Thursday, June 9, 2016

ความเสี่ยงของหุ้น PE ต่ำ โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ความเสี่ยงของหุ้น PE ต่ำ 


นักลงทุนที่เป็น VI แบบดั้งเดิมที่เน้นลงทุนแต่หุ้นที่มีราคาถูกมากหรือหุ้นที่มีค่า PE ต่ำหรือต่ำมากโดยที่ไม่ได้มีรายการกำไรพิเศษนั้น  ควรที่จะต้องรู้ว่า  บ่อยครั้งหุ้นที่มีค่า PE ต่ำก็ไม่ใช่หุ้นที่จะปลอดภัยหรือน่าลงทุน  เหตุผลมีมากมาย  ประเด็นสำคัญก็คือ  เราต้องรู้ว่าบริษัทนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอะไร  แนวโน้มหรือวัฏจักรอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงไหน  สถานะของกิจการในอนาคตจะเป็นอย่างไร  เป็นต้น

เหตุผลข้อแรกที่ทำให้หุ้น PE ต่ำมีความเสี่ยงนั้นอาจจะเป็นเพราะบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรม Cyclical หรืออุตสาหกรรมที่มีวัฏจักรขึ้นลงเป็นรอบ ๆ  รอบละอาจจะเป็นปีหรือหลายปี   ในช่วงที่อุตสาหกรรมเป็น  “ขาขึ้น”  กำไรอาจจะสูงมากจนทำให้ค่า PE ต่ำมากและนั่นอาจจะทำให้เราเข้าไปซื้อหุ้น   แต่ความเสี่ยงก็คือ  เราไม่รู้ว่าวัฏจักรยังจะขึ้นต่อไปไหมและอีกนานเท่าไร  ถ้าเราซื้อและถือไว้แล้วพบว่ากำไรในช่วงต่อไปกำลังลดลง  ค่า PE ก็จะ “กลับทิศ” คือเพิ่มขึ้นและอาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   และนั่นอาจจะทำให้คนเริ่มขายหุ้นและขายหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จนในที่สุดราคาก็จะตกลงมาอย่างหนักเนื่องจากวัฏจักรกลายเป็น  “ขาลง”  สมบูรณ์แบบ  กำไรของบริษัทที่เคยสูงมากกลายเป็นขาดทุน  เช่นเดียวกัน  ราคาหุ้นที่เคยสูงมากตกลงมาแทบจะเป็น  “หายนะ”  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดที่ผ่านมาในตลาดหุ้นไทยก็คือบริษัทเดินเรือที่เคยทำกำไรมหาศาลเป็นเวลาติดต่อกันหลายปีก่อนหน้านี้  แต่ในระยะหลังกลับขาดทุน  ราคาหุ้นเคยขึ้นไปหลายเท่าโดยที่ค่า PE ก็ต่ำมากนั้น  ตกต่ำลงอย่างหนักในขณะที่ค่า PE กลับสูงลิ่ว

ธุรกิจที่เป็น Cyclical นั้นยังมีอีกมากมาย  ตัวอย่างก็คือธุรกิจปิโตรเคมีและที่เกี่ยวเนื่องเช่นพวกพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์จากพลาสติกเช่นแผ่นฟิล์มต่าง ๆ นั้นต่างก็เคย  Boom และ Bust หรือราคาสินค้าขึ้นเป็น “ฟองสบู่”  และ “แตก” มาเป็นระยะ  ซึ่งในระหว่างนั้นหุ้นก็ปรับตัวขึ้น  บางตัวขึ้นไปหลายเท่าในเวลาอันสั้น  แต่หลังจากนั้นก็ตกลงมาเท่า ๆ  กับที่ขึ้นไปหรือลงมามากกว่าเมื่อวัฏจักร์ของราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไปเป็นขาลง   ในกระบวนการนั้นก็อาจจะทำให้นักลงทุนบางคนเป็น “เศรษฐี”  ในขณะที่หลายคนกลายเป็น  “ยาจก”  ทั้ง ๆ  ที่เขาคิดว่าหุ้นนั้นมี PE ต่ำและเป็นหุ้นที่ “ไม่เสี่ยง”  อย่างไรก็ตาม  ก็จะมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า  นักลงทุนในตลาดหุ้นนั้นมักจะมีความจำสั้นมาก  พวกเขามักจะสนใจแต่เรื่องที่กำลังเกิดขึ้น  ความโลภทำให้คนลืมความเสี่ยง  นี่คือสัจธรรมและคงติดอยู่ในยีนส์ของคนเรามานานตั้งแต่มีมนุษย์

ข้อสองที่ทำให้หุ้นมี PE ต่ำ  บางทีต่อเนื่องมาหลายปีก็คือ  หุ้นตัวนั้นอยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรม  “ตกดิน” หรือ “Sun Set”  แล้ว   อุตสาหกรรมตกดินนั้นส่วนใหญ่ก็คืออุตสาหกรรมที่ประเทศไทย  “หมดความสามารถในการแข่งขัน”  เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น   ดังนั้น  ในอนาคตมันก็จะค่อย ๆ  เลิกกิจการไปเนื่องจากราคาสินค้าที่ขายมักจะต่ำแต่ต้นทุนการผลิตมักจะสูงจนทำให้ขาดทุนและการขาดทุนก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ  จนในที่สุดก็ต้องปิดกิจการ  และนี่ก็คือตอนท้ายของเรื่อง  แต่ในช่วงที่เพิ่งจะเริ่มเข้าสู่  Sun Set นั้น  หลาย ๆ  บริษัทก็จะยังมีกำไรและก็ยังมีกำไรต่อเนื่อง  ค่า PE ของหุ้นก็จะต่ำถึงต่ำมาก  บางทีเป็นเพราะราคาหุ้นถดถอยลงมา  แต่ถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้นและคิดว่ามันมีราคาถูกมากและอาจจะจ่ายปันผลดีด้วย  ผลสุดท้ายเมื่อกำไรเริ่มตกต่ำลงราคาหุ้นก็จะตกต่ำลงเรื่อย ๆ  และไม่มีทีท่าจะฟื้นได้เลย  การลงทุนก็อาจจะกลายเป็นหายนะได้  ตัวอย่างของหุ้นเหล่านี้น่าจะรวมถึงธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานสูงที่ต้องแข่งขันกับประเทศที่มีค่าแรงต่ำเช่นสิ่งทอและชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกบางอย่าง  เป็นต้น

ข้อสามที่ทำให้หุ้นมีค่า PE ต่ำโดยที่หลายคนก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้นก็คือหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลัง “อิ่มตัว” หรืออาจจะไม่โตแล้ว  หรือไม่ก็โตช้าลงไปมาก  ตัวอย่างของหุ้นกลุ่มนี้ก็น่าจะรวมถึงหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่โตช้าลงหรืออาจจะหยุดโตเนื่องจากประชากรคนไทยที่แทบจะไม่ค่อยเพิ่มแล้ว   ธุรกิจการเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหลักทรัพย์ที่การเพิ่มขึ้นของรายได้ในอนาคตน่าจะยากขึ้นเรื่อย ๆ  หรือธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ  ที่อาจจะต้องเผชิญกับการถดถอยหรือโตช้าลงของเศรษฐกิจไทยและโลกที่อาจจะต่อเนื่องไปอีกนานเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เน้นทางด้านดิจิตอลมากขึ้นเรื่อย ๆ  เทียบกับอุปกรณ์ที่จับต้องได้

หุ้นของกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังอิ่มตัวนั้นมีความเสี่ยงก็คือ  มันไม่โต  หรือบางทีก็ถดถอยลงเนื่องจากมันแพ้คู่แข่งในตลาดที่มีการแข่งขันสูงเนื่องจากผู้เล่นต่างก็ต้องแย่งตลาดที่ไม่โตกัน  และถ้าเป็นสถานการณ์ดังกล่าว  หุ้นตัวนั้นอาจจะมีกำไรลดลงหรือเพิ่มน้อยมากทำให้นักลงทุนไม่สนใจซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นไม่ไปไหนเป็นเวลานาน  ค่า PE ก็อาจจะมีแนวโน้มต่ำเช่นเดิมไปนานแบบ  “ต่ำเรื้อรัง”  เรียกว่าซื้อหุ้นอาจจะได้แค่ปันผล  แต่ถ้าโชคร้ายหุ้นที่ซื้อนั้นมีความสามารถต่ำกว่าคู่แข่ง  กำไรก็อาจจะลดลงและทำให้หุ้นตกลงตามไปด้วยแม้ว่าอาจจะไม่เป็นหายนะ  ดังนั้น  ความเสี่ยงของหุ้น PE ต่ำในกลุ่มนี้นั้นผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการ  “เสียโอกาส”  ของเงินมากกว่าประเด็นอื่น  อย่างไรก็ตาม  ถ้าหุ้นจ่ายปันผลสูง  เช่น ปีละไม่ต่ำกว่า 4-5%  นี่ก็อาจจะชดเชยการเสียโอกาสของเงินได้

ข้อสี่หรือกลุ่มที่สี่ที่มีค่า PE ต่ำนั้น   อาจจะเป็นเพราะว่านักลงทุนกลัวหรือคาดว่ากิจการทั้งหมดในอุตสาหกรรมนั้นกำลังจะมีปัญหา  รายได้และกำไรกำลังจะลดลงหรือไม่โต  ตัวอย่างชัดเจนก็คือกลุ่มแบ้งค์ที่คนกลัวว่าจะเกิดหนี้เสียที่จะทำให้ต้องสำรองมากขึ้นเช่นเดียวกับที่สินเชื่อก็จะไม่โต  ทั้งสองประเด็นนั้นมาจากการที่ภาวะเศรษฐกิจไทยที่โตช้าลงไปมากในช่วงเร็ว ๆ  นี้   ความเสี่ยงของการลงทุนซื้อหุ้นกลุ่มที่คาดว่ากำลังจะเผชิญกับปัญหาก็คือ  ปัญหามันเกิดขึ้นจริงและผลกระทบมันรุนแรงเกินคาดเนื่องจากการที่มันอาจจะเป็นทั้งระบบ  ในภาวะอย่างนั้น  หุ้นก็อาจจะตกลงมาหนักมากจนบางครั้งกลายเป็น  “หายนะ”

กลุ่มสื่อสารเองก็น่าจะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีค่า PE ต่ำลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ในการได้สิทธิ์ใช้คลื่นวิทยุที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับการแข่งขันที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมทำให้คนกลัวว่ากำไรของบริษัทในอุตสาหกรรมจะลดลงในอนาคต  ซึ่งความเสี่ยงถ้าเราซื้อหุ้นเหล่านี้ก็คือ  กำไรของบริษัทลดลงมากกว่าที่คิด  นอกจากนั้นอนาคตต่อไปก็อาจจะ “ไม่นิ่ง”  เนื่องจากมีความไม่แน่นอนของผู้เล่นใหม่ที่อาจจะเข้ามาได้อีกซึ่งจะทำให้การทำกำไรของบริษัทลดลง

ถ้าจะพูดโดยรวมแล้วผมเองคิดว่าความเสี่ยงของการลงทุนซื้อหุ้นที่มี PE ต่ำนั้นน่าจะน้อยกว่าการถือหุ้น PE สูงมาก  เหตุผลแรกก็คือ  ความคาดหวังในการลงทุนของนักลงทุนที่ซื้อหุ้น PE ต่ำนั้นมีไม่มาก  ดังนั้น  โอกาสผิดพลาดก็จะน้อยลง  ตัวอย่างเช่น  พวกเขาคิดว่าเศรษฐกิจแย่และหนี้เสียคงจะมากขึ้น   แต่หนี้เสียอาจจะไม่เลวร้ายเท่าที่คิด  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  แบ้งค์เองก็ตั้งสำรองหนี้เสียไว้ค่อนข้างมากอยู่แล้วที่จะรองรับความเสียหายได้อย่างเพียงพอโดยไม่ทำให้ผลประกอบการตกลงมาหนักเกินไป  เป็นต้น  เหตุผลต่อมาก็คือ  ราคาหรือมูลค่าของกิจการตอนที่เราซื้อหุ้นที่มีค่า PE ต่ำนั้น  มักจะไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจ  ดังนั้น  หากเกิดความผิดพลาด  หุ้นก็อาจจะตกลงมา  แต่อาจจะไม่มากนักเนื่องจากผลประกอบการของบริษัทก็ยังดีพอที่จะทำให้มีนักลงทุนสนใจที่จะซื้อ  เพราะอย่างน้อยปันผลที่จะได้ก็อาจจะคุ้มที่จะถือระยะยาว  เป็นต้น

ก่อนที่จะสรุปว่าเราควรซื้อหุ้น PE ต่ำมากกว่า PE สูง  ผมคงจะต้องบอกด้วยว่า  ผลตอบแทนถ้าทุกอย่างไม่ได้แย่แต่ดีมากนั้น  ในกรณีของหุ้น PE ต่ำก็อาจจะไม่ดีเท่าหุ้น PE สูง  บางทีเป็นเรื่องยากที่หุ้น PE ต่ำจะวิ่งขึ้นไปหลายเท่าตัวในเวลาอันสั้น   ความคาดหวังที่ต่ำนั้นมักทำให้คนไม่อยากเข้ามาเก็งกำไรและการดันราคาหุ้นให้สูงลิ่วในเวลาอันสั้นนั้นยาก  ดังนั้น  คนที่เล่นหุ้น PE ต่ำก็ต้องทำใจว่าผลตอบแทนจากหุ้น PE ต่ำนั้นจะต้องค่อย ๆ มาถ้าเราเลือกที่จะ “เสี่ยง” อย่างรอบคอบแล้วกับหุ้น PE ต่ำ

Friday, May 27, 2016

หลักการเลือกหุ้นของ วอเร็น บัฟเฟตต์ warren buffett / โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


การเลือกหุ้นลงทุนของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นได้รับการติดตามและศึกษามากมาย  หนังสือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมีมากจนนับไม่ถ้วน แต่ละเล่มก็พยายามที่จะเขียนให้มีความ “ซับซ้อน” และยากที่จะปฎิบัติเพื่อที่จะทำให้รู้สึกว่าคนธรรมดาจะเลียนแบบได้ยาก  มีแต่คนที่มีความสามารถแบบ วอเร็น บัฟเฟตต์ เท่านั้นที่จะทำได้หรือวิเคราะห์ได้ถูกต้องว่าหุ้นหรือบริษัทไหนที่ดีน่าลงทุน  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ถ้าบอกว่าหลักการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้นง่ายและธรรมดามาก  ใครจะอยากซื้อหนังสือมาอ่าน นอกจากนั้น  น้อยคนจะเชื่อว่าคนจะประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้ด้วยสิ่งที่ “ทำได้ง่าย ๆ” ไม่อย่างนั้นคนก็คงจะ “รวยกันไปหมด”  ซึ่งเป็นไปไม่ได้!   แต่ทั้งหมดนั้นสำหรับผมแล้วมันก็คงจะเป็นเรื่องที่คล้าย ๆ  กับหนังสือเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทั้งหลายที่มักจะพูดถึงวิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อนซึ่งมักรวมถึงการปฏิบัติตนด้วยวิธีการต่าง ๆ   การกินอาหารและอาหารเสริม บางทีก็พูดถึงฮอร์โมนและเครื่องมือ “มหัศจรรย์” ต่าง ๆ  ที่จะช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น   ทั้ง ๆ  ที่ความจริงอาจจะเป็นว่าหลักการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดอาจจะง่ายมากและมีเพียง 3-4 เรื่องที่ต้องทำ  เช่น  กินอาหารครบหมู่  ออกกำลังพอประมาณ  นอนให้พอ  และอย่าเครียด  เป็นต้น

          จากการติดตามบัฟเฟตต์มานานรวมถึงอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับบัฟเฟตต์จำนวนมากผมกลับพบว่าที่จริงแล้วหลักการเลือกหุ้นลงทุนของบัฟเฟตต์นั้น  “ธรรมดาและง่ายมาก”  มันคล้าย ๆ กับการรักษาสุขภาพ  ถ้าเราทำได้ 3-4 เรื่องอย่างที่กล่าว  เราก็จะมีสุขภาพที่ดีเยี่ยมได้แล้ว  ไม่ต้องไปหาสูตรอะไรที่ดู “ขลัง” หรือทำได้ยากเกินความสามารถ  สิ่งที่ต้องทำดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของ“วินัย” และการปรับใจหรือทัศนะคติมากกว่า  มาดูกันว่าอะไรคือหลักการสำคัญที่บัฟเฟตต์ใช้จริง ๆ  เกือบตลอดชีวิตการลงทุนของเขา  ว่าที่จริงเขา  “ประกาศ” มันอย่างเป็นทางการด้วยว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องการจากหุ้นหรือกิจการที่เขาจะลงทุน  และมันมีแค่ 4-5 ข้อเท่านั้น

            ข้อแรกก็คือ  มันต้องเป็นธุรกิจธรรมดา ๆ ที่เราเข้าใจ และถ้ามันมีเรื่องเกี่ยวข้องกับเท็คโนโลยีมาก ๆ บัฟเฟตต์บอกว่าเขาจะไม่เข้าใจ   ข้อนี้  ถ้าดูจากกิจการและหุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนมานานหลายสิบปีก็จะพบว่าหุ้นส่วนใหญ่ที่เขาลงทุนนั้นมักจะเป็นกิจการธรรมดา ๆ  จริง  เช่น  กิจการเกี่ยวกับอาหาร เช่น น้ำอัดลม  ช็อกโกแล็ต ซอสมะเขือเทศ  กิจการเครื่องใช้เช่นเฟอร์นิเจอร์  เครื่องแต่งตัวเช่น เครื่องประดับเพชร รองเท้า  ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์  กิจการเดินทางเช่น รถไฟ เครื่องบิน  ผู้ให้บริการเกี่ยวกับการงานคอมพิวเตอร์ของสำนักงานและบริษัท  และที่เริ่มมากในระยะหลังก็คือพลังงานและพลังงานทดแทน  เป็นต้น  และแน่นอนก็คือ  ธุรกิจประกันภัยที่เป็นฐานดั้งเดิมของบัฟเฟตต์

            ประเด็นสำหรับนักลงทุนก็คือ  บ่อยครั้งเรามักลงทุนซื้อหุ้นที่เราไม่เข้าใจธุรกิจอย่างแท้จริง 
คนจำนวนมากลงทุนซื้อหุ้นปิโตรเคมีทั้ง ๆ  ที่เราไม่รู้จักแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่เขาผลิต  เราซื้อหุ้นอิเล็คโทรนิกส์ทั้ง ๆ  ที่ไม่รู้ว่ามันเอาไปทำอะไร  เรามักซื้อเพราะว่าหุ้นกำลังปรับตัวขึ้นแรงและมีคนเชียร์ว่ามันจะเติบโตขึ้นอีกมากในปีนี้  บัฟเฟตต์บอกว่าเราต้องมี Circle of Competenceหรือความรอบรู้ของเราในแต่ละธุรกิจหรืออุตสาหกรรม  เราไม่จำเป็นต้องรู้มากมายไปหมดในอุตสาหกรรมจำนวนมาก  แต่เราต้องรู้ว่าขีดความรอบรู้ของเรามีแค่ไหน  ตัวอย่างเช่น  เราอาจจะบอกว่าเรารู้เรื่องของอาหาร  ค้าปลีก  บันเทิง  เพราะเราเป็นคนที่บริโภคหรือใช้สินค้าเหล่านี้เป็นประจำ  เป็นต้น  และถ้าเป็นอย่างนั้น  เราจะไม่ซื้อหุ้นในกลุ่มอื่นที่เราไม่รู้จักเลย  อย่าไปห่วงว่านั่นจะจำกัดตัวหุ้นที่จะลงทุนไปมากและอาจทำให้  “เสียโอกาส”  ในการลงทุน  จำไว้ว่าสำหรับนักลงทุนรายย่อยนั้น  เราต้องการหุ้นจำนวนน้อยมากที่จะทำให้เรารวยหรือประสบความสำเร็จ บัฟเฟตต์ถึงกับบอกว่าในชั่วชีวิตเรานั้น  เราอาจจะต้องการหุ้นเพียงแค่ 20 ตัวเท่านั้น

            ข้อสอง บริษัทจะต้องเป็นธุรกิจที่มีอนาคตระยะยาวที่ดี  และคำว่าดีก็หมายความว่ามันมีความสม่ำเสมอของกำไร  และกำไรนี้จะต้องมีความยั่งยืน  และเหตุที่จะมีความยั่งยืนก็เพราะว่ามันมีความได้เปรียบที่ยั่งยืน หรือ Durable Competitive Advantage /images/emoticons/mozilla_laughing.gifCA) ที่จะป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแย่งธุรกิจ  บัฟเฟตต์เองไม่ค่อยเน้นเรื่องของการเติบโตของกำไรมากนัก  มันแทบจะไม่ใช่เงื่อนไขของการลงทุนด้วยซ้ำ  บัฟเฟตต์น่าจะมีความคิดว่าธุรกิจนั้นถ้าโตเร็วหรือมีกำไรดีมาก  สุดท้ายก็จะต้องมีคนเข้ามาแข่ง  และถ้าบริษัทไม่มี DCA ก็อาจจะพ่ายแพ้และสุดท้ายแม้แต่กำไรเท่าเดิมก็อาจจะรักษาไว้ไม่ได้  และเท่าที่สังเกตเห็น  หุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนนั้นมักจะมีกำไรที่แน่นอนและมีการเติบโตบ้างเท่านั้น  ผมไม่ค่อยเห็นบัฟเฟตต์ลงทุนในหุ้นที่โตเร็วมากเลย

          สิ่งที่บัฟเฟตต์ได้จากหุ้นที่ไม่ได้โตเร็วมากก็คือ  กำไรที่แน่นอนและปันผลที่เขาจะนำไปลงทุน  อาจจะในธุรกิจเดิมถ้ามันยังทำผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นได้สูงเกิน 10% ขึ้นไป  หรือไม่ก็นำปันผลที่เป็นเงินสดไปลงทุนในธุรกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า  โดยวิธี  “ทบต้น”  ด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่า 10% ต่อปีไปเรื่อย ๆ  นี้เองที่ทำให้ความมั่งคั่งของบัฟเฟตต์สูงขึ้นเรื่อย ๆ  ติดต่อกันถึง 60 ปี

            นักลงทุนที่เน้นหุ้นที่โตเร็วแต่ไม่มีความสม่ำเสมอของกำไรและไม่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนนั้น  ผมคิดว่าในบางช่วงโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมนั้น  อาจจะทำกำไรได้ดีมาก แต่ในระยะยาวแล้ว  โอกาสผิดพลาดก็อาจจะสูงและทำให้ขาดทุนหนัก  โดยเฉลี่ยแล้ว  ผลตอบแทนก็อาจจะต่ำกว่าการลงทุนแบบของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ได้

            ข้อสาม บริษัทจะต้องดำเนินการโดยผู้บริหารที่ซื่อสัตย์และมีความสามารถ  แต่บัฟเฟตต์เองไม่ได้คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้บริหาร  ถ้าผู้บริหารไม่อยู่แล้วธุรกิจก็อาจจะมีปัญหาได้  เขาคิดว่าธุรกิจจะต้องดีโดยตัวของมันเองไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม  หากพบว่าผู้บริหารโกงหรือมีการฉ้อฉลในบริษัท  เขาก็คงไม่ลงทุนซื้อหุ้น  สำหรับประเด็นเรื่องนี้นั้น  ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์จะไม่มีเกณฑ์อะไรที่ชัดเจนว่าแบบไหนจึงจะเรียกว่า “ยอมรับไม่ได้”  สิ่งที่เห็นก็คือ  ถ้าเขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของบริษัทแล้วพบว่าผู้บริหาร  “โกง” เขาก็มักจะ “บีบ” หรือปลดผู้บริหารรายนั้น

            ข้อสุดท้ายสำหรับการเลือกซื้อหรือลงทุนในหุ้นก็คือ  ราคาหุ้นต้องมีเหตุผลหรือยุติธรรม  ถ้าพูดง่าย ๆ  ก็คือ  ค่า PE ไม่ควรจะสูงเกินไป  ในช่วงเร็ว ๆ นี้ดูเหมือนว่าค่า PE ที่บัฟเฟตต์จ่ายจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 20 เท่าเศษ ๆ  ว่าที่จริงกฎข้อนี้ในอดีต บัฟเฟตต์ ใช้คำว่า “ราคาหุ้นต้องน่าสนใจมาก ๆ”  นี่อาจจะเป็นเพราะว่าในระยะหลัง ๆ  การหาหุ้นถูกที่มีขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายในการซื้อหรือเทคโอเวอร์นั้นยากมาก  เขาจึงใช้คำว่าราคาต้องมีเหตุผลหรือไม่แพงแทนคำว่าราคาถูกหรือถูกมาก

            ก่อนจะจบนั้น  ผมอยากจะเสริมว่า  ในกรณีที่เป็นการเทคโอเวอร์บริษัท  สิ่งที่บัฟเฟตต์เน้นอีกข้อหนึ่งก็คือ  เขาต้องการกิจการที่สามารถทำกำไรได้ดีวัดจากผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต้องสูงพอและบริษัทควรจะไม่มีหนี้หรือมีหนี้น้อย  ในกรณีของหุ้นจดทะเบียนในตลาดเองนั้น  เขาอาจจะไม่ได้พูดย้ำหรือเน้น  แต่ผมคิดว่าเกณฑ์หรือแนวความคิดก็คงคล้ายกัน  อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ข้อนี้คงมีความยืดหยุ่นมากกว่าเรื่องอื่น


            เกณฑ์ 4 ข้อของบัฟเฟตต์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  ดูแล้วก็  “ธรรมดาและง่ายมาก”  แต่คนส่วนใหญ่หรือแม้แต่ “มืออาชีพ”  เองก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  การถือหุ้นยาวแบบ  “ไม่มีกำหนด”  และไม่สนใจหรือไม่หวั่นไหวกับการขึ้นลงของราคาหุ้นและดัชนีตลาด ประเด็นก็คือ  คนที่ใช้หลักการของบัฟเฟตต์นั้นมักจะมีเวลาที่กำหนด  เช่น  ต้องรายงานผลการลงทุนรายเดือนหรือรายปีหรือต้องการใช้เงินในเวลาที่กำหนด  บางคนเมื่อลงทุนซื้อไปแล้วหุ้นไม่ขึ้นในระยะเวลาที่หวังก็เริ่มไม่แน่ใจว่าหลักการของบัฟเฟตต์ยังใช้ได้ไหมในช่วงเวลานี้   บางคนอาจจะเชื่อหลักการแต่คิดว่าตนเองวิเคราะห์ผิดหรือไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะบอกได้ว่าหุ้นหรือบริษัทนั้นเข้าเกณฑ์มีความได้เปรียบที่ยั่งยืนจริงไหม  และสุดท้ายก็คือ  คนจำนวนมากไม่แน่ใจเรื่องราคาหุ้นว่า PE เท่าไรจึงจะเรียกว่ายุติธรรมหรือมีเหตุผล  ทั้งหมดนี้ทำให้คนจำนวนมากมักจะ  “อ้าง”บัฟเฟตต์  แต่ไม่ปฏิบัติตาม  เขารอไม่ได้หรือไม่อยากรอ  และในเกมของการลงทุนนั้น  คนรอไม่ได้ก็คือ  “ผู้แพ้”

Monday, May 23, 2016

อนาคตกับรถยนต์ไฟฟ้า / โดย คุณชาย มโนภาส คนขายของ



“ตู้เย็น” เริ่มเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประจำบ้านราวๆปี 1920 ในช่วง 15 ปีแรกของการออกสู่ตลาด ยอดขายของตู้เย็นนั้นโตแต่คิดเป็นมูลค่าไม่มาก ทั้งนี้เพราะปัจจัยเช่น ราคายังสูง ผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคย ทำให้มูลค่าตลาดยังเล็ก แต่หลังจากนั้น ในช่วงปี 1935-1960 ยอดขายตู้เย็นทั่วโลก ได้เติบโตขึ้นเป็น อย่างมาก เรียกว่าเป็นยุคทองของการขายตู้เย็น แต่ในยุคต่อมาตลาดดูเหมือนจะอิ่มตัว ทุกบ้านเริ่มมีตู้เย็น กันหมดแล้ว การเติบโตสูงๆในอดีตก็หมดไป ตลาดตู้เย็นกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ แต่ไม่ได้ขายดีเหมือน แต่ก่อน วัฏจักรทำนองนี้มีมาต่อเนื่องหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์สี ที่เริ่มในปี 1960 หรือ โทรศัพท์ มือถือ ในปี 1985 วงจรที่มีลักษณะที่ เติบโตในตอนต้น พุ่งขึ้นด้วยอัตราเร่งที่สูงมากในตอนกลาง และชะลอ ตัวลงในตอนท้ายนั้น เป็นวงจรที่ฝรั่งเขาเรียกว่า “S-Curve”

อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ ที่รู้จักกันดีในนาม Electric Vehicle (EV) เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่ถูกกล่าวถึงว่าอยู่ในช่วงต้นของ S-Curve ที่ตลาดกำลังเติบโต แต่ยังเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ขนาดของมูลค่าตลาดจึงยังไม่ใหญ่มาก ข้อมูลจากสถาบัน ZSW ของเยอรมันได้รวบรวมว่า จำนวน EV ในโลกในช่วง ปี 2013 อยู่ที่ หนึ่งแสนคัน ในปี  2014 ตลาดขยายตัว 100% ปี 2015 ขยายตัว 83% และในปี 2016 ตลาด EV คาดว่าจะขยายตัว 76% มาอยู่ที่ราวๆ 560,000 คัน แล้วบริษัทไหนที่ผลิต EV ออกมาแล้วมี ยอดขายสูงสุด? ใช่ค่ายรถยนต์ชื่อดังหรือเปล่า? คำตอบที่ได้อาจจะทำให้หลายคนแปลกใจ เพราะ TESLA ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตรถยนต์ราวห้าหมื่นคันในปี 2015 ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับแชมป์ระดับโลกอย่าง TOYOTA ที่ผลิตรถถึงสิบล้านคัน แต่ TESLA กลับได้เป็นแชมป์โลกในตลาดของรถไฟฟ้า ในด้าน ยอดขายเป็นตัวเงิน ไม่ใช่จำนวนคัน)



จากยอดขายรถยนต์ทั่วโลกในปี 2015 ที่ราว 83 ล้านคัน เราจะเห็นได้ว่าส่วนแบ่งการตลาดของ EV ตอนนี้อยู่ที่แค่ราว 0.4% เท่านั้นเอง TESLA ประเมินว่าในปีนี้จะสามารถส่งมอบรถยนต์ได้เกือบ 1 แสนคัน หรือโตขึ้น 100% จากปี 2015 สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ภายในปี 2040 รถ EV จะมีส่วน แบ่งราว 35% ของรถยนต์ทั้งหมด ทำไมตลาด EV ถึงมีการขยายตัวที่สูงมาก? ผมคิดว่าเป็นเพราะ หนึ่ง แรงจูงใจเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาลในหลายประเทศ อย่างเช่นที่นอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่มี สัดส่วนของ EV มากที่สุดในโลก ราว 25% ของรถใหม่ในตลาด รัฐบาลยกเว้นภาษี VAT 25%, ค่าผ่านทาง Toll Road) ฟรี, วิ่งเข้าเลนรถเมล์ได้ และ จอดรถในตัวเมืองได้ฟรี ประเด็นผลักดันที่สอง คือ ราคารถ EV ที่มีแนวโน้มที่ลดลง ทั้งนี้เนื่องจากราคาของ Lithium-ion Battery ซึ่งเป็นเหมือนหัวใจของรถยนต์ EV มีราคาลดลงจาก 1,000$ ต่อ KWH ในปี 2010 มาเหลือเพียง 380$ ในปี 2015 และ ประเด็นที่สาม คือการตื่นตัวเรื่องโลกร้อน ของรัฐบาลและประชาชน ทำให้มีกฎควบคุมเรื่องการปล่อยมลพิษของรถยนต์ ซึ่ง EV ไม่มีปัญหาเรื่องมลพิษของไอเสีย เพราะไม่มีเครื่องยนต์ที่มีการจุดระเบิด

แต่ถึงกระนั้นโลกของ EV ก็ไม่ได้สวยหรูไปหมดทุกอย่าง ยังมีอีกหลายปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ระยะทางที่วิ่งต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งในตอนนี้รถ EV ในเซกเมนท์ประหยัด วิ่งได้แค่ 250 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปที่ใช้น้ำมันในตอนนี้ วิ่งได้ถึง 500-600 กิโลเมตรเมื่อเติมน้ำมันเต็มถัง นอกจากนั้น เรื่องแท่นชาร์จไฟ ก็ยังเป็นปัญหาหลักเมื่อวิ่งออกไปนอกเมือง ตอนนี้ TESLA ต้องมาลงทุน เรื่องสถานีชาร์จไฟเองเพื่อตอบสนองลูกค้า ระยะเวลาในการชาร์จก็ยังเป็นปัญหา ในตอนนี้เครื่องชาร์จแบบเร็วที่สุดจะใช้เวลาราว 30 นาที แต่ก็ยังเป็นเวลาที่ยาวนานกว่าการเติมน้ำมันเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่ ในปัจจุบัน ที่ชาร์จที่พบทั่วไปในที่สาธารณะจะเป็นแบบ 2.5 ชั่วโมง ซึ่งก็ดูเหมือนจะไม่สะดวกเท่าไรนัก และประเด็นอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องราคา รถ EV ส่วนใหญ่ยังมีราคาสูง อย่าง BMW i8 ที่อเมริกาขายราคา 4.9 ล้านบาท TESLA Model S ราคา 2.45 ล้านบาท หรือ แบบประหยัดอย่าง Nissan Leaf ก็ตกราว 1.15 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคา Honda Civic ที่ 7 แสนบาท ก็ดูเหมือนว่า EV ยังเป็นรถราคาสูงอยู่

อุตสาหกรรม EV ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของ S-Curve ดูเหมือนว่าตลาดนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆจากแรง ผลักดันจากหลายภาคส่วน โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นอุตสากรรมที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะศักยภาพของ ตลาดนี้ยังสามารถโตไปได้อีกยี่สิบปี บริษัทอย่าง TESLA ซึ่งหันมาโฟกัสทางด้านนี้ ในปี 2010 มียอดขาย แค่เพียง 117 ล้านเหรียญ แต่กลายมาเป็น 4 พันล้านเหรียญในปี 2015 ถึงแม้ว่าตอนนี้บริษัทยังไม่มีกำไร เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางด้านวิจัยและพัฒนาที่สูงขึ้น แต่อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในปีล่าสุด สามารถทำได้ ในระดับเดียวกับ TOYOTA และ HONDA ณ เวลานี้คงยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าใครจะเป็นผู้ชนะในศึก EV ของวงการรถยนต์ เพราะในช่วงแรกของ S-Curve เมื่อทุกคนเห็นว่าตลาดเติบโต จะมีผู้สนใจเข้ามา ร่วมแข่งขันกันเป็นอย่างมาก หากเรานึกถึงตลาดชาเขียวในเมืองไทยเมื่อราวสิบปีก่อน จะเห็นได้ว่ามีหลาก หลายแบรนด์ แต่ตอนนี้หลักๆคือแค่สองแบรนด์ ตลาด EV นั้นคงต้องผ่านการต่อสู้กันอย่างดุเดือดเช่นกัน ก่อนที่จะรู้แน่ชัดว่า ใครกันจะได้ขึ้นเป็นผู้นำตลาดเมื่อการดีดตัวอย่างรุนแรงของ S-Curve มาถึง

Monday, May 16, 2016

Sell in May and go away /โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร



นักวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้น   มักจะพูดถึงแต่เรื่องทาง “เทคนิค”  นั่นคือพูดถึงแต่เรื่องตัวเลข  แนวรับแนวต้าน  เส้นกราฟต่าง ๆ  อย่างเป็นงานเป็นการ  พวกเขาจะต้องทำตัวให้ดูเคร่งขรึม  “น่าเชื่อถือ”  คนที่ใช้ต้องมี “วินัย”  เพื่อที่จะไม่ตัดสินใจผิดพลาด  การ “ไม่เชื่อกราฟ” นั้นดูเหมือนว่าจะทำให้การเล่นหุ้นแบบเทคนิค “ผิดพลาดมากที่สุด”  อย่างไรก็ตาม  หลังจากที่เทคนิคต่าง ๆ  ถูกศึกษาและมีการนำมาใช้กว้างขวางและ “อยู่ตัวแล้ว”  พวกเขาก็เริ่มที่จะหาอะไรที่มี “สีสัน” มาเล่นมากขึ้น  และต่อไปนี้ก็คือเรื่องที่มีการพูดหรือใช้กันต่อเนื่องมาช้านาน  บางเรื่องหรือบางเทคนิคก็มีการศึกษาต่อเนื่องกันมาและในตลาดหุ้นอื่น ๆ  ซึ่งก็ใช้ได้หรือถูกต้องบ้างไม่ถูกต้องบ้าง   บางเรื่องก็ใช้ไม่ได้เลยหรือพิสูจน์ไม่ได้ทั้งในตลาดเดิมและในตลาดอื่น  อย่างไรก็ตาม  เรื่องที่มีสีสันเหล่านั้นก็มักจะถูกยกขึ้นมากล่าวอยู่เรื่อย ๆ  จนคนรุ่นหลังคิดว่ามันเป็นเทคนิคที่ใช้ได้จริง ๆ  หรือมีโอกาสถูกต้องในระดับหนึ่ง

เรื่องแรกที่ผมจะพูดก็คือคำกล่าวที่ว่า  Sell in May and go away เพราะขณะนี้เรากำลังอยู่ในเดือน May หรือเดือนพฤษภาคมและนักวิเคราะห์บางคนก็นำมาพูดแนะนำว่านักลงทุนควรขายหุ้นไปก่อนและออกจากตลาดหุ้นจนกว่าจะถึงเดือนตุลาคม   บางคนก็แนะนำว่าเดือนพฤษภาคมปีนี้เราไม่ควรขายแต่ควรจะซื้อ  เสร็จแล้วก็ยกเหตุผลต่าง ๆ  นา ๆ มาประกอบในการวิเคราะห์   ราวกับว่าหุ้นในเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมของทุกปีนั้นมักจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่นของปี

ผมเองในฐานะที่เรียนทางด้านการลงทุนจนจบปริญญาเอกก็ไม่เคยพบว่ามีการศึกษาที่พบว่าเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นจะตก  ผมเข้าใจว่าครั้งหนึ่ง..นานมาแล้ว  คงจะมีนักลงทุนบางคนพูดขึ้นมาหรือเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้  หลังจากนั้นก็อาจจะปรากฏว่าหุ้นตกลงมาอย่างแรงจริงในเดือนพฤษภาคม  หลังจากนั้นก็อาจจะมีคนมาพูดย้ำ   คำพูดที่ว่า Sell in May and go away เองก็เป็นคำพูดที่มีเสียงคล้องจองกันฟังแล้วจำได้ทันที  หลังจากนั้น  พอถึงเดือนพฤษภาคมครั้งใด  คนก็จะพูดกันว่าหุ้นอาจจะตก  และพอปีไหนที่หุ้นตกจริง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตกแรง  คนก็จะยิ่งเชื่อว่าหุ้นมักจะตกในเดือนพฤษภาคม  ส่วนปีใดที่หุ้นไม่ตก  คนก็จะไม่พูดถึง  ผลก็คือ  สมองของนักลงทุนทั่วไปนั้นได้รับการ “ย้ำ” ความเชื่อที่ว่าเดือนพฤษภาคมอาจจะไม่ใช่เดือนที่ดีในแง่ของการลงทุนและควรขายหุ้นไปก่อน

ความเป็นจริงก็คือ  จากการศึกษาตลาดหุ้นในสหรัฐกลับพบว่าตลาดหุ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมนั้นมักจะขึ้นมากกว่าลง  การศึกษาในตลาดหุ้นไทยนั้นผมไม่แน่ใจ   แต่คิดว่าเรื่อง Sell in May and go away นั้นไม่น่าจะเป็นจริง  พูดง่าย ๆ  เป็นเรื่องที่บังเอิญมีการพูดกันเล่น ๆ  นานมาแล้ว  และคนก็จะพูดต่อ ๆ  กันไปทั้ง ๆ  ที่ไม่เป็นความจริงเลย  ดังนั้น  เรื่องนี้เราไม่ควรจะไปยึดถืออะไรจริงจัง  แต่เชื่อเถอะว่าในปีต่อไปคนก็จะพูดอีกเวลาถึงเดือนพฤษภาคม

เรื่องที่สองก็คือ  January Effect  หรือเดือนมกราคมเป็นเดือนที่หุ้นมักจะขึ้น  เรื่องนี้มีการศึกษาจริงในตลาดสหรัฐในช่วงเวลาหนึ่งที่ยาวพอสมควรและสามารถสรุปได้ว่าเรื่องนี้เป็นจริง  เหตุผลที่หุ้นมักจะขึ้นก็ได้รับการอธิบายว่าเป็นเรื่องของการที่สถาบันลงทุนอาจจะขายหุ้นที่  “ขาดทุน”  ก่อนสิ้นปีเพื่อจะได้ “ลดภาษี” นิติบุคคล  เสร็จแล้วพอขึ้นปีใหม่ก็กลับไปซื้อหุ้นคืนทำให้หุ้นขึ้น  บ้างก็บอกว่าในเดือนมกราคมนั้น  คนมักจะมีความหวังและมองโลกในแง่ดีจึงเข้าไปซื้อหุ้นมากกว่าปกติทำให้หุ้นขึ้น  โดยเฉพาะในช่วงสองสัปดาห์แรกของปี  การศึกษาในตลาดหุ้นหลายประเทศก็พบว่าได้ผลคล้าย ๆ  กัน  อย่างไรก็ตาม  หุ้นที่ขึ้นดีมักจะเป็นหุ้นตัวเล็กที่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นสูงกว่าปกติและบางทีก็มีสภาพคล่องต่ำซึ่งทำให้กำไรที่จะได้รับนั้นถูกค่าคอมหรือส่วนต่างราคาซื้อขายหุ้นกินหมด  พูดง่าย ๆ  ก็คือ  ในทางปฏิบัติแล้ว  วิธีนี้ทำกำไรไม่ได้จริงหรือไม่คุ้ม  และบางปีหรือบางช่วง  January Effect ก็ไม่เกิด  ดังนั้น  ผมคิดว่านี่ก็เป็นเรื่องที่เอาไว้พูดเล่น ๆ  เท่ ๆ  มากกว่าที่จะเป็นเรื่องจริงจัง

เรื่องที่สามคือเรื่องของการซื้อขายหุ้นแบบ Odd-Lot หรือซื้อขายไม่ครบ 100 หุ้นหรือ “เศษหุ้น”  นี่เป็นเรื่องของการซื้อขายของนักเล่นหุ้นรายย่อยในสหรัฐที่มีเงินไม่พอซื้อหุ้นครบล็อตเนื่องจากหุ้นในสหรัฐมักจะมีราคาสูง ราคาหุ้นมาตรฐานมักจะอย่างน้อยหลายสิบเหรียญต่อหุ้น    เทคนิคการซื้อขายหุ้นในเรื่องนี้ก็คือ  ดูว่าคนที่เล่นหุ้น Odd-Lot ซื้อ  เทียบกับที่ขาย  ถ้าเมื่อไรคนกลุ่มนี้ซื้อมากกว่าขายก็แปลว่ารายย่อยเข้ามาซื้อหุ้นซึ่งเป็นสัญญาณว่า  “หมู”  กำลังเข้าตลาด  และถ้าพวกเขาซื้อหุ้นตัวไหน  เราก็ต้องขายหุ้นตัวนั้น  เพราะพวกรายย่อยซึ่งถูกตั้งสมมุติฐานว่า “ลงทุนไม่เป็น”  มักจะ “ผิด” เสมอ

ข้อมูลจากการศึกษาพบว่านักลงทุนรายย่อยนั้น  ไม่  “หมู”  เท่าไรนัก  ผลตอบแทนของพวกรายย่อยอาจจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลาดเพียงเล็กน้อย  แต่นี่ไม่พอที่เราจะใช้ตัวเลขขายหรือซื้อสุทธิของรายย่อยมาทำกำไรในตลาดได้   ในกรณีของตลาดหุ้นไทยนั้น  ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ  เราสามารถดูว่านักลงทุนรายย่อยซื้อหรือขายสุทธิได้ทุกวันโดยตรงอยู่แล้ว  ถ้าเราคิดว่านักลงทุนรายย่อยเป็น  “หมู”  หรือ  “แมงเม่า”  เราก็สามารถใช้ข้อมูลการซื้อขายหุ้นสุทธิมากำหนดเป็นกลยุทธ์ในการซื้อขายหุ้นได้  เช่น  ถ้านักลงทุนรายย่อยซื้อ  เราต้องขาย  แต่ถ้ากลุ่มนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ  เราก็ซื้อ  เราอาจจะเรียกทฤษฎีนี้ให้เท่ว่าเป็น  “ทฤษฎีแมงเม่า”  ก็ได้  ผมเองไม่แน่ใจว่ามีใครศึกษาเรื่องนี้ในตลาดหุ้นไทยไหม  แต่ครั้งหนึ่งนานมาแล้วสมัยที่ตลาดหุ้นไทยยังเล็กและไม่คึกคักอย่างทุกวันนี้  ผมเคยศึกษาและพบว่า  ช่วงไหนที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ  ตลาดหุ้นจะขึ้น  ถ้า “ฝรั่ง” ขาย  หุ้นก็ตก  รายย่อยเป็น “แมงเม่า”  ที่มักจะถูก “กิน” เสมอ    ในปัจจุบันนั้น  ผมเองไม่แน่ใจว่านักลงทุนกลุ่มไหนเป็น “หมู” หรือเป็น “เซียน”  ดังนั้น  ผมเองก็คิดว่าเทคนิคนี้ก็ไม่น่าจะใช้ได้ในตลาดหุ้นไทย

ทฤษฎีที่ดูแล้วไม่เกี่ยวกับหุ้นเลยแต่คนก็นำมาพูดกันและหลายคนก็อาจจะเชื่อก็คือ  “ดัชนีชายกระโปรงหรือกางเกง”  ของผู้หญิง  หลักการง่าย ๆ  ก็คือ  ตอนต้นปีเราก็ตรวจสอบหรือคาดการณ์ดูว่าแฟชั่นกระโปรงหรือกางเกงของผู้หญิงจะเป็นอย่างไร  ดัชนีตลาดหุ้นในปีนั้นก็จะเป็นอย่างนั้น  เช่น ถ้าแฟชั่นเป็นมินิสเกิร์ตหรือกางเกงขาสั้น  ราคาหุ้นก็มักจะปรับขึ้นไปเป็นกระทิง  แต่ถ้าเป็นกระโปรงกรอมเท้าหรือกางเกงขายาว  หุ้นก็ตกลงมา  “ที่พื้น”  คนที่คิดและเสนอเรื่องนี้ถึงกับแสดงดัชนีหุ้นกับชายกระโปรงให้เห็นซึ่งก็ดูสอดคล้องกันพอสมควรย้อนหลังไปถึงร้อยปี  อย่างไรก็ตาม  หลายครั้งก็ผิดพลาดเช่น  ช่วงสมัยที่ผมเป็นวัยรุ่นราวปี  1970 ที่มินิสเกิร์ตเป็นที่นิยมมาก หุ้นกลับตกลงมา  แต่ที่อาจจะทำให้คนทึ่งและจดจำได้แม่นก็คือ  ในปี 1987 ที่ช่วงต้นปีตลาดหุ้นขึ้นไปแรงมากถึงกว่า 40% ในหนึ่งปีซึ่งตรงกับช่วงที่ผู้หญิงนุ่งกระโปรงสั้นมาก  แต่แล้วพอถึงเดือนตุลาคมอากาศก็เย็นลงและแฟชั่นก็ “เปลี่ยนกระทันหัน”กลายเป็นกระโปรงกรอมเท้า  และนั่นก็ตรงกับ  “Black Monday”  ที่ตลาดหุ้นตกลงมาเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก  ในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม วันเดียว ตลาดหุ้นตกลง 508 จุดหรือ 22.6% ตกหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นอเมริกา  และนั่นก็คงมีส่วนที่ทำให้คนพูดถึงเรื่องชายกระโปรงนี้ไปอีกนาน

ยังมีเรื่องราวหรือเครื่องชี้แปลก ๆ  ที่โยงไปถึงการคาดการณ์ตลาดหุ้นที่  “ไม่จริง” อีกหลายเรื่องที่คนพูดถึงกันอยู่เรื่อย ๆ  บางเรื่องก็อาจจะ  “เคยจริง”  แต่ตอนนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว  ซึ่งนี่ก็เป็นธรรมชาติของตลาดหุ้นที่คอย “ปรับตัวเอง” เสมอที่จะทำให้ไม่มีใครสามารถใช้เทคนิคที่จะทำกำไรได้งามอย่างง่าย ๆ  ดังนั้น  เราในฐานะที่เป็นนักลงทุนจึงไม่ควรจะหวังที่จะ “ชนะ” โดยทำอะไรที่คนอื่นก็รู้และทำกันง่าย ๆ   จำไว้ว่าการทำกำไรสูง ๆ  ได้ในตลาดหุ้นนั้น  ยากมาก

Thursday, May 12, 2016

วางแผนเวลาแบบ VI /โดยคุณวีระพงษ์ ธัม






  เวลาคือเพื่อนที่ดีที่สุดของนักลงทุน และนี่คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดที่เราจำเป็นต้องบริหาร ชีวิตจะเป็นอย่างไรถ้ามีแต่ความยุ่งเหยิง วุ่นวาย มนุษย์ต้องการเวลาที่ดี ที่เราจะสามารถมีความสุขกับมัน และหลีกเลี่ยงหรือจำกัดเอาเวลาเครียด ๆ ที่เราต้องกดดันให้น้อยลง การลงทุนคือกิจกรรมที่เราต้อง “ลงทุนเวลา” เพื่อจะมีเวลาที่ดีในอนาคต แต่ VI ส่วนมากจะต้อง “ทำงานอย่างน้อยสองอย่าง” คือ งานประจำ และต้องเจียดเวลามาศึกษาการลงทุน ไม่นับเวลาที่ต้องให้กับครอบครัว ซึ่งปัญหาส่วนมากคือ เวลาไม่เคยเพียงพอซักที คำถามคือ VI มือใหม่ควรจะบริหารเวลาอย่างไร?


            แนวคิดในการบริหารเวลามีหลากหลาย แต่ผมขอใช้วิธีคิดของนักกลยุทธ์อย่าง Dan Sullivan ซึ่งแบ่งเวลาออกเป็น 3 วัน คือ วันพัก (Free day) วันจดจ่อ (Focus day) วันจัดระบบ (Buffer day) เพื่อให้การบริหารเวลามีประสิทธิภาพเราควรจะจัดเวลาทั้งสามวันออกจากกันอย่างชัดเจน และเราไม่ควรแบ่งเวลาออกเป็นวันหยุด วันทำงาน หรือวันนักขัตฤกษ์ เหมือนคนทั่วไปเพราะมีประสิทธิภาพน้อย

            วันพัก (Free day) คือวันที่ตั้งแต่เช้า จรดค่ำ เราจะไม่ยุ่งกับงานเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคิดงาน ติดต่องาน โทรศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับงาน เพื่อไปทำกิจกรรมที่เรารู้สึกชอบ ผ่อนคลาย ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมก็เห็นเพื่อนจำนวนมากเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศ ใช้เวลากับกิจกรรมครอบครัว โดยที่เราจะพบว่า “วันหยุดยาว” ลักษณะนี้จะทำให้เรามีโอกาสพักผ่อนได้มากที่สุด เพราะทุกคน “พร้อมใจ” กันหยุด และไม่ติดต่องานกัน ผู้คนโดยเฉพาะในโลกตะวันออกอย่างบ้านเรามักคิดว่า “วันพัก” ที่ยาวนาน แสดงถึงความไม่ขยันในการทำงาน แต่ผมกลับสังเกตในโลกตะวันตก พวกเขามี “วันพัก” ในฤดูร้อนยาวนานถึงสองเดือน ในวันเสาร์อาทิตย์ก็ไม่มีใครทำงาน แต่กลับมีผลผลิตรายได้ต่อหัวสูงกว่าเราค่อนข้างมาก เพราะนี่คือการ “เติมพลัง” ให้ชีวิต “เติมไอเดีย” ให้กับสมอง โดยที่ผลผลิต และวันพักที่ดีที่สุด คือวันพักที่มีการวางแผนล่วงหน้า ยิ่งล่วงหน้าเท่าไหร่ ยิ่งดี

            วันจดจ่อ (Focus day) คือวันที่ตั้งแต่เช้า จรดค่ำ เราจะทำแต่งานที่ “สร้างมูลค่า” โดยไม่วอกแวกทำอย่างอื่น งานที่เราจดจ่อต้องเป็นงานที่ “เปลี่ยนชีวิต” ในอนาคตในอีกสามปีของเราได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่เป็นเพียงงานที่เราทำไปวัน ๆ วันจดจ่อจะต้องเป็นวันที่ส่งผลบวกกับเราในอนาคต และถ้าเราทำได้อย่างถูกต้อง เราจะต้องรู้สึกถึงความก้าวหน้า รู้สึกถึงการมีพลัง แรงบันดาลใจอย่างต่อเนื่อง การทำงานในวันจดจ่อจะมีประสิทธิภาพได้จะต้องไม่ถูกรบกวนด้วยสิ่งอื่น ๆ สมองก็มี “Switching Cost” ไม่ต่างกับหลัก ในเชิงเศรษฐศาสตร์ นักจิตวิทยาทำงานวิจัย พบว่าสมองมนุษย์ต้องใช้เวลานาน 20 นาที ถึงจะเริ่มสามารถกลับสู่การทำงานเดิมได้ และใช้เวลาต่อจากนั้นอีกระยะถึงกลับสู่ “ศักยภาพสูงสุด” ของสมองได้ สมองไม่ได้ออกแบบให้ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ดังนั้นใครที่ทำงานไป ฟังเพลงไป เล่น Facebook ดู Line ในแต่ละครั้ง จะบั่นทอนประสิทธิภาพของวันจดจ่อไปมากโดยที่เราไม่รู้ตัว

            สำหรับ VI มือใหม่ วันจดจ่อน่าจะเป็นวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ที่เราจะใช้เวลาทั้งหมด สำหรับการศึกษาตั้งแต่ “ทฤษฎีการลงทุน” ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ การวิเคราะห์ธุรกิจ วิเคราะห์อุตสาหกรรม การบัญชี การเงิน การประเมินมูลค่า จนเมื่อเราสามารถตั้งหลักในเรื่องทฤษฎีการลงทุนได้แล้ว เราก็เริ่มนั่งวิเคราะห์หุ้นรายตัว ทำการจดบันทึกสิ่งที่เราวิเคราะห์ นั่งอ่านรายงานประจำปี 56-1 นอกจากนั้นเราต้องไม่ลืมว่า วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เราต้อง “จดจ่อ” กับงานที่เราทำ ทำให้ผลลัพท์ดีกว่าที่ทุกคนคาดหวัง ทำให้เร็วกว่า เพื่อที่เราจะไม่มี “งานค้าง” หรือ “ความกังวล” ที่จะต้องถูกคนตามงาน ในเวลาที่เราต้องมาศึกษาการลงทุน
            วันจัดระบบ (Buffer day) เปรียบเหมือนวันซักซ้อม วันวางแผนในรายละเอียดต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้เวลาเพื่อที่จะคิดว่าเราจะเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อเป็นตัวเชื่อมไปสู่ “วันพัก” หรือ “วันจดจ่อ” ที่มีคุณภาพ ตัวอย่างเช่น วันจัดระบบคือการเวลากับการวางแผนท่องเที่ยว เพื่อให้การท่องเที่ยวสามารถพักผ่อนได้ดีที่สุด ได้เที่ยวอย่างที่อยากได้ไป ในทางกลับกัน นี่คือวันที่เคลียร์สิ่งที่ค้างอยู่ กองเอกสารที่รกบนโต๊ะ งานจุกจิกที่เราจะต้องทำ


            ปัญหาของคนส่วนมากคือ ไม่เคยมีวันจดจ่อ ทำงานไปวันต่อวัน ไม่เคยจัดระบบชีวิต และสุดท้ายก็ทำให้มีวันพักเหลือน้อยมาก จนรู้สึกว่าเหนื่อยแต่ชีวิตที่ไม่ไปไหน

            คำถามสำคัญอีกเรื่องคือ เราควรจัดวันอะไรก่อน? เพื่อลงปฏิทินล่วงหน้า คำตอบซึ่งค่อนข้างน่าประหลาดใจของ Dan คือ เราต้องจัดวันพักก่อน เพราะนี่คือการจัด “แหล่งพลังงาน” ของเรา เราต้องวางมันให้เหมาะสม กระจายตัว เพื่อหวังว่ามันคือ “เชื้อเพลิง” ให้ชีวิตของเรา ให้เรามีวันจดจ่อที่ “ทรงพลัง”

            สำหรับนักลงทุน ถ้าทุกอย่างถูกต้อง คุณจะพบว่าหลายครั้ง ทั้งสามวันอาจจะค่อย ๆ กลายเป็นวันเดียวกัน เราหาหุ้นดี ๆ โอกาสดี ๆ ไอเดียดี ๆ จากริมชายหาดในวันพัก หรือบนเครื่องบินที่มุ่งหน้าสู่ยุโรป นอกจากนั้น เราอาจจะรู้สึกว่าแม้เวลาจะมีไม่เพียงพอเหมือนเดิม แต่เรารู้สึกพอใจกับการใช้เวลาของเราที่ผ่านมา และไม่เสียใจเมื่อมองย้อนกลับไป

Monday, May 9, 2016

เรื่องของแต้มต่อ / โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล

 
  การได้แชมป์พรีเมียร์ลีกอังกฤษของทีมฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ต้องถือว่าเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก  คงมีคนที่จะ “วิเคราะห์” และพูดถึงเหตุการณ์นี้จำนวนมาก  คนที่อยู่ในแวดวงฟุตบอลทั่วโลกคงจะพูดถึงเรื่องของการ “ทำทีม” ที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งของเลสเตอร์ซิตี้ที่สามารถนำชัยชนะทั้ง ๆ  ที่ไม่ได้มีดาราระดับซุปเปอร์สตาร์ที่โดดเด่นเลย  บางคนโดยเฉพาะที่เป็นคนไทยก็อาจจะเชื่อว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับ  “สิ่งศักดิ์สิทธ์” ที่เจ้าของสโมสรใช้ “ช่วย” ในการแข่งขันซึ่งก็มักจะเป็น “ปัจจัยสำคัญ” สำหรับคนไทยที่เชื่อในเรื่องเหล่านี้มากกว่าอีกหลาย ๆ  สังคมอยู่แล้ว  เหตุผลก็เพราะว่าก่อนเริ่มฤดูการแข่งขันนั้น  ทีมเลสเตอร์ซิตี้ถูกมองว่าเป็นทีม  “รองบ่อน”  ที่แทบไม่มีโอกาสจะชนะเลยมองจากตัวผู้เล่น  ผลงานในอดีตและอื่น ๆ  ว่าที่จริงปีก่อนหน้านี้ทีมยังแทบจะ “เอาตัวไม่รอด”  จากการที่จะยังสามารถเล่นอยู่ในลีกระดับสูงสุดนี้   ตัวเลขการ “ต่อรอง”  สำหรับคนที่ต้องการพนันว่าเลสเตอร์จะชนะก็คือ  5000-1 ซึ่งก็คล้าย ๆ  กับว่ามีเพียงคนเดียวที่คิดว่าเลสเตอร์จะชนะจาก “ผู้เชี่ยวชาญ” เรื่องฟุตบอล 5000 คน

            ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับฟุตบอลมากนัก  แต่ผมรู้จัก  “แต้มต่อ” ของการพนัน  เพราะเรื่องของแต้มต่อนั้น  เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากถึงมากที่สุดในการที่จะกำหนดว่าเราจะชนะหรือแพ้พนัน—ในระยะยาว   จริงอยู่ที่ผม  “ไม่เล่นการพนัน”  แต่นั่นคือการพนันในความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจเช่น  การเล่นไพ่หรือการเล่นพนันต่าง ๆ  ในคาสิโน  การเล่นม้า  การเล่นพนันฟุตบอล  หรือแม้แต่การเล่นหวยหรือล็อตเตอรี่ ซึ่งสิ่งต่าง  ๆ  เหล่านี้ผมไม่เล่นอยู่แล้ว  เหตุผลก็คือ  ในเกม “พนัน”  เหล่านี้  คนที่เข้าไปเล่นนั้นมักจะแพ้เสมอในระยะยาวโดยเฉพาะคนที่ไม่มีความรู้  ส่วนคนที่ชนะนั้นก็มักจะเป็น  “เจ้ามือ”  ที่เป็นคนกำหนด  “แต้มต่อ”  ของการพนัน  เช่น  เจ้ามือหวยที่กำหนดว่าแทงถูกเลขท้าย 2 ตัวจะจ่าย 60 บาท แต่ถ้าแทงผิดจะถูกกิน  ซึ่งในระยะยาวแล้ว  เจ้ามือก็มักจะกำไร 40 บาทโดยเฉลี่ย  เพราะโอกาสที่จะถูกนั้นอยู่ที่ 1 ใน 100  คนแทง 100 คนจะถูกเพียง 1 คน  ดังนั้นเจ้ามือก็จะกินเงิน 100 บาท แต่จ่ายให้กับคนเพียงคนเดียวที่แทงถูกจำนวน 60 บาท  นี่เป็นเรื่องของสถิติโดยแท้  เพราะตัวเลขหวยที่ออกนั้นไม่มีใครทำนายได้ไม่ว่าจะเป็น “เกจิอาจารย์” สำนักไหน

            แต่จริง ๆ  แล้วผมเป็น  “นักการพนัน”  ตัวยงก็ว่าได้  เพราะผมลงทุนในตลาดหลักทรัพย์  ผม “พนัน” ว่าหุ้นที่ผมซื้อไว้ในราคาหนึ่งนั้น  จะมีราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปนานพอ  อัตราการเพิ่มขึ้นรวมถึงการจ่ายปันผลจะสูงในระดับที่น่าพอใจเช่นปีละ 10-15% โดยเฉลี่ยแบบทบต้นในอีกไม่น้อยกว่า 5 ปีข้างหน้า  โดยที่ผมกล้าพนันแบบนั้นก็เพราะว่าผมวิเคราะห์แล้วผมเชื่อว่าบริษัทจะมีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องไปอีก 5 ปี กำไรของบริษัทจะเติบโตขึ้นเร็วถึงปีละ 10%  แบบทบต้น  และบริษัทจะเข้มแข็งที่ทำให้บริษัทอื่นไม่สามารถแย่งธุรกิจไปจากบริษัทได้  เป็นต้น

            คำถามก็คือ  แล้วใครมา “พนัน” กับผม  คำตอบก็คือ  “ตลาดหุ้น”  ซึ่งก็คือนักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นคนอื่นทั้งหมดรวมกัน  คนทุกคนที่เข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดนั้น  จริง ๆ  แล้วเขากำลัง “พนัน” กับคนทั้งตลาดว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นถูกต้องกว่าคนอื่น ๆ  ทั้งหมดรวมกัน  คนเล่นหุ้นหรือลงทุนนั้นมักคิดว่าเขา  “เก่ง”  และ  “รู้ดีกว่า”  คนอื่น ๆ  ทั้งหมดที่ “ร่วมกัน” มาเล่นหุ้นแข่งกับเขา  เพียงแต่ว่าคนที่รวมกันเหล่านั้นไม่ได้ปรึกษากันเป็นทางการ   พวกเขาใช้วิธี  “โหวต”  ผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์  โดยที่แต่ละคนนั้นก็มีข้อมูลความรู้และความเข้าใจต่อตัวหุ้นที่หลากหลาย  บางทีก็ขัดแย้งกัน  แต่สุดท้ายแล้วเมื่อ  “นับเสียง”  ของแต่ละคนก็จะได้ข้อสรุปว่าหุ้นตัวนั้นพวกเขาให้ราคาเท่าไร  พูดอย่างย่อและเข้าใจง่ายที่สุดก็คือ  เมื่อเราเข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็เท่ากับว่าเราเข้ามา  “พนัน” กับคนอื่นทุกคนว่าหุ้นตัวนั้นจะขึ้นหรือลงในอนาคต  คำถามต่อมาก็คือ  “แต้มต่อ”  อยู่ตรงไหน?

            นี่ก็ต้องกลับไปที่การเลือกหุ้นที่จะลงทุนซื้อข้างต้น   นั่นคือ  ผมอาจจะคาดการณ์ถูกต้องว่ากำไรของบริษัทก็เติบโตเป็นไปตามคาด  แต่ราคาหุ้นแทนที่จะขึ้นไปและให้ผลตอบแทน 10-15% ต่อปีนั้นกลับไม่ไปไหน  เหตุผลก็เพราะว่าหุ้นตัวนั้นมีค่า PE ในขณะที่ผมซื้อที่ 50 เท่า เวลาที่ผ่านไปนั้นแม้ว่ากำไรบริษัทจะเพิ่มขึ้นจริงแต่ค่า PE ของหุ้นกลับลดลงส่งผลให้ราคาหุ้นไม่ปรับตัวขึ้น  เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ  จนครบ 5 ปี  ค่า PE อาจจะลดลงมาจนเหลือ 20 เท่าโดยที่ราคาหุ้นไม่ขึ้นเลยแม้ว่าผลประกอบการจะดีขึ้นโดยตลอด  และนี่ก็คือสิ่งที่วงการหุ้นมักพูดว่า  แม้บริษัทจะดีมากแต่ถ้าซื้อในราคาที่แพงเกินไป PE 50 เท่า) คุณก็  “แพ้”  เพราะ  “แต้มต่อ”  ในกรณีนี้ก็ต้องเรียกว่า  “ต่ำมาก”

            ตรงกันข้าม  หุ้นบางตัวนั้นกิจการดูแล้ว  “แย่”  โอกาสทำกำไรเท่าที่เราดูแล้วต่ำมาก  บริษัทคู่แข่งก็มีเพียบแถมเก่งกว่า  โอกาสชนะในธุรกิจของบริษัทน้อยมาก  แต่ราคาหุ้นตัวนี้ถูกมาก  คิดเป็นค่า PE แล้วก็แค่ 5 เท่า  หรือเรียกว่า  “แต้มต่อ” สูงมาก  นี่ก็อาจจะคล้าย ๆ  กับทีมฟุตบอลลีกรองบ่อนที่ไม่มีคนสนใจและไม่มีใครคิดว่าจะชนะได้  ในกรณีแบบนี้  ถ้าเรามีข้อมูลและมีความสามารถวิเคราะห์ได้ว่าบริษัทจะดีขึ้นอย่างโดดเด่นในอนาคต  เราก็อาจจะ  “พนัน” กับ “ตลาด” ที่มองว่าบริษัทนั้นไม่ดีและมีโอกาสชนะน้อยได้

            โดยทั่วไปแล้ว  ในตลาดหุ้นที่  “พัฒนาแล้ว”  ตลาดจะมีความสามารถสูงมากในการ  “พนัน”  เหตุผลก็เพราะว่าตลาดนั้นประกอบไปด้วย  “ผู้เชี่ยวชาญ” จำนวนมากที่เอาข้อมูลและความสามารถในการวิเคราะห์มา “ร่วมกัน” กำหนดแต้มต่อของหุ้นแต่ละตัว   ราคาหุ้นที่จะ “รับพนัน”  กับเราจึงมักเป็นราคาที่ตลาดจะทำกำไรได้มากกว่าเรา  ตลาดนั้นรู้ว่าบริษัทไหนมีความสามารถในการทำธุรกิจสูงและได้กำไรดีและรู้ด้วยว่า  “แต้มต่อ” หรือราคาหุ้นที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร  อย่างไรก็ตาม  ในตลาดที่ยังไม่พัฒนามาก  หรือในหุ้นที่มีขนาดเล็กที่ตลาดยังไม่สนใจที่จะลงทุน  ราคาหุ้นที่ตลาด  “รับพนัน”  ก็อาจจะมี “แต้มต่อ”  ที่ผิดพลาด  และอาจจะทำให้เราที่อาจจะ “รู้มากกว่า”  สามารถทำกำไรจากการพนันในตลาดหรือตัวหุ้นได้

            กรณีของทีมเลสเตอร์ซิตี้นั้น  ในมุมมองของ “การพนัน” ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรมหัศจรรย์  ผมเองไม่แน่ใจว่าจะมีใครหรือเม็ดเงินมากแค่ไหนที่พนันเลสเตอร์ตั้งแต่ต้นฤดูการแข่งขันที่มีแต้มต่อ 5000-1  แต่คิดว่าคงมีน้อยมาก  และผมก็ไม่คิดว่าจะมีใครที่จะรวยจากการแทงเลสเตอร์ด้วยเพราะคงไม่มีใครกล้าลงเงินมาก ๆ  เพราะโอกาสที่จะชนะนั้นต่ำมากและโอกาสที่จะสูญเงินมีสูง  อย่างไรก็ตาม  โอกาสนั้นก็เกิดขึ้นแล้ว  แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตมันจะมีโอกาสเกิดสูงขึ้น  ทีมเลสเตอร์เองในฤดูกาลหน้าแต้มต่อก็คงลดลงมาก  อาจจะเหลือแค่ 4 หรือ 5 ต่อ 1 ซึ่งก็อาจจะทำให้ไม่คุ้มที่จะเสี่ยง

            ในตลาดหุ้นเองนั้น  หุ้นที่อาจจะมีแต้มต่อสูง ๆ หรือสูงลิ่วก็มีอยู่ตลอดเวลา  เช่นหุ้นของบริษัทที่เข้าข่าย “ใกล้ล้มละลาย”  หรือกิจการไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ที่  “แต้มต่อ” สูงลิ่วเป็นประเภท  “100-1”  คิดจากราคาหุ้นที่อาจจะเหลือต่ำกว่า 3-4 สตางค์ต่อหุ้นและ Market Cap. เหลือไม่ถึง 100 ล้านบาท  จากธุรกิจที่เคยทำเป็น 1,000 ล้านบาท  แต่แล้ว  “ปาฏิหาริย์”  ก็เกิดขึ้น  บริษัทฟื้นตัวและราคาหุ้นกลับมามีราคาเพิ่มขึ้นหลายสิบเท่าในเวลาเพียงไม่กี่ปีส่งผลให้คนที่กล้าเข้าไปซื้อและถือต่อเนื่องร่ำรวยขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ  บางคนก็กลายเป็น  “เซียนหุ้น Turnaround”  อย่างไรก็ตาม  หลายคนนั้นอาจจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของความสามารถและไม่ใช่ปาฏิหาริย์  เขาอาจจะ  “เล่นต่อ”  และก็พบว่าโอกาสที่หุ้นหรือการพนันที่มีแต้มต่อสูงมากจะ “ชนะ”  นั้น  มันน้อยจริง ๆ  และทำให้เขาเสียหายอย่างหนัก  และดังนั้น  เราจึงไม่ควรจะ “เล่น” หรือเล่นมาก   ผมเองคิดว่าถ้าอยากจะเล่น  เราควรจะทำคล้าย ๆ  เอาเงินไปซื้อลอตเตอรี่รางวัลแจ็คพ็อตหรือโยกสล็อตแมชินที่เราพร้อมเสียเงินเพื่อ “ความบันเทิง” เท่านั้น

Tuesday, May 3, 2016

Competition Model/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


โลกทุกวันนี้มีความก้าวหน้าขึ้นมากอย่างรวดเร็วและนี่ทำให้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้วัดความสำเร็จและความก้าวหน้าหรือการเติบโตของปัจเจกบุคคล  องค์กร  และธุรกิจต่าง ๆ จำนวนมากเริ่ม “ล้าสมัย”  ตัวอย่างเช่น  การที่คน ๆ หนึ่ง “เก่ง” มากในด้านใดด้านหนึ่งนั้น  ในอดีตเราก็จะบอกว่าเขามักจะประสบความสำเร็จสูง  แต่ในปัจจุบัน  บางทีความสามารถของเขาอาจจะ “ไม่มีประโยชน์” อะไรนักถ้ามีคนที่  “เก่งกว่า” เขาจำนวนมาก   ตัวอย่างง่าย ๆ  ที่ผมเห็นก็เช่นกรณีของนักร้องเพลง  ในสมัยก่อนนั้นเราอาจจะรู้จักนักร้องเพลงระดับ  “แผ่นเสียงทองคำ” ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนในประเทศที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง  เสียงและความสามารถในการร้องของพวกเขาในสมัยนั้นต้องถือว่า  “สุดยอด”  หาคนเทียบได้ยากและเรามักคิดว่าเป็น  “พรสวรรค์”  แต่เดี๋ยวนี้ที่ผมได้ฟังคนรุ่นใหม่ที่มีการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก   ผมก็รู้สึกว่าคนที่เสียงดีและร้องเพลงได้ดีไม่แพ้นักร้องระดับสุดยอดในสมัยก่อนนั้นมีจำนวนมาก  แม้แต่คนที่เข้าประกวดร้องเพลงที่ออกอากาศทางทีวีมากมายนั้น  ผมคิดว่าบางคนก็ร้องได้ดีกว่านักร้องระดับดาราในสมัยก่อน   แต่คนที่จะประสบความสำเร็จในการเป็นนักร้องนั้นก็มีน้อยนิด  เหตุผลก็เพราะว่ามีนักร้องที่เก่งกว่าเขาอีกมาก  ดังนั้น  คนก็จะไม่สนใจฟังคนที่เสียงดี  คนฟังนักร้องที่เสียงดีกว่า   หรือไม่ก็ฟังนักร้องที่มีเสียงแปลกและแตกต่างจากนักร้องอื่น

    ในเรื่องของสินค้าที่ผลิตจากบริษัทที่เป็นธุรกิจเองก็เช่นเดียวกัน  ในสมัยหนึ่งในช่วงของการเฟื่องฟูของการผลิตสินค้าที่เป็น Mass ที่โลกเริ่มสามารถผลิตสินค้าจำนวนมากขายให้แก่ประชาชนทั่วไปนั้น  บริษัทไหนที่สามารถผลิตสินค้าที่มีราคาถูกและคุณภาพดีก็สามารถขายได้จำนวนมากและบริษัทเติบโตก้าวหน้าอย่างมหาศาล  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือรถยนต์ของฟอร์ด  แต่ต่อมาการผลิตรถยนต์ก็มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว  การผลิตรถยนต์ได้ดีก็ไม่เพียงพอต่อความสำเร็จ  ต้องผลิตให้ได้คุณภาพ “ดีขึ้น”  ซึ่งต่อมาการผลิตได้ดีขึ้นหรือเก่งขึ้นก็ไม่พอจะต้องมีบริการหลังการขายที่ดีขึ้น  ต้องมีการตลาดที่ดีขึ้น   อาจจะต้องมีระบบการผ่อนส่งค่ารถที่จูงใจกว่าและอื่น ๆ  อีกมาก  แต่สุดท้ายก็อาจจะยังไม่พอ  อาจจะต้องผลิตรถยนต์ที่แปลกหรือแตกต่างออกไป  เหตุผลก็คือ  คนหรือบริษัทพัฒนาและเก่งขึ้นจนสามารถเลียนแบบผลิตสินค้าที่มีสมรรถนะและคุณสมบัติใกล้เคียงกันจนลูกค้าไม่ใคร่เห็นความแตกต่าง  การที่บริษัทจะประสบความสำเร็จสูงจึงต้องทำอะไรก็ตามที่จะสามารถดึงดูดให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าของตนมากกว่าคู่แข่ง  ไม่ใช่ทำให้สินค้าของตน “ดี” หรือแม้แต่ “ดีกว่า”

    และนั่นนำมาถึงเรื่องที่ผมจะพูดในวันนี้นั่นก็คือ  การวิเคราะห์กิจการหรือหุ้นที่เราจะลงทุน  จุดอ่อนของ VI จำนวนมากก็คือ  เรามักจะฟังจากบริษัทมากกว่าที่จะศึกษาจากข้อมูลในวงกว้างที่ “เป็นกลาง”   สิ่งที่เรามักจะได้รับก็คือ  บริษัท “ดีอย่างไร”  หรือเก่งขนาดไหน  ยิ่งในบางครั้งบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรม  “ไฮเท็ค”  เราซึ่งบ่อยครั้งเป็นพวก  “โลว์เท็ค”  หรืออยู่ในอีกอุตสาหกรรมหนึ่งหรืออยู่ในทักษะอีกประเภทหนึ่งเช่นเป็นแนวอาร์ตหรือแนว  “ศิลปะ”  เราก็มักจะรู้สึกประทับใจและเชื่อในสิ่งที่ผู้บริหารของบริษัทบอก  ผลก็คือ  เรามักจะให้คะแนนบริษัทสูงกว่าความเป็นจริง  เราคิดว่าบริษัทจะต้องประสบความสำเร็จสูงและยั่งยืนไปอีกนาน  เราคิดว่าบริษัทมีคุณภาพที่ดี  เราเข้าไปซื้อหุ้นและให้ราคาสูง  เราถือหุ้นเหล่านี้ทั้ง ๆ  ที่ค่า PE บางทีสูงถึง 50-60 เท่าหรือสูงกว่านั้น  แต่แล้วในหลาย ๆ  กรณีเมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าบริษัทไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่คาด  ผลประกอบการไม่ได้โตอย่างที่คิด  เหตุผลอาจจะเป็นว่ามี “คู่แข่ง” ที่ “ไม่คาดคิด” เข้ามาแข่งขัน   ที่จริงคู่แข่งนั้นก็อาจจะมีอยู่แล้วแต่เราไม่รู้  หรือบางทีก็มีคู่แข่งที่เข้ามาแข่งด้วย “รูปแบบใหม่” ที่ลูกค้า “ชอบมากกว่า”

    ดังนั้น  ถ้าเราจะลงทุนหุ้นระยะยาวซึ่งต้องอิงกับ “พื้นฐาน” ของกิจการแล้ว  สิ่งที่จะต้องวิเคราะห์เป็นหลักก็คือการวิเคราะห์เรื่องของ “การแข่งขัน” มากกว่าเรื่องที่ว่าบริษัทดีหรือเก่งแค่ไหนหรือมีรูปแบบการดำเนินงานอย่างไร  จริงอยู่  การวิเคราะห์และรู้จักว่าบริษัทเป็นอย่างไรและมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นแต่ไม่เพียงพอ  เหตุผลก็เพราะว่าคู่แข่งก็อาจจะเก่งและมีรูปแบบหรือ Model ทางธุรกิจแบบเดียวกันหรือสามารถเลียนแบบสิ่งที่บริษัททำได้ในระยะเวลาอันสั้น  ดังนั้น  ผลงานที่ดีของบริษัทก็อาจจะคงอยู่ได้ไม่นาน  แต่การวิเคราะห์เรื่องของการแข่งขันจะทำให้เราเห็นภาพที่ดีกว่าโดยเฉพาะในระยะยาวว่า  ใครจะเป็น  “ผู้ชนะ”  และการชนะนั้นจะยังคงอยู่อีกต่อไปได้นานแค่ไหน  และนั่นจะเป็นตัวกำหนด “คุณภาพ” ที่แท้จริงของกิจการและหุ้น

    จุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์การแข่งขันก็คือการกำหนดว่าบริษัทเราแข่งกับใคร  ใครคือคู่แข่งทางตรงและทางอ้อม  นอกจากนั้น  ในโลกยุคดิจิตอลและไฮเท็ค  เรายังต้องวิเคราะห์ด้วยว่ามีโอกาสแค่ไหนที่จะมีคู่แข่งที่ “ไม่คาดคิด”  เกิดขึ้นจากพัฒนาการของเท็คโนโลยี   ในบางครั้งเราอาจจะคิดว่าบริษัทของเรา  “ไม่มีคู่แข่ง”  ตัวอย่างเช่น  บริษัทผลิตไฟฟ้าจากเซลแสงอาทิตย์หรือพลังงานทดแทนอื่น  เราคิดว่าบริษัททำกำไรได้ดีมาก  มีมาร์จินสูงและยอดขายจะขยายตัวไปได้อีกมากเนื่องจากความต้องการของทางการที่เพิ่มขึ้นจากแผนพลังงานทดแทนของประเทศ  เราขายพลังงานไฟฟ้าโดย “ไม่ต้องแข่ง” กับใครเพราะมีสัญญาแน่นอนแล้ว  แต่นี่อาจจะเป็นความเข้าใจผิด  จริง ๆ  แล้วการเสนอขายไฟให้การไฟฟ้าโดยเฉพาะในปัจจุบันนั้น  คู่แข่งจริง ๆ  ก็คือบริษัทหรือหน่วยงานอื่นที่เสนอขายไฟให้กับการไฟฟ้าจำนวนมาก  ปัจจัยการแข่งขันที่ใช้นอกจากเรื่องของเงินทุนและความสามารถในการติดตั้งอุปกรณ์ซึ่งคู่แข่งต่างก็มีความสามารถพอ ๆ  กันแล้วก็ยังขึ้นอยู่กับ  “ราคา”  ค่าไฟฟ้าที่ต่ำที่สุดหรือต่ำกว่าคู่แข่งอื่น  ถ้าจะว่าไป  การแข่งขันนี้ก็รุนแรงมากเพราะมันเป็นการแข่งขันทางด้านราคาเป็นหลัก   และธุรกิจที่มีการแข่งขันที่รุนแรงนั้นก็มักจะเป็นธุรกิจที่ “ไม่ดี”  ในแง่ของการทำเงิน  ดังนั้น  การที่เราจะลงทุนในธุรกิจขายพลังงานทดแทนในราคาหุ้นที่มีค่า PE สูงมาก ๆ  ในระยะยาวแล้วผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่อันตราย

    เมื่อพบว่าใครคือ “คู่แข่ง” จริง ๆ  แล้ว  ประเด็นต่อไปก็คือ  เราต้องดูว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่บริษัทในธุรกิจใช้ในการแข่งขัน  แน่นอน  เรื่องของผลิตภัณฑ์  การตลาด  การจัดจำหน่าย  และปัจจัยมาตรฐานทางการบริหารต่าง ๆ  นั้นเป็นเรื่องสำคัญ  แต่หลาย ๆ  ปัจจัยนั้นทุกบริษัทก็อาจจะทำได้ดีพอ ๆ  กันและก็อาจจะไม่ใช่เป็นประเด็นที่จะชี้ชัดว่าใครจะได้เปรียบใครมากนัก  สิ่งที่ต้องทำก็คือ  หาปัจจัยสำคัญหลักที่จะทำให้บริษัทได้เปรียบในการแข่งขันที่คู่แข่งไม่มีหรือมีแต่ด้อยกว่ามากและปัจจัยนั้นคู่แข่งเลียนแบบได้ยากและต้องใช้เวลายาวมาก  ตัวอย่างเช่น  ขนาดหรือปริมาณของธุรกิจที่ใหญ่กว่ามาก  หรืออาจจะเป็นยี่ห้อที่อยู่มานานเก่าแก่และผู้บริโภคหรือผู้ใช้ให้ความสำคัญกับยี่ห้อมาก  เป็นต้น

    สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษอย่างหนึ่งใน “โลกไร้พรมแดน”  อย่างในปัจจุบันก็คือ  สินค้าจำนวนมากหรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำนั้น  มีคู่แข่งหรือบริษัทที่อาจจะมาเป็นคู่แข่งที่อยู่ต่างประเทศ  ดังนั้น  เวลาคิดว่าบริษัทเรา “ใหญ่กว่าคู่แข่ง” มากนั้น  เราต้องดูถึงว่าเรามีคู่แข่งจากต่างประเทศที่เราอาจจะไม่ตระหนักหรือไม่รู้จักด้วยหรือไม่  เช่นเดียวกับเรื่องของยี่ห้อที่เดี๋ยวนี้มีคู่แข่งมากมายจากทั่วโลก

    ประสบการณ์ของผมที่ผ่านมานั้นเวลาใช้ Competition Model ในการวิเคราะห์หุ้นแล้วก็มักจะพบว่า  บริษัทที่จะมีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนและเป็นหุ้นที่มีคุณภาพดีมากในตลาดหุ้นไทยนั้น  ส่วนใหญ่ก็มักจะมีลักษณะที่ว่าปัจจัยในการแข่งขันส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งก็คือความเป็น  Local หรือความเป็นท้องถิ่นของตัวธุรกิจ  เช่น  กิจการที่เกี่ยวข้องกับทำเลหรือสถานที่ตั้งของกิจการหรือร้านค้าซึ่งช่วยตัดการแข่งขันของคู่แข่งอื่นโดยเฉพาะต่างประเทศไปได้มาก  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น  การท่องเที่ยว  โรงพยาบาล  ค้าปลีก  เป็นต้น

    บทสรุปของผมก็คือ  แทบทุกอย่างในชีวิตปัจจุบันนั้น  การวิเคราะห์ความสำเร็จและล้มเหลวในปัจจุบันและในอนาคตขึ้นอยู่กับเรื่องของการแข่งขันมากกว่าเรื่องอื่น ๆ  และคนหรือบริษัทที่คิดจะ  “ชนะ” นั้น  จะต้องเข้าใจว่าใครคือคู่แข่งจริง ๆ  อะไรคือปัจจัยในการแข่งขัน  และจะสามารถจำกัดสนามแข่งขันให้อยู่ในท้องถิ่นได้อย่างไร

Thursday, April 28, 2016

สิ่งที่ยากจะหยั่งรู้ / คนขายของ

สิ่งที่ยากจะหยั่งรู้ / โดย คนขายของ


“อย่าลงทุนในสิ่งที่คุณไม่เข้าใจ” เป็นคำพูดที่ Warren Buffett ได้กล่าวไว้ แต่ทุกวันนี้นักลงทุน หลายท่านต้องทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า สิ่งที่ไม่มีความชัดเจนและยากจะคาดเดานั้น ปกติมีความผันผวนสูง และเพราะว่ามีความผันผวนสูง จึงทำให้นักลงทุนบางกลุ่มคาดหวังว่าจะสามารถทำกำไรได้จากความผันผวนนั้น แต่หากเราศึกษาการคาดเดาของผู้รู้ หรือ กูรูที่เป็นคนซึ่งอยู่ในธุรกิจนั้นๆในอดีต เราจะพบว่าการทำนายราคาในอนาคตของเขาเหล่านั้น มีความคลาดเคลื่อนอยู่หลายครั้ง ในบทความนี้ผมจะขอยกเรื่องราคาน้ำมันมาเป็นตัวอย่าง เนื่องจากเป็น สิ่งที่มีความผันผวนสูงยากแก่การคาดเดา แต่การคาดเดาราคาน้ำมันนั้นเป็นสิ่งที่มีให้เห็นอยู่เสมอ

ในปี 2008 หลังจากที่ราคาน้ำมันซึ่งเป็นขาขึ้นมาตลอดในปี 2007 ก็ได้ทะยานขึ้นต่อจากราคา 96$ ต่อบาเรล ในเดือนมกราคม ขึ้นมาสูงถึง 140$ ในตอนกลางปี ในช่วงนั้น Jim Rogers ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้จุดประกายกระทิงในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเริ่มก่อตัวตั้งแต่ปี 2003 และในอดีตเขา ยังเคยเป็นคู่หูของ George Soros ผู้ถล่มค่าเงินปอนด์ในตำนาน ได้ตอบคำถามของสื่อแห่งหนึ่ง ที่ถามเขาว่า “มีสถาบันการเงินแห่งหนึ่งคาดว่าน้ำมันจะขึ้นไปถึง 200$ ต่อ บาเรล คุณเห็นด้วยไหม?” เขาตอบทันทีว่าเขาเห็นด้วยเพราะโลกเราห่างหายจากการค้นพบแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่มาเป็นเวลานาน แต่ภายหลังการให้สัมภาษณ์หกเดือน ราคาน้ำมันจาก 140$ ก็ได้หล่นลงมาราว 70% มาอยู่ที่ 39$ ตอนต้นปี 2009

ใกล้ปัจจุบันเข้ามาอีกนิด ในปี 2014 บริษัทไทยแห่งหนึ่ง ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 2014 ว่าจะอยู่ที่ 104$ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น นอกจากราคาจะไม่ใช่ 104$ แล้ว ราคาน้ำมันในปีนั้นได้ตกลงอย่างรุนแรงตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา จนปิดปี 2014 ราคาน้ำมันกลับเหลือเพียงราว 50$ ทำให้ราคาเฉลี่ยทั้งปีเหลือประมาณ 87$ ผ่านมาในปี 2015 หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ได้ออกบทความ “What went wrong with oil-price forecast?” มีการอ้างถึงการสำรวจความเห็นเรื่องราคาน้ำมัน กับสถาบันการเงินสิบแห่งว่า ราคาน้ำมันในไตรมาสสุดท้ายของปี 2015 นั้นน่าจะอยู่ที่เท่าไร? โดยการสำรวจนั้นทำในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน ผลปรากฎว่า ผลสำรวจให้ราคาน้ำมันอยู่ที่ 50$ แต่ในความเป็นจริงนั้น ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวอยู่ที่ต่ำกว่า 50$ เกือบทั้งไตรมาส

ต้นเดือนมีนาคม 2016 สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับกองทุนเฮจด์ฟันด์ที่เน้นการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ Blenheim Capital Management ว่ากำลังตกที่นั้งลำบาก เนื่องจากสินทรัพย์ที่บริหารอยู่ลดลงราว 85% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวนอย่างมาก อีกทั้งมีผู้ถือหน่วยขอถอนเงินออก เนื่องจากผลประกอบการที่ย่ำแย่ กองทุนนี้มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานนับตั้งแต่ปี 1987 ผู้บริหารมีประสบการณ์และความรู้ความเชียวชาญสูงมาก ในปี 2011 สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) เคยอยู่สูงถึง 9.1 พันล้านเหรียญ Bloomberg ให้เหตุผลการตกต่ำของกองทุนนี้ว่า เป็นเพราะผู้บริหารคาดการณ์ผิด ไม่คิดว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะชะลอตัวลงขนาดนี้

จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าการคาดเดาราคาน้ำมัน หรือราคาสินค้าโภคภัณฑ์นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้แต่คนที่มีประสบการณ์ยาวนาน แม้แต่บุคคลที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรม หรือ แม้แต่นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงิน ล้วนเคยผิดพลาดในการคาดเดามาแล้วทั้งนั้น ดังนั้นการลงทุนในสินโภคภัณฑ์หรือหุ้นที่เกี่ยวเนื่องจึงเป็นสิ่งที่ยากสำหรับนักลงทุนรายบุคคล ซึ่งยังคงนั่งทำงานประจำ และงานประจำก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว แต่เข้ามาลงทุนเพราะเห็นว่าตลาดนี้มีความผันผวนสูง ขึ้นลงเร็วและแรง จึงคิดว่าน่าเสี่ยงน่าลอง แต่กลับกลายเป็นว่านักลงทุนหลายคน ต้องประสบกับความล้มเหลวอย่างคาดไม่ถึง การลงทุนในหุ้นที่ทำธุรกิจทางด้านนี้ จะมีการคาดเดากำไรได้ลำบาก ทั้งนี้เพราะราคาขายสินค้าจะขึ้นลงไปมาตลอด ถ้าเราลองนึกถึง ร้านข้าวขาหมูร้านหนึ่ง ซึ่งราคาขายเปลี่ยนไปทุกวัน วันจันทร์ขาย 30 บาท วันศุกร์เหลือ 20 บาท ที่สำคัญคือ ราคาขายนั้นเจ้าของร้านกำหนดเองไม่ได้ ขึ้นกับตลาดโลกเป็นหลัก เจ้าของร้านจะปวดหัวขนาดไหน และจะต้องเก่งขนาดไหนเพื่อที่จะอยู่รอดได้ในอนาคต ก็ขอฝากไว้ให้ลองคิดดู

Monday, April 25, 2016

ผลกระทบของดอกเบี้ยต่ำ /ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล

อัตราดอกเบี้ยคงที่ของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีที่ประกาศมาล่าสุดที่ประมาณ 1.7% ต่อปีนั้นทำให้ผมรู้สึก  “ช็อก”  ยิ่งกว่าอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางของหลาย ๆ  ประเทศที่พัฒนาแล้ว  เพราะนี่คืออัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของอัตราดอกเบี้ยที่คนฝากเงินหรือนักลงทุนไทยจะได้รับในการนำเงินไปลงทุนในเงินฝากหรือตราสารหนี้ในระยะ 10 ปีข้างหน้า  พูดให้ง่าย ๆ  ก็คือ  ถ้าคุณมีเงินสดเหลือและไม่สามารถที่จะนำไปทำธุรกิจหรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือลงทุนในหุ้น  โอกาสก็คือ  คุณจะต้องไปลงทุนในเงินฝากหรือตราสารหนี้ทั้งระยะยาวและสั้นที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นที่ยอมรับได้    ผลตอบแทนที่จะได้ก็คือประมาณปีละ 2-3% เป็นอย่างมากและมีโอกาสน้อยมากที่อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า

การที่ดอกเบี้ยต่ำมากและจะต่ำอยู่นานมากเป็น 10 ปี ขึ้นไปนั้น  ผลกระทบของมันในแง่ของการลงทุนโดยเฉพาะในหุ้นนั้นย่อมมีมหาศาลและมันอาจจะเปลี่ยน “ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์”ของการลงทุนไปอย่างมากมาย  ลองมาดูว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากนี้อาจจะทำให้เกิดอะไรขึ้นในตลาดทุนหลังจากนี้

ข้อแรกก็คือ  คนจะมีแนวโน้มย้ายเงินมาลงทุนตลาดหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ  แม้ว่าหุ้นจะดูมีราคาแพง  ในอดีตที่อัตราดอกเบี้ยยังสูงนั้น  ตลาดหุ้นมักจะมีราคาโดยเฉลี่ยคิดเป็นค่า PE ประมาณ 10 เท่า ซึ่งแปลว่าถ้าเราลงทุนในตลาดหุ้นโดยเฉลี่ยแล้วเราจะได้ผลกำไรต่อปีประมาณ 10% (หาได้โดยการกลับเศษเป็นส่วนของค่า PE เป็น EP) ซึ่งจะดีกว่าการฝากเงินซึ่งอาจจะได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี  ส่วนต่างที่ได้ก็คือ 5% ต่อปี ซึ่งนี่ก็คือค่าของความเสี่ยงที่นักลงทุนในหุ้นต้องรับ  แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือเพียง 1-2% ต่อปี  ผลตอบแทนจากหุ้นก็ควรที่จะลดลงมาเหลือเพียง 6-7% ต่อปี  ซึ่งถ้าคิดเป็นค่า PE ก็จะเท่ากับค่า PE ที่ประมาณ 15 เท่า  ข้อสรุปก็คือ  นับจากวันนี้  ค่า PE ของตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่เกิน 15-16 เท่าก็ถือว่าเป็นตลาดหุ้นที่  “ไม่แพง”  พอลงทุนได้  เพราะมันยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีประมาณปีละ 6-7%  “ดีกว่าการฝากเงินประมาณ 5%”

ข้อสอง  การที่ดอกเบี้ยต่ำมากเป็นประวัติการณ์และจะต่ำแบบนี้ต่อไปอีกนานนั้น  แปลว่าการลงทุนสร้างโรงงานหรือทรัพย์สินถาวรเพื่อประกอบธุรกิจจะมีหรือเติบโตน้อยลงไปมากและเป็นอย่างนั้นอีกนาน  ผลที่ตามมาก็คือ  เศรษฐกิจก็น่าจะโตช้าลงและจะคงอยู่อย่างนั้นอีกนาน  ถ้าจะพูดก็คือ  เศรษฐกิจไทยนั้นคงโตได้ประมาณไม่เกิน 3-4% เป็นอย่างมากในระยะเวลาหลายปีข้างหน้า  และถ้าเหตุการณ์เลวร้ายลง  เช่น  เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าด้วย  เศรษฐกิจไทยก็อาจจะถึงจุด “อิ่มตัว”  และติดกับดัก  “คนชั้นกลาง”  ประเทศไม่สามารถกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้  ซึ่งนี่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นเมื่อคำนึงถึงว่าคนไทยแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและจะกลายเป็น  “สังคมคนแก่”  ในอีกประมาณ 10-20 ปี ข้างหน้า

ข้อสาม  ถ้าเศรษฐกิจไม่โต  ตลาดหุ้นก็ไม่สามารถโตได้  และตลาดหุ้นนั้นก็จะต้องสะท้อนภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว  ผลก็คือ  การลงทุนในตลาดหุ้นนั้น   น่าจะให้ผลตอบแทนต่อปีที่น้อยลง  ในอดีตย้อนหลังไป 41 ปี ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปี  โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นประมาณ 6.6% ต่อปีและเป็นปันผลประมาณ 3.4% ต่อปี  อนาคตผมคิดว่าตลาดหุ้นน่าจะให้ผลตอบแทนน้อยลง  ผมคิดคร่าว ๆ  ว่าผลตอบแทนรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6% ต่อปี  โดยที่ราคาหุ้นน่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% ในขณะที่ปันผลจะให้ผลตอบแทนปีละประมาณ 3% เช่นเดียวกัน  นั่นแปลว่าการลงทุนนับจากนี้  ปันผลจะถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญมากเท่า ๆ  กับการปรับขึ้นของราคาหุ้นในการพิจารณาเลือกหุ้นลงทุน

ข้อสี่ อัตราเงินเฟ้อของไทยที่ในอดีตเคยสูงและต่อมาลดลงเรื่อย ๆ  จนเหลือต่ำมากเพียง 1-2% ต่อปี ก็น่าจะมีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมากต่อเนื่องไปอีกนานหลาย ๆ  ปี โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาสูงนั้นเป็นไปได้ยาก  นี่ก็คงคล้าย ๆ  กับประเทศที่ค่อนข้างเจริญส่วนใหญ่ในโลกที่เงินเฟ้อน่าจะกลายเป็นเรื่องในอดีตไปแล้วเนื่องจากการผลิตของโลกมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นและสินค้าสามารถเคลื่อนย้ายไปค่อนข้างเสรีทั่วโลก  การขาดแคลนสินค้าและวัตถุดิบที่จะทำให้เกิดเงินเฟ้อมีน้อย

ข้อห้า  ในภาพของธุรกิจหรือบริษัทจดทะเบียนนั้น  บริษัทที่มีหนี้มากที่นักลงทุนเคยเกรงว่าจะมีปัญหาและ Discount หรือให้มูลค่าหุ้นต่ำลงนั้น  การที่ดอกเบี้ยลดลงมากทำให้บริษัทจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นโดยเฉพาะเมื่อหนี้ก้อนเดิมถึงกำหนดและบริษัทกู้หนี้ใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง  ดังนั้น หุ้นของบริษัทเหล่านั้นก็อาจจะมีมูลค่าที่สูงขึ้นได้ในอนาคตมองจากมุมของดอกเบี้ยที่จะจ่ายน้อยลง

ข้อหก  การทำ M&A หรือการซื้อกิจการเพื่อการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนน่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงและการที่สถาบันการเงินและตลาดการเงินมีสภาพคล่องสูง  ดังนั้น  บริษัทที่มีความมั่นคงและมีหนี้ไม่มากก็จะมีความสามารถในการกู้เงินระยะยาวที่จะใช้ซื้อกิจการที่มีกำไรที่แน่นอนพอสมควรโดยที่ราคาซื้อหุ้นอาจจะสูงกว่าปกติได้  เหตุผลก็คือ  บริษัทที่เทคโอเวอร์บริษัทอื่นนั้นอาจจะคิดว่าตนเองสามารถนำกำไรจากบริษัทเป้าหมายมาจ่ายดอกเบี้ยจากการกู้เงินมาซื้อได้โดยที่ตนเองไม่ต้องเพิ่มทุนหรือเพิ่มไม่มาก

ข้อเจ็ด  บริษัทที่มีการจ่ายปันผลที่ดีกว่าเฉลี่ยของตลาดและมีความมั่นคงของผลประกอบการและมีกระแสเงินสดที่ดีน่าจะกลายเป็นหุ้นที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น  นี่อาจจะรวมถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงสูงเช่นกลุ่มธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่จ่ายปันผลถึง 4-5% ต่อปี เหตุผลก็เพราะว่านักลงทุนมั่นใจว่าอย่างน้อยถ้าถือหุ้นเหล่านั้นก็จะได้ปันผลที่สูงกว่าเงินฝากปีละ 1-2% มาก  ดังนั้นพวกเขาอาจจะเข้าไปซื้อหุ้นเพื่อลงทุนระยะยาวและได้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงิน  เพราะต่อให้หุ้นไม่ขึ้นเลยทั้งปีเขาก็ยังได้กำไรมากกว่าการถือเงินสดและฝากไว้ในธนาคาร

ข้อแปด  เช่นเดียวกับหุ้น  กองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REIT และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีรายได้ค่อนข้างแน่นอนและให้ผลตอบแทนอยู่ในหลัก 7-8% ต่อปีก็จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากคนที่ถือเงินสดมากแต่ไม่กล้ารับความเสี่ยงหรือความผันผวนของหุ้นจะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  แม้ว่าผลตอบแทนในกองทุนเหล่านั้นจะค่อย ๆ  ลดลงเพราะราคาหน่วยลงทุนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ที่  “ทำนาย”  แนวโน้มระยะยาวต่าง ๆ  ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นผมก็ไม่รับรองว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นการพยากรณ์ที่บอกว่าจะเกิด  “New Normal” หรือ “มาตรฐานใหม่”  ซึ่งแตกต่างจากเดิมไปมาก  การทำนายแบบ “สุดโต่ง” แบบนั้นมักจะมีโอกาส “หน้าแตก” ได้ง่าย ๆ  และเราก็ได้เห็นมามากแล้ว  ตัวอย่างเช่นการทำนายก่อนหน้านี้เรื่องปริมาณการผลิตน้ำมันที่จะลดลงมากและราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นมากซึ่งภายใน 3-4 ปี ก็ปรากฏว่าทุกอย่างเป็นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง  ดังนั้น  สิ่งที่ผมเขียนในวันนี้จึงอาจจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต  ตลาดของอัตราดอกเบี้ยต่ำมากขณะนี้อาจจะ  “ผิด”  เช่น  ภายใน 3-4 ปีข้างหน้าดอกเบี้ยอาจจะเปลี่ยนเป็น  “ขาขึ้น”  อย่างแรง  และคนที่คิดและกำหนดกลยุทธ์การลงทุนโดยเน้นไปที่สมมุติฐานของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ต่ำมากก็อาจจะเจ็บตัวหรือเสียหายหนักก็ได้

เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นถ้าเราคาดสถานการณ์ผิด  สิ่งที่เราควรทำก็คือ  ทุกครั้งที่จะลงทุนไม่ว่าจะเรื่องอะไร  เราจะต้อง “เผื่อ”  หรือกำหนด Margin of Safety ไว้เสมอนั่นก็คือ  ถ้าเราคาดสถานการณ์ผิด  หุ้นหรือหลักทรัพย์ที่เราลงทุนก็ยังอยู่ได้  อย่างน้อยก็ไม่กลายเป็นหายนะ  และนั่นคือ  “กฎเหล็ก”  ที่ VI ทุกคนจะต้องรักษาไว้ตลอดเวลา


Mega Trend ยุคของหุ่นยนต์ (2) /วีระพงษ์ ธัม


เราอาจจะไม่รู้ว่า ธุรกิจขนาดใหญ่บนโลกในยุคนี้ ก้าวขึ้นมาได้ไม่ใช่เพราะความสามารถของ “คน” เพียงอย่างเดียว แต่มี “มือที่มองไม่เห็น” ที่ฉลาดขึ้นทุกวันอย่าง AI (Artificial Intelligence) เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง นับตั้งแต่ที่มนุษย์ให้กำเนิด AI ในปี 1958 พวกมันพิสูจน์ตัวเอง ว่าสามารถช่วยงานมนุษย์ได้จริง จนในที่สุด AI ก็ชนะมนุษย์แล้วในหลาย ๆ หน้าที่ มันกำลังผนวกเข้ากับชีวิตผู้คน เข้ากับธุรกิจ และสังคมมนุษย์ AI กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว

            ชัยชนะของ AI ที่ชาญฉลาดช่วยให้ Google ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทอันดับต้น ๆ ของโลก ด้วยความฉลาดในการ ของ Search Engine ที่ช่วย “ค้นหา” ทุกสิ่งที่มนุษย์อยากได้ ทุกสิ่งที่มนุษย์อยากรู้ นี่คือ “ผู้ช่วยที่มองไม่เห็น” ของมนุษย์ที่เราสามารถนำไปติดตัวไปทุกที่บนมือถือของคนทุกคน APPLE สร้าง AI ที่จัดการงานสั่งงานด้วยเสียงอย่าง SIRI การคาดการณ์การพิมพ์โดย AI (ซึ่งแต่เดิมเราต้องใช้ปากกา Stylus จิ้มหน้าจอ) ก็ช่วยให้ iPhone 1 ชนะ Smart Phone ทุกรุ่นไปอย่างรวดเร็ว

            ในด้านสังคมศาสตร์ AI ของ Facebook ช่วยให้เราติดต่อกับ “เพื่อนสนิท” หรือ “เพื่อนที่เราน่าจะสนิท” อย่างง่ายดายบน Newsfeed ปัจจุบันเราอาจจะไม่ได้เป็นคน “เลือก” ที่จะคุยกับเพื่อนคนไหนอีกต่อไป แต่ AI ต่างหากที่ช่วยจัดหมวดหมู่เพื่อน ช่วยให้เราคุยกับคนที่เราอยากจะคุย เวลาเราต้องการ Shopping ก็มี AI ใน Amazon ทำหน้าที่ช่วยแนะนำสินค้าที่เราน่าจะสนใจ โดยศึกษาจากพฤติกรรมของเรา ผนวกกับฐานข้อมูล จนกลายเป็น “นักขายชั้นยอด” ที่สามารติดต่อกับคนนับล้านคนได้ในเวลาเดียวกัน และ AI คือส่วนสำคัญที่ช่วยให้ e-commerce เติบโตขึ้นมาอย่างน่ากลัวในทุกแห่งของโลก

            ผลสืบเนื่องจากบทความที่แล้วเมื่อเซียนหมากล้อมเกาหลีอย่างลี เซดอล แพ้ AI ที่ชื่อว่า Alpha Go “รัฐบาลเกาหลี” ตอบโต้โดยการทุ่มเงิน 1 ล้านล้านวอน ใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อสร้าง “AI” ที่เก่งกว่า เป็นที่แน่ชัดว่า นี่คือสงคราม AI โดย “มนุษย์” ต้องยืนดูอยู่ข้าง ๆ ผลผลิตของพวกมัน ช่วยให้บริษัททั้งหลายก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางธุรกิจ เราอยู่ในยุคที่ “เปลี่ยนมือ” จากบริษัทที่พึ่งพิงมนุษย์ กลายมาเป็นพึ่งพิง AI ว่าของใครเก่งกว่ากัน

            Elon Musk เคยพูดว่า การสร้าง AI เสมือนเรากำลังจะเสกปีศาจขึ้นมา และการนี่คือภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุดต่อการคงอยู่ของมนุษย์ คล้าย ๆ กับหนังภาพยนต์ฮอลลี่วู๊ดที่เราเคยดู แต่นี่คือสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะควบคุมและใช้ประโยชน์มันได้อย่างไร

            มนุษย์อาจจะต้องเริ่มคิดผลกระทบของ AI ต่อ “งาน” ของตัวเอง IBM ที่ชื่อ WATSON กำลังทำให้ “จัดซื้อ” อาวุธให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐด้วยตัวเอง วงการแพทย์กำลังจะมี AI หลายตัวช่วยวินิจฉัยโรค ช่วยคาดการณ์ความน่าจะเป็นของโรคตั้งแต่เรื่องการควบคุมอาหารจนถึงโรคมะเร็ง ในวงการการเงิน AI ที่ชื่อ PEFIN รุ่น beta กำลังจะช่วยวางแผนการเงินให้กับคนทั้งโลกอย่างสมบูรณ์ได้เป็นครั้งแรก สำหรับวงการลงทุน ไม่มีอะไรดีกว่า AI เพราะพวกมันสามารถทำงานได้ไม่มีวันเหนื่อย มันสามารถหาหุ้นได้ตลอดเวลา ตรวจสอบข่าวสาร หาหุ้นที่ “ราคาถูก ต่ำกว่ามูลค่า” พวกมันไม่มีอคติ สามารถเข้าใจและคาดคะเนงบการเงินได้ทะลุปรุโปร่ง สามารถซื้อขายหุ้นได้โดยใช้เวลาชั่วพริบตา นี่คือสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดขึ้นคงเปลี่ยนวงการลงทุนไปมากทีเดียว

            ไม่นับการนำ AI มาใช้เทรดหุ้น ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ช่วย การวิเคราะห์ความน่าจะเป็น โดยใช้ปัจจัยด้าน “ราคา” และ “ปริมาณการซื้อขาย” ย่อมซับซ้อนน้อยกว่ามาก ไม่น่าแปลกใจที่ 50-60% ของการเทรดในตลาดอเมริกาถูกกระทำด้วย AI ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นกองทุนที่ทำงานโดยหุ่นยนต์ที่สามารถคิดเอง สามารถปรับปรุงกลยุทธ์ได้ด้วยตัวเองตลอดเวลา อย่างสมบูรณ์ในไม่ช้า

            นี่อาจจะเป็นเรื่องหนึ่งที่เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งในแง่ว่า มันจะเกิดประโยชน์ และภัยคุกคามให้กับบริษัทไหน ที่อันตรายยิ่งไปกว่า คือมันจะคุกคาม “ตัวเราเอง” หรือไม่ พัฒนาการของมันอาจจะเร็วเกินไปที่จะบอกว่า “เมื่อไหร่” มันจะเกิดขึ้น หรือมันจะ “น่ากลัว” อย่างที่คนพูดถึงกันหรือไม่ แต่คนที่เตรียมตัวย่อมเป็นผู้ที่ได้เปรียบ ทักษะของมนุษย์ที่ยังจำเป็นอยู่ คือการคิดวิเคราะห์อย่างซับซ้อน ความคิดสร้างสรรค์ การจัดการอารมณ์ระหว่างมนุษย์ ทักษะไหนที่หุ่นยนต์เลียนแบบเราได้ เราคงต้องเลิกให้ความสำคัญไป เพราะ Megatrend เรื่องหุ่นยนต์คงไม่ใช่เพียงแค่เรื่อง “วิทยาศาสตร์” หรือ “หนังภาพยนตร์” อีกต่อไป แต่นี่คือเรื่องเกี่ยวข้องกับวงการอื่น ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำถามที่ว่าเราจะเลี้ยงดู ให้การศึกษา เด็กรุ่นใหม่ ให้ “ทำงาน” คู่กับ AI ได้อย่างไร

อ่านเรื่อง Mega Trend ยุคของหุ่นยนต์ บทความ 1 โดยคุณวีระพงษ์ ธัม 

Monday, April 18, 2016

นกในกงสี/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร



 ผมมีเพื่อนสมัยที่เรียนในมหาวิทยาลัยหลายคนที่ในตอนนั้นเป็นลูกของครอบครัวคนรวยที่ทำธุรกิจ  ในขณะนั้นผมและเพื่อนคนอื่น ๆ  ต่างก็เห็นว่าพวกเขาก็คือคนที่โชคดีที่ “เกิดมารวย”  มีเงินใช้จ่ายได้ฟุ่มเฟือย  บางคนมีรถขับ  บางคนได้รับการ “ยอมรับ”  จาก “ผู้ใหญ่” และสังคมมากกว่าคนอื่น  ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ  พวกเขามักได้ “แฟนสวย”  หรือเป็นแฟนที่ “ไฮโซ”  เป็น “ดอกฟ้า”  ที่คนในมหาวิทยาลัยต่างก็หมายปอง   ผมไม่ได้อิจฉาอะไรกับพวกเขา  เราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเหมือนกับเพื่อนคนอื่น ๆ  น่าจะพูดได้ว่าแทบจะไม่มีช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์  จริง ๆ  ก็น่าจะต้องเป็นอย่างนั้น  เพราะในสมัยก่อนนั้น  กิจกรรมที่ทำร่วมกันก็มักจะวนเวียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ได้ใช้เงินทองอะไร  ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นนอกรั้วมหาวิทยาลัยหรือความเป็นอยู่ที่บ้านเขาจะเป็นอย่างไรนั้น  เราก็ไม่ได้รับรู้อยู่แล้ว   แต่ความคิดลึก ๆ  ของผมในตอนนั้นก็คือ  เราจะไม่มีทางเป็นแบบพวกเขาหรือรวยเท่าได้  โอกาสที่จะร่ำรวยอย่างสุจริตของคนในสังคมในเวลานั้น  ดูเหมือนว่าจะต้องพึ่งพิงอยู่กับการเป็นเจ้าของธุรกิจเป็นหลัก  แต่การเป็นเจ้าของธุรกิจก็ต้องพึ่งพาเงินทุน  คอนเน็คชั่น  และประสบการณ์หรือฐานทางธุรกิจ ซึ่งสำหรับผมแล้ว  เป็นไปไม่ได้!

    แต่แล้วเศรษฐกิจของไทยก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  เวลาผ่านไปกว่า 40 ปี ผมก็พบว่า  เรื่องแรก  เพื่อนหลายคนที่เป็นลูกเจ้าของธุรกิจที่  “ร่ำรวย”  ในสมัยนั้น  ตอนนี้บางคนก็อาจจะยังทำธุรกิจอยู่แต่เป็นธุรกิจ “ธรรมดา ๆ”  ที่มีการแข่งขันสูงมากและไม่ได้ทำเงินอะไรนัก  คิดแล้วแทบไม่ต่างจากการเป็นพนักงานระดับสูงในบริษัท  เขาไม่ได้เป็น “คนรวยมาก” อีกต่อไปแล้ว  เรื่องที่สองก็คือ  หลายคนนั้น  ขณะนี้ไม่ได้ทำธุรกิจหรือทำงานอยู่กับทางบ้านเนื่องจากตนเองไม่ใช่  “พี่ชายคนโต”  ที่รับช่วงบริหารธุรกิจของ  “กงสี” ต่อจากพ่อแม่  เขาทำงานเป็นพนักงานระดับสูงขององค์กรบริษัทขนาดใหญ่  มีเงินเดือนและรายได้ดีพอสมควรแก่อัตภาพแต่ไม่ใช่คนรวยอีกต่อไป  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ธุรกิจเดิมของครอบครัวหรือของพ่อแม่นั้นถดถอยหรือ “ดับ” ไปนานแล้ว  ส่วนผู้นำ “กงสี” คนใหม่ที่มักจะเป็น “พี่ชายใหญ่”  นั้น  บางครอบครัวก็  “เจ๊ง” ไปแล้วเพราะธุรกิจนั้นกำลัง “ล้าสมัย” หรือหมดยุคไม่สามารถแข่งขันได้ในปัจจุบัน   บางครอบครัวพี่ใหญ่ก็ไปเริ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือธุรกิจใหม่ที่เป็นของ “ส่วนตัว”  ที่มักอาศัย  “ฐานธุรกิจ” หรือเงินจากกงสีเดิม  ในระหว่างนั้น  ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในกงสีก็เสื่อมลงอย่างรุนแรงจนแทบไม่มองหน้ากัน

    กรณีสุดท้ายก็คือเพื่อนที่เคยรวยมาก “ระดับชาติ”  และธุรกิจของครอบครัวเป็นสินค้าที่ยังเติบโตหรือมีความต้องการอยู่แม้ว่าการเติบโตจะไม่มากแล้วในขณะนี้  ปัจจุบันพวกเขายังทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือสูงสุดของกลุ่มบริษัทที่ครอบครัวยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  หลาย ๆ  บริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ “กงสี” ของเขาก็ยังอยู่แต่กลายเป็น Holding Company ที่ถือหุ้นหลาย ๆ  บริษัท  อย่างไรก็ตามค่าที่มีพี่น้องจำนวนมากมาย  รวมถึงเขยและสะใภ้และลูกหลานของพวกเขาอีกจำนวนเป็นทวีคูณ  การแบ่งหุ้นก็จะกระจายมาก  คิดแล้วแต่ละคนก็มีหุ้นไม่มากอย่างที่คิด  เขาอาจจะยังรวยเป็นเศรษฐี  แต่ก็ไม่ใช่มหาเศรษฐีอย่างในสมัยก่อนที่สังคมเห็น  แต่นี่ก็คือ “กงสี” ส่วนน้อยมากที่ประสบความสำเร็จสูงและสามารถรักษาความมั่งคั่งและความสัมพันธ์ของครอบครัวไว้ได้ในระดับหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่าอนาคตก็คงไม่เข้าข้างพวกเขาเท่าไร  เพราะนับวันดูเหมือนว่าธุรกิจจะด้อยลงเมื่อเทียบกับธุรกิจใหม่ ๆ  ที่เติบโตเร็วกว่ามาก

    เหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจกงสีตกต่ำลงมาต่อเนื่องนั้น  ผมคิดว่าเป็นเพราะธุรกิจของกงสีมีโครงสร้างการถือหุ้นและการบริหารที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะในโลกยุคใหม่ที่มีการแข่งขันสูงขึ้นมากเช่นเดียวกับการที่จะต้องปรับตัวและอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจสูงกว่าเดิมมากซึ่งธุรกิจกงสีไม่มี    ในประเด็นการถือหุ้นนั้น  ดูเหมือนว่าผู้นำหรือหัวหน้ากงสีจะ “ผูกขาด”  คือถือหุ้นทั้งหมด  แต่จะ “แบ่ง”  เงินที่ได้กำไรให้แก่สมาชิกตามความพอใจของตน  ในกรณีที่หัวหน้าเป็นพ่อแม่  ประเด็นความไม่พอใจก็อาจจะไม่รุนแรงมากนัก  แต่ในกรณีที่เป็นพี่ชายใหญ่หรือพี่น้องคนใดคนหนึ่ง  ปัญหาก็จะมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมาชิกเริ่มมี  “คนนอก”  เช่นสะใภ้หรือเขยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  นี่ทำให้แรงจูงใจในการทำงานอย่างทุ่มเทของสมาชิกกงสีลดน้อยลงและไม่สัมพันธ์กับรายได้ที่เขาจะได้รับ  บางกงสีนั้นอาจจะมีการแบ่งการถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน  แต่ในทางปฏิบัติเองนั้น  เนื่องจากระบบบัญชีไม่มีมาตรฐานและการอนุมัติรายจ่ายต่าง ๆ  นั้นมักจะอยู่ในมือของสมาชิกที่มีอำนาจซึ่งก็คือหัวหน้ากงสี  การแบ่งผลประโยชน์ก็มักจะมีปัญหาอยู่ดี  นั่นส่งผลให้ธุรกิจไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควรเป็น  และสุดท้าย  ความมั่งคั่งของกงสีก็มักจะลดลงเรื่อย ๆ จนสุดท้ายอาจจะต้องล้มหายตายจากไป

    การแก้ปัญหาของกงสีนั้น  ดูเหมือนว่าวิธีที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ  การเอาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างการบริหารและการถือหุ้นของสมาชิกแต่ละคนได้มาก  อย่างไรก็ตาม  บริษัทที่จะสามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหรือเจ้าของยินดีที่จะเข้าจดทะเบียนนั้นน่าจะเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจกงสีทั้งหมด  ดังนั้น  วิธีที่จะทำให้ธุรกิจของกงสีดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้พี่น้องมีความปรองดองกันและมีความสัมพันธ์ที่ดีนั้นน่าจะอยู่ที่การจัดการหรือปรับโครงสร้างของหัวหน้ากงสีโดยเฉพาะที่เป็นพ่อแม่  เนื่องจากลูกหลานจะยอมรับมากกว่าที่หัวหน้าจะเป็นพี่น้องกัน  ประเด็นนี้มักจะไม่เกิดขึ้นง่าย  เหตุผลก็เพราะว่าพ่อแม่นั้นมักจะไม่เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งก็แน่นอนเพราะเขายัง  “คุมเงินทุกบาททุกสตางค์”  ใครกล้า “หือ” ก็อาจจะ “ถูกตัดออกจากกองมรดก”  ได้

    ประสบการณ์ของผมกับเรื่องของกงสีนั้น  ผมแทบจะกล้าบอกได้เลยว่าแทบทุกแห่งมีปัญหา  ถ้าไม่ใช่เรื่องของธุรกิจที่แย่ลงหรือเจ๊งก็จะเป็นเรื่องของการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงผลประโยชน์ของสมาชิกหลังจากที่พ่อแม่เสียชีวิตหรือหมดบทบาทไปแล้ว  ปัญหาสำคัญที่การปรับโครงสร้างของกงสีทำไม่ได้หรือทำไม่ได้ดีอยู่ที่ว่าพ่อแม่ที่เป็นหัวหน้ากงสีนั้นมักจะไม่ยอม “แบ่งสมบัติ” ก่อนที่ตนเองจะตายหรือหมดความสามารถหรือต้องการเกษียณ  นี่ก็อาจจะเป็นเรื่องของสัญชาติญาณมนุษย์ที่อยากจะมีอำนาจอย่างน้อยก็กับลูกหลานของตน  คนกลัวว่าถ้าให้ไปหมดแล้วลูกหลานจะไม่ฟังตนเองอีกต่อไปและอาจจะใช้เงินไปอย่างไม่ระมัดระวัง  เฉพาะอย่างยิ่งคนเอเชียอย่างเราที่มักมองลูกว่ายังเป็น “เด็ก”  ที่ต้องการเราคอยปกป้อง  เป็น “นกในกรงทอง”  ถ้าปล่อยให้เป็นอิสระก็อาจจะเอาตัวไม่รอด   บางคนก็คิดว่าอยากที่จะให้ลูกหลานอยู่ด้วยกันช่วยเหลือดูแลกันต่อไปเรื่อย ๆ  ถ้าปล่อยให้เป็นอิสระก็จะมีบางคนเอาตัวไม่รอด  ดู ๆ ไปแล้วก็อุปมาเหมือนกับการพยายาม  “เลี้ยงนกในกงสี”  ของพ่อแม่  แต่ประเด็นก็คือ  วันหนึ่งกงสีก็อาจจะ “แตก”  และเวลานั้น  นกบางตัวที่ถูกเลี้ยงไว้ใน “กงสี” ก็เอาตัวไม่รอดอยู่ดี

    ส่วนตัวผมเองคิดว่าการได้อยู่ในกงสีนั้นก็ยังเป็น  “โชคดี” อยู่ดีเพราะเขามี “แต้มต่อ”  ไม่น้อยในการที่จะเติบโตและประสบความสำเร็จในชีวิต  อย่างไรก็ตาม ในสังคมปัจจุบันนั้น  คนที่มีความสามารถและมีทัศนคติที่ถูกต้องก็สามารถประสบความสำเร็จและร่ำรวยได้เช่นเดียวกันและไม่น้อยไปกว่ากัน  ประสบการณ์กว่า 40 ปี ที่ผ่านมาของผมเป็นเครื่องยืนยันได้  โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าผม “โชคดี” ที่ไม่ได้อยู่ใน “กงสี”  และก็จะไม่มี “กงสี” ให้กับลูกหลาน   การทะเลาะกันของลูกหลานนั้นผมคิดว่าไม่คุ้มค่า  ดังนั้น  ถ้าผมมีกงสี  เช่นเดียวกับที่หลายคนมี  ผมก็จะ “จัดการ” ทุกอย่างที่จะทำให้อนาคตของกิจการและลูกหลานไม่มีปัญหา  และนั่นก็คือสิ่งที่ทุกคนต้องการไม่ใช่หรือ

Sunday, April 17, 2016

Magic Formula โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล



ปัญหาของนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ Value Investor ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ  เขาไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะวิเคราะห์ตัวหุ้นที่เขาจะเลือกลงทุน  นอกจากนั้น  เขาก็อาจจะไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะวิเคราะห์คุณภาพของกิจการหรือคาดการณ์อนาคตของบริษัทว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง  เหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าเขา  “ไม่เก่งพอ”  หรืออาจจะเพราะว่าเขาไม่มีเวลาพอที่จะทำอย่างนั้น  เช่น  การลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่เขามักไม่ค่อยมีโอกาสสัมผัสกับธุรกิจของบริษัทมากนัก  ในกรณีแบบนี้ VI จะทำอย่างไร?

ถ้าเป็นในอดีตที่ข้อมูลโดยเฉพาะที่เป็นตัวเลขของกิจการและหุ้นยังเป็นสิ่งที่หาได้ยาก  การลงทุนในแบบ VI ก็ทำได้ยาก  แต่ในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าสูงมากในด้านของอินเตอร์เน็ตและข้อมูลต่าง ๆ  ที่หาได้ง่าย  “เพียงแค่ปลายนิ้ว”  การลงทุน “แบบ VI” ก็ทำได้ง่ายขึ้นมาก  และอาจจะไม่ต่างจากการลงทุน “แบบเทคนิค” ที่ทำได้ในชั่วพริบตา    ลองมาดูกันว่าทำอย่างไร

วิธีลงทุนแบบ VI ที่ “ไม่ต้องวิเคราะห์” นี้ก็คือการลงทุนที่เรียกว่า Mechanical Trading หรือการลงทุนโดยใช้สูตรทางคณิตศาสตร์ที่จะมากรองหุ้นเพื่อที่จะเลือกหุ้นลงทุน  สูตรที่ใช้ก็คือตัวเลขที่เกี่ยวกับพื้นฐาน เช่น  อัตราการทำกำไรและการเติบโตของกิจการ  และอัตราความถูกความแพงของราคาหุ้น  เป็นต้น  ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สามารถที่จะหาได้ง่าย ๆ  จากข้อมูลที่อยู่ในคอมพิวเตอร์หรือในเว็บไซ้ต์ต่าง ๆ  ทั้งที่ให้ฟรีและต้องเสียเงินซื้อ

สูตรที่มีการศึกษาในอดีตและพบว่าสามารถเลือกหุ้นเป็นพอร์ตและทำกำไรและผลตอบแทนได้น่าประทับใจนั้น  เริ่มแรกก็เป็นสูตรที่เน้นเลือกหุ้นที่มีราคาถูกแนว “VI ดั้งเดิม”  ซึ่งสูตรหนึ่งที่ใช้กันมากก็คือ  เลือกหุ้นที่มีค่า PE ต่ำ เช่น  ไม่เกิน 10 เท่า  และค่า PB ต่ำ  เช่นไม่เกิน 1 เท่า  และค่า Dividend Yield สูง  เช่น  ไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปีในปีล่าสุด  หุ้นตัวไหนที่เข้าข่ายทั้งสามข้อก็จะถูกเลือกเข้ามาลงทุนในพอร์ต  โดยที่ทุกตัวจะลงทุนเท่า ๆ  กันเช่นอาจจะตัวละ 10,000 บาท  จำนวนหุ้นที่เข้าข่ายอาจจะประมาณ 50 ตัว  ใช้เงินไปประมาณ 500,000 บาท  หลังจากซื้อในตอนต้นปีก็จะถือไปถึงสิ้นปีแล้วเราก็จะคำนวณว่าพอร์ตมีมูลค่าเท่าไร  อาจจะเป็น 700,000 บาทหรือกำไร 40% ต่อปี รวมเงินปันผลแล้ว) ในปีแรก  หลังจากนั้นเราก็จะเอาหุ้นทั้งตลาดมาเลือกใหม่ด้วยสูตรเดิม  เราอาจจะได้หุ้นจำนวน 35 ตัวที่เข้าเกณฑ์ที่จะลงทุน  โดยที่แต่ละตัวเราจะลงทุนเท่า ๆ  กันคิดเป็นเงินตัวละ 20,000 บาท  ซึ่งสิ่งที่เราจะทำก็คือการ “Rebalance” หรือการปรับพอร์ตหุ้น 50 ตัวของเราให้เป็นไปตามพอร์ตใหม่ 35 ตัวที่เราคัดไว้แล้ว  เราจะทำแบบนี้ซ้ำ ๆ  ไปเรื่อย ๆ  ทุกปีตราบที่เรายังลงทุนอยู่และนี่ก็คือสูตรแรก

สูตรแบบที่สองที่ภายหลังเริ่มมีคนเสนอและใช้กันมากขึ้นจนอาจจะมากกว่าสูตรแบบแรก  นั่นก็คือสูตรที่ใช้ข้อมูลด้าน “คุณภาพ” ของกิจการ  เช่นการทำกำไรที่วัดโดยผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นหรือ ROE ประกอบกับข้อมูลความถูกความแพงที่วัดด้วยค่า PE ของหุ้น  และสูตรหนึ่งที่น่าจะเป็นที่นิยมไม่น้อยนั้นเสนอโดย Joel Greenblat ในหนังสือชื่อ The Little Book That Beats The Market ซึ่งเขาเรียกมันว่า  Magic Formula (MF) หรือ  “สูตรมหัศจรรย์” เพราะจากการศึกษาย้อนหลังพบว่ามันให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดมหาศาลคิดเป็นปีละกว่า 20-30% โดยเฉลี่ยเป็นเวลายาวนานถึง 17 ปี ตั้งแต่ปี 1988 ถึง 2004 เปรียบเทียบกับผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์อเมริกาที่ประมาณ 10% ต้น ๆ  ต่อปี

เกณฑ์ของ MF คร่าว ๆ ก็คือ  การเลือกหุ้นที่มี “ROE สูงที่สุด และ PE ต่ำที่สุด”  พูดง่าย ๆ  ก็คือ “คุณภาพดีสุดแต่ราคาต่ำสุด”  โดยวิธีที่เขาทำก็คือ  ข้อแรก  เขาจะเรียงลำดับหุ้นทุกตัวในตลาดด้วยค่า ROE แล้วก็จะกำหนดตัวเลข 1 ให้แก่ตัวที่มี ROE สูงที่สุด  ตัวเลข 2 ให้แก่หุ้นตัวที่มี ROE สูงที่สุดอันดับสอง  และไล่ไปเรื่อย ๆ  กับหุ้นทุกตัว  ขั้นตอนที่สอง  เขาจะเรียงลำดับหุ้นทุกตัวใหม่ด้วยค่า PE จากต่ำสุดไปสูงสุด  จากนั้นก็ให้ตัวเลขหุ้นที่มีค่า PE ต่ำสุดเป็นเลข 1  หุ้นที่มีค่า PE ต่ำที่สุดเป็นอันดับสองก็ได้ตัวเลข 2 ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ  กับหุ้นทุกตัว  ในขั้นตอนที่สาม เขาจะเอาตัวเลขค่า ROE กับค่า PE ของหุ้นแต่ละตัวมาบวกกันหรือรวมกันเพื่อให้ได้ตัวเลขที่เรียกว่า  “คะแนน”  ของหุ้น  โดยที่คะแนนน้อยคือหุ้นที่ดีเพราะจะเป็นหุ้นที่มีคุณภาพดีแต่ราคาถูก  ในขั้นตอนที่สี่นั้น  เขาจะเอาหุ้นทุกตัวมาเรียงลำดับตามคะแนนและเลือกเฉพาะหุ้นที่มีคะแนนต่ำที่สุด 30 ตัวแรกมาลงทุนตั้งแต่ต้นปี  เมื่อถึงปลายปี  เขาก็จะปรับพอร์ตใหม่โดยใช้เกณฑ์เดิมและทำซ้ำ ๆ  แบบเดียวกับในกรณีแรกที่ใช้สูตรหุ้นถูกที่ผมกล่าวถึงแล้ว

ในตลาดหุ้นไทยเองนั้น  ดร. ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา ที่นิด้าได้ทำการศึกษาทดสอบผลการลงทุนโดยใช้ทั้งเกณฑ์แบบแรกและ Magic Formula กับตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 1996 -2010 คิดเป็นเวลา 15 ปี ก็พบว่าพอร์ตสามารถทำผลตอบแทนสูงอย่าง “น่ามหัศจรรย์”  คือแบบ VI ดั้งเดิมให้ผลตอบแทนทบต้นโดยเฉลี่ยปีละ 36.69% เทียบกับตลาดที่เพียง 2.4% เงิน 1 ล้านบาทกลายเป็น 108.7 ล้านบาทเทียบกับ 1.42 ล้านบาทในกรณีของตลาด  และในกรณีที่ใช้ MF นั้น  ให้ผลตอบแทนปีละถึง 66.18% เทียบกับ 2.4% ของตลาด  เงิน 1 ล้านบาทกลายเป็น 2,035 ล้านบาทเทียบกับตลาดที่เพียง 1.42 ล้านบาทในเวลา 15 ปี

นั่นคือ  “การศึกษาข้อมูลจากอดีต”  ที่มีการตั้งสมมุติฐานหลายอย่าง เช่น  เราสามารถซื้อขายหุ้นได้จริงตามที่เรากำหนด  แต่ความเป็นจริงอาจจะทำไม่ได้ เช่น  หุ้นมีสภาพคล่องน้อย  เวลาเราซื้อ  หุ้นอาจจะวิ่งขึ้นไปมากทำให้ต้นทุนของเราสูงกว่าที่เห็นในตัวเลขย้อนหลัง  เช่นเดียวกับที่เวลาขาย  เราอาจจะขายไม่ได้ราคาที่เห็น  นอกจากนั้น  พฤติกรรมของหุ้นใน  “อนาคต” ก็อาจจะไม่เป็นแบบเดิมเพราะสถานการณ์ต่าง ๆ  อาจจะเปลี่ยนแปลงไปมากเช่นเดียวกับนักลงทุนที่ก็อาจจะเปลี่ยนความนิยมจากหุ้นที่เข้าเกณฑ์ VI ในสมัยก่อน  เช่น  นักลงทุนอาจจะสนใจลงทุนในหุ้นที่เติบโตเร็วมากกว่าหุ้นที่ถูกอย่างในอดีต เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  การใช้เกณฑ์การลงทุนแนว VI นั้น  ก็น่าจะเป็นวิธีที่น่าสนใจอยู่โดยเฉพาะในโลกที่เป็นโลกาภิวัตรและการลงทุนข้ามประเทศมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจของหุ้นมีจำกัด  ผมเองได้เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามโดยอาศัยเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นทั้งแบบแรกและ MF โดยมีการผสมผสานบ้าง  จำนวนหุ้นที่ถืออยู่มีถึงกว่า 50 ตัว  การลงทุนผ่านมาเกือบ 2 ปี  ผลตอบแทนที่ได้นั้นต้องถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่งแต่ปัญหาก็คือ  ผมไม่สามารถขายทำกำไรได้เนื่องจากสภาพคล่องของหุ้นดูเหมือนจะไม่ใคร่พอเนื่องจากหุ้นที่ถือนั้นมีขนาดเล็กเกินไป  ผมคงต้องรอไปอีก  อาจจะหลายปีถ้าต้องการขาย  ผมคิดว่าเกณฑ์ที่ผมใช้นั้นอาจจะไม่เหมาะสมโดยเฉพาะในแง่ของขนาดและสภาพคล่องของหุ้น  นั่นทำให้ผมไม่ได้ปรับพอร์ตในแต่ละปีตามเกณฑ์  ผมไม่รู้ว่าหลังจากการลงทุนอาจจะซัก 4-5 ปี อะไรจะเกิดขึ้น  ในขณะนี้ถ้าจะเรียกว่าผม  “ติดหุ้น” ก็ไม่ใช่  จะเรียกว่าประสพผลสำเร็จก็ไม่น่าจะใช่  เวลาและผลตอบแทนที่จะได้รับที่แท้จริงคือ  “ขายหุ้นได้”  จะเป็นตัวบอก  แต่บทเรียนสำหรับคนที่จะใช้หลักเกณฑ์การลงทุนตามสูตรก็คือ  ผลตอบแทนที่จะได้จาก “สูตรมหัศจรรย์”  อาจจะไม่ได้มหัศจรรย์อย่างที่เขาบอก  ดังนั้นก่อนที่จะใช้ต้องคิดดูให้ดีและต้องพร้อมที่จะรับผลของมันด้วย