Sunday, January 31, 2016

การกำกับดูแลกิจการที่ดี โดย ดร.สันติ กีระนันท์



ท่านที่สนใจการลงทุน หรือสนใจวิชาการทางการเงินในยุคนี้ คงหนีไม่พ้นที่จะได้ยินหรือได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือมักจะเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า CG ซึ่งย่อมาจากคำว่า Corporate Governance ทั้งนี้ หากจะให้ตรงกับภาษาไทยที่ใช้คำว่า “การกำกับดูแลกิจการที่ดี” นั้น คงต้องใช้คำภาษาอังกฤษเต็ม ๆ ว่า Good Corporate Governance หรือ GCG มากกว่าครับ เพราะหากพูดถึงการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันนั้น ทุกองค์กรจำเป็นต้องนึกถึงเรื่องการกำกับดูแลกิจการ (governance) แต่การกำกับดูแลกิจการนั้น หากต้องการผลสำเร็จตามเป้าประสงค์ ก็ต้องเป็นการกำกับดูแลกิจการที่ดี (good governance) ด้วย ซึ่งมีหลักการที่น่าสนใจหลายประการ

          ในภาคราชการ ก็มียุคหนึ่งที่เน้นเรื่องธรรมาภิบาล และใช้ภาษาอังกฤษว่า Good Governance หรือ GG ซึ่งจะเห็นว่าคำว่า “ธรรมาภิบาล” มาจากคำว่า “ธรรม” และ “อภิบาล” ซึ่งหมายถึงการดูแลรักษาที่ดี อย่างไรก็ดี ในภาคราชการทุกวันนี้ คำนี้อาจจะไม่ได้ถูกยกมากล่าวอ้างมากอย่างที่เคยเป็นมาในยุคหนึ่ง

          ไม่ว่าจะใช้คำใดก็ตาม สาระสำคัญของเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น เริ่มต้นจากความเข้าใจของคนทั่วไป ก็คือ ความมุ่งหวังในการแบ่งปันประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholders) อย่างเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบคนอื่น ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจกันว่า บริษัทที่ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น ก็เพื่อทำให้บริษัทเป็นบริษัทที่ดี และด้วยเหตุผลของความเป็นธรรมในการแบ่งปันประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ทำให้วิชาการทางการเงินนั้น มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทว่ามีความสัมพันธ์กับราคาหลักทรัพย์หรือไม่ โดยอาจจะอธิบายถึงมูลเหตุของความสนใจว่า หากบริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีแล้ว นักลงทุนที่สนใจลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทนั้น ย่อมมีความเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบน้อยลง ทำให้มีความสบายใจในการลงทุนในบริษัทนั้น ซึ่งความสบายใจเช่นนั้น ก็จะสะท้อนมาในราคาหลักทรัพย์ที่ยอมจ่ายเพิ่มขึ้นนั่นเอง

          แต่ผมอยากจะแสดงความเห็นไว้ในที่นี้ว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น ความหมายที่กว้างขวางขึ้นกว่าความเป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาจจะตีความได้ว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น ทำให้ภายในองค์กรที่ดำเนินการโดยคำนึงถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น ลดโอกาสความผิดพลาดในการดำเนินงาน มีความรอบคอบรัดกุมในการบริหารงาน ซึ่งจะนำไปสู่ประสิทธิภาในการดำเนินงาน ทั้งนี้ ในปัจจุบันนี้ ความพยายามในการพัฒนาให้บริษัทแต่ละบริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น จุดหมายปลายทางคือ ต้องการให้บริษัทเหล่านั้นเป็นบริษัทที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน สามารถสร้างผลกำไรได้ มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง และนำไปสู่การเติบโตของกิจการอย่างยั่งยืน หรือที่นิยมเรียกกันว่ามี sustainable growth

          หากพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้กิจการมีการเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น แสดงว่า ไม่ใช่เพียงฉาบฉวยแค่ให้องค์กรเป็นองค์กรที่ดีเท่านั้น แต่ต้องการให้องค์กรนั้นมีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งหากเห็นความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว การกำกับดูแลกิจการที่ดีที่ทุกฝ่ายเพียรพยายามส่งเสริมให้เกิดขึ้นแก่บริษัทนั้น ย่อมไม่ใช่ต้นทุนเพื่อทำให้เป็นคนดีเท่านั้น แต่เป็นแนวทางเพื่อให้บริษัทแต่ละบริษัท องค์กรแต่ละองค์กรมีความเจริญเติบโต มีความก้าวหน้า และต้องเป็นความเติบโตก้าวหน้าที่ยั่งยืนด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น


แนวคิดในการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน

          ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการกำหนดถึงหลักการและแนวทางปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือปฏิบัติ ซึ่งในเบื้องต้นนั้น หากการดำเนินการตามหลักดังกล่าวเกิดขึ้นโดยบริษัทจดทะเบียนรับรู้เพียงว่า เป็นนโยบายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะให้บริษัทจดทะเบียนถือปฏิบัติ ก็ย่อมจะทำให้บริษัทจดทะเบียนรู้สึกเป็นภาระ แต่โดยสาระสำคัญแล้ว การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ ในเบื้องแรกก็เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนนั้น เกิดความมั่นใจว่า บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นั้น มีการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม ก็จะทำให้นักลงทุนเกิดความสบายใจว่าการลงทุนนี้ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและได้รับการดูแลที่เหมาะสม ความรู้สึกสบายใจของนักลงทุนก็จะนำไปสู่มูลค่าเต็ม (full valuation) ของราคาหลักทรัพย์นั้น ๆ  ในทางตรงกันข้าม หากนักลงทุนไม่สบายใจในเรื่องดังกล่าว นักลงทุนก็จะต้องคิดถึงส่วนลดในราคาของหลักทรัพย์นั้น ไม่ยอมให้มูลค่าเต็ม มูลค่าของหลักทรัพย์ก็จะเกิดส่วนลด (discount value) ขึ้น ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ที่เสียไปของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์

          ออกนอกเรื่องนิดหนึ่งนะครับ เมื่อใดก็ตามที่ได้กล่าวถึงหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนนั้น ไม่ได้หมายความแคบ ๆ เพียงแค่หุ้นสามัญ (common stock) ของบริษัทจดทะเบียน หรือหุ้นที่นักลงทุนรู้กันดีและซื้อขายอย่างแพร่หลายแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะหมายรวมกว้างขึ้นไปถึงหุ้นกู้ (corporate bond) ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนด้วย ยิ่งในปัจจุบันนี้ เครื่องมือทางการเงินที่บริษัทจดทะเบียนสามารถใช้เพื่อการจัดหาเงินทุนได้มีการพัฒนาให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund – IFF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (real estate investment trust – REIT) ก็อยู่ในขอบข่ายของหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียน ซึ่งนักลงทุนก็ต้องมีความมั่นใจและสบายใจในการลงทุน โดยผู้ออกหลักทรัพย์ทุกประเภท ต้องอยู่บนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อนำไปสู่มูลค่าของหลักทรัพย์ที่ออกเต็มบริบูรณ์ การที่นักลงทุนยอมให้มูลค่าเต็มแก่หลักทรัพย์เพื่อการจัดหาเงินทุนของผู้ออกนั้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ออกมีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง

          กลับมาเข้าเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์อีกครั้งนะครับ นอกจากจะคิดถึงความเสี่ยงหรือความไม่สบายใจของนักลงทุนที่จะกังวลในการลงทุนของตัวเองเป็นเบื้องแรกแล้ว การกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น สำหรับบริษัทจดทะบียนหรือบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นั้น ถือได้ว่า หลักการและแนวปฏิบัติของการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น จะเป็นกรอบปฏิบัติที่จะทำให้บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์สามารถใช้ในการดำเนินงาน เพื่อสร้างประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นในการดำเนินงาน

          ในเรื่องนี้ ผมอยากจะอธิบายว่า หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนนั้น พื้นฐานที่สุดคือ หากจะดำเนินการอะไรก็ตาม ถ้ายังรู้สึกมีคำถามหรือข้อสงสัยว่า การดำเนินงานเช่นนั้นจะถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักการกำกับกิจการที่ดี เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ หากผู้ปฏิบัติยังมีคำถาม แล้วคนอื่นซึ่งรู้น้อยกว่าผู้ปฏิบัติเสียอีกจะไม่สงสัยได้อย่างไร เพราะฉะนั้นแล้ว หากมีเรื่องอะไรก็ตามที่เราไม่แน่ใจว่าปฏฺบัติไปแล้วจะดีหรือไม่ดี ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าน่าจะไม่ค่อยดี หากหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติได้ น่าจะดีกว่า หรือหากจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติเช่นนั้น อาจจะจำเป็นต้องมีวิธีการเพื่อหลีกเลี่ยงความสงสัยเช่นนั้น ยกตัวอย่างสักตัวอย่างหนึ่งประกอบนะครับ สมมติว่า นายสมศักดิ์เป็นกรรมการอิสระในบริษัท ดำเนินงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ในขณะนี้ บริษัท ดำเนินงานบริสุทธิ์ ต้องการจัดหาที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อใช้ในการขยายโรงงาน และเป็นเหตุบังเอิญว่า นายสมศักดิ์มีที่ดินที่มีคุณสมบัติอย่างที่บริษัท ดำเนินงานบริสุทธิ์ ต้องการ และแม้เปรียบเทียบกับที่ดินแปลงอื่นแล้ว ที่ดินของนายสมศักดิ์น่าจะเป็นที่ดินที่เหมาะสมที่สุดที่จะเสนอให้บริษัท ดำเนินงานบริสุทธิ์ ได้ซื้อไว้เพื่อใช้ในกิจการดังกล่าว

          กรณีตัวอย่างเช่นนี้ หากนายสมศักดิ์จะนำเสนอที่ดินที่ตนเองเป็นเจ้าของให้กับบริษัทพิจารณาซื้อนั้น นายสมศักดิ์คงจะมีความสงสัยว่า ตนเองสมควรจะกระทำหรือไม่ เพราะในฐานะกรรมการของบริษัทดังกล่าว มีอำนาจร่วมในการตัดสินใจว่าจะเลือกที่ดินแปลงใดเพื่อให้บริษัทได้รับประโยชน์สูงสุด โดยที่นายสมศักดิ์ก็จะเห็นคุณสมบัติและราคาของที่ดินแปลงอื่น ๆ ในการศึกษาเปรียบเทียบด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่า นายสมศักดิ์มีข้อมูลที่จะนำเสนอบริษัทเพื่อให้พิจารณาซื้อที่ดิน มากกว่าเจ้าของที่ดินรายอื่น กล่าวคือ นายสมศักดิ์ได้เปรียบมากกว่าเจ้าของที่ดินรายอื่นในการนำเสนอที่ดินให้บริษัท ดำเนินงานบริสุทธิ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพราะถือได้ว่านายสมศักดิ์ เป็นผู้ได้เปรียบและเป็นผู้ที่มีความขัดแย้งกันเชิงผลประโยชน์ หรือมี conflict of interest (COI) ซึ่งในเรื่อง COI นี้ หากเป็นภาคราชการนั้น แนวปฏิบัติที่ชัดเจนคือ หลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการเช่นนั้นเลยทั้งหมด ดังกรณีนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อสงสัยเช่นนี้ นายสมศักดิ์ควรจะเลือกที่จะไม่เสนอที่ดินของตัวเองให้กับบริษัท แต่หากทำเช่นนั้น บริษัทก็จะเสียประโยชน์ในการได้ที่ดินแปลงที่ดีที่สุดเพื่อใช้ในการดำเนินงาน

          ในภาคเอกชน การดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา COI แต่ยังคงให้เกิดประโยชน์ที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย อาจจะมีการดำเนินการที่ผิดไปจากแบบแผนของราชการ กล่าวคือ นายสมศักดิ์ยังอาจจะนำเสนอที่ดินของตนเองได้ แต่ต้องมีการเปิดเผยเรื่องดังกล่าวอย่างโปร่งใส หรือเป็นไปตามหลักการเปิดเผยข้อมูล (disclosure) และในฐานะกรรมการซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อใดก็ตามที่คณะกรรมการมีการพิจารณาเรื่องที่ดินนี้ นายสมศักดิ์ต้องไม่อยู่ในที่ประชุม และไม่มีส่วนร่วมในการประชุมเรื่องนี้ ทำให้ไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับผู้เสนอขายที่ดินรายอื่น

          จะเห็นได้ว่า แนวคิดในการจัดการเรื่องความขัดแย้งในผลประโยชน์ที่ภาคราชการและภาคเอกชนถือปฏิบัติ อาจจะมีความแตกต่างกันในสาระและรายละเอียดได้พอสมควร สำหรับภาคราชการนั้น การกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือธรรมาภิบาลนั้น เป็นไปตาม “รูปแบบ” หรือ form เป็นอย่างมาก หากผิดพลาดไป ผู้ปฏิบัติมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินการตามกฎหมายได้ในภายหลัง ในขณะที่ภาคเอกชนนั้น สำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานอย่างมีความเข้าใจ ก็จะยึดถือ “สาระสำคัญ” หรือ substance มากกว่ารูปแบบ หรือที่เรียกว่ substance over form

          จากกรณีตัวอย่างที่สร้างขึ้น เพื่อทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์พื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น ผมจะมุ่งเน้นให้เห็นว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีที่จะทำให้เกิดประโยชน์นั้น ต้องมุ่งเน้น “สาระสำคัญ” และมุ่งเน้นถึงความมี “ประสิทธิภาพ” มากกว่าจะปฏิบัติให้ได้ตามรูปแบบโดยไม่สนใจเหตุผลใด ๆ ดังเช่น ในกรณีเรื่องที่ดินนั้น หากนายสมศักดิ์ทำเพียงแค่ “หลีกเลี่ยง” (avoidance) เพื่อให้ผิดตามรูปแบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีแล้ว บริษัท ดำเนินงานบริสุทธิ์ ก็จะเป็นผู้เสียประโยชน์ไปด้วย แต่หากคำนึงถึงประสิทธิภาพ ก็มีวิธีการบริหารจัดการเพื่อยังคงถึงวัตถุประสงค์ตั้งต้นของการกำกับดูแลกิจการที่ดีพร้อม ๆ กับทำให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินงานได้ด้วย


หลักการและแนวปฏิบัติของการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวางแนวทางและหลักการของเรื่องดังกล่าวไว้เป็น 5 เรื่อง ได้แก่

       1. สิทธิของผู้ถือหุ้น
       2. การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
       3. บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
       4. การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
       5. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

