Monday, December 22, 2014

Happy Money


เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้อ่านหนังสือชื่อ “Happy Money” เขียนโดย Elizabeth Dunn และ Michael Norton หรือถ้าแปลเป็นไทยก็คือ  “เงินที่มีความสุข” ซึ่งเนื้อหาหลักก็คือ  “การใช้เงินที่จะก่อให้เกิดความสุขสูงสุดแก่ผู้ใช้”  ซึ่งเรื่องนี้คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของรสนิยมของแต่ละคนและก็มักจะใกล้เคียงกันนั่นก็คือ  ใช้เงินเพื่อสนองความต้องการของตนเองในด้านต่าง ๆ  ตามที่ใจต้องการสูงสุดในขณะนั้นเราก็จะมีความสุขสูงสุด   แต่หนังสือเล่มนี้บอกว่านั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ผิด  เพราะจากการศึกษาทางด้านจิตวิทยามากมายบอกว่า  ความสุขที่ได้จากการจ่ายเงินซื้อสิ่งของหรือบริการแต่ละอย่างด้วยเงินที่เท่ากันนั้นไม่เท่ากัน   สิ่งของหรือบริการบางอย่างจะให้ความสุขสูงกว่าและยาวนานกว่าสิ่งอื่น  ดังนั้น  ถ้าเรา  “ใช้เงินเป็น”  เราก็จะมีความสุขมากกว่าด้วยเงินที่เท่ากัน  มาดูกันว่าสิ่งของหรือบริการประเภทไหนให้ความสุขมากกว่าและการใช้เงินแบบไหนที่จะก่อให้เกิดความสุขมากกว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อ
หลักการใหญ่ข้อแรกที่ผู้เขียนนำเสนอก็คือ  การใช้เงินซื้อ  “ของ” นั้น  มักจะให้ความสุขน้อยกว่าการ“ซื้อประสบการณ์”  เพราะของนั้น  อาจจะให้ความสุขในขณะที่ซื้อ  แต่เวลาใช้ไปซักพักหนึ่งเราก็มักจะรู้สึกชิน  ความสุขก็จะหายไป  แต่ประสบการณ์นั้น  จะอยู่ในความทรงจำไปอีกนานและทำให้เรามีความสุข   วัตถุและสิ่งของนั้น  แม้ว่าจะเป็นของหรูราคาแพงเช่น เพชรพลอย  เครื่องเล่นไฟฟ้าราคาแพง  หรือแม้แต่บ้านหรูนั้น  มักจะให้ความสุขไม่เท่ากับประสบการณ์ที่น่าประทับใจที่เราได้ประสบอย่างเช่นการท่องเที่ยวที่สุดแสนจะโรแมนติคหรือท้าทายที่ “ตรึงอยู่ในความทรงจำ”
ประสบการณ์ที่จะทำให้มีความสุขมากนั้น  ควรที่จะมีคุณสมบัติ  เช่น  มันนำเราเข้าไปรู้จักและมีความสัมพันธ์กับคนอื่น  หรือมันมีเรื่องราวที่น่าประทับใจที่เราจะมีความสุขที่จะเล่ามันซ้ำ ๆ  ไปอีกนานทุกครั้งที่มีโอกาส  หรือมันเป็นประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกที่บ่งบอกตัวตนของเราอย่างใกล้ชิด  หรือมันเป็นประสบการณ์ที่เป็นโอกาสแบบ  “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่เราจะได้ประสบ เป็นต้น   ในความรู้สึกของผมเอง  ผมคิดว่าการ  “ซื้อประสบการณ์”  นั้น  มีคุณค่าและมีความสุขกว่าการซื้อสิ่งของจริง ๆ ถ้าจะนับว่าผมใช้เงินไปกับอะไรที่ค่อนข้างมากในแต่ละปี  คำตอบก็คือการท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่ผมชอบเป็นพิเศษก็คือ  ได้ไปพบเห็นอะไรที่ดูแปลกตาและ  “มหัศจรรย์” ซึ่งทำให้ผมจำได้และต้องพูดหรือนึกถึงทุกครั้งที่มีโอกาส  ตัวอย่างเช่น  การได้เห็นปิรามิดในอียิปต์หรือเมืองเพตราที่เกิดจากการสลักหรือเจาะภูเขาสีชมพูเพื่อสร้างบ้าน  โบสถ์ และสิ่งก่อสร้างทั้งหลายของเมืองในจอร์แดน  เป็นต้น  ผมคิดว่านี่เป็นการใช้จ่ายเงินที่คุ้มค่าและให้ความสุขจริง ๆ  ดังนั้น  การซื้อประสบการณ์ที่ดีมากนั้นจึงควรที่จะเป็นสิ่งที่เราคิดถึงเป็นอันดับต้น ๆ  ในกรณีที่เรามีเงินพอที่จะทำได้
