Monday, November 23, 2015

วันหวย (หุ้น)ออก / โดยดร.นิเวศน์

   

    การศึกษาเรื่องของยีนส์มนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตวิทยานั้นพบว่า  คนเรานั้นมีพฤติกรรมที่  “ชอบลุ้น”  ซึ่งนี่ก็คงเกี่ยวข้องกับการ  “พนัน” หรือการชอบ “เสี่ยง” เราจะรู้สึกตื่นเต้นที่จะเห็น “ผลลัพธ์” ที่จะออกมาว่ามันดีหรือไม่ดีนั่นคือเราจะชนะหรือแพ้  เราจะได้หรือจะเสีย  หรือเราจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีมีโอกาสที่จะชนะหรือได้หรือไม่  ถ้าเราชนะหรือได้  เราก็จะดีใจ  แต่ถ้าออกมาแย่หรือเสีย  เราก็จะเสียใจ  หลังจากนั้น  เราก็จะเริ่มไปลุ้นเรื่องใหม่หรือรอลุ้นเรื่องเดิมในรอบต่อไป ถ้ามี)   ยิ่งรางวัลที่จะได้รับนั้นสูงเมื่อเทียบกับฐานะของเราถ้าเราชนะ  เราก็ยิ่งอยากลุ้นเพิ่มเป็นทวีคูณแม้ว่าโอกาสที่จะแพ้นั้นสูงลิ่วจนไม่คุ้มที่จะเสี่ยง  แต่เราก็อยากที่จะเสี่ยง  และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมคนที่มีเงินน้อยจึงชอบ “แทงหวย”  และคนที่มีเงินมากจึงชอบ  “เล่นหุ้น”  โดยเฉพาะหุ้นเก็งกำไรหรือ  “หุ้นปั่น”  ที่มีโอกาส “ได้เสีย”  สูงโดยเฉพาะที่เป็นการ “ได้เสีย” แบบว่า  ถ้าได้แล้ว “ได้มาก”  แต่ถ้าเสียก็  “เสียน้อย”  แต่โอกาสได้นั้นอาจจะ 1 ใน 100 หรือ 1 ในล้าน  แต่โอกาสเสียนั้นอาจจะ 99 ใน 100 หรือ 999,999 ในล้านครั้ง  ตัวอย่างเช่น  การแทงหวยที่ใช้เงินเพียงไม่ถึง 100 บาทก็อาจจะได้รางวัลเป็นล้านบาทได้  เช่นเดียวกับการซื้อชาเขียวราคาไม่ถึง 20 บาทต่อขวดแต่อาจจะได้ทองหรือรถเบ้นซ์  หรือการเล่น “หุ้นปั่น” ที่อาจจะกำไรได้หลายเท่าจากหุ้นราคาอาจจะ “ไม่ถึงบาท”

ช่วงเวลาของการ “ลุ้น” นั้น  เป็นเวลาที่น่าตื่นเต้น  บางครั้งเราแทบจะหยุดทำกิจการอื่น ๆ  เพื่อคอยดู “ผลที่ออก”  ผมยังจำได้ถึงประสบการณ์ช่วงแรกที่ผมไปทำงานในโรงงานน้ำตาลในต่างจังหวัดสมัยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว  ในช่วงที่โรงปิดหีบเพื่อซ่อมเครื่องจักรเป็นเวลาประมาณ 8 เดือนต่อปีนั้น  โรงงานจะมีเสียงดังมากเพราะทุกแผนกจะต้องซ่อมเครื่องจักรในส่วนของตน  แต่พอถึงวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือนในช่วงเช้า  โรงงานทั้งโรงนั้นแทบจะ “เงียบสนิท” เหมือน “โรงงานร้าง”  ไม่มีคนมาทำงาน  เหตุผลก็เพราะคนงานแทบทุกคนต่างก็ใจจดใจจ่อเงี่ยหูฟังวิทยุประกาศผลรางวัลที่หนึ่งและรางวัลใหญ่ทั้งหลายและรางวัลเลขท้าย 2 และ 3 ตัว   คนที่ถูกรางวัลก็จะดีใจตามรางวัลที่ถูก  ส่วนคนที่ “ถูกกิน” ก็จะเสียใจ  และทั้งสองฝ่ายต่างก็แทบไม่เป็นอันทำงานในวันนั้นทั้งวัน  หลังจากวันนั้น  ทุกคนก็กลับมาทำงานตามปกติ  ในระหว่างที่รอ “วันหวยออก” งวดต่อไป  พวกเขาต่างก็จะคอยเสาะแสวงหา  “เลขเด็ด” ที่จะมา “แทง” ต่อ  ไม่มีใครเลิกเล่น

ปัจจุบันนี้ผมไม่รู้ว่าสภาพของโรงงานยังเป็นแบบเดิมหรือไม่ในวันหวยออก  แต่ความเชื่อผมก็คิดว่าน่าจะยังเป็นอยู่บ้าง  สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นคงเป็นเรื่องของคนมีเงินที่พยายามหาเงินจากเงินของตัวเองในตลาดหุ้นที่ผมรู้สึกว่าในบางมุมมีลักษณะของการเสี่ยงที่คล้าย ๆ  กับหวยเหมือนกันนั่นก็คือ  ตลาดของหุ้นเก็งกำไรตัวเล็ก ๆ  ที่ราคาขึ้นลงหวือหวาที่เปิดโอกาสให้คน  “แทงหุ้น” และ “ลุ้นหุ้น”  เพียงแต่ว่าสำหรับหุ้นแล้ว  มัน  “ออกทุกวัน”  หลายคนแทบจะไม่เป็นอันทำอะไรเลยในช่วงตลาดเปิด  บางวันที่ “แทงถูก” มีกำไรจากหุ้น  เขาก็ดีใจ  บางวันขาดทุน  เขาก็เสียใจ  พอตลาดปิดเขาก็จะกลับไป “เสาะแสวงหา”  “หุ้นเด็ด”  ตัวใหม่ที่จะเล่นในวันต่อไป  และก็คงคล้าย ๆ  กับคนแทงหวยที่โรงงานนั่นก็คือ  ผมเองไม่เคยเห็นว่ามีใคร  “รวย” จากหวยเลย  นาน ๆ  ครั้งก็จะเกิด  “เสี่ย” ขึ้นมาเพราะถูกรางวัลใหญ่ได้เงินเป็นแสนบาทในสมัยนั้น  แต่พอเวลาผ่านไป  “เสี่ย”  ก็หมดตัวเพราะ “เสียหวย”  และ “ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย”  อื่น ๆ   คนเล่นหุ้นเก็งกำไรหรือหุ้นปั่นก็คงจะคล้ายกันที่บางช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นร้อนเป็นกระทิงก็จะมีคนได้กำไรมาก  แต่เมื่อเล่นต่อเนื่องกันไปนาน ๆ  เงินก็ถูก  “คืนไปหมด”  โดยเฉพาะเวลาหุ้นตกหรือเกิดวิกฤติตลาดหุ้น  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  ทุกคนก็ยังอยู่กับหวยและหุ้น  คงเป็นเรื่องยากที่จะ “รวยแล้วหยุด” หรือ  “จนแล้วหยุด”  เพราะมันอยู่ในยีนส์

ในฐานะของ VI ผู้มุ่งมั่นนั้น  เราเองก็ไม่อาจจะหลีกหนีจากความ “ชอบลุ้น”  ไปได้  สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ  เราควรพยายามลดการลุ้นหุ้นในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์หรือแต่ละเดือน  การลุ้นเป็นไตรมาศนั้นน่าจะพอยอมรับได้  แต่วันที่ “หวยออก” จริง ๆ  ของหุ้นนั้น  สำหรับผมแล้ว  มันไม่ใช่ราคาหุ้นที่จะขึ้นหรือลงในวันสิ้นไตรมาศ  ผมคิดว่าราคาหุ้นนั้นมันไม่ได้สำคัญเท่ากับตัวเลขผลประกอบการประจำไตรมาศของบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่ซึ่งก็จะประกาศในเวลาไม่เกิน 45 วันนับจากวันสิ้นสุดแต่ละไตรมาศ  วันที่ประกาศงบของหุ้นแต่ละตัวก็มักจะใกล้เคียงกันทุกปี  บางบริษัทก็อาจจะประกาศประมาณ  5 วันก่อนวันสิ้นสุด บางบริษัทก็ประกาศเร็วหรือช้ากว่านั้น  และนั่นก็คือวันที่ผมจะใจจดใจจ่อ “ลุ้น” ว่างวดนี้กำไรจะเป็นอย่างไร  ถ้าดีขึ้นมากก็มีความสุข  ถ้าแย่ลงหนักก็จะเป็นทุกข์  เมื่อตัวเลขออกมาแล้วผมก็จะดูสาเหตุว่าทำไมตัวเลขจึงเป็นแบบนั้นและก็จะคาดการณ์ต่อไปว่า  “งวดหน้า”  มันจะเป็นอย่างไรจะดีขึ้นหรือแย่ลงระดับไหน  แต่ผมก็มักจะไม่คิดคำนวณเป็นตัวเลขแน่นอนแบบนักวิเคราะห์  ผมชอบแบบว่า Approximately Right หรือประมาณว่าถูกก็พอ

การดูและติดตาม  “หวยที่ออก”  นั้น  ผมไม่ดูเฉพาะหุ้นที่ตนเองถืออยู่  ผมจะดูแทบทุกตัวโดยเฉพาะที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ผมสนใจและหุ้นตัวใหญ่ ๆ  ส่วนหุ้นที่ผมไม่สนใจนั้น  ผมก็จะมองผ่าน ๆ  ให้พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัท  การดูตัวเลขผลประกอบการรายไตรมาศและรายปีของบริษัทจดทะเบียนนั้น  ผมคิดว่ามันมีประโยชน์ในแง่ที่มันสอนให้เราเข้าใจ Pattern หรือรูปแบบของผลประกอบการของบริษัท  ซึ่งสิ่งนี้มักจะสะท้อนไปถึงลักษณะของตัวหุ้นว่ามันเป็นหุ้นประเภทไหนใน 5-6 แบบตามการจัดของปีเตอร์ ลินช์  การที่เราติดตามผลประกอบการไปเรื่อย ๆ  ต่อเนื่องยาวนานหลาย ๆ  ปี  เราก็จะ  “ซึ้ง” เข้าไปในใจว่าผลประกอบการของบริษัทนั้น  ในระยะยาวแล้วมันก็สะท้อนมาจากธรรมชาติของธุรกิจเองว่ามันแบบไหน

หุ้นจำนวนมากนั้น  พอประกาศงบมา  ถ้าเราไม่คุ้นเคยหรือไม่มีประสบการณ์กับมันมาก่อนเราก็จะรู้สึก  Surprise หรือประหลาดใจมาก  เช่น  จากที่ไม่เคยกำไรดีหรือขาดทุนก็อาจจะกำไร “โตกระโดด” ดูน่าตื่นเต้นมาก  บางทีบริษัทกำไรดีติดต่อกันมา 2-3 ปี  อยู่ ๆ ก็ขาดทุนเสียอย่างนั้นโดยไม่มีเหตุผลพิเศษ  ราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นลงมากตามกันไป  หุ้นที่มีตัวเลขแนวนี้  ถ้าเราวิเคราะห์ดี ๆ  ก็อาจจะพบว่าเราไม่สามารถใช้ตัวเลขมาประเมินราคาได้จริง ๆ  อาจจะเนื่องจากการที่มันขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาสินค้าไม่แน่นอนและคาดการณ์ไม่ได้แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมามันจะดี  ดังนั้น  การลงทุนในหุ้นก็จะเป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร” ทั้งสิ้น  คือเราเก็งว่ากำไรน่าจะดีต่อไปทั้ง ๆ  ที่ “งวดหน้า” ตัวเลขอาจจะออกมาตรงกันข้าม

ปกติผมเองนั้นเน้นการลงทุนในหุ้นที่มั่นคง แข็งแกร่งและเติบโต  ดังนั้น  ผมก็จะตามตัวเลขของบริษัทที่ผมคิดว่ามันหุ้นแบบนั้นทั้งที่ถืออยู่และยังไม่ได้ถือ  สิ่งที่ผมลุ้นก็คือ  ยอดขายและกำไรของบริษัทก็ควรจะต้องเป็นแบบนั้นและก็ไม่ควรมี  “ข้อแก้ตัว”   ถ้าตัวเลขออกมาผิดกับที่มันควรจะเป็นเช่น  แทนที่ยอดขายและกำไรจะเพิ่ม  มันกลับลดลงทั้งยอดขายและกำไร  แบบนี้ถ้าจะอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดีหรือคู่แข่งเข้ามาแย่งชิงตลาดโดยการลดราคาสินค้า  ผมก็จะต้องดูว่ามันสมเหตุผลไหม  เพราะหุ้นที่เติบโตเร็วนั้น  มันควรที่จะโตได้โดยตัวของมันเองไม่ใช่อิงกับเศรษฐกิจเป็นหลัก เป็นต้น

บ่อยครั้ง นอกจากการดูหวยของผลประกอบการแล้ว  ผมก็มักจะเหลือบดูราคาหุ้นในช่วงนั้นด้วย  ที่มักจะสะท้อนตามผลประกอบการ  อย่างไรก็ตาม  หุ้นหลาย ๆ  ตัวราคาก็ไม่สะท้อนเท่าที่ควร  บางตัวก็ไปในทางตรงกันข้ามซึ่งมักจะเกิดน้อย  ผมเองก็พยายามอธิบายว่ามันเกิดอะไรขึ้น  บ่อยครั้งผมก็รู้สึกว่าหุ้นจำนวนไม่น้อยในตลาดนั้น  ถูก “ควบคุมราคา” โดยคนบางคนหรือบางกลุ่มทำให้ราคาไม่เป็นธรรมชาติซึ่งผมก็ไม่สนใจอยู่แล้ว  แต่ในหุ้นบางตัวที่ราคาไม่สะท้อนกับผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง  บางทีผมก็ถือโอกาสซื้อ  และนี่ก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่งของการ  “ลุ้นหุ้น” ในแบบฉบับ VI