Tuesday, October 27, 2015

ลงทุน ลงทุน และลงทุน / ดร.สันติ

     หลังจากที่จบบทความชุด “การจัดอันดับเครดิต” ลงไปแล้ว ก็พยายามคิดว่า อนุกรมถัดไปจะเขียนเรื่องอะไรดี คิดวนไปวนมา ก็เลยกลับมาที่การลงทุนในเครื่องมือทางการเงิน (financial instrument) ซึ่งมีอยู่หลากหลายในขณะนี้ คิดว่าจะพยายามนำเรื่องราวที่เป็นพื้นฐานความเข้าใจของการลงทุนในเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่า บางเรื่องนั้น อาจจะเป็นการคุยซ้ำในสิ่งที่รู้และคุ้นเคยอยู่แล้ว ก็จะขอร้องท่านผู้อ่านว่า กรุณายอมรับว่า หลายสิ่งหลายอย่างอาจจะเป็นการนำมะพร้าวห้าวมาขายสวน แต่ก็หวังว่าจะทำให้เจ้าของสวนอย่างท่านผู้อ่าน ได้รับทราบข้อมูลเหล่านั้นในมุมมองที่อาจจะแตกต่างไปบ้างครับ และการรับทราบข้อมูลหรือมุมมองที่แตกต่างไป อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านที่ทราบเรื่องเหล่านั้นดีอยู่แล้ว ยิ่งมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีก ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์ต่อชีวิตการลงทุนของท่านเพิ่มขึ้น


   ปัจจุบันนี้ นักลงทุนแต่ละท่านที่ปรารถนาความสำเร็จในการลงทุนแต่ละทางเลือกนั้น เข้าใจเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทน (risk and return) กันเป็นอย่างดีแล้ว และนักลงทุนหลายท่านก็มีความชำนาญในกลยุทธการลงทุนและการเก็งกำไรอย่างชนิดที่หาตัวจับยาก บางท่านก็ทราบถึงพฤติกรรมการลงทุนของตัวเอง และจัดประเภทตัวเองได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนเน้นคุณภาพ หรือ value investor – VI หรือบางท่านก็เป็นนักเก็งกำไร หรือ speculator ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องมือที่นักลงทุนแต่ละคนใช้เพื่อการลงทุน ใช้เพื่อการเก็งกำไร และใช้เพื่อการบริหารความเสี่ยง ก็มีหลากหลายและมีพัฒนาการมากมาย ท่านเคยคิดย้อนกลับไปถึงพื้นฐานของเครื่องมือเหล่านั้นหรือไม่ว่า แท้ที่จริงแล้ว การใช้เครื่องมือเหล่านั้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลตอบแทนและรับความเสี่ยงในแต่ละระดับนั้น ท่านกำลังเล่นอยู่กับอะไรกันแน่ เราลองมาสำรวจพื้นฐานของเครื่องมือเหล่านี้กันทีละเครื่องมือนะครับ

      ผมขอตั้งขอสังเกตในเบื้องต้นนี้ก่อนถึงการใช้คำศัพท์ทั่ว ๆ ไป เช่น คำว่า “หลักทรัพย์” หรือที่เรียกว่า securities ซึ่งตาม พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดไว้ว่า มี 10 ประเภท ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากจะแบ่งประเภท ก็คงจะแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มตราสารทุน (equity instrument) กลุ่มตราสารหนี้ (debt instrument) กลุ่มใบสำคัญแสดงสิทธิ์ (warrant) และกลุ่มหน่วยลงทุน (unit trust) ซึ่งหมายความว่า เครื่องมือทางการเงินประเภทอนุพันธ์ (derivatives) นั้นไม่ใช่“หลักทรัพย์” ตามความหมายแห่งบทบัญญัติในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และคำว่า “การลงทุน” นั้น อาจจะใช้สำหรับเครื่องมือทางการเงินประเภทที่เป็นหลักทรัพย์เท่านั้น และสำหรับเครื่องมือทางการเงินประเภทอนุพันธ์นั้น วัตถุประสงค์หลักของเครื่องมือก็คือใช้เพื่อการบริหารความเสี่ยง อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทางการเงินประเภทใดก็ตาม นอกเหนือจากวัตถุประสงค์หลักของนักลงทุนผู้แสวงหาผลตอบแทนจะใช้เพื่อการลงทุน หรือจะใช้เพื่อการบริหารความเสี่ยงก็ตาม นักลงทุนก็อาจจะใช้เครื่องมือทางการเงินเหล่านั้นเพื่อการ “เก็งกำไร” หรือ speculation ได้ทั้งสิ้น และการเก็งกำไรนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปรกติ หรือเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์แต่ประการใด เพราะว่า การเก็งกำไรนั้นก็ถือว่าเป็นการทำธุรกรรมปรกติของนักลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทน โดยพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ และในทางตรงกันข้าม การเก็งกำไรที่เหมาะสมนั้น อาจจะถือได้ว่าเป็นการสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดการเงิน เพราะผู้ที่มีความสามารถเก็งกำไรและประสบความสำเร็จ อาจจะมีมุมมองของการลงทุน (view taking) ที่แตกต่างไปจากนักลงทุนกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งก็จะทำให้เกิดการตกลงซื้อขายกันได้ อันเป็นการสร้างสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในตลาดนั่นเอง

ถ้าเป็นเช่นนั้น อะไรที่เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ในการซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงินในตลาดการเงิน คำตอบก็คือ “การสร้างราคา” หรือที่เรารู้จักกันในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั้งหลายว่า “ปั่นหุ้น” นั่นเอง เพราะพฤติกรรมดังกล่าว เป็นการเอาเปรียบ สร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดกับนักลงทุนคนอื่น ๆ และหน้าที่การกำกับดูแลไม่ให้เกิดการสร้างราคานั้น จึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ดำเนินการซื้อขาย เช่น ตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานกำกับดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. นั่นเอง

หุ้นสามัญ (common stock)

การลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญนั้น อาจจะนับได้ว่าเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด และมีนักลงทุน (รายย่อย) ที่สนใจในการลงทุนประเภทนี้มากที่สุด ซึ่งหากพิจารณากันถึงแนวคิดที่นักลงทุนในหุ้นทราบกันนั้น มักจะเชื่อกันว่า นักลงทุนในหุ้นหวังผลตอบแทน 2 ประเภท คือ ผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น ที่เรียกว่ากำไรจากการซื้อขาย (capital gain) กับผลตอบแทนจากเงินปันผล (dividend)

นักลงทุนในหุ้นสามัญ

ในอดีตนั้น จะมีกลุ่มนักลงทุนที่เรียกตัวเองว่านักลงทุนคุณค่า หรือ Value Investor – VI จะเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ราคาหุ้นมีเสถียรภาพไม่หวือหวามากเกินไป และแน่นอนครับ เมื่อเป็นนักลงทุนที่มองถึงผลตอบแทนจากเงินปันผลเป็นองค์ประกอบสำคัญ จึงมักจะเป็นนักลงทุนที่ทำตัวเป็นเจ้าของบริษัทที่ได้ลงทุนไปจริง ๆ โดยอาจจะกล่าวได้ว่า ปรัชญาของนักลงทุน VI นี้ เป็นคนที่อยากลงทุนหรืออยากทำกิจการที่ตนเองไปซื้อหุ้นสามัญนั้น และเฝ้ามองดูการเติบโตของบริษัท และรอคอยการแบ่งปันผลแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาให้กับเจ้าของ (นักลงทุน) ในรูปเงินปันผล และก็จะอยู่กับบริษัทนี้ไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่บริษัทนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในพื้นฐานสำคัญในทิศทางที่ลดต่ำลง หรือเรียกว่าเป็นการลงทุนที่เจ้าของบริษัท (นักลงทุน) ได้เติบโตไปกับการดำเนินงานของบริษัทอย่างแท้จริง

