Tuesday, July 15, 2014

อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้า

     

    การลงทุนในตลาดหุ้นแบบระยะยาวจริง ๆ  คือถือหุ้นแต่ละตัวโดยเฉลี่ยมากกว่าหนึ่งปีหรือหลาย ๆ ปีขึ้นไปนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องยากสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่ยังมีอายุน้อยและมีความหวังที่จะ  “รวย”  จากการลงทุนในเวลาอันสั้น  เหตุผลที่สำคัญก็คือ  คนจำนวนมากคิดว่าการลงทุนระยะสั้นนั้นน่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการซื้อหุ้นแล้วไม่ขาย  พวกเขาคิดว่าการ “ซื้อแล้วเก็บ” นั้น  ผลกำไรหรือผลตอบแทนของการลงทุนก็มักจะเป็นไปตามผลกำไรของบริษัทในระยะยาว  ซึ่งก็มักจะ  “ไม่สูง”  นั่นคืออย่างมากก็ประมาณ 15%  ต่อปี  แต่ถ้า  “เล่นสั้น”  ก็จะมีโอกาส  “ทำกำไร” ปีละหลายรอบ  บางทีรอบละ 10%-20%  ปีหนึ่งก็อาจจะสามารถสร้างผลตอบแทนหลายสิบเปอร์เซ็นต์  จริงอยู่  ในบางครั้งอาจจะพลาด  แต่โดยรวมแล้วเขาคิดว่ากำไรจะมากกว่าขาดทุน   ดังนั้น  คนส่วนใหญ่  แม้แต่ที่เป็น VI จึงนิยมลงทุนค่อนข้างสั้นไม่เกินหนึ่งปี   ถ้าไม่ใช่ VI ก็อาจจะสั้นขนาดเป็นวัน  ที่เป็น VI ก็อาจจะเป็นเดือนหรืออาจจะหลายเดือน  สถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ทำให้คนเล่นสั้นนั้นมีหลากหลายและต่อไปนี้ก็คือ  “สิ่งยั่วเย้า”  ที่ทำให้คนเข้ามาซื้อขายหุ้นอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนตัวหุ้นไปเรื่อย ๆ

             สำหรับคนที่เป็น  “เทรดเดอร์”  หรืออาจจะเป็น  “นักลงทุนรายวัน”  สิ่งที่ “ยั่ว” ให้เขาเข้ามาซื้อหรือขายหุ้นนั้นก็คือ  ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น  นี่คือการเล่นหุ้นตามแนวเทคนิคที่เน้นการซื้อขายหุ้นตามความผันผวนของราคาและความคึกคักของหุ้น  หุ้นที่กำลังวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว  เช่น  ภายในเวลาเพียงชั่วอึดใจราคาอาจจะปรับขึ้นไปเป็น 10%  หรือในช่วงไม่กี่วันราคาขยับขึ้นไปต่อเนื่องหลายสิบเปอร์เซ็นต์  อาการแบบนี้ทำให้นักเล่นหุ้นระยะสั้นแนวเทรดเดอร์  “อดทนไม่ไหว”  ต้องเข้าไปเล่นโดยหวังว่าหุ้นจะวิ่งต่อไปและตนเองสามารถทำกำไรได้อย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น   คนที่เข้าไปเล่นหุ้นตามแนวทางนี้เมื่อได้กำไรในระดับหนึ่ง  เช่น  อาจจะ 5%-6% ก็มักจะรีบขายทำกำไรเพราะอาจจะกลัวว่าหุ้นจะ “ปรับตัวลง”  เช่นเดียวกัน  บางคนเข้าไปซื้อ  “ช้าเกินไป”  และหุ้นปรับตัวลงต่ำกว่าต้นทุน  บางทีเข้าก็อาจจะขายทิ้งเหมือนกัน

             “สิ่งยั่วเย้า”  ต่อมาที่มักทำให้คนเข้าไปซื้อหุ้นโดยไม่ได้ศึกษาบริษัทอย่างลึกซึ้งก็คือ  “ข่าวดี” ของบริษัท  เช่น  บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้โดดเด่น  เช่น ขายคอนโดหมดได้อย่างรวดเร็ว  บริษัทได้รับงานใหม่ที่มีขนาดหรือรายได้สูง  เช่น  บริษัทรับเหมาก่อสร้างประมูลงานได้  หรือบริษัทชนะประมูลแข่งในกิจการสัมปทานหรืองานจากหน่วยงานรัฐและเอกชนต่าง ๆ  เป็นต้น   ข่าวดีเหล่านั้นถึงจะทำรายได้ให้บริษัทเพิ่มขึ้นในอนาคตและอาจจะช่วยทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้นซึ่งก็จะทำให้หุ้นมีค่ามากขึ้นได้  แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็นเรื่องที่  “เกิดขึ้นครั้งเดียว”  หรือไม่ถาวร  ดังนั้นผลกระทบในแง่ของมูลค่าของบริษัทก็อาจจะไม่มากนัก  อย่างไรก็ตาม  นั่นเป็นเรื่อง  “ระยะยาว”  แต่ใน “ระยะสั้น”  คนก็น่าจะเข้ามาเก็บหุ้นและราคาก็จะปรับตัวขึ้น  นั่นคือสิ่งที่เราคิด  และนั่นทำให้เรา “อดไม่ได้” ที่จะต้องซื้อหุ้น  เราคิดว่านี่คือเงินที่จะได้มาง่าย ๆ  หรือเป็น  “Easy Money”

            สิ่งยั่วเย้าให้คนแห่กันเข้ามาซื้อหุ้นโดยที่ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพื้นฐานของบริษัทอีกกลุ่มหนึ่งก็คือสิ่งที่ผมเรียกว่า  “Financial Engineering” ในความหมายที่ไม่ได้ตรงกับชื่อจริง ๆ  แต่ในความหมายของผมก็คือ  การออกตราสารการเงินทั้งที่เป็นหุ้นหรืออนุพันธ์ที่ให้ฟรีหรือเกือบฟรีกับผู้ถือหุ้น  หรือการปรับแต่งตัวเลขทางการเงินเช่นการปรับพาร์หรือแตกหุ้นต่าง ๆ  เหล่านี้  ซึ่งในพื้นฐานจริง ๆ  แล้วเป็นเรื่องของการพิมพ์หรือปรับตัวเลขบนกระดาษเพื่อส่งให้ผู้ถือหุ้น  แต่ผลที่มักเกิดขึ้นก็คือ  นักลงทุนคิดว่าบริษัทกำลังจ่ายปันผลหรือให้สิทธิต่าง ๆ  ที่มีค่า  ดังนั้นพวกเขาก็เข้ามาเก็งกำไรโดยการซื้อหุ้นเพื่อหวังปันผลหรือสิทธินั้นโดยอาจจะไม่เข้าใจว่ามูลค่าของหุ้นเดิมจะต้องถูกลดทอนลงหรือเกิด  “Dilution”  ราคาหุ้นก็มักจะเพิ่มขึ้น  นักลงทุนที่เห็นประกาศการทำ “Financial Engineering” ก็มักจะอดไม่ไหวที่จะเข้าไปซื้อหุ้นเพราะหวังที่จะได้กำไรอย่างง่าย ๆ

             นอกจาก “Financial Engineering” แล้ว  สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ไม่แพ้กันก็คือ  “Business Engineering” ในความหมายของผมอีกเช่นกันที่ผมหมายถึงการดัดแปลงหรือหาธุรกิจใหม่ที่  “หวือหวา”  ที่เป็นธุรกิจที่  “มีกำไรดี” และ  “ทำได้ง่าย ๆ”  เช่น พัฒนาอสังหาริมทรัพย์    หรือเป็นธุรกิจ  “แห่งอนาคต”  เช่น  พลังงานทดแทน  มาทำแทนหรือเสริมธุรกิจเดิมอย่างมีนัยสำคัญ  ผลที่เกิดมักเกิดขึ้นก็คือ  บริษัทถูกมองว่าจะกลายเป็นบริษัทที่มีกำไรและเติบโตมหาศาลจากเดิมที่เป็นบริษัทที่น่าเบื่อและไม่มีอนาคต  นักลงทุนจะเข้ามาซื้อหุ้นและให้มูลค่าเท่า ๆ  หรือมากกว่าบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันทั้ง ๆ ที่บริษัทยังไม่ได้พิสูจน์ผลงานเป็นที่ประจักษ์  ผลก็คือ  ราคาหุ้นพุ่งพรวดและนักลงทุนจำนวนมากก็ “อดไม่ได้”  ที่จะ “ร่วมขบวน” การ  “หาเงินง่าย ๆ”  นี้

            ในยามที่ตลาดหุ้นบูมหนักอย่างในช่วงเร็ว ๆ  นี้  ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรที่จะทำกำไรแบบ Easy Money มากเท่ากับหุ้น  IPO  หรือหุ้นเข้าตลาดครั้งแรก  นี่เป็นการเก็งกำไรที่ได้เสียเร็วมากที่สุดอย่างหนึ่งเพราะราคาหุ้นผันผวนเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง  แม้แต่ชั่วนาทีก็อาจจะทำกำไรหรือขาดทุนได้หลาย ๆ  เปอร์เซ็นต์  แน่นอน  คนที่เข้าไปเล่นในวันแรกที่หุ้นเข้าตลาดนั้นต่างก็หวังกำไรทั้งนั้นและพวกเขาก็อดกลั้นไม่ไหวที่จะอยู่เฉย ๆ  และมอง  “กำไรที่หายไปต่อหน้าต่อตา”  ดังนั้น  พวกเขาก็เข้าไปเล่นโดยไม่ได้สนใจพื้นฐานของกิจการ

           การสนองตอบต่อสิ่งยั่วเย้านั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะต่อนักลงทุนที่  “ไม่รอบรู้”  เท่านั้น  แม้แต่คนที่เก่งกาจและเป็น VI ผู้มุ่งมั่นเองก็ประสบกับมันเช่นกัน  ความต้องการกำไรที่มากและรวดเร็วหรือเป็น  Easy Money นั้น  ทำให้หุ้นประเภทที่มีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นมากและรวดเร็วเป็นที่สนใจของ VI จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะที่อายุยังไม่มากและพอร์ตยังไม่ใหญ่นัก  นั่นก็คือหุ้นที่ถูกจัดว่าเป็นหุ้น Turnaround หรือหุ้นฟื้นตัว  หรือหุ้น  Cyclical หรือหุ้นวัฎจักร  หุ้นสองกลุ่มนี้คือหุ้นที่พื้นฐานหรือผลการดำเนินงานกำลังเปลี่ยนจากบริษัทใกล้ล้มละลายหรือตกต่ำอย่างหนักจากภาวะแวดล้อมทางอุตสาหกรรม  กลายเป็นบริษัทที่ “เกิดใหม่” และจะมีกำไร  หรือกลายเป็นบริษัทที่กำลังจะมีกำไรดีต่อเนื่องไปในอนาคตหลังจากตกต่ำมาช่วงเวลาหนึ่ง  ภาวะที่ดีขึ้นอย่างมากในเวลาอันสั้นนั้นมักจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า  “Euphoria”  หรือเป็นความรู้สึกที่ดีอย่างเคลิบเคลิ้มจนลืมไปว่าผลประกอบการในอนาคตนั้นอาจจะไม่ได้สวยสดต่อเนื่องยาวนาน  และดังนั้นพวกเขาก็มักจะให้มูลค่าที่สูงเทียบกับผลกำไรของบริษัทที่กำลังดีขึ้นแต่อาจจะไม่คงทน  ผลก็คือ  ราคาหุ้นถูก “ดัน” ขึ้นไปมากเนื่องจากนักลงทุน  “ทนไม่ไหว”  ที่จะไม่เข้าไปซื้อหุ้นที่เห็นว่าอาจจะโตขึ้นไปได้อาจจะอีกหลายเท่า

             ยังมีสิ่งยั่วเย้าอีกมากมายในตลาดหุ้นที่ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นในระยะสั้น  ตัวอย่างเช่น  การที่หุ้นถูกซื้อโดย  “เซียน”  หรือนักลงทุน  “รายใหญ่”  ในตลาดหุ้น  หรือถูกซื้อโดยผู้บริหารในจำนวนมาก  หรือเรื่องราวต่าง ๆ  อีกร้อยแปดที่อาจจะมีผลต่อราคาหุ้นอย่างรุนแรงและทำให้นักลงทุนที่ติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านั้นเข้ามาซื้อหุ้นโดยหวังที่จะทำกำไรอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นเพราะเขา “อดกลั้นไม่ได้”

            ผมเองไม่ได้บอกว่าการเข้าซื้อหุ้นบ่อย ๆ  เพราะเราอดกลั้นไม่ได้ต่อสิ่งยั่วเย้าเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี  มันคงเป็นประสบการณ์ของนักลงทุนแต่ละคน  และคงขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ว่าถูกต้องหรือไม่และบางทีก็เป็นเรื่องของช่วงเวลาที่ทำ  ส่วนตัวผมเองเชื่อว่า  การทำหรือซื้อหุ้นบ่อย ๆ  ซึ่งก็แปลว่าต้องขายบ่อยด้วยนั้น  ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนส่วนใหญ่  และนั่นทำให้การรู้จักอดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้านั้น  เป็นศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่งของ VI

CR> ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากุล