Monday, October 19, 2015

ยีนส์กับการลงทุน / ดร.นิเวศน์

 

   ผมรู้จัก “ยีนส์” ครั้งแรกสมัยที่ผมเรียนวิชาชีววิทยาในระดับมัธยมศึกษา  ในตอนนั้นผมไม่ได้สนใจอะไรนักเพราะคิดว่ามันเป็นแค่ความรู้ที่เอาไว้สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์หรือสาขาที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นสาขาที่ผมไม่สนใจที่จะเรียนต่อ  ผมกลับมาสนใจเรื่องของยีนส์เมื่อประมาณ 10 ปีมานี้เองเนื่องจากยีนส์ถูกนำมาอธิบายเรื่องของจิตวิทยามากขึ้นเรื่อย ๆ  จนกลายเป็นสาขาหนึ่งเรียกว่า  “จิตวิทยาวิวัฒนาการ”

ความรู้เรื่องของยีนส์ที่เป็นตัวกำหนดอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์นั้นก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วแบบ  “ก้าวกระโดด”  จนถึงวันนี้ผมคิดว่าแทบทุกพฤติกรรมของคนเรานั้นสามารถอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ของยีนส์  

  ยีนส์น่าจะมีผลต่อความคิดและพฤติกรรมของคนแต่ละคน  “เกินครึ่ง”  ส่วนที่เหลือก็มาจากการอบรมสั่งสอนและสังคมที่เราอยู่  ดังนั้น  ถ้าจะเข้าใจเรื่องของคนผมคิดว่าเราต้องเข้าใจเรื่องของยีนส์ของมนุษย์ที่ถูกออกแบบมา—เพื่อที่จะเอาตัวรอด  เติบโต  และเผยแพร่เผ่าพันธุ์ของมัน  โดยที่ยีนส์ในมนุษย์นั้น  ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของโลกในช่วงกว่าหนึ่งหมื่นปีที่ผ่านมา  และดังนั้น  เราจึงต้องเข้าใจว่าทำไมบางครั้งเราจึงทำอะไร  “แปลก ๆ”  ในปัจจุบันที่โลกเปลี่ยนแปลงไปมากมายแล้ว

ธุรกิจหรือบริษัทที่ผลิตสิ่งของหรือบริการนั้น  ถ้ามองลึก ๆ  จริง ๆ  แล้วก็คือกลุ่มคนที่เข้ามารวมกันเพื่อทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น  ดังนั้น  ความคิดและพฤติกรรมทั้งหลายของบริษัทก็คือความคิดและพฤติกรรมของคน  บริษัทต้องเอาตัวรอด  เติบโต  และขยายตัวแตกหน่อไปเรื่อย ๆ เหมือนคน   บางคนอาจจะบอกว่าบริษัทนั้น  “ไม่มีวันตาย”  ถ้าไม่เจ๊ง   ผมเองคิดว่านี่ก็เหมือนกับยีนส์ที่  “ไม่มีวันตาย”  แม้ว่าคนจะตายแต่ยีนส์ในตัวคนนั้นอาจจะ “ส่งผ่าน”  ต่อไปยังลูกหลานแล้ว  ยกเว้นคน ๆ  นั้นไม่มีลูก  โดยนัยดังกล่าว  บริษัทก็จะต้องทำทุกอย่างคล้าย ๆ  คนนั่นก็คือ  ต้อง “แข่งขัน” แย่งชิงทรัพยากรกับคนอื่นแต่ในเวลาเดียวกันก็ต้อง “ร่วมมือ” กับคนอื่นเพื่อที่จะเอาตัวรอดและขยายตัวต่อไป  โดยที่วิธีการ  ความคิดและอารมณ์ของบริษัทนั้นก็คงคล้าย ๆ  กับคน  ตัวอย่างเช่น  บริษัทแต่ละแห่งมีความสามารถไม่เท่ากัน  เวลาตัดสินใจส่วนใหญ่ก็ใช้เหตุผลแต่อารมณ์ก็มีส่วนอย่างมาก เป็นต้น

สิ่งของและบริการที่เป็นสินค้าที่มีการผลิตขึ้นในโลกนี้สุดท้ายแล้วก็เพื่อตอบสนองต่อคนที่ต้องการเอาตัวรอด  เติบโต  และเผยแพร่เผ่าพันธุ์  สินค้าและบริการที่จะเป็นที่ต้องการมากนั้นจะต้องช่วย  “เพิ่มโอกาส” ให้คนเอาตัวรอด  เติบโตและเผยแพร่เผ่าพันธุ์ได้มากขึ้น  สินค้าหรือบริการอะไรที่ “ใกล้” กับเรื่องของการเอาตัวรอด  เติบโต และเผยแพร่เผ่าพันธุ์ จะเป็นที่ต้องการมากกว่าสินค้าที่  “ห่าง” จากความต้องการดังกล่าว  สินค้าหรือบริการที่ไม่สามารถช่วย “เพิ่มโอกาส”  ดังกล่าว  อาจจะเพราะคนส่วนใหญ่ต่างก็ได้ใช้สินค้านั้นอยู่แล้วความต้องการก็จะไม่เพิ่ม  แต่ถ้ามีสินค้าใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าเดิมในการเพิ่มโอกาสอยู่รอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์  คนก็จะต้องการสินค้านั้นเพิ่มหรือแทนที่สินค้าเดิม  ด้วยแนวความคิดแบบนี้   เราก็จะสามารถวิเคราะห์เรื่องของเทรนด์หรือเมกาเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในสินค้าต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

ภาวการณ์ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น  เกิดขึ้นเพราะคนที่ตัดสินใจซื้อขายหุ้น  คนที่ซื้อขายหุ้นนั้น  พวกเขาทำเพื่อการ  “เอาตัวรอดและเติบโต”  ดังนั้น  บางครั้งพวกเขาก็กลัวและต้อง  “หนีตาย” ขายหุ้นทิ้งโดยไม่คิดถึงเรื่องอื่น  เหมือนกับการที่คนในสมัยดึกดำบรรพ์หนีเสืออย่าง  “ไม่คิดชีวิต”  ไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องอื่น  เวลาที่เขาคิดว่าหุ้นกำลังขึ้นเป็น “กระทิง”  ยีนส์อาจจะบอกว่าต้องรีบ  “กอบโกย”  ช้าไม่ได้  “อาหารจะหมด”  ถ้า “แย่งไม่ทัน”  นี่ก็ก่อให้เกิดภาวะความผันผวนของราคาหุ้นตลอดเวลา  การที่เราเข้าใจเรื่องของยีนส์ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมจะช่วยให้เราลงทุนในตลาดหุ้นได้ดีขึ้น

การวิเคราะห์หุ้นของเรานั้น  สิ่งที่ต้องทำเพิ่มจากการวิเคราะห์ปกติตามมาตรฐานทั่วไปแล้ว  สิ่งหนึ่งที่เราควรทำเพิ่มเติมก็คือการวิเคราะห์  “เหตุจูงใจ” ของแต่ละคนที่เป็นคนให้ข่าวสารและข้อมูล  เพราะเราควรจะต้องยึดมั่นหลักการสำคัญที่ว่าคนจะทำอะไรก็ตามก็เพราะยีนส์จะเป็นตัวกำหนดที่แท้จริงไม่ใช่สมองที่เป็น “ผู้ปฎิบัติ”  และสิ่งที่คนจะทำก็คือ  การเอาตัวรอด  เติบโต  แพร่พันธุ์  อะไรที่ไม่สอดคล้องคนเราก็จะไม่ทำ  พูดอีกทางหนึ่งก็คือ  คนเรานั้นจะทำอะไร  “เพื่อตัวเอง”  แม้ว่าบางครั้งจะทำ  “เพื่อคนอื่น”  แต่สุดท้ายแล้วเขาก็จะได้รับการ   “ตอบแทน” ในแง่ของการเป็นที่รักนับถือชมชอบซึ่งจะช่วยให้เขาสามารถ  เอาตัวรอดได้ดีขึ้นและ/หรือ เผยแพร่เผ่าพันธุ์ได้ดีขึ้น  การที่ต้องวิเคราะห์เรื่องแรงจูงใจนั้นเป็นเพราะว่าคนให้ข้อมูลหรือข่าวสารนั้นอาจจะมีผลประโยชน์ที่แตกต่างจากเราและอาจจะ “หลอก” เราให้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขาแต่เป็นโทษกับเราได้

ทั้งหมดที่ผมพูดมานี้  ไม่ได้หมายความว่ายีนส์จะมีความคิดหรือชีวิตจิตใจที่สั่งการและเรารับรู้ได้  กระบวนการทำงานนั้นก็คือ  ยีนส์จะเป็นตัวสร้างฮอร์โมนและสารอะไรต่าง ๆ  ที่ประกอบเป็นตัวเราและสมองและประสาทต่าง ๆ  ของเราที่ทำให้เรามีความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ  ที่ทำให้เรารัก  ชอบ  เกลียด  กลัว  เสียใจ  ดีใจกับบางสิ่งบางอย่างเพื่อที่ว่าเราจะได้พยามไขว่คว้า  หลีกหนี หรือมีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่าง ๆ  ในทางที่จะทำให้เรามีโอกาสอยู่รอดได้ดีขึ้น  เติบโตและเผยแพร่พันธุ์ได้มากขึ้นโดยที่เรา  “ไม่รู้ตัว”   เรื่องนี้คงไม่เป็นประเด็นถ้าเรายังอยู่ในยุคหมื่นปีที่แล้วที่ยีนส์ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เป็นไร่นาป่าเขาและไม่มีซุปเปอร์มาร์เก็ตและตลาดหุ้น  เพราะเราคงทำไม่ผิดจากสิ่งที่ควรทำ  แต่ในศตวรรษที่ 21 ที่สังคมเรามีความซับซ้อนมากนั้น  การ “ทำตามใจ” นั้น  อาจจะเกิดความเสียหายได้  เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป  ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือการซื้อขายหุ้นบ่อยแทบทุกวันเพราะ  “อยากได้กำไรหรือหนีการขาดทุน”  นั้น  เป็นหนทางที่  “ลดโอกาสเอาตัวรอด”  แต่เราทำเพราะเราแยกไม่ออกว่าตลาดหุ้นตกหรือขึ้นนั้น  แตกต่างจากการเห็นเสือหรือหมู

ยีนส์ของคนทั้งโลกนั้นมีความเหมือนกันเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์  อาจจะแตกต่างกันไปบ้างก็เพราะคนบางกลุ่มอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกับคนกลุ่มอื่น  

เช่น  คนที่อาศัยอยู่ในแถบที่หนาวเย็นก็อาจจะมีสีผิวที่แตกต่างกับคนที่อยู่ในแถบร้อนรวมทั้งอาจจะมีความสามารถและพฤติกรรมที่แตกต่างกับคนในแถบร้อน  “เล็กน้อย”  จนแทบไม่มีความหมาย  ดังนั้น  เวลาที่จะดูว่าสินค้าหรือบริการอะไรจะเป็น  “เมกาเทรนด์” ในประเทศไทยต่อไปนั้น  วิธีง่าย ๆ  อย่างหนึ่งก็คือการดู “เมกาเทรนด์”  ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศที่ร่ำรวยกว่า  เหตุผลก็เพราะว่าคนในประเทศหรือสังคมที่รวยกว่าจะมี  “กำลังซื้อ”  หรือมีรายได้มากพอที่จะใช้สินค้าหรือบริการที่เป็นที่ต้องการของคนก่อน  ส่วนคนไทยนั้น  เนื่องจากเรายังมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ถึงวันหนึ่งเราก็จะเริ่มมีกำลังซื้อพอที่จะใช้สินค้าหรือบริการนั้น  ซึ่งเราก็จะใช้แน่นอน  เพราะนั่นคือสินค้าที่  “ยีนส์”  ของมนุษย์ต้องการ  กล่าวโดยสรุปก็คือ  คนนั้นเหมือนกันทั้งโลก  สิ่งที่แตกต่างก็คือรายได้  คนบางคนมีปัญญาที่จะซื้อใช้  แต่คนบางคนไม่มีเงินพอ  ถ้าเมื่อไรเขามีเงินพอ  เขาก็ใช้  ถ้าสองประเทศต่างก็มีรายได้เท่ากัน  พฤติกรรมและการใช้จ่ายและการบริโภคจะใกล้เคียงกันมาก

การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของยีนส์และวิวัฒนาการของคนนั้น  แต่เดิมเรามักต้องอ่านจากหนังสือภาษาอังกฤษ  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้เราก็มีโอกาสที่ได้อ่านหนังสือแปลและโชคดีที่เราเริ่มมีคนไทยที่เริ่มเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้  โดยหนังสือที่ผมเห็นว่าเขียนได้ดีมากและแนะนำให้อ่านก็คือหนังสือชื่อ “500 ล้านปีของความรัก” ทั้ง 2 เล่ม เขียนโดย นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา  หนังสือทั้งสองเล่มนี้แน่นอนว่าไม่มีอะไรเกี่ยวกับเรื่องของหุ้นและการลงทุนเลย  แต่ผมคิดว่าเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตและการลงทุนซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิตในยุคปัจจุบัน