Thursday, February 18, 2016

ปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 /โดยคุณวีรพงษ์ ธัม

 

  อุตสาหกรรม หรือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อผลิตสินค้าและบริการผ่านการ “ปฏิวัติ” มาหลายครั้งในประวัติศาสตร์ โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1760 ที่มนุษย์รู้จักใช้พลังงานไอน้ำมาสร้างผลผลิตทวีคูณแทนช้างม้าวัวควาย ต่อเนื่องมาถึงค.ศ. 1870 เราก็เอาพลังงานเหล่านั้นมาสร้างระบบการผลิตอย่างเป็นระบบจำนวนมากบนสายพาน การกำเนิดโรงงานที่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง พาโลกเข้าสู่ยุคทองของสินค้าอุตสาหกรรม เช่นรถยนต์ เรือ น้ำมัน เหล็ก จนกระทั่งปี 1960s เราก็เข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม หรือบางครั้งเราก็เรียกว่ายุคดิจิตอล เมื่อเราสามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และอินเตอร์เน็ต และโลกกำลังจะก้าวสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือการเชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าหากัน จนเกิดความเป็นไปได้ที่ไม่จำกัด

            ประเทศมหาอำนาจของโลกรวมไปถึงประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละครั้งอย่างเป็นขั้นเป็นตอน พวกเขาอาศัย First Mover advantage เก็บเกี่ยวความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจนขึ้นมาเป็นผู้นำ ในขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนาที่ตามมาทีหลังก็ใช้วิธีเดียวกัน สร้างเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเติบโตเป็นลักษณะ “เลียนแบบ” แต่ “ไม่ได้พัฒนาต่อ” จึงมักจะจบด้วยการ “ติดหล่ม” อันที่เราเห็นตัวอย่างในแถบละตินอเมริกา

            ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อมีการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 ผลลัพท์คือการเติบโต GPP หรือผลผลิตมวลรวมของแต่ละจังหวัดที่สูงสุดใน 5 อันดับแรกในปัจจุบัน คือ กรุงเทพฯ ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ อยุธยา ล้วนเกิดจากอิทธิพล “โรงงาน” และ “นิคมอุตสาหกรรม” หรือร่องรอยของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองของประเทศไทยทั้งสิ้น แต่ปัญหาแรกที่เราเห็นมาตลอดคือช่องว่างระหว่างขนาดเศรษฐกิจของจังหวัดสูงสุด 5 อันดับบนและล่างนั้นสูงมาก เนื่องจากเราไม่สามารถขยายการปฏิวัติอุตสาหกรรมไปยังจังหวัดรองอื่น ๆ อย่างครอบคลุมได้เหมือนกับประเทศพัฒนาแล้วที่เคยทำได้ส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างพื้นฐานระบบ Logistic ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญนั้นไม่สามารถรองรับได้

            ปัญหาที่สองคือการเติบโตของการส่งออกที่ติดลบและ GDP ที่เชื่องช้า กำลังจะบอกว่าต่อจากนี้ไปการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองของไทยจะพบกับความยากลำบากมากขึ้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านกำลังเดินตามรอยด้วยเส้นทางเดียวกัน ฐานการผลิตย้ายง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะเครื่องจักรเป็นอัตโนมัติมากขึ้น แรงงานใหม่สามารถเรียนรู้การผลิตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นไทยจึงเหมือนถูกบังคับให้ขึ้นไปแข่งในอุตสาหกรรมที่ซับซ้อนกว่าเดิม ที่ไม่ได้ง่ายนักเพราะต้องเจอคู่แข่งที่ล่วงหน้าไปก่อน เช่นประเทศไต้หวัน เกาหลี มาเลเซีย สิงค์โปร์

            ส่วนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ของไทยก็เริ่มจริงจังมากขึ้นตั้งแต่เราเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากขึ้นด้วยความเร็วที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ผลการวิจัยของมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตต์พบว่า การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมีส่วนช่วยเพิ่มผลิตผลทางเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าการที่ประชาชนเข้าถึงไฟฟ้าในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง จังหวัดอย่างกรุงเทพฯ ที่มีอินเตอร์เน็ตที่มีเสถียรภาพจึงพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ได้ดีกว่า ดังที่เราเห็น e-commerce โตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีคนรุ่นใหม่พัฒนา Tech Startups เป็นดอกเห็ด

            การปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละครั้ง ส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แรงงานสามารถปรับตัวโดยย้ายจากภาคเกษตรมาสู่อุตสาหกรรม แต่สัตว์อย่าง “ม้า” เป็นล้าน ๆ ตัวที่ปรับตัวไม่ได้ ตกงานจากการเป็นพาหนะให้กับรถยนต์ อุตสาหกรรมยุคใหม่ยิ่งทำให้การปรับตัวยากขึ้นกว่าเดิม สำหรับคนที่กำลังวางแผนการศึกษาให้ลูก เด็กที่กำลังเข้าโรงเรียนประถมในวันนี้ 65% จะทำงานที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุคปัจจุบัน ดังนั้น “ความสามารถในการเรียนรู้” จึงจำเป็นกว่า “ความรู้” หรือ “ทักษะ” ที่เรามีอยู่ คุณเริ่มคิดจะปฏิวัติตัวเองหรือยัง เพราะใครจะรู้ว่าเราอาจจะกลายเป็น “ม้า” ที่หมดความหมายลงในอนาคต