Friday, May 27, 2016

หลักการเลือกหุ้นของ วอเร็น บัฟเฟตต์ warren buffett / โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


การเลือกหุ้นลงทุนของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นได้รับการติดตามและศึกษามากมาย  หนังสือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมีมากจนนับไม่ถ้วน แต่ละเล่มก็พยายามที่จะเขียนให้มีความ “ซับซ้อน” และยากที่จะปฎิบัติเพื่อที่จะทำให้รู้สึกว่าคนธรรมดาจะเลียนแบบได้ยาก  มีแต่คนที่มีความสามารถแบบ วอเร็น บัฟเฟตต์ เท่านั้นที่จะทำได้หรือวิเคราะห์ได้ถูกต้องว่าหุ้นหรือบริษัทไหนที่ดีน่าลงทุน  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ถ้าบอกว่าหลักการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้นง่ายและธรรมดามาก  ใครจะอยากซื้อหนังสือมาอ่าน นอกจากนั้น  น้อยคนจะเชื่อว่าคนจะประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้ด้วยสิ่งที่ “ทำได้ง่าย ๆ” ไม่อย่างนั้นคนก็คงจะ “รวยกันไปหมด”  ซึ่งเป็นไปไม่ได้!   แต่ทั้งหมดนั้นสำหรับผมแล้วมันก็คงจะเป็นเรื่องที่คล้าย ๆ  กับหนังสือเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทั้งหลายที่มักจะพูดถึงวิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อนซึ่งมักรวมถึงการปฏิบัติตนด้วยวิธีการต่าง ๆ   การกินอาหารและอาหารเสริม บางทีก็พูดถึงฮอร์โมนและเครื่องมือ “มหัศจรรย์” ต่าง ๆ  ที่จะช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น   ทั้ง ๆ  ที่ความจริงอาจจะเป็นว่าหลักการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดอาจจะง่ายมากและมีเพียง 3-4 เรื่องที่ต้องทำ  เช่น  กินอาหารครบหมู่  ออกกำลังพอประมาณ  นอนให้พอ  และอย่าเครียด  เป็นต้น

          จากการติดตามบัฟเฟตต์มานานรวมถึงอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับบัฟเฟตต์จำนวนมากผมกลับพบว่าที่จริงแล้วหลักการเลือกหุ้นลงทุนของบัฟเฟตต์นั้น  “ธรรมดาและง่ายมาก”  มันคล้าย ๆ กับการรักษาสุขภาพ  ถ้าเราทำได้ 3-4 เรื่องอย่างที่กล่าว  เราก็จะมีสุขภาพที่ดีเยี่ยมได้แล้ว  ไม่ต้องไปหาสูตรอะไรที่ดู “ขลัง” หรือทำได้ยากเกินความสามารถ  สิ่งที่ต้องทำดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของ“วินัย” และการปรับใจหรือทัศนะคติมากกว่า  มาดูกันว่าอะไรคือหลักการสำคัญที่บัฟเฟตต์ใช้จริง ๆ  เกือบตลอดชีวิตการลงทุนของเขา  ว่าที่จริงเขา  “ประกาศ” มันอย่างเป็นทางการด้วยว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องการจากหุ้นหรือกิจการที่เขาจะลงทุน  และมันมีแค่ 4-5 ข้อเท่านั้น

            ข้อแรกก็คือ  มันต้องเป็นธุรกิจธรรมดา ๆ ที่เราเข้าใจ และถ้ามันมีเรื่องเกี่ยวข้องกับเท็คโนโลยีมาก ๆ บัฟเฟตต์บอกว่าเขาจะไม่เข้าใจ   ข้อนี้  ถ้าดูจากกิจการและหุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนมานานหลายสิบปีก็จะพบว่าหุ้นส่วนใหญ่ที่เขาลงทุนนั้นมักจะเป็นกิจการธรรมดา ๆ  จริง  เช่น  กิจการเกี่ยวกับอาหาร เช่น น้ำอัดลม  ช็อกโกแล็ต ซอสมะเขือเทศ  กิจการเครื่องใช้เช่นเฟอร์นิเจอร์  เครื่องแต่งตัวเช่น เครื่องประดับเพชร รองเท้า  ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์  กิจการเดินทางเช่น รถไฟ เครื่องบิน  ผู้ให้บริการเกี่ยวกับการงานคอมพิวเตอร์ของสำนักงานและบริษัท  และที่เริ่มมากในระยะหลังก็คือพลังงานและพลังงานทดแทน  เป็นต้น  และแน่นอนก็คือ  ธุรกิจประกันภัยที่เป็นฐานดั้งเดิมของบัฟเฟตต์

            ประเด็นสำหรับนักลงทุนก็คือ  บ่อยครั้งเรามักลงทุนซื้อหุ้นที่เราไม่เข้าใจธุรกิจอย่างแท้จริง 
คนจำนวนมากลงทุนซื้อหุ้นปิโตรเคมีทั้ง ๆ  ที่เราไม่รู้จักแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่เขาผลิต  เราซื้อหุ้นอิเล็คโทรนิกส์ทั้ง ๆ  ที่ไม่รู้ว่ามันเอาไปทำอะไร  เรามักซื้อเพราะว่าหุ้นกำลังปรับตัวขึ้นแรงและมีคนเชียร์ว่ามันจะเติบโตขึ้นอีกมากในปีนี้  บัฟเฟตต์บอกว่าเราต้องมี Circle of Competenceหรือความรอบรู้ของเราในแต่ละธุรกิจหรืออุตสาหกรรม  เราไม่จำเป็นต้องรู้มากมายไปหมดในอุตสาหกรรมจำนวนมาก  แต่เราต้องรู้ว่าขีดความรอบรู้ของเรามีแค่ไหน  ตัวอย่างเช่น  เราอาจจะบอกว่าเรารู้เรื่องของอาหาร  ค้าปลีก  บันเทิง  เพราะเราเป็นคนที่บริโภคหรือใช้สินค้าเหล่านี้เป็นประจำ  เป็นต้น  และถ้าเป็นอย่างนั้น  เราจะไม่ซื้อหุ้นในกลุ่มอื่นที่เราไม่รู้จักเลย  อย่าไปห่วงว่านั่นจะจำกัดตัวหุ้นที่จะลงทุนไปมากและอาจทำให้  “เสียโอกาส”  ในการลงทุน  จำไว้ว่าสำหรับนักลงทุนรายย่อยนั้น  เราต้องการหุ้นจำนวนน้อยมากที่จะทำให้เรารวยหรือประสบความสำเร็จ บัฟเฟตต์ถึงกับบอกว่าในชั่วชีวิตเรานั้น  เราอาจจะต้องการหุ้นเพียงแค่ 20 ตัวเท่านั้น

            ข้อสอง บริษัทจะต้องเป็นธุรกิจที่มีอนาคตระยะยาวที่ดี  และคำว่าดีก็หมายความว่ามันมีความสม่ำเสมอของกำไร  และกำไรนี้จะต้องมีความยั่งยืน  และเหตุที่จะมีความยั่งยืนก็เพราะว่ามันมีความได้เปรียบที่ยั่งยืน หรือ Durable Competitive Advantage /images/emoticons/mozilla_laughing.gifCA) ที่จะป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแย่งธุรกิจ  บัฟเฟตต์เองไม่ค่อยเน้นเรื่องของการเติบโตของกำไรมากนัก  มันแทบจะไม่ใช่เงื่อนไขของการลงทุนด้วยซ้ำ  บัฟเฟตต์น่าจะมีความคิดว่าธุรกิจนั้นถ้าโตเร็วหรือมีกำไรดีมาก  สุดท้ายก็จะต้องมีคนเข้ามาแข่ง  และถ้าบริษัทไม่มี DCA ก็อาจจะพ่ายแพ้และสุดท้ายแม้แต่กำไรเท่าเดิมก็อาจจะรักษาไว้ไม่ได้  และเท่าที่สังเกตเห็น  หุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนนั้นมักจะมีกำไรที่แน่นอนและมีการเติบโตบ้างเท่านั้น  ผมไม่ค่อยเห็นบัฟเฟตต์ลงทุนในหุ้นที่โตเร็วมากเลย

          สิ่งที่บัฟเฟตต์ได้จากหุ้นที่ไม่ได้โตเร็วมากก็คือ  กำไรที่แน่นอนและปันผลที่เขาจะนำไปลงทุน  อาจจะในธุรกิจเดิมถ้ามันยังทำผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นได้สูงเกิน 10% ขึ้นไป  หรือไม่ก็นำปันผลที่เป็นเงินสดไปลงทุนในธุรกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า  โดยวิธี  “ทบต้น”  ด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่า 10% ต่อปีไปเรื่อย ๆ  นี้เองที่ทำให้ความมั่งคั่งของบัฟเฟตต์สูงขึ้นเรื่อย ๆ  ติดต่อกันถึง 60 ปี

            นักลงทุนที่เน้นหุ้นที่โตเร็วแต่ไม่มีความสม่ำเสมอของกำไรและไม่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนนั้น  ผมคิดว่าในบางช่วงโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมนั้น  อาจจะทำกำไรได้ดีมาก แต่ในระยะยาวแล้ว  โอกาสผิดพลาดก็อาจจะสูงและทำให้ขาดทุนหนัก  โดยเฉลี่ยแล้ว  ผลตอบแทนก็อาจจะต่ำกว่าการลงทุนแบบของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ได้

            ข้อสาม บริษัทจะต้องดำเนินการโดยผู้บริหารที่ซื่อสัตย์และมีความสามารถ  แต่บัฟเฟตต์เองไม่ได้คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้บริหาร  ถ้าผู้บริหารไม่อยู่แล้วธุรกิจก็อาจจะมีปัญหาได้  เขาคิดว่าธุรกิจจะต้องดีโดยตัวของมันเองไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม  หากพบว่าผู้บริหารโกงหรือมีการฉ้อฉลในบริษัท  เขาก็คงไม่ลงทุนซื้อหุ้น  สำหรับประเด็นเรื่องนี้นั้น  ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์จะไม่มีเกณฑ์อะไรที่ชัดเจนว่าแบบไหนจึงจะเรียกว่า “ยอมรับไม่ได้”  สิ่งที่เห็นก็คือ  ถ้าเขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของบริษัทแล้วพบว่าผู้บริหาร  “โกง” เขาก็มักจะ “บีบ” หรือปลดผู้บริหารรายนั้น

            ข้อสุดท้ายสำหรับการเลือกซื้อหรือลงทุนในหุ้นก็คือ  ราคาหุ้นต้องมีเหตุผลหรือยุติธรรม  ถ้าพูดง่าย ๆ  ก็คือ  ค่า PE ไม่ควรจะสูงเกินไป  ในช่วงเร็ว ๆ นี้ดูเหมือนว่าค่า PE ที่บัฟเฟตต์จ่ายจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 20 เท่าเศษ ๆ  ว่าที่จริงกฎข้อนี้ในอดีต บัฟเฟตต์ ใช้คำว่า “ราคาหุ้นต้องน่าสนใจมาก ๆ”  นี่อาจจะเป็นเพราะว่าในระยะหลัง ๆ  การหาหุ้นถูกที่มีขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายในการซื้อหรือเทคโอเวอร์นั้นยากมาก  เขาจึงใช้คำว่าราคาต้องมีเหตุผลหรือไม่แพงแทนคำว่าราคาถูกหรือถูกมาก

            ก่อนจะจบนั้น  ผมอยากจะเสริมว่า  ในกรณีที่เป็นการเทคโอเวอร์บริษัท  สิ่งที่บัฟเฟตต์เน้นอีกข้อหนึ่งก็คือ  เขาต้องการกิจการที่สามารถทำกำไรได้ดีวัดจากผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต้องสูงพอและบริษัทควรจะไม่มีหนี้หรือมีหนี้น้อย  ในกรณีของหุ้นจดทะเบียนในตลาดเองนั้น  เขาอาจจะไม่ได้พูดย้ำหรือเน้น  แต่ผมคิดว่าเกณฑ์หรือแนวความคิดก็คงคล้ายกัน  อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ข้อนี้คงมีความยืดหยุ่นมากกว่าเรื่องอื่น


            เกณฑ์ 4 ข้อของบัฟเฟตต์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  ดูแล้วก็  “ธรรมดาและง่ายมาก”  แต่คนส่วนใหญ่หรือแม้แต่ “มืออาชีพ”  เองก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  การถือหุ้นยาวแบบ  “ไม่มีกำหนด”  และไม่สนใจหรือไม่หวั่นไหวกับการขึ้นลงของราคาหุ้นและดัชนีตลาด ประเด็นก็คือ  คนที่ใช้หลักการของบัฟเฟตต์นั้นมักจะมีเวลาที่กำหนด  เช่น  ต้องรายงานผลการลงทุนรายเดือนหรือรายปีหรือต้องการใช้เงินในเวลาที่กำหนด  บางคนเมื่อลงทุนซื้อไปแล้วหุ้นไม่ขึ้นในระยะเวลาที่หวังก็เริ่มไม่แน่ใจว่าหลักการของบัฟเฟตต์ยังใช้ได้ไหมในช่วงเวลานี้   บางคนอาจจะเชื่อหลักการแต่คิดว่าตนเองวิเคราะห์ผิดหรือไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะบอกได้ว่าหุ้นหรือบริษัทนั้นเข้าเกณฑ์มีความได้เปรียบที่ยั่งยืนจริงไหม  และสุดท้ายก็คือ  คนจำนวนมากไม่แน่ใจเรื่องราคาหุ้นว่า PE เท่าไรจึงจะเรียกว่ายุติธรรมหรือมีเหตุผล  ทั้งหมดนี้ทำให้คนจำนวนมากมักจะ  “อ้าง”บัฟเฟตต์  แต่ไม่ปฏิบัติตาม  เขารอไม่ได้หรือไม่อยากรอ  และในเกมของการลงทุนนั้น  คนรอไม่ได้ก็คือ  “ผู้แพ้”

Monday, May 23, 2016

อนาคตกับรถยนต์ไฟฟ้า / โดย คุณชาย มโนภาส คนขายของ



“ตู้เย็น” เริ่มเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประจำบ้านราวๆปี 1920 ในช่วง 15 ปีแรกของการออกสู่ตลาด ยอดขายของตู้เย็นนั้นโตแต่คิดเป็นมูลค่าไม่มาก ทั้งนี้เพราะปัจจัยเช่น ราคายังสูง ผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคย ทำให้มูลค่าตลาดยังเล็ก แต่หลังจากนั้น ในช่วงปี 1935-1960 ยอดขายตู้เย็นทั่วโลก ได้เติบโตขึ้นเป็น อย่างมาก เรียกว่าเป็นยุคทองของการขายตู้เย็น แต่ในยุคต่อมาตลาดดูเหมือนจะอิ่มตัว ทุกบ้านเริ่มมีตู้เย็น กันหมดแล้ว การเติบโตสูงๆในอดีตก็หมดไป ตลาดตู้เย็นกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ แต่ไม่ได้ขายดีเหมือน แต่ก่อน วัฏจักรทำนองนี้มีมาต่อเนื่องหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์สี ที่เริ่มในปี 1960 หรือ โทรศัพท์ มือถือ ในปี 1985 วงจรที่มีลักษณะที่ เติบโตในตอนต้น พุ่งขึ้นด้วยอัตราเร่งที่สูงมากในตอนกลาง และชะลอ ตัวลงในตอนท้ายนั้น เป็นวงจรที่ฝรั่งเขาเรียกว่า “S-Curve”

อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ ที่รู้จักกันดีในนาม Electric Vehicle (EV) เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่ถูกกล่าวถึงว่าอยู่ในช่วงต้นของ S-Curve ที่ตลาดกำลังเติบโต แต่ยังเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ขนาดของมูลค่าตลาดจึงยังไม่ใหญ่มาก ข้อมูลจากสถาบัน ZSW ของเยอรมันได้รวบรวมว่า จำนวน EV ในโลกในช่วง ปี 2013 อยู่ที่ หนึ่งแสนคัน ในปี  2014 ตลาดขยายตัว 100% ปี 2015 ขยายตัว 83% และในปี 2016 ตลาด EV คาดว่าจะขยายตัว 76% มาอยู่ที่ราวๆ 560,000 คัน แล้วบริษัทไหนที่ผลิต EV ออกมาแล้วมี ยอดขายสูงสุด? ใช่ค่ายรถยนต์ชื่อดังหรือเปล่า? คำตอบที่ได้อาจจะทำให้หลายคนแปลกใจ เพราะ TESLA ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตรถยนต์ราวห้าหมื่นคันในปี 2015 ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับแชมป์ระดับโลกอย่าง TOYOTA ที่ผลิตรถถึงสิบล้านคัน แต่ TESLA กลับได้เป็นแชมป์โลกในตลาดของรถไฟฟ้า ในด้าน ยอดขายเป็นตัวเงิน ไม่ใช่จำนวนคัน)



จากยอดขายรถยนต์ทั่วโลกในปี 2015 ที่ราว 83 ล้านคัน เราจะเห็นได้ว่าส่วนแบ่งการตลาดของ EV ตอนนี้อยู่ที่แค่ราว 0.4% เท่านั้นเอง TESLA ประเมินว่าในปีนี้จะสามารถส่งมอบรถยนต์ได้เกือบ 1 แสนคัน หรือโตขึ้น 100% จากปี 2015 สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ภายในปี 2040 รถ EV จะมีส่วน แบ่งราว 35% ของรถยนต์ทั้งหมด ทำไมตลาด EV ถึงมีการขยายตัวที่สูงมาก? ผมคิดว่าเป็นเพราะ หนึ่ง แรงจูงใจเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาลในหลายประเทศ อย่างเช่นที่นอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่มี สัดส่วนของ EV มากที่สุดในโลก ราว 25% ของรถใหม่ในตลาด รัฐบาลยกเว้นภาษี VAT 25%, ค่าผ่านทาง Toll Road) ฟรี, วิ่งเข้าเลนรถเมล์ได้ และ จอดรถในตัวเมืองได้ฟรี ประเด็นผลักดันที่สอง คือ ราคารถ EV ที่มีแนวโน้มที่ลดลง ทั้งนี้เนื่องจากราคาของ Lithium-ion Battery ซึ่งเป็นเหมือนหัวใจของรถยนต์ EV มีราคาลดลงจาก 1,000$ ต่อ KWH ในปี 2010 มาเหลือเพียง 380$ ในปี 2015 และ ประเด็นที่สาม คือการตื่นตัวเรื่องโลกร้อน ของรัฐบาลและประชาชน ทำให้มีกฎควบคุมเรื่องการปล่อยมลพิษของรถยนต์ ซึ่ง EV ไม่มีปัญหาเรื่องมลพิษของไอเสีย เพราะไม่มีเครื่องยนต์ที่มีการจุดระเบิด

แต่ถึงกระนั้นโลกของ EV ก็ไม่ได้สวยหรูไปหมดทุกอย่าง ยังมีอีกหลายปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ระยะทางที่วิ่งต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งในตอนนี้รถ EV ในเซกเมนท์ประหยัด วิ่งได้แค่ 250 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปที่ใช้น้ำมันในตอนนี้ วิ่งได้ถึง 500-600 กิโลเมตรเมื่อเติมน้ำมันเต็มถัง นอกจากนั้น เรื่องแท่นชาร์จไฟ ก็ยังเป็นปัญหาหลักเมื่อวิ่งออกไปนอกเมือง ตอนนี้ TESLA ต้องมาลงทุน เรื่องสถานีชาร์จไฟเองเพื่อตอบสนองลูกค้า ระยะเวลาในการชาร์จก็ยังเป็นปัญหา ในตอนนี้เครื่องชาร์จแบบเร็วที่สุดจะใช้เวลาราว 30 นาที แต่ก็ยังเป็นเวลาที่ยาวนานกว่าการเติมน้ำมันเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่ ในปัจจุบัน ที่ชาร์จที่พบทั่วไปในที่สาธารณะจะเป็นแบบ 2.5 ชั่วโมง ซึ่งก็ดูเหมือนจะไม่สะดวกเท่าไรนัก และประเด็นอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องราคา รถ EV ส่วนใหญ่ยังมีราคาสูง อย่าง BMW i8 ที่อเมริกาขายราคา 4.9 ล้านบาท TESLA Model S ราคา 2.45 ล้านบาท หรือ แบบประหยัดอย่าง Nissan Leaf ก็ตกราว 1.15 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคา Honda Civic ที่ 7 แสนบาท ก็ดูเหมือนว่า EV ยังเป็นรถราคาสูงอยู่

อุตสาหกรรม EV ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของ S-Curve ดูเหมือนว่าตลาดนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆจากแรง ผลักดันจากหลายภาคส่วน โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นอุตสากรรมที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะศักยภาพของ ตลาดนี้ยังสามารถโตไปได้อีกยี่สิบปี บริษัทอย่าง TESLA ซึ่งหันมาโฟกัสทางด้านนี้ ในปี 2010 มียอดขาย แค่เพียง 117 ล้านเหรียญ แต่กลายมาเป็น 4 พันล้านเหรียญในปี 2015 ถึงแม้ว่าตอนนี้บริษัทยังไม่มีกำไร เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางด้านวิจัยและพัฒนาที่สูงขึ้น แต่อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในปีล่าสุด สามารถทำได้ ในระดับเดียวกับ TOYOTA และ HONDA ณ เวลานี้คงยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าใครจะเป็นผู้ชนะในศึก EV ของวงการรถยนต์ เพราะในช่วงแรกของ S-Curve เมื่อทุกคนเห็นว่าตลาดเติบโต จะมีผู้สนใจเข้ามา ร่วมแข่งขันกันเป็นอย่างมาก หากเรานึกถึงตลาดชาเขียวในเมืองไทยเมื่อราวสิบปีก่อน จะเห็นได้ว่ามีหลาก หลายแบรนด์ แต่ตอนนี้หลักๆคือแค่สองแบรนด์ ตลาด EV นั้นคงต้องผ่านการต่อสู้กันอย่างดุเดือดเช่นกัน ก่อนที่จะรู้แน่ชัดว่า ใครกันจะได้ขึ้นเป็นผู้นำตลาดเมื่อการดีดตัวอย่างรุนแรงของ S-Curve มาถึง

Monday, May 16, 2016

Sell in May and go away /โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร



นักวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้น   มักจะพูดถึงแต่เรื่องทาง “เทคนิค”  นั่นคือพูดถึงแต่เรื่องตัวเลข  แนวรับแนวต้าน  เส้นกราฟต่าง ๆ  อย่างเป็นงานเป็นการ  พวกเขาจะต้องทำตัวให้ดูเคร่งขรึม  “น่าเชื่อถือ”  คนที่ใช้ต้องมี “วินัย”  เพื่อที่จะไม่ตัดสินใจผิดพลาด  การ “ไม่เชื่อกราฟ” นั้นดูเหมือนว่าจะทำให้การเล่นหุ้นแบบเทคนิค “ผิดพลาดมากที่สุด”  อย่างไรก็ตาม  หลังจากที่เทคนิคต่าง ๆ  ถูกศึกษาและมีการนำมาใช้กว้างขวางและ “อยู่ตัวแล้ว”  พวกเขาก็เริ่มที่จะหาอะไรที่มี “สีสัน” มาเล่นมากขึ้น  และต่อไปนี้ก็คือเรื่องที่มีการพูดหรือใช้กันต่อเนื่องมาช้านาน  บางเรื่องหรือบางเทคนิคก็มีการศึกษาต่อเนื่องกันมาและในตลาดหุ้นอื่น ๆ  ซึ่งก็ใช้ได้หรือถูกต้องบ้างไม่ถูกต้องบ้าง   บางเรื่องก็ใช้ไม่ได้เลยหรือพิสูจน์ไม่ได้ทั้งในตลาดเดิมและในตลาดอื่น  อย่างไรก็ตาม  เรื่องที่มีสีสันเหล่านั้นก็มักจะถูกยกขึ้นมากล่าวอยู่เรื่อย ๆ  จนคนรุ่นหลังคิดว่ามันเป็นเทคนิคที่ใช้ได้จริง ๆ  หรือมีโอกาสถูกต้องในระดับหนึ่ง

เรื่องแรกที่ผมจะพูดก็คือคำกล่าวที่ว่า  Sell in May and go away เพราะขณะนี้เรากำลังอยู่ในเดือน May หรือเดือนพฤษภาคมและนักวิเคราะห์บางคนก็นำมาพูดแนะนำว่านักลงทุนควรขายหุ้นไปก่อนและออกจากตลาดหุ้นจนกว่าจะถึงเดือนตุลาคม   บางคนก็แนะนำว่าเดือนพฤษภาคมปีนี้เราไม่ควรขายแต่ควรจะซื้อ  เสร็จแล้วก็ยกเหตุผลต่าง ๆ  นา ๆ มาประกอบในการวิเคราะห์   ราวกับว่าหุ้นในเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมของทุกปีนั้นมักจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่นของปี

ผมเองในฐานะที่เรียนทางด้านการลงทุนจนจบปริญญาเอกก็ไม่เคยพบว่ามีการศึกษาที่พบว่าเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นจะตก  ผมเข้าใจว่าครั้งหนึ่ง..นานมาแล้ว  คงจะมีนักลงทุนบางคนพูดขึ้นมาหรือเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้  หลังจากนั้นก็อาจจะปรากฏว่าหุ้นตกลงมาอย่างแรงจริงในเดือนพฤษภาคม  หลังจากนั้นก็อาจจะมีคนมาพูดย้ำ   คำพูดที่ว่า Sell in May and go away เองก็เป็นคำพูดที่มีเสียงคล้องจองกันฟังแล้วจำได้ทันที  หลังจากนั้น  พอถึงเดือนพฤษภาคมครั้งใด  คนก็จะพูดกันว่าหุ้นอาจจะตก  และพอปีไหนที่หุ้นตกจริง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตกแรง  คนก็จะยิ่งเชื่อว่าหุ้นมักจะตกในเดือนพฤษภาคม  ส่วนปีใดที่หุ้นไม่ตก  คนก็จะไม่พูดถึง  ผลก็คือ  สมองของนักลงทุนทั่วไปนั้นได้รับการ “ย้ำ” ความเชื่อที่ว่าเดือนพฤษภาคมอาจจะไม่ใช่เดือนที่ดีในแง่ของการลงทุนและควรขายหุ้นไปก่อน

ความเป็นจริงก็คือ  จากการศึกษาตลาดหุ้นในสหรัฐกลับพบว่าตลาดหุ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมนั้นมักจะขึ้นมากกว่าลง  การศึกษาในตลาดหุ้นไทยนั้นผมไม่แน่ใจ   แต่คิดว่าเรื่อง Sell in May and go away นั้นไม่น่าจะเป็นจริง  พูดง่าย ๆ  เป็นเรื่องที่บังเอิญมีการพูดกันเล่น ๆ  นานมาแล้ว  และคนก็จะพูดต่อ ๆ  กันไปทั้ง ๆ  ที่ไม่เป็นความจริงเลย  ดังนั้น  เรื่องนี้เราไม่ควรจะไปยึดถืออะไรจริงจัง  แต่เชื่อเถอะว่าในปีต่อไปคนก็จะพูดอีกเวลาถึงเดือนพฤษภาคม

เรื่องที่สองก็คือ  January Effect  หรือเดือนมกราคมเป็นเดือนที่หุ้นมักจะขึ้น  เรื่องนี้มีการศึกษาจริงในตลาดสหรัฐในช่วงเวลาหนึ่งที่ยาวพอสมควรและสามารถสรุปได้ว่าเรื่องนี้เป็นจริง  เหตุผลที่หุ้นมักจะขึ้นก็ได้รับการอธิบายว่าเป็นเรื่องของการที่สถาบันลงทุนอาจจะขายหุ้นที่  “ขาดทุน”  ก่อนสิ้นปีเพื่อจะได้ “ลดภาษี” นิติบุคคล  เสร็จแล้วพอขึ้นปีใหม่ก็กลับไปซื้อหุ้นคืนทำให้หุ้นขึ้น  บ้างก็บอกว่าในเดือนมกราคมนั้น  คนมักจะมีความหวังและมองโลกในแง่ดีจึงเข้าไปซื้อหุ้นมากกว่าปกติทำให้หุ้นขึ้น  โดยเฉพาะในช่วงสองสัปดาห์แรกของปี  การศึกษาในตลาดหุ้นหลายประเทศก็พบว่าได้ผลคล้าย ๆ  กัน  อย่างไรก็ตาม  หุ้นที่ขึ้นดีมักจะเป็นหุ้นตัวเล็กที่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นสูงกว่าปกติและบางทีก็มีสภาพคล่องต่ำซึ่งทำให้กำไรที่จะได้รับนั้นถูกค่าคอมหรือส่วนต่างราคาซื้อขายหุ้นกินหมด  พูดง่าย ๆ  ก็คือ  ในทางปฏิบัติแล้ว  วิธีนี้ทำกำไรไม่ได้จริงหรือไม่คุ้ม  และบางปีหรือบางช่วง  January Effect ก็ไม่เกิด  ดังนั้น  ผมคิดว่านี่ก็เป็นเรื่องที่เอาไว้พูดเล่น ๆ  เท่ ๆ  มากกว่าที่จะเป็นเรื่องจริงจัง

เรื่องที่สามคือเรื่องของการซื้อขายหุ้นแบบ Odd-Lot หรือซื้อขายไม่ครบ 100 หุ้นหรือ “เศษหุ้น”  นี่เป็นเรื่องของการซื้อขายของนักเล่นหุ้นรายย่อยในสหรัฐที่มีเงินไม่พอซื้อหุ้นครบล็อตเนื่องจากหุ้นในสหรัฐมักจะมีราคาสูง ราคาหุ้นมาตรฐานมักจะอย่างน้อยหลายสิบเหรียญต่อหุ้น    เทคนิคการซื้อขายหุ้นในเรื่องนี้ก็คือ  ดูว่าคนที่เล่นหุ้น Odd-Lot ซื้อ  เทียบกับที่ขาย  ถ้าเมื่อไรคนกลุ่มนี้ซื้อมากกว่าขายก็แปลว่ารายย่อยเข้ามาซื้อหุ้นซึ่งเป็นสัญญาณว่า  “หมู”  กำลังเข้าตลาด  และถ้าพวกเขาซื้อหุ้นตัวไหน  เราก็ต้องขายหุ้นตัวนั้น  เพราะพวกรายย่อยซึ่งถูกตั้งสมมุติฐานว่า “ลงทุนไม่เป็น”  มักจะ “ผิด” เสมอ

ข้อมูลจากการศึกษาพบว่านักลงทุนรายย่อยนั้น  ไม่  “หมู”  เท่าไรนัก  ผลตอบแทนของพวกรายย่อยอาจจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลาดเพียงเล็กน้อย  แต่นี่ไม่พอที่เราจะใช้ตัวเลขขายหรือซื้อสุทธิของรายย่อยมาทำกำไรในตลาดได้   ในกรณีของตลาดหุ้นไทยนั้น  ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ  เราสามารถดูว่านักลงทุนรายย่อยซื้อหรือขายสุทธิได้ทุกวันโดยตรงอยู่แล้ว  ถ้าเราคิดว่านักลงทุนรายย่อยเป็น  “หมู”  หรือ  “แมงเม่า”  เราก็สามารถใช้ข้อมูลการซื้อขายหุ้นสุทธิมากำหนดเป็นกลยุทธ์ในการซื้อขายหุ้นได้  เช่น  ถ้านักลงทุนรายย่อยซื้อ  เราต้องขาย  แต่ถ้ากลุ่มนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ  เราก็ซื้อ  เราอาจจะเรียกทฤษฎีนี้ให้เท่ว่าเป็น  “ทฤษฎีแมงเม่า”  ก็ได้  ผมเองไม่แน่ใจว่ามีใครศึกษาเรื่องนี้ในตลาดหุ้นไทยไหม  แต่ครั้งหนึ่งนานมาแล้วสมัยที่ตลาดหุ้นไทยยังเล็กและไม่คึกคักอย่างทุกวันนี้  ผมเคยศึกษาและพบว่า  ช่วงไหนที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ  ตลาดหุ้นจะขึ้น  ถ้า “ฝรั่ง” ขาย  หุ้นก็ตก  รายย่อยเป็น “แมงเม่า”  ที่มักจะถูก “กิน” เสมอ    ในปัจจุบันนั้น  ผมเองไม่แน่ใจว่านักลงทุนกลุ่มไหนเป็น “หมู” หรือเป็น “เซียน”  ดังนั้น  ผมเองก็คิดว่าเทคนิคนี้ก็ไม่น่าจะใช้ได้ในตลาดหุ้นไทย

ทฤษฎีที่ดูแล้วไม่เกี่ยวกับหุ้นเลยแต่คนก็นำมาพูดกันและหลายคนก็อาจจะเชื่อก็คือ  “ดัชนีชายกระโปรงหรือกางเกง”  ของผู้หญิง  หลักการง่าย ๆ  ก็คือ  ตอนต้นปีเราก็ตรวจสอบหรือคาดการณ์ดูว่าแฟชั่นกระโปรงหรือกางเกงของผู้หญิงจะเป็นอย่างไร  ดัชนีตลาดหุ้นในปีนั้นก็จะเป็นอย่างนั้น  เช่น ถ้าแฟชั่นเป็นมินิสเกิร์ตหรือกางเกงขาสั้น  ราคาหุ้นก็มักจะปรับขึ้นไปเป็นกระทิง  แต่ถ้าเป็นกระโปรงกรอมเท้าหรือกางเกงขายาว  หุ้นก็ตกลงมา  “ที่พื้น”  คนที่คิดและเสนอเรื่องนี้ถึงกับแสดงดัชนีหุ้นกับชายกระโปรงให้เห็นซึ่งก็ดูสอดคล้องกันพอสมควรย้อนหลังไปถึงร้อยปี  อย่างไรก็ตาม  หลายครั้งก็ผิดพลาดเช่น  ช่วงสมัยที่ผมเป็นวัยรุ่นราวปี  1970 ที่มินิสเกิร์ตเป็นที่นิยมมาก หุ้นกลับตกลงมา  แต่ที่อาจจะทำให้คนทึ่งและจดจำได้แม่นก็คือ  ในปี 1987 ที่ช่วงต้นปีตลาดหุ้นขึ้นไปแรงมากถึงกว่า 40% ในหนึ่งปีซึ่งตรงกับช่วงที่ผู้หญิงนุ่งกระโปรงสั้นมาก  แต่แล้วพอถึงเดือนตุลาคมอากาศก็เย็นลงและแฟชั่นก็ “เปลี่ยนกระทันหัน”กลายเป็นกระโปรงกรอมเท้า  และนั่นก็ตรงกับ  “Black Monday”  ที่ตลาดหุ้นตกลงมาเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก  ในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม วันเดียว ตลาดหุ้นตกลง 508 จุดหรือ 22.6% ตกหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นอเมริกา  และนั่นก็คงมีส่วนที่ทำให้คนพูดถึงเรื่องชายกระโปรงนี้ไปอีกนาน

ยังมีเรื่องราวหรือเครื่องชี้แปลก ๆ  ที่โยงไปถึงการคาดการณ์ตลาดหุ้นที่  “ไม่จริง” อีกหลายเรื่องที่คนพูดถึงกันอยู่เรื่อย ๆ  บางเรื่องก็อาจจะ  “เคยจริง”  แต่ตอนนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว  ซึ่งนี่ก็เป็นธรรมชาติของตลาดหุ้นที่คอย “ปรับตัวเอง” เสมอที่จะทำให้ไม่มีใครสามารถใช้เทคนิคที่จะทำกำไรได้งามอย่างง่าย ๆ  ดังนั้น  เราในฐานะที่เป็นนักลงทุนจึงไม่ควรจะหวังที่จะ “ชนะ” โดยทำอะไรที่คนอื่นก็รู้และทำกันง่าย ๆ   จำไว้ว่าการทำกำไรสูง ๆ  ได้ในตลาดหุ้นนั้น  ยากมาก

Thursday, May 12, 2016

วางแผนเวลาแบบ VI /โดยคุณวีระพงษ์ ธัม






  เวลาคือเพื่อนที่ดีที่สุดของนักลงทุน และนี่คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดที่เราจำเป็นต้องบริหาร ชีวิตจะเป็นอย่างไรถ้ามีแต่ความยุ่งเหยิง วุ่นวาย มนุษย์ต้องการเวลาที่ดี ที่เราจะสามารถมีความสุขกับมัน และหลีกเลี่ยงหรือจำกัดเอาเวลาเครียด ๆ ที่เราต้องกดดันให้น้อยลง การลงทุนคือกิจกรรมที่เราต้อง “ลงทุนเวลา” เพื่อจะมีเวลาที่ดีในอนาคต แต่ VI ส่วนมากจะต้อง “ทำงานอย่างน้อยสองอย่าง” คือ งานประจำ และต้องเจียดเวลามาศึกษาการลงทุน ไม่นับเวลาที่ต้องให้กับครอบครัว ซึ่งปัญหาส่วนมากคือ เวลาไม่เคยเพียงพอซักที คำถามคือ VI มือใหม่ควรจะบริหารเวลาอย่างไร?


            แนวคิดในการบริหารเวลามีหลากหลาย แต่ผมขอใช้วิธีคิดของนักกลยุทธ์อย่าง Dan Sullivan ซึ่งแบ่งเวลาออกเป็น 3 วัน คือ วันพัก (Free day) วันจดจ่อ (Focus day) วันจัดระบบ (Buffer day) เพื่อให้การบริหารเวลามีประสิทธิภาพเราควรจะจัดเวลาทั้งสามวันออกจากกันอย่างชัดเจน และเราไม่ควรแบ่งเวลาออกเป็นวันหยุด วันทำงาน หรือวันนักขัตฤกษ์ เหมือนคนทั่วไปเพราะมีประสิทธิภาพน้อย

            วันพัก (Free day) คือวันที่ตั้งแต่เช้า จรดค่ำ เราจะไม่ยุ่งกับงานเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคิดงาน ติดต่องาน โทรศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับงาน เพื่อไปทำกิจกรรมที่เรารู้สึกชอบ ผ่อนคลาย ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมก็เห็นเพื่อนจำนวนมากเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศ ใช้เวลากับกิจกรรมครอบครัว โดยที่เราจะพบว่า “วันหยุดยาว” ลักษณะนี้จะทำให้เรามีโอกาสพักผ่อนได้มากที่สุด เพราะทุกคน “พร้อมใจ” กันหยุด และไม่ติดต่องานกัน ผู้คนโดยเฉพาะในโลกตะวันออกอย่างบ้านเรามักคิดว่า “วันพัก” ที่ยาวนาน แสดงถึงความไม่ขยันในการทำงาน แต่ผมกลับสังเกตในโลกตะวันตก พวกเขามี “วันพัก” ในฤดูร้อนยาวนานถึงสองเดือน ในวันเสาร์อาทิตย์ก็ไม่มีใครทำงาน แต่กลับมีผลผลิตรายได้ต่อหัวสูงกว่าเราค่อนข้างมาก เพราะนี่คือการ “เติมพลัง” ให้ชีวิต “เติมไอเดีย” ให้กับสมอง โดยที่ผลผลิต และวันพักที่ดีที่สุด คือวันพักที่มีการวางแผนล่วงหน้า ยิ่งล่วงหน้าเท่าไหร่ ยิ่งดี

            วันจดจ่อ (Focus day) คือวันที่ตั้งแต่เช้า จรดค่ำ เราจะทำแต่งานที่ “สร้างมูลค่า” โดยไม่วอกแวกทำอย่างอื่น งานที่เราจดจ่อต้องเป็นงานที่ “เปลี่ยนชีวิต” ในอนาคตในอีกสามปีของเราได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่เป็นเพียงงานที่เราทำไปวัน ๆ วันจดจ่อจะต้องเป็นวันที่ส่งผลบวกกับเราในอนาคต และถ้าเราทำได้อย่างถูกต้อง เราจะต้องรู้สึกถึงความก้าวหน้า รู้สึกถึงการมีพลัง แรงบันดาลใจอย่างต่อเนื่อง การทำงานในวันจดจ่อจะมีประสิทธิภาพได้จะต้องไม่ถูกรบกวนด้วยสิ่งอื่น ๆ สมองก็มี “Switching Cost” ไม่ต่างกับหลัก ในเชิงเศรษฐศาสตร์ นักจิตวิทยาทำงานวิจัย พบว่าสมองมนุษย์ต้องใช้เวลานาน 20 นาที ถึงจะเริ่มสามารถกลับสู่การทำงานเดิมได้ และใช้เวลาต่อจากนั้นอีกระยะถึงกลับสู่ “ศักยภาพสูงสุด” ของสมองได้ สมองไม่ได้ออกแบบให้ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ดังนั้นใครที่ทำงานไป ฟังเพลงไป เล่น Facebook ดู Line ในแต่ละครั้ง จะบั่นทอนประสิทธิภาพของวันจดจ่อไปมากโดยที่เราไม่รู้ตัว

            สำหรับ VI มือใหม่ วันจดจ่อน่าจะเป็นวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ที่เราจะใช้เวลาทั้งหมด สำหรับการศึกษาตั้งแต่ “ทฤษฎีการลงทุน” ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ การวิเคราะห์ธุรกิจ วิเคราะห์อุตสาหกรรม การบัญชี การเงิน การประเมินมูลค่า จนเมื่อเราสามารถตั้งหลักในเรื่องทฤษฎีการลงทุนได้แล้ว เราก็เริ่มนั่งวิเคราะห์หุ้นรายตัว ทำการจดบันทึกสิ่งที่เราวิเคราะห์ นั่งอ่านรายงานประจำปี 56-1 นอกจากนั้นเราต้องไม่ลืมว่า วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เราต้อง “จดจ่อ” กับงานที่เราทำ ทำให้ผลลัพท์ดีกว่าที่ทุกคนคาดหวัง ทำให้เร็วกว่า เพื่อที่เราจะไม่มี “งานค้าง” หรือ “ความกังวล” ที่จะต้องถูกคนตามงาน ในเวลาที่เราต้องมาศึกษาการลงทุน
            วันจัดระบบ (Buffer day) เปรียบเหมือนวันซักซ้อม วันวางแผนในรายละเอียดต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้เวลาเพื่อที่จะคิดว่าเราจะเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อเป็นตัวเชื่อมไปสู่ “วันพัก” หรือ “วันจดจ่อ” ที่มีคุณภาพ ตัวอย่างเช่น วันจัดระบบคือการเวลากับการวางแผนท่องเที่ยว เพื่อให้การท่องเที่ยวสามารถพักผ่อนได้ดีที่สุด ได้เที่ยวอย่างที่อยากได้ไป ในทางกลับกัน นี่คือวันที่เคลียร์สิ่งที่ค้างอยู่ กองเอกสารที่รกบนโต๊ะ งานจุกจิกที่เราจะต้องทำ


            ปัญหาของคนส่วนมากคือ ไม่เคยมีวันจดจ่อ ทำงานไปวันต่อวัน ไม่เคยจัดระบบชีวิต และสุดท้ายก็ทำให้มีวันพักเหลือน้อยมาก จนรู้สึกว่าเหนื่อยแต่ชีวิตที่ไม่ไปไหน

            คำถามสำคัญอีกเรื่องคือ เราควรจัดวันอะไรก่อน? เพื่อลงปฏิทินล่วงหน้า คำตอบซึ่งค่อนข้างน่าประหลาดใจของ Dan คือ เราต้องจัดวันพักก่อน เพราะนี่คือการจัด “แหล่งพลังงาน” ของเรา เราต้องวางมันให้เหมาะสม กระจายตัว เพื่อหวังว่ามันคือ “เชื้อเพลิง” ให้ชีวิตของเรา ให้เรามีวันจดจ่อที่ “ทรงพลัง”

            สำหรับนักลงทุน ถ้าทุกอย่างถูกต้อง คุณจะพบว่าหลายครั้ง ทั้งสามวันอาจจะค่อย ๆ กลายเป็นวันเดียวกัน เราหาหุ้นดี ๆ โอกาสดี ๆ ไอเดียดี ๆ จากริมชายหาดในวันพัก หรือบนเครื่องบินที่มุ่งหน้าสู่ยุโรป นอกจากนั้น เราอาจจะรู้สึกว่าแม้เวลาจะมีไม่เพียงพอเหมือนเดิม แต่เรารู้สึกพอใจกับการใช้เวลาของเราที่ผ่านมา และไม่เสียใจเมื่อมองย้อนกลับไป

Monday, May 9, 2016

เรื่องของแต้มต่อ / โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล

 
  การได้แชมป์พรีเมียร์ลีกอังกฤษของทีมฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ต้องถือว่าเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก  คงมีคนที่จะ “วิเคราะห์” และพูดถึงเหตุการณ์นี้จำนวนมาก  คนที่อยู่ในแวดวงฟุตบอลทั่วโลกคงจะพูดถึงเรื่องของการ “ทำทีม” ที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งของเลสเตอร์ซิตี้ที่สามารถนำชัยชนะทั้ง ๆ  ที่ไม่ได้มีดาราระดับซุปเปอร์สตาร์ที่โดดเด่นเลย  บางคนโดยเฉพาะที่เป็นคนไทยก็อาจจะเชื่อว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับ  “สิ่งศักดิ์สิทธ์” ที่เจ้าของสโมสรใช้ “ช่วย” ในการแข่งขันซึ่งก็มักจะเป็น “ปัจจัยสำคัญ” สำหรับคนไทยที่เชื่อในเรื่องเหล่านี้มากกว่าอีกหลาย ๆ  สังคมอยู่แล้ว  เหตุผลก็เพราะว่าก่อนเริ่มฤดูการแข่งขันนั้น  ทีมเลสเตอร์ซิตี้ถูกมองว่าเป็นทีม  “รองบ่อน”  ที่แทบไม่มีโอกาสจะชนะเลยมองจากตัวผู้เล่น  ผลงานในอดีตและอื่น ๆ  ว่าที่จริงปีก่อนหน้านี้ทีมยังแทบจะ “เอาตัวไม่รอด”  จากการที่จะยังสามารถเล่นอยู่ในลีกระดับสูงสุดนี้   ตัวเลขการ “ต่อรอง”  สำหรับคนที่ต้องการพนันว่าเลสเตอร์จะชนะก็คือ  5000-1 ซึ่งก็คล้าย ๆ  กับว่ามีเพียงคนเดียวที่คิดว่าเลสเตอร์จะชนะจาก “ผู้เชี่ยวชาญ” เรื่องฟุตบอล 5000 คน

            ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับฟุตบอลมากนัก  แต่ผมรู้จัก  “แต้มต่อ” ของการพนัน  เพราะเรื่องของแต้มต่อนั้น  เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากถึงมากที่สุดในการที่จะกำหนดว่าเราจะชนะหรือแพ้พนัน—ในระยะยาว   จริงอยู่ที่ผม  “ไม่เล่นการพนัน”  แต่นั่นคือการพนันในความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจเช่น  การเล่นไพ่หรือการเล่นพนันต่าง ๆ  ในคาสิโน  การเล่นม้า  การเล่นพนันฟุตบอล  หรือแม้แต่การเล่นหวยหรือล็อตเตอรี่ ซึ่งสิ่งต่าง  ๆ  เหล่านี้ผมไม่เล่นอยู่แล้ว  เหตุผลก็คือ  ในเกม “พนัน”  เหล่านี้  คนที่เข้าไปเล่นนั้นมักจะแพ้เสมอในระยะยาวโดยเฉพาะคนที่ไม่มีความรู้  ส่วนคนที่ชนะนั้นก็มักจะเป็น  “เจ้ามือ”  ที่เป็นคนกำหนด  “แต้มต่อ”  ของการพนัน  เช่น  เจ้ามือหวยที่กำหนดว่าแทงถูกเลขท้าย 2 ตัวจะจ่าย 60 บาท แต่ถ้าแทงผิดจะถูกกิน  ซึ่งในระยะยาวแล้ว  เจ้ามือก็มักจะกำไร 40 บาทโดยเฉลี่ย  เพราะโอกาสที่จะถูกนั้นอยู่ที่ 1 ใน 100  คนแทง 100 คนจะถูกเพียง 1 คน  ดังนั้นเจ้ามือก็จะกินเงิน 100 บาท แต่จ่ายให้กับคนเพียงคนเดียวที่แทงถูกจำนวน 60 บาท  นี่เป็นเรื่องของสถิติโดยแท้  เพราะตัวเลขหวยที่ออกนั้นไม่มีใครทำนายได้ไม่ว่าจะเป็น “เกจิอาจารย์” สำนักไหน

            แต่จริง ๆ  แล้วผมเป็น  “นักการพนัน”  ตัวยงก็ว่าได้  เพราะผมลงทุนในตลาดหลักทรัพย์  ผม “พนัน” ว่าหุ้นที่ผมซื้อไว้ในราคาหนึ่งนั้น  จะมีราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปนานพอ  อัตราการเพิ่มขึ้นรวมถึงการจ่ายปันผลจะสูงในระดับที่น่าพอใจเช่นปีละ 10-15% โดยเฉลี่ยแบบทบต้นในอีกไม่น้อยกว่า 5 ปีข้างหน้า  โดยที่ผมกล้าพนันแบบนั้นก็เพราะว่าผมวิเคราะห์แล้วผมเชื่อว่าบริษัทจะมีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องไปอีก 5 ปี กำไรของบริษัทจะเติบโตขึ้นเร็วถึงปีละ 10%  แบบทบต้น  และบริษัทจะเข้มแข็งที่ทำให้บริษัทอื่นไม่สามารถแย่งธุรกิจไปจากบริษัทได้  เป็นต้น

            คำถามก็คือ  แล้วใครมา “พนัน” กับผม  คำตอบก็คือ  “ตลาดหุ้น”  ซึ่งก็คือนักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นคนอื่นทั้งหมดรวมกัน  คนทุกคนที่เข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดนั้น  จริง ๆ  แล้วเขากำลัง “พนัน” กับคนทั้งตลาดว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นถูกต้องกว่าคนอื่น ๆ  ทั้งหมดรวมกัน  คนเล่นหุ้นหรือลงทุนนั้นมักคิดว่าเขา  “เก่ง”  และ  “รู้ดีกว่า”  คนอื่น ๆ  ทั้งหมดที่ “ร่วมกัน” มาเล่นหุ้นแข่งกับเขา  เพียงแต่ว่าคนที่รวมกันเหล่านั้นไม่ได้ปรึกษากันเป็นทางการ   พวกเขาใช้วิธี  “โหวต”  ผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์  โดยที่แต่ละคนนั้นก็มีข้อมูลความรู้และความเข้าใจต่อตัวหุ้นที่หลากหลาย  บางทีก็ขัดแย้งกัน  แต่สุดท้ายแล้วเมื่อ  “นับเสียง”  ของแต่ละคนก็จะได้ข้อสรุปว่าหุ้นตัวนั้นพวกเขาให้ราคาเท่าไร  พูดอย่างย่อและเข้าใจง่ายที่สุดก็คือ  เมื่อเราเข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็เท่ากับว่าเราเข้ามา  “พนัน” กับคนอื่นทุกคนว่าหุ้นตัวนั้นจะขึ้นหรือลงในอนาคต  คำถามต่อมาก็คือ  “แต้มต่อ”  อยู่ตรงไหน?

            นี่ก็ต้องกลับไปที่การเลือกหุ้นที่จะลงทุนซื้อข้างต้น   นั่นคือ  ผมอาจจะคาดการณ์ถูกต้องว่ากำไรของบริษัทก็เติบโตเป็นไปตามคาด  แต่ราคาหุ้นแทนที่จะขึ้นไปและให้ผลตอบแทน 10-15% ต่อปีนั้นกลับไม่ไปไหน  เหตุผลก็เพราะว่าหุ้นตัวนั้นมีค่า PE ในขณะที่ผมซื้อที่ 50 เท่า เวลาที่ผ่านไปนั้นแม้ว่ากำไรบริษัทจะเพิ่มขึ้นจริงแต่ค่า PE ของหุ้นกลับลดลงส่งผลให้ราคาหุ้นไม่ปรับตัวขึ้น  เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ  จนครบ 5 ปี  ค่า PE อาจจะลดลงมาจนเหลือ 20 เท่าโดยที่ราคาหุ้นไม่ขึ้นเลยแม้ว่าผลประกอบการจะดีขึ้นโดยตลอด  และนี่ก็คือสิ่งที่วงการหุ้นมักพูดว่า  แม้บริษัทจะดีมากแต่ถ้าซื้อในราคาที่แพงเกินไป PE 50 เท่า) คุณก็  “แพ้”  เพราะ  “แต้มต่อ”  ในกรณีนี้ก็ต้องเรียกว่า  “ต่ำมาก”

            ตรงกันข้าม  หุ้นบางตัวนั้นกิจการดูแล้ว  “แย่”  โอกาสทำกำไรเท่าที่เราดูแล้วต่ำมาก  บริษัทคู่แข่งก็มีเพียบแถมเก่งกว่า  โอกาสชนะในธุรกิจของบริษัทน้อยมาก  แต่ราคาหุ้นตัวนี้ถูกมาก  คิดเป็นค่า PE แล้วก็แค่ 5 เท่า  หรือเรียกว่า  “แต้มต่อ” สูงมาก  นี่ก็อาจจะคล้าย ๆ  กับทีมฟุตบอลลีกรองบ่อนที่ไม่มีคนสนใจและไม่มีใครคิดว่าจะชนะได้  ในกรณีแบบนี้  ถ้าเรามีข้อมูลและมีความสามารถวิเคราะห์ได้ว่าบริษัทจะดีขึ้นอย่างโดดเด่นในอนาคต  เราก็อาจจะ  “พนัน” กับ “ตลาด” ที่มองว่าบริษัทนั้นไม่ดีและมีโอกาสชนะน้อยได้

            โดยทั่วไปแล้ว  ในตลาดหุ้นที่  “พัฒนาแล้ว”  ตลาดจะมีความสามารถสูงมากในการ  “พนัน”  เหตุผลก็เพราะว่าตลาดนั้นประกอบไปด้วย  “ผู้เชี่ยวชาญ” จำนวนมากที่เอาข้อมูลและความสามารถในการวิเคราะห์มา “ร่วมกัน” กำหนดแต้มต่อของหุ้นแต่ละตัว   ราคาหุ้นที่จะ “รับพนัน”  กับเราจึงมักเป็นราคาที่ตลาดจะทำกำไรได้มากกว่าเรา  ตลาดนั้นรู้ว่าบริษัทไหนมีความสามารถในการทำธุรกิจสูงและได้กำไรดีและรู้ด้วยว่า  “แต้มต่อ” หรือราคาหุ้นที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร  อย่างไรก็ตาม  ในตลาดที่ยังไม่พัฒนามาก  หรือในหุ้นที่มีขนาดเล็กที่ตลาดยังไม่สนใจที่จะลงทุน  ราคาหุ้นที่ตลาด  “รับพนัน”  ก็อาจจะมี “แต้มต่อ”  ที่ผิดพลาด  และอาจจะทำให้เราที่อาจจะ “รู้มากกว่า”  สามารถทำกำไรจากการพนันในตลาดหรือตัวหุ้นได้

            กรณีของทีมเลสเตอร์ซิตี้นั้น  ในมุมมองของ “การพนัน” ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรมหัศจรรย์  ผมเองไม่แน่ใจว่าจะมีใครหรือเม็ดเงินมากแค่ไหนที่พนันเลสเตอร์ตั้งแต่ต้นฤดูการแข่งขันที่มีแต้มต่อ 5000-1  แต่คิดว่าคงมีน้อยมาก  และผมก็ไม่คิดว่าจะมีใครที่จะรวยจากการแทงเลสเตอร์ด้วยเพราะคงไม่มีใครกล้าลงเงินมาก ๆ  เพราะโอกาสที่จะชนะนั้นต่ำมากและโอกาสที่จะสูญเงินมีสูง  อย่างไรก็ตาม  โอกาสนั้นก็เกิดขึ้นแล้ว  แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตมันจะมีโอกาสเกิดสูงขึ้น  ทีมเลสเตอร์เองในฤดูกาลหน้าแต้มต่อก็คงลดลงมาก  อาจจะเหลือแค่ 4 หรือ 5 ต่อ 1 ซึ่งก็อาจจะทำให้ไม่คุ้มที่จะเสี่ยง

            ในตลาดหุ้นเองนั้น  หุ้นที่อาจจะมีแต้มต่อสูง ๆ หรือสูงลิ่วก็มีอยู่ตลอดเวลา  เช่นหุ้นของบริษัทที่เข้าข่าย “ใกล้ล้มละลาย”  หรือกิจการไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ที่  “แต้มต่อ” สูงลิ่วเป็นประเภท  “100-1”  คิดจากราคาหุ้นที่อาจจะเหลือต่ำกว่า 3-4 สตางค์ต่อหุ้นและ Market Cap. เหลือไม่ถึง 100 ล้านบาท  จากธุรกิจที่เคยทำเป็น 1,000 ล้านบาท  แต่แล้ว  “ปาฏิหาริย์”  ก็เกิดขึ้น  บริษัทฟื้นตัวและราคาหุ้นกลับมามีราคาเพิ่มขึ้นหลายสิบเท่าในเวลาเพียงไม่กี่ปีส่งผลให้คนที่กล้าเข้าไปซื้อและถือต่อเนื่องร่ำรวยขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ  บางคนก็กลายเป็น  “เซียนหุ้น Turnaround”  อย่างไรก็ตาม  หลายคนนั้นอาจจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของความสามารถและไม่ใช่ปาฏิหาริย์  เขาอาจจะ  “เล่นต่อ”  และก็พบว่าโอกาสที่หุ้นหรือการพนันที่มีแต้มต่อสูงมากจะ “ชนะ”  นั้น  มันน้อยจริง ๆ  และทำให้เขาเสียหายอย่างหนัก  และดังนั้น  เราจึงไม่ควรจะ “เล่น” หรือเล่นมาก   ผมเองคิดว่าถ้าอยากจะเล่น  เราควรจะทำคล้าย ๆ  เอาเงินไปซื้อลอตเตอรี่รางวัลแจ็คพ็อตหรือโยกสล็อตแมชินที่เราพร้อมเสียเงินเพื่อ “ความบันเทิง” เท่านั้น

Tuesday, May 3, 2016

Competition Model/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


โลกทุกวันนี้มีความก้าวหน้าขึ้นมากอย่างรวดเร็วและนี่ทำให้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้วัดความสำเร็จและความก้าวหน้าหรือการเติบโตของปัจเจกบุคคล  องค์กร  และธุรกิจต่าง ๆ จำนวนมากเริ่ม “ล้าสมัย”  ตัวอย่างเช่น  การที่คน ๆ หนึ่ง “เก่ง” มากในด้านใดด้านหนึ่งนั้น  ในอดีตเราก็จะบอกว่าเขามักจะประสบความสำเร็จสูง  แต่ในปัจจุบัน  บางทีความสามารถของเขาอาจจะ “ไม่มีประโยชน์” อะไรนักถ้ามีคนที่  “เก่งกว่า” เขาจำนวนมาก   ตัวอย่างง่าย ๆ  ที่ผมเห็นก็เช่นกรณีของนักร้องเพลง  ในสมัยก่อนนั้นเราอาจจะรู้จักนักร้องเพลงระดับ  “แผ่นเสียงทองคำ” ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนในประเทศที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง  เสียงและความสามารถในการร้องของพวกเขาในสมัยนั้นต้องถือว่า  “สุดยอด”  หาคนเทียบได้ยากและเรามักคิดว่าเป็น  “พรสวรรค์”  แต่เดี๋ยวนี้ที่ผมได้ฟังคนรุ่นใหม่ที่มีการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก   ผมก็รู้สึกว่าคนที่เสียงดีและร้องเพลงได้ดีไม่แพ้นักร้องระดับสุดยอดในสมัยก่อนนั้นมีจำนวนมาก  แม้แต่คนที่เข้าประกวดร้องเพลงที่ออกอากาศทางทีวีมากมายนั้น  ผมคิดว่าบางคนก็ร้องได้ดีกว่านักร้องระดับดาราในสมัยก่อน   แต่คนที่จะประสบความสำเร็จในการเป็นนักร้องนั้นก็มีน้อยนิด  เหตุผลก็เพราะว่ามีนักร้องที่เก่งกว่าเขาอีกมาก  ดังนั้น  คนก็จะไม่สนใจฟังคนที่เสียงดี  คนฟังนักร้องที่เสียงดีกว่า   หรือไม่ก็ฟังนักร้องที่มีเสียงแปลกและแตกต่างจากนักร้องอื่น

    ในเรื่องของสินค้าที่ผลิตจากบริษัทที่เป็นธุรกิจเองก็เช่นเดียวกัน  ในสมัยหนึ่งในช่วงของการเฟื่องฟูของการผลิตสินค้าที่เป็น Mass ที่โลกเริ่มสามารถผลิตสินค้าจำนวนมากขายให้แก่ประชาชนทั่วไปนั้น  บริษัทไหนที่สามารถผลิตสินค้าที่มีราคาถูกและคุณภาพดีก็สามารถขายได้จำนวนมากและบริษัทเติบโตก้าวหน้าอย่างมหาศาล  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือรถยนต์ของฟอร์ด  แต่ต่อมาการผลิตรถยนต์ก็มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว  การผลิตรถยนต์ได้ดีก็ไม่เพียงพอต่อความสำเร็จ  ต้องผลิตให้ได้คุณภาพ “ดีขึ้น”  ซึ่งต่อมาการผลิตได้ดีขึ้นหรือเก่งขึ้นก็ไม่พอจะต้องมีบริการหลังการขายที่ดีขึ้น  ต้องมีการตลาดที่ดีขึ้น   อาจจะต้องมีระบบการผ่อนส่งค่ารถที่จูงใจกว่าและอื่น ๆ  อีกมาก  แต่สุดท้ายก็อาจจะยังไม่พอ  อาจจะต้องผลิตรถยนต์ที่แปลกหรือแตกต่างออกไป  เหตุผลก็คือ  คนหรือบริษัทพัฒนาและเก่งขึ้นจนสามารถเลียนแบบผลิตสินค้าที่มีสมรรถนะและคุณสมบัติใกล้เคียงกันจนลูกค้าไม่ใคร่เห็นความแตกต่าง  การที่บริษัทจะประสบความสำเร็จสูงจึงต้องทำอะไรก็ตามที่จะสามารถดึงดูดให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าของตนมากกว่าคู่แข่ง  ไม่ใช่ทำให้สินค้าของตน “ดี” หรือแม้แต่ “ดีกว่า”

    และนั่นนำมาถึงเรื่องที่ผมจะพูดในวันนี้นั่นก็คือ  การวิเคราะห์กิจการหรือหุ้นที่เราจะลงทุน  จุดอ่อนของ VI จำนวนมากก็คือ  เรามักจะฟังจากบริษัทมากกว่าที่จะศึกษาจากข้อมูลในวงกว้างที่ “เป็นกลาง”   สิ่งที่เรามักจะได้รับก็คือ  บริษัท “ดีอย่างไร”  หรือเก่งขนาดไหน  ยิ่งในบางครั้งบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรม  “ไฮเท็ค”  เราซึ่งบ่อยครั้งเป็นพวก  “โลว์เท็ค”  หรืออยู่ในอีกอุตสาหกรรมหนึ่งหรืออยู่ในทักษะอีกประเภทหนึ่งเช่นเป็นแนวอาร์ตหรือแนว  “ศิลปะ”  เราก็มักจะรู้สึกประทับใจและเชื่อในสิ่งที่ผู้บริหารของบริษัทบอก  ผลก็คือ  เรามักจะให้คะแนนบริษัทสูงกว่าความเป็นจริง  เราคิดว่าบริษัทจะต้องประสบความสำเร็จสูงและยั่งยืนไปอีกนาน  เราคิดว่าบริษัทมีคุณภาพที่ดี  เราเข้าไปซื้อหุ้นและให้ราคาสูง  เราถือหุ้นเหล่านี้ทั้ง ๆ  ที่ค่า PE บางทีสูงถึง 50-60 เท่าหรือสูงกว่านั้น  แต่แล้วในหลาย ๆ  กรณีเมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าบริษัทไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่คาด  ผลประกอบการไม่ได้โตอย่างที่คิด  เหตุผลอาจจะเป็นว่ามี “คู่แข่ง” ที่ “ไม่คาดคิด” เข้ามาแข่งขัน   ที่จริงคู่แข่งนั้นก็อาจจะมีอยู่แล้วแต่เราไม่รู้  หรือบางทีก็มีคู่แข่งที่เข้ามาแข่งด้วย “รูปแบบใหม่” ที่ลูกค้า “ชอบมากกว่า”

    ดังนั้น  ถ้าเราจะลงทุนหุ้นระยะยาวซึ่งต้องอิงกับ “พื้นฐาน” ของกิจการแล้ว  สิ่งที่จะต้องวิเคราะห์เป็นหลักก็คือการวิเคราะห์เรื่องของ “การแข่งขัน” มากกว่าเรื่องที่ว่าบริษัทดีหรือเก่งแค่ไหนหรือมีรูปแบบการดำเนินงานอย่างไร  จริงอยู่  การวิเคราะห์และรู้จักว่าบริษัทเป็นอย่างไรและมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นแต่ไม่เพียงพอ  เหตุผลก็เพราะว่าคู่แข่งก็อาจจะเก่งและมีรูปแบบหรือ Model ทางธุรกิจแบบเดียวกันหรือสามารถเลียนแบบสิ่งที่บริษัททำได้ในระยะเวลาอันสั้น  ดังนั้น  ผลงานที่ดีของบริษัทก็อาจจะคงอยู่ได้ไม่นาน  แต่การวิเคราะห์เรื่องของการแข่งขันจะทำให้เราเห็นภาพที่ดีกว่าโดยเฉพาะในระยะยาวว่า  ใครจะเป็น  “ผู้ชนะ”  และการชนะนั้นจะยังคงอยู่อีกต่อไปได้นานแค่ไหน  และนั่นจะเป็นตัวกำหนด “คุณภาพ” ที่แท้จริงของกิจการและหุ้น

    จุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์การแข่งขันก็คือการกำหนดว่าบริษัทเราแข่งกับใคร  ใครคือคู่แข่งทางตรงและทางอ้อม  นอกจากนั้น  ในโลกยุคดิจิตอลและไฮเท็ค  เรายังต้องวิเคราะห์ด้วยว่ามีโอกาสแค่ไหนที่จะมีคู่แข่งที่ “ไม่คาดคิด”  เกิดขึ้นจากพัฒนาการของเท็คโนโลยี   ในบางครั้งเราอาจจะคิดว่าบริษัทของเรา  “ไม่มีคู่แข่ง”  ตัวอย่างเช่น  บริษัทผลิตไฟฟ้าจากเซลแสงอาทิตย์หรือพลังงานทดแทนอื่น  เราคิดว่าบริษัททำกำไรได้ดีมาก  มีมาร์จินสูงและยอดขายจะขยายตัวไปได้อีกมากเนื่องจากความต้องการของทางการที่เพิ่มขึ้นจากแผนพลังงานทดแทนของประเทศ  เราขายพลังงานไฟฟ้าโดย “ไม่ต้องแข่ง” กับใครเพราะมีสัญญาแน่นอนแล้ว  แต่นี่อาจจะเป็นความเข้าใจผิด  จริง ๆ  แล้วการเสนอขายไฟให้การไฟฟ้าโดยเฉพาะในปัจจุบันนั้น  คู่แข่งจริง ๆ  ก็คือบริษัทหรือหน่วยงานอื่นที่เสนอขายไฟให้กับการไฟฟ้าจำนวนมาก  ปัจจัยการแข่งขันที่ใช้นอกจากเรื่องของเงินทุนและความสามารถในการติดตั้งอุปกรณ์ซึ่งคู่แข่งต่างก็มีความสามารถพอ ๆ  กันแล้วก็ยังขึ้นอยู่กับ  “ราคา”  ค่าไฟฟ้าที่ต่ำที่สุดหรือต่ำกว่าคู่แข่งอื่น  ถ้าจะว่าไป  การแข่งขันนี้ก็รุนแรงมากเพราะมันเป็นการแข่งขันทางด้านราคาเป็นหลัก   และธุรกิจที่มีการแข่งขันที่รุนแรงนั้นก็มักจะเป็นธุรกิจที่ “ไม่ดี”  ในแง่ของการทำเงิน  ดังนั้น  การที่เราจะลงทุนในธุรกิจขายพลังงานทดแทนในราคาหุ้นที่มีค่า PE สูงมาก ๆ  ในระยะยาวแล้วผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่อันตราย

    เมื่อพบว่าใครคือ “คู่แข่ง” จริง ๆ  แล้ว  ประเด็นต่อไปก็คือ  เราต้องดูว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่บริษัทในธุรกิจใช้ในการแข่งขัน  แน่นอน  เรื่องของผลิตภัณฑ์  การตลาด  การจัดจำหน่าย  และปัจจัยมาตรฐานทางการบริหารต่าง ๆ  นั้นเป็นเรื่องสำคัญ  แต่หลาย ๆ  ปัจจัยนั้นทุกบริษัทก็อาจจะทำได้ดีพอ ๆ  กันและก็อาจจะไม่ใช่เป็นประเด็นที่จะชี้ชัดว่าใครจะได้เปรียบใครมากนัก  สิ่งที่ต้องทำก็คือ  หาปัจจัยสำคัญหลักที่จะทำให้บริษัทได้เปรียบในการแข่งขันที่คู่แข่งไม่มีหรือมีแต่ด้อยกว่ามากและปัจจัยนั้นคู่แข่งเลียนแบบได้ยากและต้องใช้เวลายาวมาก  ตัวอย่างเช่น  ขนาดหรือปริมาณของธุรกิจที่ใหญ่กว่ามาก  หรืออาจจะเป็นยี่ห้อที่อยู่มานานเก่าแก่และผู้บริโภคหรือผู้ใช้ให้ความสำคัญกับยี่ห้อมาก  เป็นต้น

    สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษอย่างหนึ่งใน “โลกไร้พรมแดน”  อย่างในปัจจุบันก็คือ  สินค้าจำนวนมากหรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำนั้น  มีคู่แข่งหรือบริษัทที่อาจจะมาเป็นคู่แข่งที่อยู่ต่างประเทศ  ดังนั้น  เวลาคิดว่าบริษัทเรา “ใหญ่กว่าคู่แข่ง” มากนั้น  เราต้องดูถึงว่าเรามีคู่แข่งจากต่างประเทศที่เราอาจจะไม่ตระหนักหรือไม่รู้จักด้วยหรือไม่  เช่นเดียวกับเรื่องของยี่ห้อที่เดี๋ยวนี้มีคู่แข่งมากมายจากทั่วโลก

    ประสบการณ์ของผมที่ผ่านมานั้นเวลาใช้ Competition Model ในการวิเคราะห์หุ้นแล้วก็มักจะพบว่า  บริษัทที่จะมีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนและเป็นหุ้นที่มีคุณภาพดีมากในตลาดหุ้นไทยนั้น  ส่วนใหญ่ก็มักจะมีลักษณะที่ว่าปัจจัยในการแข่งขันส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งก็คือความเป็น  Local หรือความเป็นท้องถิ่นของตัวธุรกิจ  เช่น  กิจการที่เกี่ยวข้องกับทำเลหรือสถานที่ตั้งของกิจการหรือร้านค้าซึ่งช่วยตัดการแข่งขันของคู่แข่งอื่นโดยเฉพาะต่างประเทศไปได้มาก  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น  การท่องเที่ยว  โรงพยาบาล  ค้าปลีก  เป็นต้น

    บทสรุปของผมก็คือ  แทบทุกอย่างในชีวิตปัจจุบันนั้น  การวิเคราะห์ความสำเร็จและล้มเหลวในปัจจุบันและในอนาคตขึ้นอยู่กับเรื่องของการแข่งขันมากกว่าเรื่องอื่น ๆ  และคนหรือบริษัทที่คิดจะ  “ชนะ” นั้น  จะต้องเข้าใจว่าใครคือคู่แข่งจริง ๆ  อะไรคือปัจจัยในการแข่งขัน  และจะสามารถจำกัดสนามแข่งขันให้อยู่ในท้องถิ่นได้อย่างไร