ข้อสองของการที่จะทำให้การใช้เงินก่อให้เกิดความสุขมากขึ้นก็คือ  “ทำให้มันเป็นการเลี้ยงฉลอง” หรือพูดง่าย ๆ  อย่าทำอะไรหรือจ่ายเงินซื้ออะไรแบบเป็นเรื่อง  “ทำประจำ”  เพราะการที่เราทำอะไรซ้ำ ๆ  เป็นประจำนั้นจะทำให้เราเคยชิน  เราจะไม่รู้สึกว่าการทำอย่างนั้นจะเป็นความสุข  การมีหรือทำอะไรหรือกินอะไรที่เรามีอย่าง  “เหลือเฟือ”  นั้น   ความสนุก  ความอร่อย  หรือความสุขจะหายไปมาก  แต่อะไรที่เรานาน ๆ  จะมีโอกาสได้ทำหรือได้กินหรือได้ใช้มันนั้นจะดูมีคุณค่าและก่อให้เกิดความสุขได้มากกว่า   พูดถึงเรื่องนี้แล้วผมยังจำได้ว่าในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กอยู่นั้น  ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่บ้านผมจะซื้อน้ำอัดลมมาประมาณครึ่งลังหรือประมาณ 12 ขวดถ้าจำไม่ผิด  และผมจะดื่มมันได้หลายวัน  ผมรู้สึกว่ามันเป็นเครื่องดื่มที่ผมชอบและมีความสุขที่ได้ดื่มมันมาก  เหตุผลก็เพราะมันแทบจะเป็นโอกาสเดียวของปีที่ผมจะได้  “เฉลิมฉลอง” และดื่มมันอย่างมีความสุข  เมื่อผมโตขึ้นและสามารถดื่มมันทุกวัน  ความสุขจากการดื่มน้ำอัดลมก็เหลือเพียงนิดเดียว  เทคนิคในการทำให้เรื่องต่าง ๆ เป็นการ  “เลี้ยงฉลอง” นั้น  ผมคิดว่าแต่ละคนก็คงต้องค้นหา  แม้แต่เรื่องเล็กน้อยอย่างการดื่มกาแฟร้านดังเราก็อย่าไปกินทุกวัน  อาจจะกินแค่วันศุกร์หรืออะไรทำนองนี้  และกาแฟแก้วนั้นก็จะอร่อยเป็นพิเศษ  เพราะมันเป็นกาแฟที่เรา  “ตั้งใจรอ”  มาหลายวัน
“ซื้อเวลา”  นี่คืออีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นการใช้เงินอย่างฉลาดและคุ้มค่าให้ความสุขมากกว่าเรื่องอื่น ๆ  อีกหลาย ๆ  เรื่อง  เหตุผลก็คือ  เรามักจะ “เสียเวลา” ไปกับเรื่องที่ “ไม่รื่นรมย์” เป็นอันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก  “งานบ้าน” ที่เป็นงานประจำที่น่าเบื่อหน่าย  วิธีการที่จะตัดสิ่งที่น่าเบื่อและไม่ก่อให้เกิดความสุขแก่เราที่ง่ายที่สุดก็คือ  “จ้างให้คนอื่นทำ”  หรือลดหรือไม่ต้องทำเองแต่ไป“ซื้อ” มากินเพื่อที่จะตัดเวลาที่เราต้องทำกินเอง เป็นต้น  หลักการสำคัญของเรื่องการซื้อเวลานั้นก็คือ  งานนั้นถ้าเราทำเองจะต้องใช้เวลามากและเราไม่ชำนาญ  นอกจากนั้น  มันเป็นงานที่เราไม่ได้มีความสุขที่จะทำ  ตัวอย่างวิธีการ “ซื้อเวลา” ง่าย ๆ  ก็เช่น  เราไปซื้อเครื่องดูดฝุ่นที่ทำงานเองอัตโนมัติมาใช้ให้มันดูดฝุ่นเวลาเราไม่ได้อยู่ที่บ้าน  อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่มากก็คือ  เรายอมซื้อบ้านที่แพงขึ้นมากและมีพื้นที่ใช้สอยต่ำแต่มันอยู่ใกล้ที่ทำงานในเมืองแทนที่จะซื้อบ้านที่ใหญ่และอยู่นอกเมืองซึ่งห่างจากที่ทำงานมากซึ่งทำให้เราต้อง “เสียเวลา” เดินทางไปกลับทุกวันอย่างนี้เป็นต้น  การซื้อเวลาจะทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้นที่จะทำอะไรต่าง ๆ  ที่มีความสุขและหลีกเลี่ยง “ความทุกข์” ที่เกิดจากการต้องทำในสิ่งที่ไม่ได้ให้ความรื่นรมย์แก่เรา
“จ่ายก่อน  บริโภคทีหลัง”  นี่เป็นแนวคิดที่แปลกและหลายคนก็ไม่ใคร่จะเชื่อว่ามันจะเพิ่มความสุขได้  คนส่วนใหญ่ต้องการเลื่อนการจ่ายเงินออกไปให้นานที่สุดแต่ต้องการบริโภคหรือได้ใช้สินค้าก่อน  คนคิดว่า “บินก่อนผ่อนทีหลัง” นั้นมีความสุข  แต่จริง ๆ  แล้ว  การมานั่งผ่อนไปอีกหลายเดือนนั้นอาจจะก่อให้เกิดความทุกข์ตามมา  การจ่ายพร้อมบินเองก็ไม่ได้ให้ความสุขเหมือนกับว่าเราจ่ายไปแล้วตั้งนาน  เพราะว่าเมื่อจ่ายไปแล้วหลังจากนั้นเราก็ “ตั้งตาคอย” ว่าเราจะได้ไปเที่ยวอย่างมีความสุข   ในวันที่กำลังเที่ยวนั้น  เราก็เที่ยวอย่างสบายใจราวกับว่า  “เที่ยวฟรี”  จิตวิทยาของคนนั้น  เราชอบที่จะสร้างความรู้สึกที่ดีต่ออนาคตที่ดี ๆ  ที่กำลังจะมาถึง  ดังนั้นในช่วงที่เรารอคอยเราจะมีความสุขมาก  แต่พอเรื่องนั้นมาถึงแล้วจริง ๆ  ความสุขก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว  ลองนึกดูว่าถ้าเราจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อซื้อเครื่องมือสื่อสารรุ่นใหม่ล่าสุดที่ทุกคนรอคอย  ช่วงที่เรากำลังรอนั้นเราจะมีความสุขมาก  แต่เมื่อได้แล้วไม่กี่วันอารมณ์ความสุขก็จะหายไป  ดังนั้น  ถ้าเรามีโอกาสคราวหลังเวลาซื้ออะไรให้พยายามจ่ายก่อน  อย่าจ่ายทีหลัง  แต่เรื่องนี้ผมคิดว่าน้อยคนจะอยากทำ
เรื่องสุดท้ายของการจ่ายเงินที่จะก่อให้เกิดความสุขมากกว่าปกติก็คือ  การ  “ลงทุนในคนอื่น”  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  “ให้เงินคนอื่น” เพื่อช่วยเหลือเขาหรืออาจจะแค่ให้เขาดีใจที่ได้รับเงินหรือของที่เขาอยากได้  การทำบุญทำทานหรือการบริจาคเงินเพื่อการกุศลก็เป็นรายการใหญ่อันหนึ่งในเรื่องของการ  “ลงทุนในคนอื่น” นี่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องแปลกที่ว่าเราให้เงินคนอื่นแล้วเรากลับมีความสุขมาก  เราไม่เสียดายหรือ?  มีคนเคยถาม วอเร็น บัฟเฟตต์ ว่าเขารู้สึกอย่างไรหลังจากที่เขาประกาศบริจาคเงินส่วนใหญ่ของเขาให้กับสาธารณกุศลโดยเฉพาะกองทุนของบิลเกต  เขาตอบว่าเขา  “มีความสุขมาก” เขาไม่ได้พูดเล่น  การศึกษาพบว่าคนที่บริจาคหรือให้เงินคนอื่นนั้น  จะได้รับความสุขทางใจสูง  แต่มีเงื่อนไขว่าเขาจะต้องสมัครใจเองจริง ๆ  ไม่ได้ถูกบังคับหรือเสมือนถูกบังคับให้บริจาค  และเขารู้ว่าเงินของเขานั้นจะไปถึงคนหรือองค์กรที่เขาเห็นว่าจะสามารถสร้างความแตกต่างได้  ไม่ใช่ให้ไปแล้วก็ไม่มีความหมายอะไรกับผู้รับ
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการใช้เงินที่จะก่อให้เกิดความสุขสูงสุดที่คนจำนวนมากอาจจะไม่ตระหนัก  บางทีเราอาจจะต้องคิดเหมือนกันว่าเราจำเป็นต้องเป็นเจ้าของบ้านไหม?  ถ้าการเป็นเจ้าของนั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้ให้ความสุขอะไรมากมาย  เงินที่เหลือจากการไม่ซื้อบ้านนั้น  อาจจะสามารถ  “ซื้อความสุข”  อย่างอื่นได้มากกว่าก็เป็นได้  ผมพูดเรื่องนี้เพราะนึกถึงตัวเองที่เพิ่งจะมีบ้าน  “ของตัวเอง”จริง ๆ  เมื่อ 2-3 ปีมานี้เองโดยที่ไม่รู้สึกว่าความสุขหายไปไหนเลยในหลายสิบปีที่ผ่านมา  
CR. ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล