Monday, June 22, 2015

อุตสาหกรรมดาวตก/ดร.นิเวศน์

    
 ถ้าจะมีอุตสาหกรรมอะไรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว—จากอุตสาหกรรมที่ดีมากกลายเป็นธุรกิจที่ย่ำแย่เพียงชั่วเวลา “ข้ามคืน”  ผมคิดว่ามันคือธุรกิจการออกอากาศทางโทรทัศน์หรือเรียกง่าย ๆ ว่า  ธุรกิจ “TV” สาเหตุนั้นเกิดจากการให้ใบอนุญาตคลื่นความถี่เพื่อออกอากาศแบบดิจิตอลจำนวน 24 ใบของ กสทช. ซึ่งก่อให้เกิดทีวีขึ้นใหม่ 24 ช่องที่ผู้ชมสามารถรับชมรายการต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  การที่อุตสาหกรรมนี้เปลี่ยนแปลงไปมากนั้น  มาจากการที่  “พลังขับเคลื่อน” ของอุตสาหกรรม 5 พลัง  หรือที่เรียกกันว่า “Five Forces Model” ของ Michael Porter ของอุตสาหกรรมทีวีของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง  “จากหน้ามือเป็นหลังมือ”  มาดูกันว่าเป็นอย่างไร



  พลังขับเคลื่อนแรกคือ  “การแข่งขันระหว่างบริษัท”   ตามแนวคิดของพอร์ตเตอร์ก็คือ  อุตสาหกรรมอะไรก็ตาม  หากคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมมีน้อย  การแข่งขันกันของบริษัทต่าง ๆ  ก็จะมีน้อยเพราะความต้องการของคนใช้มีมากกว่าจำนวนผู้ให้บริการ  และนั่นก็คือพลังที่ดีสำหรับอุตสาหกรรม  อุตสาหกรรมที่เป็นแบบนี้ก็จะทำกำไรได้ดีกว่าอุตสาหกรรมที่มีคู่แข่งมากมายเต็มไปหมด  ในอดีต  ทีวีช่องฟรีนั้นก็มีเพียงไม่กี่ช่อง  ที่ทำงานแบบการค้าจริง ๆ  ดูเหมือนจะมีเพียง 3-4 ช่อง ทำให้ช่องเหล่านั้นสามารถตั้งราคาค่าโฆษณาได้สูงและบริษัทผู้ให้บริการสามารถทำกำไรได้สูงกว่าปกติ  แต่ปัจจุบันที่มีถึงเกือบ 30 ช่อง  พลังขับดันข้อนี้ก็กลายเป็นด้านลบไปในทันทีเพราะมีบริษัทที่แข่งขันมากเกินไปมาก

  พลังขับเคลื่อนที่สองก็คือ  “อำนาจของซัพพลายเออร์”   นั่นก็คือ  ถ้าอุตสาหกรรมมีซัพพลายเออร์จำนวนมากที่พร้อมจะเข้ามาเสนอขายสินค้าหรือบริการ  พวกเขาก็จะต้องแข่งขันในด้านของคุณภาพและราคาอย่างหนัก  บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมก็จะมีต้นทุนสินค้าต่ำและคุณภาพที่ดีที่จะนำมาขายต่อ  นี่เป็นพลังหรือปัจจัยที่ดีที่จะช่วยให้บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมสามารถทำกำไรได้สูง  แต่ถ้าซัพพลายเออร์มีไม่พอในขณะที่มีบริษัทผู้ซื้อมาก  อำนาจของซับพลายเออร์ก็จะสูง  อุตสาหกรรมนั้นก็จะแย่ลงนั่นก็คือทำกำไรได้ต่ำลง  ในอดีต  ผู้ผลิตรายการป้อนให้กับฟรีทีวีนั้น  มักจะไม่มีอำนาจต่อรองกับเจ้าของช่อง  ดังนั้น  ธุรกิจฟรีทีวีจึงมีพลังขับที่เป็นบวก  แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดทีวีดิจิตอลขึ้น  ซับพลายเออร์หรือผู้ผลิตรายการที่มีคุณภาพสูงกลายเป็นสิ่งที่หายาก  เพราะพวกเขาต่างก็ไปทำช่องทีวีของตนเอง  ดังนั้น  ช่องทีวีต่าง ๆ จึงไม่ได้เปรียบทางด้านของซับพลายเออร์อีกต่อไป  พลังด้านบวกก็กลายเป็นพลังด้านลบ

  พลังขับเคลื่อนที่สามคือ  “อำนาจของลูกค้า”  นี่คือพลังที่เกิดขึ้นจากเอกลักษณ์หรือแบรนด์ของสินค้าหรือบริการที่ทำให้ลูกค้าติดและเป็นสินค้าที่พวกเขาจะเลือกใช้  ถ้าอุตสาหกรรมนั้นลูกค้ามักจะติดที่จะเลือกแบรนด์  นั่นก็คืออุตสาหกรรมที่ดีและจะทำให้บริษัทมีกำไรสูง  แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่สินค้ามีความคล้ายคลึงกันมาก  การจดจำของแบรนด์ต่ำและลูกค้าไม่ได้มีการติดยึดและพร้อมจะเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น  แบบนี้ก็ถือว่าอำนาจของลูกค้ามีสูงก็จะเป็นผลลบต่อกิจการ  กำไรของบริษัทในอุตสาหกรรมก็จะต่ำ  ในกรณีของธุรกิจทีวีในอดีตนั้น  ผมคิดว่าอำนาจของผู้ชมมีไม่มาก  เนื่องจากรายการทีวีมักจะไม่หลากหลาย  ทางเลือกที่จะไปชมรายการแบบเดียวกันของช่องอื่นมีไม่มาก  แต่หลังจากที่มีช่องทีวีเกิดขึ้นมากมาย  การเปลี่ยนไปชมรายการของช่องอื่นที่ดีกว่าในแต่ละช่วงเวลาก็เพิ่มขึ้นมาก  ดังนั้น  นี่ก็เป็นอีกพลังหนึ่งที่เปลี่ยนจากบวกเป็นลบ

  พลังขับเคลื่อนที่สี่ก็คือ  “อุปสรรคในการเข้ามาและออกไปจากตลาด”    ถ้าการเข้ามาในอุตสาหกรรมเป็นเรื่องยากหรือมีค่าใช้จ่ายสูง  เช่น  ต้องมีใบอนุญาตหรือต้องลงทุนสูง  หรือการแข่งขันกับผู้เล่นเดิมทำได้ยากเนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ   แบบนี้ก็ต้องถือว่าเป็นปัจจัยที่ดีของอุตสาหกรรมและทำให้ผลตอบแทนในอุตสาหกรรมสูง  ตรงกันข้าม  ถ้าอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมมีน้อย  การเข้าสู่อุตสาหกรรมทำได้ง่ายและถ้ายิ่งเมื่อเข้ามาแล้วก็ออกไปยากก็จะทำให้เกิดภาวะกำลังการผลิตส่วนเกิน  นอกจากนั้นบริษัทที่เข้ามาใหม่ก็อาจจะสามารถลอกเลียนแบบหรือมีกลยุทธ์ในการแข่งขันที่สามารถเอาชนะผู้เล่นเดิมได้  ในกรณีแบบนี้ก็ถือว่าเป็นผลลบต่ออุตสาหกรรมทำให้ทำกำไรได้ต่ำ   ธุรกิจฟรีทีวีในอดีตนั้น  อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของรายใหม่สูงมาก  ว่าที่จริงในช่วงเวลานับสิบ ๆ  ปีนั้นไม่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเลย  แต่ในปัจจุบันนั้น  การเข้ามาเล่นหรือแข่งขันของรายใหม่นั้นผมคิดว่ามีอุปสรรคน้อย  ดังนั้น  นี่ก็เป็นอีกพลังหนึ่งที่เปลี่ยนจากดีเป็นร้าย

  พลังขับเคลื่อนสุดท้ายก็คือ  “สินค้าหรือบริการที่ทดแทนกันได้”  อุตสาหกรรมที่สินค้าหรือบริการไม่มีสินค้าอื่นมาทดแทนได้หรือทดแทนได้น้อยนั้นจะเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและปัจจัยนี้จะเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ผลตอบแทนของอุตสาหกรรมสูงขึ้น  ตรงกันข้าม  อุตสาหกรรมที่ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนไปใช้สินค้าอื่นที่สามารถตอบสนองความต้องการแบบเดียวกันได้ในราคาที่น่าพอใจและสินค้าเหล่านั้นมีมากมาย  แบบนี้ก็จะเป็นปัจจัยลบต่ออุตสาหกรรมและทำให้ผลตอบแทนหรือกำไรของอุตสาหกรรมต่ำลง  ในกรณีของธุรกิจฟรีทีวีนั้น  ในอดีต  สินค้าทดแทนการชมทีวีนั้นมีไม่มาก  แต่ในระยะหลังที่ระบบอินเตอร์เน็ตแพร่หลายและราคาถูกลงมาก  เช่นเดียวกับระบบทีวีที่มีต้นทุนในการรับชมต่ำมากเช่นกรณีของทีวีดาวเทียม  สินค้าทดแทนฟรีทีวีก็สูงขึ้นมาก  ดังนั้น  ปัจจัยในด้านของสินค้าทดแทนของธุรกิจฟรีทีวีก็กลายเป็นลบ

  การดูว่าอุตสาหกรรมไหนดีหรือไม่นั้น  โดยปกติเราก็จะต้องดูพลังทั้งห้าประกอบกัน  ถ้าพลังหรือปัจจัยส่วนใหญ่นั้นเป็นบวก  โอกาสก็เป็นไปได้สูงว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่ดีและจะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ประกอบการโดยเฉลี่ยสูง  ถ้าพลังส่วนใหญ่เป็นลบผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมก็จะต่ำ  ในอีกด้านหนึ่ง  ถ้าพลังทั้งห้าต่างก็เป็นบวก  นั่นก็แสดงว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่ดีและบริษัทส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมก็จะทำกำไรได้ดี  บริษัทที่โดดเด่นก็จะทำกำไรได้สูงลิ่ว  ตรงกันข้าม  ถ้าพลังทั้งหมดนั้นเป็นลบ  บริษัทในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็จะมักจะทำกำไรได้ยาก แม้แต่บริษัทที่เก่งหรือดีมากในอุตสาหกรรมก็อาจจะลำบาก

  ธุรกิจฟรีทีวีนั้น  ในอดีตต้องถือว่าพลังขับดันทั้งห้าต่างก็เป็นบวก  นั่นทำให้แทบทุกบริษัทที่อยู่ในธุรกิจต่างก็ได้กำไรกันทั่วหน้าโดยที่บริษัทที่เด่นนั้นทำกำไรได้สูงมากจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  อย่างไรก็ตาม  หลังจากการเปิดดิจิตอลทีวี  พลังทั้งห้าก็เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นลบแทบจะทั้งหมด  ดังนั้น  ถ้าจะคาดเดาต่อก็คือ  ธุรกิจทีวีจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ดีและน่าจะให้ผลตอบแทนต่ำลงไปมาก  บริษัทที่โดดเด่นเองนั้น  ในระยะสั้นหรืออาจจะถึงกลางก็อาจจะยังทำกำไรได้พอสมควรเนื่องจากคู่แข่งใหม่ยังไม่มีความสามารถพอที่จะแข่งขัน  แต่ในระยะยาวแล้วก็อาจจะหาบริษัทที่กำไรดีเยี่ยมเป็นซุปเปอร์สต็อกได้ยาก  ตรงกันข้าม  เนื่องจากมันอาจจะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ดีแล้ว  บริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันต่ำก็อาจจะขาดทุนและบางบริษัทก็อาจจะไม่สามารถอยู่ในธุรกิจได้  ว่าที่จริงในช่วงนี้เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าบางบริษัทได้ประกาศ “ถอนตัว”  ออกจากธุรกิจแล้ว  ผมเชื่อว่าในไม่ช้าก็จะมีบริษัทอื่นถอนตามอีก  อุตสาหกรรมฟรีทีวีตอนนี้ดูเหมือนจะเป็น  “อุตสาหกรรมดาวตก” ไปแล้วหรือ?  เวลาจะเป็นสิ่งที่บอก  ในระหว่างนี้  คนที่กำลังเล่นหุ้นทีวีโดยตั้งอยู่บนความคิดหรือสมมุติฐานว่านี่คือธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ดีอย่างที่เข้าใจมาตลอดนั้นจะต้องระวัง  เพราะถ้ามันไม่ใช่  เราก็อาจจะไม่เห็น “กำไรที่งดงาม” ในธุรกิจฟรีทีวีอย่างที่เป็นในอดีต และดังนั้น ราคาหุ้นของกิจการที่ทำฟรีทีวีก็ไม่ควรมีพรีเมียมมากหรือค่า PE สูงอย่างที่เคยเป็น