Sunday, September 20, 2015

หลอก VI /ดร.นิเวศน์


     ในโลกของการลงทุนในหุ้นนั้น  การใช้ข่าวสารเพื่อ “เพิ่มมูลค่า” ให้กับหุ้นนั้น  เป็นเรื่องธรรมดาที่มีการทำกันเป็นล่ำเป็นสัน  ยิ่งมี “แรงจูงใจ” มากเท่าไร  การใช้ข่าวสารก็มีมากขึ้นเท่านั้น  แรงจูงใจที่จะเพิ่มมูลค่าของหุ้นนั้น  ส่วนใหญ่ก็มาจากผู้ถือหุ้นตั้งแต่รายเล็กย่อยไปจนถึงรายใหญ่ที่อาจจะเป็น  “เจ้าของ” ที่เป็นคนบริหารบริษัทด้วย   การเพิ่มมูลค่าของหุ้นโดยการใช้ข่าวสารในความหมายที่ผมพูดนั้น  เป็นเรื่องของการให้ข้อมูลที่ดี ๆ เกี่ยวกับบริษัท เช่น  ทำให้นักลงทุนเห็นว่าบริษัทนั้นมีคุณสมบัติดีเยี่ยมในการแข่งขันทางธุรกิจ  สภาวะที่เอื้ออำนวยของอุตสาหกรรม  แผนงานการเจริญเติบโตของบริษัท   ในขณะเดียวกันก็ต้องหลีกเลี่ยงหรือแก้ต่างข้อด้อยหรือจุดอ่อนที่มีคนชี้ให้เห็นหรือเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป

  กระบวนการให้ข่าวสารเพื่อทำให้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยมีมูลค่าหรือราคาปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันนั้น  ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตก่อนวิกฤติปี 2540 ที่มักจะเล่นแต่เรื่องข่าวสารเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของ “ขาใหญ่”และการ  “ปั่นราคาหุ้น”  เป็นหลัก  ในระยะหลังที่นักลงทุนเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็น “VI” หรือนักลงทุนที่เน้นการลงทุนแนว  “พื้นฐาน” จำนวนมาก  ข่าวสารที่เกี่ยวกับพื้นฐานของกิจการจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำมาใช้ในการ  “เพิ่มมูลค่า” ของกิจการ  นอกจากนั้นสื่อสารที่ใช้ในการเผยแพร่ข่าวสารก็เปลี่ยนแปลงไปมาก  นั่นคือ  มันมีประสิทธิภาพสูงและราคาถูกจนแทบจะ “ไม่มีต้นทุน” ผลก็คือ   หุ้นจำนวนมากนั้น  มีมูลค่าเพิ่มขึ้น “ตามพื้นฐาน”  หรือ  “สูงเกินกว่าพื้นฐาน”  เนื่องจากการให้ข่าวสารที่ดี ๆ  มากกว่าสิ่งที่แย่ ๆ  ทำให้นักลงทุนเห็นบริษัทในทางที่ดีเกินกว่าความเป็นจริงและเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปมากกว่าความเป็นจริง

  คงไม่เป็นปัญหาถ้าข่าวสารที่ส่งออกไปเพื่อเพิ่มราคาหุ้นนั้นเป็นข่าวสารที่ถูกต้องและสิ่งที่คาดในอนาคตมีความเป็นไปได้สูง  ประเด็นก็คือ  เนื่องจากแรงจูงใจที่จะเพิ่มราคาหุ้นนั้นมีสูง  ในบางครั้งและในบางบริษัทจึงมีผู้ถือหุ้นและ/หรือผู้บริหารที่ให้ข่าวสารข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือมีโอกาสที่จะเป็นไปได้น้อยเพื่อที่จะ  “หลอก” ให้คนเชื่อเพื่อที่จะได้หลงเข้ามาซื้อหุ้นดันราคาให้ขึ้นไปสูงเกินความเป็นจริง  โดยที่วิธีการหรือเรื่องที่จะใช้หลอกนั้น  แน่นอน  จะต้องไม่ทำให้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของทางการ  และคนที่จะถูกหลอกนั้นก็ต้องเชื่อและนำเรื่องนั้น “บอกต่อ” ให้คนอื่นเชื่อตามอีกอย่าง “ทวีคูณ”  ยิ่งมากก็ยิ่งดี  และนี่ก็นำมาสู่ประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดในวันนี้นั่นก็คือ  การ  “หลอก VI” ซึ่งถ้าคิดโดยสามัญสำนึกแล้วพวกเขาไม่ควรทำ  เหตุเพราะว่า “VI” นั้นดูเหมือนว่าน่าจะเป็นคนที่มีความ  “รอบรู้”  มี “เหตุมีผล” และ  “ไม่ใช่คนที่จะถูกหลอกง่าย ๆ”  แต่นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง

  ผมเองมีความเชื่อว่าการที่คน ๆ หนึ่งจะถูกหลอกได้ง่ายหรือยากนั้น  อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณเป็น “VI” หรือคุณเป็น  “แมงเม่า”  แต่มันอาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และคนที่หลอก  ถ้าสถานการณ์เอื้ออำนวยและคนที่จะถูกหลอกนั้นมี  “ความพร้อมที่จะให้หลอก” อาจจะเนื่องจากมีอารมณ์โลภหรืออะไรก็ตาม  และคนที่หลอกนั้นมีความรอบรู้ มีข้อมูล และ/หรือความเป็นเหตุเป็นผลเหนือกว่าคนที่จะถูกหลอก  การหลอกก็จะประสบความสำเร็จได้เท่า ๆ  กัน   ว่าที่จริง  คนที่เป็น VI อาจจะถูกหลอกได้อย่างมั่นคงกว่าคนที่เป็นแมงเม่าด้วยซ้ำเนื่องจากพวกเขาอาจจะเชื่อด้วย  “เหตุผล”  โดยที่ไม่รู้ว่ามันเป็นเหตุผลที่ผิด

  เรื่องราวการหลอกหรือเรื่องไม่จริงที่ผมเคยได้ประสบมาและ VI จำนวนไม่น้อยมักจะเชื่อนั้น  ผมจะลองจัดกลุ่มโดยเริ่มจากเรื่องแรกก็คือ  “บริษัทหรือกิจการเป็นผู้นำหรือมีเทคโนโลยีที่คนอื่นทำไม่ได้  ดังนั้นบริษัทก็จะได้งานหรือได้ธุรกิจที่กำลังจะโตมหาศาล”  ผมเองเคยเป็นวิศวกรโรงงานมานานหลายปี  “ธรรมเนียม” อย่างหนึ่งที่ผมเคยประสบและคิดว่าถึงวันนี้ก็คงไม่น่าจะเปลี่ยนไปมากก็คือ  วิศวกรทั่ว ๆ ไปนั้น  ไม่ค่อยหวงเทคโนโลยี  เรายินดีต้อนรับถ้าใครอยากมาดูเทคนิคของเรา  ดังนั้น  ผมไม่ใคร่จะเชื่อเวลามีใครอ้างว่าคนอื่นหรือบริษัทอื่นทำไม่ได้  เหนือสิ่งอื่นใด  ถ้าจำเป็น  บริษัทอื่นอาจจะมา “ซื้อตัว” คนของบริษัทที่อ้างว่าเป็นรายเดียวที่ทำได้ก็ได้

  เรื่องที่ว่าบริษัทหนึ่งจะ  “เก่ง”  กว่าบริษัทอื่นนั้น  สิ่งที่ผมจะให้น้ำหนักจริง ๆ  ควรจะเป็นเรื่องของ  “โครงสร้าง” ของบริษัท  เช่น  บริษัทมีปัจจัยได้เปรียบในเรื่องของขนาดที่ทำให้คู่แข่งไม่สามารถทำเลียนแบบได้มากว่าเรื่องของเทคโนโลยีหรือระบบที่มักจะสามารถจัดหามาได้มากกว่า

  เรื่อง “หลอก VI” กลุ่มที่สองนั้น  ผมยกให้เป็นเรื่องของ  “อนาคตของบริษัท” นี่คือการที่หลอกว่าอนาคตยอดขายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำไรของบริษัทจะ “โตก้าวกระโดด” โดยดูตัวเลขจากอดีตที่บริษัทโตขึ้นมาหลายปีในอัตราที่สูงลิ่วแต่จากฐานที่ต่ำมาก  ประเด็นที่ไม่น่าจะจริงก็คืออัตรากำไรต่อยอดขายหรือมาร์จินที่สูงลิ่วในอดีตทั้ง ๆ ที่สินค้านั้นเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือเป็นสินค้าที่โดยธรรมชาติไม่สามารถทำมาร์จินได้สูงนั้น  อาจจะมาจากปัจจัยอย่างอื่น เช่น ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราวหรือรายได้พิเศษอื่น ๆ  ที่ผู้บริหารไม่ได้บอก  “VI” ที่  “ถูกหลอก” ก็จะรู้สึกดีกับกิจการมากว่าเป็นบริษัทที่  “โตเร็ว”  และดังนั้นจึงทุ่มซื้อหุ้นและบอกเพื่อน “VI” ด้วยกันว่ามันเป็นหุ้นที่โตเร็วและหุ้นจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

  การหลอก VI อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเองก็ไม่ได้แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คือเรื่องของการซื้อหุ้นของเจ้าของและ/หรือผู้บริหาร  และนักลงทุน “รายใหญ่”  ประเด็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษที่ผมสังเกตพบอยู่เรื่อย ๆ ก็คือ การซื้อขายหุ้นและการ “โอนหุ้น” ของเจ้าของที่บางทีดูไม่ใคร่สมเหตุผล  ตัวอย่างเช่น  หุ้นบางตัวนั้น  เจ้าของมักเข้ามาซื้อหุ้นอยู่เรื่อย ๆ  ในจำนวนไม่มากนักหรือน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนที่เขาถืออยู่แล้ว  ส่วนตัวผมเองนั้นอดคิดไม่ได้ว่ามันเป็นการ  “หลอก” โดยการแสดงให้คนเห็นว่าเขาในฐานะเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นเห็นว่าหุ้นนั้นมีราคาต่ำเกินไปจึงเข้ามาซื้ออยู่เรื่อย ๆ   เหตุผลของผมก็คือ  ถึงแม้ว่าหุ้นจะถูกในสายตาของเขา  เขาก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเพื่อหวังกำไรเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อย  เพราะถ้าในอนาคตหุ้นปรับตัวขึ้น  เขาก็มีหุ้นเดิมมากอยู่แล้ว  จะไปซื้อเพิ่มขึ้นมาอีกเพียงเล็กน้อยทำไม  ปล่อยให้หุ้นหมุนเวียนในตลาดให้มีสภาพคล่องดีขึ้นจะดีกว่า  เรื่องของการซื้อขายหรือโอนหุ้นรวมถึงการเข้ามาซื้อหุ้นแบบ PP ที่ต้องแสดงต่อสาธารณะนั้น  ผมคิดว่าในหลายกรณีมี  “ลูกหลอก” อยู่  ดังนั้น  เราต้องประเมินดูก่อนจะใช้ข้อมูลนั้น

  เรื่องของการถูกหลอกนั้น  ผมคิดว่าทุกคนแม้แต่ตัวผมเองที่เป็นคน  “ขี้สงสัยและเชื่อคนยาก”  ก็มีโอกาสที่จะถูกคนที่มีความรู้บางเรื่องสูงกว่าหลอกในเรื่องนั้น  กระบวนการที่สำคัญนอกจาก  “เรื่องราวที่สมเหตุสมผล”  แต่ไม่จริงแล้ว  ยังขึ้นอยู่กับ “ความถี่ในการรับรู้”  ด้วย  ดังนั้น  คนที่หลอกคนอื่นก็จะต้องพูดซ้ำหรือย้ำอยู่เรื่อย ๆ  ทุกครั้งที่มีโอกาส  นี่คือกระบวนการของการ  “ล้างสมอง”  ที่ได้ผลมาตลอดในประวัติศาสตร์  ความเป็นจริงก็คือ  ถ้าคนถูกป้อนข้อมูลเข้าสมองมากและนานพอ  เขาก็จะเชื่อในสิ่งนั้นแม้ว่าตอนแรกจะฟังดูไม่มีเหตุผลที่ดีพอ  แต่ในกรณีที่เหตุผลก็ดูดีแต่ไม่จริงและเราก็ไม่รู้ว่าไม่จริงแต่เราเชื่อเพราะว่าเราอยากเชื่อ)  เราก็จะเชื่อทันทีและเชื่ออย่างมั่นคงจนกว่าความจริงจะปรากฏและหักล้างความเชื่อนั้นอย่างสิ้นเชิง  และนี่ก็คือจุดอ่อนของนักลงทุนทุกคนไม่เว้นแม้แต่ VI เพราะในปัจจุบันนั้น  “VI” กลับกลายเป็นเป้าหมายของคนที่คิดจะหลอกในตลาดหุ้น