Thursday, December 18, 2014

3 ข้อคิดยามตลาดหุ้นผันผวน


เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ผู้คนรอบข้างของผู้เขียนมีมุมมองที่เป็นบวกกับหุ้นอย่างมาก เรียกได้ว่ามีหลายคนตัดสินใจออกจากงานที่ทำอยู่ประจำมาเป็นนักลงทุนเต็มเวลา เพื่อหวังว่าน่าจะได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติกับเพื่อนกลุ่มนี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้ข้อคิดดีๆ หลายข้อยามตลาดผันผวน ที่อยากจะมาแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่านนะครับ


ข้อคิดที่ 1 การลงทุนเป็นเรื่องของเหตุผล แต่กำไรขาดทุนมักเป็นเรื่องของอารมณ์ 
ข้อคิดอันนี้ถือว่าเป็นอะไรที่น่าจะเข้ากันได้ดีกับสถานการณ์ปัจจุบันมากครับ เพราะหลายครั้งที่นักลงทุนก้าวเข้ามาในตลาดหุ้น ก็เพราะมีเป้าหมายว่าอยากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนแบบเดิม เช่น เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ เป็นต้น 

ถ้าเรามองถึงผลตอบแทนย้อน หลังของ SET Index ในอดีตที่ผ่านมา การคาดหวังผลตอบแทนประมาณ 8-12% ต่อปีน่าจะไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไร ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้นักลงทุนหลายท่านตัดสินใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น แต่พอนักลงทุนได้เข้ามาลงทุนจริงๆ กลับกลายเป็นว่าโดนอารมณ์ของ "กำไร" และ "ขาดทุน" เข้าครอบงำจนการตัดสินใจหลายๆ ครั้ง "ผิดพลาด" จากเดิมที่ต้องการ8-12% ต่อปี กลายเป็น 4-5% ต่อวัน เป็นต้น จากการสัมภาษณ์เพื่อนของผมกลุ่มนี้ ทุกคนเห็นตรงกันว่า จากเดิมที่เคยตั้งใจว่าจะเข้ามาลงทุน โดยหวังจะลงทุนระยะยาว กลายเป็นนักเก็งกำไรระยะสั้น โดยปัจจุบันมีหลายคนที่เลิกลงทุนไปเลยก็มี

จุดเปลี่ยนของทุกคนที่กลายร่างมาเป็นนักเก็งกำไรก็คือเรื่องของกำไรขาดทุนรายวันที่ทุกคนนั่งดูตลาดทุกวัน รวมถึงข่าวต่างๆ ที่คอยมากระทบ ทำให้การตัดสินใจหลายๆ อย่างเปลี่ยนไป ซึ่งผมได้เสริมเข้าไปว่าจริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่ข่าวก็ได้ ที่ทำให้ทุกคนเปลี่ยน แต่เป็นทัศนคติต่อการลงทุนต่างหากที่ทำให้ทุกคนเปลี่ยนไป ทัศนคติที่อยากจะได้ 4-5% ต่อวัน มันคือทัศนคติของนักเก็งกำไรรายวันที่ไม่ได้สนใจในพื้นฐานของการลงทุนแม้แต่น้อย แต่สนใจในเรื่องของ Sentiment ตลาดรายวันมากกว่าว่าจะไปในทิศทางไหน


ข้อคิดที่ 2 นักลงทุนสถาบัน vs นักลงทุนรายย่อย 
ใครกันแน่ที่ได้เปรียบ หัวข้อนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่พอสมควรในกลุ่มเพื่อนผม ผมขอสรุปแบบนี้ก็แล้วกันนะครับ นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยต่างก็มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่แตกต่าง กันไป แต่เราในฐานะนักลงทุนรายย่อยสามารถใช้ข้อได้เปรียบของนักลงทุนสถาบันมาใช้ ประโยชน์ได้เช่นกัน นั่นคือการลงทุนในกองทุนรวมนั่นเอง

เป็นความจริงที่นักลงทุนสถาบันมักมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลได้ลึกกว่า เพราะนักลงทุนสถาบันจะมีการเข้าไปทำ CompanyVisit บริษัทจดทะเบียนอยู่อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นในฐานะนักลงทุนรายย่อย เราก็ลองลงทุนในกองทุนรวมซึ่งมีนักลงทุนสถาบันบริหารอยู่ เราก็จะได้รับประโยชน์ตรงนี้ แต่นักลงทุนรายย่อยก็มีข้อได้เปรียบนะครับ นักลงทุนรายย่อยปรับเปลี่ยนพอร์ตลงทุนได้ตามสะดวก ไม่จำเป็นต้องมีการดำรงสัดส่วนขั้นต่ำเหมือนกับการบริหารกองทุนรวม นักลงทุนรายย่อยจึงมีความยืดหยุ่นในการลงทุนมากทีเดียวครับ


ข้อคิดที่ 3 การคำนวณพอร์ตการลงทุนควรทำเป็นลักษณะ Total Portfolio 
หลายๆ คนมักไม่จัดทำบัญชีการลงทุน กล่าวคือไม่มีการบันทึกว่าเราลงทุนอะไรไปแล้วบ้าง เงินส่วนใหญ่ของเราอยู่ในสินทรัพย์อะไร อย่างกลุ่มที่ผมไปนั่งสัมภาษณ์ ไม่มีใครทำเลยแม้แต่คนเดียว การบันทึกการลงทุนจะช่วยให้เรารู้ว่าการลงทุนของเราเหมาะสมหรือไม่ใน สถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ถ้าเป็นช่วงที่ Risk Off Mode เราลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเป็นจำนวนเท่าไหร่ และมากเกินไปหรือไม่ ควรจะปรับลดลงหรือไม่

การบันทึกพอร์ตโฟลิโอของเราทั้งหมด จะทำให้เรารู้ว่าบางครั้งผลตอบแทนของพอร์ตโฟลิโอของเราก็เพิ่มขึ้นมาได้ อัตโนมัติ เช่น การลงทุนใน LTF หรือ RMF ผลตอบแทนที่เราได้จากการลดหย่อนภาษีจะช่วยให้มูลค่าพอร์ตเราโตขึ้นทันทีที่ เราได้เงินภาษีคืน โดยนักลงทุนสามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวมาลงทุนต่อได้ โดยจะเป็นรูปแบบกองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนหุ้นก็ได้

กล่าวโดยสรุป ผมอยากให้ท่านนักลงทุนลองพิจารณาดูถึงพอร์ตโฟลิโอของเราว่ามีลักษณะอย่างไร ถือครองสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไปหรือไม่ รวมถึงใช้ประโยชน์จากกองทุนรวม เพื่อช่วยให้การลงทุนของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น เราอาจจะเลือกลงทุนในกองทุนพร้อมกับหุ้นรายตัวบางตัวไปด้วยก็ได้ และสุดท้าย โปรดลงทุนโดยใช้เหตุและผล อย่าได้ใช้อารมณ์ตลาดเพียงระยะสั้นที่เข้ามากระทบจนทำให้การตัดสินใจของเรา ผิดพลาดไป

พบกันใหม่คราวหน้าครับ