Thursday, April 9, 2015

ฟองสบู่ (เล็ก ๆ) ของอสังหาริมทรัพย์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิวรากุล


บทความโดย ดร.นิเวศน์  เหมวชิวรากุล

อาการที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นสูงติดต่อกันมายาวนานนั้น  ผมคิดว่าเป็นผลมาจากการที่เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดต่อกันมายาวนาน  นักลงทุนบางส่วนไม่รู้จะฝากเงินในธนาคารหรือลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ไปทำไม  ดังนั้นพวกเขาจึงนำเงินมาลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   แต่ไม่ใช่ตลาดหุ้นเท่านั้นที่ราคาเพิ่มขึ้น  อสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่เป็นคอนโดมิเนียมนั้น  ผมก็รู้สึกว่ามันมีราคาเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว  บางทีอาจจะไม่แพ้ตลาดหุ้นด้วยซ้ำ  นอกจากคอนโดมิเนียมแล้ว  ผมยังรู้สึกว่าอสังหาริมทรัพย์  “เชิงพาณิชย์”  ที่สามารถปล่อยเช่าได้ต่างก็ดูเหมือนว่าจะมีมูลค่าหรือราคาเพิ่มขึ้นมาก  และนั่นก็นำมาสู่การขยายตัวของคอนโดมีเนียมและอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ เช่น  ช็อบปิ้งมอล  และคอมมูนิตี้มอล เป็นต้น  ผมเองไม่ได้มีตัวเลขชัดเจนว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นสูงเกินไปหรือยัง  แต่เมื่อมองดูจากอาการต่าง ๆ  ที่ปรากฏเมื่อเร็ว ๆ  นี้  ผมก็รู้สึกว่า  อย่างน้อยอสังหาฯเองก็น่าจะมี  “ฟองสบู่”  เล็ก ๆ  เกิดขึ้นแล้ว  และโอกาสที่ฟองสบู่จะ “แตก” ก็อาจจะมี  แม้ว่าการแตกของฟองสบู่อสังหาฯอาจจะไม่ได้รุนแรงและราคาอาจจะตกลงมาน้อย  แต่การขยายตัวของอสังหาฯในอนาคตก็อาจจะน้อยหรือซบเซาลงมากได้

  อาการ  “ฟองสบู่” ของอสังหาฯ  หรือว่าที่จริงเป็นอาการของทรัพย์สินเกือบทุกอย่างที่กำลังเป็นฟองสบู่นั้นมีหลายเรื่อง   อาการแรกก็คือ  ในการซื้ออสังหาฯ เช่นคอนโดหรือบ้าน  มีการปล่อยกู้สูงมาก  คนกู้อาจจะใช้เงินตัวเองเพียง 5-10%  อีก 90-95% เป็นเงินกู้  บางครั้งผมได้ยินว่าเราสามารถซื้อบ้านโดยไม่ต้องจ่ายเงินดาวน์เลย  แถมมีเงินให้อีก  เราแค่ลงนามในสัญญาเงินกู้แล้วก็คอยผ่อนทุกเดือนหลังจากนั้น  การผ่อนก็สบาย ๆ  ให้เวลาเป็นหลายสิบปี  ดูไปแล้วก็  “ดีกว่าเช่า”  เพราะถ้าเช่า  เงินก็จะหายไป  แต่ถ้าซื้อเงินผ่อน  สุดท้ายบ้านก็เป็นของเรา  เม็ดเงินปล่อยกู้ในอสังหาฯ เองนั้น  ผมก็เห็นว่ามีการปล่อยกู้ออกไปมาก  ทั้งในด้านของบ้านที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า  สถาบันการเงินเองก็อยากจะปล่อยเงินกู้ในส่วนนี้เพราะคิดว่ามันมีหลักประกันชั้นดีรองรับอยู่  ดังนั้น  อัตราดอกเบี้ยจึงค่อนข้างต่ำแม้ว่าอัตราส่วนการกู้ต่อเงินดาวน์จะค่อนข้างสูง

  อาการฟองสบู่ข้อต่อมาก็คือ  ในภาวะที่เป็นฟองสบู่นั้น  คนที่เป็น  “มือสมัครเล่น” จะเริ่มเข้ามาในอุตสาหกรรม  หรือคนที่ไม่มีความสามารถที่จะมีบ้านได้ก็จะเข้ามาซื้อบ้านได้  ตัวอย่างเรื่องนี้ก็คือ โครงการคอมมูนิตี้มอลที่มีคนเข้ามาทำมากมาย  จำนวนมากนั้น  ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำมอลมาก่อนเลย  แต่เข้ามาทำเพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องไม่ยาก  เขาอาจจะคิดว่าทำเลที่ดีจะทำให้มอลสำเร็จ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  มันเป็นโครงการเล็ก ๆ  ที่ต้องการผู้เช่าไม่กี่ราย  การบริหารงานก็ไม่ต้องทำอะไรมาก   เราแค่เป็นจุดสะดวกที่คนในท้องถิ่นจะมาหาอะไรรับประทานและเดินเล่นในยามเย็นก็เพียงพอแล้ว   ในส่วนของบ้านหรือคอนโดเองนั้น  อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากและระยะเวลาในการผ่อนส่งที่นานเป็นพิเศษ  ทำให้ค่าผ่อนรายเดือนต่ำมากจนคนที่ไม่น่าจะซื้อบ้านได้เนื่องจากรายได้ไม่พอสามารถจะซื้อได้   อย่างไรก็ตาม  ในระยะยาวแล้ว  อัตราดอกเบี้ยก็อาจจะเปลี่ยนไปซึ่งอาจจะทำให้เขาไม่สามารถผ่อนต่อได้

  สัญญาณฟองสบู่ข้อต่อมาก็คือ  คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมไม่กลัวความเสี่ยง  พวกเขาเชื่อว่าราคาของอสังหาฯ นั้น  “ไม่มีวันตก”  ว่าที่จริงความคิดนี้แทบจะฝังหัวคนไทยมานาน  แม้ว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ราคาอสังหาฯ ตกลงมาพอสมควร  แต่หลังจากนั้นแล้วมันก็มีแต่ขึ้นมาตลอด  ในช่วงหลัง ๆ  นี้  ราคาคอนโดมีการปรับตัวขึ้นมาสูงมากจนน่าตกใจ  คอนโดที่โดดเด่นกลางใจเมืองและติดสถานีรถไฟฟ้าหลายแห่งราคาต่อตารางเมตรเท่ากับหลายแสนบาทแล้ว  แต่คนก็คิดว่าซื้อไว้ได้  เพราะเดี๋ยวโครงการใหม่ก็จะสูงขึ้นไปอีก  ในส่วนของช็อบปิงมอลเองนั้น  ก็ยังมีคนเปิดเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ  จนผมรู้สึกว่าถึงวันหนึ่งมันจะไม่คุ้มทุนเนื่องจากผู้เช่าจะหายากขึ้นและราคาค่าเช่านั้น  วันหนึ่งอาจจะต้องปรับตัวลงถ้าความจริงปรากฏว่าเขาค้าขายไม่ดีอย่างที่คิด

  อาการที่จะชี้ว่าอาจจะมีฟองสบู่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ  ความซับซ้อนของกระบวนการต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ  ผมจะไม่พูดถึงเรื่องที่ผู้ซื้ออสังหาฯ รายย่อยบางรายอาจจะรู้สึกงง ๆ ที่ต้องลงนามในเอกสารแปลก  ๆ เวลาเซ็นต์สัญญาต่าง ๆ  แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของกองทุนอสังหาฯ หรือกองทุนอื่น ๆ  ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นอสังหาฯ  เราก็อาจจะพบเงื่อนไขหรือรายละเอียดมากมาย  เช่น  การรับประกันรายได้ในช่วง 2-3 ปีแรก  เงื่อนไขในการเช่าของเจ้าของทรัพย์สินเดิมที่ขายทรัพย์สินเข้ากองทุน  และน่าจะยังมีเรื่องอื่น ๆ  อีกมากตามแต่ตัวโครงการแต่ละแห่ง  ผมเองคิดว่าเรื่องต่าง ๆ  เหล่านั้นค่อนข้างซับซ้อนและเข้าใจได้ยากว่ามันจะมีผลอย่างไรต่อผลตอบแทนของทรัพย์สินในอนาคต  อย่างไรก็ตาม  นี่คือสัญญาณของฟองสบู่อย่างหนึ่ง  บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าความซับซ้อนนั้นทำให้คนงงและยอมซื้อของแพง ๆ  ก็ได้

  สัญญาณสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  เรื่องของสถาปัตยกรรมหรือสิ่งก่อสร้างของบริษัทในอุตสาหกรรม   ในยามที่กำลังเกิดฟองสบู่นั้น  มันจะโอ่อ่าอลังการที่สุด  ยกตัวอย่างเช่น  ในยุคที่สถาบันการเงินรุ่งเรืองสุด ๆ  นั้น  พวกเขาจะมีสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่เลิศหรูอลังการ  บางบริษัทก็มีเครื่องบินส่วนตัวที่เอาไว้ใช้เดินทางอย่างสะดวกสบาย  ในเรื่องของอสังหาฯ นั้น  ช่วงหลัง ๆ  นี้  เราก็เห็นความเลิศหรูของช็อบปิงมอลเกิดขึ้นและหรูขึ้นเรื่อย ๆ   คอนโดที่สร้างก็จะหรูขึ้นแพงขึ้นและสูงขึ้นเรื่อย ๆ  นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้ง ๆ  ที่ภาวะเศรษฐกิจของเรากำลังอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่มาก

  ฟองสบู่อสังหาฯ ถ้ามีอยู่แล้วตามที่ผมคิดก็อยู่ในภาวะที่น่าจะอันตรายพอสมควรเนื่องจากอาจจะเริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่บอกว่ามันอาจจะกำลังค่อย ๆ  ยุบตัวลง  โดยที่อาจจะเริ่มต้นจากอสังหาฯ ที่มี “พื้นฐาน” ไม่ใคร่ดีนัก  ตัวอย่างเช่น  คอนโดในต่างจังหวัดที่เริ่มขายยากขึ้นมากจนบางโครงการอาจจะต้องล้มเลิกคืนเงินให้กับคนจองทั้ง ๆ  ที่ก่อนหน้านั้นโครงการคอนโดต่างจังหวัดบางแห่งนั้นขายได้อย่างรวดเร็ว   เช่นเดียวกัน  คอนโดในกรุงเทพที่ทำเลไม่ดีไม่ใกล้เส้นทางรถไฟฟ้าก็มีการขายที่ช้ามาก

  ค่าเช่าที่จะได้จากการปล่อยเช่าคอนโดนั้น  ดูเหมือนว่าจะต่ำลงมาเรื่อย ๆ  และประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  การหาคนเช่าดูเหมือนว่าจะยากขึ้นและยากขึ้น  ผมรู้จักคนที่ทำอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าราคาถูกเองก็เริ่มบ่นว่า  “ไม่คุ้ม”  กับการลงทุนแล้ว  เหตุผลหนึ่งก็เพราะว่ามีอพาร์ทเม้นท์เกิดเพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการ  ดังนั้น  พวกอพาร์ทเม้นท์เก่าจึงอยู่ลำบากเนื่องจากคนเช่าจะสนใจในอาคารที่ใหม่กว่าแต่ราคาอาจจะพอ ๆ  กัน

  คอมมูนิตี้มอลเองนั้น  เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าบางแห่งนั้น “เหงา” มาก  อนาคตไม่สดใสและอาจจะไปไม่รอด  ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการขึ้นค่าเช่าที่มักจะวางกันไว้ว่าจะขึ้นทุก 3 ปี ปีละประมาณ 5% โดยเฉลี่ย  แม้แต่ช็อบปิงมอลขนาดใหญ่ที่ดำเนินการโดยบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ชั้นนำนั้น  ในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ  ผมเองเคยไปเดินดูก็พบว่าคนค่อนข้างน้อยแม้ในวันหยุด  และดังนั้นผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถเพิ่มค่าเช่าได้แค่ไหนเมื่อถึงปีที่จะต้องปรับค่าเช่าเพิ่ม

  ในกรุงเทพและหัวเมืองท่องเที่ยวเองนั้น  แม้ว่าชอบปิงมอลขนาดใหญ่ส่วนมากดูเหมือนว่าจะยังสามารถปรับค่าเช่าได้ซึ่งทำให้มันมีมูลค่าสูง  แต่จำนวนมอลใหม่ที่เพิ่มขึ้นและหรูเลิศอลังการมากขึ้นโดยที่ความต้องการนั้นดูจากภาพใหญ่แล้วก็ไม่น่าจะมากขึ้นมาก  ผมเองก็ยังสงสัยว่าในอนาคตอันไม่ยาวนักจะสามารถเพิ่มค่าเช่าตามแนวที่เคยใช้มายาวนานหรือไม่

  โดยรวมแล้ว  ข้อสรุปของผมก็คือ  อสังหาฯ เองนั้น  มีอะไรหลายอย่างคล้าย ๆ  หุ้น นั่นคือ  ราคาปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องยาวนานและมีราคาแพงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้จากค่าเช่า  อาการต่าง ๆ  หลายอย่างบอกว่ามันอาจจะมีฟองสบู่เล็ก ๆ  เกิดขึ้นและมีโอกาสที่มันจะ “ฝ่อ”  คือ การเติบโตต่อไปนับจากวันนี้อาจจะช้าลงมาก    

Wednesday, April 1, 2015

หน้ามือ-หลังมือ / ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

   
    คนที่ “ผ่านโลกมามาก” ทั้งที่เป็นประสบการณ์โดยตรง  และการอ่านและศึกษาประวัติศาสตร์ในหลาย ๆ  ด้านอย่างผมนั้น  มักจะมองอะไรต่าง ๆ  อย่าง  “ปลงอนิจจัง”  มากกว่าคนที่ยังมีอายุน้อยและผ่านประสบการณ์ทั้งโดยตรงและทางอ้อมน้อยกว่า  เหตุผลก็เพราะผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ  มากกว่า  ความเปลี่ยนแปลงที่ผมเห็นนั้น  จำนวนมากเป็นเรื่องของรสนิยมและแฟชั่นฉาบฉวยที่เปลี่ยนรวดเร็วแค่ข้าม “ฤดู”  ไม่กี่เดือนหรือปีสองปีและทุกคนก็เชื่อว่ามันก็ต้องเป็นอย่างนั้น    บางเรื่องเป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีที่ใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปีที่จะค่อย ๆ  เปลี่ยนไปและคนบางส่วนก็เชื่อว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นแม้ว่าคน “รุ่นเก่า” บางส่วนอาจจะ “ไม่ยอมรับ”  และเรื่องบางเรื่องที่เป็นเรื่องของความเชื่อที่ถูก  “ปลูกฝัง” ลงในสมอง  “ส่วนลึก”  ที่คนทุกคนต่างก็เชื่ออย่างมั่นคงว่ามันเป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอนไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้นั้น  ผมก็เห็นมันเปลี่ยนไป  บางครั้ง  จาก  “หน้ามือเป็นหลังมือ”  ดังนั้น  เวลาที่มีคนมาบอกว่าโลกหรือประเทศไทยหรือบริษัทหรืออะไรก็แล้วแต่  จะต้องหรือจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างจริงแท้แน่นอน  ด้วยเหตุผลที่ฟังดูแล้วน่าเชื่อถือ  มีหลักฐาน  เป็น “วิทยาศาสตร์”  บางครั้งผมก็จะไม่ค่อยเชื่อ  หรือไม่ก็ไม่นำมาเป็นประเด็นที่จะใช้มันในการตัดสินใจหรือประกอบการวิเคราะห์อย่าง  “เอาเป็นเอาตาย”  ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ครั้งหนึ่งคนคิดและเชื่ออย่างหนึ่ง  แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันกลับเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้าม

  ย้อนหลังไปแค่ 3-4 ปี ที่ราคาน้ำมันดิบโลกวิ่งขึ้นไปสูงมากร้อยกว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรล  คนก็เริ่มพูดว่าน้ำมันจะต้องมีราคาสูง  “ตลอดกาล”  โอกาสที่จะเห็นราคาน้ำมันต่ำกว่าร้อยเหรียญนั้น  “ลืมไปได้เลย”  เหตุเพราะบ่อน้ำมันจะค่อย ๆ  แห้งลง  การขุดหาบ่อใหม่จะมีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อย ๆ  เหนือสิ่งอื่นใด  โลกไม่ได้เจอบ่อน้ำมันขนาดใหญ่มาหลายสิบปีแล้ว  โลกประสบกับ  “Peak Oil” หรือปริมาณน้ำมันที่ขุดได้สูงสุดแล้วและกำลังลดลงเรื่อย ๆ  ในขณะที่การใช้น้ำมันก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดยักษ์อย่างจีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย เป็นต้น

  แต่แล้วราคาน้ำมันดิบก็ “ดิ่งลงเหว”  เหลือแค่ 50-60 เหรียญในเวลาอันสั้นในปีนี้  เหตุผลก็เพราะ  อเมริกาสามารถขุดน้ำมันบนบกด้วยวิธีใหม่ที่เรียกว่า Fracking ซึ่งทำให้ได้น้ำมันมากด้วยต้นทุนต่ำ  และทำให้อเมริกากลายเป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่ที่ทำให้ปริมาณการผลิตโลกมากกว่าความต้องการใช้  และนี่ทำให้ราคาน้ำมันลดลง  แต่ประเด็นสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ  มีความเชื่อกันใหม่ว่า  โอกาสที่จะเห็นราคาน้ำมันขึ้นไปสูงอย่างเดิมนั้นเป็นเรื่องที่ยาก  เพราะโลกอาจจะเริ่มเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนอย่างอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ  รถยนต์ที่ใช้น้ำมันในอนาคตจะเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรีหรือใช้ไฮโดรเจน   การปั่นไฟเพื่อใช้ในบ้านและอุตสาหกรรมก็จะเปลี่ยนไปใช้พลังแสงแดดหรือลมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะต้นทุนที่ต่ำลงเนื่องจากเทคโนโลยีที่ดีขึ้น  ดังนั้น  อนาคตของน้ำมันจึงกำลัง  “ริบหรี่” ตลอดกาล

  แม้แต่บัฟเฟตต์เองก็อาจจะเคยจับประเด็นเรื่องราคาน้ำมันที่อาจจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ  ไม่มีลงและเข้าไปลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวกับการขุดหาน้ำมันเมื่อหลายปีก่อน  แต่ผมเข้าใจว่าตอนนี้เขาถอนการลงทุนไปหมดแล้ว  หลายคนอาจจะมีความเชื่อใหม่ที่มั่นคงว่า  “พลังงานทางเลือก” ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากชีวมวล  พลังงานแสงแดดและลม จะเป็นสิ่งที่จะเติบโตไปไม่มีหยุดเนื่องจากมันคือแหล่งพลังงานที่ใช้ได้  “ไม่มีวันหมด”  และดังนั้น  การลงทุนกับมันจะเป็นสิ่งที่ได้ผลตอบแทนสูง  ส่วนตัวผมเองนั้นคิดว่า  นี่คือเรื่องของ  “อนิจจัง”  เรื่องใหม่  เป็นไปได้ที่อีกร้อยปีข้างหน้า  โลกจะใช้พลังงานดังกล่าวมาก  แต่เส้นทางที่ไปและกิจการที่จะรุ่งเรืองนั้น  อาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่เราคิดอย่างสิ้นเชิงก็ได้