          ใน 5 หัวข้อข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่า ข้อ 1 – 4 นั้น เป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน หรือการปฏิบัติที่มี “มาตรฐานเดียวกัน” สำหรับผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้เกี่ยวข้องในกลุ่มเดียวกัน อย่างไรก็ดี ผู้เกี่ยวข้องต่างกลุ่มกันนั้น (เช่น ผู้ถือหุ้นสามัญ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท กับผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท ถือเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคนละกลุ่มกัน การปฏิบัติของบริษัทต่อคนทั้งสองกลุ่ม อาจจะมีความแตกต่างกัน เพราะสิทธิที่คนทั้งสองกลุ่มมีต่อบริษัทนั้น มีความแตกต่างกัน และมีลำดับสิทธิในการเรียกร้อง หรือที่เรียกว่า priority claim แตกต่างกัน) ก็จะได้รับการดูแลจากบริษัทที่แตกต่างกัน แต่เท่าเทียมในกลุ่มเดียวกัน ข้อ 4. ที่กล่าวถึงเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสนั้น โดยหลักการก็คือ การกระทำใด ๆ ก็ตาม ต้องมีความโปร่งใส ไม่งุบงิบทำโดยไม่มีการรายงานหรือไม่มีการเปิดเผย และการกระทำเหล่านั้น พร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบในภายหลัง หากมีข้อสงสัยเกิดขึ้นในหมู่ผู้มีส่วนได้เสีย

          กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลักปฏิบัติข้อ 1 – 4 นั้น เพื่อทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน เกิดความมั่นใจได้ว่า นักลงทุนจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ นักลงทุนจะได้รับการปฏิบัติที่ไม่แตกต่างกันกับนักลงทุนคนอื่นที่ลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลข่าวสารทั้งหลายที่บริษัทจดทะเบียนรับทราบและดำเนินการไป ต้องเปิดเผยอย่างโปร่งใสและเท่าเทียมกัน พร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบได้ หากมีข้อสงสัยเกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ผมได้กล่าวข้างต้นว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น ในเบื้องแรกเป็นไปเพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ หรือลดความเสี่ยงจากการลงทุนของนักลงทุนลง ซึ่งความเสี่ยงที่ว่านั้น เกิดจากความไม่แน่นอนในการดำเนินงานที่ขาดมาตรฐาน ปฏิบัติต่อนักลงทุนอย่างไม่เท่าเทียมกัน และเมื่อนักลงทุนไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงเช่นนี้ ก็ไม่ต้องเรียกร้องผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า มูลค่าของหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนที่ปฏิบัติตามหลักการที่ว่านี้จะเป็นมูลค่าเต็มที่ ต้นทุนเงินทุนจากการออกหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนก็จะเป็นต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้นทุนที่ไม่แพงเกินความจำเป็น

          จากหลักปฏิบัติในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกเหนือจาก 4 ข้อข้างต้นนั้น ข้อ 5. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เป็นข้อที่แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียน ในหลักการดั้งเดิมนั้น คณะกรรมการถือเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยเฉพาะหุ้นสามัญของบริษัท ซึ่งหมายความว่า คณะกรรมการเป็นตัวแทนของเจ้าของบริษัทนั่นเอง ในกรณีของบริษัทมหาชนนั้น หุ้นสามัญได้มีการกระจายการถือครองไปยังบุคคลหมู่มาก แต่โดยโครงสร้างทั่วไป จะมีกลุ่มผู้ถือหุ้นกลุ่มใหญ่ หรือเรียกว่า majority ซึ่งก็คือเจ้าของบริษัทก่อนที่จะมีการนำหุ้นมากระจายในตลาดนั่นเอง และมีกลุ่มผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นผู้ถือหุ้นกลุ่มย่อย หรือ minority ดังนั้น ในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเรื่องหนึ่ง ก็คือ โครงสร้างคณะกรรมการที่กำหนดให้ต้องมีกรรมการอิสระ (independent director) ซึ่งจะมีลักษณะสำคัญคือ ไม่เป็นผู้ถือหุ้น มีความเป็นอิสระจากบริษัทและกลุ่มผู้ถือหุ้นหลัก โดยกำหนดว่าจะต้องมีกรรมการอิสระเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด และต้องไม่น้อยกว่า 3 คน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การตัดสินใจในระดับนโยบายใด ๆ นั้น จะไม่ถือเอาประโยชน์ของกลุ่มผู้ถือหุ้นหลักเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้ถือหุ้นกลุ่มย่อยด้วย

          ความเข้าใจในประโยชน์และบทบาทกรรมการอิสระในเบื้องต้น อาจจะเป็นอย่างที่กล่าวนั้น อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง ผู้มีส่วนได้เสียในบริษัท ไม่ได้มีเพียงผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่น ๆ อีก เช่น เจ้าหนี้ ผู้บริโภค สาธารณชน เป็นต้น ซึ่งอันที่จริงแล้ว ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น การคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของกรรมการอิสระเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของกรรมการทุกฝ่าย และเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้เกิดผลในทางปฏิบัติ แม้จะมีการกำหนดจำนวนขั้นต่ำของกรรมการอิสระแล้ว แต่หากจะให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่เข้มข้นขึ้น บริษัทอาจจะมีจำนวนและสัดส่วนของกรรมการอิสระเพิ่มขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระไม่ควรจะนานเกินไป เพราะหากเป็นกรรมการนาน ๆ แล้ว ด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ปรกติ จะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ทำให้การพิจารณาหรือตัดสินใจใด ๆ นั้น ขาดความเป็นอิสระไป

          ในเรื่องกรรมการอิสระนี้ ก็ยังหนีไม่พ้นปัญหาเรื่อง “รูปแบบ” กับ “สาระสำคัญ” เพราะแม้จะมีการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการอิสระในเรื่องต่าง ๆ ไว้แล้ว เช่น การถือครองหลักทรัพย์ของกรรมการอิสระ ความสัมพันธ์ของกรรมการอิสระกับผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ เป็นต้น แต่ความสัมพันธ์ทางใจที่ไม่ได้มีการกำหนดเป็นหลักการ เพราะหากมีการกำหนดเป็นหลักการแล้ว ก็ไม่สามารถวัดหรือบังคับให้เกิดผลขึ้นได้จริง แต่ความสัมพันธ์ทางใจ หรือความไม่อิสระในรูปแบบอื่นนั้น อาจจะเกิดขึ้นได้เป็น “สาระสำคัญ” แต่ไม่ผิดตาม “รูปแบบ” ที่กำหนด ซึ่งเรื่องกรรมการอิสระนี้ ก็เป็นเรื่องที่วัดได้ยากในความเป็นอิสระที่ต้องการให้เกิดขึ้นในคณะกรรมการ

          นอกเหนือจากเรื่องกรรมการอิสระ ซึ่งผมยกมาอภิปรายในหัวข้อ “บทบาทคณะกรรมการ” เป็นตัวอย่างเริ่มต้นนั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพิจารณาเพื่อตอบโจทย์เรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี


การแบ่งแยกหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหาร

          กรรมการถือเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ในการที่จะต้องกำกับดูแลกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ อยู่ในทำนองคลองธรรม และที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องกำกับดูแลให้กิจการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ในขณะที่ผู้บริหาร หรืออาจจะเรียกกันว่า ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายจัดการ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า management เป็นผู้มีบทบาทและหน้าที่แตกต่างไปจากกรรมการ กล่าวคือ ฝ่ายบริหารมีหน้าที่รับนโยบายของกรรมการมาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยกำหนดกลยุทธร่วมกับกรรมการ หรือกำหนดกลยุทธย่อยเพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธหลัก และนำไปสู่ผลสำเร็จตามที่คาดหมาย

          ตามนิยามภาระหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารข้างต้นนั้น อาจจะชี้นัยให้เห็นได้ว่า หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในเรื่องนี้ก็คือ การแบ่งแยกหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารอย่างชัดเจน และแนวคิดที่ผมอยากนำเสนอเพิ่มเติมด้วยก็คือ มีความเข้าใจผิดอยู่เนือง ๆ ว่า กรรมการคือ “เจ้านาย” ของผู้บริหาร ซึ่งผมเห็นว่าความเชื่อหรือความเข้าใจดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะกรรมการไม่มีอำนาจ “สั่งการ” ให้ผู้บริหารต้องทำตามที่กรรมการต้องการ แต่กรรมการมีหน้าที่กำหนดนโยบาย และมอบหมายให้ผู้บริหารทำตามนโยบาย โดยไม่ควรจะกำหนด “วิธีการ” ให้ผู้บริหารต้องปฏิบัติ แต่กรรมการมีอำนาจและหน้าที่ในการ “กำกับดูแล” ให้ฝ่ายบริหารดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายที่ได้มีการกำหนดขึ้น ผมสังเกตเห็นในหลายองค์กรนั้น กรรมการได้ข้ามมาสั่งการให้ฝ่ายบริหาร (ผมใช้คำว่าฝ่ายบริหาร ซึ่งหมายรวมตั้งแต่กรรมการผู้จัดการลงมาผู้บริหารคนอื่นภายใต้โครงสร้างองค์กรระดับไล่ลงมาจากกรรมการผู้จัดการ) ดำเนินการหลายอย่าง ซึ่งหากมีการข้ามลงมามาก ๆ ในหลายกรณีนั้น อาจจัดได้ว่าเป็นการ “ล้วงลูก” มากเกินไป เพราะโดยหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น กรรมการมีหน้าที่มอบหมายนโยบายและกำกับการดำเนินงานของฝ่ายบริหารเท่านั้น ไม่ควรล้วงลูกมาสั่งการ ข้อต่อระหว่างกรรมการและฝ่ายบริหารก็คือ “กรรมการผู้จัดการ” ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อให้กรรมการและฝ่ายบริหารมีการสื่อสารถึงกันได้ ดังนั้น หากกรรมการจะ “สั่งการ” นั้น ควรจะทำโดยผ่านกรรมการผู้จัดการ และให้กรรมการผู้จัดการเป็นผู้สั่งการผู้บริหารที่เหลืออยู่ เพราะกรรมการผู้จัดการจะเป็นผู้ที่ถูกประเมินและกำหนดผลตอบแทนโดยคณะกรรมการ ในขณะที่ผู้บริหารคนอื่น ควรจะถูกประเมินและกำหนดผลตอบแทนโดยกรรมการผู้จัดการ เว้นแต่องค์กรขนาดใหญ่ที่ให้การประเมินและกำหนดผลตอบแทนของฝ่ายบริหารถูกกระทำโดยคณะกรรมการกำหนดค่าจ้างและผลตอบแทน โดยที่กรรมการผู้จัดการเป็นหนึ่งเสียงของคณะกรรมการชุดดังกล่าว อย่างไรก็ดี โดยทั่วไป มักจะให้คณะกรรมการกำหนดค่าจ้างและผลตอบแทนมีหน้าที่พิจารณาฝ่ายบริหารไม่เกิน 2 ระดับ คือ กรรมการผู้จัดการและระดับรองลงมา 1 ระดับเท่านั้น ไม่ควรให้ก้าวล่วงมาหลายระดับต่อจากนั้น
       
เหตุผลที่กำหนดการแบ่งแยกบทบาทระหว่างกรรมการและผู้บริหาร เพราะว่า หากผู้กำหนดนโยบายเป็นผู้ดำเนินการตามนโยบายเอง รวมทั้งเป็นผู้กำกับดูแลเอง การดำเนินการที่ผิดพลาดไปก็จะไม่มีคนเห็น เพราะทุกคนต่างแข่งกันทำ ไม่มีคนมองมาจากข้างบน (bird eyes’ view) หรือไม่มีคนที่อยู่นอกวงมองเข้ามาในวง ซึ่งจะเห็นชัดกว่าคนที่คลุกวงในทั้งหมด นอกจากนั้น หากผู้กำกับดูแลเกิดมันมือ อยากเป็นผู้สั่งการหรือดำเนินการเอง หากเกิดความผิดพลาดขึ้น ก็ยากที่จะชี้ข้อผิดพลาดของตนเอง ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับการประเมินและกำหนดค่าตอบแทนนั้น การกำหนดให้กรรมการผู้จัดการเป็นผู้ “ให้คุณให้โทษ” แก่ผู้บริหารระดับล่างลงไปนั้น เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ ผู้ที่สามารถให้คุณให้โทษได้ ก็จะเป็นผู้สั่งการที่ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องฟังและปฏิบัติตาม หากให้คณะกรรมการเป็นผู้ให้คุณให้โทษแล้ว กรรมการผู้จัดการก็จะกลายเป็นหัวหลักหัวตอ การดำเนินการใด ๆ ภายใต้การสั่งการของกรรมการผู้จัดการก็จะไม่เป็นผล นโยบายที่คณะกรรมการมอบหมายให้ ก็อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ

          เรื่องการแบ่งแยกบทบาทระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายบริหารนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง กรรมการหลายท่านก็เข้าใจบาทของตัวเองผิดพลาดไป คิดว่าสามารถสั่งการได้ทั้งบริษัท ซึ่งหากจะพิจารณาตามกลุ่มของกรรมการแล้ว อาจจะเห็นได้ว่ามีการกำหนด “กรรมการผู้มีอำนาจ” ซึ่งจะเป็นกรรมการผู้จัดการ และ/หรือ ประธานกรรมการ กรรมการบางคนเท่านั้น ไม่ใช่กรรมการทุกคนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ซึ่งนั่นหมายความว่า กรรมการแต่ละคนต้องรู้ว่าบทบาทหน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง และแม้แต่กรรมการผู้มีอำนาจเอง ก็ต้องอ่าน “กฎบัตร” หรือ charter ของตนเองให้เข้าใจ ไม่ควรก้าวก่ายหรือทำหน้าที่ขาด ๆ เกิน ๆ เพราะไม่ว่าจะขาดหรือจะเกินไปนั้น ล้วนแล้วไม่เป็นผลดีต่อการดำเนินงานของบริษัททั้งสิ้น

          นอกเหนือจากการแบ่งแยกบทบาทระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายบริหารดังที่กล่าวแล้ว การทำหน้าที่ของกรรมการแต่ละท่าน ที่เป็นหลักคือ พิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริง แล้วใช้การอภิปราย การถกประเด็น (discussion) การค้นหาข้อสรุปด้วยการใช้เหตุผลในที่ประชุมคณะกรรมการ เมื่อออกจากห้องประชุมคณะกรรมการแล้ว กรรมการไม่มีบทบาทหลักในการสั่งการ และการทำหน้าที่กรรมการนั้น ควรจะคำนึงถึงการทำหน้าที่อย่างกัลยาณมิตร ทั้งความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างกรรมการในคณะกรรมการด้วยกัน และความเป็นกัลยาณมิตรต่อฝ่ายบริหาร ในหลายครั้งอาจจะเห็นได้ว่า กรรมการและฝ่ายบริหารนั้น ไม่ได้มีความแตกต่างในแง่ของความสามารถ ประสบการณ์ หรือความชำนาญ สิ่งที่แตกต่างกันในองค์กรคงเป็นเพียงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งหากแยกแยะเรื่องนี้ไม่ออก การทำงานของคณะกรรมการและฝ่ายบริหารก็จะไม่ราบรื่น และนำมาสู่การเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จขององค์กรโดยส่วนรวมในที่สุด


พัฒนาการต่อไปจากการกำกับดูแลกิจการที่ดี

          ดูเหมือนว่าการบริหารงานที่คำนึงถึงการดูแลกิจการที่ดีในยุคปัจจุบันนี้ เป็นเพียงขั้นต้นของการบริหารกิจการเพื่อความยั่งยืน หรือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (sustainable development – SD) โดยขยายแนวคิดออกไปจากการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งอาจจะเป็นการคำนึงถึงการบริหารงานภายในองค์กรเองเป็นหลัก ออกไปสู่การคำนึงถึงระบบนิเวศ (ecosystem – ซึ่งนิยมใช้กันพร่ำเพรื่อมากในปัจจุบันนี้) โดยหมายรวมไปถึงการบริหารงานที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม (environment) และสังคมที่เกี่ยวข้อง (society) นอกเหนือไปจากการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) ดังจะเห็นว่าในปัจจุบันนั้น นิยมพูดกันเรื่อง ESG (environment, society, and governance) ซึ่งถือว่าเป็นการบริหารงานในองค์กรหนึ่งองค์กรโดยคำนึงถึงองค์รวมทั้งหมด และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ sustainable development – SD อย่างที่กล่าวในตอนต้น

          ไม่ว่าจะขยายแนวความคิดในการบริหารงานในองค์กรออกไปให้กว้างขวางขึ้นอย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าในที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถละทิ้งเรื่องการกำกับดูแลกิจการ ซึ่งสรุปอีกครั้งว่า มีสาระสำคัญอยู่ 2 นัย กล่าวคือ นัยที่หนึ่งเป็นเรื่องความเป็นธรรมในการแบ่งปันประโยชน์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย กับอีกนัยหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือ การมุ่งเน้นการบริหารงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

          อาจจะพูดได้ว่า หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น จุดหมายปลายทางไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่ให้เกิดความมั่นใจว่าองค์กรที่ดำเนินการตามหลักการนี้จะเป็นองค์กรที่ดีเท่านั้น แต่ต้องเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพด้วย จนถึงขนาดที่พูดกันเรื่อง high performance enterprise – HPE หรือองค์กรที่มีการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจอย่างสูงด้วย ไม่มีใครอยากจะเป็นคนดีที่ล้มละลาย ไม่มีใครอยากจะเป็นคนดีที่ขาดทุน ทุกคนต้องมุ่งหวังที่จะเป็นคนดีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงการเป็นองค์กรที่แบ่งปันประโยชน์อย่างเป็นธรรม เป็นองค์กรที่มีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม และเป็นองค์กรที่ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงด้วย และองค์กรอย่างนี้ จึงจะเป็นที่สนใจของนักลงทุนนั่นเอง

Friday, January 29, 2016

เศรษฐีหมื่นล้าน กับ หุ้นพลังงาน / โดย คนขายของ


“เร็วและแรง” คงเป็นคำที่เหมาะสมสำหรับบรรยายการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากราคาราว 50$ ตอนต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงมา เหลือเพียง 28$ ในปัจจุบัน ผลกระทบของเหตุการณ์นี้ส่งผลไปยังหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม น้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างหุ้น PTTEP (ปตท.สผ.) ของไทยซึ่งทำธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมัน ราคาได้ลดลงจาก 75 บาทมาที่ 43 บาทในปัจจุบัน ทำให้ผมสนใจศึกษาว่าในสถานะการณ์แบบนี้ เหล่ากูรูการลงทุนในต่างประเทศที่ร่ำรวยมหาศาล มีสินทรัพย์มากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป เขามีการปรับพอร์ตลงทุนอย่างไรในสถานะการณ์แบบนี้?



ขอเริ่มจากนักลงทุนรายใหญ่สุด Warren Buffett ได้ทำการซื้อหุ้นของบริษัท Phillips 66 (PSX) เข้าพอร์ต โดยได้ซื้อเพิ่มหุ้นอีกราวๆ 15% จากปลายปีที่ผ่านมา PSX เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจโรงกลั่น, เคมีภัณฑ์ และ ปั๊มน้ำมัน มีนักลงทุนบางท่านเชื่อว่าการที่ Buffett ลงทุนในหุ้นตัวนี้ เพราะราคาน้ำมัน ลดลง ทำให้การบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้น ค่าการกลั่นก็จะสูงขึ้น PSXซึ่งเป็นเจ้าของโรงกลั่นน้ำมันถึง 14 แห่งในอเมริกาและยุโรปคงได้ประโยชน์ แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของ Warren Buffet ทาง CNBC เมื่อเดือนกันยาปีที่ผ่านมาเขากล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนใน PSX นั้นไม่ใช่เพราะธุรกิจโรงกลั่น แต่เป็นเพราะเขาประทับใจในทีมผู้บริหารของบริษัท เหตุผลดังกล่าวตอกย้ำถึงการเป็นนักลงทุนเน้น คุณค่าของ Buffett ได้เป็นอย่างดีเพราะเขามองข้ามประโยชน์ชั่วคราวของ ค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้น แต่เน้นไปที่ความสามารถในการจัดการของผู้บริหารมากกว่า


George Soros เพิ่งเริ่มซื้อหุ้นของ Schlumberger (SLB) กิจการให้บริการครบวงจรเกี่ยวกับ การสำรวจและผลิตปิโตรเลี่ยมเข้าพอร์ตเมื่อไตรมาสสามปีที่แล้วราว 1% ของพอร์ต ที่ต้นทุนประมาณ 79$ และยังมีอีกหลายกองทุนที่เริ่มสะสมหุ้นตัวนี้ Kate Warne นักกลยุทธ์การลงทุนของบริษัท Edward Jones ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนขนาดใหญ่ของอเมริกาได้กล่าวถึง ความน่าสนใจของหุ้น SLB ว่าบริษัทกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการลดต้นทุน และมีความพร้อมที่จะฟื้นกลับมา เมื่อราคาน้ำมันเริ่ม สูงขึ้น นอกจากนั้นปันผลของ SLB มีโอกาสที่จะเพิ่มจาก 3% ในปัจจุบัน มาเป็น 8%ในอีกห้าปี ข้างหน้า ถ้าน้ำมันสามารถยืนอยู่ที่ 40$ ต่อบาเรลได้


กองทุนมูลนิธิของ Bill Gates ได้ถือหุ้นของบริษัทน้ำมัน Exxon Mobil (XOM) มาเป็นเวลายาวนาน โดยถือมากที่สุดเป็นอันดับที่หกของพอร์ตในปี 2009 และได้โชว์ความเหนือชั้นโดยการขายหุ้น XOM ทั้งหมดตอนไตรมาสสี่ ปี 2014 ที่ราคา 93$ ซึ่งเป็นราคาที่เกือบจะ All-Time-High ปัจจุบันมูลนิธิของ Bill Gates ถือหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมันเพียงตัวเดียวคือ British Petroleum (BP) และกำลัง เริ่มลดการถือครองลง ณ ตอนนี้การลงทุนของกองทุนในอุตสาหกรรมพลังงานคิดเป็นแค่ 1% ของทั้งหมด ซึ่งแสดงถึงมุมมองของเขาต่ออุตสาหกรรมนี้ได้เป็นอย่างดี


กลุ่มพลังงานนับว่าเป็น sector ขนาดใหญ่ของตลาดทุนในทุกประเทศ อย่างในประเทศไทย กลุ่มนี้มี มูลค่าราว 15% ของมูลค่าตลาดรวม จากการศึกษาพอร์ตลงทุนของมหาเศรษฐีระดับหมื่นล้านเหรียญ แปดคนในสหรัฐอเมริกากลับพบว่าให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มนี้ต่ำมาก โดยค่าเฉลี่ยการให้น้ำหนัก


กลุ่มนี้ของอภิมหาเศรษฐีทั้งแปดอยู่แค่เพียง 5.38% ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนสายเน้นคุณค่าอย่าง Warren Buffett ซึ่งให้น้ำหนักกลุ่มนี้ที่ 4.4% หรือจะเป็นสายเทคนิคอย่าง James Simons ก็ให้น้ำหนักกลุ่มนี้ เพียง 4.1% กลุ่มยอดนิยมที่มีการให้น้ำหนักมากเป็นพิเศษของมหาเศรษฐีทั้งแปดกลับเป็นกลุ่ม เทคโนโลยี และ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค


แต่กระนั้นก็ตาม ยากที่จะบอกว่านักลงทุนเราควรละเลยการลงทุนในกลุ่มนี้ไปเลยหรือไม่ เพราะในอดีต ก็มีบางครั้งที่นักลงทุนระดับเซียน หรือผู้บริหารกองทุนที่เก่งกาจ ต่างขายหุ้นกลุ่มนั้นๆออกไป เพราะมี มุมมองที่ไม่ดีเหมือนกัน แต่พอสิบปีผ่านราคาหุ้นกลับฟื้นคืนมาได้เป็นสิบเท่า ถึงแม้ว่าการศึกษาการ ลงทุนของ “เซียน” เป็นเรื่ิองดี แต่ผมคิดว่าการศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ในอุตสาหกรรมนั้นๆ เป็นเรื่องที่สำคัญกว่า เพราะแน่นอนละครับ ถ้าสักวัน มหาเศรษฐีเหล่านี้เกิดเปลี่ยนใจเพิ่มน้ำหนัก การลงทุนในกลุ่มพลังงานอย่างมีนัยยะ เขาคงไม่ส่งอีเมล์มาบอกเราก่อนเป็นแน่

Sunday, January 24, 2016

ลงทุนแบบป้าแอนน์ / ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล


ในโลกของการลงทุนนั้น  เรามักจะพูดถึงหลักการลงทุนแบบต่าง ๆ  เช่น  ลงทุนแบบ วอเร็น บัฟเฟตต์ แบบ เบน เกรแฮม แบบ ปีเตอร์ ลินช์ หรือแบบ จอร์จ โซรอส  เหตุผลก็คงเป็นเพราะความสำเร็จที่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ของนักลงทุนเหล่านี้รวมถึงการที่มีหนังสือและข้อเขียนที่อธิบายกลยุทธ์  วิธีการ  และหลักการของพวกเขาอย่างแพร่หลาย  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  ความมี  “เอกลักษณ์” ในวิธีการลงทุนของแต่ละคนที่แตกต่างจากคนอื่น  อย่างไรก็ตาม  วิธีการลงทุนและคุณสมบัติบางประการของเหล่า “เซียน” ที่กล่าวถึงนั้น  บางทีก็เป็นเรื่องยากของ “คนธรรมดา” ที่จะเลียนแบบ   เอากันง่าย ๆ   สำหรับคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางการเงินหรือการวิเคราะห์ที่แข็งแกร่ง  พวกเขาก็อาจจะไม่สามารถที่จะไปขุดคุ้ยหรือค้นหาหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีได้  อะไรแปลว่าดีหรือไม่ดี?  อะไรแปลว่าถูกหรือแพง?  เรื่องแบบนี้  “พูดง่ายแต่ทำยาก”  ดังนั้น  นักลงทุน “สมัครเล่น” จำนวนมากจึงต้องหาวิธีของตนเองแบบ  “ลองผิดลองถูก”  ซึ่งสุดท้ายแล้วก็คือ  “ผิดมากกว่าถูก” และก็ไม่ได้อะไรจากการลงทุนนอกจากความสนุกสนานชั่วคราวในยามที่หุ้นขึ้นแต่ขาดทุนหนักในยามที่หุ้นตก

แนวทางการลงทุนแบบหนึ่งที่ผมคิดว่าอาจจะเหมาะกับนักลงทุนหลายคนที่อาจจะมี “ความสามารถ”  จำกัด  แต่มีความตั้งใจสูง  มีศรัทธากับการลงทุน  และมีวินัยพอที่จะยึดมั่นกับสิ่งที่คิดว่าถูกต้องแม้ว่าในระยะสั้นมันอาจจะดูว่าผิด  ก็คือ  การลงทุนในแบบของ  Anne Scheiber นักลงทุน “รายย่อยผู้ยิ่งใหญ่” – หลังจากที่เธอตายไปแล้ว

ผมเองเคยเขียนเรื่อง “ชีวิต” ของ แอนน์ ไชเบอร์ นานมาแล้ว  แต่ก็ขอทบทวนประวัติเล็กน้อยสำหรับคนที่ไม่ได้อ่าน  แอนน์ เป็นคนยิวอเมริกัน เกิดปี 1893  เคยทำงานเป็นพนักงานตรวจภาษีในเมืองนิวยอร์คจนอายุ 51 ปีก็เกษียณตัวเอง  ระหว่างที่เป็นพนักงานนั้น  ได้เงินเดือนน้อยมาก สูงสุดเคยได้ไม่เกิน 3-4,000 เหรียญต่อปี  ไม่เคยได้รับการเลื่อนขั้นและรู้สึกว่าตนเองถูก “กีดกัน”  เนื่องจากเป็นผู้หญิงและเป็นยิว  หลังจากเกษียณและด้วยเงิน 5,000 เหรียญ แอนน์กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้งหลังจากที่เคยเจ๊งจากตลาดหุ้นเพราะให้เงินน้องที่เป็นโบรกเกอร์ไปบริหาร  จากเงินเพียง 5,000 เหรียญ  แอนน์ลงทุนและอยู่ตัวคนเดียวแบบไม่มีเพื่อนและญาติทั้ง ๆ ที่มีพี่น้องท้องเดียวกัน 5-6 คน  เธอใช้ชีวิตสมถะสุด ๆ  อยู่ในห้องพักแบบสตูดิโอ  ใส่เสื้อผ้าตัวเดิม ๆ  ตลอด  และประหยัดมากแม้กระทั่งอาหารก็เคยมีเรื่องเล่าว่า  เวลาเธอไปประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งเธอทำเป็นประจำ  เธอก็จะนำถุงไปใส่อาหารกลับมากินที่บ้านได้อีกหลายวัน

วันที่แอนน์ตายด้วยวัย 101 ปี ในปี 1995  พอร์ตของเธอโตขึ้นกลายเป็น 22 ล้านเหรียญ ซึ่งเธอบริจาคเงินทั้งหมดให้กับมหาวิทยาลัยเยชิวาเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงโดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสเหมือนเธอ และนั่นทำให้แอนน์กลายเป็นคนที่ “ดัง” เพราะนิตยสารไทม์และพีเพิลนำเรื่องของเธอตีพิมพ์  ตามการประมาณการของหลายคน  ผลตอบแทนการลงทุนแบบทบต้นต่อปีของแอนน์นั้นสูงถึงปีละ 18%  ตลอดเวลา 50 ปี นั้น  ต้องถือว่าเป็นสถิติ “ระดับโลก” ที่น้อยคนจะทำได้และทำให้บางคนยกย่องว่าเธอเป็น  “นักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ใน ศตวรรษที่ 20” คนหนึ่ง

