Monday, February 22, 2016

ดราม่าในตลาดหุ้น /โดยดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล


สิ่งที่ตามมาจากความแพร่หลายของการใช้อินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมสมัยใหม่อย่างหนึ่งก็คือปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “Drama” นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมที่คนจำนวนมากสนใจและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในเวบไซ้ต์  สื่อสังคมบนอินเตอร์เน็ต  สื่อสิ่งพิมพ์และอื่น ๆ   บ่อยครั้งการวิจารณ์โต้เถียงกันนั้นขัดแย้งรุนแรงเนื่องจากผู้เข้ามาร่วมนั้นต่างก็ไม่ต้องปรากฏตัวหรือเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงกันข้าม  บางครั้งเรื่องที่พูดกันก็เป็นเรื่องที่ซาบซึ้งกินใจที่คนอยากจะแสดงออก  บางครั้งก็เป็นเรื่องที่คนต่างก็ประณามการกระทำที่ “เลวร้าย” และในบางเรื่องก็เป็นแค่การ  “ลุ้น” ว่าใครจะ “ชนะ” หรือใครจะ “แพ้” เพราะอะไร    นอกจากคนที่เข้าไปคอมเม้นต์หรือออกความเห็นแล้ว   ก็ยังมีคนจำนวนมากมายที่เข้าไปดูแล้วก็เก็บไว้ในใจหรือไม่ก็ไปพูดคุยต่อกับคนรู้จักหรือคนในกลุ่มอื่น ๆ  จนสุดท้ายสังคมแทบทั้งหมดก็จะรู้เรื่องและมีความคิดและความเห็นต่อเรื่องราวหรือเหตุการณ์ดังกล่าว  ถ้าจะพูดก็คือ  เกิดเป็น “กระแสสังคม” ที่จะไปมีผลกับคนหรือหน่วยงานต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้อง  ในบางกรณี  อิทธิพลของ  “ดราม่า”  ก็มีผลรุนแรงจนคนคาดไม่ถึง

“ดราม่า” นั้น  มักจะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปสนใจและมีกรอบความคิดและความเชื่อที่เป็นที่ยอมรับกันในสังคมไทยเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นกลับเป็นเรื่องที่ผิดคาดไปจาก “มาตรฐาน” ไว้มาก  และสิ่งที่ผิดไปนั้น  เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล  เช่นเป็นเรื่องของความรัก  ศาสนา  จริยธรรม  ความเจริญรุ่งเรืองและความล่มสลาย  เรื่องของ “ความดี” และ “ความเลว” เป็นต้น  ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ  เรื่องราวของคนหรือหน่วยงานที่จะเกิดดราม่านั้น  มักจะเป็นคนหรือหน่วยงานที่ “โดดเด่น” เป็นที่รู้จักหรือได้รับการยอมรับอย่างสูงเนื่องจากสถานะทางสังคม  หรือถ้าไม่ใช่คนที่โดดเด่น  เรื่องราวนั้นก็จะต้องแตกต่างจาก “ค่านิยม” ไปมากโดยที่สังคมหรือกฎหมายไม่สามารถที่จะไปกำหนดหรือจัดการอะไรได้ทำให้คนต้องออกมาว่ากล่าว  “ผ่านสื่อ” ด้วยตนเอง

วิธีที่จะดูว่าเรื่องใดเข้าข่ายที่จะเป็นดราม่านั้น  ผมคิดว่าข้อแรก  ข่าวหรือเรื่องราวนั้นน่าจะต้องปรากฏอยู่ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายวันแต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเริ่มที่หนังสือพิมพ์ก่อน  ข้อสองซึ่งผมคิดว่าน่าจะสำคัญยิ่งกว่าก็คือ  เรื่องราวนั้นจะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์กันแพร่หลายในสื่ออินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะเวบไซ้ต์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นของข่าวหรือเรื่องราวนั้นโดยตรง  ข้อสาม  เรื่องที่จะเป็นดราม่านั้น  จะต้องมี “ตัวละคร”  ที่เป็นตัวเอกที่คนพูดถึงกันมาก  บางทีตัวละครก็อาจจะไม่ใช่คนแต่เป็นประเด็นที่เป็นเป้าหมายในการถกเถียงหรือต่อว่าหรือชมเชยกันอย่าง  “สุดโต่ง”  และสุดท้ายก็คือ  ดราม่าก็มักจะจบลง  คือคนเลิกสนใจไม่พูดกันอีกต่อไปในเวลาไม่นานนัก  ส่วนผลกระทบนั้น  ผมคิดว่ามันคือ “บาดแผล” ทางสังคมของคนหรือหน่วยงานที่ถูกกระทบที่จะต้องใช้เวลารักษาฟื้นฟูยาวนานหรืออาจจะไม่ได้เลย  แต่ในกรณีที่เป็นผลกระทบด้านดีนั้น  คนก็มักจะลืมไปในไม่ช้า

ถ้าจะดูดราม่าในช่วงนี้ในด้านของสังคมทั่วไปผมคิดว่าการ “หนีทุน” ของนักวิชาการชาวไทยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดน่าจะเข้าข่ายเต็มที่  เรื่องนี้ผมคิดว่าที่กลายเป็นดราม่าใหญ่โตนั้นคงไม่ใช่แค่เรื่องหนีทุนซึ่งถ้าบังเอิญเป็นคนที่ไม่มีชื่อเสียงหรือไม่ได้ทำงานในมหาวิทยาลังดังอย่างฮาร์วาร์ด  เรื่องนี้ก็อาจจะไม่มีใครสนใจและไม่เป็นข่าวเลย  แต่การที่มีสถานะที่ “สูงส่ง” โดยอาศัยเงินของหลวงและการค้ำประกันจากเพื่อนและคนที่เสียสละเห็นแก่ความก้าวหน้าของหน่วยงานและประเทศไทย  นี่เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับ  “มาตรฐาน”  ของสังคมมาก  และมันจึงเป็น  “ดราม่า” ที่ร้อนแรงและ “ทำลาย” เจ้าตัวอย่างแรงโดยที่อาจจะ  “ไม่คาดคิด” เนื่องจากเหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว  ก่อนหน้านี้ก็มีดราม่าที่เป็นเรื่องของดาราดังที่เป็นโรคไข้เลือดออกและเสียชีวิตซึ่งก่อ “กระแส” ความเห็นอกเห็นใจเอาใจช่วยและส่งผลถึงครอบครัวที่ได้รับความนิยมขึ้นอย่างมากทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่มีคนรู้จัก

ตลาดหุ้นเองนั้นก็มีดราม่ามาโดยตลอดเช่นเดียวกันทั้งทางด้านดีและร้าย  โดยที่ด้านร้ายนั้นก็มักจะมากกว่าด้านดีเช่นเดียวกับดราม่าในสังคมอื่น  ข่าวที่เป็นเรื่องของดราม่านั้น  ผมคิดว่ารวมถึงการประมูลทีวีดิจิตอลซึ่งก็ผ่านมาหลายปีแล้วแต่ผลกระทบก็ยังอยู่หรืออาจจะพูดว่าเพิ่งจะเริ่มต้นก็ได้  ต่อมาก็คือ  การประมูลคลื่นวิทยุเพื่อใช้ในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นดราม่าอยู่นานพอสมควรและจะยังอยู่ต่อไปอย่างน้อยอีกระยะหนึ่งเพราะมันอาจจะมี  “ภาคสอง” และภาคต่อ ๆ  ไป    การเทคโอเวอร์กิจการขนาดใหญ่โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกเช่นบิ๊กซีผมเองก็ถือว่าเป็นดราม่าเล็ก ๆ  ที่มีการกล่าวขวัญถึงพอสมควรทั้งทางด้านหุ้นและการประกอบการในอนาคต  ในด้านของการประกอบการและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเองนั้น  ผมคิดว่าก็มีดราม่าเช่นเดียวกัน  ราคาน้ำมันที่ตกลงมาแรงซึ่งทำให้ผลประกอบการของบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ลดลงจนขาดทุนหนักและส่งผลให้ราคาหุ้นตกลงมาเกิน 50% นั้นไม่ใช่ธรรมดา  มันเป็น  “ดราม่า”  และล่าสุดก็ แน่นอน เป็นเรื่องของดราม่าเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้วแต่ก็ไม่แน่ใจว่าใกล้จบหรือยัง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับหุ้นที่เกิดดราม่านั้น  ที่ชัดเจนก็คือ  ราคาหุ้นหรือมูลค่าตลาดของหุ้น  ถ้าเป็นดราม่าที่ดี  กิจการรุ่งเรืองสุด ๆ  ราคาและมูลค่าหุ้นก็ขึ้นไปแรงมาก  แต่ถ้าเป็นดราม่าที่เลวร้าย  ราคาและมูลค่าหุ้นก็จะลดลงมามาก  ประเด็นที่สำคัญก็คือ  นักลงทุนและคนเล่นหุ้นนั้นก็เป็นคนธรรมดาที่มีอารมณ์และอารมณ์นั้นมักจะไปลดการใช้เหตุผลนี่คือธรรมชาติของมนุษย์  ดังนั้น  เวลาไปเจอหรือไปอ่านเรื่องราวดราม่าก็มักจะถูกอิทธิพลของดราม่าซึ่งบ่อยครั้งทำให้มีความรู้สึกที่รุนแรงกว่าความเป็นจริงและ React หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองแรงกว่าที่ควรจะเป็น  และนั่นส่งผลถึงราคาหุ้นให้ปรับตัวผิดจากที่ควรเป็น  พูดให้เฉพาะก็คือ  กิจการอาจจะดีและมีแต่เรื่องดี ๆ  แต่ราคาหุ้นอาจจะวิ่งนำหน้าไปมาก  หรือกิจการอาจจะด้อยลงบ้างแต่ราคานั้นอาจจะตกลงไปเกินความเป็นจริงในช่วงที่กำลังเป็นดราม่า

ถ้าเราเชื่อว่าในที่สุดแล้วราคาและมูลค่าตลาดของหุ้นก็จะต้องสะท้อนพื้นฐานของกิจการเมื่อเวลาผ่านไป  และเราเชื่อว่าในที่สุดดราม่าก็จะต้องผ่านไป  เราก็จะต้องพยายามไม่ Over react หรือไม่ตัดสินใจในการซื้อขายหุ้นโดยอิงอยู่กับดราม่าเป็นหลัก  แน่นอนว่าเราต้องศึกษาและดูว่าอะไรเกิดขึ้นกับกิจการและหุ้นและดูว่าสังคมมีปฏิกิริยาอย่างไร  เราต้องเอาข้อเท็จจริงมาเปรียบเทียบกับความเห็นของสังคมในช่วงที่เกิดดราม่า  เป็นไปได้ว่าสิ่งที่สังคมเชื่อนั้นถูกต้องแล้วและราคาหุ้นก็สะท้อนกับความเป็นจริง  เราก็ลงมือปฏิบัติไปตามนั้น  แต่ถ้าไม่ใช่  มันก็อาจจะเป็นโอกาสที่เราจะซื้อหรือขายหุ้น  หน้าที่ของเราในฐานะที่เป็นนักลงทุนนั้นก็คือ  เราต้องพิจารณาอย่างเป็นอิสระจากฝูงชน  นี่ไม่ได้หมายความว่าเราทำตรงกันข้าม  เราอาจจะทำแบบเดียวกันก็ได้ถ้าเราคิดว่ามันถูกต้อง

ทุกคนต่างก็มีความคิด  ความเชื่อและศรัทธาของตนเอง  บางคนเป็นนักอนุรักษ์นิยม  บางคนเป็นเสรีนิยม  บางคนให้คุณค่าในบางสิ่งบางอย่างมากกว่าอีกสิ่งหนึ่ง  บางคนชอบดูอะไรตามกฎเกณฑ์  บางคนดูตามพฤติกรรม  คนส่วนใหญ่แล้วต้องการให้คนอื่นคิดและทำเหมือนตนเองโดยที่เขาเชื่อว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดีและถูกต้องและนั่นก็คือสิ่งที่เขาแสดงออกมาและกลายเป็นดราม่าเพราะบางครั้งความคิดไม่เหมือนกัน  ในสังคมทั่วไปนั้น  ดราม่าเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งที่พยายามหล่อหลอมให้สังคมเป็น “หนึ่ง” เดียว  แต่ดราม่าในตลาดหุ้นนั้น  เราไม่จำเป็นต้องตาม  เราไม่ได้คิดต่าง  แต่เราต้องคิดอย่างเป็นอิสระและเราต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะต้องไม่อยู่ในอิทธิพลของดราม่า