Thursday, February 26, 2015

SOFT POWER / วีระพงษ์ ธัม

 

    Soft Power เป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นโดยศาสตราจารย์ Joseph Samuel Nye มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งอธิบายถึงความสามารถในการดึงดูด ชักจูง ปรับเปลี่ยน”ความคิด” หรือ “ความนิยม” ของคนอื่น โดยปราศจากการใช้กำลังไม่ว่าจะเป็นทางทหารหรือทางเศรษฐกิจ (หรือที่เรียกว่า Hard Power) โดยมากแล้วมักจะใช้ในเรื่องการเมือง หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่แนวคิดนี้ สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจ รวมถึงเรื่องความสามารถในการแข่งขันได้เช่นเดียวกัน

            เดิมทีประเทศมักจะถูก Benchmark ด้วย Hard Power เป็นหลัก ซึ่งมองเรื่องจำนวนประชากร (ตั้งแต่สมัยโบราณกลุ่มชนที่มีประชากรมากมีแนวโน้มที่มีความเข้มแข็งมากกว่า), วัดผลผลิต GDP ต่อหัว, รวมไปถึงกองกำลังทางการทหาร แต่ Benchmark ด้าน Hard Power เหล่านี้ก็ไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องอิทธิพลประเทศโดยแท้จริงได้ การขยายอิทธิพลด้วย Hard Power หรือกำลังทหารตั้งแต่ยุคอาณานิคม กระทั่งยุคสงครามสมัยใหม่ไม่ได้มีความยั่งยืนเลย ในทางกลับกัน Soft Power กลับมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นในโลกยุคปัจจุบันประเทศควรสร้างอิทธิพลด้วย Soft Power มากกว่า เหมือนกับเราเห็น พลังของแดจังกึมของเกาหลี การ์ตูนญี่ปุ่น ศิลปะในพิพิธภัณฑ์ฝรั่งเศส ชื่อเสียงของวินัยคนเยอรมัน ฟุตบอลอังกฤษ แฟชั่นอิตาลีเป็นต้น

            นิตยสาร Monocle ฉบับล่าสุดได้เขียนข้อสรุปของการจัดอันดับ Soft Power ของโลกทั้งหมดเป็นครั้งที่ห้า ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจไม่น้อย อันดับหนึ่งในปีล่าสุดคือประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าประเทศนี้จะใช้ Hard Power ค่อนข้างมาก แต่ก็มี Soft Power สูงไม่แพ้กัน ตั้งแต่การสร้างแนวคิด American Dream ที่ให้โอกาสผู้คน การสร้างวัฒนธรรมผ่าน Hollywood (จนคนกินแฮมเบอร์เกอร์หรือป๊อปคอร์นคู่กับน้ำอัดลมไปทั่วโลก) จนกระทั่งการยุค Silicon Valley ที่สร้างนวัตกรรมซึ่งมีอิทธิพลต่อโลกสูงมาก (Facebook, Google, Apple อยู่ในชีวิตของคนทุกคน) มีมหาวิทยาลัยชั้นนำจำนวนมาก ผลลัพท์ทั้งหมดช่วยให้ อเมริกาเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ยังสามารถดึงดูดมันสมองของโลกตลอดเวลาจากประชากรอพยพตั้งแต่กำเนิดประเทศ และขาย “ไอเดีย” ให้คนอื่นเชื่อและทำตามไม่เว้นแต่ละวัน

            อันดับสองเป็นประเทศเยอรมันซึ่งมีความเข้มแข็งในด้านความมีวินัย ความเป็นระบบ เป็น Soft Power ที่มีอิทธิพลต่อผู้คนทั่วโลก ทุกสิ่งที่เป็นเยอรมัน เช่นรถยนต์ เครื่องจักร ไม่เว้นแม้กระทั่งทีมฟุตบอลซึ่งได้แชมป์ฟุตบอลโลกล่าสุดก็ถูกมองว่าเป็น “แบรนด์เยอรมัน” อันดับสามคือประเทศอังกฤษ ที่ยังมีพลังของ “ประวัติศาสตร์” และเรื่องราวตั้งแต่เป็นดินแดนพระอาทิตย์ไม่ตกดิน ผู้นำปฏิวัติอุตสาหกรรม จนล่าสุดคือการสร้าง “ลอนดอน” ขึ้นมาเป็นเมืองหลวงหนึ่งของโลก อันดับที่สี่คือประเทศญี่ปุ่นที่มีภาพของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยตั้งแต่การสร้างรถไฟหัวจรวดชิงคันเซนในปี 1964 (เป็นปีที่โตเกียวจัดโอลิมปิกครั้งแรก และถือเป็นจุดเปลี่ยนของญี่ปุ่นจากประเทศแพ้สงครามสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ) อิทธิพลญี่ปุ่นยังมีในเรื่องอื่น ๆ เช่นความสะอาด เป็นระเบียบ การ์ตูนญี่ปุ่นก็มีอิทธิพลไปทั่วโลก อันดับที่ห้าคือฝรั่งเศสซึ่งมีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบชนชั้นสูงอย่างยาวนาน มีการพัฒนาศิลปนิยมตั้งแต่พิพิธภัณฑ์ จนถึงแฟชั่น สินค้าที่มีแบรนด์อย่าง LV, Hermes ก็อาศัย Soft Power เหล่านี้

            อันดับอื่น ๆ ที่น่าสนใจเช่น เกาหลี (15) จีน (19) สิงค์โปร์ (23) มหาอำนาจอย่างจีนยังคงหาตำแหน่งที่ว่างในการสร้าง Soft Power ของตัวเอง ยังคงรอ “Global Brand” แรกของประเทศ ใน AEC ก็มีสิงค์โปร์ซึ่งติดอันดับจากจุดเด่นด้านการศึกษา สำหรับประเทศไทยแม้ไม่ติดอันดับ แต่ก็มีบทวิจัยหลายที่บอกว่าไทยมีศักยภาพอยู่แต่จำเป็นต้องมีทิศทางในการสร้าง Soft Power ของตัวเองอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร เป็นพลังดึงดูดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศมากไปกว่า “ราคาถูก” แต่เพียงอย่างเดียว

            ในมุมมองธุรกิจ Hard Power ก็เปรียบเหมือนการแข่งขันด้านราคา หรือการใช้ Promotion ในการแข่งขันหรือดึงดูดลูกค้า ซึ่งได้ผลไม่ยั่งยืนเช่นเดียวกัน ในที่สุดก็จะมีคู่แข่ง “รายใหม่” หรือมีการตอบโต้จากคู่แข่ง “รายเดิม” เสมอ ๆ อุตสาหกรรมไหน หรือธุรกิจไหนที่จบลงด้วยการงัดข้อด้วยราคา มักจะมีจุดจบเดียวกันกับการห่ำหั่นด้วยสงคราม ในมุมกลับกัน การใช้ Soft Power ในธุรกิจกลับดูยั่งยืนกว่ามาก ลักษณะของ Soft Power จึงเป็นการสื่อสารทางอ้อม การดึงดูด สร้างวัฒนธรรม การเริ่มต้นใช้ Network Effect มากกว่าการสั่งการจากด้านบน

            บริษัทที่สร้าง Soft Power โดยการเผยแพร่วัฒนธรรม เช่น Sony Walkman ที่ยิ่งใหญ่มาก สร้างกระแสการฟังเพลงนอกบ้านผ่านเทปคาสเซ็ท หรืออย่าง Apple สร้างวัฒนธรรมที่แตกต่างกว่าคนอื่น โดยไม่ได้แข่งขันด้านราคา ธุรกิจอย่าง Starbuck ก็สร้างวัฒนธรรมการดื่มกาแฟ Google สร้างวัฒนธรรม Online และ Facebook สร้างวัฒนธรรมการคุยกันบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค Soft Power ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกเช่นความแข็งแรงขององค์กร เรื่องนโยบาย ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ “มองไม่เห็น” หรือไม่มีตัววัดที่ชัดเจน ผมคิดว่าอิทธิพลในส่วนนี้จะยังคงมากขึ้นเรื่อย ๆ และนี่เป็นคุณค่าของบริษัท รวมถึงเป็นคุณค่าของประเทศที่เราไม่ควรมองข้าม

Wednesday, February 25, 2015

จะถือหุ้นกี่ตัวในพอร์ตดี?




“ควรจะมีหุ้นซักกี่ตัวดี?” คำถามนี้คงเป็นเรื่องที่ค้างคาใจนักลงทุนหลายท่านเพราะในงานสัมมนาแทบทุกครั้ง ผมมักจะได้ยินคนถามคำถามนี้ ผมก็เลยได้โอกาสไปค้นคว้าหาแง่มุมต่างๆมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เป็นการลองบิดกุญแจไขปัญหาที่ค้างคาอยู่ในหน้าอก (ข้างซ้าย) ของนักลงทุนทุกท่าน

แต่ก่อนจะตอบว่ามีหุ้นกี่ตัวดี เราควรจะถามก่อนว่าจำนวนหุ้นที่เราถือจะมีผลยังไงต่อพอร์ตและชีวิตของเราบ้าง

1. หุ้นเยอะ ต้องการเวลาแยะ

ปี เตอร์ ลินช์ เคยพูดว่า “หุ้นก็เหมือนกับลูก มีเท่าที่คุณพอจะดูแลเค้าได้ก็พอ” เดี๋ยวคนไทยส่วนมากมีลูกแค่คนเดียวหรืออย่างมากก็สองคน ลองนึกภาพมีลูกซัก 10 คนเหมือนสมัยก่อนคงจะตลกพิลึก แต่ “หุ้น” ต่างกับ “ลูก” ตรงที่ว่าหุ้นของแต่ละคนอาจจะต้องการเวลาในการดูแลต่างกัน ซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

เราต้องตามงบเป็นรายไตรมาสหรือเปล่า?

เราจำเป็นต้องเฝ้าราคาหุ้นหรือเปล่า?

เรารู้จักอุตสาหกรรมหรือหุ้นตัวนั้นดีแค่ไหน?

เรามีประสบการณ์ในการลงทุนมากน้อยแค่ไหน?

หุ้นที่เราถือในพอร์ตมีความคล้ายคลึงกันแค่ไหน?

ส่วน ตัวแล้วผมยังไม่มีลูก แต่ก่อนที่ผมจะตัดสินใจลงทุน ผมจะใช้เวลาศึกษาหุ้นแต่ละตัวเยอะมาก และถ้าตัดสินใจแล้วก็จะไม่ได้ใช้เวลาในการตามเท่าไหร่ (อาจจะมีตามงบรายไตรมาสบ้าง แต่ก็แค่ปีละ 4 หน) ก็เลยสามารถดูแลหุ้นได้ประมาณ 8 – 10 ตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะถือเท่านั้นนะครับ มันเป็นแค่แนวทางเฉยๆ ผมอาจจะมีหุ้นมากกว่านั้นได้ถ้าหุ้นพวกนั้นไม่ต้องการเวลาจากผมมากหรือไม่มี นัยสำคัญกับพอร์ต

2. จำนวนหุ้นน้อย ความเสี่ยงกระจุกตัว

คุณสุ มาอี้เคยพูดว่า “ถึงหุ้นจะดีแค่ไหนมันก็มีโอกาสจะพลาดได้” โดยส่วนตัว ถึงแม้หุ้น “ร้านค้าห้องแถว” จะดีอย่างไร จะมีความสามารถในการแข่งขันเยอะแค่ไหน เติบโตได้ไกลเท่าไหร่ ผมก็คงนอนไม่ค่อยหลับถ้าจำเป็นต้องถือหุ้นตัวนั้นเพียงตัวเดียว เพราะหุ้นทุกตัวย่อมมีความเสี่ยง แต่ถ้าในทางตรงกันข้ามพอร์ตผมมีหุ้น 50 ตัว ผมก็ไม่รู้ว่าจะผมตื่นขึ้นมาหาหุ้นใหม่ๆไปทำไมเหมือนกัน เพราะไม่ว่าจะเลือกถูกหรือเลือกผิดมันก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อพอร์ตซักเท่า ไหร่

เบนจามิน เกรแฮม เคยบอกไว้ว่าเราจะสามารถได้ประโยชน์จากการ “กระจายความเสี่ยง” ถ้าเรามีหุ้น 10 – 30 ตัวในพอร์ตเรา แต่ในขณะที่ปีเตอร์ ลินช์ และบัฟเฟต์ เคยพูดว่าหุ้น 5 ตัวก็น่าจะเพียงพอแล้ว

แล้วเราจะมีกี่ตัวดี?

วิธี คิดแบบง่ายๆในการประเมินระดับความเสี่ยงที่เรารับได้: สมมติว่าเราถือหุ้น 5 ตัว แสดงว่าแต่ละตัวจะมีน้ำหนัก 20% ของพอร์ตโดยเฉลี่ย ถ้าหุ้นตัวใดตัวหนึ่งปรับตัวลง 30% พอร์ตคุณจะลดลงประมาณ 6% คุณรับกับมันได้รึเปล่า?(ถ้าคุณมีระบบ cut loss คุณอาจจะใช้ตัวเลข 5% 10% แล้วแต่ระบบของคุณเพื่อนำมาคำนวณความเสี่ยงได้) ลองคำนวณเล่นๆดูครับ ปรับไปปรับมาก็จะเจอตัวเลขที่เราคิดว่าเหมาะสมครับ

3. ผลตอบแทนที่เราจะได้รับ?

ผม เคยได้ยินนักลงทุนหลายท่านบอกว่า “จำนวนหุ้นที่น้อยกว่า” จะทำให้เราได้ “ผลตอบแทนที่ดีขึ้น” แต่ถ้าเราลองมาคิดดูดีๆจะพบว่าเรา “อาจจะ” ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น “ถ้า” เราเลือกหุ้นได้ถูกตัว เพราะฉะนั้นการถือหุ้นจำนวนน้อยตัวหรือแบบ Focus จะมีประโยชน์มากกว่าสำหรับนักลงทุนที่พอจะมีความสามารถระดับหนึ่งแล้ว แต่สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่หรือนักลงทุนที่ยังลองผิดลองถูกอยู่อย่างผม การถือแบบ Focus อาจจะไม่ได้ให้ผลประโยชน์เท่ากับนักลงทุนที่เก่งๆและยังอาจจะเพิ่มความ เสี่ยงให้กับพอร์ตมากกว่าการถือหุ้นหลายๆตัว

ผมสังเกตว่านักลงทุนหน้า ใหม่บางท่านชอบอัดเงินทั้งพอร์ตเข้าไปซื้อ “หุ้นเด็ด” โดยไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ พูดอีกอย่างคือเล่นหุ้นแบบ “แทงหวย” คนแบบนี้ส่วนมากก็มักจะถูกเจ้ามือหวยกินเรียบจนหลายคนขยาดการลงทุนไปเลย

ใน อีกมุมนึง ปีเตอร์ ลินช์ เคยบอกไว้ว่าเค้าไม่รู้หรอกว่าหุ้นตัวไหนจะกลายเป็นหุ้น 5 เด้ง 10 เด้ง เพราะฉะนั้นการมีหุ้นเยอะๆก็อาจจะเหมือนการซื้อลอตเตอรี่ ถ้าเราซื้อหลายๆใบก็อาจจะมีโอกาสถูกมากกว่า ฉะนั้นในบางครั้งการถือหุ้นหลายๆตัว (ที่ผ่านการคัดกรองมาแล้ว) ก็อาจจะดีกว่าการใช้เวลาไปกับการเลือกหุ้นเพียงตัวเดียวที่จะให้ผลตอบแทน สูงสุดก็ได้ครับ เพราะบางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าไอเดียการลงทุนของเราอันไหนจะออกดอกออกผล

นอกจาก ปัจจัยที่ต้องพิจารณาทั้งสามข้อแล้ว จำนวนหุ้นที่ถืออาจจะต้องเพิ่มขึ้นตามความจำเป็นถ้าคุณมีพอร์ตขนาดใหญ่หรือ ลงทุนในหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อย และอาจจะลดลงได้ถ้าคุณมีหุ้นที่คุณชอบและมั่นใจมากๆ (อย่าลืมว่าทุกคนมีโอกาสที่จะผิด) จะว่าไปการปรับสัดส่วนหุ้นในพอร์ตก็อาจจะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการ ตัดสินใจ คงจะไม่มีสูตรตายตัว

สุดท้ายแล้วใครจะมี “ลูก” กี่คนก็แล้วแต่จะเลือกเลยครับ ตามจริตและความสามารถของแต่ละคน ถ้าอยากจะมีลูกเยอะก็อาจจะต้องเหนื่อยหน่อย แต่ก็อุ่นใจเพราะเวลาแก่ตัวไปจะได้ไม่เหงาครับ

คนอื่นๆถือหุ้นกันกี่ตัวครับ? มีหลักอะไรในการคิดบ้าง? มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะคับ

แกะรอย บันทึกจาก ฟิลลิป ฟิชเชอร์ ถึง วอร์เรน บัฟเฟตต์



“อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียวแต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” ผมขอเริ่มต้นบทความผมด้วยสุภาษิตไทยบทนี้ กับภาวะของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน ภาวะตลาดหุ้นไทยในกระแสวีไอ นักลงทุนรุ่นใหม่มาแรงครับ คนเล่นหุ้นหน้าใหม่เมื่อเริ่มเล่นหุ้นก็อยากเป็นVI  ไว ไว เสือเฒ่าเก๋าเกมส์ก็สวมวิญญาณVI  กันก็มี นักเก็งกำไรปล่อยข่าวก็แอบใส่หน้ากากวีไอ ก็ไม่ใช่น้อย เม่าน้อยกับคำถามว่า พี่ NB ครับ เราควรใช้ พีบี พีอี พีเอสอาร์ พีโน่น พีนี่ พีนั่น มาวิเคราะห์ดีมั๊ยครับ? จะใช้ตัวอะไรก่อน อะไรมากดี น้อยดีมั๊ย จะใช้สัมพันธ์กันอย่างไร จะยังไงดีครับพี่?

พี่ครับ พี่ครับ! สัปดาห์ที่แล้วผมวิเคราะห์ได้หุ้นมาตัวนึง พีอี ต่ำผมเลยซื้อไว้ใส่พอร์ต สัปดาห์นี้ได้หุ้นใหม่มาอีกตัวครับพี่ แหมตัวนี้พีอีต่ำกว่าเดิมอีก ผมเลยรีบขายตัวเดิมเลยครับพี่มาใส่ตัวใหม่แบบนี้ผมเป็นวีไอแล้วใช่มั๊ยครับพี่ แล้ว พีบี, พีอีจี แล้วเอ่อ พีอาร์อาร์ พีเอสอาร์ แล้วต้องดูประกอบกันยังไงครับพี่ แหม ผมใจร้อนอยากเป็นวีไอเร็ว ๆ อยากรวยเร็ว ๆ

เอ่อ น้องครับใจเย็น ทั้งนี้เมื่อประเทศของเรามีเศรษฐกิจดีขึ้น ตลาดหุ้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีคนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น นักลงทุนแนววีไอ ก็มากขึ้น ทฤษฎีวีไอ โดนตีความกันไปหลากหลาย ทั้งเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ แล้วนักเก็งกำไรหายไปไหนครับ? นักเก็งกำไรหายไปจากตลาดหุ้นแล้วหรือ ไม่เชิงหรอกครับ นักเล่นม้าเมื่อสนามม้าเปิดพวกเค้าก็พร้อมจะมาเจอกัน นักเล่นหุ้นก็เช่นเดียวกัน วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยเปรียบเปรยไว้ว่า

นักแทงม้านั้นแยกออกเป็นสองกลุ่ม ความเร็วและสายพันธ์ นักเล่นที่พนันบนความเร็วต้องการตัวเลขในการวิเคราะห์ เค้าจะจดจ่อกับทุกอนูของตัวเลขเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายความเร็วสูงสุดที่ม้า ตัวนั้นจะทำได้ในการแข่งขัน บนเงื่อนไขของพื้นสนาม น้ำหนักที่ม้าต้องแบก ฯลฯ ส่วนนักพนันที่เล่นบนสายพันธ์ม้านั้นแทบจะไม่สนใจตัวเลขเลย กลับดูหมิ่นด้วยซ้ำ เค้ามักจะกล่าวซ้ำ ๆ ว่า “สิ่งที่ผมต้องการรู้ก็คือสายพันธ์ม้าและคู่แข่งในอดีตของมันเท่านั้นเอง”

น่าแปลกที่หลักการทั้งสองสิ่งนี้มีเช่นเดียวกันในโลกแห่งการลงทุน เช่นเดียวกันเราก็มีนักลงทุนที่มุ่งเน้นในเชิงตัวเลข และมุ่งเน้นในเชิงคุณภาพของธุรกิจ เฉกเช่นปรัชญาการลงทุนของ ฟิลลิป ฟิชเชอร์   นักวิเคราะห์ตัวเลขกล่าวว่า “ซื้อหุ้นราคาถูกและวัดผลงานของมันด้วยดัชนีต่าง ๆ เช่น พีอี พีบี ยิลด์ ฯลฯ”

 ส่วนนักวิเคราะห์เชิงคุณภาพกล่าวว่า “ซื้อหุ้นในกิจการที่ดีที่สุด, ประกอบด้วยผู้บริหารที่เก่งที่สุด และก็ไม่ต้องไปกังวลกับตัวเลขต่าง ๆ”

น่ามีความสุขครับ, ทาง ไปสวรรค์มีหลายทาง ทักษะและมุมมองของผู้มีประสบการณ์นำทางไปสู่ความสำเร็จ วอร์เรนโชคดีครับที่ได้ผู้ชี้ทางผู้ยิ่งใหญ่ที่นำพาเค้าไปสู่ผลสำเร็จมหาศาล อันเนื่องมาจากการชี้นำของฟิชเชอร์ หลังจากอ่านหนังสือของ ฟิล ฟิชเชอร์ Common Stocks and Uncommon Profits และอีกเล่ม Paths to Wealth Through Common Stocks ในช่วงต้นปี 1960 วอร์เรนก็ตั้งใจจะเข้าไปพบ ฟิล ฟิชเชอร์ ให้ได้

เมื่อ วอร์เรนพบเค้าครั้งแรก เค้าค้นพบว่า ฟิล มีความละม้ายคล้ายกับอาจารย์เบน แกรม อย่างมาก ฟิชเชอร์เป็นคนถ่อมตัว ใจกว้าง และก็เชี่ยวชาญในการสอนคน วอร์เรนเรียนรู้เรื่องทฤษฎีการแกะรอย (Scuttlebutt) มาจากจุดนี้   ”

เราต้องออกไปเสาะหาข้อเท็จจริงของธุรกิจ จากการสืบค้น พูดคุยกับแหล่งข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น คู่แข่ง, ซัพพลายเออร์, ลูกค้า เพื่อที่จะสืบเสาะดูว่าการดำเนินงานของบริษัท แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร?”

ความเข้าใจอันละเอียดถี่ถ้วนซึ่ง ฟิล ฟิชเชอร์ สอนให้วอร์เรนประกอบกับการวิเคราะห์เชิงปริมาณที่ เค้าเรียนรู้มาจาก อาจารย์เบน ช่วยให้ยึดมั่นในเส้นทางแห่งการลงทุนด้วยสติปัญญา และนั่นเป็นเส้นทางแห่งความสำเร็จของนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่คนนี้

“ลงทุนด้วยสติปัญญา” คำ ๆ นี้เป็นคำสำคัญ เมื่อวอร์เรน บัฟเฟตต์เลือกบริษัทลงทุนเค้าให้น้ำหนักกับตัวเลขหรือคุณภาพกิจการมากกว่า กัน วอร์เรนพูดไว้ละเอียดครับเมื่อครั้งเค้าไปบรรยายที่ University of Florida Business School ช่วงวันที่ 15 ตุลาคม 2540

“อย่า! ซื้อเพียงเพราะตัวเลขมันบอกคุณให้ซื้อ” ถึงแม้ตัวเลขมันจะบอกคุณให้ซื้อและคุณซื้อมามันก็ยังไม่นับว่าเป็นการลงทุนที่ดี จงซื้อเพราะคุณมั่นใจในสินค้า ผลิตภัณฑ์ของเค้า ไม่ใช่เพียงเพราะมันถูก ครั้งหนึ่งวอร์เรนก็เคยซื้อบริษัททำกังหันลม (windmill) เป็นการลงทุนแบบก้นบุหรี่ เค้าซื้อมันมาราคาถูกมากในราคาเพียงหนึ่งในสามของเงินทุนหมุนเวียน และแน่นอนมันทำกำไร แต่มันก็แค่ครั้งเดียวและมันไม่เกิดขึ้นอีก มันไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ ชีวิตวอร์เรน บัฟเฟตต์ผ่านเรื่องพวกนี้มาหมดแล้วบริษัทรถรางเค้าก็ซื้อมาแล้ว

กลับกันในเชิงคุณภาพ วอร์เรนแทบจะสามารถตีแตกเกือบทุกครั้งแค่เพียงแค่พูดคุยโทรศัพท์เพียงห้านาที หรือสิบนาที !

 “But if you don’t know enough to know about the business instantly, you won’t know enough in a month or in two months.”  

 ถ้ามันเป็นธุรกิจที่ยากเย็น ฟังคำอธิบายสั้น ๆ แล้วคุณไม่เข้าใจ ต่อให้คุณใช้เวลาอีกเดือนหรือสองเดือนคุณก็ไม่เข้าใจมันอยู่ดี คุณต้องมองตัวเองให้ออกว่าสิ่งใดเรารู้สิ่งใดเราไม่รู้ สิ่งใดเราเข้าใจสิ่งใดเราไม่เข้าใจ นั่นคือหัวใจสำคัญของการลงทุน แต่กว่า วอร์เรน จะมาถึงจุดนี้ได้มันไม่ใช่ง่าย

“ลงทุนภายใต้ขอบเขตความรู้ของตนเอง” มันไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะรู้มากรู้น้อยเป็นพหูสูตรมาจากไหน คุณไม่จำเป็นต้องเป็นวอร์เรน บัฟเฟตต์คนที่สอง คุณไม่ต้องเป็น ดร.นิเวศน์ คนที่สอง มันไม่สำคัญ มันสำคัญที่ว่าสิ่งใดที่คุณไม่รู้ไม่เข้าคุณอย่าไปยุ่ง ไม่จำเป็นต้องรู้จักหุ้นหมดทุกตัวในตลาดสมมติคุณรู้แค่ 30 ตัวในตลาดรู้แบบรู้จริงนะ คุณก็โอเคแล้วครับ เมื่อคุณรู้จักธุรกิจนั้น ๆ เป็นอย่างดีคุณก็ใช้เวลาในการทำความเข้าใจน้อยลง จุดนี้ทำให้ผมนึกไปถึงสุภาษิตไทยที่ว่า “อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียวแต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” แต่กว่าเราจะ “รู้กระจ่าง” ในธุรกิจนั้น ๆ เราต้องทำอย่างไร วอร์เรน เองเค้าก็ไม่ได้เก่งมาแต่เกิดหรือเริ่มลงทุน เค้าทำอย่างไร?