       เมื่อกล่าวถึงนักลงทุนประเภท VI ในย่อหน้าก่อนหน้านั้น สังเกตว่าผมได้พูดว่า “ในอดีตนั้น” เพราะว่า นักลงทุนประเภท VI ทุกวันนี้ อาจจะมีนิยามหรือมีพฤติกรรมในการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปจากที่ผลได้กล่าวถึงในย่อหน้าก่อนนี้ไปพอสมควร นักลงทุน VI เดี๋ยวนี้นั้น อาจจะไม่ได้คิดว่าจะเติบโตไปกับบริษัทที่ตัวเองสนใจลงทุน หรืออาจจะไม่ได้คิดว่า ที่จริงแล้วอยากเป็นเจ้าของกิจการที่ตนเองสนใจซื้อหุ้นเพื่อลงทุนนั้น แต่นักลงทุน VI ปัจจุบันนี้เป็นบุคคลที่ทำการบ้านอย่างมากไม่แตกต่างกับนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับฟังข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในงานทุกงานที่ทำได้ หาข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนมาทำการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้เพื่อแสวงหาหุ้นที่มีราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น (intrinsic value) หรือทำหน้าที่แบบนักวิเคราะห์ที่จะให้ความเห็นว่าหุ้นของบริษัทที่ตนเองทำการวิเคราะห์นั้น นักลงทุนควรจะซื้อหรือขายหรือถือไว้ โดยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยมหภาค หรือปัจจัยที่เป็นเรื่องของบริษัทนั้นเอง เพื่อหามูลค่าที่เหมาะสม หากพบว่าราคาตลาดขณะนั้นต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม ก็เชื่อได้ว่า ในเวลาต่อมาราคาตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นเพื่อเข้าหาราคาที่เหมาะสม ดังนั้น หากซื้อไว้ในขณะนี้ ก็จะสามารถเพิ่มความน่าจะเป็นในการทำกำไรได้ในอนาคต

     การที่นักลงทุน VI ในปัจจุบันนี้ ทำการบ้านอย่างที่กล่าวนั้น แล้วค้นพบว่าหุ้นใดที่น่าจะซื้อเพื่อการลงทุนตามเกณฑ์ที่กล่าวนั้น ก็จะลงทุนในหุ้นนั้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ แล้วเฝ้ารอให้ราคาเปลี่ยนแปลงในทิศทางขาขึ้น และเมื่อถึงราคาเป้าหมายแล้ว ก็อาจจะขายเพื่อทำกำไร โดยไม่ได้สนใจว่ากิจการนั้นเป็นกิจการที่ตนเองสนใจอยากลงทุนในระยะยาวหรือไม่ สนใจเพียงปัจจัยราคาตลาดที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือเรียกได้ว่า จะเฟ้นหาของดีราคาถูกอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อค้นพบแล้วก็จะลงทุนอย่างไม่ลังเล และผลที่ตามมาก็มีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จด้วยกลยุทธดังกล่าวไม่น้อย แล้วก็เรียกตัวเองว่าเป็นนักลงทุน VI
ผมชวนคุยไปถึงเรื่องนักลงทุน VI ที่มีพฤติกรรมที่สามารถเข้าใจได้ แตกต่างกันไปเป็น 2 แบบนั้น ไม่ได้มีความประสงค์จะชี้ว่าแบบใดผิดหรือแบบใดถูก เพียงเพื่อจะบอกว่า นักลงทุน VI นี้ เป็นนักลงทุนที่มีความมุ่งมั่นในการ “ทำการบ้าน” เพื่อหาของที่ตนเองอยากลงทุน เพียงแต่ความอยากลงทุนของ VI ทั้งสองกลุ่มนั้น อาจจะมีแรงผลักดันกันคนละอย่าง กลุ่มแรกนั้น แรงผลักดันที่สำคัญก็คือ ความชอบในกิจการที่ตนเองลงทุน และมีความสุขกับการอยู่กับกิจการนั้นไปในระยะยาว พร้อมกับผลตอบแทนที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ VI กลุ่มที่สองนั้น อาจจะไม่ได้มีความรักชอบกิจการที่ตนเองลงทุนเป็นการพิเศษ เพียงแค่เห็นโอกาสของการเติบโตและโอกาสการทำกำไรจากการลงทุน โดยอาศัยความทุ่มเทในการหาข้อมูลและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ซึ่งแสดงว่าความสำเร็จจากการลงทุนนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยวัตถุประสงค์ใดหรือแรงจูงใจใดก็ตาม พื้นฐานสำคัญคือการแสวงหาความรู้ ทำความรู้จักในสิ่งที่ตนเองสนใจลงทุน ถึงจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ได้รับความสำเร็จจากการลงทุน

