Sunday, July 5, 2015

ลงทุนปี 2015

ดูการลงทุนปี 2015

เป็นวาระเดียวกันของทุก ๆ ปีที่ผมจะใช้พื้นที่บทความแรกในการ “มอง” การลงทุนปี 2015 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่มีความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายมากมาย โดยจะขอรวบรวมประเด็นเหตุการณ์ที่เป็นแนวโน้มสำคัญ ๆ มาสรุปให้ดังนี้ครับ

            เหตุการณ์สำคัญอันแรกคือ “จุดเปลี่ยนพลังงาน” ปี 2015 จะเป็นปีแรกที่การส่งออกน้ำมันจากประเทศสหรัฐอเมริกาแซงหน้าประเทศยักษ์ใหญ่ในกลุ่ม OPEC อย่างซาอุดิอาราเบีย ถ้าเราพูดเรื่องนี้เมื่องห้าหกปีที่แล้วคงไม่มีใครเชื่อ แต่ด้วยเทคโนโลยีเชลล์แก๊ส ทำให้อเมริกาเปลี่ยนจาก “ผู้นำเข้ารายใหญ่” เป็น “ผู้ส่งออกรายใหญ่” แทน ซึ่งทำให้ภาพพลังงานจากฟอสซิลเปลี่ยนไปมาก ราคาน้ำมันถูกกดดันอย่างมากในปี 2014 จนไม่รู้ว่า “จุดสมดุล” ของราคาพลังงานใหม่ จะไปอยู่ที่ไหน

            สำหรับประเทศไทยที่มีการบริโภคน้ำมันสูง นี่อาจจะเป็นข่าวดีที่ช่วยกำลังซื้อในประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและการขนส่ง แต่ราคาน้ำมันก็ส่งผลกระทบในด้านลบเช่นเดียวกัน เช่น นักท่องเที่ยวและธุรกิจส่งออกกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอาจจะน้อยลง หรือสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับราคาพลังงานอาจจะถูกกดดัน แต่บทเรียนหนึ่งในเรื่องนี้คือ การพึ่งพาบางสิ่งบางอย่างมาก ๆ ไม่ส่งผลดี เหมือนกับเวเนซูเอล่า หรือรัสเซียที่พึ่งพาน้ำมันจนทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา

            เหตุการณ์สำคัญที่สองคือ “จุดเปลี่ยนอิทธิพลประเทศจีน” จีนกำลังจะเปลี่ยนจากประเทศที่รับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI Inflow) กลายเป็น ประเทศที่ไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าแทน (FDI Outflow) มหัศจรรย์ของการเติบโตเศรษฐกิจจีนตั้งแต่ผ่านการปฏิรูปเศรษฐกิจ (改革开放) ในทศวรรษที่ 80 คือการรับการลงทุนจากต่างประเทศ จนประเทศจีนกลายเป็น “โรงงานของโลก” แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงจีนถีบตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด ในขณะเดียวกันจีนก็มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงได้หลายอย่าง (ประเทศจีนกำลังจะส่งยานลงดวงจันทร์เป็นประเทศที่สองต่อจากอเมริกาในปี 2016) ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้บริษัทจีนจำนวนมาก ก้าวขาเข้าไปติดอันดับในบริษัทระดับโลก และกำลัง “มุ่งหน้า” ออกมาลงทุนต่างประเทศ

            ในประเทศไทย เราเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเข้ามาใช้บริการในเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ เริ่มมาใช้บริการโรงพยาบาล เริ่มมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ เริ่มเห็นการทำ Joint Venture กับบริษัทจีนมากขึ้น และที่เด่นชัดมากคืออิทธิพลของรัฐบาลจีนในภูมิภาคนี้จะมากขึ้นเรื่อย ๆ

            เหตุการณ์สำคัญที่สามคือ “จุดเปลี่ยนของเทคโนโลยี” ในปี 2015 คาดการณ์ยอดขายของแทปเล็ต จะแซงหน้าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ยอดโฆษณาบนอินเตอร์เน็ต จะแซงหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสื่อนอกบ้าน รวมไปถึงจำนวนเบอร์มือถือทั่วโลกจะนำหน้าจำนวนประชากรโลก ประชากรบนโลก Facebook จะแซงหน้าประชากรจีน เกิดวิถีชีวิตออนไลน์ตลอดเวลา เก็บข้อมูลบน Cloud ซึ่งเข้าถึงได้ทุกที่ สิ่งเหล่านี้จะผลักดันให้เกิด “การค้า” บนโลกออนไลน์ยิ่งเข้มข้นขึ้นไปกว่าเดิม ในประเทศจีน มหาเศรษฐี 3 อันดับแรก ก็มาจากโลกการค้าออนไลน์ทั้งสิ้น อันดับ 1 คือเจ้าของอาลีบาบา อันดับสอง คือเจ้าของไป๋ตู้ อันดับสามคือ เจ้าของเทนเซนต์โฮลดิ้ง) ดังนั้นธุรกิจจึงจำเป็นต้อง “ใช้ประโยชน์” จากเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้ และต้องหลีกเลี่ยงการโดนคุกคาม ไม่เช่นนั้นก็เห็นบทเรียนของหลายบริษัทแล้วว่าเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำลายล้าง ( Disruption ) จนธุรกิจขนาดใหญ่ต้องล้มหายตายจากไป

            เหตุการณ์สำคัญที่สี่ คือ “จุดเปลี่ยนของดอกเบี้ยและเงินทุน” ดอกเบี้ยมีทิศทางใหญ่เป็นขาลงมาโดยตลอด และเป็นขาลงอย่างหนักตั้งแต่วิกฤต Subprime แต่ปีหน้า FED กำลังบอกว่าดอกเบี้ยจะเริ่มขึ้นครั้งแรกในรอบเกือบเจ็ดปี นอกจากนั้น “กระแสเงินทุน” จากมาตรการ QE ก็กลับทิศจากไหลออกเป็นไหลเข้า ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เงินทุนที่หดหาย ย่อมส่งผลกดดันให้ต้นทุนทางการเงินธุรกิจสูงขึ้น ดังนั้นราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่วิกฤต Subprime อาจจะชะลอตัวลง เพราะนักลงทุนจะให้คุณค่าสินทรัพย์ที่มี “เงินปันผล” หรือ “กระแสเงินสด” สูงแทน

            เหตุการณ์สำคัญที่ห้า คือ “จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ไล่ตั้งแต่การเมืองไทยที่น่าจะร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ, การเปิดเสรี AEC ในปลายปี, การเริ่มก่อสร้าง Infrastructure ครั้งใหญ่ของประเทศ, เหตุการณ์สำคัญอีกอย่างคือ “ฟองสบู่หุ้นตัวเล็ก” ที่ก่อตัวมานานจะมีจุดจบอย่างไร เพราะปีที่ผ่านมามี IPO และนักลงทุนรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ดูเหมือนการพัฒนาในเชิง “คุณภาพ” จะตามไม่ทัน “ปริมาณ” รายงานที่ทรงคุณค่าของศาตราจารย์ร็อบบิ้น ผู้ที่มีส่วนในการก่อตั้งตลาดทุนไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน กล่าวไว้ว่า

            “ตลาดหลักทรัพย์ที่ดีจะต้องสามารถทำหน้าที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างราคาในตลาดของหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งกับคุณค่าที่แท้จริงของบริษัทนั้น ๆ จะต้องสัมพันธ์กันอย่างสมเหตุสมผลเสมอ ราคาทั้งสองอาจจะแตกต่างห่างไกลกันได้เป็นครั้งคราว แต่ในระยะยาวความสัมพันธ์จะต้องมี มิฉะนั้นแล้ว ตลาดทุนก็จะกลายเป็นแหล่งการพนันไป” ตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีหน้า ควรจะมีจุดเปลี่ยนที่การลงทุนสะท้อนคุณค่าบริษัท มากกว่าการเล่น “ราคา” มิฉะนั้นตลาดหุ้นแบบการพนันจะทำให้สุดท้ายคนที่บาดเจ็บคือ “นักลงทุน” ทุกคน

            ขอใช้โอกาสนี้สวัสดีปีแพะครับ ขอให้ปีนี้เป็นปีที่ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