  ครั้งหนึ่ง  อาจจะซัก 30-40 ปีที่แล้ว  คนกลัวเรื่องเงินเฟ้อกันมาก  เพราะเงินเฟ้อบางทีสูงถึงปีละ 10% ก็มี  เงินเฟ้อเป็น “ปีศาจ” ที่หลอกหลอนคนทุกชาติ  การต่อต้านเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ทำกันอย่างเอาเป็นเอาตาย   เพราะเงินเฟ้ออาจจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศและโลกล่มสลาย  แต่คนก็เชื่อกันว่าเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ต้อง  “อยู่กับโลก”  เป็นไปไม่ได้ที่เงินจะไม่เฟ้อ  “คนรุ่นพ่อใช้เงินกันวัน 1 บาทแต่เดี๋ยวนี้ 100 บาทนั้นกาแฟหรูซักแก้วก็ยังซื้อไม่ได้”  แต่เดี๋ยวนี้  คนกลับกลัวว่าเงินจะไม่เฟ้อ  หลายประเทศต้องพยายามทำให้เงินเฟ้อเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ  การที่จะให้เงินเฟ้อถึง 2-3% นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับหลายประเทศ  หลายคนเชื่อว่าโอกาสที่โลกจะกลับมามีเงินเฟ้อสูง ๆ นั้นเป็นไปไม่ได้อีกแล้วสำหรับประเทศที่เจริญและไม่ใช่เศรษฐกิจปิดยกเว้นแต่ประเทศจะเกิดวิกฤติรุนแรงและเงินท้องถิ่นหมดค่าลง

  ความคิดเรื่องของคนหรือประชากรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พลิก  “หน้ามือเป็นหลังมือ”   สมัยที่ผมยังเป็นวัยรุ่นนั้น  ทุกคนบอกว่า  “ลูกมากจะยากจน”  นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลแต่เป็นเรื่องของประเทศและเศรษฐกิจ  การลดการมีลูกหรือมีเด็กเกิดใหม่นั้นเป็น  “ภารกิจสำคัญ” ของประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย  เพราะ  “ประเทศจะพัฒนาไปไม่ได้ถ้ายังมีคนเกิดมาก ๆ”  ประเทศจีนเองถึงกับเป็นนโยบายของรัฐบาลที่บังคับให้ทุกครอบครัวมีลูกได้เพียงคนเดียว   เดี๋ยวนี้เราบอกว่าประเทศที่จะเติบโตได้เร็วนั้นก็คือประเทศที่มีประชากรมาก  มีคนหนุ่มสาวหรือเด็กมาก  ประเทศที่คนแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและมีเด็กเกิดใหม่น้อยนั้น  โอกาสที่จะโตจะยากและในที่สุดก็จะลดลง  ตัวอย่างเช่น  ญี่ปุ่นและประเทศในยุโรปตะวันตก  สิงคโปร์เองตอนนี้ต้องส่งเสริมให้คนมีลูกมากขึ้น  ตอนนี้มีแต่คนคิดว่าเป็นเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้” ที่ประเทศที่คนแก่ตัวลงแล้วจะมีประชากรเกิดใหม่มากขึ้น

  เรื่องของสุขภาพเองนั้น  เรามีความเชื่อที่  “ฝังหัว” มานานมากว่าคลอเรสเตอรอลทำให้เป็นโรคหัวใจ  และดังนั้น  เราควรจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารมันและอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลสูงโดยเฉพาะที่เป็นคนสูงอายุ  ดังนั้น  เวลาผมดื่มนมผมจึงมักเลือกนมพร่องมันเนย  ผมจะจำกัดการกินไข่ไม่เกินสัปดาห์ละ 2-3 ฟอง  ผมหลีกเลี่ยงเนื้อมัน ๆ และหนังไก่  ผมหลีกเลี่ยงกะทิ ทั้ง ๆ  ที่ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ผมชอบกิน  แต่คลอเรสเตอรอลผมก็ยังสูงกว่ามาตรฐานอยู่ดี  ดังนั้นผมต้องกินยาลดคลอเรสเตอรอลทุกวันเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคเส้นเลือดอุดตัน  แต่ล่าสุดมี  “ผลการศึกษา” ที่พบว่าการกินอาหารไม่มีอะไรเกี่ยวกับระดับของคลอเรสเตอรอลในกระแสเลือดของเรา  เพราะคลอเรสเตอรอลส่วนใหญ่นั้นถูกผลิตขึ้นภายในร่างกายของเราอยู่แล้ว  พูดง่าย ๆ  อยากกินอะไรก็กินไป  มันไม่ได้เพิ่มหรือลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด  ที่จริง  การกินไข่วันละหลาย ๆ ฟองเป็นสิ่งที่ดี  มันมีสารอาหารที่วิเศษที่ช่วยการทำงานของร่ายกายและลดการเป็นอัลไซเมอร์  แต่ถึงวันนี้ผมเองก็ยังสงสัยว่า “ผลการศึกษา” เก่ามันผิดหรืออย่างไร?  อย่างไรก็ตาม  ผมเองก็ยังไม่กล้ากินไข่หรืออาหารมันมากนัก  เพราะยังกลัวว่าอาจจะมี “ผลการศึกษา” ใหม่กว่าที่จะทำให้ผมต้อง “ช๊อก” เพราะเราเป็นโรคหัวใจเนื่องจาก “กินไม่ระวัง” เพราะเชื่อการศึกษาใหม่

  ในชีวิตเรานั้น  ผมคิดว่าเราถูกข้อมูลข่าวสาร  “ล้างสมอง”  ทุกวันตั้งแต่เด็กจนถึงแก่  ข้อมูลบางอย่างก็ไม่ได้มีความลำเอียงอะไรแต่มันอาจจะไม่ใช่เรื่องจริง  มันถูกประกาศหรือปล่อยออกมาโดยความรู้เท่าไม่ถึงการแต่หลังจากนั้นมันก็อาจจะ “ติด” จนคนคิดว่ามันเป็นเรื่องที่จริงแท้แน่นอน  ข้อมูลหลายอย่างก็อาจจะถูกปล่อยออกมาโดยมีความตั้งใจเพื่อให้คนเชื่อด้วยเหตุผลที่มันเป็นประโยชน์ต่อคนปล่อยและมันก็ทำให้เราและสังคมเชื่อ   ผมเองคิดว่านักลงทุนจำเป็นที่จะต้องแยกแยะว่าอะไรเป็นของจริงแท้แน่นอน  ซึ่งนี่ก็ควรเป็นเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์  อะไรที่อาจจะไม่จริงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเชื่ออย่างไม่มีคำถาม  นี่ก็คือสิ่งที่มักจะเป็นวิทยาศาสตร์ผสมกับศิลปะซึ่งก็มักจะรวมถึงเรื่องการแพทย์หรือสุขภาพ  และอะไรที่อาจจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงเท่ากันซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องของศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์ซึ่งน่าจะรวมถึงพฤติกรรมขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ  ที่มักจะเปลี่ยนแปลงไปได้ในช่วงเวลาหนึ่ง  และสุดท้ายคือเรื่องที่เปลี่ยนไปได้แค่ข้ามคืนซึ่งก็คือเรื่องที่เป็นศิลปะล้วน ๆ  เช่นเรื่องของแฟชั่นหรือความเห่อของคน

วิชาเทพ-วิชามาร / ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล

 
    คนที่เคยอ่านหนังสือ “กำลังภายในจีน” ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนยุคก่อนจะต้องรู้จักคำว่า  “วิชามาร” ซึ่งเป็นวิชาความรู้ในการต่อสู้ที่รุนแรง  ร้ายกาจ โหดเหี้ยม  และบางครั้งก็มักจะไม่คำนึงถึง  “จรรยาบรรณ” หรือ “กติกา” ในการต่อสู้  และคนที่ใช้วิชาแบบนี้ก็มักจะเป็นผู้ร้ายหรือเป็น  “มาร”  ส่วนคนที่เป็นพระเอกหรือคนดีที่เป็น  “เทพ”  นั้นก็มักจะใช้วิชาอีกแบบหนึ่งที่มีลักษณะตรงกันข้ามในเรื่องของรูปแบบ  เช่น  ไม่รุนแรงโหดเหี้ยม  แต่อาจจะอาศัยแรงของคู่ต่อสู้ที่ทำให้เขา  “แพ้ภัยตัวเอง”  วิชาเทพนั้นมักจะ  “อ่อนโยนและสงบนิ่ง” กว่า  นอกจากนั้นก็มักจะต้องยึดถือ “จรรยาบรรณ”  ในการต่อสู้  ไม่คดโกงหรือลอบกัดฝ่ายตรงข้าม  การต่อสู้ระหว่างมารและเทพนั้น  แม้ว่าในระยะแรกดูเหมือนมารจะได้เปรียบ  แต่ในท้ายที่สุดแล้ว  เทพก็มักจะเป็นฝ่ายชนะ

  ผมเองนั้นไม่ใช่คนที่ชอบอ่านหนังสือกำลังภายในเลย  อย่างไรก็ตาม  แนวคิดเรื่องวิชาเทพ-วิชามารนั้น  ผมคิดว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องของการลงทุนได้ดี  สิ่งที่จะต้องประกาศไว้ก่อนเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดก็คือ  ในเรื่องของการลงทุนนั้น  “วิชามาร” ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสิ่งที่เลวร้าย  และคนที่ใช้มันก็ไม่ใช่คนที่ไม่ดีเสมอไป  เช่นเดียวกัน  “วิชาเทพ”  เองก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป  และคนที่ใช้ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่ดีเสมอไป   เช่นเดียวกัน  คนที่ใช้วิชาเทพมากก็ไม่ใช่ว่าจะต้องชนะ  และผู้ที่ใช้วิชามารเป็นหลักก็ไม่ใช่ว่าจะต้องแพ้  บ่อยครั้งมันอาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เช่นเดียวกับความสามารถของผู้ใช้  เหนือสิ่งอื่นใด  มีนักลงทุนน้อยคนที่จะใช้เฉพาะวิชามารหรือวิชาเทพเพียงอย่างเดียวในการลงทุน  ในบางโอกาส  แม้แต่คนที่ยึดถือวิชาเทพเป็นหลักมาก ๆ  ก็ยังใช้วิชามารเข้าเล่นด้วย  เช่นเดียวกัน  คนที่ดูเหมือนจะใช้วิชามารเป็นส่วนใหญ่ก็มักจะงัดวิชาเทพออกมาใช้  ดังนั้น  ความหมายที่ผมต้องการสื่อก็คือ  วิชาก็คือวิชา  มันเป็นกลาง  มันเป็นเสมือนอาวุธและลีลาที่ใครจะนำไปใช้ก็ได้ที่จะทำให้เขา  “ชนะ”

  ในเรื่องของการลงทุนนั้น  นิยามกว้าง ๆ  ที่ผมจะกำหนดว่าแบบไหนเป็นวิชามารและแบบไหนเป็นวิชาเทพนั้นจะล้อไปกับเรื่องของกำลังภายใน  หลัก ๆ  ก็คือ  ถ้าเป็นเรื่อง  “รุนแรง”  นั่นก็คือ  ลงทุนแล้วได้เสียมากและเร็วมาก  ก็จะถือว่าเป็น  “วิชามาร”  นั่นคือข้อแรก  ข้อสอง  ถ้าเป็นเรื่องที่ “ร้ายกาจ”  นั่นคือ  เข้าไปเล่นหุ้นตัวใดตัวหนึ่งแล้ว  เรา “ชนะ”  คือสามารถทำกำไรได้มโหฬาร  แต่คนที่ “แพ้” คือคนที่เล่นหุ้นตัวเดียวกันต้องขาดทุนอย่างหนัก  พูดง่าย  ๆ  คนที่ชนะ “กินเงินจากผู้แพ้”  แบบนี้ถือว่าเป็นวิชามาร  ตรงกันข้าม  ถ้าคนที่ชนะไม่ได้ได้เงินจากนักลงทุนคนอื่น   แต่ได้จากการที่บริษัทสามารถทำกำไรได้มากขึ้นมากทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปมากและไม่ตกลงมาที่ทำให้คนอื่นขาดทุน

  นิยามข้อสุดท้ายก็คือ  เรื่องของความ “โหดเหี้ยม” และ/หรือ “ไร้จรรยาบรรณ”  นั่นก็คือ  การ “ปั่นหุ้น”  และการ  “ใช้ข้อมูลภายใน”  ในการลงทุน  นี่ถือว่าเป็น “วิชามาร”  ขั้นสุดยอดจริง ๆ  และคนที่เล่นแบบนี้ก็ต้องถือว่าเป็น  “มาร”  จริง ๆ  ในแง่ที่เป็นคนไม่ดี  และกรณีที่ทำมากจนเข้าข่ายผิดกฎหมายก็เสี่ยงที่จะต้องถูกลงโทษทางอาญา  แต่สำหรับนิยามของผมเองนั้น  การปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในแม้ว่าจะไม่ถึงขั้นผิดกฎหมายก็ต้องถือว่าเป็น “วิชามารขั้นสูง” ที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้  และนิยามการปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในนั้นเอง  ก็ยังเป็นเรื่องที่เป็นสีเทา ๆ นั่นก็คือ  ถ้ามีการใช้กระบวนการในการปล่อยข่าวและ/หรือสร้างกระแสหรือภาพลักษณ์ของกิจการหรือหุ้นมากมายโดยที่มันไม่ใช่ความจริงหรือมีความไม่แน่นอนสูงเพื่อที่จะทำให้คนสนใจเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อที่จะผลักดันราคา  หรือมีการซื้อขายหุ้นนำเพื่อทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปรุนแรงเพื่อที่จะดึงดูดให้คนสนใจเข้ามาร่วมวงซื้อขายอะไรทำนองนี้  แม้ว่าโดยนิยามทางกฎหมายอาจจะไม่ใช่การปั่นหุ้น  แต่โดยนิยามของผมแล้วมันก็คือการใช้วิชามาร

  มาดูกันว่าพฤติกรรมแบบไหนในการลงทุนที่เข้าข่ายการใช้ “วิชามาร” กันบ้าง  เบื้องต้นก็คือตามนิยามข้อแรกที่น่าจะเป็นวิชามารอย่างอ่อน  ผมคิดว่า  การลงทุนหรือเล่นหุ้นที่มีการใช้มาร์จินนั้น  เป็นการใช้วิชามารเพื่อที่จะเร่งผลตอบแทน  ยิ่งใช้มาร์จินสูงก็จะมีความรุนแรงหรือความผันผวนของผลตอบแทนการลงทุนมากขึ้นเท่านั้น  เช่นเดียวกัน  การกู้ยืมเงินจากพ่อแม่พี่น้องหรือญาติมาลงทุนรวมถึงการนำสินทรัพย์เช่นบ้านมาค้ำประกันเพื่อกู้เงินมาลงทุนต่าง ๆ  เหล่านี้ก็เป็นเรื่องการใช้วิชามารทั้งสิ้น  นอกจากนั้น  การลงทุนในตราสารการเงินที่มีความผันผวนสูงมาก ๆ  เนื่องจากลักษณะตราสารเองไม่ใช่ลักษณะของกิจการ  ตัวอย่างเช่นวอแร้นต์ที่ราคาแปลงสภาพสูงกว่าราคาของหุ้นแม่มาก  หรือการเล่นคอมโมดิตี้หรือพวกฟิวเจอร์หรือออปชั่นที่มีการวางเงินเพียงเล็กน้อยแต่มีระดับของการ  “พนัน”  สูงมาก  ผมก็ถือว่าเรากำลัง  “เล่นกับไฟ”  และดังนั้นมันจึงเป็นการใช้วิชามาร  ว่าที่จริง  การเข้าไปเล่นหุ้น IPO ในวันที่หุ้นเข้าตลาดในวันแรกในช่วงเร็ว ๆ นี้นั้น  ผมเองคิดว่ามันก็ไม่ห่างจากวิชามารมากนัก