ลงทุนในหุ้นสามัญ ลงทุนอะไร

     หากเราจะลองพิจารณาถึงผลตอบแทนที่นักลงทุนในหุ้นสามัญหวังว่าจะได้รับ คือ กำไรจากการซื้อขาย (capital gain) และเงินปันผล (dividend) นั้น อาจจะคิดได้ว่า บริษัทที่มีราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปจนทำให้นักลงทุนได้รับส่วนต่างของราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่ากำไรจากการซื้อขายนั้น น่าจะเกิดขึ้นเพราะว่ามีคนที่อยากได้หุ้นสามัญนั้นเพิ่มขึ้น จึงแข่งกันเสนอซื้อหุ้นสามัญนั้น การแข่งกันเสนอซื้อหุ้นสามัญนั้นทำให้ต้องเสนอราคาซื้อที่สูงขึ้นจึงจะทำให้ได้หุ้นสามัญนั้นมาครอบครอง และเหตุที่อยากได้หุ้นนั้นมาครอบครองเพราะหวังว่าในอนาคต บริษัทนั้นจะเติบโตขึ้นไปมีกำไรมากขึ้น ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า ความมั่งคั่งของเจ้าของหุ้นสามัญก็จะเพิ่มขึ้นตามไป สรุปความง่าย ๆ ว่า นักลงทุนในหุ้นสามัญที่หวังกำไรจากการซื้อขายนั้น ซื้อ “ความเติบโต” ของบริษัท ถ้าบริษัทมี “เรื่องราวของความเติบโต” หรือ growth story ก็จะทำให้เกิดความต้องการในหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างที่กล่าว ส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น

      การที่บริษัทมี “เรื่องราวของความเติบโต” จึงกลายเป็นกลไกสำคัญของการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น และอาจจะเป็นสิ่งที่ “ผู้ไม่หวังดี” สร้างเรื่องราวของความเติบโตขึ้น เพื่อชักจูงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นการ “ปั่นหุ้น” การกำกับดูแลเพื่อให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง และทันเวลาอย่างทั่วถึง จึงเป็นมาตรการจำเป็นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานกำกับดูแลจำเป็นต้องให้ความสำคัญ และถือปฏิบัติอย่างเที่ยงธรรมเหมาะสม

       และสำหรับนักลงทุนทั่วไปก็คงพอเข้าใจแล้วนะครับว่า ทำไมหลายบริษัทจึงมีการให้ข้อมูลข่าวสารที่แสดงถึงและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ได้มีการจัดให้พบกันระหว่างบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุน ในรูปแบบของงาน opportunities day อยู่เสมอ ๆ เพื่อให้นักลงทุนได้มีโอกาสพบปะซักถามผู้บริหารบริษัท จะได้ประเมินถึงโอกาสของความเติบโตของบริษัทจดทะเบียนนั้น ๆ ได้ และหากพิจารณาเรื่องนี้ในทางทฤษฎีการเงิน เรื่อง agency problem หรือปัญหาตัวการและตัวแทนแล้ว จะเห็นได้ว่า การจัดให้มีการพบปะกันระหว่างผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทนั้น เป็นการลดปัญหาตัวการและตัวแทน กล่าวคือ นักลงทุนที่ซื้อหุ้นสามัญหรือเป็นเจ้าของบริษัทนั้น ได้มีโอกาสสอบทานและซักถามถึงการดำเนินงาน รวมทั้งรับทราบโอกาสและปัญหาของบริษัทที่ตัวเองเป็นเจ้าของอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หรือประชุมวิสามัญ เนื่องจากการจัดประชุมผู้ถือหุ้นนั้น เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายซึ่งต้องมีระเบียบปฏิบัติเป็นขั้นตอน แต่การจัดให้มีการพบกันระหว่างนักลงทุนและผู้บริหารของบริษัทนั้น เป็นการทำเพื่อเผยแพร่รับทราบข้อมูลข่าวสาร นักลงทุนก็สามารถประเมินอนาคตของบริษัทได้ด้วยตัวเอง และนำข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นไปทำการบ้าน ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนประเภทใดก็จะเล่นกับเรื่องอนาคตของการเติบโตของบริษัทเสมอ

      นอกเหนือจากผลตอบแทนกำไรจากการซื้อขายหรือ capital gain แล้ว นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งก็หวังกระแสเงินสดที่แบ่งปันจากส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งเรียกว่าเงินปันผลหรือ dividend เราอาจจะสังเกตธรรมชาติของบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลที่เป็นเงินสด (cash dividend) เป็นจำนวนมาก และจ่ายสม่ำเสมอว่าเป็นบริษัทที่มีความเจริญเติบโตมาถึงระดับหนึ่งแล้ว และยังไม่ได้จำเป็นจะต้องขยายการลงทุนใหญ่ ๆ เพื่อการเติบโตในอนาคต ซึ่งบริษัทลักษณะนี้ หากจะนึกถึงบทเรียนที่เราเรียนกันในระดับมหาวิทยาลัย ก็จะทราบได้ว่า บริษัทอย่างนี้อยู่ในช่วงที่เรียกว่า cash cow ตามการแบ่งกลุ่มบริษัทของ Boston Consultig Group (BCG) โดยที่บริษัทลักษณะนี้ ได้มีการพัฒนามาจนแข็งแกร่ง แต่ยังไม่ได้มีโอกาสในการขยายธุรกิจไปในทิศทางอื่นอีก ก็ไม่ค่อยมีความจำเป็นที่จะต้องนำเม็ดเงินจากกำไรที่ได้ไปลงทุนต่อ จึงนำเม็ดเงินนั้นมาแบ่งปันแจกจ่ายให้กับเจ้าของบริษัท

      อาจจะคิดง่าย ๆ ว่า นักลงทุนในหุ้นสามัญนั้น ล้วนแล้วต้องการลงทุนในบริษัทที่ดี ๆ และมีราคาหุ้นสามัญที่ไม่แพงทั้งนั้น เพียงแต่ความหมายของบริษัทดี ๆ นั้น อาจจะแตกต่างกันไปแล้วแต่บริบทของนักลงทุนแต่ละประเภท นักลงทุนประเภทที่ชอบเงินปันผล อาจจะอยากได้บริษัทที่โตเต็มที่และสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อมาจ่ายเงินปันผลได้สม่ำเสมอ ในขณะที่นักลงทุนที่ชอบกำไรจากการซื้อขาย อาจจะแสวงหาบริษัทที่มี growth story อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็ต้องระมัดระวังว่า growth story นั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะหากไม่ใช่เรื่องจริง การประเมินราคาที่ได้รวมปัจจัยของการเติบโตตามเรื่องราวที่ไม่จริงนั้น ก็จะกลายเป็นราคาที่สูงเกินจริง นักลงทุนก็จะเสียประโยชน์

    หลายครั้งเราอาจจะเห็นว่า บริษัทจดทะเบียนที่นักลงทุนได้ซื้อหุ้นสามัญไปนั้น จ่ายเงินปันผล แต่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสด กลับจ่ายเป็นหุ้นสามัญ ที่เรียกว่า stock dividend ซึ่งแน่นอนครับว่า การจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญนั้น ย่อมมีผลต่อนักลงทุนแตกต่างจากการจ่ายเป็นเงินปันผล อย่างแรกที่เห็นได้ชัดคือ การจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญนั้น ไม่ได้ทำให้บริษัทผู้จ่ายปันผลต้องจ่ายเงินสดออกจากบริษัท ซึ่งนั่นหมายความว่านักลงทุนที่เป็นเจ้าของบริษัทก็จะไม่ได้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น การที่บริษัทจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญแล้วทำให้นักลงทุนมีความมั่งคั่งนั้น อาจจะเกิดได้จากการที่ราคาหุ้นสามัญที่มีการซื้อขายในตลาดนั้นลดลงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งหลายบริษัทจดทะเบียนสามารถใช้จังหวะเวลาที่ถูกต้อง ประกอบกับการให้นักลงทุนในสาธารณะเห็นถึง growth story แล้วประกาศจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ การที่ราคาหุ้นสามัญลดลงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้มูลค่าของหุ้นที่นักลงทุนถือโดยรวมนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อาจจะพิจารณาได้ว่า ถ้าลำดับของเหตุการณ์เป็นไปอย่างที่กล่าวนั้น นักลงทุนอาจจะเปลี่ยนการได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผล เป็นผลตอบแทนจากกำไรที่เกิดขึ้นจากการซื้อขาย

      อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระยะเวลาที่ผ่านมานั้น มีบริษัทจดทะเบียนจำนวนไม่น้อยที่ประสบผลสำเร็จจากการจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญ แล้วทำให้ราคาที่ลดลงของหุ้นสามัญน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งนับเป็นการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น แต่ก็มีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตาม การจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญจึงอาจจะไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ทำให้ทุกบริษัทที่ใช้กลยุทธอย่างนี้ประสบความสำเร็จเหมือนกัน นักลงทุนที่ทำการบ้านมาดี จึงต้องติดตามวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องการจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญอย่างรอบคอบและระมัดระวัง

     อันที่จริงแล้ว เรื่องเงินปันผลนั้น ในทฤษฎีทางการเงิน เป็นเรื่องที่ยากจะสรุปให้ชัดเจน ข้อบ่งชี้จากทฤษฎีทางการเงินในเรื่องนี้ก็คือ นักลงทุนมีหลากหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีความพึงพอใจในเรื่องเงินปันผลที่แตกต่างกัน บางกลุ่มไม่ชอบให้จ่ายเงินปันผล แต่ชอบให้เก็บกระแสเงินสดไว้ในบริษัทเพื่อลงทุนสร้างความเติบโตต่อไป (อย่างที่แสดงไว้ในตอนต้นว่าเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ชอบ capital gain) นักลงทุนบางกลุ่มชอบให้จ่ายเงินปันผลเป็นเงินสด (cash dividend) เพราะถือว่าเป็นการลดความเสี่ยงจากการถือครองหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญ ข้อบ่งชี้สำหรับบริษัทจดทะเบียนก็คือ หากบริษัทได้ปฏิบัติตามนโยบายเงินปันผลอย่างไรแล้ว ก็จะมีกลุ่มนักลงทุนที่สนใจลงทุนในบริษัทตามความพึงพอใจของตนเอง บริษัทจึงไม่ควรเปลี่ยนนโยบายเงินปันผลอย่างรุนแรง หรือไม่มีแนวนโยบายเงินปันผลที่ชัดเจน เพราะจะทำให้นักลงทุนไม่สามารถเลือกตามความพึงพอใจของตนเองอย่างแน่ชัด

    มาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่า มีเรื่องราวที่ท่านผู้อ่านคุ้นเคยและมีประสบการณ์จากการลงทุนในหุ้นหลายเรื่องราวอยู่แล้ว แต่ผมพยายามนำมาเล่าให้ฟัง (อ่าน) แบบรวบยอดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นข้อเตือนใจว่า หลักที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในเครื่องมือทางการเงินแต่ละประเภทนั้นมีอยู่ แต่เมื่อเป็นเวลาที่ลงสนามการลงทุนจริง ๆ บางทีการนึกถึงหลักเหล่านั้นยามที่ฝุ่นตลบในสนามการลงทุน อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก การเป๋ไปเป๋มาในสนามการลงทุน จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย หวังว่าหลักเหล่านี้จะยังสามารถกลับเข้ามาสู่การวิเคราะห์เพื่อความสำเร็จในการลงทุนต่อไป

     ในครั้งต่อไป ผมคิดว่าจะนำเครื่องมือทางการเงินและหลักการลงทุนในเครื่องมือนั้น ๆ มาถ่ายทอดอีกเป็นเรื่อง ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ ครับ