้ราว 28,000 ล้านเหรียญตั้งแต่ปี 2010 เรื่อยมา เรียกว่าถ้าซื้อ GM ทั้งบริษัทแล้วเอาเงินสดออกมา GM จะมี มูลค่าแค่ 32,000 ล้านเหรียญ ซึ่งถูกกว่า Ford คู่แข่งหลักราว 50% แต่ GM มีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงกว่า นอกจากนั้นในตอนนี้ยังมีการเรียกร้องจากกองทุนที่ถือหุ้นของ GM ให้บริษัทนำเงินสดส่วนเกินมาซื้อหุ้นคืน ในตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น หากมองกันตามที่นักวิเคราะห์ต่างประเทศได้ว่ามา ผมก็เชื่อว่า ไม่ใช่แต่ Buffett เท่านั้น Soros เองก็มีมุมมองของ “Value Investing” อยู่ในการเลือกหุ้นด้วยเหมือนกัน

บริษัทที่สอง Direct TV (DTV) เป็นบริษัทบริการรายการทีวีส่งตรงถึงบ้านผ่านระบบดาวเทียม มีแพ็กเกจ หลากหลายให้เลือกทั้งในสหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ โดยในสหรัฐมีฐานสมาชิกถึง 20 ล้านคน คู่แข่งหลัก โดยตรงกับ Direct TV มีอยู่รายเดียวคือ Dish Network แต่ DTV ทำอัตรากำไรสุทธิได้ดีกว่า กิจการทีวี แบบบอกรับสมาชิกสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมหาศาล ซึ่งกระแสเงินสดจากการดำเนิน งานของ DTV สูงกว่ากำไรสุทธิราว100%ตั้งแต่ปี 2010 ทำให้เงินสดในงบดุลของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในรอบ ห้าปีที่ผ่านมา Berkshire Hathaway ของ Buffett เข้าไปถืออยู่ 2.5% ของพอร์ต และ Soros Fund ถืออยู่ 0.29% ถึงแม้ว่าคนเลือก DTV เข้าพอร์ตของ Berkshire น่าจะเป็น Todd Combs มือขวา Buffett มากกว่าที่จะเป็นตัว Buffett เอง แต่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่ Berkshire เริ่มสนใจในบริษัทที่ต้องใช้ เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจนอกเหนือจากหุ้นธนาคารและอุปโภคบริโภคที่เป็นหุ้นหลักของบริษัท ส่วน Soros เองเขาถือหุ้นเทคโนโลยีเป็นเรื่องปกติ ในพอร์ตของเขามีทั้ง Alibaba, Facebook และ Yahoo

บริษัทที่สาม Phillips 66 (PSX) ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิ่งลงปลายปีที่ผ่านมา ทั้ง Buffett และ Soros ต่างก็ ขายหุ้นบริษัท Exxon Mobil ทิ้งออกจากพอร์ต แต่ทั้งสองคนยังเก็บหุ้นPhillip 66ไว้ นอกจากนั้น Buffett ยังซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นในเดือนธันวาหลังจากที่ขายไปบางส่วนตอนต้นปี2014 PSX ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันและ ปิโตรเคมีแต่ไม่มีธุรกิจสำรวจและขุดเจาะ โดยเน้นกลางน้ำและปลายน้ำ มีธุรกิจท่อส่งก๊าซ รถขนส่ง และปั๊ม น้ำมัน ความสามารถในการแข่งขันของ PSX อยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานทั้งโรงกลั่นและระบบ ขนส่งเป็นของ ตัวเอง การค้นพบ Shale Gas และ Shale Oil ปริมาณมหาศาลในแถบตอนกลางของอเมริกาเหนือ ทำให้ บริษัทมีต้นทุนน้ำมันดิบในการผลิตที่ต่ำลง ผลิตภัณฑ์ปิโตเลียมของบริษัทสามารถแข่งขันกับของยุโรปที่ใช้ น้ำมันดิบอ้างอิงราคาBrent ซึ่งปกติราคาสูงกว่าได้เป็นอย่างดี ถึงแม้กำไรจากการ ดำเนินงานจะ สูงๆต่ำๆ ตามแบบหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์แต่ Buffet ก็ยังถือหุ้นตัวนี้ตั้งแต่ปี 2012และSorosเริ่มซื้อมาตั้งแต่ปี 2013

ถึงแม้ว่า Soros จะมีการลงทุนที่เน้นการเก็งกำไรระยะสั้นมากกว่า อย่างหุ้น APPLE ก็ซื้อๆขายๆ ตลอด แต่ Buffett ลงทุนในหุ้น IBM มีแต่ซื้อเข้าอย่างเดียวทุกปีตั้งแต่ปี 2011 ไม่มีเล่นรอบเลย จากการศึกษาหุ้นที่ ทั้งสองกูรูลงทุนโลกเลือกลงทุน เห็นได้ว่าหุ้นแต่ละตัวผ่านการพิจารณาทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงใน อุตสาหกรรม, ความสามารถในการแข่งขัน และอัตราส่วนทางการเงินมาเป็นอย่างดี ตอนนี้ความมั่งของทั้ง สองคนก็อยู่ในระดับเกิน 20,000 ล้านเหรียญ แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะลงทุนแบบเล่นรอบหรือถือลงทุนยาว นักลงทุนสามารถสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองได้ แต่การเลือกหุ้นเพื่อลงทุนนั้นนักลงทุนต้องใช้ “ความรู้” ในการวิเคราะห์กิจการ และมีความเข้าใจในธุรกิจที่บริษัททำอยู่พอสมควร ไม่ใช้การคิดนึกคาดเดาเอาเอง เป็นหลัก หลายคนเล่นหุ้นเน้นเฉพาะการเก็งกำไรแบบไม่มีความรู้เป็นพื้นฐาน รู้จักแค่ตัวย่อ, ชื่อหุ้น และ ราคาหุ้น หากเราใส่ความพยายามลงไปเพียงเท่านั้นขนาดของกำไรที่พอคาดหวังได้ก็คงไม่ต่างกัน

อดทนไว้ กำไรยั่งยืน

Monday, March 2, 2015

Scenario Investing /ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล





ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล

ในการลงทุนนั้น  ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ของภาวะเศรษฐกิจ  การเมือง  และสังคมของประเทศหรือตลาดที่เราลงทุนอยู่หรือที่เราจะเข้าไปลงทุนตลอดเวลา  ถ้าเรามีข้อจำกัดว่าเราคงต้องลงทุนในประเทศไทยเป็นหลักเนื่องจากเหตุผลบางประการ เช่น เรายังมีความรู้ไม่พอในตลาดของประเทศอื่น  สิ่งที่เราจะต้องดูอย่างละเอียดถี่ถ้วนก็คือ  ภาพของประเทศไทยในอนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาว  หลังจากนั้นก็จะต้องดูว่าดัชนีหุ้นอาจจะเป็นอย่างไรในอนาคต  อาจจะซัก 4-5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย  นอกจากนั้น  เราก็ต้องดูว่าหุ้นในพอร์ตที่เราถืออยู่นั้นจะขึ้นหรือลงในสถานการณ์อย่างนั้น  ในการวิเคราะห์นั้น  เพื่อที่จะให้เห็นภาพที่กว้างและไม่ให้เรา “ติดยึด” ว่ามันเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างจริงแท้แน่นอนซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากในการลงทุน  เราก็ควรที่จะ  “วาดภาพในอนาคต” เป็นหลาย ๆ  ภาพหรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่าหลาย ๆ   Scenario แล้วก็ดูถึง  “โอกาสความเป็นไปได้” ของแต่ละภาพ  เสร็จแล้วเราก็จะต้องกำหนดกลยุทธการลงทุนของเรา

  สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  และการเมืองของเราในปัจจุบันนั้น  ต้องบอกว่าอยู่ในอาการที่ไม่ดี  หรือถ้าจะพูดว่าเลวร้ายพอสมควรก็ไม่น่าจะผิดนัก  การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเราต่ำมากเกือบ 0% ในปีที่แล้วทั้ง ๆ ที่ไม่มีภาวะวิกฤติในระดับโลก  นี่เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก  ผมเองยังจำได้ว่าถ้าเป็นในสมัยก่อนที่ผมยังหนุ่มและเศรษฐกิจไทยกำลังโตวันโตคืนเฉลี่ยปีละถึง 7% นั้น  ปีที่ไทยโต 4% ถือว่าเป็นปีที่แทบจะเรียกได้ว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  คนเดือดร้อนกันไปทั่ว  ข้ออ้างที่ว่าเศรษฐกิจโลกไม่ดีทำให้เศรษฐกิจไทยแย่ไปด้วยในช่วงนี้นั้นก็พอฟังได้บ้าง  แต่มันก็ไม่สามารถหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่า  เศรษฐกิจไทยอาจจะกำลังเริ่มชะลอตัวอย่างถาวรด้วยเหตุผลทางด้านโครงสร้าง เช่น อายุของประชากรหรือความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ที่ผมพูดแบบนี้ก็เพราะว่าประเทศที่กำลัง “โตวันโตคืน” อย่างพม่าหรือ  เวียตนามนั้น  แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะแย่และคนเวียตนามจะบ่นว่า เศรษฐกิจในประเทศ “ตกต่ำ” นั้น  ปีที่แล้วเขาก็ยังโตกว่า 5%

  สถานการณ์ทางด้านสังคมและการเมืองของไทยเองนั้นก็อยู่ในภาวะที่ไม่ดี  ความแตกแยกกันทางความคิดมีอยู่สูงกว่าช่วงปกติ  ทางด้านการเมืองนั้นเองก็ยังอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ  ถ้าจะเปรียบเทียบกับโลกแล้ว  เราน่าจะอยู่ในกลุ่มท้าย ๆ ของตารางทางด้านของพัฒนาการทางสังคมและการเมืองทั้ง ๆ ที่เราเคยได้รับการมองว่าเป็นประเทศและสังคมที่ค่อนข้างจะเปิดและปรับตัวเข้ากับโลกได้ดีประเทศหนึ่ง

  อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสถานะปัจจุบันก็คืออนาคต   ภาพหรือ Scenario ที่คนส่วนใหญ่มองก็คือ  ใช่!  เรากำลังแย่ทุกด้าน  แต่ทุกอย่างก็อาจจะกำลังดีขึ้น  เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น  สังคมและการเมืองก็น่าจะปรับตัวดีขึ้น  และเนื่องจากมันแย่มาก  ดังนั้น  มันก็จะดีขึ้นมาก  เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นถึงประมาณ 4%  สังคมและการเมืองก็กำลังถูก “ปฏิรูป” ให้ดีขึ้น  ดังนั้น  ภาพอนาคตก็จะดีขึ้นไม่ใช่แย่ลง  แต่นั่นสำหรับผมก็เป็นเพียง Scenario หรือภาพหนึ่ง  เราจำเป็นต้องคิดถึงภาพอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้  อาจจะเป็นภาพที่  “ทรง ๆ”  คือเศรษฐกิจไม่ได้โตขึ้นขนาดนั้นเช่นเดียวกับสังคมและการเมือง  หรืออาจจะเป็นภาพที่  “แย่ลงไปอีก”  คือเศรษฐกิจก็ยังไม่โตและสังคมและการเมืองก็ไม่ดีขึ้นในอนาคตอย่างน้อย 2-3 ปีข้างหน้า  แม้ว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นอาจจะไม่มากนัก

  ประเด็นต่อมาก็คือเรื่องของดัชนีหุ้นในอนาคต  ซึ่งโดยทั่วไปนั้นก็ควรจะปรับตัวล้อไปกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม  การเมืองในอนาคต  และความถูกความแพงของหุ้นในปัจจุบัน  ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นมากในอนาคตและหุ้นในปัจจุบันมีราคาถูกมาก  โอกาสก็เป็นไปได้มากว่าดัชนีหุ้นในอนาคตจะปรับตัวขึ้นไปได้ดีมาก  และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของไทยหลังปี 2542-43  และอีกครั้งหนึ่งหลังวิกฤติของอเมริกาในปี 2009  แต่ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นมากในอนาคตแต่หุ้นในปัจจุบันแพง  ดัชนีก็อาจจะยังปรับตัวขึ้นได้แม้ว่าการปรับตัวขึ้นอาจจะไม่มากนักอาจจะซักปีละ 10% ใน 2-3 ปีข้างหน้า  อย่างไรก็ตาม  ถ้าหากภาพใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองไม่ได้ดีขึ้นในอนาคตแต่หุ้นในปัจจุบันแพง  ดัชนีตลาดหุ้นก็อาจจะนิ่งหรือตกลงมารุนแรงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าภาพใหญ่แย่ลงไปอีก

  ในความรู้สึกของผมเองนั้น  ผมคิดว่าหุ้นไทยในปัจจุบันนั้นค่อนข้างแพง  ดังนั้น  แม้ว่าภาพใหญ่ของเศรษฐกิจในอนาคตจะดีขึ้น  โอกาสที่หุ้นจะให้ผลตอบแทนสูงมากอย่างในอดีตก็อาจจะยาก  ผมเองคิดว่าดัชนีหุ้นโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 10% ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าน่าจะเป็นจุดสูงสุดที่เราจะคาดได้  และนี่ก็คือ Scenario ที่ดีที่สุดของผม

  ภาพที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นไปได้มากกว่าก็คือ  ภาพใหญ่ของไทยนั้น  อาจจะไม่ค่อยสดใสนัก  เศรษฐกิจก็โตขึ้นบ้างแต่ไม่สูงในอนาคตหลายปีข้างหน้า  แต่เนื่องจากดัชนีหุ้นไทยในปัจจุบันค่อนข้างสูงโอกาสก็เป็นไปได้ว่าหุ้นในอีกหลายปีข้างหน้าก็ไม่ได้ปรับตัวขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวแม้ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างช้า ๆ  สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ  ค่า PE ของหุ้นจะลดลงจากระดับ 20 เท่าในปัจจุบันเหลือเพียง 10 เท่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้า  นั่นก็คือสิ่งที่เราจะเห็น  อย่างไรก็ตาม  จากวันนี้ถึงอีก 4 ปี ข้างหน้า  ดัชนีหุ้นอาจจะวิ่งขึ้นลงผันผวนทุกปีแต่สุดท้ายก็ไปไม่ไกลเนื่องจากพื้นฐานและราคาของหุ้นไม่เอื้ออำนวย  ตลาดแบบนี้เราเรียกว่า  Sideway Market  นักลงทุนระยะยาวทำกำไรได้ยาก

  ถ้าภาพใหญ่ของไทยเลวร้ายลงอีกในหลายปีข้างหน้า  และด้วยดัชนีหุ้นที่ค่อนข้างแพง  ก็เป็นไปได้ว่าตลาดหุ้นไทยจะเข้าสู่ภาวะตลาดหมี  คือหุ้นจะลดลงในระยะยาวอีก 3-4 ปีข้างหน้า  คนที่ลงทุน  ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือยาวก็จะ “เจ็บตัว” อย่างหนัก  ความสนใจในหุ้นของคนไทยก็จะหมดไป  ปริมาณการซื้อขายที่สูงลิ่วในปัจจุบันก็จะหายไปและถูกแทนที่ด้วยความซบเซาของการซื้อขายหุ้น  การลงทุนในหุ้นก็จะเป็นเรื่องของคนที่  กล้าได้กล้าเสียและกล้าเสี่ยงไม่ใช่เรื่องของคนธรรมดาที่ลงทุนเพื่อชีวิตที่มั่นคงอย่างที่อาจจะเป็นบ้างในช่วงนี้

  แน่นอนว่ามี Scenario อื่นอีกหลายอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ผมเองดูว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยจึงไม่ได้พูดถึง  นักลงทุนคงต้องวิเคราะห์เอง  ส่วนตัวผมนั้นมองว่าโอกาสที่เป็นไปได้สูงก็คือ  ดัชนีหุ้นไทยถ้ามองไปข้างหน้า 3-4 ปี อาจจะไปได้ไม่ไกล  ในระหว่างทางนั้น  ในภาพหนึ่งก็คือ ดัชนีไป Sideway ไม่ได้ขึ้นหรือลงหนักมาก  ในอีกภาพหนึ่งก็คือ  ดัชนีหุ้นตกหนักมากแม้ว่าอาจจะไม่ถึงกับวิกฤติเนื่องด้วยเหตุการณ์บางอย่างที่คาดการณ์ไม่ได้  อย่างไรก็ตาม  ในที่สุดหุ้นก็ปรับตัวกลับขึ้นมาใกล้เคียงกับดัชนีในวันนี้ใน 3-4 ปีข้างหน้า  และนี่ต้องบอกอีกครั้งหนึ่งว่ามันเป็นการ “คาดเดา”


  กลยุทธการลงทุนของผมนั้น  แน่นอน  ไม่ได้มองเฉพาะตลาดหุ้น  เพราะผมเองไม่มีความสามารถในการลงทุนได้ทั่วโลก  ดังนั้น  ผมต้องดูสถานการณ์การลงทุนอย่างอื่นเช่น ดอกเบี้ย  พันธบัตร หุ้นกู้ หรือการลงทุนทางเลือกอย่างอื่นในประเทศไทยด้วย  น่าเสียใจที่ว่าการลงทุนทางเลือกอย่างอื่นนั้น  มีสภาพที่แย่พอ ๆ กับการลงทุนในตลาดหุ้นหรือแย่กว่า  นี่ก็เป็นความลำบากและ “อึดอัด” ใจของผมในการลงทุนในช่วงนี้  ผมคิดว่าการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องที่อันตรายและโอกาสได้ผลตอบแทนสูงทำได้ยาก  ในขณะเดียวกัน  การลงทุนในสิ่งอื่นก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน  ดังนั้น  ผมจึงเลือกที่จะ “รอ” โดยเตรียมเงินสดเอาไว้บ้างเพื่อที่จะได้ “ฉกฉวยโอกาส”  ในกรณีที่เกิดเหตุหรือสถานการณ์ที่ทำให้หุ้นตกลงมาจนคุ้มที่จะลงทุน  แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดหรือไม่  และถ้าเวลาผ่านไปนาน ๆ  ต้นทุนในการถือเงินสดก็จะ “ท่วม” คิดแล้วก็รู้สึกอิจฉาเพื่อนนักลงทุนต่างชาติของผมบางคนที่เขาสามารถไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้อย่างไม่มีข้อจำกัด