Tuesday, December 15, 2015

ธุรกิจเงินด่วน / โดยดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ธุรกิจเงินด่วน

ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยลดความ “ร้อนแรง” ลงมาตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงวันนี้  หุ้นที่ยังมีราคา “แพงมาก”  คือมีค่า PE และ PB สูงมากและปันผลต่ำมากนอกจากหุ้นในกลุ่มพลังงานทดแทนและหุ้นในตลาด MAI แล้วก็คือ  หุ้นในกลุ่มที่ผมจะเรียกว่า  “ธุรกิจเงินด่วน”

นิยามของธุรกิจเงินด่วนของผมก็คือ  ประการแรก  เป็นธุรกิจที่ “ปล่อยเงินกู้” เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือเอาเงินไปใช้อย่าง “เร่งด่วน”  อาจจะภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง  โดยที่วงเงินมักจะไม่ใคร่สูงนักและอาจจะมีหรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน  ประการที่สองก็คือ  คนที่มาขอกู้มักจะเป็นคนที่ไม่ได้มีรายได้เป็นรายเดือนอย่างแน่นอน  ส่วนมากน่าจะเป็นผู้ประกอบ “อาชีพอิสระ” หรือเป็นเกษตรกรที่ไม่มีเงินเดือนประจำ  หรือถ้าจะมองว่าเป็นผู้มี “รายได้ต่ำ” ก็อาจจะพูดได้  แต่นี่คงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว  เพียงแต่ว่าไม่ใช่กลุ่มนักธุรกิจหรือคนที่มีรายได้สูงหรือคนกินเงินเดือน  และประการสุดท้ายก็คือ  เป็นธุรกิจการเงินที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเนื่องจากกิจการไม่ได้กู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไป  โดยที่บริษัทเหล่านี้จำนวนมากก็เรียกตัวเองว่าเป็นบริษัท “ลีสซิ่ง” แต่บางบริษัทก็เรียกเป็นชื่อธรรมดา  อย่างไรก็ตาม  ในแง่ของการทำธุรกิจ  บริษัทเหล่านี้ก็คือบริษัทที่ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าต้นทุนเงินทุนของตนเอง  ความสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่การปล่อยกู้ให้ได้อัตราดอกเบี้ยสูงและกู้เงินจากคนอื่นหรือสถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ  นอกจากนั้น  ก็จะต้องพยายามไม่ให้มีหนี้เสียมาก  อีกประเด็นหนึ่งก็คือจะต้องพยายาม “เติบโต” โดยการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะทำกำไรให้มากขึ้น

มองจาก “ธรรมชาติ” ของธุรกิจแล้ว  นี่คือธุรกิจที่น่าจะเรียกว่า High Risk, High Return หรือธุรกิจที่น่าจะมีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนก็คาดว่าจะสูง  นั่นก็คือ  ถ้าโชคดีหรือสถานการณ์ทางธุรกิจเอื้ออำนวย  ผลตอบแทนการลงทุนก็จะสูงมาก  แต่ถ้าสถานการณ์เป็นลบ  นั่นก็คือเศรษฐกิจถดถอยลูกค้าประสบปัญหาทางการเงิน  ธุรกิจก็อาจจะขาดทุนรุนแรงได้  เหตุผลก็เพราะว่า  คนที่มากู้นั้น  มักจะมีรายได้ไม่แน่นอนและมีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายในบางช่วง  มีหนี้จำนวนมากเมื่อเทียบกับรายได้ของตน  นอกจากนั้นก็มักจะมีหนี้  “นอกระบบ” คือหนี้ที่กู้จากญาติมิตรและบุคคลธรรมดาที่ปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากด้วย  ดังนั้น  โอกาสที่คนมากู้จะไม่มีเงินมาใช้คืนตามกำหนดหรือกลายเป็น NPL ก็จะสูงกว่าปกติ  นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่าความเสี่ยงสูง

ในด้านของผลตอบแทนนั้น  เนื่องจากผู้กู้มักจะไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมโดยแบงค์ชาติได้เนื่องจากมีคุณสมบัติ “ไม่เพียงพอ” ที่จะกู้ได้  รวมถึงมักจะไม่มีข้อมูลรายได้และประวัติทางเครดิตในการชำระเงินกู้  ดังนั้น  เขาจึงยินดีที่จะจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าปกติ  ผลก็คือ  บริษัทจะมีกำไรในการปล่อยกู้สูงกว่าปกติถ้าลูกหนี้ไม่เสียหรือกลายเป็น NPL

มองคร่าว ๆ จากพื้นฐานและการดำเนินงานของ “ธุรกิจเงินด่วน” ดังที่กล่าว  เราก็อาจจะนึกว่า  ในยามนี้ที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะในกลุ่ม  “รากหญ้า” หรือผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัดต่างก็ประสบกับปัญหาเนื่องจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำและงานนอกภาคเกษตรเองก็ชะลอตัวลงมาก  ธุรกิจที่ปล่อยกู้ให้กับคนกลุ่มนี้ก็น่าจะประสบปัญหามีรายได้และกำไรลดน้อยลงไปมากคล้ายกับสถาบันการเงินในระบบทั่ว ๆ ไป   แต่ความจริงนั้นกลับตรงกันข้าม  บริษัทธุรกิจเงินด่วนกลับเฟื่องฟูมีรายได้และกำไรเติบโตขึ้นอย่างน่าประทับใจ  เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปสูงลิ่ว  บางบริษัทมีมูลค่าตลาดของหุ้นหรือ Market Cap. สูงกว่าแบ้งค์ขนาดเล็กและกลางบางแบ้งค์แล้วทั้ง ๆ ที่ขนาดของธุรกิจเล็กกว่ามากทั้งทางด้านของทรัพย์สิน  รายได้และกำไรของบริษัท  เหตุผลในแง่ของตลาดหุ้นก็คือ  รายได้และกำไรของบริษัทที่ทำธุรกิจเงินด่วนนั้น   เติบโตเร็วทั้งทางด้านของรายได้และกำไร  ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ  คุณภาพของลูกหนี้ก็ดีมาก  อัตราหนี้เสียนั้น  บางบริษัทอ้างว่าอยู่ในระดับแค่ 1%  บางบริษัทก็สูงกว่าแต่ก็ไม่สูงเท่าไรนัก  คิดเป็นต้นทุนแล้วน้อยเทียบกับส่วนต่างดอกเบี้ยรับที่สูงมาก  ดังนั้น  นักลงทุนจึงเข้าไปไล่ซื้อหุ้นจนทำให้ค่า PE ของหลายบริษัทสูงลิ่วกว่า 40-50 เท่า  เปรียบเทียบกับหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินอื่นที่มักจะไม่เกิน 10 เท่า

คำถามที่สำคัญก็คือ  กิจการของบริษัทเงินด่วนนั้นดีจริงหรือไม่?  และราคาหุ้นนั้นมีความเหมาะสมหรือเปล่า?  โดยเฉพาะถ้าเรา  “มองไปข้างหน้า”  เนื่องจากธุรกิจปล่อยเงินกู้นั้น  มี “ลักษณะพิเศษ” อย่างหนึ่งที่แตกต่างจากธุรกิจอื่นก็คือ  มันเป็นธุรกิจที่  “บินก่อน ผ่อนทีหลัง” นั่นก็คือ รายได้กับต้นทุนนั้นมาไม่พร้อมกันร้อยเปอร์เซ็นต์  วันที่ปล่อยเงินกู้นั้น  รายได้ก็จะมาทันทีร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ต้นทุนโดยเฉพาะค่าสำรองหนี้สูญนั้น  อาจจะตามมาภายหลังเมื่อลูกหนี้เริ่มเสียกลายเป็น NPL ซึ่งจะทำให้รายได้หายไปแต่รายจ่ายที่เป็นต้นทุนสำรองหนี้เสียกลับเพิ่มขึ้น

ความโดดเด่นข้อแรกที่กล่าวอ้างว่าธุรกิจ “โตเร็ว”  นั้น  ผมเองคิดว่าคงจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีมากไม่ได้  ธุรกิจการปล่อยเงินกู้นั้น  ผมคิดว่ามันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์อย่างหนึ่งที่เราจะ “ขาย”  ไม่ยาก  มีเท่าไรก็ขายหมดถ้าเราตั้งราคาต่ำหรือเท่ากับราคาตลาด  ความหมายก็คือ  ถ้าเราอยากจะปล่อยกู้มากขึ้น  เราก็มักจะปล่อยกู้ได้ง่ายถ้าเราไม่สนใจเรื่องความสามารถในการชำระคืนของลูกหนี้  ดังนั้น  บริษัทหรือหุ้นที่โตเร็วในธุรกิจแบบนี้จึงไม่ได้เป็นเครื่องแสดงว่าเป็นกิจการที่โตเร็วยกเว้นแต่ว่าโตเร็วและลูกหนี้มีคุณภาพดีและอัตราหนี้เสียไม่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ความโดดเด่นข้อสองก็คือ  อัตราหนี้เสียที่ต่ำมากและสำหรับบางบริษัทนั้น  ต่ำจนแทบ “ไม่น่าเชื่อ”  ข้อนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าการวัดอัตราหนี้เสียนั้นอยู่ในมาตรฐานเดียวกันกับบริษัทอื่นและสถาบันการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์หรือไม่  ประเด็นก็คือ  มาตรฐานการจัดชั้นหนี้ของบริษัทเป็นเรื่องของแต่ละบริษัทและไม่ถูกบังคับโดยแบ้งค์ชาติ  ดังนั้น  ที่บอกว่าต่ำจึงอาจจะไม่จริงถ้าถูกกำหนดให้ทำตาม “มาตรฐาน” เดียวกัน  แต่ถ้าดูจากเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดและประกาศให้นักลงทุนทราบ  บางทีเราก็อาจจะรู้สึกว่าบริษัทเองก็ตั้งมาตรฐานอย่าง  “อนุรักษ์นิยม”  พอสมควร  อาจจะดูว่าไม่ได้ต่างกับมาตรฐานที่ดีเท่าไรนัก  อย่างไรก็ตาม  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรที่ “ซ่อน”  อยู่ในรายละเอียดที่เราไม่รู้หรือไม่  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  วิธีการในทางปฏิบัติในเรื่องของการจัดการ เช่น  การปล่อยเงินกู้ การรับชำระเงิน  การปรับวงเงินกู้หรือตารางการชำระหนี้ ต่าง ๆ  เหล่านี้นั้น  ในบริษัทที่ทำธุรกิจเงินด่วนต่างก็มักจะใช้คน ๆ  เดียวกันทำซึ่งอาจจะทำให้การควบคุมนั้นไม่ถูกต้องได้เนื่องจากไม่มีการ Check & Balance หรือไม่มีการตรวจสอบโดยคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนที่ทำ  ผลก็คือ  หนี้ที่เสียบางส่วนอาจจะถูกปกปิดไว้ได้

ข้อถกเถียงหนึ่งของคนที่มองกิจการธุรกิจเงินด่วนในแง่ดีก็คือ  ธุรกิจเงินด่วนนั้น  เข้ามาแทนที่ตลาดเงิน  “นอกระบบ” ที่ใหญ่โตมาก  เงินด่วนนั้นถึงอย่างไรดอกเบี้ยก็ยังถูกกว่าเงินนอกระบบมาก  ดังนั้นมันขยายได้เร็วและมาก  นอกจากนั้น  ที่หนี้เสียน้อยก็เพราะว่าคนที่กู้นั้น  เขาก็ไม่ต้องการที่จะทำให้เครดิตของตนเองเสียเพราะนี่เป็นแหล่งเงินที่มีต้นทุนถูกที่สุดสำหรับเขา  เหนือสิ่งอื่นใด  พนักงานที่ปล่อยกู้รู้จักลูกค้าเป็นอย่างดีสามารถที่จะตามทวงหนี้ได้ไม่ยากถ้ามีปัญหา  ดังนั้น  การที่ตัวเลขต่าง ๆ  ของธุรกิจเงินด่วนดีกว่าสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้แบ้งค์ชาติจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ

ทั้งหมดนั้น  ผมฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าจะแย้งอย่างไร  ผมเพียงแต่รู้สึกว่าถ้ามัน  “Too good to be true” หรือ “ดีเกินกว่าที่จะเป็นเรื่องจริง”  และเมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้น  ผมก็นึกถึงคำพูดที่ตามมาจาก  “ผู้รู้”  ที่มีประสบการณ์สูงที่บอกว่า  “It’s probably is” คือ “มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น” คือมันคงไม่ใช่เรื่องจริง     เรื่องนี้เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า  ธุรกิจเงินด่วนนั้นดีจริง ๆ หรือไม่? และราคาหุ้นนั้นแพงเกินไปหรือไม่?