  นิยามในข้อสองคือเรื่องของความ  “ร้ายกาจ” นั้น  ถ้าเกิดจากความตั้งใจของการเข้าไปไล่ราคาหุ้นเพื่อที่จะ “ปล่อยของ”  อย่างรวดเร็ว  นั่นก็คือการทำราคาหุ้นให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการต่าง ๆ  เพื่อที่ตนเองจะได้ขายในราคาสูงโดยที่รู้ว่าพื้นฐานของราคาหุ้นต่ำกว่านั้นมาก  ผลก็คือ  นักลงทุนคนอื่นที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ต้อง  “บาดเจ็บ”  อย่างหนักเนื่องจากเข้าไปซื้อหุ้นที่แพงเกินพื้นฐานไปมากและต้องขายขาดทุนหนักหรือต้องติดหุ้นไปยาวนานมาก  ลักษณะแบบนี้ก็ต้องถือว่าเป็นการใช้วิชามารอย่างชัดเจน  อย่างไรก็ตาม  ยังมีการซื้อหุ้นและขายทำกำไรมากแต่คนอื่นขาดทุนอย่างหนักโดยที่เจ้าตัวอาจจะไม่ได้ตั้งใจ  นี่ก็คือการที่นักลงทุนเข้าไปเล่นหุ้นที่มีผลประกอบการที่มีความไม่แน่นอนสูงหรือมีวัฏจักรรุนแรง  พอเข้าไปแล้วราคาหุ้นอาจจะขึ้นไปสูงมากอย่างรวดเร็ว   ซึ่งอาจจะเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของธุรกิจและ/หรือผลจากการซื้อหุ้นของเขาเอง  เขาจึงตัดสินใจขายหุ้นทิ้งอย่างรวดเร็วทำกำไรงดงามและทำให้ราคาตกลงอย่างหนักและทำให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากเสียหาย  ในกรณีแบบนี้ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นเรื่องของวิชามารเหมือนกันแม้ว่าดีกรีจะอ่อนกว่าแบบแรก

  สุดท้ายคือนิยามของความโหดเหี้ยมและ/หรือไร้จรรยาบรรณในการลงทุน  นี่ก็คือการเล่นหุ้นในแบบที่อาจจะเป็นการเอาเปรียบคนอื่นอย่างชัดเจนเช่นการปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือไม่ นอกจากนั้น  การเล่นหุ้นที่ใช้  “วิศวกรรมการเงิน” แบบวิชามาร  เช่น  การซื้อหุ้น PP หรือหุ้นใหม่ของบริษัทในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก ๆ   การให้วอแร้นต์ฟรีจำนวนมาก ๆ  ที่จะไดลูทหรือทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีสัดส่วนในบริษัทน้อยลงมากในอนาคต  การแตกพาร์โดยไม่สมเหตุผล  และอื่น ๆ อีกมาก  แบบนี้ผมถือว่ามันเป็นเรื่องของการใช้วิชามารในการลงทุนหรือเล่นหุ้นทั้งสิ้น

  ถ้าจะถือว่าเซียนหุ้นระดับโลกคนไหนใช้วิชามารมากนั้น  ผมคิดว่า จอร์จ โซรอส เป็นคนหนึ่ง  เพราะการทำกำไรของโซรอสนั้น  บ่อยครั้งทิ้ง “หายนะ” ให้กับคนอื่น ๆ  อีกหลายคน  ส่วนคนที่ใช้วิชาเทพมากนั้น แน่นอน คือ วอเร็น บัฟเฟตต์  ที่ทำเงินโดยการเติบโตของกิจการที่เขาไปลงทุน  มีหุ้นน้อยมากที่บัฟเฟตต์ซื้อและขายทำกำไรได้งดงามแต่ในที่สุดคนที่ซื้อตามเจ๊ง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  บัฟเฟตต์ซื้อแล้วเขาแทบจะไม่เคยขายอย่างรวดเร็ว  จำนวนมากเขาถือมันไว้ตลอดชีวิต  บัฟเฟตต์นั้นได้เงินจากบริษัท  ไม่ได้ได้จากผู้ถือหุ้นคนอื่น

  ในตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมไม่รู้ว่าระหว่างคนที่ใช้วิชาเทพหรือคนที่ใช้วิชามารอย่างมีประสิทธิภาพนั้น  ใครทำกำไรหรือได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่า  เป็นไปได้ว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นร้อนแรงและราคาหุ้นขึ้นเป็นกระทิงยาวนานนั้น  คนที่ใช้วิชามารเก่ง ๆ  น่าจะทำกำไรได้ดีกว่า  อย่างไรก็ตาม  ในระยะยาวที่ตลาดหุ้นมักมีการขึ้นลงและมักจะมีช่วงที่เลวร้ายเป็นระยะ ๆ  คนที่ใช้วิชาเทพก็อาจจะสามารถทำผลงานเฉลี่ยได้ดีกว่าเช่นเดียวกัน  เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์