Monday, July 6, 2015

หุ้นแบ้งค์/ ดร.นิเวศน์



  สัปดาห์ที่แล้วหุ้นกลุ่มแบ้งค์โดยเฉพาะที่เป็นแบ้งค์ขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งปรับตัวลดลงอย่างแรง  ประมาณ 4-5% ในวันเดียวทั้งที่ตลาดหุ้นโดยทั่วไปและหุ้นขนาดใหญ่ตัวอื่นไม่ได้ถูกกระทบอะไรมากนัก  เหตุผลนั้นมีการอธิบายว่าเป็นเรื่องของปริมาณหนี้เสียหรือ NPL ที่จะเกิดเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะจากลูกหนี้ที่เป็นลูกค้าธุรกิจขนาดเล็กหรือ SME ที่มีอยู่มากในแบ้งค์ขนาดใหญ่บางแห่ง  ซึ่งจะทำให้แบ้งค์มีต้นทุนสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นและจะทำให้กำไรลดน้อยลงในไตรมาศสองและต่อไปในช่วงที่เหลือของปี  นักวิเคราะห์หลายคนเริ่มปรับประมาณการกำไรของแบ้งค์ขนาดใหญ่ลง

  นอกจากเรื่องของหนี้เสียของ SME แล้ว  ภาพของธุรกิจแบ้งค์เองนั้นก็ไม่สดใส  สภาวะเศรษฐกิจที่ยังตกต่ำลงและยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวชัดเจนก็ทำให้การขยายตัวของสินเชื่อมีน้อยซึ่งจะส่งผลให้กำไรโดยรวมไม่เติบโต  นอกจากนั้น  อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แบ้งค์ต้องประกาศลดเพื่อให้สอดคล้องกับการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบ้งค์ชาติ  แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นกลับลดลงน้อยกว่า  นั่นอาจทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยหรือ Net Interest Margin (NIM) ของแบ้งค์ขนาดใหญ่ลดลงด้วย  ผลก็คือ  กำไรของแบ้งค์โดยเฉพาะที่เป็นแบ้งค์ขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีลูกค้าเป็นกิจการหรือบริษัทต่าง ๆ  จำนวนมากนั้น  น่าจะมีแนวโน้มลดลงพอสมควร

  ในส่วนของแบ้งค์ขนาดเล็กนั้น  ธุรกิจหลักอย่างหนึ่งก็คือ  การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉพาะที่เป็นการเช่าซื้อรถยนต์  ธุรกิจนี้ถูกกระทบมาน่าจะเป็นปีแล้วก่อนที่แบ้งค์ขนาดใหญ่จะประสบปัญหาเรื่อง NPL  ในรอบนี้  เหตุผลก็เพราะว่า “วิกฤติเศรษฐกิจ”  รอบนี้ดูเหมือนว่าจะเริ่มจากบุคคลธรรมดาที่ก่อหนี้มากขึ้นมากในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้ขาดรายได้ที่จะจ่ายหนี้เงินกู้และกลายเป็น NPL  มาได้ระยะหนึ่งแล้วและอาจจะเพิ่มขึ้นได้อีก นี่ก็เป็นเรื่องของสินเชื่อ  แต่แบ้งค์ขนาดเล็กเองนั้น  ยังมีอีกธุรกิจหนึ่งที่สำคัญนั่นก็คือ  ธุรกิจหลักทรัพย์  ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะถูกกระทบเหมือนกันในยามที่ตลาดหุ้นซบเซาอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้  ปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ตกต่ำลงในปีนี้ทำให้รายได้จากค่าคอมมิชชั่นลดลง  เช่นเดียวกัน  ราคาหรือดัชนีตลาดหุ้นที่ลดลงก็น่าจะส่งผลให้กิจกรรมด้านของวาณิชธนกิจลดลง  เช่นเดียวกับกิจกรรม “Prop Trade” หรือการลงทุนในหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ในเครือของแบ้งค์ที่อาจจะมีกำไรลดลง  ผลก็คือ  แบ้งค์เล็กก็อยู่ในฐานะที่ไม่ดีเช่นเดียวกับแบ้งค์ใหญ่

  ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  ทำให้หุ้นแบ้งค์เล็กถูก “เทขาย”  มาน่าจะหลายเดือนหรือปีก่อนและหุ้นแบ้งค์ใหญ่ถูกเทขายมากในช่วงนี้  ผลที่เกิดขึ้นก็คือ  ราคาของหุ้นแบ้งค์ทั้งกลุ่มตกลงมาต่อเนื่องจนกลายเป็นหุ้นกลุ่มที่มีราคา  “ถูกที่สุด”  ในตลาดหลักทรัพย์  โดยที่ค่า PE ของแบ้งค์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2558 เท่ากับ 9.74 เท่า ค่า PB เท่ากับ 1.31 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทนเท่ากับปีละ 3.36% ในขณะที่ค่า PE ของตลาดอยู่ที่ 19.89 เท่า  ค่า PB อยู่ที่ 2.02 เท่า และปันผลเท่ากับ 2.94% ต่อปี   มองอย่างหยาบ ๆ  ก็คือ  ราคาของหุ้นแบ้งค์ในขณะนี้ถูกเป็น “ครึ่งหนึ่ง” ของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยรวม  อะไรทำให้หุ้นแบ้งค์มีราคาถูก?   หรือหุ้นแบ้งค์ไม่ได้ถูก  แต่ตลาดหุ้นไทยมีราคาแพง?  นี่คือคำถามที่ผมพยายามตอบ

  คำตอบหนึ่งที่คนอาจจะพยายามอธิบายก็คือ  หุ้นแบ้งค์มีราคาถูกกว่าหุ้นกลุ่มอื่นเพราะแบ้งค์นั้นอาจจะประสบปัญหาผลการดำเนินการตกต่ำมากกว่าบริษัทกลุ่มอื่น ๆ  ทั้งหมดเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้นกระทบกับแบ้งค์มากกว่าภาค “เศรษฐกิจจริง”   ข้อนี้  ผมเองอยากเถียงว่า   จริงอยู่ในช่วง “วิกฤติ” ที่เกิดขึ้นจากภาค “การเงิน” นั้น  แบ้งค์อาจจะเสียหายมากกว่าคนอื่น  แต่ในช่วงที่เป็นเรื่องของความ “ซบเซา” ของเศรษฐกิจนั้น  แบ้งค์น่าจะถูกกระทบในระดับกลาง ๆ  คือเท่ากับค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ  นั่นก็คือ  หุ้นบางกลุ่มอาจจะดีกว่าและบางกลุ่มก็อาจจะแย่กว่าแบ้งค์  ผลประกอบการของแบ้งค์น่าจะตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมนั่นคือ  ถ้าเศรษฐกิจโตแค่ 2-3% แบ้งค์ก็น่าจะโตเท่า ๆ  กันหรืออาจจะไม่โตแต่แบ้งค์ก็ไม่น่าจะ  “หายนะ” แบบที่มักเกิดขึ้นเวลามี  “วิกฤติการเงิน” ที่สภาพคล่องทางการเงินหดหายไปอย่างรวดเร็ว

  คำตอบส่วนตัวของผมก็คือ  หุ้นแบ้งค์นั้น  “ไม่ได้ถูก”  แต่หุ้นแบ้งค์ในขณะนี้นั้นน่าจะมีราคาที่  “สมเหตุผล” สำหรับภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจของแบ้งค์ในขณะนี้  เพราะถ้าเราดู  “ประวัติศาสตร์” ของตลาดหุ้นไทยและหุ้นแบ้งค์ในระยะยาวแล้ว  เราก็จะพบว่าค่า PE ของตลาดหุ้น  ซึ่งก็น่าจะใกล้เคียงกับค่า PE ของกลุ่มแบ้งค์ที่เป็น  “ตัวแทนเศรษฐกิจไทย”  นั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ในระดับประมาณ 10 เท่า เท่านั้น  การที่ค่า PE ของตลาดในช่วงนี้และหุ้นกลุ่มแบ้งค์ในช่วงก่อนหน้านี้เล็กน้อยมีค่าสูงถึงเกือบ 20 เท่าหรือสิบกว่าเท่านั้น  ผมคิดว่าเป็นเพราะว่าตลาดหุ้นไทยมีการ “เก็งกำไร” ที่สูงกว่าปกติ  และการเก็งกำไรนี้มาจากนักลงทุนไทยโดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุนส่วนบุคคลที่เข้ามาลงทุนหรือ  “เล่นหุ้น”  กันมากสังเกตได้จากปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นมากมาหลายปีโดยเฉพาะในหุ้นที่มีการเก็งกำไรสูงจนทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยนั้น  “สูงที่สุด” ในหมู่ประเทศใน AEC

  การเข้ามา  “เล่นหุ้น” ของนักลงทุนส่วนบุคคลทำให้เกิดภาวะที่คล้าย ๆ  กับมี  “ตลาดคู่” ในตลาดหลักทรัพย์  นั่นคือ  ตลาดของ “นักเก็งกำไร” ที่ประกอบด้วยนักลงทุนส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่  กับตลาดของ “นักลงทุน”  ที่ประกอบไปด้วยนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก   โดยที่ “หุ้นเก็งกำไร”  นั้นก็มักจะเป็นหุ้นขนาดเล็กและ/หรือหุ้นที่มี Free Float ต่ำ และมี Story หรือเรื่องราวที่จะชักจูงให้คนเข้ามาเล่นได้มาก  ในขณะที่หุ้น  “ลงทุน” นั้น  มักเป็นหุ้นขนาดใหญ่ถึงใหญ่มากที่มีปริมาณหุ้นซื้อขายในตลาดมหาศาลและไม่มีใครสามารถไล่หรือทำราคาได้

ในช่วงที่ผ่านมาหลายปีจนถึงปัจจุบันนั้น  ผมคิดว่าคนไทยรุ่นใหม่เข้าเล่นหุ้นกันมากขึ้นและได้นำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดมากขึ้นมาก  พวกเขามักจะเล่นหุ้นที่เป็นหุ้นเก็งกำไรมากกว่าหุ้นลงทุน  ทำให้ตลาดหุ้น “เก็งกำไร”  เช่น  หุ้นในตลาดหุ้น MAI และหุ้นเล็กและหุ้น  “มี Story” ในตลาดหลักทรัพย์มีราคาสูงขึ้นมาก  ค่า PE ในตลาดหุ้น MAI สูงขึ้นไปถึง 63 เท่าในปัจจุบัน  เช่นเดียวกับหุ้นขนาดเล็กและหุ้นที่มี Story ในตลาด SET ก็มีราคาแพงลิ่วพอ ๆ กัน  “ดีกรี”  หรืออัตราการเก็งกำไรใน  “ตลาดหุ้นเก็งกำไร”  นี้  ผมคิดว่ายังคง  “ร้อนแรง”  พอสมควรเห็นได้จากการที่หุ้นขนาดเล็กและหุ้น IPO ขนาดเล็กก็ยังสามารถแสดง  “อภินิหาร”  ได้แม้ในยามที่ภาวะตลาดหุ้นไทยไม่เอื้ออำนวย

ใน  “ตลาดหุ้นลงทุน” นั้น  คนที่เป็นผู้เล่นหลักซึ่งได้แก่นักลงทุนต่างประเทศนั้น  ไม่ได้มีเพิ่มขึ้น  ตรงกันข้าม  พวกเขา  “ทยอยถอนทุน” ออกไปเรื่อย ๆ มาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว  แม้ว่านักลงทุนสถาบันของไทยน่าจะเพิ่มขึ้นพอสมควรแต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยได้โดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ  นี้ที่ภาวะเศรษฐกิจและเรื่องอื่น ๆ  ของไทยไม่เอื้ออำนวย  ดังนั้น  ราคา “หุ้นลงทุน”  จึงไม่เพิ่มขึ้นและบางทีกลับลดลง  โดยที่หุ้นกลุ่มแบ้งค์ซึ่งแทบจะเป็นหุ้นของนักลงทุนโดยเฉพาะนั้น  เป็นกลุ่มที่สะท้อนความคิดและมุมมองของ  นักลงทุนได้ดีที่สุด  และนั่นก็น่าจะเป็นที่มาว่าทำไมหุ้นกลุ่มแบ้งค์จึงมีราคา  “ถูก”  เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่นโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นกลุ่ม  “เก็งกำไร”

ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  ผมไม่รู้ว่าหุ้นกลุ่มแบ้งค์ในเวลานี้ถูกหรือต่ำกว่าพื้นฐานหรือไม่  แต่เนื่องจากมันเป็นกลุ่มที่  “ถูกที่สุดในตลาด” ในเวลานี้  และก็ไม่แพงกว่าข้อมูลในประวัติศาสตร์ของมัน  ผมจึงคิดว่ามันเป็นกลุ่มที่ “น่าสนใจ” ถ้าเราคิดว่าประเทศและตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะเกิด “วิกฤติ” ในอนาคตอันใกล้