Tuesday, December 16, 2014

ปรัชญา VI จากหนังสือลงทุน

   
 

    ตั้งแต่หนังสือการลงทุนเล่มแรกที่ผมเขียนคือ  “ตีแตก” ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2542 แล้ว  ผมก็ยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนออกมาอย่างต่อเนื่อง  ถึงวันนี้ผมนับดูแล้วมีรวมกันเกือบ 20 เล่ม  ทุกเล่มนั้น  สิ่งที่ผมต้องคิดนอกจากเนื้อหาของหนังสือแล้วก็คือ “ชื่อ” ของหนังสือ  เพราะชื่อนั้นมีส่วนสำคัญที่จะทำให้หนังสือขายได้ดีหรือไม่ดีไม่น้อยไปกว่าเนื้อหา  ถ้าจะว่าไปก็คงเหมือนกับสินค้าที่จะขายดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ  “หีบห่อ” ไม่น้อย  ดังนั้น  ก่อนที่จะออกหนังสือ  ผมจึงต้องตั้งชื่อเรื่องที่ผมคิดว่ามันจะสื่อถึงประเด็นสำคัญที่มีต่อการลงทุนที่เข้ากับสถานการณ์ในขณะที่หนังสือออกวางแผง  ผลก็คือ  ถึงวันนี้ ผมมี  “ชื่อ” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการลงทุนแบบ VI เกือบ 20 ชื่อซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูก็พบว่าแต่ละชื่อนั้น  เหมือนกับเป็น “ปรัชญา” ที่สำคัญสำหรับ VI  ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

เริ่มต้นด้วยหนังสือชื่อ  “ลงทุนเพื่อชีวิต-ด้วยหุ้น”  นี่เป็นปรัชญาหรือหลักการลงทุนที่ผมเห็นว่าสำคัญและจะเปลี่ยนวิถีการลงทุนของเราโดยสิ้นเชิง  คนที่เข้ามา “เล่นหุ้น” โดยกันเงินส่วนหนึ่งเข้ามาซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น  ไม่ใช่การลงทุน “เพื่อชีวิต”  แต่น่าจะเป็นการลงทุนเพื่อความสนุกสนานหรือความโลภหรือความต้องการทำกำไรเพื่อนำเงินมาใช้เพิ่มขึ้น  ดังนั้น  โอกาสที่ชีวิตจะ  “เปลี่ยนแปลง” ไปจึงแทบไม่มี  เราจะเข้าไปลงทุนก็เฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นคึกคักและก็เลิกเล่นเมื่อทุกอย่างเหงา  เงินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมีไม่มาก  ชีวิตในระยะยาวของเราก็เหมือนเดิม  แต่การลงทุนเพื่อชีวิตนั้น  เป็นการลงทุนที่เราตั้งความหวังว่าเมื่อเราแก่ตัวลงหรือมีอายุมากขึ้น  เราก็จะมีเงินมากพอที่จะทำให้เราสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงาน  มันจึงมีความสำคัญมากและไม่ใช่เรื่อง  “เล่น”  และสำหรับบางคนนั้น  มันเป็นหนทางที่จะทำให้  “รวย”  เป็นเศรษฐีได้  ดังนั้น  วิธีการลงทุนจึงต้องแตกต่างจากคนอื่น  ที่สำคัญก็คือ  เราต้อง “ทุ่มเท” ทรัพยากร  ทั้งทางด้านเม็ดเงินและแรงกายแรงใจที่จะทำให้มันบรรลุผล  นี่คือสิ่งเราต้องเลือก

หนังสือชื่อ “เซียนหุ้นพันธุ์แท้”  “เซียนหุ้นมือทอง”  และ “เทคนิคพิชิตหุ้น”  นั้น  บ่งบอกให้รู้ว่า  การลงทุนนั้น  ไม่ใช่ว่าจะแค่รู้จักชื่อหุ้นและสามารถสั่งซื้อสั่งขายได้โดยการการดูราคาหุ้นที่ขึ้นลงทุกวันและอ่านข้อมูลจากหนังสือพิมพ์รายวันหรือติดตามจากสื่อสมัยใหม่เท่านั้น   แต่การลงทุนที่ถูกต้องนั้นเราจะต้องเข้าใจหลักการที่ถูกต้อง  เราต้องเรียนรู้จาก “เซียน” ที่เป็น  “ตัวจริง”  ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์   การเล่นหุ้นตามคนอื่นโดยที่เราไม่ได้รู้เหตุผลที่แท้จริงในแง่ของมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้น  โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะยาก  และนี่ก็คือหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า  “เล่นหุ้นตามเซียน” ที่ผมเขียนขึ้นในปีที่หุ้นที่  “เซียน”  เล่นกันมากมีการปรับตัวขึ้นอย่างมากมาย  แต่เนื้อหาที่แท้จริงของหนังสือก็คือ  “อย่าเล่นหุ้นตามเซียน”

วิธีการลงทุนที่ผมคิดว่าดีที่สุดในระยะยาวก็คือ  การพยายาม  “ชนะอย่างเต่า”  ซึ่งเป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมชอบมาก  ว่าที่จริงถ้าจะหาคุณลักษณะการลงทุนของผมโดยเปรียบเทียบกับสัตว์แล้ว  ผมคิดว่าผมก็คือ  “เต่า”  นั่นก็คือ  ผมเน้นว่าผมเลือกที่จะ “เดินทาง” หรือลงทุนอย่างช้า ๆ  ไม่เลือกหุ้นที่หวือหวาที่อาจจะให้ผลตอบแทนเร็วมากแต่อาจจะมีความเสี่ยง  ผมอยากที่จะเดินไปเรื่อย ๆ  ไม่หยุด  ผมคิดว่าถ้าเรามี  “เวลา” ในการลงทุนยาวนานเหมือนอายุเต่า  เงินของเราก็จะพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ  โดยที่เราไม่ต้องรีบ    นอกจากนั้น  การเป็น  “เต่า” ที่มีกระดองหนาป้องกันตัวและสามารถอยู่ได้ในทุกสถานที่และสถานการณ์แม้แต่ในน้ำนั้น  ก็เปรียบเสมือนกับการลงทุนของเราที่จะต้องออกแบบพอร์ตการลงทุนของเราให้ปลอดภัยในทุกสถานการณ์รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่มักจะต้องเกิดขึ้นเสมอได้

ชื่อหนังสือสองเล่มที่จะบอกถึงความจริงแท้แน่นอนว่าจะต้องเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งและเราจะต้องผ่านมันไปได้ก็คือ  “เล่นหุ้นในภาวะวิกฤติ”  และ  “เล่นหุ้นปีทอง”  ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าเราจะต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วงวิกฤติและทุ่มเททุกอย่างลงทุนในปีทอง  ว่าที่จริงในทั้งสองช่วงนั้น  ผมลงทุนร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งสองช่วง  เหตุผลก็เพราะว่าเราไม่รู้ว่าปีไหนเป็นปีวิกฤติและปีไหนจะเป็นปีทองจนกระทั่งมันผ่านไปแล้วเราไม่รู้ล่วงหน้า   สิ่งที่เราต้องทำตลอดเวลาก็คือ  ออกแบบหรือเลือกหุ้นลงทุนที่จะทำให้เราอย่าเสียหายมากเกินไปเมื่อเกิดวิกฤติและกำไรดีแต่อาจจะไม่ดีเท่าคนอื่นที่เล่นเก็งกำไรมากเมื่อเป็นปีทอง  โดยวิธีนี้  ในระยะยาวแล้วเราจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า  เหตุผลเพราะว่า  เวลาหุ้นตก 50% นั้น  เราจะต้องทำผลตอบแทนขึ้น 100%  เราถึงจะเท่าทุน  ดังนั้น  โดยทั่วไป  การป้องกันหุ้นตกย่อมดีกว่าพยายามทำกำไรให้มากขึ้น

