Sunday, October 4, 2015

ลงทุนในตลาด Sideways / ดร.นิเวศน์

    ตลาดหุ้นไทยนับจากสิ้นปีที่แล้วดูเหมือนว่าจะ “ดูไม่ดี” เลย   ดัชนีตลาดหุ้นปิดตลาดสิ้นปี 2557 ที่ประมาณ 1,498 จุด ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2558 ดัชนีตกลงมาเหลือ 1,346 จุด หรือตกลงมาประมาณ 10% หลายคนอาจจะมองว่านี่คือ “ตลาดหมี” ที่ตลาดหุ้นตกลงมาต่อเนื่องยาวนาน  แต่ผมเองคิดว่าโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะเป็นตลาดหมีมองไปข้างหน้าอีกหลายปีนั้นน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก  เป็นไปได้มากกว่าที่ในอีกซัก 5 ปีข้างหน้านั้น  ตลาดน่าจะเป็น  ตลาด “Sideways” หรือตลาดที่ดัชนีหุ้น  “ไม่ไปไหนยาวนาน” แม้ว่าระหว่างนั้นหุ้นก็อาจจะ “ตกลงมาแรง” และ “ขึ้นไปแรง” เป็นช่วง ๆ


เหตุผลที่ผมเชื่ออย่างนั้นเป็นเพราะว่าตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นมายาวนานหลายปีซึ่งถือว่าเป็นตลาดหุ้น “กระทิง” โดยที่การปรับตัวขึ้นนั้นมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ  ประการแรกก็คือ  กำไรของบริษัทจดทะเบียนโตขึ้น  ในระยะประมาณ 6 ปี จากปี 2008  ถึงสิ้นปีที่แล้ว  กำไรเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยถึงปีละเกือบ 15%  (ส่วนสำคัญมาจากการที่ฐานของกำไรที่ต่ำมากเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของอเมริกาและอีกส่วนหนึ่งมาจากการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% มาที่ 20%)  และประการที่สองก็คือ  ค่า PE ของตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากประมาณ 7 เท่าเป็น 17.8 เท่า นั่นทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 450 จุด เป็น 1,498 จุด หรือตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นถึงปีละ 22% โดยเฉลี่ยแบบทบต้นในเวลา 6 ปี  และนั่นทำให้ผมคิดว่าตลาดหุ้นไทยขึ้นมาถึงจุดที่จะไปต่อได้ยากเนื่องจากเหตุผล 2 ประการเช่นกันนั่นก็คือ  ข้อแรก  กำไรของบริษัทจดทะเบียนน่าจะโตขึ้นน้อยลงมากนับจากนั้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยที่เริ่มจะโตช้าลงมาก  โดยที่ในระยะอีก 5 ปีข้างหน้าผมคิดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนอาจจะโตได้ปีละไม่เกิน 10% ตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่น่าจะโตช้าลง  “อย่างถาวร”   และข้อสอง  ค่า PE ของตลาดเองที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตก็น่าจะต้องปรับตัวลงสู่ค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ผมคิดว่าน่าจะไม่เกิน 10 เท่าในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

ผลของการที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนโตเพียง 10% ต่อปี  และค่า PE ปรับตัวลงมาเหลือ 10 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้านั้นจะทำให้ดัชนีตลาดอยู่ที่ประมาณ 1,350 จุด  ซึ่งต่ำกว่า 1,498 จุดประมาณ 10%  ดังนั้น  ผมจึงสรุปว่ามีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจะเข้าสู่  “ตลาด Sideways” ตั้งแต่ปี 2558 นี้แม้ว่าดัชนีในช่วงต้นปีกลับปรับตัวขึ้นไปกว่า 1,600 จุด  แต่หลังจากนั้นหุ้นก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่ดัชนีลดลงเหลือ 1,346 จุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558   เราคงต้องติดตามต่อว่าดัชนีตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรไปเรื่อย ๆ  ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า  ผมเองก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตลาดจะต้องเป็น Sideways อย่างที่คาดเดา  แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง  เราควรมีกลยุทธ์ในการลงทุนอย่างไรที่จะทำให้เราเอาตัวรอดได้?