หลักการลงทุนของแอนน์ที่มีการพูดถึงกันหลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้วพอสรุปคร่าว ๆ  ได้ดังต่อไปนี้

1 ลงทุนในบริษัทที่ผลิตสินค้าที่มียี่ห้อ “ดัง” และเป็นสินค้าที่เธอรู้จักดีและมีโอกาสได้ใช้ตลอดเช่น ยาและอาหาร  บริษัทที่เธอถือหุ้นจำนวนมากประกอบไปด้วยหุ้นของ บริษัทยาเช่น เชอริงก์ พลาว หุ้น โค๊กและเป๊ปซี่ เป็นต้น  นอกจากนั้น  ค่าที่เธอชอบดูหนังและทีวี  เธอจึงลงทุนในหุ้นอย่างโคลัมเบียพิคเจอร์  พาราเม้าท์ และ แคปปิตอลซิตี้ที่เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ เป็นต้น

2 แอนน์ชอบบริษัทที่มีผลประกอบการหรือกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ทุกปี  โดยไม่ค่อยสนใจเรื่องของความถูกความแพงมากนัก  นั่นคือ  ไม่ค่อยดูค่า PE  เธอบอกว่าบางช่วงหุ้นถูก  บางช่วงหุ้นก็แพง  ดูยาก  แต่ถ้ากำไรของบริษัทโตขึ้นไปเรื่อย ๆ  ในที่สุดราคาหุ้นก็จะขึ้นตามไป  ดังนั้น ไม่ต้องห่วงว่าจะซื้อถูกหรือแพงถ้าเราถือลงทุนระยะยาว

3 ต่อจากข้อสองที่ทำให้เธอไม่ห่วงเรื่องหุ้นแพงหรือถูกก็คือ  เธอจะสะสมหุ้นดีตามข้อหนึ่งไปเรื่อย ๆ  ทีละน้อย  นั่นคือ  เมื่อได้รับปันผลเข้ามาก็จะนำเงินกลับเข้าไปลงทุนในหุ้นอีก  ดังนั้น  ในบางคราวที่หุ้นตก  เธอก็จะซื้อได้ถูกลง  เฉลี่ยราคาลงมา  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  การทำคล้าย ๆ  กับวิธีที่เรียกว่า Dollar Cost Average หรือซื้อไปเรื่อย ๆ  ทุกเดือนหรือทุกงวดที่ได้เงินมา  ดังนั้น  ราคาต้นทุนเฉลี่ยของหุ้นเหล่านั้นก็จะไม่สูงหรือไม่ต่ำแต่เป็นหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยม

4 กลยุทธ์สำคัญอย่างหนึ่งของแอนน์ก็คือ  “ซื้อแล้วเก็บ”  โดยเฉพาะในหุ้นที่เธอเชื่อมั่นว่ามันเป็นกิจการที่ดีเยี่ยม  แม้ในยามที่ตลาดหุ้นตกลงมาอย่างหนักหรือตัวหุ้นตกลงมา  บางที 50%  เธอก็ไม่ขาย  ความ “ศรัทธา” ของเธอนั้นแรงกล้า  เธอคิดว่าถ้ากิจการมันดี  ราคาหุ้นก็ต้องกลับมา  และถ้าดูจากหุ้นที่เธอถือ  ก็น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่ามันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ

5 “ทำการบ้าน”  นี่คือสิ่งที่แอนน์ทำมาตลอด  เธอจะไปประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้งที่ทำได้โดยเฉพาะที่จัดในเมืองนิวยอร์ค  เธอจะศึกษาข้อมูลและไปซักถามผู้บริหารอย่างลึกซึ้งแล้วนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของนักวิเคราะห์และความเห็นของตนเอง  แอนน์เองเคยเป็นผู้ตรวจสอบด้านภาษีของบริษัทต่าง ๆ  ดังนั้น เธอจึงรู้เรื่องเหล่านี้ดี

6 เนื่องจากอัตราภาษีโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นสูงมาก  แอนน์จะพยายามหลีกเลี่ยงให้ต้องจ่ายน้อยที่สุด  เช่น  เธอจะขายหุ้นน้อยมากเนื่องจากการขายหุ้นจะเสียภาษีกำไรจากการขายหุ้น  นอกจากนั้น  ในวันที่เธอตายยังพบว่าเธอถือพันธบัตรถึง 30% ของพอร์ต เนื่องจากประเด็นเรื่องภาษีที่จ่ายน้อยกว่าการถือหุ้นทั้งหมด  และนี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่แอนน์ใช้ประโยชน์จากความรู้ด้านภาษีของตนเองในการลงทุน

7 กลยุทธ์การสร้างความมั่งคั่งของแอนน์ที่สำคัญสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  การประหยัด  ใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคน้อยมาก  บ่อยครั้งเธอเดินแทนที่จะใช้รถสาธารณะ  ไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่เลย  เสื้อโค้ทและหมวกสีดำของเธอกลายเป็นสัญลักษณ์ “ประจำตัว”  กินอาหาร “ฟรี” ทุกครั้งที่มีโอกาส  อยู่ในอพาร์ทเม้นต์ห้องเดียวและตัวคนเดียว  เธอแทบไม่มีเพื่อนเลย  คนเล่าว่าใน 5 ปีสุดท้ายของชีวิตนั้น  เธอไม่เคยได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนแม้แต่ครั้งเดียวและนี่ก็อาจจะเป็น  “ต้นทุน” ของความประหยัด  หรืออาจจะเป็นสิ่งที่เธอเลือกก็สุดจะเดา  แต่คนบอกว่าเธอมีชีวิตที่  “น่าสังเวช”  วันที่ยิ่งใหญ่มีความสุขของเธอก็คือวันที่เธอเดินไปเปิดตู้นิรภัยที่เมอริล ลินช์ ใกล้ ๆ ตลาดหุ้นนิวยอร์คเพื่อที่จะดูใบหุ้น  ซึ่งเธอก็ทำอยู่บ่อย ๆ

ผมเองไม่อยากที่จะตัดสินว่าเธอเป็นคนที่น่าอนาถ  ผมคิดว่าเธอมีความคิดของเธอเอง  และเธอก็คงไม่ได้มีความทุกข์หรือความเศร้าหมองอะไรนักมิฉะนั้นคงไม่อยู่ถึง 100 ปีในยุคที่คนส่วนใหญ่อยู่กันแค่ 60-70 ปีก็ถือว่าใช้ได้แล้ว  ในส่วนของวิธีการลงทุนของแอนน์เองนั้น  ผมคิดว่ามันยังน่าจะดีเยี่ยมและไม่ล้าสมัยและน่าจะเหมาะกับนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากของบ้านเรา  โดยเฉพาะที่กำลังเป็น “ป้า” และไม่เคยแต่งงานแบบ  “ป้าแอนน์”

New S-Curve คือทางรอดของธุรกิจ


ถ้าถามว่าบริษัทที่มี Innovation สูงในสินค้าอิเล็คโทรนิคในยุค 100 ปีที่แล้ว คืออะไร ? คงไม่มีใครนึกถึงบริษัทที่ชื่อว่า Zenith Radio Corporation บริษัทแห่งนี้ถูกก่อตั้งปี 1918 และให้กำเนิดวิทยุแบบพกพาเครื่องแรกของโลก ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงเกือบครึ่งศตวรรษก่อนที่เราจะรู้จัก Sony Walkman หรือ Ipod ในยุคนี้ หลังจากนั้นบริษัทก็สามารถย้ายจุดโฟกัสและผลิตทีวีได้สำเร็จในสองทศวรรษถัดมา บริษัทคิดค้นสิ่งที่สุดยอดที่สุดในยุคนั้นคือ “รีโมททีวี” และเริ่มผลิตทีวีสีได้ ในปี 1975 บริษัทครองส่วนแบ่งตลาดทีวีสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา

            แต่ในยุค 1970s นี่เองที่ “ลมเริ่มเปลี่ยนทิศ” ทีวีจากประเทศญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาตีตลาดด้วยราคาที่ถูกกว่า ทำให้ผู้ผลิตทีวีของอเมริการวมถึง Zenith เสียส่วนแบ่งไปอย่างรวดเร็ว บริษัทญี่ปุ่นได้ส่วนแบ่งถึง 45% ในปลาย 1970s ซึ่งเติบโตหลายเท่าตัวในช่วงเวลาไม่กี่ปี บริษัท Zenith จึงหาทางออกโดยเริ่มเข้าสู่ธุรกิจ Personal Computer (PC) ในขณะเดียวกันธุรกิจทีวีก็เริ่มหาทางออกใหม่คือ “HDTV” หรือทีวีความละเอียดสูงเหมือนที่เราใช้ในปัจจุบัน

            การเข้าสู่ HDTV นั้นเหมือนว่าเร็วเกินไปสำหรับผู้บริโภค เพราะสื่อต่าง ๆ ในยุคนั้นยังไม่รองรับ และเทคโนโลยีนี้มีราคาแพงมาก ที่แย่ไปกว่านั้นกว่าจะรอให้ผู้บริโภคพร้อม ฐานะการเงินของบริษัทก็เริ่มยากลำบากและในที่สุด Partner คนหนึ่งคือบริษัทเกาหลีที่ชื่อว่า LG Electrics ก็เริ่มเข้าซื้อหุ้นของกิจการ Zenith ที่ละน้อยเพื่อครอบครองเทคโนโลยี HDTV ในปี 1999 บริษัท Zenith เข้าสู่กระบวนการล้มละลายและ LG ก็ควบรวมเอาหุ้นที่เหลือ และ Zenith ก็เข้าเป็นบริษัทลูก LG ตั้งแต่นั้นมา

            บริษัท Zenith เป็นตัวอย่างหนึ่งของหลายตัวอย่างบริษัทในโลกใบนี้ เช่น Kodak ในธุรกิจกล้องดิจิตอล APPLE ในยุคที่ผลิต Newton และแพ้ Palm inc. แต่ในที่สุดก็กลับมาชนะด้วย Iphone และ Ipad หรือแม้กระทั่งรัฐชาติ เช่น ไต้หวัน สิงค์โปร์ ญี่ปุ่น สวีเดน นอร์เวย์ เยอรมัน หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านช่วงเวลาที่รุ่งเรือง และชะลอตัวลง จนหาความรุ่งเรืองใหม่ได้ ซึ่งในทางทฤษฎีเรียกว่า “New S-Curve” ทั้งสิ้น ธุรกิจหรือรัฐไหนที่ไม่มี S-Curve ใหม่ หรือมี “ช้าเกินไป” ย่อมเกิดปัญหาในการเติบโต เพราะบริษัทหรือรัฐที่จะยิ่งใหญ่ในระยะยาว “ชนะครั้งเดียว” นั้น “ไม่เพียงพอ”

            บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงที่ผ่านมา เช่น ค้าปลีก ก็มีการขยายไป “ต่างประเทศ” เพราะต้องการ S-Curve ใหม่ แม้ว่าจะขาดทุนช่วงแรก เพราะบริษัททราบดีว่า ถ้าเราต่อ S-Curve ช้าเกินไปย่อมเกิดปัญหาในการเติบโตและความอยู่รอดในระยะยาว อย่างไรก็ดีในทางกลับกันบริษัทค้าปลีกต่างชาติหลายแห่งในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามก็ม้วนเสื่อกลับบ้าน เพราะ “ตลาดยังไม่พร้อม” ที่จะรับ S-Curve ใหม่ คล้ายกับกรณี HDTV ของ Zenith หรือกรณีล่าสุดอย่างธุรกิจสื่อสาร บ้านเราที่มีผู้เล่นรายใหม่ พยายามเข้ามาต่อ S-Curve ของตัวเอง ความพยายามเหล่านี้ย่อมเกิดโอกาสและความเสี่ยงมหาศาลในธุรกิจ

            การวิเคราะห์ว่าบริษัทจะสามารถ “กระโดด” ไปสู่ S-Curve ใหม่ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญคือ ขนาดธุรกิจใน S-Curve ใหม่จะต้อง “ใหญ่” และมี “โอกาส” เพียงพอ ตัวอย่างหนึ่งคือ Novo Nordisk ที่กระโดดสู่ S-Curve ใหม่โดยการทำยารักษาโรคเบาหวานซึ่งบริษัทมองทิศทางว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบันนั้น มีแนวโน้มเป็นเบาหวานสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจัยที่สองคือ “ความสามารถของบริษัท” นั้นจะต้องสูงกว่าและสามารถส่งมอบ “คุณค่า” ได้อย่างชัดเจน แต่บริษัทไม่จำเป็นต้องทำทุกเรื่องให้ดีกว่า แค่ “บางเรื่อง” ที่มีความสำคัญสูง บริษัทก็สามารถชนะได้ ตัวอย่างเช่น Walmart สามารถส่งมอบสินค้า “ราคาถูก” กว่าคู่แข่ง ผู้บริโภคไม่ได้สนใจความสวยงามของห้าง หรือความหรูของห้องน้ำ หรือบริการของพนักงานขายเป็นต้น

            สำหรับปัจจัยที่สามที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด คือ บริษัทจะต้องมี “Talent” หรือบุคคลที่มีความสามารถสูง มีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์แรงบันดาลใจ มีแรงขับเคลื่อน มีพนักงานขายที่สู้ยิบตา มีวิศวกรที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง เพื่อที่จะขับเคลื่อนบริษัทไปได้ บริษัทที่มี S-Curve ใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลาจึงเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการ “ดึงตัวคนเก่ง” เข้ามา และ “รักษาคนเก่ง” ได้ตลอดเวลา บริษัทเหล่านั้นจะมีพนักงานที่มีความพึงพอในในบริษัทสูง

            ทุก ๆ New S-Curve จะมี “ระเบิดเวลา” ของ S-Curve เก่าเสมอ ๆ บริษัทที่เกาะ S-Curve เก่าไปเรื่อย ๆ โดยไม่สามารถสร้าง S-Curve ใหม่ได้ ก็จะยากลำบาก ในแง่กลยุทธ์บริษัทจะต้องหา “แกนกลางธุรกิจ” หรือความสามารถเฉพาะของตัวเองให้ได้ว่าคืออะไร พร้อม ๆ ไปกับการหา “ความต้องการ” ของตลาดเร็วกว่า ดีกว่าคนอื่น ผมคิดว่าบริษัทในประเทศไทยนั้นหลายบริษัทกำลังหา New S-Curve หรือกำลังสร้างมันอยู่ รวมไปถึง “ประเทศไทย” เองก็กำลังสร้าง New S-Curve ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งถ้าบริษัทเหล่านี้ทำสำเร็จ นี่ไม่เป็นเพียงทางรอดของธุรกิจ แต่นี่กำลังเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศไทย

Sunday, January 17, 2016

รถที่ไม่ต้องใช้คนขับ / โดย ดร.นิเวศน์


   ถ้าจะถามว่าธุรกิจอะไรที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่าง “ใหญ่หลวง” และอาจทำลายผู้เล่นรายเดิมและสร้างผู้เล่นรายใหม่ให้เกิดขึ้น  รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้งานของสินค้าจนเราคิดไม่ถึงเช่นเดียวกับระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ  และประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้อง  นอกจากนั้น  มันก็ยังจะส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจและธุรกรรมที่เกี่ยวข้องมากมายมหาศาลในระยะเวลาอาจจะ 10-20 ปีข้างหน้าละก็  ผมคิดว่ามันคือการ “เกิดขึ้น” ของ “รถที่ไม่ต้องใช้คนขับ”  แต่สามารถขับเคลื่อนพาเราหรือพาตัวมันเองไปที่จุดหมายได้  หรือพารถเข้าไปจอดในที่จอดรถได้โดยเราไม่ต้องทำอะไรยกเว้นสั่งให้มันทำ  และนี่ก็จะเป็นการ “ปฏิวัติ” แบบแผนการใช้ชีวิตของคนอีกครั้งหนึ่งโดยความก้าวหน้าของ IT และอินเตอร์เน็ตที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีนี้

            สิ่งที่ผมพูดนั้น  ไม่ใช่เป็นการคาดเดาแบบนักพยากรณ์ศาสตร์ที่พยายาม “มองอนาคต” ซึ่งในอดีตที่ผ่านมานั้นเดาผิดมากกว่าถูกและห่างไกลจากความเป็นจริงค่อนข้างมาก  แต่สิ่งที่ผมพูดคือเรื่องรถที่ไม่ต้องใช้คนขับนั้น  ขณะนี้ในทางทฤษฎีและทางปฏิบัตินั้น  ถือว่ามันเป็นไปได้แล้ว  การทดลองที่ทำโดยบริษัทกูเกิลที่ให้รถยนต์ขับเคลื่อนในท้องถนนจริงในสถานที่หลากหลายนั้นเป็นผลสำเร็จแล้ว  โดยที่สถิติการขับเคลื่อนที่ผ่านมานั้นทำได้ดีกว่าคนขับทั่วไปมาก  รถสามารถแล่นไปตามจุดหมายที่กำหนดอย่างสมบูรณ์และอุบัติเหตุเกิดขึ้นน้อยมากและมักเกิดจากรถคันอื่น  พูดง่าย ๆ  อุปกรณ์หรือเครื่องมือควบคุมที่ประกอบไปด้วยเครื่องนำทางและแผนที่  กล้องที่เป็นเหมือน“สายตา” จับภาพต่าง ๆ รวมถึงรถ คน สัตว์และไฟจราจรได้ใกล้เคียงกับคน  และการควบคุมรถทำได้เร็วและถูกต้องกว่าคนจริง ๆ  เป็นต้น  ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นก็คือ  มันสามารถที่จะ “เรียนรู้” เพื่อที่จะสามารถเข้าใจสิ่งของและสภาพแวดล้อมรวมถึงการควบคุมรถให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อมันผ่านประสบการณ์นั้นมาด้วย  ถ้าจะพูดไป  มันคงจะคล้าย ๆ  กับคนเหมือนกันนั่นคือ  คนที่ขับรถมานานก็จะมีประสบการณ์และขับรถได้ดีขึ้น—โอ พระเจ้า

            สิ่งที่ทำให้รถที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองยังไม่สามารถถูกนำออกมาใช้ได้กว้างขวางนั้นไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี  แต่มันเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ที่สำคัญ 2-3 เรื่องนั่นก็คือ  ข้อแรก กฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ  ที่ควบคุมการใช้รถยนต์ที่ถูกเขียนขึ้นมานับร้อยปีที่อิงอยู่กับสมมุติฐานว่ามีคนขับรถที่จะต้องเป็นผู้ขับที่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตนเองเวลาเกิดอุบัติเหตุหรือทำผิดกฎจราจร  แต่ในเรื่องนี้ก็มีความพยายามของรัฐหลายแห่งที่จะแก้ไข  โดยล่าสุดที่ต้องถือว่าเป็น Breakthrough หรือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญก็คือ  กรมการขนส่งของสหรัฐเพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะเข้ามาดูและแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ซึ่งรวมถึงเรื่องของกฎหมาย กฎเกณฑ์ คำถามเกี่ยวกับเรื่องของการประกันภัย และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความไม่สบายใจต่าง ๆ  ของสังคมเช่นเรื่องอุบัติเหตุและอื่น ๆ  เช่นเดียวกับการที่อาจจะต้องกำหนดมาตรฐานเพื่อที่จะใช้กับรัฐทั้งหลายโดยไม่ขัดแย้งกัน

            อุปสรรคข้อสองที่น่าจะสำคัญยิ่งกว่าก็คือ  รถที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองนั้นผมเข้าใจว่าจะต้องเป็นรถที่ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไม่ใช่รถที่ใช้น้ำมัน  และนี่ก็ทำให้รถยนต์ที่ไม่ต้องใช้คนขับยังไม่แพร่หลายเนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าเองยังไม่แพร่หลายเนื่องจากสองประเด็นใหญ่นั่นก็คือ  มันยังมีราคาแพงกว่ารถใช้น้ำมันมาก  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  รถไฟฟ้ายังไม่ค่อยคล่องตัวในการใช้เนื่องจากสถานีชาร์จไฟแบตเตอรี่ยังมีน้อย  เวลาเดินทางไปในที่ต่าง ๆ  ก็อาจจะไม่สะดวก  แต่ทั้งสองประเด็นนี้ก็กำลังได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างรวดเร็ว  ประการแรก  ราคารถไฟฟ้านั้น  ถ้ามีการใช้และการผลิตมากขึ้น  ต้นทุนก็จะต่ำลง  นอกจากนั้น  ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของการผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นต้นทุนใหญ่ของรถไฟฟ้านั้นดีขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งสุดท้ายแล้ว  รถไฟฟ้าก็อาจจะมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ  จนถูกกว่ารถยนต์ใช้น้ำมันก็ได้เนื่องจากรถไฟฟ้านั้นไม่ต้องมีเครื่องยนต์ที่ต้องมีอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ซับซ้อนมาก  ส่วนเรื่องสถานีชาร์จไฟแบตเตอรี่นั้น  ผมคิดว่าถ้ามีรถไฟฟ้ามากขึ้น  สถานีก็น่าจะเกิดตามมาไม่ยาก  เพราะสถานที่ก็อาจจะเป็นปั๊มน้ำมันนั่นเองก็น่าจะได้

            สิ่งที่ผมคาดว่าเราจะเห็นนั้นน่าจะเป็นเรื่องของการที่รถใช้ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาแล่นบนท้องถนนมากขึ้น  ซึ่งที่จริงในขณะนี้ในสหรัฐเองรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาก็เริ่มเป็นที่นิยมขึ้น  ยอดขายโตขึ้นแม้ว่าจะยังเป็นหลักหมื่นคัน  แต่ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นรถ “คุณภาพเยี่ยม”  เหนือกว่ารถดั้งเดิมมาก  คนที่ขับในปัจจุบันนั้นน่าจะเป็นคน “มีระดับ” ที่ยอมจ่ายแพงและอาจจะยังไม่สะดวกในการใช้มากนัก  แต่ในเร็ว ๆ  นี้  เทสลาก็จะออกรถโมเดลใหม่ที่เป็น Mass หรือราคาถูกลงและขายให้กับคนทั่วไปมากขึ้น  ซึ่งดูเหมือนว่าน่าจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งและคนเชื่อว่านี่จะเป็น  “เมกาเทรนด์”  ความหมายก็คือการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้ารอบนี้เป็น  “ของจริง” ที่จะต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ  จนโลกอาจจะค่อย ๆ  เปลี่ยนรถจากการใช้น้ำมันเป็นไฟฟ้าจากแบตเตอรี  และสัญญาณที่สะท้อนออกมาก็คือ  ราคาหุ้นของเทสลาที่มีการซื้อขายกันล่าสุดนั้นสูงลิ่ว  มูลค่าหุ้นเท่ากับประมาณ 27 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือเกือบล้านล้านบาทไทยทั้ง ๆ  ที่ยังขาดทุนและมีรายได้น้อยมาก แต่คนเชื่อว่าเทสลาจะเป็นผู้นำที่โดดเด่นในเรื่องของรถไฟฟ้า  และก็แน่นอนว่าเทสลาก็กำลังทำและทดสอบรถที่ไม่ต้องมีคนขับแบบเดียวกับกูเกิลและเผลอ ๆ  จะเร็วกว่าเนื่องจากเขามีรถไฟฟ้าที่ใช้งานได้อยู่แล้ว

            ธุรกิจที่ผูกอยู่กับรถยนต์ใช้น้ำมันนั้น  แน่นอน  มีมานานและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ  เป็นร้อยปีแล้ว  นอกจากธุรกิจรถยนต์เองแล้ว  ธุรกิจที่ใหญ่มาก  “คับโลก” ก็คือธุรกิจค้นหาน้ำมันดิบ  การกลั่นและจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูป  ธุรกิจประกันภัยรถยนต์  และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่นการซ่อมเครื่องยนต์และบริการอื่น ๆ  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้  ในระยะที่ไม่ยาวนักน่าจะไม่เกิน 20 ปีเราก็น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างใหญ่หลวง  เช่นเดียวกับหุ้นของบริษัทที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายนั้นก็จะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลง  หลายบริษัทอาจจะหายไปหรือลดระดับลงไปมาก  บริษัทใหม่ ๆ  อาจจะเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว  บางครั้งแม้ว่ายอดขายยังน้อยและกำไรยังไม่มีแต่ก็อาจจะมี Market Cap. ที่ใหญ่กว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เก่า ๆ  ที่อยู่มาเป็น 100 ปี ได้

            ธุรกิจน้ำมันที่กำลังตกต่ำมากในวันนี้อาจจะเกิดจากความไม่สมดุลของอุปทานและอุปสงค์ชั่วคราว  แต่มันก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคนอาจจะคาดการณ์ไปในอนาคตแล้วว่า  “เวลาหรือยุคของน้ำมัน”  อาจจะกำลังหมดลงเพราะรถไฟฟ้าที่ไม่ต้องใช้คนขับกำลังมาแทนที่  ดังนั้น  หุ้นน้ำมันอาจจะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป  บริษัทผลิตรถยนต์ดั้งเดิมเองนั้น  แม้ว่าหลายบริษัทก็เริ่มหันมาให้ความสนใจกับรถไฟฟ้า  แต่เนื่องจากอาจจะไม่ทุ่มเทเต็มที่เนื่องจากกลัวว่ามันจะมาทำลายรถที่ใช้น้ำมัน  ซึ่งนั่นก็อาจจะทำให้ปรับตัวไม่ทันถูกบริษัทผลิตรถยนต์ที่เน้นรถไฟฟ้าและไม่ต้องใช้คนขับแย่งส่วนแบ่งตลาดไป  หุ้นของบริษัทผลิตรถยนต์จึงมีความไม่แน่นอนสูง

            ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่น  การประกันภัยรถยนต์เองนั้นก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปมหาศาลถ้าพบว่าการใช้รถไฟฟ้าและขับเคลื่อนด้วยระบบ ITทำให้เกิดอุบัติเหตุน้อยลงมาก  เบี้ยประกันก็อาจจะลดลง  ในส่วนของเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนหรือผู้ให้บริการเช่น  อู่ซ่อมรถยนต์เองนั้น  งานก็อาจจะน้อยลง  เช่นเดียวกับพนักงานขับรถที่อาจจะมีความจำเป็นน้อยลงไปเรื่อย ๆ   ส่วนในด้านที่ดีเองนั้น  ต้นทุนของบริษัทที่ต้องใช้พนักงานขับรถสูงเช่นบริษัทโลจิสติกที่ทำเรื่องของการขนส่งอาจจะสามารถลดคนลงได้มาก  อย่างไรก็ตาม  นี่ก็เป็นการได้กำไรเพิ่มในระยะสั้น  แต่ในระยะยาวแล้วทุกรายก็จะทำอย่างเดียวกันกำไรที่เพิ่มก็จะหายไป   คนที่จะได้ผลประโยชน์เต็มที่ที่สุดนั้น  ผมคิดว่าก็คือคนธรรมดาที่จะได้สินค้าที่ดีเยี่ยมคือ  ไม่ต้องขับรถหรือขับอย่างสบายและประสบอุบัติเหตุน้อยลง  ต้นทุนของระบบเศรษฐกิจโดยรวมก็ต่ำลงส่งผลให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเราส่วนใหญ่จะได้เห็นในช่วงชีวิตของเรานี้

ซุปเปอร์สตาร์ CEO / โดย คนขายของ

   
 เมื่อราวยี่สิบกว่าปีก่อนผมจำได้ว่านิตยสาร Newsweek ของอเมริกาลงเรื่องของประเทศไทยบน หน้าปกว่าจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเซีย แต่หลังจากนั้นไม่นานประเทศไทยของเราต้องเผชิญวิกฤต“ต้มยำกุ้ง” และเรื่องเสือตัวที่ห้าก็เริ่มหายไปจากความทรงจำ อีกวาระหนึ่ง ในปี 2007 นิตยสาร The Economist ลงเรื่องประเทศเวียดนามบนหน้าปก เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่กำลังจะรุ่งโรจน์ของเวียดนาม แต่ต่อมาไม่นาน เวียดนามกลับประสบวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ ค่าเงินด่องอ่อนค่า หนี้เสียเพิ่มขึ้น พร้อมกับการชะลอตัวอย่างรุนแรงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประสพการณ์เหล่านี้เป็นครูสอนผมอย่างดี    ให้ระวังเรื่องที่นิตยสารทางการเงินและเศรษฐกิจนำมาขึ้นปกว่าต้องเผื่อใจไว้บ้างสำหรับการพลิกผัน

                ทุกๆปีนิตยสารทางธุรกิจและการเงินของสหรัฐจะมีการนำเสนอผู้ที่ได้รับรางวัลประเภท“CEO ที่ดีที่สุด ของปี” หรือไม่ก็แนวๆ “ผู้นำที่ดีที่สุดในโลกธุรกิจ” เป็นธรรมดาว่าหลังจากขึ้นปกนิตยสารชั้นนำเหล่านั้น แล้ว ชื่อเสียงเงินทองก็จะหลั่งไหลเข้ามาหา CEO เหล่านั้นที่ได้รับรางวัลมากขึ้น เพราะการได้ขึ้นปก นิตยสารชั้นนำเป็นการประกาศให้สาธารณะชนรับรู้ถึงความรู้ความสามารถของ CEO เหล่านั้นได้ อย่างดียิ่ง ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ ผลงานของเขาเหล่านั้นเป็นอย่างไรหลังได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ? เป็นไปได้ไหมว่าส่วนใหญ่หลังจากที่ได้ขึ้นปกแล้ว เรื่องราวกลับกลายเป็นแย่ลงเหมือนเรื่องของไทย และเวียดนามในอดีต?

                เพื่อหาคำตอบในประเด็นนี้ อาจารย์ Ulrike Malmendier ของ UC Berkeley และ อาจารย์Geoffrey Alan Tate ของ UCLA ได้ร่วมกันทำวิจัย CEO ที่เคยได้รับรางวัลจากนิตยสารชั้นนำต่างๆ มากกว่า 250 ราย เริ่มตั้งแต่ปี 1975 เพื่อดูว่าผลงานของเขาเหล่านนั้นเป็นอย่างไรหลังจากได้รับรางวัล ผลงานวิจัยในหัวข้อ “Superstar CEO” ได้สรุปว่า ผลงานของ CEO ที่ได้รับรางวัลนั้นแย่ลงกว่า ค่าเฉลี่ย ทั้งในแง่ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) และ ราคาหุ้น ในปีที่ หนึ่ง สอง และ สาม หลังจากที่ได้รับรางวัล ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? หลังจากเขาเหล่านั้นได้รับรางวัล การเป็นจุดสนใจของ สาธารณชนมากขึ้นทำให้การให้ความสนใจในการบริหารลดลง CEO บางคนได้เริ่มออกหนังสือ ของตัวเองเพื่อวางจำหน่าย บางคนได้รับเชิญไปเป็นบอร์ดบริหารในบริษัทอื่น ยิ่งได้รางวัลมากก็อาจจะ ไปเป็นนั่งเป็นบอร์ดหลายๆที่

                ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของซุปเปอร์สตาร์ CEO คือมั่นใจในตัวเองมากเกินไป ทั้งนี้เพราะความสำเร็จในอดีตเป็นตัวผลักดัน ในช่วงทศวรรษ 1990 บริษัทเทคโนโลยีที่ร้อนแรงมากที่สุดในยุคนั้นคงหนีไม่พ้นบริษัท AOL ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตชื่อดัง จากมูลค่ากิจการเพียง 61.8 ล้านเหรียญในปี1992 กลายมาเป็น 161,000 ล้านเหรียญในปี 2000 ในเวลาเพียงแปดปี ขึ้นมาราว 2,600 เท่า ในเดือนมีนาคม 1998 นิตยสาร Fortune ลงรูป Steve Case บนปกพร้อมข้อความว่าบริษัทนี้กำลัง กลายมาเป็น “Superpower” เจ้าแรกในวงการอินเตอร์เน็ท ในอีกราวสองปีต่อมารูปของ Steve Case ขึ้นปกคู่กับ Bill Gates พร้อมกับข้อความว่า “ชายทั้งสองผู้พร้อมครองบัลลังค์ (อินเตอร์เน็ท)” ในปี2000 รูปของ Steve Case ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารหลายฉบับเมื่อเขาประกาศซื้อกิจการ Time Warnerกลายเป็นบริษัทสื่อครบวงจรที่ใหญ่ที่สุด ก่อนจะกลายเป็นการควบรวมกิจการที่ล้มเหลวครั้ง สำคัญในประวัติศาสตร์

                “ความสำเร็จ” เหมือนเป็นดาบสองคม หากบุคคลใดไม่เตรียมตัวเตรียมใจรับให้ดี ความสำเร็จเหล่านั้น อาจจะกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวได้ เรื่องนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้บริหารองค์กรเท่านั้น แม้เหล่านักลงทุนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ประเภทไหนก็ควรระวังด้วยเช่นกัน ผมเคยได้ยินว่ามี นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศบางคน ประกาศแบบฟันธงไปเลยว่าราคาน้ำมันจะพุ่งไป 200$ ด้วยความมั่นใจในผลตอบแทนที่ตัวเองทำได้อย่างงดงามในอดีต พร้อมทั้งชื่อเสียงที่ถาโถม เข้ามา อาจทำให้เขารู้สึกว่ามีความสามารถหยั่งรู้อนาคตได้ สิ่งที่เขาคิดต้องถูกเสมอ ผ่านมาถึงตอนนี้ ก็เกือบแปดปีแล้ว ผมยังไม่เคยเห็นน้ำมันที่ 200$ ต่อ บาร์เรลเลย ผมก็หวังว่าเขาคงได้บทเรียนที่ดี

                 จากความคาดเดาที่ผิดพลาดในครั้งนี้ และเมื่อเรารู้จักยอมรับความผิดพลาด พิจารณาจุดบกพร่อง ลดอัตตาลงและยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่นบ้าง เมื่อนั้น ความล้มเหลวของเราก็อาจเป็นจุดเริ่มต้น ของความสำเร็จได้เหมือนกัน

Sunday, January 10, 2016

Achilles’ heel /โดย ดร.นิเวศน์

   
   ตามตำนานเก่าแก่ของกรีก  Achilles คือวีรบุรุษของกรีกในสงคราม Trojan แห่งเมือง Troy และเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเทพนิยาย Iliad ของนักประพันธ์เอกHomer แม่ของ Achilles คือเทพธิดา Thetis และพ่อก็คือ Peleus กษัตรแห่งเมือง Myrmidons  ในตำนานเล่าว่าในตอนที่อะคิลเลสเกิด  Thetis พยายามทำให้เขาเป็นอมตะฆ่าไม่ตายโดยการจับเท้าของเขาห้อยศีรษะและจุ่มลงในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ Styx ซึ่งทำให้ทุกส่วนของร่างกายทนทานต่อศาสตราวุธยกเว้นส้นเท้าที่ถูกมือของแม่จับไว้และนี่คือ  “จุดอ่อนสำคัญ” ที่ทำให้เขาถูกฆ่าตายโดย Paris นักรบฝ่ายตรงข้ามที่ยิงธนูอาบยาพิษเข้าไปที่ส้นเท้าและทำให้อะคิลเลสเสียชีวิต  ตำนานของ Achilles ที่เล่านั้น  ผมก็ไม่ยืนยันว่าถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะผมไม่ใช่นักวรรณกรรมแต่เรื่องนี้ต่อมากลายเป็นการเปรียบเทียบกับ  จุดอ่อนเล็ก ๆ ของคนที่อาจจะดูว่าแข็งแกร่งที่สุดในแทบทุกด้านแต่มันก็ทำให้ตายได้  ในประวัติศาสตร์ของทุกเรื่องนั้น  เราได้เห็นคนที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในทุกวงการนั้น ต่างก็มีคนที่ “ตกม้าตาย”  ด้วยเรื่อง “เล็ก ๆ” ที่เป็นจุดอ่อน  เช่น  ความประพฤติส่วนตัวบางอย่าง เป็นต้น  เช่นเดียวกัน  สถาบันหรือบริษัทหรือทีมงานนั้น  บ่อยครั้งก็ประสบกับสถานการณ์เดียวกัน  คือ  “ตายน้ำตื้น”  อาจจะเนื่องจากไม่ได้ปิดจุดอ่อนเพียงพอและจุดอ่อนนั้น  “บังเอิญ”  ถูก “ธนู” ยิง  ทำให้ “ล่ม” หรือล้มเหลว

            ในเรื่องของการลงทุนนั้น  “ส้นเท้าของอิคิลเลส”  นั้น  เป็นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นบ่อยมากกว่าวงการอื่น ๆ  เหตุผลก็เพราะว่าธุรกิจการลงทุนนั้นเป็นเรื่องของ  “ความเสี่ยง”  มหาศาลสารพัด    แต่เรื่องอะคิลเลสฮีล ไม่ใช่ความเสี่ยงทั่ว ๆ  ไปที่เกิดจากความผันผวนรายวัน รายเดือน หรือรายปีในเรื่องของผลตอบแทนของการลงทุน ที่ดีบ้างแย่บ้าง  แต่ไม่มาก  ความหมายของ อะคิลเลสฮีลนั้น จะเป็นเรื่องของความเสี่ยงที่รุนแรงมากที่ทำให้ถึงกับ  “ตาย” หรือเจ็บหนัก “สาหัส”  แต่เป็นเรื่องที่“เกิดยาก”  โอกาสเกิดค่อนข้างน้อยและบ่อยครั้งเจ้าตัวหรือนักลงทุน  “คิดไม่ถึง”  เขาคิดว่าสิ่งที่เขาทำนั้น  “ปลอดภัยมาก”  หรืออย่างน้อยก็ไม่น่าจะเกิดความเสียหายหนักเนื่องจากเขาเชื่อในการวิเคราะห์ของตนเองว่าเขา  มี  “Margin Of Safety” เพียงพอ  และเขาก็ทำสำเร็จมาทุกครั้ง  เปรียบเทียบไปก็คงคล้าย ๆ  กับอะคิลเลสที่เป็นนักรบที่เก่งกล้ามากและมีเกราะป้องกันรอบตัว  “จะแพ้ได้อย่างไร”  แต่ประวัติศาสตร์ก็บอกว่าในที่สุดเขาก็ต้องตายหรือแพ้เพราะแผลเล็ก ๆ  ที่ส้นเท้า

            ภาวะตลาดหุ้นที่ตกต่ำอย่างรุนแรงด้วยสาเหตุหลาย ๆ  ประการนั้น  มักจะก่อให้เกิดสถานการณ์อะคิลเลสฮีลมากขึ้นมากแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด  เหตุการณ์และเหตุผลเฉพาะตัวของแต่ละคนและแต่ละบริษัทก็เป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน  การวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและการกำหนดกลยุทธ์ของพอร์ตโฟลิโอให้เหมาะสมน่าจะเป็นการป้องกันเรื่องของอะคิลเลสฮีลได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง  เรื่องแรกก็คือ  ไม่ว่าเราจะคิดว่าเราเก่งหรือมีความสามารถขนาดไหนในการเลือกหุ้นลงทุน  “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียว” เพราะการลงทุนในหุ้นตัวเดียวหรือสองตัวนั้น  มีโอกาสที่หุ้นตัวนั้นจะตกต่ำลงอย่างหนักแม้ว่าเราจะคิดว่ามันเป็นบริษัทที่ดีสุดยอดและไม่น่ามีอะไรหรือบริษัทไหนจะมาทำลายมันได้  เหตุผลก็คือ  บางทีเราคิดไม่ถึง  อย่าลืมว่า  “เหนือฟ้ายังมีฟ้า”  บริษัทที่เก่งและโดดเด่นกว่าบริษัทอื่นนั้นบางทีก็ถูกทำลายโดยรัฐหรืออำนาจเหนือรัฐเช่นองค์กรนานาชาติได้  ดังนั้น  เราจึงไม่ควรทำไม่ว่าในกรณีใด  ยกเว้นแต่ว่า  การลงทุนนั้นถึงหมดไปก็ไม่มีผลอะไรกับความมั่งคั่งหรือความสุขส่วนตัวของตนเอง  เช่น  มันเป็นเงินเล็กน้อยมาก  เป็นต้น

            คนที่เล่นหุ้นหรือลงทุนโดยใช้มาร์จินหรือกู้ยืมมาเต็มวงเงินที่จะใช้ได้  เช่น  มีเงิน 100 แต่ลงทุนถึง 200 บ่อย ๆ  หรือแทบจะตลอดเวลานั้น  ผมก็คิดว่าเขากำลังเป็นอะคิลเลสที่ไม่คิดว่าจะถูกยิงธนูเข้าไปที่ส้นเท้า  เขาคิดว่าวิธีลงทุนโดยใช้มาร์จินเต็มวงเงินนั้นเป็นวิธีที่จะทำกำไรได้เป็นทวีคูณเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากเพียง 6-7% เป็นอย่างมากขณะที่ผลตอบแทนการลงทุนของเขาที่ทำได้มาหลาย ๆ  ปีติดต่อกันนั้นสูงมากเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ต่อปี  นอกจากนั้น  เขาคิดว่าหุ้นตัวที่เขาลงทุนอาจจะหลายตัวนั้น  น่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงมากและโอกาสที่จะตกต่ำลงนั้นมีน้อย  ถ้าจะตกก็คงตกลงมาบ้าง 10-20% เป็นอย่างมาก ซึ่งเขาก็อาจจะเพียงแต่ต้องรอให้มันผ่านไป  เขามั่นใจว่าในที่สุดราคามันก็จะขึ้นไปและทำกำไรให้เขาได้มหาศาล  ลึก ๆ  แล้ว  เขาอาจจะคิดว่าอาจจะมีโอกาสซัก 1% ที่เขาจะถูกคอลมาร์จินหรือถูกเรียกเงินเพิ่มบ้างซึ่งเขาจะสามารถ “จัดการได้”  โอกาสที่จะถูกฟอร์ชเซลหรือบังคับขายหุ้นนั้นแทบจะเป็น 0  แต่ทั้งหมดนั้น  มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในยามที่เกิดความผิดปกติมากในหุ้นหรือในตลาดหลักทรัพย์  และถ้ามันเกิดขึ้นก็อาจจะกลายเป็น “หายนะ”  ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ผมก็คิดว่ามันคงกำลังเกิดขึ้นกับ “อะคิลเลส”  หลายคน

            คนที่เล่น “หุ้นปั่น”  เล่นหุ้นที่มีสตอรี่ที่ไม่น่าเชื่อถือ และเป็นหุ้นที่มีราคาแพงในทุกมิติเช่นPE สูงลิ่วเป็น 50 เท่าขึ้นไปหรือยังไม่มีกำไรเลย  ค่า PB สูงลิ่วตั้งแต่ 4-5 เท่าขึ้นไป ปันผลจ่ายไม่ถึง 1% ของราคาหุ้น แบบนี้ผมไม่ถือว่าเป็นอะคิลเลส  เหตุเพราะว่าดูแล้วโอกาสที่จะขาดทุนสูงมากตั้งแต่แรก  โอกาสชนะนั้นน้อยมากยกเว้นเขาจะเป็นเจ้ามือคุมเกมเอง  แต่คนที่เข้าไปซื้อหุ้นแพงโดยที่มีโครงการสนับสนุนชัดเจนเช่น ได้โครงการพลังงานทดแทนเป็นจำนวนเมกกะวัตที่สูงและคาดการณ์ว่าจะทำกำไรได้สูงมากจนคุ้มค่ากับราคาหุ้นที่สูงมาก  ขณะเดียวกันก็คาดว่าบริษัทจะสามารถขยายตัวไปได้เร็วและมากเนื่องจากอุตสาหกรรมกำลังเป็น  “เมกาเทรน์” ทุกอย่างดูแล้ว “ไม่พลาด”  เขาจึงทุ่มลงทุนอาจจะเรียกว่า  “ตีแตก”  และอาจจะใช้มาร์จินด้วยเพื่อเพิ่มกำไรเข้าไปอีกทวีคูณ  เหนือสิ่งอื่นใด  เขาคิดว่าถ้าจะพลาดเป้าหมายบ้างก็คงไม่มากและไม่อันตรายเพราะนี่คือโครงการจากภาครัฐที่ “ไม่มีเบี้ยว”  ทุกอย่างลงตัวแล้วตามสัญญา  ในกรณีแบบนี้ผมก็คิดว่าเขากำลังเป็นอะคิลเลสที่คิดว่าไม่มีทางแพ้  และนี่ก็คืออันตรายเพราะราคาหุ้นที่แพงมากนั้นทำให้ทุกอย่างของโครงการต้องสมบูรณ์แบบ  หากมีอะไรผิดพลาด  หุ้นอาจจะเสียหายหนักได้