ในการลงทุนนั้น  ถ้าเราหวังที่จะ  “รวย”  ไม่ได้หวังแค่ได้ผลตอบแทนปกติ  บ่อยครั้งเราต้องกล้าที่จะ  “ตีแตก”  นั่นก็คือ  ลงทุนในหุ้นบางตัวในจำนวนเงินที่มากกว่าปกติมาก  มันเป็นหุ้นที่เรา  “เดิมพัน”  สูงมาก  ถ้าเราชนะเราจะได้เงินมากอย่างเป็นเรื่องเป็นราว  แต่ถ้าเราแพ้  เราก็อาจจะเสียหายหนัก  ดังนั้น  การที่เราจะลงทุนในหุ้นตัวนั้น  เราจะต้องมั่นใจมากว่าโอกาสที่เราจะชนะมีมาก  และโอกาสที่เราจะแพ้มีน้อย  และถ้าแพ้  เราก็จะต้องไม่เสียหายหนักเกินไปจนอยู่ไม่รอด  ซึ่งหลักเบื้องต้นง่าย ๆ ของผมก็คือ  อย่าถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 50% ของพอร์ต  นอกจากนั้น  บริษัทจะต้องมีความเสี่ยงที่จะ “หายนะ” ต่ำมาก  และสุดท้ายก็คือ  อย่าคิดว่าเราพบหุ้นที่เราสามารถ  “ตีแตก”  ได้ปีละหลาย ๆ  ตัว  ผมคิดว่าหุ้นที่สมควรที่เราจะตีแตกนั้น  ถ้าภายใน 5 ปีมีหนึ่งตัวก็สุดยอดแล้ว

หุ้นที่จะตีแตกหรือหุ้นที่เราคิดจะลงทุนเป็น “แกน” ของพอร์ตของเราในระยะยาวนั้น  ผมคิดว่าควรที่จะอยู่ในกลุ่มที่ผมเรียกว่า  “ซุปเปอร์สต็อก-มหัศจรรย์ของหุ้น VI” ซึ่งก็เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ออกมาในช่วงที่หุ้น  “ซุปเปอร์สต็อก” หรือหุ้นที่มีคุณสมบัติทางธุรกิจดีสุดยอดนั้น  สร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างงดงาม  บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและบริษัทเป็นผู้นำที่มีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันด้วยเหตุผลหลายอย่างรวมถึงขนาดที่ใหญ่กว่าคู่แข่งหรือแทบจะเป็นบริษัทใหญ่บริษัทเดียวในอุตสาหกรรม  ดังนั้น  มันจึงทำกำไรได้สูงกว่าปกติและสามารถขยายตัวและเพิ่มความได้เปรียบมากขึ้นไปอีก  ส่งผลให้หุ้นมีการเติบโตต่อเนื่องยาวนาน   อย่างไรก็ตาม  การลงทุนในหุ้นซุปเปอร์สต็อกนั้น  เราก็ต้องพึงระวังว่าราคาหุ้นจะไม่สูงเกินไป

การลงทุนนั้น  เนื่องจากมันเป็นเรื่องระยะยาวมากแทบจะตลอดชีวิต  มันจึงควรเป็นอย่างชื่อหนังสือเรื่อง “การลงทุนหุ้นอย่างสบายใจ” ไม่เคร่งเครียด  และสำหรับบางคนนั้น  เมื่อ “รวย” แล้วก็ควรเป็นการ  “รวยหุ้นอย่างพอเพียง”  ตามชื่อหนังสืออีกเล่มหนึ่ง   นั่นก็คือ  ไม่ใช้จ่ายเกินความจำเป็น  รู้จักหาความสุขไม่ใช่จากการใช้เงิน  แต่หาความสุขโดยมีเงินเป็นตัวสนับสนุนในกรณีที่จำเป็นต้องใช้เงิน นอกจากนั้น  ในการลงทุนเราก็ควรจะนึกถึงเรื่อง  “ธรรมะกับการลงทุน” ที่เป็นชื่อหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่จะช่วยชี้นำการใช้ชีวิตในตลาดหุ้นที่เต็มไปด้วยกิเลศและความโลภด้วย

สุดท้ายก็คือหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ออกในโอกาสที่ผมอายุครบ 60 ปีเมื่อปีที่แล้วชื่อ “ก้าวเล็ก ๆ  ในตลาดหุ้น  ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า  ชีวิตคนเราที่จะประสบความสำเร็จนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็จะต้องเริ่มจาก  “ก้าวที่เล็ก ๆ” โดยที่ก้าวของผมก็มาจากความคิดที่ว่าผมจะ  “รวยด้วยหุ้น”  ตามชื่อหนังสือเล่มสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงแต่เขียนมานานแล้ว   และทั้งหมดนั้นก็คือ  “ปรัชญา VI” ที่ได้มาจากชื่อหนังสือการลงทุนที่ผมเขียนขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

ดร.นิเวศน์  เหมวชิรากุล