Monday, September 28, 2015

เรื่องเหล็กเหล็ก(อีกแระ)

และแล้วเรื่องที่คนในแวดวงการเงินการธนาคารจับตากันมานานก็ “ระเบิด” ขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั่นก็คือ  การประกาศหยุดการชำระหนี้ของบริษัทผลิตเหล็ก “ต้นน้ำ” SSI UK ประเทศอังกฤษ  ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรีหรือ SSI เทคโอเวอร์หรือซื้อมาจากบริษัททาทาสตีลของอินเดียเมื่อ 3-4 ปีก่อน  ธนาคารที่ปล่อยกู้เงินจำนวนรวมกันกว่า 50,000 ล้านบาทให้กับกลุ่ม SSI ประกอบด้วยแบงค์ไทยพาณิชย์ กรุงไทย และทิสโก้ ต่างก็ต้องตั้งสำรองหนี้เสียเป็นจำนวนมาก  ราคาหุ้นของทั้งสามธนาคารและ SSI ปรับตัวลง  แม้ว่าจะไม่มากนัก  แต่นี่ก็อาจจะเป็นเพราะว่าตลาดได้รับรู้สถานการณ์นี้มาก่อนเห็นได้จากการที่หุ้นทั้ง 4 ตัวนี้ต่างก็ Underperform หรือหุ้นปรับตัวแย่กว่าคู่แข่งหรือตลาดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว  ผมเองได้ติดตามกรณีการซื้อกิจการและการปล่อยกู้นี้มาตั้งแต่แรกแบบห่าง ๆ  และก็คิดอยู่ในใจว่าในที่สุดมันอาจจะ  “ไปไม่รอด” และก็หลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปลงทุนในหุ้นทุกตัวดังกล่าว    การที่ผมคิดอย่างนั้นก็เพราะว่าผมมีประสบการณ์ที่เลวร้ายกับธุรกิจเหล็กมาตั้งแต่สมัยก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่บริษัทผลิตเหล็กหลาย ๆ  บริษัทต่างก็  “ล้มละลาย” หลังจากกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อไปลงทุนสร้างโรงงานที่ใหญ่โตไม่นาน  ว่าที่จริงโรงงานใหม่ที่สร้างนั้นแทบจะยังไม่ได้เปิดใช้บริษัทก็มีปัญหาแล้ว  กรณีของ SSI ครั้งนี้นั้น  สุดท้ายแล้วก็แทบจะเหมือนกับกรณีเหล็กยุคก่อนซึ่งผมยังพอจำความได้ประมาณดังต่อไปนี้

ประเด็นแรกก็คือ  พฤติกรรมหรือแนวทางในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินนั้น  ผมคิดว่าอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักนั่นก็คือ  มีคนอยากปล่อยกู้โดยเฉพาะให้กับโครงการใหญ่ ๆ  ที่ต้องการเงินกู้วงเงินสูงมาก ๆ  และเป็น  “เมกาโปรเจ็คท์” ที่มีความซับซ้อนและอาจจะต้องการความเป็น “มือโปร” สูงมาก  ดูเหมือนว่าคนที่ทำดีล “Syndicated Loan” หรือเงินกู้ที่มีวงเงินสูงเกินกว่าสถาบันการเงินเดียวจะปล่อยกู้ไหวนั้นจะมีความภูมิใจและอยากทำมันให้“สำเร็จ” คือเป็น  “ผู้ชนะ”  ได้เป็นผู้นำในการปล่อยกู้  ดังนั้น  คนในกลุ่มนี้ในทุกสถาบันการเงินต่างก็พยายามเสนอตัวเป็นคนจัดการและปล่อยกู้ให้กับโครงการ  ประสบการณ์ของผมเองนั้นพบว่าหลายครั้งนั้นโครงการที่ขอกู้ไม่ “Sound” หรือไม่ดีพอที่จะให้เงินกู้เนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ  รวมถึงผลประกอบการ  ฐานะทางการเงิน ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และเรื่องอื่น ๆ  อีกร้อยแปด  ส่วนตัวผมเองนั้น  ถ้าเข้าไปเกี่ยวข้อง บ่อยครั้งก็ไม่เห็นด้วยแต่ก็มักจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้  เหตุผลก็เพราะว่าผมเป็นเสียงส่วนน้อยมาก  พนักงานหรือกรรมการคนอื่นต่างก็มักจะสนับสนุนทำให้บางครั้งผมก็  “ไม่อยากพูดอะไรมาก”  เพราะธรรมเนียมไทยนั้นบอกว่า  “หมูเขาจะหาม  อย่าเอาคานเข้าไปสอด”  และนั่นทำให้โครงการใหญ่ซึ่งรวมถึงโครงการเหล็กหลายโครงการได้รับเงินกู้มากมายแม้ว่าจะมีความเสี่ยงมาก

ประเด็นที่สองนั้นเกี่ยวข้องกับเจ้าของบริษัทที่ทำโครงการ   ถ้าถามว่าเขารู้ไหมว่าโครงการนั้นจริง ๆ แล้วไม่ดีพอที่จะทำ  คำตอบอาจจะเป็นว่าเขาก็รู้  แต่ที่ทำนั้นเป็นเพราะ “ความจำเป็น” ที่จะต้องทำเนื่องจากภาวะปัจจุบันตอนนั้น)  ถ้าไม่ทำก็ “ตาย”  เนื่องจากฐานะการแข่งขันหรือการทำธุรกิจของบริษัทนั้นถ้าไม่ขยายก็จะสู้กับคู่แข่งที่ใหญ่โตหรือ “กำลังจะขยาย”  ไม่ได้   ถ้าจะพูดง่าย ๆ  ก็คือ  ถ้าไม่ทำก็จะตายวันนี้  ถ้าทำอาจจะรอด  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  สถาบันการเงินหลายแห่ง  “ต่างก็มาเสนอเงินกู้ให้” ทั้ง ๆ  ที่บางทีบริษัทเองไม่ต้องการ  ดังนั้น  สำหรับบริษัทเองแล้ว  การทำโครงการใหญ่ ๆ  ขึ้นมานั้น  ความเสี่ยงอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตนเองมากนัก  บริษัทมีแต่  “ดีขึ้น”  หรือ  “โตขึ้น”  ผลตอบแทนส่วนตัวเองสูงขึ้นในกรณีที่โครงการประสบความสำเร็จ  แต่ในกรณีที่ล้มเหลว  ความเสียหายส่วนตัวก็อาจจะไม่มากนัก  บริษัทอาจจะต้องเข้าสู่การ  “ฟื้นฟูกิจการ” แต่หลังจากนั้นก็มีโอกาสที่จะสำเร็จและบริษัทโตขึ้นไปอีก  ความเสียหายจริง ๆ  นั้นน่าจะเป็นเรื่องของคนปล่อยกู้  เจ้าของบริษัทเองนั้นยังไงก็จะยังบริหารบริษัทอยู่และได้ได้ผลตอบแทนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  เผลอ ๆ  ผลตอบแทนอาจจะไม่ได้ลดลงด้วยซ้ำ  เข้าทำนอง  “ถ้าดี  ผมได้  ถ้าแย่คุณเสีย”

ประเด็นที่สามเป็นเรื่องของข้อมูลการวิเคราะห์โครงการและสินเชื่อหรือ  “เหตุผลในการปล่อยกู้”  นี่ก็เป็นประสบการณ์ที่ผมเคยเจอมาตลอด  คนที่วิเคราะห์และนำเสนอนั้น  หลายครั้งดูเหมือนว่าจะตั้งต้นจากข้อสรุปว่าจะปล่อยสินเชื่อก่อน  เสร็จแล้วก็พยายามหาข้อมูลหรือทำข้อเสนอที่จะสนับสนุน  ซึ่งโดยหลักแล้วก็ต้องพยายามทำประมาณการทางการเงินที่ทำให้ธุรกิจมีกำไรและมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้น   การคาดการณ์ที่สำคัญก็คือยอดขายและมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายของพวกเขานั้นมักจะมองโลกในแง่ดีหรือ  “โลกสวย”  ซึ่งทำให้บริษัทมีกำไรดีและจ่ายคืนหนี้ได้อย่างสบาย  แต่ในกรณีที่  “เลวร้าย”  ซึ่งผมก็มักจะเห็นว่าไม่เลวร้ายจริง  บริษัทก็จะยังอยู่ได้และจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนได้แม้ว่าในบางครั้งอาจจะต้องเลื่อนตารางการชำระหนี้คืนออกไปบ้างแต่ดอกเบี้ยนั้นจะ “จ่ายได้เสมอ”   ส่วนเหตุผลที่ใช้ในการ “ตั้งสมมุติฐาน” นั้น  นอกจากการคาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมที่ “สดใส” แล้ว  บ่อยครั้งก็มักจะรวมไปถึงการ  “Synergies”  ระหว่างธุรกิจเดิมของบริษัทกับโครงการใหม่เอาไว้ด้วย  นั่นก็คือ  โครงการใหม่นั้นจะช่วย “เสริมทางธุรกิจ” กับธุรกิจเดิมเช่น  ทำให้ต้นทุนถูกลงและ/หรือทำให้ขายได้ราคาดีขึ้น  สรุปว่า  โครงการใหม่ที่ขอกู้เงินก้อนใหญ่นั้นมีความเป็นไปได้และ  “ความเสี่ยงต่ำ” ในมุมของเจ้าหนี้  เหนือสิ่งอื่นใด  “หลักประกันคุ้ม” และมีทุน “ส่วนของผู้ถือหุ้น” เพิ่มด้วย



  ถ้าถามผมว่าเหตุการณ์หลังจากการปล่อยกู้แล้วเป็นอย่างไร  คำตอบก็คือ  ไม่ใคร่มีอะไรที่เหมือนกับสิ่งที่นำเสนอ  สถานการณ์ของอุตสาหกรรมมักจะเลวร้ายลง  อย่าลืมว่า  อุตสาหกรรม“ตะวันตกดิน” นั้นแปลว่า  เมื่อเวลายิ่งผ่านไป  อุตสาหกรรมก็จะยิ่งตกต่ำลงเรื่อย ๆ  ถ้าโชคดีก็คือ  อาจจะมีปีที่ดีขึ้นบ้างชั่วคราว  สั้น ๆ  ปีสองปี  หลังจากนั้นก็จะตกลงไปใหม่  ในกรณีที่เลวร้าย  อุตสาหกรรมแย่ลงหนักอาจจะเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ  โครงการก็แทบจะมีปัญหาทันทีตั้งแต่เบิกเงินกู้ยังไม่หมด   ประมาณการและการคาดการณ์ทั้งหลาย  “ผิดไปจากที่คาด”  เนื่องจากเหตุผลร้อยแปด  เช่น การผลิตมีปัญหา  การเงินติดขัดเนื่องจากผลประกอบการขาดทุนและเงินทุนส่วนของเจ้าของไม่มาตามที่สัญญาไว้  มีการทุ่มตลาดสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนที่มีกำลังผลิตเหลือล้นและต้นทุนต่ำ ทำให้ราคาขายต่ำกว่าต้นทุน  เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามแผนได้  ดังนั้น  จำเป็นต้อง  “ปรับโครงสร้างหนี้” เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียหรือ NPL ซึ่งจะกระทบกับสถาบันการเงิน  แต่ถ้าทำแล้วก็ยัง “ไม่รอด”  สุดท้ายก็ต้อง  “เข้าแผนฟื้นฟู” ซึ่งจะเป็นหนทางสุดท้าย

ผมได้พูดถึงประสบการณ์ “ในอดีต”  แต่ก็คิดว่าเหตุการณ์ในปัจจุบันก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักแม้ว่าผมจะห่างจากวงการมานาน  เหตุผลก็เพราะว่าสิ่งที่ผมเห็นนั้นมันเป็นเรื่องของ “จิตวิทยา”  ของคนที่คงไม่เปลี่ยนไปง่ายนัก  กระบวนการการปล่อยเงินกู้นั้นก็คงคล้าย ๆ  กับการเล่นหุ้น  คนเคยเจอประสบการณ์เก็งกำไร  ปั่นหุ้น  และขาดทุนหนักมาแล้ว  เวลาผ่านไป 10-20 ปี  คนก็กลับมาทำอย่างเดิมและขาดทุนหนักเหมือนเดิม  การปล่อยกู้โครงการใหญ่ก็คงไม่ต่างกัน  คนที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ซ้ำรอยเดิมได้นั้นจะต้องเป็นคนที่มีจิตใจที่ “กล้าหาญ”  พร้อมที่จะปฏิเสธ“ความเห็นร่วม” ของคนที่มี “แรงจูงใจร่วม”แต่เป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุผล  ลึก ๆ  แล้วผมคิดว่าบางทีคนปล่อยกู้ก็อาจจะคิดและวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลแล้ว  เพียงแต่พวกเขาอาจจะลืมไปว่าการปล่อยสินเชื่อนั้นไม่เหมือนกับการลงทุนซื้อหุ้น  การปล่อยสินเชื่อนั้น  ถ้าคิดถูกคุณก็แค่ได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนซึ่งบางทีก็ต่ำมาก  แต่ถ้าผิดคุณก็ขาดทุนหนัก  เงินกู้แทบเป็นศูนย์  ดังนั้น  ถ้าไม่ดีจริงหรือมีความเสี่ยงสูง  จะปล่อยไปทำไม?  ในขณะที่ถ้าเป็นเรื่องของการลงทุนในหุ้นนั้น  อย่างน้อยถ้าดี  เราก็อาจจะได้กำไรมหาศาลอาจจะหลายร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ถ้าผิด เราก็แค่ขาดทุน 100%ในหุ้นตัวนั้น  ดังนั้น  การคิดจะต้องไม่เหมือนกัน