Wednesday, April 1, 2015

หน้ามือ-หลังมือ / ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

   
    คนที่ “ผ่านโลกมามาก” ทั้งที่เป็นประสบการณ์โดยตรง  และการอ่านและศึกษาประวัติศาสตร์ในหลาย ๆ  ด้านอย่างผมนั้น  มักจะมองอะไรต่าง ๆ  อย่าง  “ปลงอนิจจัง”  มากกว่าคนที่ยังมีอายุน้อยและผ่านประสบการณ์ทั้งโดยตรงและทางอ้อมน้อยกว่า  เหตุผลก็เพราะผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ  มากกว่า  ความเปลี่ยนแปลงที่ผมเห็นนั้น  จำนวนมากเป็นเรื่องของรสนิยมและแฟชั่นฉาบฉวยที่เปลี่ยนรวดเร็วแค่ข้าม “ฤดู”  ไม่กี่เดือนหรือปีสองปีและทุกคนก็เชื่อว่ามันก็ต้องเป็นอย่างนั้น    บางเรื่องเป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีที่ใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปีที่จะค่อย ๆ  เปลี่ยนไปและคนบางส่วนก็เชื่อว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นแม้ว่าคน “รุ่นเก่า” บางส่วนอาจจะ “ไม่ยอมรับ”  และเรื่องบางเรื่องที่เป็นเรื่องของความเชื่อที่ถูก  “ปลูกฝัง” ลงในสมอง  “ส่วนลึก”  ที่คนทุกคนต่างก็เชื่ออย่างมั่นคงว่ามันเป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอนไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้นั้น  ผมก็เห็นมันเปลี่ยนไป  บางครั้ง  จาก  “หน้ามือเป็นหลังมือ”  ดังนั้น  เวลาที่มีคนมาบอกว่าโลกหรือประเทศไทยหรือบริษัทหรืออะไรก็แล้วแต่  จะต้องหรือจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างจริงแท้แน่นอน  ด้วยเหตุผลที่ฟังดูแล้วน่าเชื่อถือ  มีหลักฐาน  เป็น “วิทยาศาสตร์”  บางครั้งผมก็จะไม่ค่อยเชื่อ  หรือไม่ก็ไม่นำมาเป็นประเด็นที่จะใช้มันในการตัดสินใจหรือประกอบการวิเคราะห์อย่าง  “เอาเป็นเอาตาย”  ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ครั้งหนึ่งคนคิดและเชื่ออย่างหนึ่ง  แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันกลับเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้าม

  ย้อนหลังไปแค่ 3-4 ปี ที่ราคาน้ำมันดิบโลกวิ่งขึ้นไปสูงมากร้อยกว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรล  คนก็เริ่มพูดว่าน้ำมันจะต้องมีราคาสูง  “ตลอดกาล”  โอกาสที่จะเห็นราคาน้ำมันต่ำกว่าร้อยเหรียญนั้น  “ลืมไปได้เลย”  เหตุเพราะบ่อน้ำมันจะค่อย ๆ  แห้งลง  การขุดหาบ่อใหม่จะมีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อย ๆ  เหนือสิ่งอื่นใด  โลกไม่ได้เจอบ่อน้ำมันขนาดใหญ่มาหลายสิบปีแล้ว  โลกประสบกับ  “Peak Oil” หรือปริมาณน้ำมันที่ขุดได้สูงสุดแล้วและกำลังลดลงเรื่อย ๆ  ในขณะที่การใช้น้ำมันก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดยักษ์อย่างจีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย เป็นต้น

  แต่แล้วราคาน้ำมันดิบก็ “ดิ่งลงเหว”  เหลือแค่ 50-60 เหรียญในเวลาอันสั้นในปีนี้  เหตุผลก็เพราะ  อเมริกาสามารถขุดน้ำมันบนบกด้วยวิธีใหม่ที่เรียกว่า Fracking ซึ่งทำให้ได้น้ำมันมากด้วยต้นทุนต่ำ  และทำให้อเมริกากลายเป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่ที่ทำให้ปริมาณการผลิตโลกมากกว่าความต้องการใช้  และนี่ทำให้ราคาน้ำมันลดลง  แต่ประเด็นสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ  มีความเชื่อกันใหม่ว่า  โอกาสที่จะเห็นราคาน้ำมันขึ้นไปสูงอย่างเดิมนั้นเป็นเรื่องที่ยาก  เพราะโลกอาจจะเริ่มเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนอย่างอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ  รถยนต์ที่ใช้น้ำมันในอนาคตจะเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรีหรือใช้ไฮโดรเจน   การปั่นไฟเพื่อใช้ในบ้านและอุตสาหกรรมก็จะเปลี่ยนไปใช้พลังแสงแดดหรือลมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะต้นทุนที่ต่ำลงเนื่องจากเทคโนโลยีที่ดีขึ้น  ดังนั้น  อนาคตของน้ำมันจึงกำลัง  “ริบหรี่” ตลอดกาล

  แม้แต่บัฟเฟตต์เองก็อาจจะเคยจับประเด็นเรื่องราคาน้ำมันที่อาจจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ  ไม่มีลงและเข้าไปลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวกับการขุดหาน้ำมันเมื่อหลายปีก่อน  แต่ผมเข้าใจว่าตอนนี้เขาถอนการลงทุนไปหมดแล้ว  หลายคนอาจจะมีความเชื่อใหม่ที่มั่นคงว่า  “พลังงานทางเลือก” ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากชีวมวล  พลังงานแสงแดดและลม จะเป็นสิ่งที่จะเติบโตไปไม่มีหยุดเนื่องจากมันคือแหล่งพลังงานที่ใช้ได้  “ไม่มีวันหมด”  และดังนั้น  การลงทุนกับมันจะเป็นสิ่งที่ได้ผลตอบแทนสูง  ส่วนตัวผมเองนั้นคิดว่า  นี่คือเรื่องของ  “อนิจจัง”  เรื่องใหม่  เป็นไปได้ที่อีกร้อยปีข้างหน้า  โลกจะใช้พลังงานดังกล่าวมาก  แต่เส้นทางที่ไปและกิจการที่จะรุ่งเรืองนั้น  อาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่เราคิดอย่างสิ้นเชิงก็ได้

  ครั้งหนึ่ง  อาจจะซัก 30-40 ปีที่แล้ว  คนกลัวเรื่องเงินเฟ้อกันมาก  เพราะเงินเฟ้อบางทีสูงถึงปีละ 10% ก็มี  เงินเฟ้อเป็น “ปีศาจ” ที่หลอกหลอนคนทุกชาติ  การต่อต้านเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ทำกันอย่างเอาเป็นเอาตาย   เพราะเงินเฟ้ออาจจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศและโลกล่มสลาย  แต่คนก็เชื่อกันว่าเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ต้อง  “อยู่กับโลก”  เป็นไปไม่ได้ที่เงินจะไม่เฟ้อ  “คนรุ่นพ่อใช้เงินกันวัน 1 บาทแต่เดี๋ยวนี้ 100 บาทนั้นกาแฟหรูซักแก้วก็ยังซื้อไม่ได้”  แต่เดี๋ยวนี้  คนกลับกลัวว่าเงินจะไม่เฟ้อ  หลายประเทศต้องพยายามทำให้เงินเฟ้อเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ  การที่จะให้เงินเฟ้อถึง 2-3% นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับหลายประเทศ  หลายคนเชื่อว่าโอกาสที่โลกจะกลับมามีเงินเฟ้อสูง ๆ นั้นเป็นไปไม่ได้อีกแล้วสำหรับประเทศที่เจริญและไม่ใช่เศรษฐกิจปิดยกเว้นแต่ประเทศจะเกิดวิกฤติรุนแรงและเงินท้องถิ่นหมดค่าลง

  ความคิดเรื่องของคนหรือประชากรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พลิก  “หน้ามือเป็นหลังมือ”   สมัยที่ผมยังเป็นวัยรุ่นนั้น  ทุกคนบอกว่า  “ลูกมากจะยากจน”  นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลแต่เป็นเรื่องของประเทศและเศรษฐกิจ  การลดการมีลูกหรือมีเด็กเกิดใหม่นั้นเป็น  “ภารกิจสำคัญ” ของประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย  เพราะ  “ประเทศจะพัฒนาไปไม่ได้ถ้ายังมีคนเกิดมาก ๆ”  ประเทศจีนเองถึงกับเป็นนโยบายของรัฐบาลที่บังคับให้ทุกครอบครัวมีลูกได้เพียงคนเดียว   เดี๋ยวนี้เราบอกว่าประเทศที่จะเติบโตได้เร็วนั้นก็คือประเทศที่มีประชากรมาก  มีคนหนุ่มสาวหรือเด็กมาก  ประเทศที่คนแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและมีเด็กเกิดใหม่น้อยนั้น  โอกาสที่จะโตจะยากและในที่สุดก็จะลดลง  ตัวอย่างเช่น  ญี่ปุ่นและประเทศในยุโรปตะวันตก  สิงคโปร์เองตอนนี้ต้องส่งเสริมให้คนมีลูกมากขึ้น  ตอนนี้มีแต่คนคิดว่าเป็นเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้” ที่ประเทศที่คนแก่ตัวลงแล้วจะมีประชากรเกิดใหม่มากขึ้น

