Sunday, November 29, 2015

ปรับใจสู่ความเป็นจริง / ดร.นิเวศน์




   ถึงวันนี้ผมคิดว่ามันอาจจะเป็น “จุดเริ่ม”  ของการเปลี่ยนแปลง  “ทิศทาง”  ของภาวะตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศไทย  ไม่ใช่เพราะดัชนีตลาดหุ้นและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ตกต่ำลงมาตั้งแต่ต้นปี  เพราะดัชนีตลาดหุ้นและปริมาณการซื้อขายหุ้นของไทยนั้นตกลงมาน้อยมาก  แต่สิ่งที่ผมเห็นก็คือ  การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยรวมถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและการแข่งขันของไทยนั้นถดถอยลงต่อเนื่องมาหลายปีอย่างเห็นได้ชัดและผมก็ยังไม่เห็นว่าเราจะสามารถปรับตัวให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อย่างไร  นอกจากนั้น  ดัชนีตลาดหุ้นของไทยเองก็มีราคาแพงกว่าที่ควรเป็นเมื่อเทียบกับอดีต  สิ่งเดียวที่ผมเห็นว่ายังทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นยังเป็นทางเลือกที่มีเหตุผลก็คือการที่ทางเลือกอื่นนั้นก็ไม่ได้ดีกว่า  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  อัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นต่ำมากเป็นประวัติการณ์และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้น  เช่นเดียวกับทรัพย์สินอย่างอื่นเช่นอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาแพงลิ่วหรือการลงทุนในทองคำที่มีความเสี่ยงสูงและไม่จ่ายผลตอบแทนเป็นเงินสดเลย  ด้วยเหตุดังกล่าว  ผมเองจึง“คาดเดา”  ว่า  ดัชนีตลาดหุ้นนับจากนี้ไปอีกหลายปีนั้นน่าจะเป็นตลาดหุ้น “Sideways”หรือตลาดหุ้นที่ดัชนี “ไม่ไปไหน” อีกหลายปี  แต่ในระหว่างนั้นก็จะปรับตัวขึ้นลงสลับกันไป

ถ้าดัชนีหุ้นเป็น “ไซ้ต์เวย์”  ตามที่คาดเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวยเป็นเวลานาน  สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ  เราควรที่จะ “ปรับใจ” เพื่อที่จะรับกับสถานการณ์ดังกล่าวล่วงหน้า  วิธีคิดและกลยุทธ์ต่าง ๆ  ของเราก็อาจจะต้องปรับตามเพื่อที่จะสอดรับกับสถานการณ์นั้นเพื่อที่ว่าเราจะได้สามารถ  “เอาตัวรอด”  หรือยังสามารถสร้าง “ผลตอบแทนที่เหมาะสม”  ได้   มาดูกันว่านักลงทุนแต่ละแนวน่าจะต้องเตรียมใจรับกับสถานการณ์อย่างไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่นักลงทุนที่เลือกหุ้นไม่เป็นแต่อยากได้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควรในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ซึ่งนิยมลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ   ก่อนหน้านี้พวกเขาหวังว่าจะได้ผลตอบแทนประมาณ 10-12% ต่อปีแบบทบต้นในระยะยาว  ซึ่งจะทำให้เงินของเขาเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุก 6-7 ปี   ผมคิดว่าเราควรปรับความคิดใหม่ว่านั่นคือเรื่องใน “อดีต” ที่อาจจะไม่หวนกลับมาอีกแล้ว  การที่ตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 10% แบบทบต้นนั้นน่าจะหมายความว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตเร็วมาก  เป็น “ดารา” ของโลก  แต่นับจากนี้ไปในอนาคตเราคงทำไม่ได้แล้ว  ดังนั้น  ผมคิดว่าเราควรปรับใจว่าเราคงจะได้น้อยลง  ถ้าจะมองแบบอนุรักษ์นิยมก็น่าจะคิดว่าเราได้ผลตอบแทนประมาณปีละ 5-7% แบบทบต้น ซึ่งก็หมายความว่าเงินของเราอาจจะเพิ่มเป็น 2 เท่าตัวในเวลาประมาณ 10-15 ปี  “ความฝัน” ที่จะเกษียณและมีชีวิตที่จะอยู่อย่างสบายก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย

คนที่เล่นหุ้นเป็น “งานอดิเรก” ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนที่เล่นหุ้นที่มี Story น่าตื่นเต้น  เล่นหุ้นที่มี “ข่าวดี” ตามหน้าหนังสือพิมพ์หุ้นหรือข่าวตาม Social Media  เล่นหุ้นที่มีนักลงทุนรายใหญ่เข้าไปเล่น  และเล่น “หุ้นปั่น” ที่มีราคาวิ่งขึ้นไปแรงมากโดยที่ “ไม่มีข่าวอะไรเลย”ยกเว้น  “ข่าวลือ”  และหุ้นทั้งหมดนั้นมักเป็นหุ้นตัวเล็กหรือหุ้นที่มี Free Float ต่ำ  ผมก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องยอมรับว่าการทำเงินจากการ  “ตามแห่”  หรือเล่นหุ้นตามกระแสนั้น  ยากที่จะทำกำไรได้  การขาดทุนจะกลายเป็นเรื่องปกติ  ส่วนกำไรนั้นจะหาได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ  และนี่จะเป็นงานอดิเรกที่มีต้นทุนสูงเกินไป

เช่นเดียวกัน นักเล่นหุ้นขาใหญ่หรืออาจจะไม่ได้ใหญ่นักแต่ก็มีเงินส่วนตัวและวงเงินมาร์จินมากพอที่จะ  “ไล่ราคา” หุ้นตัวเล็ก ๆ  หรือหุ้นที่มี Free Float ต่ำและขายทำกำไรได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็น “สูตรสำเร็จ” ที่  “ไม่เคยพลาด” และทำให้หลายคนร่ำรวยมีเงินหลายสิบหรือหลายร้อยล้านบาทจากเงินต้นไม่มากนัก  แต่นับจากวันนี้ผมก็คิดว่าวิธีการแบบนี้ก็น่าจะได้ผลน้อยลง  หลายครั้งแทนที่จะกำไรก็อาจจะขาดทุนอย่างหนักได้โดยเฉพาะถ้าตลาดหุ้นไม่เป็นใจซึ่งจะทำให้คนทำต้อง  “ติดหุ้น” หรือในกรณีเลวร้ายต้องถูกโบรกเกอร์ฟอร์สเซลหรือบังคับขายหุ้นเพื่อลดมาร์จินซึ่งมักจะทำให้กลายเป็น  “หายนะ” ของการเล่นหุ้นของ  “เจ้ามือ” ในท้ายที่สุด

คนที่เล่นหุ้น Growth หรือหุ้นที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมานั้นผมคิดว่าคือ  “ผู้ชนะ”  หรือประสบความสำเร็จสูงมากกลุ่มหนึ่งในตลาดหุ้น  ลักษณะของหุ้นที่พวกเขาเล่นนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีการเติบโตของกำไรสูงมาระยะหนึ่งหรือไม่ก็เริ่มมีกำไรเติบโตสูงขึ้นมาอย่างเด่นชัดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมหรือตัวบริษัทที่เอื้ออำนวยให้บริษัททำกำไรได้ดีขึ้นมากจากอดีตที่ “เซื่องซึม”  หรือ “ธรรมดา”   คนที่เล่นหุ้นเหล่านี้ก็คือคนที่สามารถมองเห็นแนวโน้มหรือการเปลี่ยนแปลงก่อนคนอื่นและเข้าไปลงทุน  หลังจากนั้นพวกเขาก็จะช่วยกันเผยแพร่หรือกระตุ้นให้นักลงทุนคนอื่นสนใจผ่านสื่อต่าง ๆ  จนเกิดเป็น “กระแส” ของหุ้นว่ามันเป็นหุ้นที่โตเร็วและมีศักยภาพสูง  ผลต่อมาก็คือการที่คน “แห่” กันเข้าไปซื้อหุ้นและดันราคาให้ขึ้นไปสูงลิ่วอย่าง  “ไม่น่าเชื่อ”  ส่วนหนึ่งเนื่องจาก Free Float ของหุ้นที่มักจะต่ำเมื่อเทียบกับปริมาณของคนที่เข้าไปซื้อหุ้น  ราคาของหุ้นเติบโตเร็วเหล่านั้นสูงจนค่า PE หลาย ๆ  ตัวนั้นเกินกว่า 40-50 เท่า ค่า PB ก็สูงบางทีเป็น 10 เท่าโดยที่ปันผลตอบแทนนั้นต่ำกว่า 1% ต่อปี  แต่นับจากวันนี้ผมก็คิดว่าสถานการณ์แบบนี้ก็จะเกิดยากขึ้นมาก

เหตุผลก็คือ  ด้วยสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่ไม่เอื้ออำนวย  ผลประกอบการของหุ้น Growth ก็เริ่มปรากฏให้เห็นว่ามันไม่สามารถที่จะโตได้แบบนั้นในระยะยาว  ประเด็นสำคัญก็คือ  ตัวบริษัทเองนั้น  ส่วนใหญ่ไม่ได้มีศักยภาพหรือความสามารถพอที่จะ “ฝ่า”กระแสของภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันที่รุนแรงไปได้มากนัก  และนั่นทำให้นักลงทุนเริ่ม  “ขาดความมั่นใจ” ต่ออนาคตของบริษัทที่ถูกวาดภาพไว้อย่างสวยหรู  ผลก็คือ  พวกเขาบางคนจะเริ่มขายหุ้นทำให้ราคาหุ้นตกลงมาทำให้ค่า PE ลดลง  ในเวลาเดียวกัน  กำไรที่เพิ่มขึ้นก็ไม่มากพอที่จะสนับสนุนค่า PE ที่สูงได้  บางกรณีที่เลวร้าย  กำไรของบริษัทกลับลดลง  และนี่ทำให้หุ้นกลายเป็น “หายนะ”   ดังนั้น  ผมเองคิดว่าคนที่เล่นหุ้น Growth จะต้อง “ปรับใจ” ให้เข้ากับความเป็นจริงที่ว่า  หุ้นนั้นไม่สามารถที่จะโตได้เร็วและยาวนานมากหากมันไม่ใช่ซุปเปอร์สต็อก  ดังนั้น  ค่า PE ของหุ้นนั้นไม่อาจจะสูงมากอย่างที่เคยเป็นได้

สุดท้ายสำหรับ VI “พันธุ์แท้”  ทั้งหลายที่ก็ทำผลงานการลงทุนได้ประทับใจมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนหลายคนคิดว่าตนเองนั้นจะยังคงทำผลตอบแทนต่อปีเฉลี่ยอย่างน้อยก็ปีละ 20-30% ในระยะยาวได้จากการลงทุนที่ใช้การวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า “มูลค่าพื้นฐาน” ที่แท้จริงมากพอ  มี  Margin of Safety สูง  ผมเองคิดว่า VIจำนวนมากนั้น  “Over Rated” หรือให้คะแนนความสามารถของตนเองเกินความเป็นจริงเนื่องจากสถิติที่โดดเด่นเหนือกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดมากในอดีตที่ผ่านมา  ซึ่งสาเหตุนั้นผมคิดว่ามาจากการที่หุ้นที่เรียกว่า “VI” นั้นได้รับความนิยมสูงและราคาปรับตัวขึ้นไปมากประกอบกับการที่ VI นั้นมักจะมีการซื้อขายเปลี่ยนตัวหุ้นสูงเป็นแนว  “เทรดหุ้น VI” คือเปลี่ยนตัวเล่นไปเรื่อย ๆ  ขายหุ้น VI ที่ปรับตัวขึ้นเร็วและเข้าไปจับหุ้น VI ตัวใหม่ที่ราคายังไม่ขึ้น  ผลจากการนี้ทำให้หุ้น “VI” เกือบทุกตัวมีราคาแพงขึ้นมากจนไม่อาจจะเรียกว่าเป็นหุ้น VI ต่อไปแล้ว  ดังนั้น  ในอนาคต VI เองก็จะต้องปรับใจยอมรับว่าการหาหุ้น VI ที่มีราคาถูกจะยากขึ้นเรื่อย ๆ  และการที่จะทำผลตอบแทนปีละ 20-30% นั้นยากมาก  ควรจะหวังว่าถ้าทำได้ปีละ 12-15% ก็สุดยอดแล้ว

และทั้งหมดนั้นก็คือสิ่งที่ผมคิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตไปอาจจะอีกหลายปี  แน่นอน มีโอกาสที่จะผิด  หุ้นยังอาจจะดีต่อไปอีกหลายปี  บางทีอาจจะดีมาก “หักปากกา” ของคนที่มองตลาดใน“ภาพลบ”  หลาย ๆ  คน  เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยอาจจะกลับมา  “วิ่งฉิว” อย่าง “คาดไม่ถึง”  ซึ่งผมเองก็คงจะ “เงิบ” ไป  แต่นั่นคงไม่ปัญหา  เพราะจริง ๆ  แล้วผมเองก็อยากที่จะ “คาดผิด”  เพราะนั่นคงจะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของผมเองดีขึ้นมาก