กลยุทธ์แรกที่อาจจะคิดได้ก็คือ  สำหรับนักลงทุนระยะยาว  เราก็ขายหุ้นทิ้งทั้งหมด  เพราะถ้าผ่านไป 5 ปีแล้วดัชนีหุ้นไม่ขึ้นเลย  การลงทุนระยะยาวก็อาจจะไม่ได้อะไรเลย  จะลงทุนไปทำไม?  คำตอบของผมคือ  ถึงราคาหุ้นไม่ขึ้น  เราก็ยังได้รับปันผลประมาณ 3%  ต่อปี ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการฝากเงินแล้ว  เราก็อาจจะไม่ขาดทุนอะไร  ส่วนการลงทุนอย่างอื่นก็อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่านั้น   ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ถ้าเราเลือกหุ้นลงทุนที่ดี  เราก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดซึ่งอาจจะทำให้เราได้ผลตอบแทนสูงขึ้น  อาจจะถึง 7-8% ต่อปี  นั่นก็จะทำให้การลงทุนในหุ้นยังเป็นการลงทุนที่ดีกว่าการออกจากตลาดอย่างสิ้นเชิง  ส่วนในกรณีของนักเล่นหุ้นระยะสั้นนั้น  พวกเขาอาจจะไม่ได้ถูกกระทบอะไรมาก  เพราะอย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า  ในระยะสั้น ๆ  หุ้นอาจจะขึ้นลงได้แรงเป็นระยะ ๆ  ดังนั้นพวกเขาก็สามารถเทรดหุ้นทำกำไรได้แม้ว่าโดยรวมแล้วอาจจะยากกว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นกระทิงยาวนาน   ความเห็นโดยรวมของผมก็คือ  เราอาจจะยังลงทุนซื้อขายหุ้นอยู่  แต่อาจจะไม่ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์  เราควรถือเงินสดไว้พอสมควรเพื่อที่จะฉกฉวยโอกาสช่วงที่หุ้นอาจจะปรับตัวลงมาแรงซึ่งจะทำให้เราสามารถซื้อหุ้นราคาถูกได้  นอกจากนั้น  เมื่อหุ้นมีราคาปรับตัวขึ้น  เราก็อาจจะขายหุ้นทิ้งบ้างเพื่อทำกำไร  การ  “ซื้อแล้วถือ” อย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผลดีเหมือนอย่างในช่วงที่หุ้นเป็นตลาดกระทิง

กลยุทธ์ต่อมาก็คือ  การออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ดูแล้วมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะโตได้ดีและราคาหุ้นยังถูกกว่า  นี่ก็เป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ   อย่างไรก็ตาม  ประสบการณ์และความรู้จักตลาดและหุ้นในต่างประเทศของเรานั้นมักจะน้อยกว่าการลงทุนในประเทศมาก  ดังนั้น  โอกาสที่เราจะทำผลตอบแทนได้ดีก็น้อยลง  วิธีการแก้อย่างหนึ่งก็คือการซื้อกองทุนรวมอิงดัชนีตลาดของหุ้นต่างประเทศ  แต่นี่ก็ไม่รับประกันว่าเราจะทำผลตอบแทนได้ดี  เพราะตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่งในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็มีราคาแพงไม่น้อยไปกว่าตลาดหุ้นไทย  การเข้าตลาดผิดจังหวะเวลาก็อาจจะทำให้เราเสียหายได้

ถ้าเรายังเลือกที่จะลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่อาจจะกำลังเป็นตลาด Sideways กลยุทธ์ในการเลือกหุ้นของเราก็ควรที่จะต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดนั่นก็คือ  ภาวะที่ค่า PE ของตลาดและหุ้นโดยทั่วไปจะค่อย ๆ  ปรับลดลงต่อเนื่องยาวนาน  ซึ่งนั่นทำให้ราคาหุ้นจะขึ้นได้นั้นจะต้องอาศัยกำไรของบริษัทที่จะต้องเติบโตขึ้นมากกว่าการปรับลดลงของค่า PE  ตัวอย่างเช่น  ถ้าหุ้นตัวหนึ่งมีค่า PE ลดลงปีละ 10%  กำไรของบริษัทนั้นจะต้องโตขึ้นมากกว่า 10% ต่อปี เช่น 15% ต่อปี จึงจะทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นได้ 5% ต่อปี  และถ้าหุ้นตัวนี้ให้ปันผลตอบแทนปีละ 3%  ก็เท่ากับว่าหุ้นตัวนี้ยังให้ผลตอบแทนรวมปีละ 8% ซึ่งก็จะเป็นผลตอบแทนที่ดีในยามที่หุ้นไม่ไปไหน  และนี่ก็คือเงื่อนไขข้อแรกที่ว่าหุ้นที่เราจะเลือกลงทุนนั้นจะต้องเป็นหุ้นที่เติบโตแม้ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

นอกจากหุ้นที่เราเลือกควรจะเป็นหุ้นที่ยังโตแล้ว  อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ  “คุณภาพ” ของบริษัทควรจะดีมากด้วย  และคำว่าคุณภาพนี้ก็คือมันเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง  หรือถ้าจะพูดในภาษาของ VI ก็คือ  มันมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน  บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่ยังเติบโตมีอนาคต  ผลประกอบการของบริษัทมีความมั่นคงไม่ผันผวนรุนแรงแม้ว่าภาวะทางเศรษฐกิจจะ “เลวร้าย”  หรือพูดง่าย ๆ  มันเป็นหุ้น “Defensive”   ส่วนในด้านของตัวเลขทางการเงินก็จะดีกว่าบริษัทที่มีคุณภาพต่ำกว่านั่นก็คือ  ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงกว่า 15% ต่อปี  บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูงและไม่ต้องลงทุนในทรัพย์สินถาวรมากเพื่อที่จะรักษาดูแลเครื่องจักรและอุปกรณ์หรือขยายงาน   เป็นบริษัทที่มีหนี้สถาบันการเงินน้อยหรือเป็นบริษัทที่มีกำไรสามารถจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นได้อย่างสบายรวมทั้งลักษณะของธุรกิจมีความแน่นอนของผลประกอบการสูงมาก  หรือถ้าจะสรุปอย่างง่าย ๆ  ก็คือ  บริษัทที่เราเลือกนั้นควรจะมีลักษณะของ “Super Company”  เหตุผลที่เราต้องเลือกหุ้นที่มีคุณภาพสูงนั้น  เป็นเพราะคุณภาพจะเป็นเครื่องรับประกันว่าบริษัทจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้และเมื่ออุปสรรคผ่านพ้นไป  มันก็จะกลับมาเติบโตใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และนี่จะทำให้ค่า PE ของหุ้นไม่ปรับตัวลงมามากตามภาวะตลาด

ประเด็นสุดท้ายก็คือ  เราควรจะเลือกหุ้นที่มีผลตอบแทนปันผลที่ดีในยามตลาด Sideways  เพราะปันผลนี้จะเป็นตัวที่ทำให้ Downside Risk หรือความเสี่ยงที่เราจะเสียหายน้อยลงในกรณีที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรง  มีการศึกษาในตลาดหุ้นอเมริกาว่าในช่วงที่เป็นตลาด Sideways ยาวนานนั้น  ผลตอบแทนที่นักลงทุนได้จากการลงทุนในหุ้นนั้น  90% มาจากเงินปันผล  ในขณะที่ในช่วงตลาดหุ้นกระทิง  ผลตอบแทนจากปันผลเป็นเพียงประมาณ 20% เท่านั้น  นั่นก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปันผลในช่วงตลาด Sideways  และทั้งหมดก็เป็นแนวทางการลงทุนและเลือกหุ้นหากตลาดหุ้นเป็นตลาด Sideways  แน่นอนว่าไม่มีใครบอกได้ 100% ว่าตลาดหุ้นใน 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรจริง ๆ  กลยุทธ์ที่กล่าวถึงนั้นเป็นแนวทางหนึ่งที่พยายามลดความเสี่ยงในการลงทุน  หากตลาดไม่เป็นไปตามที่คาด  ผมเองก็คิดว่าความเสียหายจากการยึดกลยุทธ์นี้ก็มีไม่มาก  อย่างมากก็แค่เสียโอกาส  เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับนักลงทุนก็คือ  เราจะต้องติดตามสถานการณ์และประเมินตลอดเวลาว่าตลาดและหุ้นที่เราลงทุนนั้นกำลังมุ่งหน้าไปทางไหนและปรับตัวตาม