  เรื่องของสุขภาพเองนั้น  เรามีความเชื่อที่  “ฝังหัว” มานานมากว่าคลอเรสเตอรอลทำให้เป็นโรคหัวใจ  และดังนั้น  เราควรจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารมันและอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลสูงโดยเฉพาะที่เป็นคนสูงอายุ  ดังนั้น  เวลาผมดื่มนมผมจึงมักเลือกนมพร่องมันเนย  ผมจะจำกัดการกินไข่ไม่เกินสัปดาห์ละ 2-3 ฟอง  ผมหลีกเลี่ยงเนื้อมัน ๆ และหนังไก่  ผมหลีกเลี่ยงกะทิ ทั้ง ๆ  ที่ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ผมชอบกิน  แต่คลอเรสเตอรอลผมก็ยังสูงกว่ามาตรฐานอยู่ดี  ดังนั้นผมต้องกินยาลดคลอเรสเตอรอลทุกวันเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคเส้นเลือดอุดตัน  แต่ล่าสุดมี  “ผลการศึกษา” ที่พบว่าการกินอาหารไม่มีอะไรเกี่ยวกับระดับของคลอเรสเตอรอลในกระแสเลือดของเรา  เพราะคลอเรสเตอรอลส่วนใหญ่นั้นถูกผลิตขึ้นภายในร่างกายของเราอยู่แล้ว  พูดง่าย ๆ  อยากกินอะไรก็กินไป  มันไม่ได้เพิ่มหรือลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด  ที่จริง  การกินไข่วันละหลาย ๆ ฟองเป็นสิ่งที่ดี  มันมีสารอาหารที่วิเศษที่ช่วยการทำงานของร่ายกายและลดการเป็นอัลไซเมอร์  แต่ถึงวันนี้ผมเองก็ยังสงสัยว่า “ผลการศึกษา” เก่ามันผิดหรืออย่างไร?  อย่างไรก็ตาม  ผมเองก็ยังไม่กล้ากินไข่หรืออาหารมันมากนัก  เพราะยังกลัวว่าอาจจะมี “ผลการศึกษา” ใหม่กว่าที่จะทำให้ผมต้อง “ช๊อก” เพราะเราเป็นโรคหัวใจเนื่องจาก “กินไม่ระวัง” เพราะเชื่อการศึกษาใหม่

  ในชีวิตเรานั้น  ผมคิดว่าเราถูกข้อมูลข่าวสาร  “ล้างสมอง”  ทุกวันตั้งแต่เด็กจนถึงแก่  ข้อมูลบางอย่างก็ไม่ได้มีความลำเอียงอะไรแต่มันอาจจะไม่ใช่เรื่องจริง  มันถูกประกาศหรือปล่อยออกมาโดยความรู้เท่าไม่ถึงการแต่หลังจากนั้นมันก็อาจจะ “ติด” จนคนคิดว่ามันเป็นเรื่องที่จริงแท้แน่นอน  ข้อมูลหลายอย่างก็อาจจะถูกปล่อยออกมาโดยมีความตั้งใจเพื่อให้คนเชื่อด้วยเหตุผลที่มันเป็นประโยชน์ต่อคนปล่อยและมันก็ทำให้เราและสังคมเชื่อ   ผมเองคิดว่านักลงทุนจำเป็นที่จะต้องแยกแยะว่าอะไรเป็นของจริงแท้แน่นอน  ซึ่งนี่ก็ควรเป็นเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์  อะไรที่อาจจะไม่จริงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเชื่ออย่างไม่มีคำถาม  นี่ก็คือสิ่งที่มักจะเป็นวิทยาศาสตร์ผสมกับศิลปะซึ่งก็มักจะรวมถึงเรื่องการแพทย์หรือสุขภาพ  และอะไรที่อาจจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงเท่ากันซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องของศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์ซึ่งน่าจะรวมถึงพฤติกรรมขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ  ที่มักจะเปลี่ยนแปลงไปได้ในช่วงเวลาหนึ่ง  และสุดท้ายคือเรื่องที่เปลี่ยนไปได้แค่ข้ามคืนซึ่งก็คือเรื่องที่เป็นศิลปะล้วน ๆ  เช่นเรื่องของแฟชั่นหรือความเห่อของคน