            การลงทุนหุ้นที่  “ไม่มีวันแพ้” ในแง่ของผลประกอบการ  เพราะมันเป็นบริษัทใหญ่ระดับ 1 ใน 10 ของประเทศ  มันเป็นสินค้าที่จำเป็นและตัวบริษัทนั้นใหญ่กว่าคู่แข่งมาก  มันเป็นหุ้นบลูชิพที่“ไม่มีความเสี่ยง”  ทั้งด้านของความต้องการสินค้า  การแข่งขัน และทางด้านการเงิน  บริษัทได้พิสูจน์ตัวเองมานานว่าทำกำไรได้ต่อเนื่องและมีปันผลที่น่าประทับใจและจ่ายมาได้อย่างสม่ำเสมอไม่เคยขาดและสูงกว่าการฝากเงินและการซื้อพันธบัตร  ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ธุรกิจมันไม่ได้อิ่มตัวแต่ยังโต  บางทียังโตมากด้วยซ้ำ  ดังนั้น  อะคิลเลสจึงทุ่มซื้อหุ้น  เขาคิดว่ากำไรจากหุ้นอาจจะไม่ได้สูงหรือเร็วมากเนื่องจากเป็นหุ้นที่ตัวใหญ่มากไม่สามารถที่ใครจะไล่ราคาได้แต่โอกาสที่จะลดลงนั้นน้อยมาก  กำไรจากหุ้นอาจจะไม่สูงหรือเร็วโดยตัวของมันเอง  แต่ถ้าใช้มาร์จินเต็มที่เพื่อขยายกำไร  ผลตอบแทนจากการลงทุนก็จะสูงลิ่วได้เหมือนกันโดยที่  “ความเสี่ยงต่ำ”  และนี่ก็คือหุ้นยักษ์ใหญ่อย่างหุ้นพลังงานตัวใหญ่และหุ้นสื่อสารในตลาดหลักทรัพย์  ผมคงไม่ต้องพูดว่าความคิดที่ว่า “ไม่เสี่ยง” นั้นผิดพลาดแค่ไหน  เพราะเมื่อเร็ว ๆ  นี้หุ้นทั้งสองกลุ่มที่ทุกคนเชื่อมาตลอดว่ามั่นคงมากตกลงมาอย่างหนักด้วยเหตุผลคนละเรื่องผสมกับภาวะตลาดหุ้นที่เลวร้ายซึ่งไม่ควรจะเกิดพร้อมกันก็มาเกิดขึ้น  “ธนู” มันปักเข้าไปที่ส้นเท้าอย่างไม่คาดคิด  ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการที่คนเข้าไปเล่นหุ้นด้วยมาร์จินเพราะคิดว่าตัวหุ้นมัน  “ไม่เสี่ยง”

            การที่จะสามารถหลีกเลี่ยงการเป็นอะคิลเลสได้นั้น  เราต้องไม่คิดว่าเราเป็นอะคิลเลส  อย่ามั่นใจในตัวเองเกินไปเพราะไม่มีทางที่เราจะรู้ทุกสิ่ง  พยายามที่จะคิดถึง “จุดตาย”  ของทุกการลงทุนและพอร์ตของเราตลอดเวลา  อย่าลืมว่ายังเหลือ “ส้นเท้า” ของอะคิลเลสที่ยังไม่ได้รับการปกป้อง  ดังนั้น  ทำอะไรจึงต้อง  “เผื่อเหลือเผื่อขาด”  อย่าหวังผลเลิศและหวังรวยเร็วเกินไปเพราะการรวยช้าลงมาหน่อยนั้น  ไม่ได้มีความสุขน้อยลงเลย  แต่การล้มเหลวนั้นมันเป็นต้นทุนที่สูงเกินไปแม้ว่าโอกาสที่เกิดขึ้นอาจจะน้อยมาก

Saturday, January 9, 2016

ชำแหละหุ้นด้วยกลสงครามสามก๊ก กับ โจโฉ



รอโอกาสเข้าทางตน จึงค่อยระดมพลบดขยี้ 

...เมื่อครั้ง เล่าปี่ ยกทัพไปตีเมือง กังตั๋ง เพื่อล้างแค้นให้กับ กวนอู ในครั้งนั้นในใจเล่าปี่ มีแต่ความแค้นที่ต้องรบให้รู้แล้วรู้รอดไป ใครห้ามก็ไม่ฟัง แม้แต่ ขงเบ้ง ซึ่งเป็นที่ปรึกษา เข้ามาทักท้วงติงว่าศึกครั้งนี้ยังไม่เหมาะไม่ควรที่จะรีบบุก แต่เล่าปี่ก็ไม่สน และไม่ฟังใครทั้งนั้น ในใจมีแต่ความฮึดฮัด อึดอัด จนทนไม่ไหว ยังไงก็ต้องออกรบ...

ฝ่ายเมือง กังตั๋ง ได้แต่งตั้งให้ ลกซุน เป็นแม่ทัพใหญ่ออกไปประจันหน้ากับ เล่าปี่....ลกซุน เมื่อวิเคราะห์จนมั่นใจแล้วว่า เล่าปี่ ยกทัพมาเพื่อล้างแค้นที่พกอารมณ์อาฆาตพยาบาท เขาจึงตั้งสติ สงบนิ่งและพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ...

โดย ลกซุน วิเคราะห์ข้าศึก ไว้ดังนี้

1. ฝ่ายข้าศึกฮึกเหิมและต้องการรบปะทะ เพื่อเผด็จศึกโดยเร็วเนื่องจากความเคียดแค้นเป็นอารมณ์
2. ข้าศึกเดินทางมายาวไกล
3. จำนวนไพร่พล ร่วม เจ็ดสิบหมื่น
4. เสบียงอาหารย่อมร่อยหรอ
5. ภูมิประเทศ แถบนั้น เป็นป่า และภูมิอากาศร้อน (ไม่นาน ทัพ ของเล่าปี่ ก็ไปตั้งค่ายริมแม่น้ำ)

เมื่อเข้าใจ และมองเกมออก ลกซุน จึงใช้กลยุทธ์ “ รอโอกาสเข้าทางตน จึงค่อยระดมพลขยี้ ” โดยไม่ยอมออกรบ ทั้งๆ ที่ฝ่ายเล่าปี่ ส่งทหารออกไปท้าทายทุกวัน จนกระทั่ง ฝ่ายเล่าปี่ ลดความคึกความฮึกเหิมลง และด้วยอากาศร้อนจัด จึงสั่งย้ายทัพเข้าริมแม่น้ำที่มีร่มไม้ร่มรื่น เมื่อ ลกซุน เห็นโอกาสมาถึง เขาจึงสั่งกองทหารเข้าจู่โจม และใช้ไฟเพลิงเผาจนราบเป็นหน้ากลอง ฝ่ายเล่าปี่จึงแตกพ่าย และหนีหัวซุกหัวซุน จนกระทั่งไปตรอมใจตายในที่สุด

...เรื่องราว ดังกล่าวนี้ คล้ายกับคราวที่ ขงเบ้ง ส่งทหารออกท้าทายรบกับ สุมาอี้ ทุกวัน ในศึก ที่เขา กิสาน โดย สุมาอี้ ก็ไม่ยอมออกรบ แม้แต่จะได้รับการท้าทาย หรือแม้แต่ชุดสุภาพสตรีที่ ขงเบ้งส่งไปให้ ก็ตาม และยังคงตั้งมั่น สงบนิ่งรอโอกาสจะเข้าทางตนเท่านั้นจึงค่อยลุย จนกระทั่ง ขงเบ้ง ป่วยตายในที่สุด ในศึกครั้งนี้เป็นครั้งที่หก ซึ่งเป็นศึกครั้งสุดท้าย ทั้งสองฝ่าย ตั้งค่ายประจันหน้ากัน ราวร้อยวัน แต่ก็ไม่ยอมรบกัน..

- - - -

--> สำหรับ ราคาหุ้น เรามักจะเห็นราคาขึ้นลงเป็นรายวัน แต่ถ้ามองเกมยาวๆ สักสามเดือนขึ้นไปจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของราคาที่เกิดขึ้น สถานการณ์หนึ่งที่ทำให้เราสามารถเห็นโอกาสดีๆกับหุ้นพื้นฐานที่ดี มี STORY ที่เด่นๆ และหุ้นที่มีการขยายการลงทุน โดยจับจ้องดูพฤติกรรมทุกวันเกี่ยวกับราคาหุ้นว่าเป็นอย่างไร จนกระทั่งโอกาสเข้าทางเรา นั่นก็คือ ราคาหุ้นซื้อขายเบาบาง ราคาแกว่งตัวแคบๆ และที่สำคัญ PBV อยู่ในโซน 1 หรือ ใกล้เคียง 1 เล็กน้อย เมื่อนั้นแหละกลยุทธ์ “โอกาสเข้าทางตน แล้วค่อยเคลื่อนพลบดขยี้ “ ค่อยนำไปใช้ โดยเข้าซื้อแบบค่อยๆ ทยอยซื้อไม่ให้กระโตกกระตาก และค่อยๆ เก็บไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ราคาวิ่งขึ้น เมื่อมั่นใจค่อยเก็บให้สาแก่ใจ เพราะมั่นใจว่ามันวิ่งแน่…

^^ เมื่อทำได้ดั่งนี้ การนำบทเรียน ความพ่ายแพ้ของ เล่าปี่ มาเป็นบทเรียน จึงเป็นสิ่งที่น่านำไปใช้ นำไปปฏิบัติ ^^

เพราะแม้แต่ ลกซุนและ สุมาอี้ ก็ยังใช้กลยุทธ์นี้ ถ้าจะเรียกว่า กลยุทธ์แห่งผู้ชนะ ก็คงไม่ผิด นั่นก็คือ....

" รอจนโอกาสเข้าทางตน จึงค่อยระดมพล บดขยี้ "

- - โจโฉ - -

(Cr.ภาพจากdaily.khaosod.co.th)

Thursday, January 7, 2016

เทรนด์เปลี่ยนโลก / โดยวีรพงษ์ ธัม

 

  ก่อนอื่นขอใช้โอกาสนี้สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่าน ขอให้ปีใหม่นี้ธุรกิจและการลงทุนของท่านประสบความสำเร็จ และผมจะใช้พื้นที่นี้ นำเอาไอเดียธุรกิจและการลงทุนมาแบ่งปันกันต่อไปครับ

            เหมือนทุก ๆ ต้นปีเราจะมาทบทวน “ทิศทางลม” เพราะถ้าเราอยู่ในร่องลมที่ถูกต้อง แม้การเดินเรือจะผิดพลาดไปบ้าง ก็จะทำให้เกิดความเสียหายไม่มากนัก และทำให้เราสามารถจัดสรรทรัพยากรไปในจุดที่สำคัญได้ บัฟเฟตต์พูดว่าทักษะในการจัดสรรทรัพยากรเงินทุนมีผลต่อมูลค่าธุรกิจมาก เราจะเห็นความรุ่งเรืองและล่มสลายของบริษัท รัฐชาติเสมอ ๆ ด้วยสาเหตุของการจัดสรรทรัพยากรที่ผิดพลาด

            ในอดีตเราจะรู้สึกว่าทรัพยากรอะไรที่ใช้แล้วหมดไป หรือมีแนวโน้มจะขาดแคลน จะมีคุณค่าสูงมาก อาหารหายากในยุคศักดินา มนุษย์จึงควบคุมที่นา แต่ยุคนี้ อาหารไม่ได้เป็นสิ่งที่ขาดแคลน ที่นามีมูลค่าลดลง แต่ที่ดินในเมืองมีมูลค่าสูงลิ่ว เรามียุคสงครามแย่งชิงน้ำมัน แต่กลับมาเจอราคาน้ำมันที่ตกต่ำลง จนอาจจะมีค่าน้อยลงมากในอนาคต ดังนั้นตัวแปรไหนบ้างที่ทำส่งผลกับมูลค่าทรัพยากร?

            1. เทคโนโลยี นี่คือตัวแปรหลักที่จะเปลี่ยนมูลค่าของทรัพยากรในโลก ดินดำอย่างน้ำมันไม่เคยมีคุณค่าถ้ามันไม่ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ ประเทศอเมริกาคือผู้นำด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 มีบริษัทที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่อย่างดูปอง ผู้คิดค้นเทฟลอน ไนลอน บริษัทยาอย่างไฟเซอร์ที่ผลิตยารักษาโรค จนถึงบริษัทในซิลิคอนวัลเลย์ที่ให้กำเนิดอินเตอร์เน็ต อเมริกาจึงครอบครองสิ่งที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าอยู่เสมอ ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่เหนือกว่า

            อย่างไรก็ดีทิศทางของบริษัทในประเทศจีนที่มีการเพิ่มงบประมาณวิจัยมหาศาล ถึง 78.2% ในช่วงห้าที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับ 7% ของสหรัฐอเมริกา ก็เป็นส่วนที่ทำให้เราเริ่มเห็นบริษัทจีนก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทระดับโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลาดหุ้นเซินเจิ้นซึ่งถือเป็นตลาดสำหรับหุ้นไฮเทคขนาดเล็ก ก็มีผลตอบแทนปี 2558 สูงที่สุดในโลก บริษัทไทยไม่ได้อยู่ในฐานะผู้คิดเทคโนโลยี แต่เราเป็นผู้ใช้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องติดตาม ตัวอย่างเช่น NetFlix ที่ให้บริการวีดีโอออนดีมาน และเป็นหนึ่งในบริษัทที่สร้างผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนสูงที่สุดใน Fortune 500 บริษัทได้จัดสรรทรัพยากร “รายการทีวีและหนัง” และสามารถ “จัดการจำหน่ายได้ดีกว่า” ทำให้เรตติ้งก้าวขึ้นมาแซงทีวีแบบดั้งเดิมทั้ง abc, NBC, CBS, Fox จนอาจจะทำให้ธุรกิจทีวีในอนาคตเปลี่ยนไปตลอดกาล หรือเทคโนโลยีหุ่นยนต์ Robot เราเคยกลัวว่าสังคมผู้สูงวัย คนแก่ตัวลง ไม่มีคนทำงาน แต่เอาเข้าจริง ๆ ในอนาคต งานจะมีน้อยลง เพราะหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ บริษัทจำนวนมากลงทุนใน Robotics อุตสาหกรรมนี้จะทำให้การจัดสรรทรัพยากรมนุษย์เปลี่ยนไปหน้ามือเป็นหลังมือ

            2. Ecosystem เทคโนโลยีด้านการผลิตเป็นสิ่งที่ลอกเลียนแบบกันง่ายมากขึ้น ทรัพยากรการผลิตหาง่าย เครื่องจักรในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ใช้เงินหาซื้อได้ทั่วไป ผลตรงนี้ทำให้ธุรกิจการผลิตย้ายฐานการผลิตง่ายมาก พร้อม ๆ กับการแข่งขันที่รุนแรงตลอดเวลา แต่สิ่งที่ทำให้ทรัพยากรมีค่าและเลียนแบบยากคือ Ecosystem นี่เป็นสาเหตุที่อุตสาหกรรมที่ต้องการ Ecosystem ที่ใหญ่และซับซ้อนอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงแข็งแรงในประเทศไทยได้ หรือธุรกิจอย่าง APPLE สามารถเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ Market Capitalization ได้โดยห่างอันดับสองแบบไม่ทิ้งฝุ่น โดยการสร้าง Ecosystem ทั้งในส่วน Software คือการสร้างกลุ่มคนทำ apps ขายเพลง ขายหนัง ขายหนังสือ รวมไปถึง Hardware คือสร้าง Accessories และ Apple Store ที่สวยงาม ดังนั้นธุรกิจในอนาคตต้องสร้าง Ecosystem ขึ้นมาด้วย ไม่ใช่เน้นแต่การสร้างสินค้าและบริการอย่างเดียว เพราะนี่คือการเพิ่มมูลค่าทรัพยากร

            3. เงินทุน ในอดีตเงินทุนเป็นสิ่งหายาก เราจะเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยธนาคารที่สูงลิ่ว จนเราเริ่มพัฒนาตลาดทุน ตลาดการเงินทำให้สามารถระดมทุนได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันธุรกิจ Venture Capital ก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด มี Startups มากมาย แต่ในปี 2559 มีการคาดการณ์ว่า เทคโนโลยีใหม่ด้าน Crowd Funding หรือการระดมทุนผ่าน “คนธรรมดา” จะแซงการระดมทุนผ่าน Venture Capital ด้วยเม็ดเงินมากกว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทุนจะเป็นสิ่งที่หาง่ายขึ้น แต่ไอเดียคือสิ่งที่คนแสวงหา และนี่คือเวทีระดมทุนที่สมบูรณ์แบบ เพราะเราจะได้ประโยชน์จากภูมิปัญญาของกลุ่ม (Wisdom of Crowds) และลดต้นทุนการระดมทุนได้มหาศาล ส่วนแหล่งทรัพยากรทุนดั้งเดิมในมุมกลับกัน จะเริ่มมีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น เนื่องจากแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย แนวโน้มของ ทรัพยากร “ทุน” ก็อาจจะเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน

            โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือนอกจากเราจัดสรรทรัพยากรให้กับธุรกิจ ให้กับการลงทุนเราแล้ว อย่าลืมจัดสรรทรัพยากรให้กับสุขภาพกาย สุขภาพใจเราเองครับ ขอให้มีความสุขตลอดปี 2559 นะครับ

Monday, January 4, 2016

มองเทรนด์จากทัวร์ / โดย ดร.นิเวศน์


 ผมเพิ่งกลับจากการไปท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มนอร์ดิกหรือประเทศในยุโรปตอนเหนือซึ่งประกอบไปด้วยเดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอรเวย์ และสวีเดน เป็นเวลา 8-9 วัน ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดปีใหม่  ที่จริงผมเตรียมที่จะไปฝรั่งเศสตอนใต้ที่เรียกว่าริเวียร่า  แต่ต้องถูกเปลี่ยนกะทันหันเนื่องจากเหตุก่อการร้ายในฝรั่งเศสเมื่อเร็ว ๆ นี้  ก่อนไปผมก็รู้สึกว่าคงจะแย่พอสมควรเนื่องจากสภาวะอากาศที่หนาวมากของประเทศเหล่านี้  คนส่วนใหญ่ที่ไปนั้นมักจะไปกันตอนช่วงฤดูร้อนที่อากาศดีและอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สำคัญและหาดูที่อื่นได้ยากนั่นก็คือ อาทิตย์เที่ยงคืนและแสงเหนือ  การไปช่วงฤดูหนาวนั้น  ไม่รู้ว่าจะไปดูอะไรที่เด่น ๆ  เพราะประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้มีสิ่งประดิษฐ์อะไรที่ยิ่งใหญ่หรือมหัศจรรย์  อย่างไรก็ตาม  ผมก็จำเป็นต้องไปเนื่องจากได้จ่ายเงินไปหมดแล้ว

สิ่งแรกที่เจอเมื่อเดินทางถึงประเทศแรกในกลุ่มก็คือ  ความมืดของท้องฟ้าทั้ง ๆ  ที่เป็นเวลาเกือบเที่ยงวันแล้ว  เวลาที่ฟ้าสว่างแบบสลัว ๆ เองนั้นก็สั้นมากเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมง  ประมาณบ่าย 3 โมง  เมืองทั้งเมืองก็อยู่ในความมืด  ร้านค้า  สำนักงาน และบ้านเรือนต้องเปิดไฟทำงาน  ไกด์บอกว่านี่คือเรื่องปกติของประเทศที่อยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือ  ที่มีช่วงเวลา 6 เดือนที่จะหนาวจัดและท้องฟ้ามืดไม่ค่อยมีแสงอาทิตย์เกือบทั้งวัน  และอีก 6 เดือนที่ฟ้าสว่างวันละอาจจะ 20 ชั่วโมงและมีช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าถึงเที่ยงคืน  สาเหตุเป็นเพราะแกนโลกนั้น “เอียง”

ปีนี้คนท้องถิ่นบอกว่าอากาศนั้นอุ่นมากกว่าปกติ  อาจจะเป็นเรื่องของภาวะ  “โลกร้อน”  อากาศ “ดีมาก”  แต่ที่ผมเจอก็คือ  บวกลบประมาณ 0 องศา เกือบทุกวันและมีหิมะตกตลอด  มากบ้างน้อยบ้าง  บางจุดที่เดินทางโดยเฉพาะที่ขึ้นภูเขานั้น  ต้องหยุดพักรถเพื่อรอรถกวาดหิมะมากวาดหิมะเช่นเดียวกับที่ต้องรอรถคันอื่น ๆ มาเข้า “ขบวน” ไปด้วยกัน  เพราะมิฉะนั้นก็อาจจะเป็นอันตรายได้  อย่างไรก็ตาม  เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องให้บริการเต็มที่เพราะประเทศเหล่านี้ล้วนเป็น  “รัฐสวัสดิการ” ที่รัฐจัดบริการอย่างดีให้กับประชาชนซึ่งรวมถึงการดูแลพลเมืองที่อยู่กระจัดกระจายกันมากเนื่องจากประเทศกว้างใหญ่แต่มีประชากรน้อยประเทศละไม่เกิน 10 – 20 ล้านคนเป็นอย่างมาก  รัฐบาลทำได้เนื่องจากเขาเก็บภาษีสูงมาก  บางประเทศอาจจะเก็บถึง 50% ของรายได้ประชาชาติ  ไกด์บอกว่าในฟินแลนด์ที่เต็มไปด้วยภูเขาและฟยอร์ดนั้น  เวลาคนป่วยต้องการการรักษาอย่างรีบด่วนนั้น  สามารถเรียกเฮลิคอปเตอร์ให้มารับที่บ้านได้โดยไม่ต้องเสียเงิน

ทัวร์ครั้งนี้ของผมจึงพูดได้ว่ามา “ผิดเวลา”  ทั้งมืดทั้งหนาวและเสียเวลาจากการเดินทางมาก  ในสถานที่ท่องเที่ยวที่ไปนั้นแทบไม่มีคนอื่นเลยนอกจากกรุ๊ปของผม  ร้านค้าก็ไม่เปิดกันเต็มที่  ร้านค้าหลายแห่งก็ปิดเนื่องในวันปีใหม่  ในบางจุดที่มีร้านของคนไทยขายของที่ระลึก ไกด์ถึงกับไปขอร้องให้เขาเปิดเพื่อต้อนรับกลุ่มของเราโดยเฉพาะ

ฟังดูแล้วอาจจะนึกว่าผมคงรู้สึกแย่มากที่ต้องมาเที่ยวในช่วงที่ “เลวร้าย”  และไม่ค่อยมีใครเขาเที่ยวกันในฤดูนี้  แต่เมื่อคิดดูอีกทีผมกลับรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีกว่าการมาเที่ยวในช่วงที่ทุกอย่าง “สดใส” ในฤดูร้อน  การได้เจอกับอากาศที่หนาวจัดมาก ๆ  สภาพท้องฟ้าที่มืดสลัวจนไม่รู้ว่ามันคือกลางวันหรือกลางคืน  หิมะที่ปกคลุมพื้นดินและภูเขาที่ขาวโพลนไปทั่วอย่างที่เห็นในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องมันให้บรรยากาศที่เราไม่เคยเห็นไม่เคยประสบ  มันทำให้ผมนึกไปถึงคนในประเทศเหล่านี้ว่าเขาคงต้องอยู่อย่างยากลำบากโดยเฉพาะในอดีตที่ไกลโพ้นสมัยไวกิ้งที่กลายเป็นชนกลุ่มที่มีความสามารถสูง “ระดับโลก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเดินเรือและการต่อสู้ทั้ง ๆ ที่เป็นกลุ่มคนจำนวนน้อยมาก  ความสามารถของคนในประเทศเหล่านี้  ยังโดดเด่นมาจนถึงปัจจุบันวัดจากรายได้ต่อหัวของคนที่สูงที่สุดประเทศหนึ่ง  นอกจากนั้น  ระดับของ “ความสุข” ของประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็อยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดของโลกด้วย  เช่นเดียวกับการที่เป็นแหล่งของบริษัทชั้นนำของโลกในด้านต่าง ๆ  ทั้งหมดนี้ผมคิดว่ามาจากการที่คนของเขานั้น  ต้องต่อสู้กับความโหดร้ายของสภาพแวดล้อมมายาวนาน  เปรียบเทียบกับคนในประเทศที่อยู่อย่างสบายได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมากอย่างประเทศในเขตศูนย์สูตรอย่างบ้านเรา

นอกจากประสบการณ์เรื่องของภูมิอากาศและภูมิประเทศแล้ว  เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ผมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศผมจะดูว่ามีอะไรที่เขาเริ่มทำกันและเรายังไม่ได้เริ่ม  เพราะนี่จะเป็นเทรนด์ต่อไปที่เราจะต้องจับตามองในฐานะของนักลงทุน    สิ่งที่ผมเห็นและรู้สึกว่าโลกของเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปก็คือการ “เพิ่มประสิทธิภาพ” ของการทำงานโดยอาศัย “พลังของผู้บริโภค”  เรื่องแรกที่เห็นและต้องไปทำด้วยในฐานะที่เป็นผู้ใช้หรือผู้บริโภคก็คือ  การเช็คอินที่สนามบินที่บางประเทศได้เริ่มให้เราเช็คอินเองแล้วทั้งการออกเลขที่นั่งและการโหลดกระเป๋าเดินทางที่สนามบิน  พูดง่าย ๆ  เขากำลังเลิกมีกราวโฮสเตทซึ่งทำให้ประหยัดต้นทุนได้ไม่น้อย  นี่ก็เป็นเรื่องที่ต่อมาจากสิ่งที่ผมได้เคยพูดถึงแล้วเมื่อคราวที่ผมไปอังกฤษ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ที่เขาเริ่มให้คนซื้อของในห้างอย่างเทสโก้คิดและจ่ายเงินค่าสินค้าเองซึ่งทำให้สามารถประหยัดคนทำงานได้มาก  พูดง่าย ๆ  อะไรที่ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนและมีการทำซ้ำ ๆ  จำนวนมากก็มีโอกาสที่จะถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ด้านไอทีที่มีประสิทธิภาพสูงโดยคนซื้อเอง  อย่างในเมืองไทยนั้น  ผมก็เห็นว่าในตอนนี้การจองตั๋วต่าง ๆ  เช่นตั๋วภาพยนตร์คนดูก็ทำเองได้แล้ว  เช่นเดียวกับการสั่งอาหารในภัตตาคารก็เริ่มมีการให้คนกินสั่งผ่านโปรแกรมในไอแพดของร้านได้แล้ว  เป็นต้น

เทรนด์ของการใช้เครื่องมาให้บริการแทนที่คนนั้น  ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับบริษัทหรือธุรกิจที่ต้องใช้คนจำนวนมากทำงานที่มีมาตรฐานและมีรูปแบบที่แน่นอน  ในทางตรงกันข้าม  มันก็เป็นภัยคุกคามกับคนหรือพนักงานที่ทำงานดังกล่าว  ผมเองก็ไม่รู้ว่าเทรนด์นี้จะมาเร็วแค่ไหนในเมืองไทยแต่เชื่อว่ามันจะมากขึ้นเรื่อย ๆ  ตามการพัฒนาของระบบไอทีและคนที่ใช้มันรวมถึงต้นทุนการให้บริการด้วยคนว่ามากน้อยแค่ไหน  ในประเทศที่พัฒนาแล้วและต้นทุนค่าแรงสูงมาก  การให้ผู้บริโภคบริการตนเองก็จะมากตามกันไป  ผมเองเชื่อว่าหลังจากนี้ทุกครั้งที่ผมเดินทางไปต่างประเทศที่เจริญแล้ว  สิ่งหนึ่งที่จะต้องพบเสมอก็คือ  ผู้บริโภคต้องทำเองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจก็คือร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในประเทศนอร์ดิกหลายประเทศนั้น  มีรูปแบบและสินค้าต่างกับที่ในไทยและย่านอื่นมาก  คือมันถูกตกแต่งอย่างสวยงามกว่าและสินค้าที่ขายนั้นเป็นอาหารน่าจะกว่า 90% ขึ้นไป  อาหารที่ขายก็จะเป็นแนวเบเกอรี่  แซนวิช แฮมเบอรเกอร์  ขนมขบเคี้ยวเช่นมันฝรั่งทอด  น้ำ เบียร์ ไวน์  โดนัท  ขนมหวานสารพัดรวมถึงชอกโกแลต  สินค้าอย่างอื่นนั้นเท่าที่เห็นก็จะมีแต่บุหรี่และวารสารอีกเล็กน้อยเท่านั้น  ไม่มีของใช้ในบ้านและของใช้อย่างอื่นเลย  ดูไปแล้ว  มันคือร้านอาหารแนวสะดวกทุกประเภทมากกว่าที่จะเป็นสินค้าสะดวกซื้ออย่างที่เรารู้จัก

ก่อนที่จะจบ “รายการทัวร์” ครั้งนี้  อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นเทรนด์ก็คือ  ภาษาพูดเพื่อการสื่อสารโดยเฉพาะการท่องเที่ยว  เพราะตลอดระยะเวลาการเดินทางนั้น  ผมรู้สึกว่าคนในประเทศแถบนี้แทบทุกคนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีทีเดียว  นี่ทำให้ผมนึกถึงคนขายของรถเข็นริมทางซอยรางน้ำบ้านผมที่เดี๋ยวนี้พูดจีนกันได้แทบทุกคนแล้วเพราะลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมาก