Monday, July 21, 2014

นิวตัน VS ดาร์วิน

       

        ถ้าเราดูภูมิหลังหรือประวัติการเรียนและทักษะของนักการเงินซึ่งรวมถึงนักลงทุนแนวหน้าของโลกหรือของประเทศไทยเรามักจะพบว่าจำนวนไม่น้อยมีพื้นฐานของการเรียนทางด้านวิศวกรรม  ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น  ว่าที่จริงผมเองก็รู้สึกแปลกใจตั้งแต่เรียนวิชาการเงินในช่วงปริญญาเอกที่พบว่าทฤษฎีสำคัญทางการลงทุนบางเรื่องนั้น  ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยอาศัยหลักการทางวิศวกรรมเรื่อง  “การส่งผ่านความร้อน”  หรือ  Heat Transfer ซึ่งเป็นวิชาที่ยากและผมทำได้ไม่ดีเลยในสมัยที่ผมเรียนปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรม  นอกจากนั้น  ทฤษฎีการเงินต่าง ๆ  มากมายต่างก็ใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนจำพวก  Calculus ที่  “เด็กวิศวะ”  ต้องเรียนมากมาย  ดังนั้น  ผมจึงสรุปเองว่าคนที่เรียนมาทางด้านวิศวกรรมหรือเก่งทางด้านวิศวกรรมนั้น  หากหันมาเรียนและทำงานทางด้านการเงินก็น่าจะได้เปรียบคนที่เรียนมาทางสายอื่น   และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้อาชีพทางการเงินถูก “ครอบงำ” โดยคนที่มีฐานทางด้านวิศวกรรม

            แต่ในเรื่องของการลงทุนในทางปฏิบัตินั้น  บางทีก็มีประเด็นที่ทำให้เราสงสัยอยู่เหมือนกันว่าคนที่เก่งทางด้านฟิสิกส์ซึ่งเป็นฐานของวิศวกรรมที่สำคัญที่สุดนั้นจะสามารถลงทุนได้ดีกว่าคนสายอื่นหรือไม่?  เพราะเรื่องที่มีการอ้างถึงกันบ่อย ๆ ก็คือ  เรื่องที่เซอร์ ไอแซ็ค นิวตัน  นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกเคยกล่าวไว้กว่า 300 ปีมาแล้วว่า  “ผมสามารถที่จะคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวบนฟากฟ้า  แต่ไม่สามารถคาดการณ์ความบ้าคลั่งของคนได้” เมื่อเขาขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นเซ้าท์ซีอย่างหนัก  อย่างไรก็ตาม  ความพยายามที่จะเอาชนะในการลงทุนก็ยังคงดำเนินต่อไปจากนักการเงินที่ใช้หลักการในแบบของนิวตัน  โดยล่าสุดดูเหมือนจะเป็นการพยายามซื้อขายหุ้นโดยกลุ่มนักการเงินที่เรียกว่า  “Quant” ซึ่งก็คือการใช้ข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ  ในการสร้างแบบจำลองที่จะทำการซื้อขายหุ้น  ผมเองไม่แน่ใจว่าพวกเขาประสบความสำเร็จหรือไม่  แต่ประสบการณ์ของ “Long Term Capital Management (LTCM)” ซึ่งเคยเป็นกองทุนที่บริหารโดยนักการเงินระดับโนเบลไพร์ซที่เน้นการใช้วิชาการแบบของนิวตันนั้น  อาจจะบ่งบอกเราว่า  หลักการทางด้านของฟิสิกส์นั้น  อาจจะเหมาะเฉพาะกับการลงทุนในระยะสั้น ๆ  ที่ปัจจัยและภาวะแวดล้อมไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ   เพราะในช่วงแรกนั้น LTCF ประสบความสำเร็จอย่างสูง  แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่าง  “คาดไม่ถึง”  กองทุนก็ล่มสลายลง

           นั่นนำมาถึงอีกสิ่งหนึ่งที่ผมเองคิดว่าน่าจะสามารถอธิบายทฤษฎีการลงทุนในระยะยาวได้ดีกว่านั่นก็คือหลักการพื้นฐานที่ถูกค้นพบโดย  Charles Darwin นักชีววิทยาที่มีเสียงมากที่สุดในโลก  ทฤษฎีของดาร์วินอย่างที่เรารู้ก็คือ  ทฤษฎี  “วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต”  ซึ่งบอกว่าสิ่งมีชีวิตต่างก็ปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมตลอดเวลา  ผู้ที่เหมาะสมนั้นจะรอดและเติบโตต่อไป  Survival of the fittest)  ส่วนผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะตายหรือค่อย ๆ  หมดไป  การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตมาเป็นล้าน ๆ  ปีนี้เองที่นำไปสู่สิ่งมีชีวิตที่สลับซับซ้อนอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งรวมถึงมนุษย์    ที่ประกอบไปด้วยระบบต่าง ๆ  ในร่างกายที่ทำงานประสานสอดคล้องกันอย่างน่าทึ่งและกระบวนการหรือระบบต่าง ๆ  เหล่านี้ก็ยังปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ  เพียงแต่เราไม่สามารถสังเกตได้ในระยะเวลาสั้น ๆ

            ทฤษฎีของดาร์วินซึ่งอธิบายเรื่องของสิ่งมีชีวิตนั้น  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็มีคนนำไปเปรียบเทียบกับระบบของสังคมว่ามันมีส่วนที่คล้ายกันมาก  การอธิบายเรื่องของการเมือง  เศรษฐกิจ  ตลาดหุ้น  การทำงานของธุรกิจข้ามชาติ  ระบบอินเตอร์เน็ตและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์  ต่าง ๆ  เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีคุณลักษณะและพฤติกรรมแบบเดียวกับสิ่งมีชีวิต  พูดง่าย ๆ  ระบบต่าง ๆ  เหล่านั้นจริง ๆ  แล้วมัน  “มีชีวิต”  ในแง่ที่ว่า  ระบบที่เหมาะสมก็จะอยู่รอด  ระบบที่  ปรับตัวไม่ได้ก็จะตายหรือหายไป  เราเรียกมันว่า “Complex Adaptive System” (CAS)  หรือ “ระบบที่ซับซ้อนและปรับตัวตลอดเวลา”   ความหมายของ CAS ก็คือ  ระบบอย่างเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นนั้น  เป็นระบบใหญ่ คล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม)  ที่ประกอบไปด้วย “ผู้เล่น”  หรือปัจจัยต่าง ๆ มากมาย อาจจะคล้าย ๆ กับระบบหายใจ  และระบบย่อยอาหาร ต่าง ๆ ) ที่ต่างก็มีบทบาทหรือมีอิทธิพลต่อระบบและต่อผู้เล่นอื่น ๆ   ผู้เล่นและปัจจัยนั้นมีหลากหลายมากมาย  เช่นเดียวกับผลกระทบนั้นก็มีหลากหลาย  นอกจากนั้น  เวลาที่ผู้เล่นหนึ่งเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบไปยังคนอื่น  คนอื่นก็เปลี่ยนแปลงและสุดท้ายก็ส่งผลกลับไปยังผู้เล่นคนแรก  และนี่จึงทำให้มันมีความซับซ้อนจนยากที่จะบอกว่าอะไรคือเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระบบเกิดขึ้น  เรารู้แต่เพียงว่า  การเปลี่ยนแปลงนั้นเพื่อที่จะสะท้อนหรือปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้ระบบอยู่รอดและทำงานต่อไป

            ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนั้น  ไม่ใช่เส้นตรงและระบบนั้นไม่เสถียรและจำเป็นต้องมีพลังงานที่ต้องป้อนเข้ามาตลอดเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบ  นอกจากนั้น  ระบบ CAS นั้นมี  “ประวัติศาสตร์” นั่นก็คือ  มันมี  “วิวัฒนาการ”  คล้าย ๆ  กับสิ่งมีชีวิตจริง ๆ   ข้อสรุปอย่างย่อที่สุดก็คือ  ระบบ CAS นั้น  เป็นระบบที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ หรือ Dynamic  ปัจจัยต่าง ๆ  หรือผู้เล่นต่าง ๆ  ในระบบก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ   ผลกระทบก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ  และมีผลย้อนกลับด้วย  ดังนั้น  การคาดการณ์ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลต่อระบบหรือปัจจัยหรือผู้เล่นอื่นอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากหรือแทบจะทำไม่ได้เลย  ยกตัวอย่างง่าย ๆ  ก็อาจจะเป็นว่า  การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางขึ้นมา 1 เปอร์เซ็นต์นั้นจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์?  คำตอบที่ถูกต้องนั้นก็คือ  บอกไม่ได้!  ระบบการปรับตัวที่ซับซ้อนหรือ CAS ไม่ได้ทำงานเหมือนกับการคำนวณว่าถ้าจะไปดวงจันทร์ต้องยิงจรวดในทิศทางไหนและใช้เชื้อเพลิงเท่าไร

           กลับมาดูการลงทุนในตลาดหุ้นว่ามันควรเป็นอย่างไร?   ส่วนตัวผมคิดว่าตลาดหุ้นและการลงทุนนั้นเป็น  CAS  และมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด  เมื่อคิดย้อนหลัง  ผมเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของนักลงทุน  กลุ่มหุ้นที่เคยเป็นหุ้นยอดนิยมในตลาด  กลุ่มหุ้นที่เจริญรุ่งเรืองในแต่ละยุค  การควบคุมบริษัทจดทะเบียน  การเติบโตของ VI ในตลาดหุ้น  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ทำให้ผมคิดต่อไปว่าอนาคตมันก็คงจะเปลี่ยนแปลงไปอีก  สิ่งที่เราเห็นในวันนี้ไม่ว่าในด้านไหนหรือผู้เล่นไหนก็น่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไป  แม้แต่สภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของไทยที่มีผลต่อตลาดหุ้นเองก็เปลี่ยนแปลงไป  บางทีอาจจะรุนแรง  “ไม่เป็นเส้นตรง”  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ  ดังนั้น  เราก็จะต้องพร้อมที่จะปรับตัวเช่นเดียวกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือคำว่า  “Survival of the fittest”  หรือคนที่เหมาะสมที่สุดก็จะอยู่รอดและเฟื่องฟู

            ประเด็นสำคัญของผมก็คือ  นักลงทุนในช่วงนี้—ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา  พวกเราคือคนที่ “เหมาะสมที่สุด”  โดยเฉพาะ  “VI” จำนวนมากที่ร่ำรวยขึ้นมามากอย่าง “ไม่น่าเชื่อ”  เหตุเพราะว่า  ระบบที่เป็น  CAS นั้นจะมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  บางทีก็เร็วมาก  ความเหมาะสมในวันนี้อาจจะกลายเป็นความไม่เหมาะสมในวันข้างหน้าได้  และถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เราเป็นเราทำนั้นดีและเหมาะสมที่สุดแล้ว  เราอาจจะกลายเป็นคนที่ล้าสมัยได้เมื่อสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ประวัติศาสตร์ของบริษัทที่ยิ่งใหญ่  ประวัติของผลงานการลงทุนที่ยิ่งใหญ่นั้น  ไม่ได้รับประกันว่ามันจะคงอยู่ได้ตลอดไป  และประวัติศาสตร์บอกว่า  การรักษามันเป็นสิ่งที่ยากมาก

CR. ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากุล