Tuesday, December 29, 2015

ความเจ็บปวดและบทเรียนของบัฟเฟตต์ / โดยดร.นิเวศน์


ประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับวอเร็นบัฟเฟตต์ที่คนส่วนใหญ่ได้รับรู้นั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเรื่องของความสำเร็จ  จรรยาบรรณทางธุรกิจ  และก็การใช้ชีวิตส่วนตัวที่ดีงาม  อุปสรรคในชีวิตของเขาเองก็ได้รับการกล่าวขวัญถึงไม่น้อยแต่ก็เป็นเรื่องของการต่อสู้และฝ่าฟันอุปสรรคจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  ถ้าจะพูดว่าเขานั้นเป็น  “เทพ” ที่ไม่เคย “ด่างพร้อย” ในทุกเรื่องสำหรับคนจำนวนมากก็คงจะไม่ผิด  อย่างไรก็ตาม  คนที่ “ผ่านร้อนผ่านหนาว” มาถึง 85 ปีใน “สมรภูมิ” ที่มีการ “สู้รบ” ที่รุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งนั่นคือตลาดหุ้นและโลกของธุรกิจนั้น  มันก็ “เป็นไปไม่ได้” ที่เขาจะไม่เคย  “เจ็บตัว” หรือ  “ทำผิด” อย่างหนักจนเขาเองต้องจดจำเป็นบทเรียนเพื่อที่จะไม่ให้มันเกิดซ้ำ  เพราะเขารู้ว่าถ้ามันเกิดขึ้นอีก  เขาอาจจะ “ตาย” หรือ  “ปางตาย” ได้  และต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันน่าจะเป็น  “ความเจ็บปวด” ที่เกิดขึ้นในชีวิตของบัฟเฟตต์และหลายเรื่องน่าจะเป็น “บทเรียน” ที่เขาคงจำขึ้นใจ

เรื่องแรกก็คือการซื้อหุ้นครั้งแรกของเขาเมื่ออายุ 11 ขวบ ในหุ้น Cities Service ร่วมกับพี่สาวในราคาหุ้นละ 38 เหรียญเพราะเขาเห็นว่ามันถูกและมั่นใจว่าจะทำกำไรได้งดงาม   หลังจากซื้อแล้วราคาหุ้นกลับไหลลงไปถึงเกือบ 1 ใน 3 ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์  ในระหว่างนั้นพี่สาวเขาก็เฝ้าถามและ “กดดัน”เขามากแต่เขาก็ไม่ขายจนกระทั่งหุ้นปรับตัวกลับขึ้นมาเป็น 40 เหรียญซึ่งเขาก็ตัดสินใจขายไปทำกำไรได้ 2 เหรียญ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น  หุ้น Cities ก็ปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง 200 เหรียญ “บทเรียน” เรื่องนี้คงสอนให้บัฟเฟตต์กลายเป็นนักลงทุนระยะ “ยาวมาก” และไม่ขายหุ้นที่ดีมากไปเพียงเพราะกำไรที่ได้เพียงเล็กน้อย

เรื่องที่สองเกิดขึ้นเมื่อเขาอายุ 21 ปีและเป็น “เจ้าของ” ปั๊มน้ำมันชื่อ Sinclair ที่เขาซื้อมาร่วมกับเพื่อนคนหนึ่ง  เขา “ทุ่มเท” ให้กับกิจการนี้มาก  ว่ากันว่าในช่วงวันหยุดเขาถึงกับมาเช็ดกระจกรถให้ลูกค้าที่มาเติมน้ำมัน  แต่แล้วปั๊มนี้ก็  “เจ๊ง”  เพราะปั๊มน้ำมันยักษ์ใหญ่ Texaco มาเปิดฝั่งตรงข้าม  เขาขาดทุนไป 2,000 เหรียญ จากเงินทั้งหมด 9,600 เหรียญที่เขามีอยู่ในเวลานั้นซึ่งคิดแล้วเป็นการ “ขาดทุนหนักที่สุด” คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของการลงทุนของเขา  บทเรียนเรื่องนี้คงสอนให้บัฟเฟตต์เลิกคิดบริหารกิจการเองแบบผู้ประกอบการและเน้นการลงทุนเป็นหลักซึ่ง  “เปลี่ยนชีวิตเขา” อย่างสิ้นเชิง

เรื่องที่สามที่ทำให้เขาเจ็บปวดก็คือการเกิดเรื่อง “ฉาวโฉ่” ในบริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเงิน Salomon Brothers  เรื่องของเรื่องก็คือ ในปี 1987 ซึ่งเกิดวิกฤติการเงิน  บัฟเฟตต์ได้เข้าไปลงทุนซื้อพันธบัตร “ขยะ” ของบริษัทเป็นเงิน 700 ล้านเหรียญ  แต่หลังจากนั้นบริษัทก็ประกาศตั้งสำรองหนี้สูญจำนวนมากซึ่งทำให้พันธบัตรที่บัฟเฟตต์ถืออยู่ราคาตกและเขาขาดทุนไปถึง 1 ใน 3  แต่ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ  ในปี 1991 ซาโลมอนบราเดอร์ก็ถูกจับได้ว่าทำผิดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การเทรดพันธบัตรกับภาครัฐและทำให้บริษัทตกอยู่ในภาวะเกือบล้มละลายเพราะบริษัทมีหนี้ถึง 37 เท่าของเงินทุน  สุดท้ายบัฟเฟตต์ต้องเข้าไป “กู้” โดยเข้าไปรับหน้าที่เป็นประธานของบริษัท  เขาต้องเข้าไปนั่งทำงานประจำซึ่งเขาบอกว่ามัน  “ไม่สนุกเลย” แต่บริษัทก็รอดมาได้และเงินลงทุนของเขาก็ได้กำไรกลับมางดงาม  แต่วันที่เขาลาออกจากตำแหน่งเป็นวันที่เหมือน “ยกภูเขาออกจากอก”

เรื่องที่เขา “เจ็บ” ต่อมาน่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนในหุ้นเทสโก้  บริษัทค้าปลีกใหญ่ที่สุดของอังกฤษและอันดับ 3 ของโลกเมื่อเร็ว ๆ นี้  บัฟเฟตต์น่าจะซื้อหุ้นเทสโก้ตั้งแต่ปี 2012 และกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในพอร์ทของเขา  ต่อมาเขาก็เริ่มได้ “กลิ่น” ไม่ดีในบริษัทและทยอยขายหุ้นได้กำไรมาบ้างแต่เขาไม่ได้รีบขายเร็วพอ  จนในที่สุดผลประกอบการของบริษัทก็เริ่มแย่ลงและมีการประกาศว่าบริษัทถูกจับได้โดย กลต. ของอังกฤษ ว่ารายงานกำไรผิดจากความเป็นจริง หุ้นของบริษัทตกลงมาอย่างหนัก  เหตุผลใหญ่นอกจากเรื่อง “ฉาวโฉ่”  แล้วก็คือ  ความสามารถในการแข่งขันและทำกำไรของกิจการแย่ลงไปมากเทียบกับคู่แข่ง  บัฟเฟตต์ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดในปี 2014 และขาดทุนไป 444 ล้านเหรียญ  นับเป็นการขาดทุนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเบิร์กไชร์  และน่าจะเป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีวันลืมของบัฟเฟตต์

เรื่องที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องที่ “คนอื่น” ทำเสียหายและเขา “เจ็บ”  แต่เรื่องที่ 5 นี้เป็นเรื่องที่เขาเองน่าจะ  “เจ็บปวด”  ไม่น้อยเพราะเป็นสิ่งที่เกิดกับบัฟเฟตต์เองในสมัยที่เขาเริ่ม “ดัง” แต่ยังไม่มาก  นั่นเป็นปี 1974-1976 ขณะที่บัฟเฟตต์อายุได้ 44-45 ปี  ที่เขาถูกกลต. สหรัฐจับฐาน  “ปั่นหุ้น”  เรื่องของเรื่องก็คือ  บัฟเฟตต์กำลังเข้าไปซื้อกิจการของบริษัทเล็ก ๆ  แห่งหนึ่งและเขาสัญญากับผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทว่าราคาหุ้นจะไม่ต่ำกว่าราคาหนึ่งที่กำหนด   ดังนั้น  เขาก็เลย “ทำให้มั่นใจ” ว่าราคาหุ้น “ต่ำบาท” ตัวนี้จะไม่ตกลงมาต่ำกว่าราคาที่ตกลงไว้  เขาทำอย่างไรนั้น  คนนอกคงไม่รู้  และเรื่องราวรายละเอียดที่พูดนี้ก็อาจจะไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์  ความเข้าใจของผมก็คือ  บัฟเฟตต์ไม่ได้รับหรือปฎิเสธข้อหา  แต่ยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 115,000 เหรียญ ให้กลต. และเรื่องราวการ “ปั่นหุ้น” ก็จบลง  ผมเองคิดว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยปัจจุบันที่ “กระแส”  สังคมผ่านระบบสื่ออินเตอร์เน็ตมาแรงมาก  เรื่องนี้อาจจะ “ดูไม่จืด”กรณี “ปั่นหุ้น” นั้น  ผมคิดว่าบัฟเฟตต์คง “กังวลมาก” และมันคงเป็น “บทเรียน” สำคัญที่ทำให้เขาพูดอยู่เสมอเรื่องธรรมาภิบาล  คำพูดของเขาที่ว่า  “มันใช้เวลา 20 ปีที่จะสร้างชื่อเสียง  แต่ใช้เวลาเพียง 5 นาทีที่จะทำลายมัน”  ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกรณีนี้ด้วย

เรื่องที่ 6 นั้น  ผมยกให้กับเรื่อง “ส่วนตัว”  ที่น่าจะทำให้บัฟเฟตต์ “เจ็บ” เรื่องแรกก็คือ  การที่เขาถูกมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปฎิเสธรับเข้าไปเรียนในระดับปริญญาโท  ซึ่งทำให้บัฟเฟตต์สมัครเข้าเรียนที่โคลัมเบียที่เบน เกรแฮม สอนอยู่แทน  ผมเองไม่รู้ว่าถ้าฮาร์วาร์ดรับ  บัฟเฟตต์จะเข้าไปเรียนไหม  และถ้าเป็นอย่างนั้น  เราจะรู้จักวอเร็น บัฟเฟตต์ ในวันนี้ไหม  แต่เชื่อว่าเขาก็คงจะ “เจ็บ” บ้างที่ถูกปฎิเสธ

เรื่องที่ 7 น่าจะเป็นเรื่องที่เขาถูกปฎิเสธอีกเช่นกันจาก เบน เกรแฮม เมื่อบัฟเฟตต์ขอทำงานกับเขาหลังจากเรียนจบโดย  “ไม่คิดเงิน”  ด้วยซ้ำเนื่องจากบัฟเฟตต์อยากที่จะเรียนรู้การลงทุนด้วยการทำงานกับอาจารย์  การที่เบน เกรแฮมปฎิเสธเป็นเพราะเขาต้องการรับคนยิวที่ถูก “กีดกัน” ในสมัยนั้น  อย่างไรก็ตาม  บัฟเฟตต์เองก็พยายาม “ตื๊อ” ขอทำงาน  โดยการติดต่อพูดคุยเรื่องหุ้นและการลงทุนกับเกรแฮมในระหว่างที่กลับไปทำงานกับบริษัทโบรกเกอร์ของพ่อที่โอมาฮา  ซึ่งทำให้ในที่สุดหลังจาก 1-2 ปี  บัฟเฟตต์ก็ได้มีโอกาสทำงานกับเกรแฮมจนเกรแฮมเกษียณ

เรื่องสุดท้ายที่น่าจะเป็นเรื่องที่ “เจ็บที่สุดในชีวิตส่วนตัว” ของบัฟเฟตต์ก็คือ  การที่เขา “แยกทาง”กับภรรยาซูซานหลังจากอยู่กันมา 26 ปี  แต่เอาเข้าจริง ๆ  แล้ว  ทั้งคู่ก็ไม่ได้หย่ากันตามกฎหมาย  ตรงกันข้าม  ซูซานเองกลับแนะนำผู้หญิงใหม่คือ Astrid Menks ให้เป็น “คนดูแล”  บัฟเฟตต์  และทั้งคู่ก็ยังออกงานสำคัญ ๆ  ด้วยกันเหมือนสามีภรรยา เวลาส่งการ์ดในวันเทศกาลสำคัญก็เซ็นต์ชื่อร่วมกันทั้งสามคน  ถ้าคนไม่ชอบก็อาจจะเรียกได้ว่า “สามคนผัวเมีย”  และเมื่อซูซานเสียชีวิต  บัฟเฟตต์ก็จดทะเบียนแต่งงานกับแอสทริดจนถึงทุกวันนี้  และนี่ก็คือพฤติกรรมที่  “ไม่ธรรมดา” ของบัฟเฟตต์ ที่หลายคนอาจจะไม่รู้