Monday, September 28, 2015

เรื่องเหล็กเหล็ก(อีกแระ)

และแล้วเรื่องที่คนในแวดวงการเงินการธนาคารจับตากันมานานก็ “ระเบิด” ขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั่นก็คือ  การประกาศหยุดการชำระหนี้ของบริษัทผลิตเหล็ก “ต้นน้ำ” SSI UK ประเทศอังกฤษ  ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรีหรือ SSI เทคโอเวอร์หรือซื้อมาจากบริษัททาทาสตีลของอินเดียเมื่อ 3-4 ปีก่อน  ธนาคารที่ปล่อยกู้เงินจำนวนรวมกันกว่า 50,000 ล้านบาทให้กับกลุ่ม SSI ประกอบด้วยแบงค์ไทยพาณิชย์ กรุงไทย และทิสโก้ ต่างก็ต้องตั้งสำรองหนี้เสียเป็นจำนวนมาก  ราคาหุ้นของทั้งสามธนาคารและ SSI ปรับตัวลง  แม้ว่าจะไม่มากนัก  แต่นี่ก็อาจจะเป็นเพราะว่าตลาดได้รับรู้สถานการณ์นี้มาก่อนเห็นได้จากการที่หุ้นทั้ง 4 ตัวนี้ต่างก็ Underperform หรือหุ้นปรับตัวแย่กว่าคู่แข่งหรือตลาดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว  ผมเองได้ติดตามกรณีการซื้อกิจการและการปล่อยกู้นี้มาตั้งแต่แรกแบบห่าง ๆ  และก็คิดอยู่ในใจว่าในที่สุดมันอาจจะ  “ไปไม่รอด” และก็หลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปลงทุนในหุ้นทุกตัวดังกล่าว    การที่ผมคิดอย่างนั้นก็เพราะว่าผมมีประสบการณ์ที่เลวร้ายกับธุรกิจเหล็กมาตั้งแต่สมัยก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่บริษัทผลิตเหล็กหลาย ๆ  บริษัทต่างก็  “ล้มละลาย” หลังจากกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อไปลงทุนสร้างโรงงานที่ใหญ่โตไม่นาน  ว่าที่จริงโรงงานใหม่ที่สร้างนั้นแทบจะยังไม่ได้เปิดใช้บริษัทก็มีปัญหาแล้ว  กรณีของ SSI ครั้งนี้นั้น  สุดท้ายแล้วก็แทบจะเหมือนกับกรณีเหล็กยุคก่อนซึ่งผมยังพอจำความได้ประมาณดังต่อไปนี้

ประเด็นแรกก็คือ  พฤติกรรมหรือแนวทางในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินนั้น  ผมคิดว่าอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักนั่นก็คือ  มีคนอยากปล่อยกู้โดยเฉพาะให้กับโครงการใหญ่ ๆ  ที่ต้องการเงินกู้วงเงินสูงมาก ๆ  และเป็น  “เมกาโปรเจ็คท์” ที่มีความซับซ้อนและอาจจะต้องการความเป็น “มือโปร” สูงมาก  ดูเหมือนว่าคนที่ทำดีล “Syndicated Loan” หรือเงินกู้ที่มีวงเงินสูงเกินกว่าสถาบันการเงินเดียวจะปล่อยกู้ไหวนั้นจะมีความภูมิใจและอยากทำมันให้“สำเร็จ” คือเป็น  “ผู้ชนะ”  ได้เป็นผู้นำในการปล่อยกู้  ดังนั้น  คนในกลุ่มนี้ในทุกสถาบันการเงินต่างก็พยายามเสนอตัวเป็นคนจัดการและปล่อยกู้ให้กับโครงการ  ประสบการณ์ของผมเองนั้นพบว่าหลายครั้งนั้นโครงการที่ขอกู้ไม่ “Sound” หรือไม่ดีพอที่จะให้เงินกู้เนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ  รวมถึงผลประกอบการ  ฐานะทางการเงิน ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และเรื่องอื่น ๆ  อีกร้อยแปด  ส่วนตัวผมเองนั้น  ถ้าเข้าไปเกี่ยวข้อง บ่อยครั้งก็ไม่เห็นด้วยแต่ก็มักจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้  เหตุผลก็เพราะว่าผมเป็นเสียงส่วนน้อยมาก  พนักงานหรือกรรมการคนอื่นต่างก็มักจะสนับสนุนทำให้บางครั้งผมก็  “ไม่อยากพูดอะไรมาก”  เพราะธรรมเนียมไทยนั้นบอกว่า  “หมูเขาจะหาม  อย่าเอาคานเข้าไปสอด”  และนั่นทำให้โครงการใหญ่ซึ่งรวมถึงโครงการเหล็กหลายโครงการได้รับเงินกู้มากมายแม้ว่าจะมีความเสี่ยงมาก

ประเด็นที่สองนั้นเกี่ยวข้องกับเจ้าของบริษัทที่ทำโครงการ   ถ้าถามว่าเขารู้ไหมว่าโครงการนั้นจริง ๆ แล้วไม่ดีพอที่จะทำ  คำตอบอาจจะเป็นว่าเขาก็รู้  แต่ที่ทำนั้นเป็นเพราะ “ความจำเป็น” ที่จะต้องทำเนื่องจากภาวะปัจจุบันตอนนั้น)  ถ้าไม่ทำก็ “ตาย”  เนื่องจากฐานะการแข่งขันหรือการทำธุรกิจของบริษัทนั้นถ้าไม่ขยายก็จะสู้กับคู่แข่งที่ใหญ่โตหรือ “กำลังจะขยาย”  ไม่ได้   ถ้าจะพูดง่าย ๆ  ก็คือ  ถ้าไม่ทำก็จะตายวันนี้  ถ้าทำอาจจะรอด  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  สถาบันการเงินหลายแห่ง  “ต่างก็มาเสนอเงินกู้ให้” ทั้ง ๆ  ที่บางทีบริษัทเองไม่ต้องการ  ดังนั้น  สำหรับบริษัทเองแล้ว  การทำโครงการใหญ่ ๆ  ขึ้นมานั้น  ความเสี่ยงอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตนเองมากนัก  บริษัทมีแต่  “ดีขึ้น”  หรือ  “โตขึ้น”  ผลตอบแทนส่วนตัวเองสูงขึ้นในกรณีที่โครงการประสบความสำเร็จ  แต่ในกรณีที่ล้มเหลว  ความเสียหายส่วนตัวก็อาจจะไม่มากนัก  บริษัทอาจจะต้องเข้าสู่การ  “ฟื้นฟูกิจการ” แต่หลังจากนั้นก็มีโอกาสที่จะสำเร็จและบริษัทโตขึ้นไปอีก  ความเสียหายจริง ๆ  นั้นน่าจะเป็นเรื่องของคนปล่อยกู้  เจ้าของบริษัทเองนั้นยังไงก็จะยังบริหารบริษัทอยู่และได้ได้ผลตอบแทนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  เผลอ ๆ  ผลตอบแทนอาจจะไม่ได้ลดลงด้วยซ้ำ  เข้าทำนอง  “ถ้าดี  ผมได้  ถ้าแย่คุณเสีย”

ประเด็นที่สามเป็นเรื่องของข้อมูลการวิเคราะห์โครงการและสินเชื่อหรือ  “เหตุผลในการปล่อยกู้”  นี่ก็เป็นประสบการณ์ที่ผมเคยเจอมาตลอด  คนที่วิเคราะห์และนำเสนอนั้น  หลายครั้งดูเหมือนว่าจะตั้งต้นจากข้อสรุปว่าจะปล่อยสินเชื่อก่อน  เสร็จแล้วก็พยายามหาข้อมูลหรือทำข้อเสนอที่จะสนับสนุน  ซึ่งโดยหลักแล้วก็ต้องพยายามทำประมาณการทางการเงินที่ทำให้ธุรกิจมีกำไรและมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้น   การคาดการณ์ที่สำคัญก็คือยอดขายและมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายของพวกเขานั้นมักจะมองโลกในแง่ดีหรือ  “โลกสวย”  ซึ่งทำให้บริษัทมีกำไรดีและจ่ายคืนหนี้ได้อย่างสบาย  แต่ในกรณีที่  “เลวร้าย”  ซึ่งผมก็มักจะเห็นว่าไม่เลวร้ายจริง  บริษัทก็จะยังอยู่ได้และจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนได้แม้ว่าในบางครั้งอาจจะต้องเลื่อนตารางการชำระหนี้คืนออกไปบ้างแต่ดอกเบี้ยนั้นจะ “จ่ายได้เสมอ”   ส่วนเหตุผลที่ใช้ในการ “ตั้งสมมุติฐาน” นั้น  นอกจากการคาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมที่ “สดใส” แล้ว  บ่อยครั้งก็มักจะรวมไปถึงการ  “Synergies”  ระหว่างธุรกิจเดิมของบริษัทกับโครงการใหม่เอาไว้ด้วย  นั่นก็คือ  โครงการใหม่นั้นจะช่วย “เสริมทางธุรกิจ” กับธุรกิจเดิมเช่น  ทำให้ต้นทุนถูกลงและ/หรือทำให้ขายได้ราคาดีขึ้น  สรุปว่า  โครงการใหม่ที่ขอกู้เงินก้อนใหญ่นั้นมีความเป็นไปได้และ  “ความเสี่ยงต่ำ” ในมุมของเจ้าหนี้  เหนือสิ่งอื่นใด  “หลักประกันคุ้ม” และมีทุน “ส่วนของผู้ถือหุ้น” เพิ่มด้วย



  ถ้าถามผมว่าเหตุการณ์หลังจากการปล่อยกู้แล้วเป็นอย่างไร  คำตอบก็คือ  ไม่ใคร่มีอะไรที่เหมือนกับสิ่งที่นำเสนอ  สถานการณ์ของอุตสาหกรรมมักจะเลวร้ายลง  อย่าลืมว่า  อุตสาหกรรม“ตะวันตกดิน” นั้นแปลว่า  เมื่อเวลายิ่งผ่านไป  อุตสาหกรรมก็จะยิ่งตกต่ำลงเรื่อย ๆ  ถ้าโชคดีก็คือ  อาจจะมีปีที่ดีขึ้นบ้างชั่วคราว  สั้น ๆ  ปีสองปี  หลังจากนั้นก็จะตกลงไปใหม่  ในกรณีที่เลวร้าย  อุตสาหกรรมแย่ลงหนักอาจจะเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ  โครงการก็แทบจะมีปัญหาทันทีตั้งแต่เบิกเงินกู้ยังไม่หมด   ประมาณการและการคาดการณ์ทั้งหลาย  “ผิดไปจากที่คาด”  เนื่องจากเหตุผลร้อยแปด  เช่น การผลิตมีปัญหา  การเงินติดขัดเนื่องจากผลประกอบการขาดทุนและเงินทุนส่วนของเจ้าของไม่มาตามที่สัญญาไว้  มีการทุ่มตลาดสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนที่มีกำลังผลิตเหลือล้นและต้นทุนต่ำ ทำให้ราคาขายต่ำกว่าต้นทุน  เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามแผนได้  ดังนั้น  จำเป็นต้อง  “ปรับโครงสร้างหนี้” เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียหรือ NPL ซึ่งจะกระทบกับสถาบันการเงิน  แต่ถ้าทำแล้วก็ยัง “ไม่รอด”  สุดท้ายก็ต้อง  “เข้าแผนฟื้นฟู” ซึ่งจะเป็นหนทางสุดท้าย

ผมได้พูดถึงประสบการณ์ “ในอดีต”  แต่ก็คิดว่าเหตุการณ์ในปัจจุบันก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักแม้ว่าผมจะห่างจากวงการมานาน  เหตุผลก็เพราะว่าสิ่งที่ผมเห็นนั้นมันเป็นเรื่องของ “จิตวิทยา”  ของคนที่คงไม่เปลี่ยนไปง่ายนัก  กระบวนการการปล่อยเงินกู้นั้นก็คงคล้าย ๆ  กับการเล่นหุ้น  คนเคยเจอประสบการณ์เก็งกำไร  ปั่นหุ้น  และขาดทุนหนักมาแล้ว  เวลาผ่านไป 10-20 ปี  คนก็กลับมาทำอย่างเดิมและขาดทุนหนักเหมือนเดิม  การปล่อยกู้โครงการใหญ่ก็คงไม่ต่างกัน  คนที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ซ้ำรอยเดิมได้นั้นจะต้องเป็นคนที่มีจิตใจที่ “กล้าหาญ”  พร้อมที่จะปฏิเสธ“ความเห็นร่วม” ของคนที่มี “แรงจูงใจร่วม”แต่เป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุผล  ลึก ๆ  แล้วผมคิดว่าบางทีคนปล่อยกู้ก็อาจจะคิดและวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลแล้ว  เพียงแต่พวกเขาอาจจะลืมไปว่าการปล่อยสินเชื่อนั้นไม่เหมือนกับการลงทุนซื้อหุ้น  การปล่อยสินเชื่อนั้น  ถ้าคิดถูกคุณก็แค่ได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนซึ่งบางทีก็ต่ำมาก  แต่ถ้าผิดคุณก็ขาดทุนหนัก  เงินกู้แทบเป็นศูนย์  ดังนั้น  ถ้าไม่ดีจริงหรือมีความเสี่ยงสูง  จะปล่อยไปทำไม?  ในขณะที่ถ้าเป็นเรื่องของการลงทุนในหุ้นนั้น  อย่างน้อยถ้าดี  เราก็อาจจะได้กำไรมหาศาลอาจจะหลายร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ถ้าผิด เราก็แค่ขาดทุน 100%ในหุ้นตัวนั้น  ดังนั้น  การคิดจะต้องไม่เหมือนกัน

Friday, September 25, 2015

ALIBABA (1) / วีรพงษ์ ธัม

 
    วันที่ 19 กันยายน 2014 มี IPO ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทุนนิยมสมัยใหม่เกิดขึ้นที่ตลาดหุ้น NYSE ประเทศสหรัฐอเมริกา มันไม่ใช่ธุรกิจใน Silicon Valley หรือธุรกิจธนาคารขนาดยักษ์อย่างที่เคยเป็น แต่มันคือบริษัท e-commerce จากประเทศจีน ในเวลานั้นทุกสายตาก็มองมาที่บริษัทที่ชื่อว่า Alibaba และ CEO Jack Ma ตั้งแต่วันนั้นเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ทางธุรกิจ รวมถึงความมหัศจรรย์ของผู้นำคนนี้ ครูจากเมืองหางโจวก้าวสู่ผู้ที่ร่ำรวยที่สุดบนแผ่นดินจีน ก็ถูกเปิดเผยในวงกว้างในเวลาต่อมา

            Jack Ma หรือ หม่าอวิ๋น (แซ่หม่าหรือเบ๊ในภาษาแต้จิ๋ว ชื่ออวิ๋นแปลว่าเมฆ) เกิดในเมืองหางโจว ในปีคศ. 1964 ซึ่งเป็นปีที่จีนกำลังเข้าสู่ช่วงยุคมืด เพราะสองปีต่อมาใน คศ. 1966 เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม เศรษฐกิจชะงักงัน คนที่เติบโตในยุคนั้นส่วนมากจึงถูกวางกรอบไว้ด้วยแนวคิดประธานเหมา พอถึงช่วงที่หม่าอวิ๋นกำลังเข้ามหาวิทยาลัย ประเทศจีนก็เริ่มเปิดประเทศด้วยนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ 4 ทันสมัยในยุคเติ้งเสี่ยวผิง มีชาวต่างชาติยุคแรก (เป็นยุคที่นักลงทุนจาก Wall Street เข้ามาบุกเบิกและไม่ประสบความสำเร็จนัก) เข้ามาทำธุรกิจในประเทศจีน หม่าอวิ๋นสนใจโลกภายนอกมาก ๆ แทนที่จะกลัวฝรั่งเหมือนคนจีนคนอื่น เขากลับใช้โอกาสนี้ฝึกพูดคุยกับเพื่อนต่างชาติ และนี่คือจุดเริ่มต้นของ “ภาษาอังกฤษ” ที่เป็นประตูให้เด็กบ้านนอกก้าวสู่โลกกว้างได้ เพื่อนสนิทต่างชาติคนแรกของเขานี่เองที่ตั้งชื่อเขาว่า “Jack” หม่าอวิ๋นไม่ใช่อัจฉริยะเหมือนผู้นำในธุรกิจ dot com เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ผ่านถึงสองครั้ง จนสุดท้ายก็สามารถเข้ามหาวิทยาลัยครูเล็ก ๆ ได้สำเร็จ ด้วยทักษะภาษาอังกฤษทำให้เขาจบมาเป็นคุณครูสอนภาษา หม่าอวิ๋นมีทักษะการสอนที่ยอดเยี่ยมจนเพื่อน ๆ และนักเรียนของเขาชื่นชอบ หลังจากที่เขาสอนภาษาได้ระยะหนึ่ง เขาก็อยากจะเรียนรู้ชีวิตธุรกิจจริง ๆ แทนที่จะสอนแต่ในตำรา หม่าอวิ๋นบอกนักเรียนของเขาว่า เขาจะไปหาโอกาสใหม่ ๆ ไม่ว่าเขาสำเร็จหรือล้มเหลว เขาก็จะมีเรื่องราวใหม่ ๆ มาสอนให้นักเรียนของเขาอยู่ดี และเขาต้องการพิสูจน์ว่าสิ่งที่อยู่ในตำรานั้น มันล้าสมัยแล้ว

            ปี 1994 หม่าอวิ๋นเดินทางไปสหรัฐอเมริกาและเริ่มรู้จักอินเตอร์เนตที่นั่น นี่คือยุคที่ Dot Com กำลังบูม เป็นช่วงที่เกิด web browser อย่าง Netscape ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เขาตื่นเต้นกับสิ่งนี้มาก ครั้งแรกเมื่อเขาทดลองใช้อินเตอร์เนต เขาลองค้นหาคำว่า “เบียร์”และกลับพบว่าเขาไม่เจออะไรที่เกี่ยวกับประเทศจีนเลย ทั้ง ๆ ที่ประเทศจีนใหญ่และมีเบียร์ดี ๆ มากมาย ปี 1995 เขาจึงกลับประเทศจีนเริ่มพัฒนา website Portal ที่จะทำให้คนจีนมีประตูสู่โลกกว้าง ความสำเร็จเบื้องต้นในครั้งนั้นทำให้เขาทำเงินได้มากมายถึง 5 ล้านหยวน แต่เขาก็ไม่หยุดที่ความสำเร็จในครั้งนี้ ปี 1999 เขาและเพื่อน ๆ 17 คนก็เริ่มต้นธุรกิจอีกครั้งในอพาร์ทเมนต์ส่วนตัว นี่คือจุดกำเนิดของ Alibaba.com เขาพูดกับเพื่อน ๆ ทุกคนว่า “วันนี้ทุกคนจะต้องจ่ายความเจ็บปวดไปอีกหลาย ๆ ปี คู่แข่งของเราไม่ใช่คนจีน แต่เป็นคนใน Silicon Valley เราไม่ได้ทำเวปสำหรับคนจีน แต่ทำเวปสำหรับคนทั้งโลก ถ้าเรามีหัวใจและทำงานหนักเหมือนคนใน Silicon Valley ซักวันหนึ่ง Alibaba จะสามารถล้มยักษ์อย่าง Yahoo หรือ Amazon ได้” เส้นทางเดินในช่วงแรก Alibaba ไม่ใช่เพียงแต่ไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่มีอุปสรรคขวากหนามมากมาย บริษัทไม่มีรายได้แม้แต่เหรียญเดียวเพราะบริการทุกอย่างฟรี ยิ่งไปกว่านั้นฟองสบู่แตกในปี 2000 ทำให้นักลงทุนบอกว่า Alibaba มีแต่เผาเงินไปทุกวัน ๆ ช่วงเวลานั้นหม่าอวิ๋นต้องลดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง และเหมือนว่าทุกสิ่งจะมืดมน ความเชื่อมั่นนักลงทุนหมดไป แต่มันไม่เคยทำให้ความฝันเขาจางลงเลย

            ในช่วงเวลาที่หดหู่นั้นสิ่งที่หม่าอวิ๋นพูดกับพนักงานทุกคน คือ สิ่งที่เราสนใจสิ่งแรกคือลูกค้าของเรา สิ่งที่สองคือพนักงาน สิ่งที่สามถึงจะเป็นนักลงทุน ถ้าลูกค้าของเราทำเงินได้และได้ประโยชน์ในสิ่งที่เราทำ เราก็จะมีรายได้ในที่สุด เราจะอดทนจนกว่าเวลานั้นจะมาถึง หม่าอวิ๋นบอกว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาสำเร็จบนเส้นทางนี้ เพราะเขาใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น แทนที่จะจดจ่อกับเทคโนโลยี เขากลับใช้เวลาในการค้นหาสิ่งที่หาลูกค้าต้องการ เขาเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจที่ยอดเยี่ยมให้กับพนักงานให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ จากพนักงาน 17 คนแรก จนถึงปัจจุบัน Alibaba มีพนักงานกว่า 40,000 คน ก้าวขึ้นเป็นบริษัท e-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มาถึงวันนี้เขาก็ทำให้ความฝันครั้งนั้นเป็นจริงขึ้นมาแล้ว

            แน่นอนว่าระยะเวลา 16 ปีจนถึงวันนี้บริษัทผ่านอะไรมากมาย ผมเคยอยู่ในประเทศจีนและเคยเห็นบริษัทนี้มาตั้งแต่ปี 2004 บริษัทที่ล้มลุกคลุกคลาน และยังต้องต่อสู้ดิ้นรนจากการแข่งขันกับธุรกิจที่ใหญ่กว่ามากอย่าง eBay ในเวลานั้น ในช่วงแรก eBay มีส่วนแบ่งตลาด C2C ในจีน 95% และทุ่มเงินมหาศาลเพื่อยึดประเทศจีนให้ได้ CEO eBay เคยพูดว่านี่คือยุทธศาสตร์ที่เราต้องชนะให้ได้ ถ้าอยากให้ eBay เป็นอันดับหนึ่งของโลก ผมขอยกยอดเรื่องราวการต่อสู้ทางธุรกิจของคุณครูหัวใจเหล็กจากเมืองหาวโจวที่สามารถเอาชนะผู้บริหาร Harvard จากบริษัท e-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้นอย่าง eBay มาได้อย่างไร ในครั้งต่อไปครับ

Sunday, September 20, 2015

หลอก VI /ดร.นิเวศน์


     ในโลกของการลงทุนในหุ้นนั้น  การใช้ข่าวสารเพื่อ “เพิ่มมูลค่า” ให้กับหุ้นนั้น  เป็นเรื่องธรรมดาที่มีการทำกันเป็นล่ำเป็นสัน  ยิ่งมี “แรงจูงใจ” มากเท่าไร  การใช้ข่าวสารก็มีมากขึ้นเท่านั้น  แรงจูงใจที่จะเพิ่มมูลค่าของหุ้นนั้น  ส่วนใหญ่ก็มาจากผู้ถือหุ้นตั้งแต่รายเล็กย่อยไปจนถึงรายใหญ่ที่อาจจะเป็น  “เจ้าของ” ที่เป็นคนบริหารบริษัทด้วย   การเพิ่มมูลค่าของหุ้นโดยการใช้ข่าวสารในความหมายที่ผมพูดนั้น  เป็นเรื่องของการให้ข้อมูลที่ดี ๆ เกี่ยวกับบริษัท เช่น  ทำให้นักลงทุนเห็นว่าบริษัทนั้นมีคุณสมบัติดีเยี่ยมในการแข่งขันทางธุรกิจ  สภาวะที่เอื้ออำนวยของอุตสาหกรรม  แผนงานการเจริญเติบโตของบริษัท   ในขณะเดียวกันก็ต้องหลีกเลี่ยงหรือแก้ต่างข้อด้อยหรือจุดอ่อนที่มีคนชี้ให้เห็นหรือเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป

  กระบวนการให้ข่าวสารเพื่อทำให้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยมีมูลค่าหรือราคาปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันนั้น  ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตก่อนวิกฤติปี 2540 ที่มักจะเล่นแต่เรื่องข่าวสารเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของ “ขาใหญ่”และการ  “ปั่นราคาหุ้น”  เป็นหลัก  ในระยะหลังที่นักลงทุนเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็น “VI” หรือนักลงทุนที่เน้นการลงทุนแนว  “พื้นฐาน” จำนวนมาก  ข่าวสารที่เกี่ยวกับพื้นฐานของกิจการจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำมาใช้ในการ  “เพิ่มมูลค่า” ของกิจการ  นอกจากนั้นสื่อสารที่ใช้ในการเผยแพร่ข่าวสารก็เปลี่ยนแปลงไปมาก  นั่นคือ  มันมีประสิทธิภาพสูงและราคาถูกจนแทบจะ “ไม่มีต้นทุน” ผลก็คือ   หุ้นจำนวนมากนั้น  มีมูลค่าเพิ่มขึ้น “ตามพื้นฐาน”  หรือ  “สูงเกินกว่าพื้นฐาน”  เนื่องจากการให้ข่าวสารที่ดี ๆ  มากกว่าสิ่งที่แย่ ๆ  ทำให้นักลงทุนเห็นบริษัทในทางที่ดีเกินกว่าความเป็นจริงและเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปมากกว่าความเป็นจริง

  คงไม่เป็นปัญหาถ้าข่าวสารที่ส่งออกไปเพื่อเพิ่มราคาหุ้นนั้นเป็นข่าวสารที่ถูกต้องและสิ่งที่คาดในอนาคตมีความเป็นไปได้สูง  ประเด็นก็คือ  เนื่องจากแรงจูงใจที่จะเพิ่มราคาหุ้นนั้นมีสูง  ในบางครั้งและในบางบริษัทจึงมีผู้ถือหุ้นและ/หรือผู้บริหารที่ให้ข่าวสารข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือมีโอกาสที่จะเป็นไปได้น้อยเพื่อที่จะ  “หลอก” ให้คนเชื่อเพื่อที่จะได้หลงเข้ามาซื้อหุ้นดันราคาให้ขึ้นไปสูงเกินความเป็นจริง  โดยที่วิธีการหรือเรื่องที่จะใช้หลอกนั้น  แน่นอน  จะต้องไม่ทำให้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของทางการ  และคนที่จะถูกหลอกนั้นก็ต้องเชื่อและนำเรื่องนั้น “บอกต่อ” ให้คนอื่นเชื่อตามอีกอย่าง “ทวีคูณ”  ยิ่งมากก็ยิ่งดี  และนี่ก็นำมาสู่ประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดในวันนี้นั่นก็คือ  การ  “หลอก VI” ซึ่งถ้าคิดโดยสามัญสำนึกแล้วพวกเขาไม่ควรทำ  เหตุเพราะว่า “VI” นั้นดูเหมือนว่าน่าจะเป็นคนที่มีความ  “รอบรู้”  มี “เหตุมีผล” และ  “ไม่ใช่คนที่จะถูกหลอกง่าย ๆ”  แต่นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง

  ผมเองมีความเชื่อว่าการที่คน ๆ หนึ่งจะถูกหลอกได้ง่ายหรือยากนั้น  อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณเป็น “VI” หรือคุณเป็น  “แมงเม่า”  แต่มันอาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และคนที่หลอก  ถ้าสถานการณ์เอื้ออำนวยและคนที่จะถูกหลอกนั้นมี  “ความพร้อมที่จะให้หลอก” อาจจะเนื่องจากมีอารมณ์โลภหรืออะไรก็ตาม  และคนที่หลอกนั้นมีความรอบรู้ มีข้อมูล และ/หรือความเป็นเหตุเป็นผลเหนือกว่าคนที่จะถูกหลอก  การหลอกก็จะประสบความสำเร็จได้เท่า ๆ  กัน   ว่าที่จริง  คนที่เป็น VI อาจจะถูกหลอกได้อย่างมั่นคงกว่าคนที่เป็นแมงเม่าด้วยซ้ำเนื่องจากพวกเขาอาจจะเชื่อด้วย  “เหตุผล”  โดยที่ไม่รู้ว่ามันเป็นเหตุผลที่ผิด

  เรื่องราวการหลอกหรือเรื่องไม่จริงที่ผมเคยได้ประสบมาและ VI จำนวนไม่น้อยมักจะเชื่อนั้น  ผมจะลองจัดกลุ่มโดยเริ่มจากเรื่องแรกก็คือ  “บริษัทหรือกิจการเป็นผู้นำหรือมีเทคโนโลยีที่คนอื่นทำไม่ได้  ดังนั้นบริษัทก็จะได้งานหรือได้ธุรกิจที่กำลังจะโตมหาศาล”  ผมเองเคยเป็นวิศวกรโรงงานมานานหลายปี  “ธรรมเนียม” อย่างหนึ่งที่ผมเคยประสบและคิดว่าถึงวันนี้ก็คงไม่น่าจะเปลี่ยนไปมากก็คือ  วิศวกรทั่ว ๆ ไปนั้น  ไม่ค่อยหวงเทคโนโลยี  เรายินดีต้อนรับถ้าใครอยากมาดูเทคนิคของเรา  ดังนั้น  ผมไม่ใคร่จะเชื่อเวลามีใครอ้างว่าคนอื่นหรือบริษัทอื่นทำไม่ได้  เหนือสิ่งอื่นใด  ถ้าจำเป็น  บริษัทอื่นอาจจะมา “ซื้อตัว” คนของบริษัทที่อ้างว่าเป็นรายเดียวที่ทำได้ก็ได้

  เรื่องที่ว่าบริษัทหนึ่งจะ  “เก่ง”  กว่าบริษัทอื่นนั้น  สิ่งที่ผมจะให้น้ำหนักจริง ๆ  ควรจะเป็นเรื่องของ  “โครงสร้าง” ของบริษัท  เช่น  บริษัทมีปัจจัยได้เปรียบในเรื่องของขนาดที่ทำให้คู่แข่งไม่สามารถทำเลียนแบบได้มากว่าเรื่องของเทคโนโลยีหรือระบบที่มักจะสามารถจัดหามาได้มากกว่า

  เรื่อง “หลอก VI” กลุ่มที่สองนั้น  ผมยกให้เป็นเรื่องของ  “อนาคตของบริษัท” นี่คือการที่หลอกว่าอนาคตยอดขายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำไรของบริษัทจะ “โตก้าวกระโดด” โดยดูตัวเลขจากอดีตที่บริษัทโตขึ้นมาหลายปีในอัตราที่สูงลิ่วแต่จากฐานที่ต่ำมาก  ประเด็นที่ไม่น่าจะจริงก็คืออัตรากำไรต่อยอดขายหรือมาร์จินที่สูงลิ่วในอดีตทั้ง ๆ ที่สินค้านั้นเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือเป็นสินค้าที่โดยธรรมชาติไม่สามารถทำมาร์จินได้สูงนั้น  อาจจะมาจากปัจจัยอย่างอื่น เช่น ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราวหรือรายได้พิเศษอื่น ๆ  ที่ผู้บริหารไม่ได้บอก  “VI” ที่  “ถูกหลอก” ก็จะรู้สึกดีกับกิจการมากว่าเป็นบริษัทที่  “โตเร็ว”  และดังนั้นจึงทุ่มซื้อหุ้นและบอกเพื่อน “VI” ด้วยกันว่ามันเป็นหุ้นที่โตเร็วและหุ้นจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

  การหลอก VI อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเองก็ไม่ได้แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คือเรื่องของการซื้อหุ้นของเจ้าของและ/หรือผู้บริหาร  และนักลงทุน “รายใหญ่”  ประเด็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษที่ผมสังเกตพบอยู่เรื่อย ๆ ก็คือ การซื้อขายหุ้นและการ “โอนหุ้น” ของเจ้าของที่บางทีดูไม่ใคร่สมเหตุผล  ตัวอย่างเช่น  หุ้นบางตัวนั้น  เจ้าของมักเข้ามาซื้อหุ้นอยู่เรื่อย ๆ  ในจำนวนไม่มากนักหรือน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนที่เขาถืออยู่แล้ว  ส่วนตัวผมเองนั้นอดคิดไม่ได้ว่ามันเป็นการ  “หลอก” โดยการแสดงให้คนเห็นว่าเขาในฐานะเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นเห็นว่าหุ้นนั้นมีราคาต่ำเกินไปจึงเข้ามาซื้ออยู่เรื่อย ๆ   เหตุผลของผมก็คือ  ถึงแม้ว่าหุ้นจะถูกในสายตาของเขา  เขาก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเพื่อหวังกำไรเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อย  เพราะถ้าในอนาคตหุ้นปรับตัวขึ้น  เขาก็มีหุ้นเดิมมากอยู่แล้ว  จะไปซื้อเพิ่มขึ้นมาอีกเพียงเล็กน้อยทำไม  ปล่อยให้หุ้นหมุนเวียนในตลาดให้มีสภาพคล่องดีขึ้นจะดีกว่า  เรื่องของการซื้อขายหรือโอนหุ้นรวมถึงการเข้ามาซื้อหุ้นแบบ PP ที่ต้องแสดงต่อสาธารณะนั้น  ผมคิดว่าในหลายกรณีมี  “ลูกหลอก” อยู่  ดังนั้น  เราต้องประเมินดูก่อนจะใช้ข้อมูลนั้น

  เรื่องของการถูกหลอกนั้น  ผมคิดว่าทุกคนแม้แต่ตัวผมเองที่เป็นคน  “ขี้สงสัยและเชื่อคนยาก”  ก็มีโอกาสที่จะถูกคนที่มีความรู้บางเรื่องสูงกว่าหลอกในเรื่องนั้น  กระบวนการที่สำคัญนอกจาก  “เรื่องราวที่สมเหตุสมผล”  แต่ไม่จริงแล้ว  ยังขึ้นอยู่กับ “ความถี่ในการรับรู้”  ด้วย  ดังนั้น  คนที่หลอกคนอื่นก็จะต้องพูดซ้ำหรือย้ำอยู่เรื่อย ๆ  ทุกครั้งที่มีโอกาส  นี่คือกระบวนการของการ  “ล้างสมอง”  ที่ได้ผลมาตลอดในประวัติศาสตร์  ความเป็นจริงก็คือ  ถ้าคนถูกป้อนข้อมูลเข้าสมองมากและนานพอ  เขาก็จะเชื่อในสิ่งนั้นแม้ว่าตอนแรกจะฟังดูไม่มีเหตุผลที่ดีพอ  แต่ในกรณีที่เหตุผลก็ดูดีแต่ไม่จริงและเราก็ไม่รู้ว่าไม่จริงแต่เราเชื่อเพราะว่าเราอยากเชื่อ)  เราก็จะเชื่อทันทีและเชื่ออย่างมั่นคงจนกว่าความจริงจะปรากฏและหักล้างความเชื่อนั้นอย่างสิ้นเชิง  และนี่ก็คือจุดอ่อนของนักลงทุนทุกคนไม่เว้นแม้แต่ VI เพราะในปัจจุบันนั้น  “VI” กลับกลายเป็นเป้าหมายของคนที่คิดจะหลอกในตลาดหุ้น

หุ้นธรรมดา กำไรไม่ธรรมดา / โดย คนขายของ

   

  เมื่อสิบปีก่อน ในปี 2005 ดัชนี Dow Jones อยู่ที่ราวๆ 10,000 จุด ผ่านมา 10 ปี ในตอนนี้ ดัชนีมาอยู่ที่ประมาณ 16,000 จุด หรือ เพิ่มขึ้นราว 60% จากเมื่อสิบปีที่แล้ว จากการศึกษาหุ้นที่ให้ผลตอบแทนในระดับสูงสุด 40 อันดับที่มีมูลค่ากิจการมากกว่า 1 พันล้านเหรียญขึ้นไปพบว่า ราคาของหุ้นเหล่านั้นปรับขึ้นไปสูงกว่าดัชนีมาก โดยผลตอบแทนของหุ้นเหล่านี้อยู่ในช่วง 8-65 เท่า เมื่อดูลงไปในรายละเอียดพบว่า หุ้นส่วนใหญ่ในกลุ่ม “Top Performers” นี้อยู่ในอุตสาหกรรมที่มักมีการลงทุนในเทคโนโลยี และงานวิจัยเป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมยา ไบโอเทค และ ไอที แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีหุ้นบางตัว ที่อยู่ในอุตสาหรรมที่ดูธรรมดา และอาจจะอิ่มตัวแล้ว เช่น ร้านอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องครัว กลับแทรกตัวขึ้นมาอยู่ในกลุ่มนี้ได้ บริษัทเหล่านี้มีอะไรดีจึงสามารถสร้างผลตอบแทน ให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างมหาศาลในรอบสิบปีที่ผ่านมา?

  Buffalo Wild Wings ร้านอาหารที่เมื่อสิบปีที่แล้วมีมูลค่ากิจการราวหนึ่งหมื่นล้านบาท โตมาเป็น แสนล้านบาทในสิบปีโดยการเน้น “นวัตกรรม” บริษัทขายอาหารปีกไก่อบซ๊อสแต่มีซ๊อสให้เลือกมากมาย หลายรสชาติต่างกับคู่แข่ง นอกจากนั้นยังเน้นเรื่องบรรยากาศในการรับประมานอาหาร ผู้บริหารเข้าใจ ผู้บริโภคชาวอเมริกันเป็นอย่างดีว่าชอบดูกีฬา จึงจัดร้านให้มีบรรยากาศเหมาะสมกับการเชียร์กีฬาร่วมกันของผู้ที่มาทานอาหาร มีจอหลายจอสำหรับดูการถ่ายทอดที่อาจจะเกิดขึ้นพร้อมกัน มีเกมส์ให้ download ไว้เล่นระหว่างรอพักครึ่ง และผู้ที่มาทานอาหารสามารถใช้ “แท๊บเล็ต” ที่ถูกติดตั้งไว้ ในการสั่งอาหาร ไม่ต้องรอคอยพนักงานเสริฟเป็นเวลานาน

  Monster Beverage บริษัทขายเครื่องดื่มให้พลังงาน Energy Drink) ซึ่งมีส่วนแบ่ง การตลาดอยู่เป็นอันดับสองรองจาก “Red Bull” ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 20เท่า ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้น “Apple” ของ Steve jobs เสียอีก ตลาดเครื่องดื่มให้พลังงาน ในสหรัฐอเมริกา มีอัตรา การเติบโตที่สูงมากในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา จากมูลค่าตลาดรวมราว 300 ล้านเหรียญในปี 2000 มาเป็น 9,000 ล้านเหรียญในปัจจุบัน บริษัทมีการกระจายสินค้าที่ครอบคลุม และมีการพัฒนารสชาติใหม่ๆ ออกมาเสมอ โดยตอนนี้มีออกมามากกว่า 10 รสชาติ Coca-Cola เห็นศักยภาพของบริษัทนี้ และได้มาร่วมลงทุนถือหุ้นราว 15% ซึ่งก็น่าจะช่วยให้ Monster กระจายสินค้าไปในต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วในอนาคต

Middleby Corp ร้านขายเครื่องครัวให้แก่เครือข่ายร้านอาหารชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็นประเภท กาแฟ เบอร์เกอร์ พิซซ่า โดนัท ล้วนเป็นลูกค้าของบริษัท Middleby ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นที่การช่วยลูกค้าลดค่าใช้จ่าย ทั้งค่าไฟ ค่าน้ำ และค่าพนักงงาน ทำให้ลูกค้า ให้ความไว้วางใจในบริษัทเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นบริษัทยังเน้นกลยุทธ์ในการทำ M&A โดยจะเข้า ไปซื้อหุ้นของบริษัทผลิตเครื่องครัวต่างๆ เพื่อสร้างอาณาจักรแบรนด์ด้านเครื่องครัว เป็นศูนย์รวม ทุกผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า ด้วยกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดทำให้ราคาหุ้นจะขึ้นมาได้ 8 เท่าในสิบปี

บริษัทที่ให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นในระดับสูงเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน จากการศึกษาดูในรายละเอียดพบว่า มักมีส่วนที่คล้ายคลึงกันคือ หนึ่ง เป็นผู้นำ ใน “segment” ที่ตัวเองทำธุรกิจอยู่  สอง บริษัทเหล่านี้จะเน้นเรื่องของ “นวัตกรรม” โดยจะมี ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาสู่ตลาดเสมอ และ สาม บริษัทเหล่านี้มักจะอยู่ในกระแสที่เรียกว่า “Mega Trend” เช่น ผู้คนมีแนวโน้มทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น หรือ ผู้คนสนใจในการเล่นกีฬามากขึ้น แต่เมื่อเราย้อนกลับไปมองบริษัทเหล่านี้ในแง่อัตราส่วนทางการเงินเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรากลับพบว่า หุ้นเหล่านี้ล้วนมีค่า PE สูงเกิน 20 เท่า เงินปันผลก็ไม่มี นักลงทุนหลายๆท่านคงเห็นว่าบริษัทเหล่านี้แพงมาก ไม่น่าลงทุน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน ผมคิดว่านักลงทุนควรพิจารณา “Potential Markets” ของบริษัทประกอบการพิจารณาด้วย อย่างร้านอาหาร Buffalo Wild Wings เมื่อประสบความสำเร็จในเมือง ก็สามารถขยายไปในรัฐ ในภูมิภาค ในประเทศ หรือ แม้กระทั่ง ไปต่างประเทศได้อีก นอกจากนั้นควรพิจารณาว่ากลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทนั้นสามารถทำได้จริงไหม สมเหตุสมผลหรือเปล่า โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่า การพิจารณาอัตราส่วนทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญ แต่ในทางกลับกัน หากติดอยู่กับตัวเลขอย่างเดียว ไม่พิจารณาส่วนอื่นประกอบด้วย อาจจะทำให้ นักลงทุนพลาดโอากาสทองไปได้เหมือนกัน  

Monday, September 14, 2015

สั้น VS ยาว / ดร.นิเวศน์


  ผมอยู่ในตลาดหุ้นมานานและสังเกตเห็นว่า   สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะแยกแนวทางการลงทุนระหว่างนักลงทุนกลุ่มหนึ่งกับนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งออกจากกันได้เด่นชัดที่สุดนั้น  ไม่ใช่การเป็น “นักลงทุนหรือนักเก็งกำไร”  หรือไม่ใช่  “นักเทคนิคหรือเป็น VI”  หรือไม่ใช่  “นักเล่นหุ้นเติบโตหรือเล่นหุ้นถูก”  เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่นั้นต่างก็มีความเป็นนักเก็งกำไรและนักลงทุนอยู่ในตัว   ไม่รู้จะแยกยังไง  บางคนเป็น VI แต่ก็ดูกราฟด้วยหรือดูบ้าง  นักเทคนิคที่ผมรู้จักจำนวนมากนั้น  ต่างก็ดูพื้นฐานด้วยไม่ใช่มองแต่กราฟ  เช่นเดียวกัน  ผมแทบจะไม่เคยเห็นคนที่เล่นแต่Growth โดยไม่สนใจหุ้นที่ถูกมากเลย

สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สามารถที่จะแยกนักลงทุนออกจากกันได้ชัดที่สุดนั้นน่าจะเป็นเรื่องของระยะเวลาในการลงทุนหรือมุมมองต่อเรื่องของระยะเวลาในการถือครองหุ้นหรือพูดง่าย ๆ  คุณเป็นคน  “เล่นสั้นหรือเล่นยาว”  เหตุที่ผมใช้คำว่า  “มุมมอง” นั้น  เป็นเพราะว่านี่คือ  “ฐานทางความคิด” ของการลงทุนในการพิจารณาเกี่ยวกับการเลือกหุ้น  ถือหุ้น  ขายหุ้น  และเรื่องอื่น ๆ  อีกมาก  ถ้าจะหาชีวิตนักลงทุนเอกของโลกมาเปรียบเทียบที่ดี  เราก็คงจะเห็นได้ชัดเจนว่า วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นน่าจะถือได้ว่าเป็นคนที่  “เล่นยาว”  สุดโต่ง  ในอีกด้านหนึ่ง  จอร์จ โซรอส น่าจะเป็นตัวแทนของคนที่  “เล่นสั้น”  และสองคนนี้ผมคิดว่ามีมุมมองต่อเรื่องของการลงทุนคนละด้านอย่างเห็นได้ชัดทั้งเวลาซื้อ  เวลาถือครอง และเวลาขาย  รวมถึงเรื่องของความเสี่ยงและประเด็นอื่น ๆ แต่ทั้งสองต่างก็ประสบความสำเร็จพอ ๆ กัน   แน่นอนว่าบางครั้งบัฟเฟตต์ก็ถือหุ้นสั้นบ้างเช่นเดียวกับที่โซรอสเองก็น่าจะเคยถือหุ้นยาวแต่นั่นมักเป็นข้อยกเว้นหรือเป็นรายการย่อยไม่ใช่รายการหลัก  หุ้นหรือหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ของคนที่ “เล่นยาว” นั้นต้องถือยาว  ส่วนคนที่ “เล่นสั้น” นั้น  ต้องถือสั้น  ไม่ว่าเจ้าตัวจะเรียกตัวเองว่าเป็นคนที่ลงทุนแนวไหน

ในความคิดของผมแล้ว  คนที่ตั้งใจถือหุ้นไม่เกินประมาณ 1 ปี ก็ต้องถือว่าเป็นคน  “เล่นสั้น”แม้ว่าเจ้าตัวจะบอกว่าตนเองเป็นคนลงทุนระยะยาว  คนที่ตั้งใจถือหุ้นยาวกว่านั้นโดยเฉพาะที่ไม่ได้ตั้งเป้าเวลาที่จะขายเลยนั้นก็อาจจะถือว่าเป็นคนที่  “เล่นยาว”  มองจากเกณฑ์นี้แล้วผมคิดว่านักลงทุนในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่  รวมถึงสถาบันลงทุน เช่น บลจ. ทั้งหลายที่บริหารเงินให้กับคนอื่น  ก็น่าจะถือว่าเป็นคนที่ “เล่นสั้น”  คนที่ “เล่นยาว” นั้น  ผมคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในกลุ่มของ VI ที่อายุมากหน่อยหรือไม่ก็เป็นสถาบันลงทุนที่เน้นระยะยาวเช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  กองทุนรวมระยะยาว LTF หรือ RMF กองทุนของบริษัทประกันภัยหรือประกันชีวิต  และกองทุนของบริษัทหรือกงสีที่ไม่เน้นที่จะต้องโชว์ผลงานการลงทุนให้กับใครมากนักและสามารถถือหุ้นได้โดยไม่ต้องพะวงกับการถูก “ถอน” การลงทุน

ความแตกต่างของมุมมองระหว่างนักลงทุนที่ถือสั้นกับถือยาวนั้นผมคิดว่ามีมากมายผมจะลองไล่ไปเรื่อย ๆ  โดยสิ่งที่ผมจะพูดนั้นอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงจากการศึกษาทางวิชาการแต่เป็นเรื่องที่ผมเคยได้ยินนักลงทุนโดยเฉพาะที่ชอบ “เล่นสั้น” พูดหรือทำ  ส่วนสำหรับนักลงทุนระยะยาวนั้น  นอกจากสังเกตจากคนอื่นแล้วก็เป็นเรื่องของความคิดผมเองในฐานะนักลงทุนระยะยาวที่มักจะมีความคิดและวิธีทำที่แตกต่างจากนักลงทุนระยะสั้น

เริ่มต้นก็คือประเด็นสำคัญเรื่องของผลตอบแทน  คนที่เล่นสั้นนั้นเชื่อว่าการเล่นสั้นนั้นกำไรดีกว่าการเล่นยาว  เหตุผลก็เพราะว่ามันสามารถทำกำไรได้ “หลายรอบ”  เช่น ถ้าคุณซื้อและขายหุ้นแต่ละตัวภายใน 3 เดือน คุณก็จะมีโอกาสทำกำไรได้ปีละ 4 รอบ  ถ้าได้รอบละ “แค่ 10%” ปีหนึ่งก็กำไรไปแล้ว 40%  คนที่เล่นสั้นนั้นเชื่อว่าหุ้นแต่ละตัวจะมีจังหวะของการวิ่งเร็วเป็นบางช่วง  ดังนั้น  เราก็ควรซื้อก่อนที่มันจะ  “วิ่ง”  หรือเริ่มวิ่ง  และขายเมื่อมันขึ้นไปอย่างรวดเร็วซึ่งมักจะไม่กี่เดือน  หลังจากนั้นมันก็อาจจะขึ้นช้าลงหรืออาจจะปรับตัวลงมา  ดังนั้นเราไม่ควรจะถือต่อแต่ควรจะขายทิ้งและไปหา “ตัวใหม่” ที่กำลังจะมา   ส่วนคนที่เล่นยาวนั้น  เชื่อว่าการถือหุ้นที่มีพื้นฐานมั่นคงโดดเด่นนั้น  หุ้นก็มักจะมีแนวโน้มว่าจะโตขึ้นไปเรื่อย ๆ  ปีหนึ่งอาจจะถึง 10-20% โดยเฉลี่ยตามกำไรของบริษัทที่เขาค่อนข้างมั่นใจว่าจะโตไปได้เรื่อย ๆ  ในอัตราที่ค่อนสูงเกิน 10% ต่อปีไปอีกหลายปี  การขายและเปลี่ยนตัวเล่นนั้นเขาก็ไม่แน่ใจว่าตัวใหม่จะมีผลงานเท่าตัวเก่าหรือไม่  พวกเขากลัวว่าจะเป็นการ  “ขายหมูแล้วไปซื้อควาย” อย่างที่ชอบพูดกันในหมู่นักลงทุน  นั่นคือขายหุ้นที่ขึ้นต่อแล้วไปซื้อหุ้นที่ซื้อแล้วก็ตกลงมา

ประเด็นที่สองก็คือเรื่อง “จุดของการทำกำไร”  นักเล่นสั้นนั้นบอกว่า  “กำไรอยู่ที่การขาย”  นั่นคือ  การลงทุนนั้น  กำไรที่มากนั้นมักจะมาจากการขาย  นั่นก็คือ  คุณต้องรู้ว่าจะขายหุ้นตัวที่ซื้อมาเมื่อไร  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือต้องขายในช่วงที่หุ้นดีดตัวขึ้นมาแรงสู่จุดที่สูงมากในระยะสั้น  บางครั้งแค่พลาดไปไม่กี่วันหรือบางทีนาที  กำไรก็อาจจะหายหมดหรือลดน้อยลงไปมาก  ดังนั้น  ทักษะสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคนเล่นสั้นก็คือ  การจับจังหวะขาย  ส่วนคนเล่นยาวนั้นบอกว่าการขายนั้นไม่สำคัญ  กำไรเกิดขึ้นเมื่อเรา  “ซื้อหุ้นถูกตัว”  นั่นก็คือหุ้นที่มีคุณภาพที่ดีเยี่ยมในราคาถูก  ถ้าคุณซื้อหุ้นแบบนี้ได้  คุณไม่จำเป็นต้องรีบขายแม้ว่าในบางช่วงเวลาหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นไปสูงกว่าปกติและคุณ “พลาด” ที่จะขายมัน  แต่ในอนาคตต่อมา  มันก็มักจะปรับตัวขึ้นมาอีกจนสูงเท่าหรือสูงกว่าเดิม  ดังนั้น  การขายไม่สำคัญ  “กำไรอยู่ที่การซื้อ”

“ยาวคือเสี่ยง  สั้นคือไม่เสี่ยง”  นี่คือคติประจำใจของคนเล่นสั้นที่คิดว่าการลงทุนระยะยาวนั้นเสี่ยงมากเนื่องจากในระยะยาวแล้วทุกอย่างก็อาจจะเปลี่ยนไป  ทั้งเรื่องของพื้นฐานของกิจการ  ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นก็เปลี่ยนไป  ยิ่งเวลาผ่านไปมากโอกาสที่เรื่องร้าย ๆ  จะเกิดขึ้นก็จะเพิ่มขึ้น  ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้  ดังนั้น  การถือหุ้นยาวคือเสี่ยง  บางคนนั้นแค่ถือหุ้นข้ามวันหยุดก็รู้สึกเสี่ยงแล้ว  แต่นักเล่นยาวนั้นมองตรงกันข้าม  พวกเขารู้สึกว่าในระยะสั้นนั้น  ทั้งตลาดและราคาหุ้นจะมีความผันผวนขึ้นลงเอาแน่อะไรไม่ได้  แต่ในระยะยาวแล้ว  ดัชนีหุ้นก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ  ถ้าเราถือยาวเป็น 5 ปีหรือ10 ปี  หรือถ้าเริ่มตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์ 40 ปีที่แล้ว  ดัชนีตลาดจะให้ผลตอบแทนถึงปีละ 10% โดยเฉลี่ย  ไม่เสี่ยงเลย  นอกจากนั้น  สำหรับหุ้นรายตัวแล้ว  ถ้าคุณซื้อหุ้นที่แข็งแกร่งและเติบโตระยะยาวโดยการพิจารณาพื้นฐานของกิจการอย่างถี่ถ้วน  โอกาสก็สูงที่กำไรของบริษัทจะโตขึ้นเรื่อย ๆ  และถ้าเป็นอย่างนั้น  ราคาหุ้นก็ต้องปรับตัวขึ้นไปตาม  ดังนั้น  “ถือยาวไม่เสี่ยง ถือสั้นเสี่ยง”

คนที่เล่นสั้นนั้นชอบหุ้นที่มี  “การเปลี่ยนแปลง” ซึ่งก็มีหลากหลาย  คนที่เล่นสั้นมากชอบการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น  หุ้นที่นิ่ง ๆ  เขาไม่สนใจ  เขาสนใจหุ้นที่กำลังขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็วโดยไม่สนใจว่าบริษัททำอะไร   คนที่เล่นสั้นแต่ไม่มากอาจจะชอบหุ้นของกิจการที่เป็นวัฏจักรและวัฏจักรกำลังเป็นขาขึ้น   บางคนชอบหุ้นของกิจการที่กำลังฟื้นตัว  จำนวนมากชอบหุ้นที่กำลังมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างโดดเด่นเนื่องจากสถานการณ์บางอย่างทางอุตสาหกรรมที่เอื้ออำนวย  ทั้งหมดนั้นมักจะมีเงื่อนไขที่สำคัญก็คือ  มันต้องเป็นหุ้นขนาดเล็กหรือมี Free Float ต่ำที่ทำให้ราคาหุ้นวิ่งได้เร็วมากและมโหฬารได้  พวกเขาคิดว่านี่คือการทำเงินได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น  ส่วนพวกเล่นยาวนั้นมักจะชอบหุ้นที่  “ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” แต่ต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญก็คือ  “ก็กิจการมันดีมากอยู่แล้ว”  การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะนำไปสู่ความไม่แน่นอน  เป็นความเสี่ยง

สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือมุมมองเกี่ยวกับปันผล  นักเล่นสั้นนั้นมักจะไม่ใคร่ “แคร์”  เรื่องเงินปันผลมากนัก  พวกเขาเห็นว่าเงินปันผลนั้นคิดเป็นผลตอบแทนน้อยนิด  พวกเขาคิดว่า “เทรดแค่ 2-3 วันก็เท่ากับเงินปันผลทั้งปีแล้ว” ดังนั้น  ปันผลจึงไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาจะมอง  ส่วนนักลงทุนระยะยาวนั้น  ปันผลเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเลือกหุ้นลงทุนไม่น้อย  ว่าที่จริงในระยะยาวแล้ว  ปันผลในตลาดหุ้นไทยนั้นคิดเป็นผลตอบแทนเกือบครึ่งหนึ่งของผลตอบแทนทั้งหมด  ดังนั้น  บ่อยครั้งในการลงทุนพวกเขาคิดถึงปันผลในการเลือกหุ้นลงทุนด้วย

Sunday, September 13, 2015

เรื่องจริงไม่อิงนิยาย / โดย คนขายของ

การลงทุนในหุ้นสามารถสร้างความมั่งคั่งได้จริงหรือ? เป็นคำถามที่หลายๆคนคงสงสัย โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในเวลานี้ที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนอย่างมาก ผมเชื่อว่าคนที่มีฐานะปานกลางในสังคมไทย ส่วนใหญ่น่าจะเคยมีประสบการณ์การลงทุนในหุ้น แต่มีหลายคนเลิกสนใจการลงทุนเมื่อเจอวิกฤต ตลาดหุ้นจนมูลค่าของพอร์ตลดลงอย่างน่าใจหาย ทำให้หลายคนขายหุ้นล้างพอร์ตไม่หันหน้ากลับมา ลงทุนอีก หลายคนลงทุนในหุ้นเหมือนเป็นรายได้เสริม ซื้อๆขายๆในระยะสั้น ได้เงินมาเลี้ยงเพื่อนบ้าง ซื้อมือถือใหม่บ้าง แต่ไม่กล้าที่จะลงทุนแบบมีนัยยะสำคัญ มีบางคนอ้างว่านักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ นั้นส่วนใหญ่มีการศึกษาสูง เป็นคนเคยทำงานในแวดวงการเงินบ้าง รู้ข้อมูลวงในบ้าง จึงประสบความ สำเร็จ คนธรรมดาไม่ได้เรียนสูงและทำงานเป็นลูกจ้างคงไม่มีวัน ในบทความนี้ผมของยกเรื่องจริง ของชายธรรมดา นามว่า Ronald Read มาเล่าสู่กันฟัง

  Ronald Read หลังจากรับใช้ชาติด้วยการไปรบในสงครามโลกครั้งที่สอง เขากลับมาทำงานเป็น เด็กปั๊มที่รัฐ Vermont จนเกษียณ หลังเกษียณเขาทนอยู่เฉยๆไม่ได้ เลยไปสมัครเป็นพนักงาน ทำความสะอาดที่ห้างสรรพสินค้า JC Penny ชายผู้ใช้ชีวิตธรรมดา ขับรถโตโยต้ามือสองคันเล็กๆ ใส่เสื้อผ้าเก่าๆ กลายเป็นข่าวใหญ่ในอเมริกาเมื่อเขาเสียชีวิตลงในปีที่แล้ว พร้อมพินัยกรรมบริจาคเงิน ราว 4.5 ล้านเหรียญให้กับโรงพยาบาล และ อีก 1.5 ล้านเหรียญให้กับห้องสมุด จากสินทรัพย์รวม ที่เขามีอยู่ทั้งหมดราว 8 ล้านเหรียญ ผู้คนต่างสงสัยว่าเขามีเงินขนาดนี้ได้อย่างไร? แม้แต่เพื่อนและ ญาติต่างก็งงไปตามๆกัน หลังจากเซฟที่เก็บสินทรัพย์ถูกไข ความลับก็ถูกเฉลยหลังจากที่ทุกคนพบว่า Ronald Read มีใบหุ้นของบริษัทชั้นนำของอเมริกามัดรวมกันอยู่หนาราว 5 นิ้ว



   หุ้นหลักๆ ที่ Read ถือในพอร์ตเช่น ธนาคาร Well-Fargo, P&G, Colgate-Palmolive, American Express และ ผู้ผลิตเนยถั่ว J.M. Smucker หุ้นที่เขาถือมีลักษณะใกล้เคียงกันคือ เป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของเขา และเขาถือหุ้นเหล่านั้นมายาวนาน การที่เขาถือเป็น ใบหุ้นแสดงว่า หากเขาต้องการขายหุ้น เขาต้องคิดมาอย่างดีแล้ว เพราะกระบวนการทางด้านเอกสาร จะยุ่งยากกว่าการฝากหุ้นไว้กับโบรกเกอร์ ดังนั้นการขายหุ้นออกไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ จึงเป็นไป ได้ยาก นอกจากนั้นมีการวิเคราะห์ว่า หุ้นที่เขาถือนั้นส่วนใหญ่ให้เงินปันผล และเขาก็จะเอาเงินปันผลที่ได้รับนั้นกลับไปซื้อหุ้นเพิ่มอีกทำให้ผลตอบแทนที่ได้ทบต้นเร็วขึ้นไปอีก

  หลังกลายเป็นข่าวใหญ่ มีการศึกษาชีวิตเขาอย่างละเอียดและพบว่า การเลือกหุ้นของ Read นั้นไม่ได้ เลือกแบบเสี่ยงดวงหรือตามแห่ แต่เขามีการศึกษาเรื่องการลงทุนมาอย่างดี เขาอ่านหนังสือพิมพ์  Wall Street Journal และ วารสารการลงทุน Barron เป็นประจำ นอกจากนั้นเขายังชอบไปค้นคว้าหา

ความรู้เรื่องการลงทุนเพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือของห้องสมุด นอกจากนั้นเขายังปรึกษาเรื่องการ

ลงทุนกับเพื่อนบ้านของเขาซึ่งทำงานเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ที่ธนาคาร Well-Fargo

  Chris Hogan ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินส่วนบุคคลได้ตอบ CNBC ว่าคนธรรมดาสามารถบรรลุ เป้าหมายทางการออมได้หากเขามุ่งมั่นเอาจริง และใช้ชีวิตไม่ฟุ้งเฟ้อ หากออมเดือนละ 300 เหรียญ (ราวๆ 10,500 บาทต่อเดือน) แล้วนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนทบต้น 8% ในเวลา 65 ปี ทุกคนก็สามารถมีเงิน 8ล้านเหรียญเหมือน Ronald Readได้  เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า การเริ่มออม ตั้งแต่อายุยังน้อย, การทำผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอ และ การมีอายุยืนยาวจะเป็นตัวช่วยการสร้าง ความมั่งคั่งได้อย่างดี

  ในระบบธุรกิจทั่วไป คนออมเงินเอาเงินไปฝากธนาคารได้ผลตอบแทนราวๆ 2% ธนาคารเอาเงิน ไปปล่อยกู้ให้กับเจ้าของธุรกิจได้ดอกเบี้ย 6%-8% นั่นหมายความว่าการทำธุรกิจนั้นควรจะได้ ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ มิฉะนั้นคงไม่มีใครมากู้ธนาคาร แต่เราต้องรู้จักเลือกธุรกิจให้ดี เพราะบางธุรกิจก็ไปไม่รอด จึงไม่น่าแปลกใจว่า Ronald Read สามารถสร้างความมั่งคั่งได้ แม้เขาจะไม่ได้เรียนสูง ไม่มีข้อมูลวงใน ไม่มีเส้นสายใดๆ จุดสำคัญในการลงทุนสำหรับบุคคลทั่วไป คือต้องแยกให้ออกว่า ธุรกิจไหนเหมาะสำหรับการลงทุนในระยะยาว? บริษัทที่มีความสามารถ ในการแข่งขันมีลักษณะเป็นอย่างไร? เมื่อท่านเลือกได้ดีแล้ว ใล่เงินออมลงไปพอสมควรแล้ว ที่เหลือก็แค่รอให้เครื่องจักรแห่งความมั่งคั่งเขาเดินเครื่องต่อไปเอง

Monday, September 7, 2015

Good Company in Bad Industry / ดร.นิเวศน์



   การเลือกหุ้นลงทุนนั้น  สิ่งแรกที่เราควรจะต้องวิเคราะห์ก็คือเรื่องของ “ภาพใหญ่”  หรือเรื่องของเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครองสังคมและกฎระเบียบต่าง ๆ  ของรัฐที่ใช้ในการควบคุมตัวธุรกิจในภาพรวม  ต่อมาก็คือ “ภาพกลาง” ซึ่งก็คือเรื่องของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจว่าโครงสร้างและการแข่งขันของอุตสาหกรรมนั้นเป็นอย่างไรหรืออาจจะพูดแบบง่าย ๆ  ธุรกิจนั้นแข่งขันกันด้วยปัจจัยอะไรบ้าง   และสุดท้ายถึงจะวิเคราะห์ว่าตัวบริษัทเป็นอย่างไร  โดดเด่นแค่ไหน  ราคาหุ้นที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร  นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่าการวิเคราะห์แบบ “Top Down” ที่เป็นการวิเคราะห์แบบ  “มาตรฐาน”  ตามตำรา  แต่ VI จำนวนมากรวมถึงคนดังระดับโลกหลายคนเช่น ปีเตอร์ ลินช์ บอกว่าเขาไม่สนใจภาพใหญ่โดยเฉพาะทางด้านของเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรม  สิ่งที่เขาสนใจก็คือบริษัทที่เขาจะลงทุนเท่านั้น  บางคนเรียกการวิเคราะห์แนวนี้ว่าเป็น  “Bottom Up” ความหมายคงเป็นว่าเขาจะเน้นดูที่ตัวบริษัทเป็นหลัก  คือวิเคราะห์ดูเฉพาะตัวหุ้นที่เขาสนใจโดยไม่ดูว่าอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในสภาวะดีหรือร้าย  ว่าที่จริง  ปีเตอร์ ลินช์บอกว่า  หุ้นที่ “ดีมาก ๆ” กลุ่มหนึ่งก็คือ  “Good Company in Bad Industry”  เหตุผลก็คือ  ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ “เลวร้าย” หรือกำลังตกต่ำนั้น  การแข่งขันมีน้อย  หลาย ๆ  บริษัทต้องถอนตัวออกไปหรือ  “เจ๊ง”  ทำให้บริษัทที่ดีนั้นกินส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นและทำกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ตัวอย่างในสหรัฐก็คือเรื่องของธุรกิจพรมปูพื้น เป็นต้น

ส่วนตัวผมเองนั้น  ผมชอบดูทั้งแบบ Top Down และ Bottom Up  หรือพูดง่าย ๆ  ดูทั้งสองด้าน  ผมคิดว่าปัจจัยของภาพใหญ่นั้น  มีส่วนสำคัญสำหรับการลงทุนไม่น้อยไปกว่าภาพเล็ก  ความคิดผมก็คือ  VI ระดับเซียนหรือตำนานนั้น  ส่วนมากอยู่และลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่เจริญแล้วมานานแต่ที่สำคัญก็คือ  เป็นประเทศที่  “ภาพใหญ่”  นั้นดีต่อเนื่องมาตลอดหลายสิบหรือเป็นร้อยปีมาแล้ว  จะมีก็แต่ช่วงสั้น ๆ  ที่ภาพใหญ่แย่เช่นช่วงสงครามโลกหรือสงครามใหญ่อย่างเช่นสงครามเวียตนามหรือเกาหลีที่กระทบภาพใหญ่โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในบางช่วง  แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ  ระบบโครงสร้างการปกครอง สังคมและกฎหมายของอเมริกานั้นไม่ใคร่มีปัญหาและดีขึ้นตลอดเช่นเดียวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ดังนั้น  แม้ในบางช่วงที่ภาพใหญ่แย่  แต่ถ้าคุณลงทุนในหุ้นที่ดี  ผลลัพธ์ก็มักจะออกมาดีเสมอจนคุณไม่ต้องสนใจเรื่องภาพใหญ่หรือเศรษฐกิจเลย  แต่ในสังคมหรือตลาดหุ้นอื่นที่ภาพใหญ่ไม่ดี  ผมคิดว่าการลงทุนโดยมองแต่ภาพเล็กนั้นค่อนข้างอันตราย  ในตลาดหุ้นอย่างญี่ปุ่นหรือในยุโรปหลาย ๆ ประเทศ  หรือในลาตินอเมริกา  ที่เศรษฐกิจตกต่ำมานาน  การลงทุนแบบมองแต่ตัวหุ้นนั้นคงทำกำไรได้ยาก

  สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของการลงทุนที่มองเฉพาะภาพกลางกับภาพเล็กนั่นก็คือ  ระหว่างบริษัทกับภาพของอุตสาหกรรมและเป็นการมองในระดับโครงสร้างมากกว่าสถานการณ์หรือภาวะของอุตสาหกรรม   แนวความคิดพื้นฐานของผมก็คือ  อุตสาหกรรมหรือที่ถูกต้องก็คือธุรกิจนั้น  มีคำว่า  “ธุรกิจที่แย่”  หรือ  “ธุรกิจที่ดี”  ธุรกิจที่แย่นั้นในนิยามของผมก็คือธุรกิจที่โดยรวมแล้วทำผลกำไรหรือผลตอบแทนเทียบกับเงินลงทุนต่ำ  ยิ่งต่ำมากก็ยิ่งแย่  โดยที่ธุรกิจที่แย่นั้นมักจะขายสินค้าที่มีการแข่งขันสูงโดยลักษณะของธุรกิจ  และการที่มีการแข่งขันสูงนั้นเนื่องจากคนซื้อมีอำนาจการต่อรองสูงเพราะคนขายนั้นพร้อมที่จะเข้ามาเสนอขายตลอดเวลาถ้าการขายนั้นยังมี “กำไร” ที่คุ้มกับ  “ต้นทุน” การผลิตสินค้าแม้ว่าอาจจะไม่สามารถชดเชยต้นทุนทั้งหมดซึ่งรวมถึงต้นทุนที่  “คงที่”  เช่น ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร์เป็นต้น

  ถ้ามองอย่างหยาบ ๆ  ธุรกิจที่ “แย่มาก” นั้น  น่าจะเริ่มจากธุรกิจที่ขายสินค้าที่แข่งขันกันด้วยราคาเป็นหลักและสินค้านั้นมีตลาดที่เล็กลงเรื่อย ๆ   เช่นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ส่งออกตลาดโลกและเป็นสินค้าที่ประเทศไทยเสียเปรียบทางด้านต้นทุนเนื่องจากเหตุผลทางด้านค่าแรงงานและภาษีอาทิเช่น  สิ่งทอ หรืออาจจะรวมถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีบางอย่าง  ในกรณีแบบนี้  ก็เป็นเรื่องที่ยากมากที่บริษัทจะยังดีอยู่ได้แม้ว่าบริษัทนั้นจะเป็นบริษัทที่ดีเยี่ยมในอุตสาหกรรม  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือผลิตภัณฑ์สิ่งทอของเบิร์กไชร์ที่เป็น “บริษัทสิ่งทอที่ดีเยี่ยม” ของบัฟเฟตต์แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงเนื่องจากมันอยู่ในอุตสาหกรรมที่ “แย่มาก” เกินกว่าที่จะรับไหว  ในตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมคิดว่าเรามีบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่แย่มากไม่น้อย  ซึ่งสำหรับผมแล้ว  ผมก็มักจะ “ขอบาย”  หรือไม่ขอเกี่ยวข้องสนใจลงทุนแม้ว่าบางบริษัทอาจจะ “ดีเยี่ยม”

  ธุรกิจที่ “แย่” แต่อาจจะไม่มากนั้น  ผมนิยามคร่าว ๆ  ว่าเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ผู้ซื้อไม่ได้มองที่ราคาสินค้าเป็นหลักแต่ดูคุณภาพด้วย  แต่ทั้งสองอย่างนั้นก็มักจะมีความแตกต่างกันน้อยในแต่ละยี่ห้อของสินค้า    นอกจากนั้น  ผู้ขายเองก็ไม่ขายในราคาที่ต่ำจนไม่มีกำไรหรือไม่มีมาร์จิน  ว่าที่จริงในบางผลิตภัณฑ์นั้น  ส่วนต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุนแปรผันหรือต้นทุนโดยตรงของการผลิตอาจจะสูงด้วยซ้ำ  แต่สิ่งที่ทำให้มันเป็นธุรกิจแย่ก็เพราะว่ามีคนขายหรือผู้ให้บริการเข้ามาเสนอสินค้าได้อย่างแทบไม่จำกัด  และผู้เล่นรายใหม่นั้นต่างก็สามารถเสนอสินค้าได้ในราคาและคุณภาพที่ไม่ต่างจากคนที่ขายอยู่มากนัก  ผลก็คือ  มีการแข่งขันที่สูงมากตลอดเวลาในอุตสาหกรรมซึ่งทำให้คนที่ “ไม่เก่ง” นั้น  บ่อยครั้งก็อยู่ไม่รอด  แต่ก็จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแทนที่ตลอดเวลา  ดังนั้น  การทำกำไรสูง ๆ ในอุตสาหกรรมโดยรวมก็ทำไม่ได้  อย่างไรก็ตาม  ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่แย่แบบนี้ก็อาจจะมี “บริษัทที่ดี” หรือดีเยี่ยมสามารถทำกำไรได้สูงหรือสูงมาก  บางทีต่อเนื่องยาวนานเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  ได้  เพราะสามารถทำ “โมเดลธุรกิจ” ที่ทำให้ตนเอง “ได้เปรียบอย่างถาวร”  ในการแข่งขันกับคู่แข่ง

  ตัวอย่างของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่แย่นั้น  น่าจะรวมถึงธุรกิจขายอาหารภัตตาคารที่มีผู้เล่นมากมายและแข่งขันกันได้หมด  อย่างไรก็ตาม  บริษัทที่ดีหรือดีเยี่ยมอย่างในอเมริกา เช่น หุ้นแมคโดนัลหรือเคเอฟซีนั้น  ก็เป็นบริษัทที่ดีเยี่ยมที่สามารถทำกำไรได้มโหฬารและถือว่าเป็นซุปเปอร์สต็อกได้  ธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์ที่ถือว่าเป็นธุรกิจที่แย่เพราะมีร้านเฟอร์นิเจอร์มากมายที่เปิดขายและสามารถแข่งขันได้พอ ๆ  กันหมด  แต่บัฟเฟตต์ก็มีหุ้นเนบราสกาเฟอร์นิเจอร์มาร์ทและอีกหลายบริษัท  เช่นเดียวกัน ธุรกิจโรงงานผลิตชิ้นส่วนป้อนให้อุตสาหกรรมก็น่าจะถือว่าเป็นธุรกิจที่แย่  แต่บัฟเฟตต์ก็เพิ่งลงทุนซื้อหุ้นครั้งใหญ่ที่สุดของเขาในบริษัท Precision Castparts     ใช้เงินถึง 37.2 พันล้านล้านเหรียญ เนื่องจากนี่คือบริษัทที่ดีเยี่ยมในอุตสาหกรรมแย่นี้เพราะมันผลิตชิ้นส่วนของเครื่องบินที่บริษัทอื่นยากที่จะเข้ามาแข่งขันได้

  ธุรกิจที่แย่มากแต่ก็อาจจะมีบางบริษัททำได้ดีในต่างประเทศเช่น การบินที่แทบทุกบริษัทไม่มีกำไรหรือขาดทุนแต่หุ้นเซ้าท์เวสต์แอร์ไลน์  สายการบินแบบโลว์คอสท์สายแรก ๆ ของโลกทำกำไรได้ดี  อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น  สายการบินโลว์คอสท์ก็มีเพิ่มขึ้นมากและการทำกำไรในธุรกิจแย่นี้ก็ยังลำบากอยู่มาก  ดังนั้น  ถ้าเราพบว่าหุ้นที่เราลงทุนเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดี  มีการบริหารที่ดี  แต่อยู่ในธุรกิจที่แย่  เราก็ต้องวิเคราะห์ว่าบริษัทมีปัจจัยอะไรที่ทำให้มันสามารถทำผลงานที่ยอดเยี่ยมและปัจจัยนั้นน่าจะอยู่นานแค่ไหน  ถ้าตรวจสอบดูแล้วพบว่ามันเป็นปัจจัยที่คงทนและคู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้มันก็เป็นหุ้นที่เราจะถือยาวและให้คุณค่าหรือให้ค่า PE สูงขึ้นได้บ้าง    แต่ถ้าดูแล้วพบว่ามันเป็นปัจจัยที่บริษัทได้เปรียบชั่วคราวและไม่ช้านานคู่แข่งก็จะเข้ามาเลียนแบบได้  แบบนี้เราก็ต้องระวังและไม่ให้มูลค่าหรือให้ค่า PE ที่สูงเกินไป  เพราะในไม่ช้า  ความได้เปรียบก็จะหายไปและบริษัทก็จะไม่สามารถรักษากำไรที่ดีนั้นไว้ได้เพราะมันอยู่ในอุตสาหกรรมที่แย่  ตัวอย่างของอุตสาหกรรมที่มีลักษณะนี้ในตลาดหุ้นไทยนั้นก็คือ  ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายที่มีผู้เล่นมากมายแต่หา “ผู้ชนะ” ที่ถาวรยาก  เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรมที่ผมคิดว่าไม่ใช่ธุรกิจที่ดีหรืออาจจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่แย่ด้วยซ้ำเนื่องจากการแข่งขันที่มากแต่ก็มีบริษัทที่ดีที่ทำกำไรได้ดี  เพียงแต่ผมคิดว่าปัจจัยการแข่งขันนั้นไม่ได้มีความได้เปรียบอะไรที่ถาวรที่จะทำให้มันสามารถมีค่า PE ที่สูงมาก ๆ  ได้

Sunday, September 6, 2015

Sharing is Megatrend / วีรพงษ์ ธัม

 
    หนึ่งธุรกิจที่เป็น Megatrend ใหม่ในโลกยุคนี้ที่คนไทยพูดถึงกันไม่บ่อยนัก คือธุรกิจ “แบ่งปัน” ทรัพยากรด้วยกัน ตั้งแต่มนุษย์มีอารยธรรม มนุษย์ก็ได้เรียนรู้ถึงประโยชน์ของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เรามีบ่อน้ำอยู่กลางหมู่บ้าน มีโรงอาบน้ำที่ใช้ด้วยกัน มีการแบ่งกันทำอาชีพตามความถนัด มีจุดนัดพบเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรอย่างจตุรัสหรือลานของประชาชน พอมายุคที่เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้สินค้าราคาถูกลงอย่างรวดเร็ว เราก็เอาทุกอย่างเข้ามาอยู่ในบ้านตัวเอง จนกระทั่งเราก็มาถึงจุดหนึ่งที่มนุษย์เริ่มมองไปไกลกว่ารุ่นตัวเอง มองไปถึงอนาคต มองเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน เหตุผลหลักคือโลกมีทรัพยากรจำกัด แต่มนุษย์มีความต้องการไม่จำกัด ทำให้แนวคิด Collaborative Consumption หรือการบริโภคทรัพยากรด้วยกันเกิดขึ้น

            เรื่องนี้เริ่มพูดคุยและพัฒนาอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ยุคที่อินเตอร์เน็ตและดิจิตอลเข้ามาในชีวิต เป็นความคิดที่ TIMES magazine ยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในสิบความคิดที่เปลี่ยนโลก แนวคิดหลักของ Collaborative Consumption คือ ทรัพยากรบางอย่างเราไม่ได้ใช้ตลอดเวลา หลาย ๆ อย่างมีเวลาว่าง หรือ Idle Time จำนวนมาก ทรัพยากรเหล่านี้แทนที่จะทิ้งไว้เฉย ๆ ก็หา “วิธีการจัดการ” เพื่อแบ่งปันไปสู่ผู้ที่ต้องการใช้ มาถึงวันนี้ Sharing Business ขยายตัว พร้อม ๆ กับโอกาสใหม่ ๆ จำนวนมาก และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Economy

            ตัวอย่างของ Sharing Business มีมากมาย ผมจะลองยกตัวอย่างบางส่วนเช่นในธุรกิจโรงแรม ในอดีตเราพึ่งพิงการให้ “ดาว” สำหรับการเลือกพักโรงแรมต่าง ๆ จน Tripadvisor เริ่มเป็นศูนย์กลางการแบ่งปัน “ข้อมูล” มีการให้คะแนนกันโดยใช้ประสบการณ์ผู้พักจริง ๆ จนเริ่มขยายผลมาเป็นธุรกิจการจองโรงแรมโดยใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็น “มูลค่าเพิ่ม” ของธุรกิจ หลังจากนั้นก็เกิดธุรกิจแบ่งปัน “ที่พัก” อย่าง Airbnb ใครมีห้องว่าง ๆ ก็สามารถหาประโยชน์จากการปล่อยเช่าได้ หรือแบ่งปันที่พักเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนใหม่ผ่าน Couchsurfing หาคนมาแชร์ที่พักด้วย Easyroommate หรือแม้กระทั่งแบ่งปันหนังสือหรือ Textbook ด้วยกันผ่าน

            นอกจากนั้นยังมีการแบ่งปันสิ่งของอื่น ๆ ที่เป็น “ทรัพยากรการผลิต” เช่นแบ่งปัน “ที่ทำงาน” จนเกิดแนวคิด Co-Working Space ขึ้นมากมาย อาจจะเป็นรูปแบบจริงจังเหมือน Office อย่าง Regus จนกระทั่งเป็นบ้าน เป็นร้านกาแฟ นอกจากที่ทำงาน แบ่งปันพื้นที่ขายของ (e-commerce) อย่าง Alibaba หรือ eBay แบ่งปันพาหนะ ตั้งแต่จักรยานยนต์ จนไปถึงรถยนต์ส่วนตัวที่แทนที่จะจอดเฉย ๆ ก็มาสร้างธุรกิจอย่าง Uber (ที่จริงอีกมุมหนึ่งบริษัทอย่าง Uber ก็แชร์เวลาจากคนขับ เป็น “พนักงานบริษัท” Uber ชั่วคราวด้วย) ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าใครไม่มี “ทุน” ทำธุรกิจ ก็สามารถเข้าไปหาทุนได้ด้วยตัวเองผ่าน Crowdfunding อย่าง Kickstarter ได้ การแลกเปลี่ยนทำให้โลกหมุนเร็วมาก เพราะคนที่ส่งสารและรับสารเข้าถึงกันอย่างรวดเร็วจนเกิด Feedback Loop ที่เร็วกว่าเดิมหลายร้อยเท่าตัว การพัฒนาแนวคิดต่าง ๆ ในยุคนี้จึงมีข้อจำกัดลดลงอย่างมาก

            สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เอื้อประโยชน์ให้วงการ Freelance เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะข้อจำกัดในการทำงานลดลง ข้อจำกัดในการใช้ทุนในการทำธุรกิจลดลง คนไม่กี่คนก็สามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่ยอดเยี่ยมได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานภายใต้บริษัทใหญ่ ๆ ที่มีพนักงานหลายร้อยหลายพันคน และด้วย Ecosystem แบบ Sharing Business นี่เองที่ทำให้ธุรกิจ STARTUPS เติบโตอย่างก้าวกระโดด อันที่จริงสิ่งมหัศจรรย์ของโลกก็เริ่มต้นแบบนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ Steve Jobs สร้าง APPLE จากโรงรถ แต่ธุรกิจกว่าจะเติบโตต้องใช้เวลายาวนานมาก แตกต่างจาก Startups ใหม่อย่าง Xiaomi ในยุคนี้ที่ใช้เวลา 5 ปีก็มียอดขาย 15 Billions และคาดว่ามีมูลค่าตลาดถึง 46 Billion USD

            Airbnb กำลังทำ IPO เข้าตลาดหุ้นด้วยมูลค่าการตลาด 25.5 Billion USD (สูงกว่าเครือข่ายโรงแรมอย่าง Hyatt เสียอีก) หรือ Uber กำลัง IPO ด้วยการคาดหมายมูลค่าสูงถึง 50 Billion USD ไม่มีใครตอบได้ว่านี่คือฟองสบู่หรือไม่ แต่นี่คือเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ถัดจาก Dotcom ที่เติบโตเร็วมาก ในประเทศไทย ก็มีคนรุ่นใหม่ริเริ่มสร้างธุรกิจเหล่านี้ นี่คือโอกาสใหม่ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ การสร้างกฎระเบียบที่เอื้อ เพราะสิ่งนี้เป็น Cluster ธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนธุรกิจดั้งเดิม และเราก็หวังว่ามันจะเป็นฐานในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสิ่งที่เรามีอยู่ ใครจะไปรู้ว่า สิ่งที่ประเทศไทยจะ “แบ่งปัน” ให้โลกในอนาคต อาจจะต่อยอดไปไกลกว่าที่เราเคยทำอยู่มากมายก็เป็นได้