Sunday, October 4, 2015

หุ้นโตไว ในประเทศโตช้า / โดย คนขายของ

 

   แนวทางการสร้างความมั่งคั่งด้วยการลงทุนในหุ้นแบบระยะยาว คือการถือหุ้นในระยะหลายๆปีเพื่อ สร้างอิสระภาพทางการเงินมักถูกตั้งข้อสังเกตุว่า กลยุทธ์การลงทุนแบบนี้ใช้ได้เฉพาะการลงทุนใน ประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องยาวนานอย่าง สหรัฐอเมริกา ซึ่งคนที่ลงทุนในหุ้น สมัยปี 1960สามารถสร้างความมั่งคั่งได้อย่างมหาศาลถ้าถือหุ้นผ่านมาในระยะเวลามากกว่า 50 ปี แต่ยากที่จะนำมาใช้ลงทุนในประเทศที่ไม่ได้เป็น“อภิมหาอำนาจ” ทั้งนี้เพราะประเทศโดยส่วนมาก มักจะมี “ยุคทองทางเศรษฐกิจ” เกิดขึ้นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นก็จะประสบวิกฤตไม่ สามารถกลับมารุ่งเรื่องได้อีก ทำให้การลงทุนในหุ้นแบบระยะยาวไม่น่าที่จะสามารถสร้างความมั่งคั่ง ได้จริงข้อสรุปดังกล่าวนี้จะเป็นจริงในทุกกรณีหรือไม่ เราจะลองมาดูกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นกัน

                เป็นที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นรุ่งเรืองอย่างมากในช่วงปี 1970-1990 ดัชนีนิเกอิซึ่งอยู่ที่ราวๆ 2,000 จุดในปี 1970 ได้ทะยานขึ้นไป 19 เท่าเป็น 38,000 จุดในปี 1990 แต่หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 25 ปี ดัชนีนิเกอิก็ไม่เคยขึ้นไปถึงจุดนั้นได้อีกเลย GDP ของญี่ปุ่นที่เคยโตสูงถึง 7% ในปี 1988 กลับลดลงมาเหลือแค่ 0-2% ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจาก ตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าว แสดงว่าเราไม่ควรซื้อหุ้นญี่ปุ่นตั้งแต่หลังจากปี 1990 หรือไม่? จากการ ศึกษาราคาหุ้นของบริษัทญึ่ปุ่นบางบริษัทกลับพบว่า ถึงแม้เศรษฐกิจโดยรวมจะไม่เป็นใจ ไหนจะมีเรื่อง สังคมผู้สูงอายุ และภัยธรรมชาติ มาเป็นอุปสรรคในการเติบโต แต่กลับมีบางบริษัทกลับสามารถ สร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างน่าประทับใจ

                ถ้าคุณขายหุ้นของ “TOYOTA” ไปตอนดัชนีนิเคอิสูงสุดที่ 38,000 จุดในปี 1990 เพราะคิดว่า ยุครุ่งเรืองของญี่ปุ่นได้หมดลงแล้ว คุณอาจจะต้องเสียใจเพราะว่าราคาหุ้นของโตโยต้าก็ยังคงโตต่อไปได้แม้ดัชนีโดยรวมไม่เป็นใจและการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำ ในปี 2000 สิบปีให้หลัง ราคาหุ้นขึ้นไป 260% เมื่อเทียบกับปี 1990นอกจากนั้นกำไรสุทธิของโตโยต้าก็ยังโต อย่างต่อเนื่องมาตลอด ในปี 2003 ดัชนีนิเคอิทำจุดต่ำสุดในรอบยี่สิบปีที่ราว 8,000 จุด หรือลงมา กว่า 80% จากปี1990 แต่กำไรสุทธิของโตโยต้าในปี 2003 ก็ยังโตกว่าในปี 1990 ถึง 156%

                บริษัท Fast Retailing เจ้าของร้านเสื้อผ้าแบรนด์ “UNIQLO” นำหุ้นเข้าทำ IPO ในปี 1994 โดยเข้าตลาดหุ้นที่ฮิโรชิมา ก่อนที่จะย้ายมาเทรดในตลาดหุ้นโตเกียวในปี 1999 ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายงานอย่างรวดเร็ว มีทั้งการควบรวมกิจการร่วมทุน พร้อมทั้งขยายสาขาให้ครอบคลุมทั้งใน ประเทศและต่างประเทศ กำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 2005-2014 เติบโตขึ้นมาเท่าตัว ในขณะที่ ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมา 4เท่า คิดเป็นผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นแบบทบต้นมากกว่า 15% ต่อปี

                สเปนเป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งยุคทองของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคงผ่านไปแล้ว ในรอบสิบปีที่ ผ่านมา อัตราการเจริญเติบโตของ GDPของสเปนเฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่า 1% นอกจากนั้นยังมีปัญหาหนี้สิน และอัตราการว่างงานที่สูงถึง 22% แต่ถึงกระนั้นบริษัทของสเปนอย่าง INDITEX เจ้าของร้านเสื้อผ้า แบรนด์ ZARA ยังสามารถสร้างรายได้โตมา2.6 เท่า และกำไรโตขึ้นมา 3 เท่าในระยะเวลาสิบปี และถ้าคุณถือหุ้น INDITEX ในช่วงสิบปีนี้มาและไม่เคยขายออกไปเลย จากเงิน 1 ล้านบาทจะกลายเป็น5 ล้านบาทในวันนี้


                ในประเทศที่ GDP โตช้าและมีปัญหาเชิงมหภาค แต่ยังมีบริษัทจดทะเบียนบางบริษัทสามารถเติบโต ได้อยู่ ปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้บริษัทเหล่านี้เติบโตได้ นอกจากการมีผู้บริหารที่เก่งกาจ ทีมงานที่ดีเยี่ยม และ สินค้าเป็นที่ยอมรับ บริษัทเหล่านี้ยังมีแผนการขยายตลาดออกไปในต่างประเทศแบบเชิงรุก ทำให้ ผลประกอบการของบริษัทไม่ขึ้นอยู่กับผลกระทบทางมหภาคของประเทศใดประเทศหนึ่ง โลกในปัจจุบันมีหลายมาตรการซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการเคลื่อนย้ายของทุน เช่นการทลายลงของกำแพง ภาษี และ การให้สิทธิประโยชน์แก่ทุนต่างชาติของรัฐบาลต่างๆ จากกรณีศึกษาข้างต้นทำให้ผมเชื่อว่า ยังมีบริษัทจดทะเบียนของไทยที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นในระดับสูงได้ แม้ว่าภาพรวมทาง มหภาคของประเทศอาจจะยังดูไม่ดีนัก ในช่วงต่อจากนี้บริษัทที่มีความสามารถในการขยายธุรกิจใน ต่างประเทศดูน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อ AECก่อให้เกิดการรวมตัวกันเป็นเขตเศรษฐกิจเดียวในเร็ววันนี้