Monday, December 21, 2015

ลงทุนปี 2559 / โดยวีระพงษ์ ธัม



ปีนี้เป็นปีที่หุ้นหลายกลุ่มและนักลงทุนต่างลำบากกันถ้วนหน้า นักลงทุนที่ถือหุ้นประเภทบลูชิพอย่างธนาคารก็มีผลขาดทุนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ หุ้นสื่อสารที่ปกติเป็นพระเอก “หุ้นปันผล” ก็ทำให้นักลงทุนที่หวังเงินปันผลยามเกษียณเจ็บตัวกันมากมาย หุ้นพลังงานน้ำมันมีราคาปรับตัวลดลงจนไม่รู้ว่าราคาต่ำสุดจะไปอยู่ที่ไหน หุ้นอสังหาก็ประสบปัญหาชะลอตัวอย่างรวดเร็วตามกำลังซื้อจากตลาดล่างและลามขึ้นมาตลาดบน หุ้นส่งออกก็ประสบปัญหาการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นที่หนักเป็นพิเศษคือหุ้นประเภท “หุ้นซิ่ง” “หุ้น Turn Around” ก็ทำให้ความฝันรวยเร็วจบลงพร้อม ๆ การขาดทุนหนัก ที่กำไรสิบครั้งยังไม่พอการขาดทุนเพียงครั้งเดียว คำถามทุกปลายปีคือเราจะปรับกลยุทธ์อย่างไรในปีหน้า สำหรับปีนี้ผมอยากจะเล่าเป็นเรื่องเปรียบเทียบจากนิยายปรกรณัมกรีก

            เมื่อสองพันปีที่แล้ว ฮีเซียด นักกวีชาวกรีก ยุคเดียวกับที่เกิดมหากาพย์เรื่องอีเลียดและโอดิสซีย์ ได้เขียน Ages of Men เปรียบเปรยโลก ว่าถูกแบ่งออกเป็นห้ายุคหลัก ๆ โดยยุคแรกคือ “ยุคทอง” เป็นยุคที่เทพโครโนส (Cronos) ยังดูแลสวรรค์อยู่ ยุคนี้เป็นยุคที่มีพืชพรรณธัญญาหารสมบูรณ์ มีฤดูใบไม้ผลิที่ “ยืนยาว” ไม่สิ้นสุด มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ต้องทำงาน ไม่มีสงคราม ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล มนุษย์จึงขาดการเตรียมพร้อม

            หลังจากยุคทองสิ้นสุดลง ยุคเงิน และยุคทองแดงจึงเริ่มต้นขึ้น เป็นสมัยที่เทพซุส (Zeus) เข้ามาปกครองสวรรค์แทนที่โครโนส ซุสลดฤดูใบไม้ผลิให้สั้นลงและทำให้โลกมี 4 ฤดู มนุษย์ต้องรู้จักสร้างบ้านเพื่อป้องกันลมหนาว ทำการเพาะปลูกเพื่อเก็บไว้กินในช่วงที่ขาดแคลน มนุษย์เริ่มรู้จักคำว่า “กลัว” และมองโลกเป็นจริงมากขึ้น ทุกครั้งที่โลกมีความขาดแคลน มีความขัดแย้ง โลกจะเริ่มสับสนวุ่นวาย มีผู้คนอดอยาก เกิดสงคราม ต่อเนื่องไปถึงยุคที่เลวร้ายที่สุดคือยุคเหล็ก ซึ่งความศรัทธา ความเชื่อ ถูกความกังวลและความกลัวบดบังทั้งหมด เป็นยุคที่มนุษย์ไม่เหลืออะไร และหลังจากนั้นก็คงเป็นภาพจุดสิ้นสุดและการเริ่มต้นขึ้นใหม่ของผู้รอดหรือ “วีรบุรุษ”

            ในภาพยุคทองที่เกิดขึ้นสองครั้งล่าสุดในประเทศไทย คือช่วงที่เศรษฐกิจไทยรุ่งเรืองสุดขีดในช่วงทศวรรษ 2530 มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ทุกอย่างราบรื่นเหมือนวลีทอง “ไม่มีปัญหา” ของนายกสมัยนั้นคือพลเอกชาติชาย และยุคทองที่สองคือช่วงเศรษฐกิจไทยฟื้นฟูจากวิกฤตต้มยำกุ้งอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงปี 2546 ด้วยการส่งออก เกิดความรุ่งเรืองในประเทศจีนและกำลังซื้อในประเทศก็เติบโต ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น เงินสะพัด สำหรับภาคเศรษฐกิจจริงนี่อาจจะไม่เป็น “ทองแท้” เหมือนยุคแรก แต่สำหรับการลงทุนนี่ถือเป็นทศวรรษทองของนักลงทุน

            ยุคทองแรกของเศรษฐกิจไทยผ่านไปพร้อมกับวิกฤตเหมือนที่เราอ่านในหนังสือประวัติศาสตร์ แต่ยุคทองที่สองเหมือนจะจบลงพร้อมกับทิ้งคำถามว่า อะไรกำลังอยู่ในประวัติศาสตร์หน้าถัดไป ถ้าวิเคราะห์ “ภาพใหญ่” ในปีนี้เศรษฐกิจถดถอยเพราะกำลังซื้อ หนี้ครัวเรือน หรือปัจจัยต่างประเทศ แต่นี่คือวัฎจักรที่เปรียบเหมือนฤดูกาล ที่สุดท้ายมันก็จะกลับมา แต่ภาพต่อจากนี้ที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญมากกว่าคือเรื่อง “ภาพอุตสาหกรรม” ยุคนี้เกิดการแข่งขัน “เปิด” กับต่างประเทศโดยเฉพาะเพื่อนบ้าน AEC หลายอุตสาหกรรมเหนื่อยหนักกับการก้าวขึ้นมาของคู่แข่งอย่างประเทศกลุ่ม CLMV ในขณะเดียวกันหลายธุรกิจก็ได้รับประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ จากการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนต่างนี้จะมีผลมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นนี่คือปัจจัยแรกที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในระยะยาว

            เรื่องที่สองคือ “เรื่องการแข่งขัน” ซึ่งเหมือนจะกระทบกับภาพย่อยหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย ไม่ใช่ทุกธุรกิจจะดีอีกต่อไป เพราะเราไม่ได้อยู่ใน “ยุคทอง” อีกแล้ว ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ไม่มีผู้ชนะชัดเจน จะเริ่มลำบากจากการแข่งขัน ธุรกิจปัจจุบันแทบไม่มีเส้นเขตแดน เราจะเห็นกลุ่มทุนกลุ่มใหญ่ “ย้ายค่าย” ไปทำสิ่งอื่นนอกจากที่ตัวเองเคยทำมาก่อน เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หาซื้อได้ ดังนั้นธุรกิจไหนที่ไม่มี Barrier to Entry หรือคนมาใหม่กับคนเดิม “ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันเท่าไหร่” จะลำบาก แต่ธุรกิจที่มีความสามารถควบคุมทรัพยากรที่ได้เปรียบกว่า จะสามารถรักษาระดับการแข่งขันได้และนี่คือธุรกิจที่เราควรร่วมลงทุนด้วย

            อย่างไรก็ดีในยุคที่แย่ ๆ มีความพิเศษอยู่ที่ว่า เมื่อใดที่เศรษฐกิจ “ภาพใหญ่” กลับคืนมา คนที่แข็งแรงจะแข็งแรงยิ่งกว่าเดิม เพราะผู้อ่อนแอจะออกไปจากตลาด ไม่ต่างจากตลาดหุ้น ดังนั้นคำถามที่ถูกต้องอาจจะไม่ใช่ว่า “ปีหน้าลงทุนอะไรดี” แต่เป็นคำถามว่า “ความสามารถในการแข่งขันของคุณคืออะไร” เพราะการลงทุนคือธุรกิจที่การแข่งขัน “เสรี” มากที่สุดอย่างหนึ่ง ไม่มี Barrier to entry วันที่การแข่งขันสูงขึ้น ในสภาวะที่ตลาดแย่ลงหรือไม่ไปไหน นักลงทุนที่อยู่รอดคือผู้ที่มีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าคนอื่น