Monday, September 7, 2015

Good Company in Bad Industry / ดร.นิเวศน์



   การเลือกหุ้นลงทุนนั้น  สิ่งแรกที่เราควรจะต้องวิเคราะห์ก็คือเรื่องของ “ภาพใหญ่”  หรือเรื่องของเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครองสังคมและกฎระเบียบต่าง ๆ  ของรัฐที่ใช้ในการควบคุมตัวธุรกิจในภาพรวม  ต่อมาก็คือ “ภาพกลาง” ซึ่งก็คือเรื่องของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจว่าโครงสร้างและการแข่งขันของอุตสาหกรรมนั้นเป็นอย่างไรหรืออาจจะพูดแบบง่าย ๆ  ธุรกิจนั้นแข่งขันกันด้วยปัจจัยอะไรบ้าง   และสุดท้ายถึงจะวิเคราะห์ว่าตัวบริษัทเป็นอย่างไร  โดดเด่นแค่ไหน  ราคาหุ้นที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร  นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่าการวิเคราะห์แบบ “Top Down” ที่เป็นการวิเคราะห์แบบ  “มาตรฐาน”  ตามตำรา  แต่ VI จำนวนมากรวมถึงคนดังระดับโลกหลายคนเช่น ปีเตอร์ ลินช์ บอกว่าเขาไม่สนใจภาพใหญ่โดยเฉพาะทางด้านของเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรม  สิ่งที่เขาสนใจก็คือบริษัทที่เขาจะลงทุนเท่านั้น  บางคนเรียกการวิเคราะห์แนวนี้ว่าเป็น  “Bottom Up” ความหมายคงเป็นว่าเขาจะเน้นดูที่ตัวบริษัทเป็นหลัก  คือวิเคราะห์ดูเฉพาะตัวหุ้นที่เขาสนใจโดยไม่ดูว่าอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในสภาวะดีหรือร้าย  ว่าที่จริง  ปีเตอร์ ลินช์บอกว่า  หุ้นที่ “ดีมาก ๆ” กลุ่มหนึ่งก็คือ  “Good Company in Bad Industry”  เหตุผลก็คือ  ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ “เลวร้าย” หรือกำลังตกต่ำนั้น  การแข่งขันมีน้อย  หลาย ๆ  บริษัทต้องถอนตัวออกไปหรือ  “เจ๊ง”  ทำให้บริษัทที่ดีนั้นกินส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นและทำกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ตัวอย่างในสหรัฐก็คือเรื่องของธุรกิจพรมปูพื้น เป็นต้น

ส่วนตัวผมเองนั้น  ผมชอบดูทั้งแบบ Top Down และ Bottom Up  หรือพูดง่าย ๆ  ดูทั้งสองด้าน  ผมคิดว่าปัจจัยของภาพใหญ่นั้น  มีส่วนสำคัญสำหรับการลงทุนไม่น้อยไปกว่าภาพเล็ก  ความคิดผมก็คือ  VI ระดับเซียนหรือตำนานนั้น  ส่วนมากอยู่และลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่เจริญแล้วมานานแต่ที่สำคัญก็คือ  เป็นประเทศที่  “ภาพใหญ่”  นั้นดีต่อเนื่องมาตลอดหลายสิบหรือเป็นร้อยปีมาแล้ว  จะมีก็แต่ช่วงสั้น ๆ  ที่ภาพใหญ่แย่เช่นช่วงสงครามโลกหรือสงครามใหญ่อย่างเช่นสงครามเวียตนามหรือเกาหลีที่กระทบภาพใหญ่โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในบางช่วง  แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ  ระบบโครงสร้างการปกครอง สังคมและกฎหมายของอเมริกานั้นไม่ใคร่มีปัญหาและดีขึ้นตลอดเช่นเดียวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ดังนั้น  แม้ในบางช่วงที่ภาพใหญ่แย่  แต่ถ้าคุณลงทุนในหุ้นที่ดี  ผลลัพธ์ก็มักจะออกมาดีเสมอจนคุณไม่ต้องสนใจเรื่องภาพใหญ่หรือเศรษฐกิจเลย  แต่ในสังคมหรือตลาดหุ้นอื่นที่ภาพใหญ่ไม่ดี  ผมคิดว่าการลงทุนโดยมองแต่ภาพเล็กนั้นค่อนข้างอันตราย  ในตลาดหุ้นอย่างญี่ปุ่นหรือในยุโรปหลาย ๆ ประเทศ  หรือในลาตินอเมริกา  ที่เศรษฐกิจตกต่ำมานาน  การลงทุนแบบมองแต่ตัวหุ้นนั้นคงทำกำไรได้ยาก

  สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของการลงทุนที่มองเฉพาะภาพกลางกับภาพเล็กนั่นก็คือ  ระหว่างบริษัทกับภาพของอุตสาหกรรมและเป็นการมองในระดับโครงสร้างมากกว่าสถานการณ์หรือภาวะของอุตสาหกรรม   แนวความคิดพื้นฐานของผมก็คือ  อุตสาหกรรมหรือที่ถูกต้องก็คือธุรกิจนั้น  มีคำว่า  “ธุรกิจที่แย่”  หรือ  “ธุรกิจที่ดี”  ธุรกิจที่แย่นั้นในนิยามของผมก็คือธุรกิจที่โดยรวมแล้วทำผลกำไรหรือผลตอบแทนเทียบกับเงินลงทุนต่ำ  ยิ่งต่ำมากก็ยิ่งแย่  โดยที่ธุรกิจที่แย่นั้นมักจะขายสินค้าที่มีการแข่งขันสูงโดยลักษณะของธุรกิจ  และการที่มีการแข่งขันสูงนั้นเนื่องจากคนซื้อมีอำนาจการต่อรองสูงเพราะคนขายนั้นพร้อมที่จะเข้ามาเสนอขายตลอดเวลาถ้าการขายนั้นยังมี “กำไร” ที่คุ้มกับ  “ต้นทุน” การผลิตสินค้าแม้ว่าอาจจะไม่สามารถชดเชยต้นทุนทั้งหมดซึ่งรวมถึงต้นทุนที่  “คงที่”  เช่น ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร์เป็นต้น

  ถ้ามองอย่างหยาบ ๆ  ธุรกิจที่ “แย่มาก” นั้น  น่าจะเริ่มจากธุรกิจที่ขายสินค้าที่แข่งขันกันด้วยราคาเป็นหลักและสินค้านั้นมีตลาดที่เล็กลงเรื่อย ๆ   เช่นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ส่งออกตลาดโลกและเป็นสินค้าที่ประเทศไทยเสียเปรียบทางด้านต้นทุนเนื่องจากเหตุผลทางด้านค่าแรงงานและภาษีอาทิเช่น  สิ่งทอ หรืออาจจะรวมถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีบางอย่าง  ในกรณีแบบนี้  ก็เป็นเรื่องที่ยากมากที่บริษัทจะยังดีอยู่ได้แม้ว่าบริษัทนั้นจะเป็นบริษัทที่ดีเยี่ยมในอุตสาหกรรม  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือผลิตภัณฑ์สิ่งทอของเบิร์กไชร์ที่เป็น “บริษัทสิ่งทอที่ดีเยี่ยม” ของบัฟเฟตต์แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงเนื่องจากมันอยู่ในอุตสาหกรรมที่ “แย่มาก” เกินกว่าที่จะรับไหว  ในตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมคิดว่าเรามีบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่แย่มากไม่น้อย  ซึ่งสำหรับผมแล้ว  ผมก็มักจะ “ขอบาย”  หรือไม่ขอเกี่ยวข้องสนใจลงทุนแม้ว่าบางบริษัทอาจจะ “ดีเยี่ยม”

  ธุรกิจที่ “แย่” แต่อาจจะไม่มากนั้น  ผมนิยามคร่าว ๆ  ว่าเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ผู้ซื้อไม่ได้มองที่ราคาสินค้าเป็นหลักแต่ดูคุณภาพด้วย  แต่ทั้งสองอย่างนั้นก็มักจะมีความแตกต่างกันน้อยในแต่ละยี่ห้อของสินค้า    นอกจากนั้น  ผู้ขายเองก็ไม่ขายในราคาที่ต่ำจนไม่มีกำไรหรือไม่มีมาร์จิน  ว่าที่จริงในบางผลิตภัณฑ์นั้น  ส่วนต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุนแปรผันหรือต้นทุนโดยตรงของการผลิตอาจจะสูงด้วยซ้ำ  แต่สิ่งที่ทำให้มันเป็นธุรกิจแย่ก็เพราะว่ามีคนขายหรือผู้ให้บริการเข้ามาเสนอสินค้าได้อย่างแทบไม่จำกัด  และผู้เล่นรายใหม่นั้นต่างก็สามารถเสนอสินค้าได้ในราคาและคุณภาพที่ไม่ต่างจากคนที่ขายอยู่มากนัก  ผลก็คือ  มีการแข่งขันที่สูงมากตลอดเวลาในอุตสาหกรรมซึ่งทำให้คนที่ “ไม่เก่ง” นั้น  บ่อยครั้งก็อยู่ไม่รอด  แต่ก็จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแทนที่ตลอดเวลา  ดังนั้น  การทำกำไรสูง ๆ ในอุตสาหกรรมโดยรวมก็ทำไม่ได้  อย่างไรก็ตาม  ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่แย่แบบนี้ก็อาจจะมี “บริษัทที่ดี” หรือดีเยี่ยมสามารถทำกำไรได้สูงหรือสูงมาก  บางทีต่อเนื่องยาวนานเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  ได้  เพราะสามารถทำ “โมเดลธุรกิจ” ที่ทำให้ตนเอง “ได้เปรียบอย่างถาวร”  ในการแข่งขันกับคู่แข่ง

  ตัวอย่างของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่แย่นั้น  น่าจะรวมถึงธุรกิจขายอาหารภัตตาคารที่มีผู้เล่นมากมายและแข่งขันกันได้หมด  อย่างไรก็ตาม  บริษัทที่ดีหรือดีเยี่ยมอย่างในอเมริกา เช่น หุ้นแมคโดนัลหรือเคเอฟซีนั้น  ก็เป็นบริษัทที่ดีเยี่ยมที่สามารถทำกำไรได้มโหฬารและถือว่าเป็นซุปเปอร์สต็อกได้  ธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์ที่ถือว่าเป็นธุรกิจที่แย่เพราะมีร้านเฟอร์นิเจอร์มากมายที่เปิดขายและสามารถแข่งขันได้พอ ๆ  กันหมด  แต่บัฟเฟตต์ก็มีหุ้นเนบราสกาเฟอร์นิเจอร์มาร์ทและอีกหลายบริษัท  เช่นเดียวกัน ธุรกิจโรงงานผลิตชิ้นส่วนป้อนให้อุตสาหกรรมก็น่าจะถือว่าเป็นธุรกิจที่แย่  แต่บัฟเฟตต์ก็เพิ่งลงทุนซื้อหุ้นครั้งใหญ่ที่สุดของเขาในบริษัท Precision Castparts     ใช้เงินถึง 37.2 พันล้านล้านเหรียญ เนื่องจากนี่คือบริษัทที่ดีเยี่ยมในอุตสาหกรรมแย่นี้เพราะมันผลิตชิ้นส่วนของเครื่องบินที่บริษัทอื่นยากที่จะเข้ามาแข่งขันได้

  ธุรกิจที่แย่มากแต่ก็อาจจะมีบางบริษัททำได้ดีในต่างประเทศเช่น การบินที่แทบทุกบริษัทไม่มีกำไรหรือขาดทุนแต่หุ้นเซ้าท์เวสต์แอร์ไลน์  สายการบินแบบโลว์คอสท์สายแรก ๆ ของโลกทำกำไรได้ดี  อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น  สายการบินโลว์คอสท์ก็มีเพิ่มขึ้นมากและการทำกำไรในธุรกิจแย่นี้ก็ยังลำบากอยู่มาก  ดังนั้น  ถ้าเราพบว่าหุ้นที่เราลงทุนเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดี  มีการบริหารที่ดี  แต่อยู่ในธุรกิจที่แย่  เราก็ต้องวิเคราะห์ว่าบริษัทมีปัจจัยอะไรที่ทำให้มันสามารถทำผลงานที่ยอดเยี่ยมและปัจจัยนั้นน่าจะอยู่นานแค่ไหน  ถ้าตรวจสอบดูแล้วพบว่ามันเป็นปัจจัยที่คงทนและคู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้มันก็เป็นหุ้นที่เราจะถือยาวและให้คุณค่าหรือให้ค่า PE สูงขึ้นได้บ้าง    แต่ถ้าดูแล้วพบว่ามันเป็นปัจจัยที่บริษัทได้เปรียบชั่วคราวและไม่ช้านานคู่แข่งก็จะเข้ามาเลียนแบบได้  แบบนี้เราก็ต้องระวังและไม่ให้มูลค่าหรือให้ค่า PE ที่สูงเกินไป  เพราะในไม่ช้า  ความได้เปรียบก็จะหายไปและบริษัทก็จะไม่สามารถรักษากำไรที่ดีนั้นไว้ได้เพราะมันอยู่ในอุตสาหกรรมที่แย่  ตัวอย่างของอุตสาหกรรมที่มีลักษณะนี้ในตลาดหุ้นไทยนั้นก็คือ  ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายที่มีผู้เล่นมากมายแต่หา “ผู้ชนะ” ที่ถาวรยาก  เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรมที่ผมคิดว่าไม่ใช่ธุรกิจที่ดีหรืออาจจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่แย่ด้วยซ้ำเนื่องจากการแข่งขันที่มากแต่ก็มีบริษัทที่ดีที่ทำกำไรได้ดี  เพียงแต่ผมคิดว่าปัจจัยการแข่งขันนั้นไม่ได้มีความได้เปรียบอะไรที่ถาวรที่จะทำให้มันสามารถมีค่า PE ที่สูงมาก ๆ  ได้