วอร์เรนทำงานหนักอย่างมากเพื่อให้รู้ลึกในบริษัทที่เค้าลงทุนและเค้าใช้ Scuttlebutt Approach  หรือทฤษฎีการแกะรอยครับ


 I would go out and talk to customers, suppliers, and maybe ex-employees in some cases. Everybody. Everytime I was interested in an industry, say it was coal, I would go around and see every coal company.  

 วอร์เรนจะไปพูดคุยกับลูกค้าของบริษัท ซัพพลายเออร์ของบริษัท และพนักงานเก่า คือ ทุกคน ทุกที่ นั่นหล่ะครับ ถ้าเค้าสนใจในธุรกิจเหมืองเค้าก็จะไปดูบริษัทเหมืองทุกๆ ที่ เค้าจะไปคุยกับซีอีโอว่า “ถ้าคุณจะซื้อสต๊อกของบริษัทเหมืองบริษัทอื่นที่ไม่ใช่คุณ คุณคิดว่าใครน่าสนใจ?” ทำไมครับ? คุณเก็บข้อมูลเหล่านี้ รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ทีละนิดทีละน้อย และคุณก็จะได้เรียนรู้เติมเต็มภาพของธุรกิจจนคุณเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมา

แล้วคู่แข่งล่ะ ถ้าคุณมีปืนอยู่ในมือและคุณยิงใครทิ้งก็ได้โดยไม่ผิดกฎหมายคุณอยากซัดใคร? ทำไม? ลองถามซีอีโอ ด้วยประโยคเหล่านี้และคุณจะได้รับคำตอบที่เต็มไปด้วยความลึกซึ้งของคนที่อยู่ในธุรกิจจริง ๆ เชื่อผมเถอะความรู้จะติดตัวเราไปจนวันตาย เมื่อเราเรียนรู้สิ่งใดแล้วสิ่งนั้นก็จะเป็นองค์ความรู้ให้เราต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ นั่นทำให้คุณได้เรียนรู้ รู้ลึก รู้จริง “รู้กระจ่าง”

น้องไวไว อยากเป็นวีไอ ซื้อปั๊บขึ้นปุ๊บกำไรเลยเดือนหน้า หรืออีกสองเดือน ค่อยหาตัวใหม่ให้พีอีต่ำ ๆ ไว้ ผมคิดว่านั่นยังไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องสักเท่าไรครับ นักลงทุนรุ่นใหม่ควรใช้เวลาให้ลึกกับธุรกิจ อ่านรายงานประจำปี 56-1 ฟัง Oppday ประชุมผู้ถือหุ้น คุยกับ IR หาข้อมูลจากเน็ต จากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม เปรียบเทียบงบการเงินของลูกค้า คู่แข่ง หลาย ๆ บริษัท ถามตัวเองว่าทำไม เค้ากำไรมากกว่า ทำไมคู่แข่งมาร์เก็ตแชร์มากกว่า ผู้บริหารให้สัมภาษณ์อะไรไว้บ้าง นั่นเป็นเส้นทางวีไอที่ถูกต้อง และจะทำให้พวกเราประสบความสำเร็จบนเส้นทางนี้ได้ยั่งยืนกว่าครับ

Tuesday, February 24, 2015

การส่งออกที่หายไป


การส่งออกเคยเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย ในช่วง 5-10 ปีที่แล้วการส่งออก (ในรูปเงินเหรียญสหรัฐอเมริกา) ขยายตัวแต่ละปีด้วยเลขสองหลัก และเคยสูงถึงร้อยละ 20 ในบางปี แต่ถ้าใครตามตัวเลขเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคงสงสัยว่าการส่งออกหายไปไหน เพราะการส่งออกหดตัวร้อยละ 0.3 ในปี 2556 และหดตัวร้อยละ 0.4 ในปี 2557 ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น ถ้าดูประมาณการการส่งออกในปี 2558 ของสำนักต่างๆ แล้ว ยิ่งน่าเป็นห่วงว่าการส่งออกจะทรุดไปอีกหนึ่งปี จนกระทรวงพาณิชย์ต้องขอให้รัฐบาลผลักดันให้การส่งออกเป็นวาระแห่งชาติ 

  ผมคิดว่าสาเหตุที่การส่งออกหยุดนิ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมา และยังไม่มีแนวโน้มขยายตัวได้เร็ว มาจากปัจจัยสามกลุ่มหลักได้แก่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศในระดับโลก ปัจจัยภายในประเทศไทย และวัฏจักรเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราแลกเปลี่ยน

  ในส่วนของปัจจัยกลุ่มแรกนั้น ถ้าเราดูความสัมพันธ์ระหว่างมูลค่าการค้าระหว่างประเทศกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกแล้วจะไม่ประหลาดใจว่าทำไมการส่งออกของไทยจึงไม่ไปไหน ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2551 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งโลกขยายตัวสูงกว่าอัตราการขยายตัวของ GDP โลกประมาณหนึ่งเท่าตัว แต่ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมามูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งโลกกลับขยายตัวต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของ GDP โลก 

  มีปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายเรื่องที่ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งโลกไม่ฟื้นตัว ปัจจัยแรกเป็นเพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรอบนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยภาคบริการ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนที่สุด  คนอเมริกันจำนวนมากที่เกิดยุค baby boom กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ ส่งผลให้การใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้เน้นหนักไปที่ภาคบริการไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาล หรือการศึกษาของบุตรหลาน การส่งออกและการนำเข้าของสหรัฐอเมริการวมกันคิดเป็นเพียงร้อยละ 25 ของ GDP เท่านั้น 

  การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการใช้จ่ายในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่คนทั่วไปมีฐานะดีขึ้นด้วย เมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศมีฐานะดีขึ้น ภาคบริการจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับภาคการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม แต่เนื่องจากภาคบริการมักเป็นการใช้จ่ายภายในประเทศ จึงส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเทียบกับ GDP ลดลงตามลำดับ ในกลุ่มประเทศอาเซียนหลักห้าประเทศนั้น การค้าระหว่างประเทศที่เคยสูงถึงร้อยละ 140 ของ GDP เมื่อสิบปีที่แล้วได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 110 เท่านั้น การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีนที่หันมาเน้นการเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ ได้ทำให้สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศเทียบกับ GDP จีนลดลงมากเช่นกัน

  ปัจจัยที่สองมาจากห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ได้ถูกยืดให้ยาวขึ้น แต่เดิมรถยนต์หนึ่งคันมีส่วนประกอบจากหลายประเทศ ประกอบจากชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ต้องนำเข้ามาจากประเทศอื่นก่อนที่จะถูกส่งต่อไปผลิตในประเทศอื่นต่อไป การผลิตผ่านห่วงโซ่อุปทานที่กระจายอยู่ในหลายประเทศได้ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศถูกนับซ้ำหลายครั้ง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ขยายตัวรวดเร็ว ห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศถูกยืดให้ยาวขึ้น ไม่ต้องพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศอื่นเหมือนกับที่ผ่านมา ปรากฎการณ์นี้เห็นได้ชัดในอุตสาหกรรมรถยนต์ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของชิ้นส่วนรถยนต์ทั่วโลกลดลงสวนทางกับปริมาณการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นโดยต่อเนื่อง ถ้าดูข้อมูลการส่งออกของจีนก็จะได้ภาพที่คล้ายกัน ในช่วงก่อนปี 2547 สินค้าส่งออกของจีนใช้วัตถุดิบที่ต้องนำเข้ามากกว่าร้อยละ 50 แต่ขณะนี้ใช้วัตถุดิบนำเข้าประมาณร้อยละ35 เท่านั้น เพราะจีนสามารถผลิตวัตถุดิบได้เองเพิ่มขึ้น

  นอกจากห่วงโซ่อุปทานในหลายประเทศถูกยืดให้ยาวขึ้นแล้ว บริษัทขนาดใหญ่ในหลายประเทศอุตสาหกรรมหลักได้ย้ายฐานการผลิตกลับบ้าน (reshoring) ด้วย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลก มีคนว่างงานสูง และเงินเหรียญสหรัฐอเมริกาอ่อนค่าลงมาก ในขณะที่ค่าเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่แข็งค่าขึ้น และมีค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ไม่คุ้มที่จะใช้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เป็นฐานการผลิตต่อไป

  ปัจจัยที่สามมาจากการออกมาตรการแฝงที่มีผลกระทบต่อการส่งสินค้าข้ามประเทศ (non-tariff measures: NTMs) มาตรการเหล่านี้ไม่ได้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรงแต่มักจะอิงกับมาตรฐานสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของผู้บริโภค หลายมาตรการยากที่ผู้ส่งออกจะปฏิบัติตาม เพราะหน่วยงานที่ออกมาตรการเหล่านี้มักใช้กฎเกณฑ์ กติกา และมาตรฐานของประเทศตัวเองเป็นหลัก ตัวเลขขององค์การการค้าโลก (WTO) รายงานว่าจำนวน NTMs ที่ประเทศต่างๆ ใช้บังคับอยู่เพิ่มขึ้นถึงเกือบสามเท่าระหว่างปี 2553 ถึงปี 2557

  สำหรับเหตุผลกลุ่มที่สองที่เป็นเรื่องเฉพาะของประเทศไทยนั้นก็มีหลายเหตุปัจจัย ปัจจัยแรก เหตุการณ์ต่างๆ ในประเทศไทยตลอดสี่ปีที่ผ่านมาทำลายบรรยากาศการลงทุนในประเทศ ตั้งแต่มหาอุทกภัย ตามมาด้วยความไม่สงบทางการเมืองที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและความปลอดภัยของนักลงทุน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไม่สามารถอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้เป็นเวลานาน ปัญหาคอรัปชั่นรุนแรงขึ้น ตลอดจนความไม่มีประสิทธิภาพและความไม่โปร่งใสของกระบวนการออกใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากตกค้างอยู่นาน การลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ย้ายไปประเทศอื่นอย่างน่าเสียดาย บริษัทข้ามชาติที่ตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยมานานจนเราคิดว่าเป็นของตาย เริ่มกระจายความเสี่ยงไปสร้างฐานการผลิต(ด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า)ในประเทศเพื่อนบ้าน สินค้าส่งออกหลายอย่างของไทยจึงเป็นสินค้าตกรุ่น ขาดการพัฒนา และมีมูลค่าเพิ่มต่ำ เห็นได้ชัดเจนที่สุดในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์ที่เราวิ่งตามมาเลเซียไม่ทันในหลายผลิตภัณฑ์ และอีกหลายผลิตภัณฑ์กำลังจะถูกเวียดนามแซง สัดส่วนตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิคส์ของสองประเทศนี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าของไทยมาก

  ปัจจัยเฉพาะของเมืองไทยปัจจัยที่สอง เป็นผลสืบเนื่องมากจากการดำเนินนโยบายประชานิยม(แบบไร้ความรับผิดชอบ) ของรัฐบาลที่แล้วอย่างน้อยสองนโยบาย คือนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และนโยบายรับซื้อสินค้าเกษตรในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมาก นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทส่งผลให้ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดสูญเสียความสามารถในการแข่งขันแบบที่ปรับตัวไม่ทัน ส่วนนโยบายจำนำข้าวแบบรับซื้อทุกเมล็ดได้ทำให้อุตสาหกรรมส่งออกข้าวไทย และความนิยมข้าวไทยในตลาดโลกถอยหลังไปหลายก้าว ปริมาณข้าวจำนวนมากที่ (รอเสื่อมสภาพ) ในสต็อกของรัฐบาลถ่วงให้ราคาข้าวอยู่ในระดับต่ำ เป็นความบิดเบือนที่ต้องใช้เวลาจัดการก่อนที่จะกลับไปสู่สภาวะปกติได้ 

  นอกจากเหตุผลสองกลุ่มข้างต้นแล้ว การส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบจากวัฏจักรทางเศรษฐกิจอีกด้วย โดยเฉพาะความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดที่กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่อุปสงค์เพิ่มขึ้นแบบช้าๆ ที่เห็นได้ชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นน้ำมัน ปิโตรเคมี แร่ธาตุ และสินค้าเกษตรหลายรายการที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ลดลงมากตามราคาในตลาดโลกที่ลดลง

  วัฏจักรเศรษฐกิจยังมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่มีทิศทางแตกต่างกันมากขึ้น ในขณะที่ Federal Reserves มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประเทศที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังอ่อนแอมาก เช่น ญี่ปุ่น และยุโรป ใช้การอัดฉีดเงินผ่านนโยบาย Quantitative Easing (QE) เพิ่มขึ้น ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หันมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยลง ในวัฏจักรเศรษฐกิจเช่นนี้ ประเทศที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันและพลังงาน (เช่น ประเทศไทย) ได้ประโยชน์จากดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลมากขึ้น และได้รับอานิสงค์จากสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกไหลเข้ามาอีกด้วย ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันและพลังงานมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ นอกจากนี้ สภาพคล่องส่วนเกินยังส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน กระทบต่อการทำธุรกิจของผู้ส่งออกด้วย


การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศในระดับโลกและปัจจัยภายในประเทศที่ทำให้การส่งออกหายไปมีนัยทางนโยบายอย่างน้อยสองประการสำคัญ ประการแรกเราคงหวังให้การส่งออกกลับมาเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงสั้นได้ยาก รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญต่อการเพิ่มอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ และประการที่สอง การวางแผนให้การส่งออกไทยฟื้นตัวจะต้องเน้นที่การสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย โดยเฉพาะเร่งให้เกิดการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต

  ผมสนับสนุนแนวคิดของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการให้การส่งออกเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำ เพราะถ้าคิดเพียงแค่ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งหาตลาดใหม่ การส่งออกไทยคงหายไปอีกนาน

บทความโดย ดร.วิรไทย 

Sunday, February 22, 2015

EQ ของบัฟเฟตต์



โดย ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากุล

   ถ้าพูดถึงความโดดเด่นของบัฟเฟตต์แล้ว  ผมคิดว่าสิ่งที่มาอันดับแรกคงไม่ใช่ความสามารถในการวิเคราะห์หาหุ้นที่มีราคาถูกเทียบกับคุณสมบัติของบริษัทในแต่ละช่วงเวลา  ยิ่งการ “ขุดหุ้น” หรือค้นหาหุ้นที่ดีแต่ยัง  “ไม่มีคนเห็น” นั้น  บัฟเฟตต์น่าจะไม่ได้ทำมานานมากแล้ว  ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์จะมองแต่ “ภาพใหญ่”  ของบริษัทมากกว่ารายละเอียดลึก ๆ ของการดำเนินงานของบริษัท  เหตุผลส่วนหนึ่งนั้นคงเป็นเพราะว่าหุ้นที่บัฟเฟตต์จะลงทุนได้แต่ละตัวนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นมากจน  “รายละเอียด” ไม่ค่อยมีความหมาย  แต่สิ่งที่เป็นความโดดเด่นของบัฟเฟตต์ที่ผมคิดว่ามันยัง “คงทน” และเป็นคุณสมบัติติดตัวที่คนเลียนแบบได้ยากก็คือ  EQ หรือคุณสมบัติด้านอารมณ์และจิตวิทยาของการลงทุน  ว่าที่จริง ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นเอกลักษณ์ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น  “EQ ของบัฟเฟตต์”

  สิ่งแรกที่บัฟเฟตต์ไม่ยอมทำเลยก็คือ เขาจะไม่ลงทุนในสิ่งที่เขาไม่รู้หรือไม่อยู่ใน  “ขอบเขตของความรอบรู้” ของเขา  นั่นเป็นเหตุผลที่เขาไม่ยอมลงทุนใน “หุ้นไฮเท็ค” เลยทั้ง ๆ  ที่หุ้นไฮเท็คปรากฏขึ้นบนโลกมานานและหุ้นจำนวนมากมีราคาขึ้นไปมโหฬาร  แต่นั่นก็ไม่ทำให้ผลตอบแทนของบัฟเฟตต์แย่เมื่อเทียบกับคนที่เล่นหุ้นแนวนั้น  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าหุ้น  “โลว์เท็ค” ของบัฟเฟตต์เองก็ปรับตัวขึ้นเหมือนกันแม้ว่าจะน้อยกว่า  แต่ข้อดีของบัฟเฟตต์ก็คือ  เขาจะไม่ขาดทุนถ้าหุ้นไฮเท็คจำนวนมากนั้นมีราคาตกลงมาอย่างแรงเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านที่เลวร้ายลง สำหรับบัฟเฟตต์แล้ว  เขาเชื่อว่า  ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมของการลงทุนนั้น  มักจะมาจากธุรกิจธรรมดา ๆ  เช่นเฟอร์นิเจอร์หรือชอคโกแล็ตที่บริษัททำได้ดีมากจนเหนือคู่แข่งมาก

  ข้อสอง  บัฟเฟตต์จะไม่ยอมลงทุนในกิจการหรือโครงการลงทุนที่ “ย่ำแย่”  หรือให้ผลตอบแทนที่ต่ำเมื่อเทียบกับเงินทุนที่ลงไปและเขาจะ  “ไม่ซื้อความหวัง”  เขาต้องการ  “ความจริง” ที่เป็นอยู่  ดังนั้น  เขาจะไม่สนใจหุ้น  “Turnaround” หรือโครงการที่จะช่วย “ฟื้นกิจการ” ของบริษัท  นี่เป็นเหตุให้เขามักจะซื้อแต่หุ้นของบริษัทที่มีกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นหรือ ROE ที่สูงลิ่ว  หรือในกรณีที่เป็นบริษัทที่เขาควบคุมกิจการได้  เขาก็มักจะไม่อนุมัติให้เอาเงินสดของบริษัทไปลงทุนในเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ให้ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนที่ต่ำกว่าต้นทุนทางการเงิน  ตัวอย่างเช่นในกรณีของกิจการสิ่งทอของ เบิร์กไชร์ นั้น  เขาไม่ยอมใส่เงินลงไปเพื่อ  “ปรับปรุง” ให้บริษัท  “สามารถแข่งขันได้” กับคู่แข่งในเอเชีย  เพราะเขาคิดว่ายิ่งใส่เงินลงไปก็ยิ่ง “จม”  ดังนั้น  เขาจึงแค่ประคองธุรกิจสิ่งทอไปเรื่อย ๆ  และนำเงินสดที่ได้มาลงทุนซื้อหุ้นที่ดีอื่น ๆ  ซึ่งสร้างผลตอบแทนให้เขามหาศาลจนเป็น  “ตำนาน” ของเบิร์กไชร์ในวันนี้

  ข้อสามที่เป็นความคิดและอารมณ์ที่มั่นคงของบัฟเฟตต์ก็คือ  เขาเชื่อใน “ความจริง”  และสนใจใน “ข้อมูลรายงาน” น้อยกว่า    ความหมายก็คือ  เขาจะไม่ถูก “ลวง” ให้เชื่อโดยตัวเลขรายงานที่ถูก “จัดการ”  ให้ดูดีกว่าความเป็นจริง  ตัวอย่างเช่น  ถ้าบริษัทมีการตัดค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรหรือทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนต่ำกว่าที่ควรเป็น  เขาก็จะไม่เชื่อในตัวเลขกำไรที่จะออกมาดีกว่าปกติ  นอกจากนั้น  ถ้าเป็นกิจการที่เขาควบคุมเองได้  เขาก็จะไม่ยอมทำอะไรก็ตามที่อาจจะทำให้ดูดีในวันนี้แต่สุดท้ายแล้วก็จะแย่ภายหลัง  ตัวอย่างเช่น  ในช่วงหนึ่ง  เขาปฏิเสธที่จะขายประกันในราคาถูกเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้  เพราะเขาคิดว่าราคานั้นไม่คุ้ม  เขายอมให้กำไรของบริษัทในช่วงนั้นลดลงดีกว่าจะแสดงให้เห็นว่าบริษัทขายประกันได้มากและมีกำไรแต่ในที่สุดแล้วก็จะเสียหายเมื่อผู้ซื้อประกันกลับมาเคลมประกันที่มากกว่ารายรับในภายหลัง    การที่เขาทำแบบนั้นทำให้ธุรกิจประกันของเบิร์กไชร์มีกำไรและแข็งแกร่งมาตลอด  ในขณะที่บริษัทประกันอื่นนั้นมักจะเสียหายจากการที่พยายามแข่งขันกันแบบ “ฆ่าตัวตาย”

  ข้อสี่ที่เป็น  “วินัย”  ที่เข้มแข็งมากของบัฟเฟตต์ก็คือ  เขาเป็นคนที่มีมีความ “อดทนต่อสิ่งยั่วเย้า”สูงมาก  เขาจะไม่ซื้อหุ้นเพียงเพราะมันอาจจะทำกำไรได้อย่างรวดเร็วและง่าย ๆ  แต่เป็นหุ้นที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนและสามารถเติบโตไปได้เรื่อย ๆ ยาวนานมาก ๆ นอกจากนั้นแล้ว  หุ้นของเขาจะต้องเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่พอที่เขาจะลงทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ  และที่สำคัญอีกอย่างก็คือ  ราคาที่จะซื้อนั้นต้องสมเหตุผล  มี Margin of Safety หรือมีความปลอดภัยเพียงพอที่จะทำให้เขาไม่ขาดทุนในระยะยาวถ้าเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้น  การวิเคราะห์ของเขาเพื่อที่จะหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการนั้น  ดูเหมือนว่าจะเน้นไปที่เรื่องของกระแสเงินสดมากกว่าตัวเลขกำไรที่เป็นข้อมูลทางด้านบัญชีที่อาจจะไม่สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริงเต็มที่  และนี่เป็นเหตุผลที่เขาชอบบริษัทที่มีกระแสเงินสดดีและต้องการเงินลงทุนในการขยายธุรกิจต่ำ   และด้วยเหตุผลที่ต้องการหาหุ้นที่สมบูรณ์แบบดังกล่าวทำให้เขาลงทุนในหุ้นน้อยตัวมาก  พูดง่าย ๆ  ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ที่เขาต้องการ  เขายินดีรอไปเรื่อย ๆ โดยไม่ทำอะไรทั้ง ๆ ที่มีเงินสดที่พอกพูนขึ้นมามากมายตลอดเวลาจากการจ่ายปันผลของบริษัทที่เขาถืออยู่

  ข้อห้า บัฟเฟตต์นั้นเห็นว่าการมองโลกในแง่ร้ายและความหดหู่ของคนในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนซึ่งทำให้หุ้นตกลงมารุนแรงนั้น  เป็นโอกาสที่งดงามในการซื้อหุ้น  ในขณะที่ช่วงที่สังคมของนักลงทุนกำลังมองโลกในแง่ดีสุด ๆ จนแทบจะเคลิบเคลิ้มซึ่งทำให้หุ้นขึ้นไปอย่างไร้เหตุผลนั้น  เป็นเวลาที่จะต้องขายหุ้น  เหตุการณ์ช่วงวิกฤติในตลาดหุ้นอเมริกาในปี 2009 นั้น  บัฟเฟตต์เข้าซื้อหุ้นจำนวนมากที่ดูเหมือนว่ากำลังจะ “ล่มสลาย” และในตลาดนั้น  นักลงทุนต่างก็กำลังหนีตายและไม่มีเงินสดที่จะซื้อหุ้นเป็นพยานที่ยืนยันความมั่นคงในจิตใจของบัฟเฟตต์เป็นอย่างดี  ในทางตรงกันข้าม  บัฟเฟตต์เคยขายหุ้นทิ้งเกือบหมดพอร์ตในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 เนื่องจากหุ้นขึ้นเป็นกระทิงและราคาสูงมาก  เช่นเดียวกัน  เขาเคยซื้อหุ้นปิโตรเคมีของจีนและขายออกไปเมื่อราคาขึ้นไปสูงลิ่วอย่างไร้เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องจากบัฟเฟตต์เข้าไปซื้อมัน

  ข้อหกซึ่งใกล้เคียงกับข้อห้าก็คือ  ทุกครั้งที่เกิด “วิกฤติ” กับหุ้นที่ “ยิ่งใหญ่” และบัฟเฟตต์คิดว่ามันเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวครั้งเดียวและสามารถแก้ไขได้  เขาจะเข้าไปลงทุนอย่างหนักในหุ้นตัวนั้นเสมอ  ตัวอย่างมีมากมาย  เช่นกรณีที่เขาลงทุนในบริษัทอเมริกันเอ็กซเพรสเมื่อเกิดกรณีฉ่าวโฉ่เรื่องน้ำมันสลัดที่มีการฉ้อฉลกันในบริษัทแต่ตัวกิจการหลักที่เป็นบัตรเครดิตนั้นไม่ถูกกระทบ  เป็นต้น  ว่าที่จริง  หุ้นที่ยิ่งใหญ่จำนวนไม่น้อยนั้นถูกซื้อโดยบัฟเฟตต์ในช่วงที่มันมีราคาตกลงมาผิดปกติในยามที่เศรษฐกิจหรือบริษัทมีปัญหาที่  “แก้ไขได้”  หรือ “กำลังดีขึ้น” อย่างแน่นอน  และนี่ก็เป็นวิธีทำเงินที่สำคัญมากของบัฟเฟตต์

  สุดท้ายก็คือ  ระยะเวลาของการลงทุน  บัฟเฟตต์มองการลงทุนว่าคือการเข้าเป็นเจ้าของธุรกิจ  ดังนั้น  เมื่อซื้อแล้ว  เขาก็มักจะไม่มีความคิดว่าจะขาย  โดยเฉพาะบริษัทที่เขาคิดว่ามันเป็น ซุปเปอร์สต็อกหรือบริษัทที่จะโตต่อไปได้เรื่อย ๆ  เนื่องจากมันเป็นธุรกิจที่จะเติบโตไปได้เรื่อย ๆ  ยาวนานและบริษัทมีความได้เปรียบที่ยั่งยืนและธรรมชาติของผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ล้าสมัยและหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้ยาก  การที่ไม่คิดว่าจะขายในแทบทุกกรณีทำให้เขาไม่ติดตามราคาหุ้นแบบนักลงทุนทั่วไปที่ต้องติดตามบางทีทุกนาทีหรือทุกวัน  บัฟเฟตต์เองนั้นไม่มีจอดูราคาหุ้นด้วยซ้ำ  ดังนั้น  ราคาหุ้นที่ขึ้นลงผันผวนรายวันหรือรายเดือนจึงไม่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของบัฟเฟตต์เลย  ถ้าจะมีบ้างก็คือ  ถ้าหุ้นตกลงมามาก  มันอาจจะเป็นโอกาสลงทุนสำหรับบัฟเฟตต์  แต่ก็เฉพาะที่เป็นหุ้นที่ดีมากที่บัฟเฟตต์ยังไม่ลงทุนเนื่องจากราคามันยังแพงเกินไปเท่านั้น


Friday, February 20, 2015

ที่สุดของVI / โดย คนขายของ




  พัฒนาการของการเป็นนักลงทุนนั้นผมเชื่อว่าคล้ายกับช่วงชีวิตของคนเราที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุ เช่นตอนเป็นเด็กก็ชอบของเล่น เป็นวัยรุ่นก็สนใจเรื่องแฟน โตมาหน่อยก็เรื่องหน้าที่การงาน หรือจะว่าอีกอย่าง พัฒนาการของนักลงทุนคงคล้ายกับวงจรผีเสื้อซึ่งตอนแรกเกิดมาเป็นหนอนแล้วกลายมา เป็นตัวอ่อน มาเป็นดักแด้ แล้วค่อยกลายมาเป็นผีเสื้อที่สวยงาม ในบทความนี้ผมได้ลองแบ่งพัฒนาการ การลงทุนออกเป็นสี่ระยะด้วยกัน เราลองมาดูกันนะครับว่าแต่ละช่วงมีรายละเอียดเป็นอย่างไรกันบ้าง

          พัฒนาการแรกขอเรียกว่าระยะ “ตั้งหลัก” หากคุณเป็นคนที่เรียนจบมาที่บ้านไม่ได้มีเงินทองมากองให้ ไม่มีกิจการร้านรวงอะไร ส่วนใหญ่หลังจากจบมาแล้วได้ใช้เงินไปกับการเที่ยวเตร่ตามประสาคนเริ่มมี เงินเดือนได้สักปีสองปีก็เริ่มรู้สึกตัวได้ว่าต้องเริ่มเก็บออม ในระยะนี้บางคนเริ่มสนใจลงทุนบ้างแล้วแต่ก็ รู้สึกว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนนั้นน้อยกว่ารายได้จากการทำงานมากๆ การประหยัดอดออมจึงเป็น หัวใจหลักสำหรับในช่วงนี้ที่จะทำให้มูลค่าพอร์ตเติบโตไปได้ ความรู้ในการลงทุนก็มีไม่มาก ดังนั้นโอกาส ขาดทุนมีสูงมากและอาจจะเป็นตัวฉุดมากกว่าตัวเสริมความมั่งคั่งด้วยซ้ำ

          พัฒนาการที่สองขอเรียกว่าระยะ “วัยเรียน” ในช่วงนี้หลังจากที่การออมเริ่มเห็นผล จะเป็นช่วงที่นักลงทุน ขยันเสาะหาความรู้เรื่องการลงทุนมากขึ้นเพราะเงินลงทุนก้อนเริ่มใหญ่ขึ้น แต่เนื่องจากความรู้และ ประสบการณ์ยังไม่มาก ผลก็เลยออกมาแบบแพ้ชนะสลับกันไป ได้มาบ้างเสียไปบ้าง ขายตัวนั้นไปได้กำไรมา ซื้อตัวใหม่มากลับขาดทุน ทั้งนี้เพราะยังเห็น “ภาพใหญ่” ของการลงทุนไม่ชัดเจน ยังเหมือนตาบอดคลำช้าง อยู่ มองการลงทุนออกเป็นส่วนๆ ความรู้ที่สะสมมายังไม่ตกผลึก ทำให้ต้องเร่งขวนขวายมากขึ้น รายได้จาก การทำงานกับรายได้จากการลงทุน เริ่มมีน้ำหนักใกล้เคียงกัน การออมยังคงมีความสำคัญต่อการสร้าง ความมั่งคั่ง

          พัฒนาการที่สามขอเรียกว่าระยะ “เติบโต” หลังจากอดออมมานาน พัฒนาความรู้เรื่องการลงทุนมาพอสมควร เริ่มมีความชำนาญมากขึ้น ไม่ได้ตัดสินใจในการลงทุนด้วยอะไรเพียงอย่างเดียวเช่น ดูเฉพาะค่าPE หรือ ดูเฉพาะเงินปันผลของบริษัท แต่มองภาพรวมของธุรกิจ ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม เริ่มศึกษาประวัติผู้บริหาร ทำการวิเคราะห์บริษัททั้งในแง่อัตราส่วนทางการเงิน และ ความสามารถในการ แข่งขัน พอร์ตเริ่มโตต่อเนื่องยาวนานหลายปี เป็นช่วงสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและครอบครัว รายได้จาก งานประจำเริ่มมีน้ำหนักน้อยลงมาก บางคนพอร์ตโตมากจนมีอิสระภาพทางการเงินและออกมาเป็นนักลงทุน แบบ “Full Time”

          มีหลายๆคนคงคิดว่าที่สุดของชีวิตการเป็นนักลงทุนคงมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ คือการมีอิสระภาพทางการเงิน และชีวิตก็สร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองไปเรื่อยๆ จากสิบเป็นร้อย จากร้อยมุ่งเป็นพันเป็นหมื่นประมาณนั้น ผมลองศึกษาชีวิตของนักลงทุนชั้นเซียนระดับโลก หลายคนมีชื่อติดหนึ่งในร้อยของอันดับมหาเศรษฐีของโลก เพื่อที่จะดูว่าหลังจากที่เขาสร้างความมั่งคั่งมากมายแล้วเขาทำอะไรกัน?

          ผมพบว่าหลายๆท่านยังไม่หยุดอยู่แค่ “การสร้างความมั่งคั่ง” แต่กลับมุ่งสู่พัฒนาการที่ขั้นสี่ ซึ่งผมขอเรียกว่า ระยะ “ทำประโยชน์” อย่างเช่น Warren Buffett ได้เริ่มโครงการ “The Giving Pledge” ในปี2010 โดยได้ชักชวนมหาเศรษฐีทั้งหลายให้บริจาคเงินอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของความมั่งคั่งทั้งหมดเพื่อการกุศล ซึ่งอภิมหาเศรษฐีนักลงทุน Ray Dalio ได้ตอบรับการเข้าร่วมโครงการนี้ หรืออย่าง George Sorosเขามีมูลนิธิที่เขาก่อตั้งเองให้การสนับสนุนเงินทุนวิจัยและการศึกษา โดยเน้นประเทศแถบยุโรปตะวันออก ผู้จัดการกองทุนชื่อก้องโลก Peter Lynch ที่นักลงทุนไทยหลายคนรู้จักดี ตอนนี้เขาไม่ได้รับบริหาร กองทุนเหมือนแต่ก่อนแล้วแต่ให้เวลาส่วน ใหญ่แก่ “Lynch Foundation” ซึ่งเน้นการบริจาคเงินเพื่อ การกุศล

           เราจะเห็นได้ว่า “พัฒนาการที่สี่” ซึ่งว่าด้วยการทำประโยชน์แก่ส่วนรวมนั้น ใช้ทักษะที่แตกต่างจากพัฒนาการในช่วงที่หนึ่งถึงสามเป็นอย่างมาก เพราะในช่วงที่สี่นี้ นักลงทุนจะต้อง “จ่าย” หรือ “ใช้” ความมั่งคั่งที่อุตส่าห์เก็บออมและลงทุนออกไป ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับที่เคยทำมาตลอด ทำให้อาจจะมีนักลงทุนบางคนไม่สามารถก้าวข้ามไปถึง “ที่สุด” ของการเป็นนักลงทุนได้ แต่หากเขา ลองพิจารณาให้ดีก็อาจจะเห็นว่า เงินที่หามาได้นั้นจะมีประโยชน์อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อได้ใช้มันออกไป ในทางที่ถูกที่ควร ไม่เช่นนั้นก็คงกับเหมือนที่มีผู้กล่าวไว้ว่า “หนังสือที่ซื้อไว้แต่ไม่ได้อ่าน มีดที่แหลมคมแต่เอามาแขวนประดับ เงินทองที่มีแต่ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองและผู้อื่น สามอย่างนี้มีไว้ก็เหมือนไม่มี ซ้ำยังเป็นภาระต้องคอยดูแลรักษาอีกต่างหาก”

Monday, February 16, 2015

ฟองสบู่ Nasdaq VS MAI ดร.นิเวศน์ เหมวชิวรากุล



การปรับตัวขึ้นของราคาหรือดัชนีหุ้น MAI ในช่วง 3-4 ปีมานี้สูงมากจนทำให้ผมคิดว่ามันเป็น  “ฟองสบู่” จากปลายปี 2554 ถึงปัจจุบัน ดัชนีปรับตัวขึ้นเป็นมากกว่า 3 เท่าในเวลา 3 ปี เศษ ๆ จากดัชนี 242 เป็นประมาณ 800 จุดในปัจจุบัน  ราคาหุ้นบางตัวปรับขึ้นมากกว่า 10 เท่าภายในช่วงเวลาดังกล่าว ดัชนีหุ้น MAI ปรับตัวขึ้นไปสูงลิ่วจนค่า PE สูงถึง 84 เท่า ค่า PB สูงถึง 7 เท่า และอัตราปันผลต่อราคาหุ้นเท่ากับ 0.6% ต่อปี  นักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากต่างก็เข้ามาเล่นหุ้นตัวเล็กที่มักจะอยู่ในตลาดหุ้น MAI ถ้าจะว่าไป  ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยที่หุ้นจะ “เวอร์” ขนาดนี้  ถ้าจะหาประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นที่จะมาเปรียบเทียบ  ผมคิดว่ากรณี “ฟองสบู่หุ้น Nasdaq” หรือฟองสบู่หุ้น ไฮเท็คในช่วงต้นปี 2000 ในสหรัฐอเมริกาน่าจะนำมาเทียบเคียงและอาจจะเป็นบทเรียนให้เราได้



  ข้อแรกก็คือ  ฟองสบู่หุ้นไฮเท็คนั้นเริ่มต้นในช่วงประมาณต้นปี 1997 พอถึงเดือนมีนาคมปี 2000 ดัชนีได้ปรับตัวขึ้นไปกว่า 3 เท่าในเวลาเพียง 3 ปีเศษ  ดัชนีวิ่งขึ้นจาก 1000 ต้น ๆ  เป็นเกือบ 4000 จุด หุ้นหลายตัวที่โดดเด่นเช่นหุ้น Cisco Systems ที่ทำเกี่ยวกับระบบเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดนั้น  ผมจำได้ว่ากลายเป็นหุ้นที่มี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นใหญ่ที่สุดในโลกตัวหนึ่งทั้ง ๆ  ที่มันจดทะเบียนในตลาด Nasdaq หรือ  “ตลาดหุ้นตัวเล็ก” คล้าย ๆ  ตลาด MAI ในบ้านเรา  เหตุผลก็เพราะว่าหุ้นไฮเท็คโดยเฉพาะที่ทำเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตนั้นมีราคาวิ่งขึ้นไปสูงมาก  หลาย ๆ  ตัวราคาปรับขึ้นไปเป็นกว่าสิบเท่าในเวลาอันสั้น  ค่า PE ของดัชนี Nasdaq นั้นสูงถึง 100 เท่า   ดังนั้น  มองในแง่ของความ “เวอร์” ก็ต้องบอกว่าฟองสบู่หุ้นไฮเท็คดูเหมือนว่าจะสูงกว่าเล็กน้อยในนาทีนี้  แต่ก็ไม่แน่ว่าในที่สุดหุ้น MAIจะเหนือกว่าหรือไม่  เพราะฟองสบู่ไฮเท็คแตกไปนานแล้วในขณะที่หุ้น MAI ดูเหมือนว่าจะยังขึ้นอยู่
  ข้อสอง ฟองสบู่หุ้นไฮเท็คนั้นเกิดขึ้นเพราะ Story หรือเรื่องราวการพัฒนาทางเท็คโนโลยีโดยเฉพาะทางด้านอินเตอร์เน็ตที่กำลังกลายเป็นกระแสใหม่ของโลกที่คนธรรมดาทั้งโลกจะสามารถใช้มันได้ทุกวัน  กระแสนี้ทำให้คนคิดว่าบริษัทจดทะเบียนที่ทำเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตจะกลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่และโดดเด่นในระบบ  “เศรษฐกิจใหม่” ของโลก  มันจะทำรายได้และมีกำไรมหาศาลยิ่งกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เดิมที่มีอยู่ใน  “โลกเก่า” ในอนาคตอันใกล้แม้ว่าในขณะนั้นมันยังมีรายได้น้อยมากและจำนวนมากก็ยังไม่มีกำไรเลย  ตัวอย่างถ้าผมจำไม่ผิดก็เช่นบริษัทอเมซอนดอทคอมที่ขายหนังสือผ่านทางอินเตอร์เน็ตที่มีมูลค่าหุ้นใหญ่กว่าบริษัทบาร์นแอนด์โนเบิลซึ่งเป็นบริษัทขายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลกและอยู่มาน่าจะหลาย ๆ สิบปีแล้ว  ว่าที่จริงมูลค่าของอเมซอนในขณะนั้นใหญ่กว่าบริษัทขายหนังสือทั้งหมดในประเทศรวมกันด้วยซ้ำทั้ง ๆ  ที่ยังไม่มีกำไรเลย
  Story ของหุ้น MAI นั้นผมคิดว่าแตกต่างจากตลาด Nasdaq มาก  เนื่องจากนโยบายก็คือ  หุ้น MAI นั้นมีขึ้นเพื่อสนับสนุนบริษัทขนาดเล็กเพื่อให้มีช่องทางการระดมทุนเพื่อการเติบโตและบริษัทขนาดเล็กที่เข้ามาจดทะเบียนก็มีหุ้นไฮเท็คน้อยมาก  อย่างไรก็ตาม  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้  เราก็ได้เห็น “กระแส” อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นนั่นก็คือเรื่องของพลังงานทดแทนซึ่งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดขึ้นโดยการ  สนับสนุนด้านราคาขายให้แก่บริษัทที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ  นี่ทำให้บริษัทที่ทำพลังงานทดแทนเกิดขึ้นและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และก็ได้รับการ “ต้อนรับ”  จากนักลงทุนจำนวนมากที่อาจจะมองว่ามันจะเป็นธุรกิจที่จะโตไปได้อีกมหาศาลพร้อม ๆ กับกำไรที่จะเติบโตขึ้นเนื่องจากเม็ดเงินที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐไปอีกนาน    มองในแง่นี้ผมคิดว่า Story ของหุ้นไฮเท็คน่าจะเหนือกว่าหุ้น MAI มาก
เรื่องที่สามที่ผมคิดว่าคล้าย ๆ  กันระหว่าง Nasdaq กับ MAI ก็คือ  บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในตลาด MAI ต่างก็พยายามเข้ามาทำธุรกิจพลังงานทดแทนเพราะอาจจะเห็นว่ามันทำกำไรได้  แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ  พวกเขาเปลี่ยนชื่อบริษัทเพื่อสะท้อน ให้เห็น ทิศทาง ที่บริษัทจะเดินไป  ประเด็นก็คือ  การเปลี่ยนชื่อนั้น  พวกเขาเชื่อว่าจะทำให้คนสนใจหุ้นมากขึ้นและเข้ามาซื้อทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นไปอย่างรวดเร็วโดยที่ยังไม่ต้องลงมือทำอะไรเลย  ชื่อที่จะทำให้คนสนใจนั้นจะต้องมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแสงอาทิตย์เช่นคำว่า  โซลาร์” เป็นต้น  ในทำนองเดียวกัน  ในช่วงของฟองสบู่ไฮเท็คเองนั้น  บริษัทจำนวนมากต่างก็เปลี่ยนชื่อให้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตหรือไฮเท็ค เช่น  ต่อท้ายชื่อของบริษัทด้วยคำว่า  ดอทคอม  หรือ ดอทเน็ต  หรือ โทรนิค  อะไรทำนองนี้  มีการศึกษาพบว่าหุ้นของบริษัทที่มีการเปลี่ยนชื่อให้เข้ากับกระแสนั้น  ภายในเวลา 10 วันมีราคาเพิ่มสูงขึ้นถึง 125 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับบริษัทที่ไม่ได้เปลี่ยนชื่อ ของเมืองไทยผมไม่รู้ว่าผลของการเปลี่ยนชื่อทำให้หุ้นขึ้นไปมากน้อยแค่ไหน  แต่คิดว่าน่าจะมีผลอยู่เหมือนกัน
ข้อสี่ที่ผมอยากเปรียบเทียบก็คือเรื่องของหุ้น IPO  ทั้งในตลาดหุ้น MAI และNasdaq ในช่วงฟองสบู่ก็คือ  มีการนำหุ้นเข้าตลาดจำนวนมากอย่างแทบไม่เคยปรากฏมาก่อน  หุ้นไฮเท็คจำนวนมากนั้น  เป็นเรื่องของ Concept หรือแนวความคิดใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่อาจจะ ปฏิวัติ” แนวความคิดหรือผลิตภัณฑ์เดิม  หุ้นที่เข้าตลาดในวันแรก ๆ  นั้นต่างก็  วิ่งระเบิด หลายสิบเปอร์เซ็นต์หรืออาจจะเป็นเท่าตัว   แต่ข้อเท็จจริงที่พบในภายหลัง หลังจากที่ฟองสบู่แตกก็คือ  ผลิตภัณฑ์จำนวนมากนั้นเป็นเพียง ความฝัน ที่ไม่รู้ว่าคนที่ซื้อหุ้นคิดว่ามันจะเป็นจริงได้อย่างไร  ตัวอย่างเช่น  บริษัทที่อ้างว่าเมื่อเสียบปลั๊กเข้าเครื่องคอมแล้วสามารถส่งกลิ่นที่ต้องการออกมาได้  เป็นต้น  ก็อย่างที่เราเห็น  หุ้น IPO จำนวนมากกลายเป็นกระดาษที่ไม่มีค่าเพราะบริษัทล้มละลายไปเมื่อ  ฟองสบู่แตก
ในกรณีของหุ้น IPO ของตลาด MAI นั้น  ส่วนใหญ่หุ้นที่เข้าตลาดวันแรก ๆ  ก็มักจะวิ่งระเบิด  น่าจะปรับตัวสูงกว่าหุ้นไฮเท็คโดยเฉลี่ย  แต่ถ้ามองดูก็จะเห็นว่าหุ้นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นไม่ต้องพูดถึงว่ามันจะ ปฏิวัติ แนวความคิดอะไร   บางตัวอาจจะมีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจอยู่บ้างในแง่ที่มันยังไม่มีบริษัทในตลาดที่ทำแบบนั้น  ตัวที่โดดเด่นก็ดูเหมือนยังอยู่ที่ธุรกิจที่ดูเหมือนกำลังโตเช่น พลังงานทดแทน เป็นต้น  ดูเหมือนว่านักลงทุนจะดูแค่ว่ามันยังเป็นธุรกิจที่เล็กและจะโตได้เร็วเมื่อเข้ามาจดทะเบียนในตลาดแล้ว  ผมเองคิดว่าถ้า ฟองสบู่ แตกจริง  บริษัทก็คงไม่ล้มละลาย  มันคงไม่ได้กระทบอะไรกับบริษัทมากมายนักเพราะหุ้นที่เข้ามาจดทะเบียนนั้นไม่ได้อาศัยเงินจากตลาดในการอยู่รอดแบบหุ้นไฮเท็ค ตรงกันข้าม  บริษัทได้เงินจาก IPO และดังนั้นจึงน่าจะมีฐานะทางการเงินดีขึ้น  สิ่งที่บริษัททำเองก็ไม่ได้มีความเสี่ยงอะไรมากมายนัก  เป็นธุรกิจธรรมดา ๆ  ที่นักลงทุนอาจจะ ฝัน” ว่าจะโตเร็วเท่านั้น
บทสุดท้ายของตลาด Nasdaq ในปี 2000 ก็คือ  ฟองสบู่แตก  ดัชนี Nasdaqปรับตัวลงมาอย่างรุนแรง  ปีแรกตกลงมาเกือบ 50% และตกต่ออีก 2 ปี ปีละ20รวมแล้วตกลงมา ประมาณ 66%  หุ้นจำนวนมากล้มละลายกลายเป็น 0 แม้แต่หุ้น สุดยอด  และกลายมาเป็นหุ้นที่ ยิ่งใหญ่” ในปัจจุบันบางตัวอย่างหุ้นอเมซอนนั้น  ในช่วงที่ตกต่ำมาก ๆ ปี 2001-2002 ก็ตกลงมาเหลือเพียงไม่ถึง 10% จากราคาสูงสุดก่อนหน้านั้นเช่นเดียวกับหุ้นยาฮูและซิสโก้    ผมเองไม่แน่ใจว่าบทสุดท้ายของหุ้น MAI จะเป็นอย่างไร  เป็นไปได้ว่าฟองสบู่อาจจะไม่แตกและกำไรของบริษัทจดทะเบียนหุ้นตัวเล็กจะโตเร็วจนกระทั่งค่า PE ลดลงหรือราคาหุ้นก็ขึ้นไปอีกจน PEทะลุ 100 เท่าก็เป็นไปได้  อย่างไรก็ตาม  ประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้น Nasdaq ก็น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจว่า  มีโอกาสที่ฟองสบู่อาจจะแตก  และนั่นอาจจะหมายถึงความเสียหายที่รุนแรงสำหรับคนที่เข้าไป เล่น  ในยามนี้  เพราะประวัติศาสตร์นั้น  มีพลังที่ยิ่งใหญ่เสมอ 

บทความ ดร.นิเวศน์  เหมวชิวรากุล

Thursday, February 12, 2015

ห้องเรียนนักลงทุนสัญจร 14/2/2558 ขอนแก่น

ตลท. ร่วมกับ ม.ขอนแก่น จัดกิจกรรม "ห้องเรียนนักลงทุนสัญจร"

          ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอเชิญท่านหรือผู้แทนร่วมกิจกรรม "ห้องเรียนนักลงทุนสัญจร" วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 9.00-15.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้การลงทุน (SET IC) ชั้น 1 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามกำหนดการ ดังนี้
          8.00-9.00 น. ลงทะเบียน
          9.00-9.30 น. พิธีเปิดกิจกรรม "ตลาดหลักทรัพย์ฯ สัญจร 58 @ ขอนแก่น"
          กล่าวต้อนรับ
          โดย รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัยอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
          กล่าวเปิด
          โดย ดร. กฤษฎา เสกตระกูลผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
          คุณภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย
          9.30-12.00 น. สัมมนา "จัดทัพลงทุนสร้างพอร์ตคุณภาพ"
          โดย คุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรมผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บล. เอเชีย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
          13.00-15.00 น. สัมมนา "ส่งเสริมกลยุทธ์จัดพอร์ตสไตส์กูรู"
          โดย คุณกัณฑรา ลดาวัลย์ ณ อยุธยากรรมการผู้จัดการ บล. ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)




          ตลาดหลักทรัพย์ฯ หวังว่าจะได้ต้อนรับท่านในวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

วิถีของอาชีพ VI (2)



   ต่อจากบทความที่แล้วเรื่องวิถีของอาชีพ VI สองอย่างแรก คือวิถีมั่งคั่ง และวิถีอิสระ ส่วนต่างสำคัญคือการ “แบ่งเวลา” และ “แบ่งความสนใจ” ต่อการลงทุนในหุ้นไปทำสิ่งอื่น ๆ โดยแลกกับผลตอบแทนที่ลดลง แต่แน่นอนว่าผู้ที่จะประสบความสำเร็จในวิถี VI ไม่ว่าจะวิถีไหนจะต้องมีองค์ประกอบเหมือนกัน คือความทุ่มเทในการอ่านข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และความเฉียบคม มีเหตุมีผลในการตัดสินใจ

            ส่วนวิถี VI ที่สาม ซึ่งผมขอเรียกว่า “วิถียั่งยืน” ซึ่งวิถีนี้มุ่งเน้นเรื่องการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวเป็นหลัก ผมสังเกตว่ามหาเศรษฐีมักจะอยู่ในวิถีนี้ คือจะไม่ถือหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งจำนวนมาก ๆ หรือมี Wealth อยู่แต่ในหุ้น 100% พวกเขาจะสร้างความสมดุลด้วยการกระจายพอร์ตโฟลิโอ แม้ว่าเศรษฐีจำนวนมากจะร่ำรวยจากหุ้น แต่สุดท้ายก็มักผ่องถ่ายออกไปสินทรัพย์อื่น ตัวอย่าง Family Business ระดับโลกของตระกูล Toyoda เจ้าของบริษัท Toyota ก็มีหุ้นที่ตระกูลถืออยู่เพียง 2% เท่านั้น พวกเขาแบ่งเอาเงินลงทุนจาก Toyota ไปลงทุนในทรัพย์สินอื่น ๆ และสาเหตุของการกระจายพอร์ตโฟลิโอ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเรื่องผลตอบแทนแต่เป็นเรื่อง “ความยั่งยืน” รวมไปถึงการลด “ความเสี่ยง” ที่ไม่จำเป็นออกไป

            เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าการลงทุนในหุ้น 100% เป็นสภาวะที่มีความเสี่ยงแฝงอยู่ไม่น้อย และต้องพึ่งพาความสามารถในการลงทุนเฉพาะบุคคลอีกด้วย เพราะส่วนสำคัญของการลงทุนในหุ้นคือการ “ติดตามดูแล” พอร์ต การออมหุ้นแบบ DCA โดยไม่มีการทบทวนเลย อาจจะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้จริงในระยะยาว แม้ว่าจะเลือกหุ้นที่แข็งแรงมาก ๆ ก็ตาม เพราะหุ้นคือธุรกิจที่มีวงจรชีวิต มีเกิดและมีตายไป วิถียั่งยืนจึงเป็น “ระบบ” การวางรากฐานผู้สืบทอด หรือเพื่อเตรียมตัวเกษียณอายุ เป็นวิถีลงทุนเพื่อรักษา “กำลังซื้อ” ของเงินตัวเองไว้ อันที่จริงการลงทุนใน “สุขภาพตัวเอง” ก็อยู่ในวิถียั่งยืนเช่นเดียวกัน เพื่อมุ่งเน้นหากระแสเงินสดที่เหมาะสม โดยไม่คาดหวังการเติบโตเป็นปัจจัยต้น ๆ

            วิถีนี้จะกระจายเงินออกจากหุ้น ไปลงทุนในสิ่งอื่น ๆ เช่น บ้าน ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ของสะสม รูปวาด ทรัพย์สินเหล่านี้อาจจะสร้างผลตอบแทนได้ไม่เท่าหุ้นที่มีสถิติพิสูจน์แล้วว่าได้ผลตอบแทนระยะยาวเฉลี่ยได้ดีที่สุด แต่สินทรัพย์บางอย่าง ก็หาซื้อไม่ได้ถ้าเวลาผ่านไป เช่นที่ดินใจกลางเมือง อย่างที่ดินกลางกรุงลอนดอนก็เป็นของบารอนหรือมหาเศรษฐีในอดีต ใครจะมาซื้อใหม่ ก็สามารถได้เพียง “เช่า” หรือ “เซ้ง” ต่อเท่านั้น รวมไปถึงสินทรัพย์เหล่านี้ ก็มีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นมาก ยกตัวอย่างราคาที่ดินดี ๆ ในประเทศไทย อาจจะมีแค่ไม่กี่ปีที่มีราคาลดลงมากกว่า 5-10% รวมไปถึงความสุขทางใจ ซึ่งอาจจะมีมูลค่ามากกว่าตัวเงิน และแน่นอนว่าการลงทุนทั้งหมด ต้องอยู่บนพื้นฐานของ VI คือต้องซื้อในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าเสมอ

            วิถี VI ที่สี่ คือ วิถีคุณค่า นักลงทุนกลุ่มนี้จะเอาเวลามาสร้างคุณค่าอื่น ๆ “คืนกลับ” สู่สังคม ไม่ว่าจะไปทำงานการกุศลอย่างปีเตอร์ ลินซ์ หรือบริจาคเงินจำนวนมากอย่างบัฟเฟตต์ หรือใช้เวลาในการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นจนเกิดหนังสือลงทุนคลาสสิกหลาย ๆ เล่ม แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ทำไปเพื่อความสุขในด้านอื่น ๆ ซะมากกว่า “ตัวเงิน”

            ผมติดตามนักลงทุน VI ไทยที่ประสบความสำเร็จหลายท่าน มีบทบาทในการสร้างวิถีคุณค่ามากมาย ไม่ว่าจะนำผลตอบแทนจากการลงทุนไปให้ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า ให้ทุนการศึกษา บริจาคให้โรงพยาบาล หรือช่วยเหลืองานการกุศล หรือแม้แต่ทำงานที่คุณคิดว่ามันเป็นประโยชน์ต่อสังคม และนี่เป็นบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่พยายามสร้างวิถีคุณค่าคืนแก่สังคมเช่นเดียวกัน

            อันที่จริงการดูแลสังคมก็ทำให้สังคมดูแลเราในบั้นปลาย ผมเดินทางไปประเทศหลายประเทศที่มีช่องว่างทางสังคมสูง ๆ คฤหาสน์หลังโต แต่มีรั้วสูง มีลวดไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งไม่น่าอยู่เลยแม้ว่าคุณจะมีความมั่งคั่งแค่ไหน กลับกันสังคมที่มีความมั่งคั่งกระจายตัวมาก ๆ อย่างสแกนดิเนเวีย บ้านหลังเท่า ๆ กัน แต่อบอุ่น ปลอดภัย น่าอยู่กว่ากันมาก วิถีคุณค่าอาจจะเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ไม่ต้องรอให้เราสำเร็จใหญ่โตก่อน เพราะจุดเล็ก ๆ มันสร้างคุณค่า “ทบต้น” ได้เหมือนผลตอบแทนจากการลงทุนเช่นเดียวกัน

            ข้อสรุปของผมคือ วิถี VI ในยุคนี้ ผมคิดว่าเป็นการหาจุดดีสมดุลที่สุดระหว่าง “ผลตอบแทน” “อิสรภาพ” “ความยั่งยืน” และ “คุณค่า” ทั้งสี่วิถีไม่ควรวัดกันที่ “ขนาดพอร์ต” เพราะคนที่พอร์ตเล็ก หรือพอร์ตใหญ่ก็สามารถมีวิถีทางเป็นของตัวเองได้เหมือนกัน แต่อาจจะเป็นเพราะสังคมให้ความสำคัญกับขนาดพอร์ตจึงทำให้วิถีมั่งคั่งเป็น” กระแสหลัก” ในปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่า “ความรวย” เป็น นามธรรมที่จับต้องยาก เป็นนิยามแห่งการเปรียบเทียบโดยไม่มีความหมายในตัวเอง คุณรวยเสมอถ้าเปรียบเทียบกับคนที่จนกว่า และคุณจนเสมอเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่รวยกว่า นักลงทุน VI ที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะด้านการลงทุนหรือการใช้ชีวิตควรมีความคิดเป็นอิสระจากสังคม เพราะเส้นทางวิชาชีพ VI เป็นเส้นทางหนึ่งที่คุณเลือกเดินทางเองได้ ตามวิถีชีวิตที่คุณอยากได้ สังคมที่คุณอยากอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องเอากระแส หรือความนิยมในยุคใดยุคหนึ่งมาเป็นตัวกำหนดเส้นทางวิถีชีวิต VI ของคุณครับ

บทความโดย  คุณวีรพงษ์ ธัม

Monday, February 9, 2015

"วิบูลย์ พึงประเสริฐ" เซียน VI ต้นทุนหุ้น BH 15 บาท


12 ปี บนโลกการลงทุนแนว VI “วิบูลย์ พึงประเสริฐ” เจ้าของพอร์ตหลักสิบล้าน โกยกำไรมาแล้วเฉลี่ยปีละ 30%จากนี้ไปขอ “โตพอเพียง” ปีละ 15%  

“รวยหุ้น” แต่ไม่จำเป็นลาออกจากงานประจำ “บูลย์-วิบูลย์ พึงประเสริฐ” เจ้าของพอร์ตลงทุน “หลักสิบล้านบาท” บุรุษผู้โลดแล่นในตลาดหุ้นมา 16 ปี แต่เพิ่งหันมาเป็น “นักลงทุนเน้นคุณค่า” หรือ Value Investor(VI) ในช่วง 12 ปีหลัง คิดเช่นนั้น..

“ความแก่กล้าวิชาหุ้น VI” ทำให้ “วิบูลย์” เคยถูกทาบทามให้มานั่งเป็น “นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)” รุ่น 2 ต่อจาก “ไก่-ธันวา เลาหศิริวงศ์” แต่เขาส่ายหัวไม่รับตำแหน่ง เพราะมีงานประจำที่ต้องรับผิดชอบ

ปัจจุบัน “ชายวัย 44 ปี” นั่งทำงานอยู่ที่ “Nature Works Asia Pacific Ltd.” บริษัทร่วมทุนระหว่าง “พีทีที โกลบอล เคมิคอล” (PTTGC) และพันธมิตรจากประเท ศ สหรัฐอเมริกา บริษัทนี้เป็นแห่งที่ 4 ที่เขาใช้ชีวิตมุนษย์เงินเดือน

ต้นปี 2540 ก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง “วิบูลย์” ขณะนั้นเขามีอายุเพียง 29 ปี และเพิ่งเข้าทำงานในตำแหน่งผู้ประสานงานโครงการ บริษัท เชลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังเรียนจบปริญญาโท MBA ประเทศสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจควัก “ทุนตั้งต้น” เล่นหุ้นครั้งแรก 100,000 บาท ตามคำชักชวนของเพื่อนมาร์เก็ตติ้ง ณ บล.ธนสยาม 1 ในไฟแนนซ์ที่ปิดตัวไปในช่วงวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง”

เขาฉายเดี่ยว ทุ่มเงินทั้งก้อน “สอย” หุ้น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพียงตัวเดียว ไม้แรกต้นทุน 100 บาท ผ่านไป 2 วัน ปล่อยออก 104 บาท ไม้สอง 106 บาท ผ่านไป 2 วัน ขายออก 110 บาท “ที่สุดแห่งความดีใจ” ทำให้ “บูลย์” ช้อนไม้ 3 ราคา 120 บาท โดยหารู้ไม่ว่า “หายนะทางเศรษฐกิจกำลังมาเยือน”

ซื้อหุ้น BBL ไม้สุดท้ายได้ไม่นาน ราคาหุ้น BBL และ SET INDEX “ดิ่งหนัก” เขาอดทนถือหุ้น BBL ต่อไป ด้วยความหวังว่า “กาลเวลาจะนำพาความร่ำรวยคืนมา” ผ่านมา 3 ปี ราคาหุ้น BBL ลดเหลือ 30 บาท “ขาดทุน” ทันที 70 เปอร์เซ็นต์ จากทุน “หนึ่งแสนบาท” เหลือเพียง 30,000 บาท

“วิบูลย์” หวนคืนตลาดหุ้นอีกครั้ง ด้วยเงินก้อนใหม่ 300,000 บาท คราวนี้มาแนว “นักลงทุนเน้นคุณค่า” หลังเพื่อนคนหนึ่งยื่นกระดาษซีร็อกซ์ “หนังสือ ศาสตร์แห่งบัฟเฟตต์” หรือ Buffettology ของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” มาให้ช่วยแปล

เขาใช้เวลาอ่านหนังสือการลงทุนของต่างประเทศไม่เกิน 4 เดือน ก่อนตัดสินใจคัด 3 หุ้นที่ดีที่สุดเข้าพอร์ต นั่นคือ หุ้น เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ,หุ้น ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และ หุ้น ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)

ถือไม่นานเขาขายหุ้น 2 ตัวแรก เพื่อโยกเงินมาซื้อหุ้น PTTEP ตัวเดียวในราคา 110 บาท พาร์ 5 บาท เทียบเท่า 22 บาท พาร์ 1 บาท เพราะเชื่อว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ราคาหุ้นจะทะยาน ผ่านมาแค่ 6 เดือน ราคาหุ้น PTTEP ขึ้นไป 220 บาท พาร์ 1 บาเขาตัดสินใจขายได้กำไร 1,000 เปอร์เซ็นต์ พลิกพอร์ตลงทุนจากเงินตั้งต้น “หลักแสน” สู่ “8 หลัก” ทันที (ก่อนกำไรหุ้น PTTEP เขาเติมเงินเข้าพอร์ตตลอด)
“เซียนหุ้นวีไอ” ในฐานะนักเขียนประจำคอลัมน์ Value Way ของหนังสือพิมพ์ “กรุงเทพธุรกิจ BIZ Week” และเจ้าของหนังสือ “คัมภีร์ VI ลงทุนหุ้นแบบเน้นคุณค่า (เขียนร่วมกับ “มนตรี นิพิฐวิทยา) เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันมีหุ้นในพอร์ตประมาณ 5 ตัว อาทิเช่น หุ้น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) หุ้น พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) หุ้น ซีพี ออลล์ (CPALL) หุ้น กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) และหุ้น บ้านปู (BANPU)
ตั้งแต่ลงทุนแนว VI มา 12 ปี ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์บวกลบ ไม่เคยมีปีไหนที่ได้กำไรสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ คนที่สามารถโกยกำไรได้สูงขนาดนั้น คือ นักลงทุนที่เปิดบัญชีเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ หรือบัญชีมาจิน (Margin Account) และนักลงทุนที่ลงทุนหุ้นน้อยตัว

“ผมไม่โลภจากนี้ขอให้พอร์ตโตปีละ 10-15 เปอร์เซ็นต์ เท่านี้ชีวิตมีสุขแล้ว”

เขา เล่าว่า หลังโกยกำไร 10 เท่า จากหุ้น ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เริ่มขยับไปลงทุนหุ้นหลายตัว ขอยกตัวอย่างเฉพาะ “ตัวไฮไลท์” ไล่มาตั้งแต่ หุ้น ซีพี ออลล์ หรือ CPALL ต้นทุน 4 บาท ทั้งๆที่ตอนนั้นงบการเงินของบริษัทมีปัญหา เพราะขาดทุนจากซูเปอร์มาร์เก็ต เทสโก้ โลตัส เมืองจีน แต่เราเห็นว่า บริษัทกำลังจะตัดตัวปัญหาออกไปจากงบการเงิน ด้วยการขายให้เครือซีพี ฉะนั้นอนาคตน่าจะสวย

ถือหุ้น ซีพี ออลล์ ได้ 1 ปี ราคาเฉลี่ย 11-12 บาท คิดจากราคาพาร์เก่า 5 บาท ดันเกิดวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2551 ราคาหุ้น ซีพี ออลล์ ลดลงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือประมาณ 7 บาท หลังราคาทยอยขึ้นมาก่อนหน้านี้ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ช่วงนั้นบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืน เพราะเขามีเงินสดในมือมากถึง 20,000 ล้านบาท ทำให้ราคาหุ้น ซีพี ออลล์ “หยุดไหล”

“ผมยังคงถือหุ้น ซีพี ออลล์ ต้นทุน 4 บาทเหมือนเดิม ตอนนี้ราคาขึ้นไปซื้อขาย 40 บาทแล้ว หากคิดจากราคาพาร์ใหม่ 1 บาท แต่ถ้าคิดจากราคาพาร์เก่า ราคาหุ้น ซีพี ออลล์ จะอยู่ที่ประมาณ 76 บาท”
ช้อนหุ้นอะไรต่อ? เขาหัวเราะหลังได้ยินคำถาม ช่วงเริ่มต้นในการลงทุนแนว VI มีโอกาสได้อ่านหนังสือจของ “ปีเตอร์ ลินช์” เขาสอนให้หาหุ้นที่เรามองเห็น วันหนึ่งไปเดินเทสโก้ โลตัส เห็นคนต่อคิวยาวยืด เพื่อจ่ายเงินค่าผ่อนสินค้าของ “อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์)” หรือ AEONTS

“ธุรกิจนี้ต้องดีมากแน่ๆ” ความคิดนี้ผุดขึ้นในหัวทันที

กลับถึงบ้านรีบดูราคาหุ้น AEONTS เปิดมาเจอราคา 250 บาท ขณะนั้นหุ้น AEONTS มีอัตราส่วนราคาต่อกำไร หรือค่า P/E ประมาณ 25 เท่า สูงกว่าอัตราส่วนราคาต่อกำไรของตลาด SET INDEX ที่อยู่เพียง 7 เท่า “ผมตัดใจไม่ซื้อ เพราะแพงเกินไป ณ เวลานั้นทำได้แค่รอเวลา”

ผ่านไป 3 เดือน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมากำหนดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตเหลือ 18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่งผลให้ราคาหุ้น AEONTS ไหลลงเรื่อยๆจนเหลือ 150 บาท ใช้เวลาเพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น ทุกคนคิดว่า บริษัทต้องมีผลประกอบการลดลงแน่ๆ แต่หลังจากเราเข้าไปดูรายละเอียดพบว่า ตอนนั้นบริษัทไม่ได้ทำบัตรเครดิตมีเพียงบัตรเงินผ่อนเท่านั้น

“ผมรีบเข้าไปซื้อหุ้น AEONTS ตอนราคา 120 บาท ครอบครองไม่นานราคาหุ้นตกเหลือ 80 บาท แต่ผมไม่ขาย เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรดี อดทนถือต่อ 6 เดือน บริษัทประกาศงบการเงินผลปรากฎว่า มีอัตราเติบโตขึ้น คราวนี้ราคาหุ้นวิ่งกลับมาอยู่ 250 บาท ใช้เวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น ผมไม่รีรอรีบปล่อยของทันที”

“นักลงทุนวีไอ” เล่าต่อว่า หุ้นตัวต่อไปที่สร้างผลตอบแทนอย่างงาม คือ หุ้น พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) ปลายปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพ โครงการของบริษัทกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ราคาหุ้น PS จากที่เคยขึ้นไปยืน “จุดสูงสุด” 25 บาท ลดลงเหลือแค่ 10 บาท นั่นหละ “จุดช้อนหุ้นของผม”

น้ำคงไม่ท่วมทุกปี แถมพฤติกรรมคนไทยไม่ค่อยย้ายถิ่นฐาน ต่อให้บริเวณนั้นเสี่ยงต่อการที่น้ำจะท่วมอีกก็ตาม ยิ่งบริษัทมีการพัฒนาระบบมากขึ้น รับรองไม่เกิน 3 ปี ราคาหุ้น PS ต้องกลับมา หัวสมองคิดเช่นนั้น สุดท้ายใช้เวลาแค่ 1 ปี ราคาหุ้น PS ดีดกลับมายืน 25 บาทเหมือนเคย

ครั้งหนึ่งราคาหุ้น PS เคยขึ้นไปสร้างสถิติสูงสุดที่ 35 บาท “สูงมากแต่ไม่ขาย” เพราะเชื่อว่าโอกาสไปต่อมีแน่ โมเดลธุรกิจไม่หยุดอยู่แค่ในเมืองไทย เขาจะมุ่งหน้าโกอินเตอร์ ถ้าเขาไม่ออกไปเติบโตนอกบ้าน เราอาจขายหุ้นออก แต่หากราคาหุ้น PS ลดลงมาอยู่ที่ 10 บาทอีกครั้ง “จะซื้ออีก”

มีหุ้นตัวอื่นอีกมั้ย? เขาทำท่าคิด ก่อนตอบว่า หุ้น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ซื้อมา 5-6 ปีแล้ว “ต้นทุน 15 บาท ตอนนี้ราคา 80 บาทแล้ว”!!

เหตุผลที่ซื้อหุ้นตัวนี้ เพราะว่า ช่วงหนึ่งมีข่าวว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ติดอันดับ 1 ใน 10 โรงพยาบาลระดับโลก เมื่อเป็นเช่นนั้นอนาคตคนไข้ต่างชาติต้องสูงขึ้นจาก 30 เปอร์เซ็นต์แน่นอน ผ่านมาตอนนี้สัดส่วนต่างชาติเปลี่ยนเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ เขาสามารถขยายเพดานได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ อนาคตคงกลายเป็นโรงพยาบาลต่างชาติ (หัวเราะ)

ฃครั้งหนึ่งเคยใช้บริการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ค่าห้องธรรมดาตกวันละ 3,000 บาทต่อคืน ตอนนี้ปาเข้าไป 8,000 บาทต่อคืน ส่วนห้องวีไอพี 15,000 บาทต่อคืน เรื่องระบบของโรงพยาบาลของเขากินขาดที่อื่นสู้ไม่ได้จริงๆ ล่าสุดเขากำลังจะสร้างโรงพยาบาลอีกแห่งบนถนนเพชรบุรี และจะลงทุนสร้างโรงพยาบาลในเมืองจีน และเวียดนาม

“เจ้าของพอร์ต 8 หลัก” เล่าว่า พึ่งซื้อ หุ้น บ้านปู หรือ BANPU ต้นทุน 300 บาท ซื้อก่อนที่บริษัทจะเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท แตกครั้งหนึ่งราคาหุ้นเคยพุ่งสูงถึง 700 บาท ก่อนราคาจะทยอยลดลง หลังราคาถ่านหินลดลงจาก 140 เหรียญต่อตัน เหลือ 70 เหรียญต่อตัน แถมยังมาแพ้คดีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ เมืองหงสา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต้องจ่ายค่าปรับ 30,000 ล้านบาท ภายในเวลา 30 ปี

“ถ่านหินไม่มีวันตาย” ระยะสั้นจะไม่ถูกทดแทนด้วย “เชลล์แก๊ส” (Shale Gas) ยกเว้นแถบอเมริกาเหนือ ตั้งใจจะถือหุ้น บ้านปู ประมาณ 3 ปี โอกาสจะขึ้นไป 700 บาท คงยาก ราคานั้นได้เห็น เพราะเขาขายเหมืองเมืองจีน ราคาถึงเด้งขึ้นมา แต่เป็นเพราะระยะสั้นเท่านั้น

หากตัดเรื่องนั้นออกไปราคาเหมาะสมของหุ้น บ้านปู จะอยู่ที่ 400-500 บาท “ผมหวังว่าจะเห็นราคานี้ภายใน 3 ปีข้างหน้า” นี่คิดจากโมเดลที่เขากำลังเปลี่ยนมาทำโรงไฟฟ้ามากขึ้น สัดส่วนอนาคตน่าจะเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ จาก 30 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน

ตัวสุดท้าย คือ หุ้น กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) เพิ่งซื้อเมื่อปี 2555 ต้นทุน 110 บาท เขามีแผนงานที่ชัดเจน เป้าหมายอยู่ที่ไหนเขาอธิบายได้ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลประมาณ 30 แห่ง ภายใน 3 ปีข้างหน้า เขาอยากมีโรงพยาบาล 50 แห่ง และมียอดขายเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว “ผมขอยืดแผนธุรกิจเขาออกไปอีก 2 ปี” ฉะนั้นภายใน 5 ปีข้างหน้า ราคาหุ้น BGH อาจขึ้นไปซื้อขาย 200 บาท ถามว่า เขาจะหาเงินลงทุนจากไหน เงินสดเขาเยอะ แถมอัตราหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ต่ำแค่ 0.5 เท่า

โรงพยาบาลในเครือกรุงเทพ ตอนนี้ยังมีส่วนแบ่งการตลาดในแง่ของเตียงคนไข้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นโอกาสขยายตัวในต่างจังหวัดยังมีอีกเยอะ แถมอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจโรงพยาบาลยังสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ นั่นแปลว่า หากเขาจะสร้างโรงพยาบาลใหม่จะสามารถคืนทุนได้ภายใน 4-5 ปี ตั้งใจจะถือหุ้น BGH ประมาณ 10 ปี หากหุ้นลงจะซื้อเพิ่ม

ไม่อยากบอกว่า กำลังเล็งจะช้อนหุ้นตัวไหน เอาเป็นว่า ดัชนีลงจาก 1,600 จุด เหลือ 1,200 จุด ทำให้มีหุ้นหลายตัวน่าสนใจ อาทิเช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มค้าปลีก คุณลองไปดูสิมีราคาหุ้นมากมายที่ลดลงแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆที่พื้นฐานไม่เปลี่ยนสักนิด
“ทุกครั้งที่ได้กำไรจากการลงทุน ผมมักจะนำไป “ทบต้น” หรือเก็บเป็นเงินสด เมื่อมีจังหวะจะนำเงินเหล่านั้นออกมาซื้อหุ้น เงินเดือนจากการทำงานส่วนใหญ่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน บางเดือนผมใช่ไม่หมด”

ถามถึงกลยุทธ์การลงทุน? เขาบอกว่า ส่วนใหญ่จะเน้นดู ประการที่หนึ่ง“โครงการธุรกิจ” และแผนงานในอนาคต “พูดแล้วทำได้จริงหรือไม่ หรือแค่ราคาคุย” ประการที่สอง “งบการเงิน” เรื่องนี้สำคัญ เราต้องดูว่า เขามีเงินสดเท่าไร ไม่ได้กำหนดว่า ต้องมีมากแค่ไหน ขอแค่เพียงพอสำหรับการลงทุนและทำธุรกิจพอ

ดูอย่าง “บมจ.บ้านปู” เขามีเงินสดมากถึง 20,000 ล้านบาท บริษัทแบ่งมาซื้อหุ้นคืน 4,000 ล้านบาท และจ่ายค่าปรับโครงการหงสา แค่นี้เรื่อง “จิ๊บจ๊อย” เงินเยอะขนาดนี้ไม่มีทาง “ล้มละลาย”
ตัวเลขหนึ่งใน “งบการเงิน” ที่นักลงทุนต้องใส่ใจ นั่นคือ “อัตราหนี้สินต่อทุน” หรือ D/E บริษัทที่ดีไม่ควรมีอัตราเกิน 1 เท่า บางครั้งทฤษฎีนี้ไม่สามารถใช้ได้ตายตัว เพราะต้องดูก่อนว่า บริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร

ถามว่า ก่อนจะซื้อหุ้นสักตัว จำเป็นต้องดู “อัตราส่วนราคาต่อกำไร” หรือค่า P/E ย้อนหลังหรือไม่ ส่วนตัวไม่ค่อยเน้นเท่าไร เพราะชอบคำนวณ “อัตราส่วนราคาต่อกำไร” ล่วงหน้ามากกว่า แต่จะทำอย่างนั้นได้ เราต้องรู้ก่อนว่า บริษัทวางธุรกิจในอนาคตอย่างไร หุ้นตัวไหนมีค่า P/E และ “มูลค่าตามบัญชี” หรือ P/BV ยิ่งต่ำยิ่งดี ส่วน “อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น” หรือ ROE เน้น “ยิ่งสูงยิ่งดี”

ซื้อหุ้นเราควรมองไปข้างหน้า ดูเรื่องแผนธุรกิจเป็นหลัก แต่หลายคนชอบมองไปข้างหลัง ชอบดูอัตราส่วนราคาต่อกำไร และมูลค่าตามบัญชีย้อนหลัง จริงอยู่การมองกระจกหลัง 3-5 ปีก่อน เป็นเรื่องที่ดี แต่เราอย่าลืมดูกระจกหน้าควบคู่ไปด้วย สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด เราต้องเข้าใจธุรกิจที่จะลงทุน หากไม่รู้เรื่องอย่าเข้าไป

“ในตลาดหุ้นมีธุรกิจดีๆมากมายที่หลายคนบอกว่าดี แต่บังเอิญผมไม่ค่อยเข้าใจ โดยเฉพาะ “กลุ่มแบงก์” ที่มีการตั้งสำรองหนี้เยอะ ดูงบดุลแล้วงง “กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง” อีกตัวที่จะไม่เข้าไปลงทุน คุณลองไปถามทิศทางผลประกอบการกับซีอีโอบริษัทก่อสร้างสิ ส่วนใหญ่ตอบไม่ได้ แล้วเราจะประเมินกิจการของเขาได้อย่างไร”

คนส่วนใหญ่หวาดกลัวตลาดหุ้น เพราะคิดว่าเป็น “แหล่งพนัน” หลายคนเข้ามาคิดจะเอาแต่กำไรอย่างเดียว สุดท้าย “เจ๊ง” เพราะคุมความโลภตัวเองไม่ได้ เห็นคนอื่นเข้ามาลงทุนแล้วรวยเงินเยอะ เกิดอารมณ์อยากได้บ้าง แต่คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บุคคลเหล่านั้นเขาผ่านอะไรมาบ้างกว่าจะมายืนจุดนี้ได้ บางคนขาดทุนหนักมาก

“อยากให้นักลงทุนมือใหม่คิดว่า ซื้อหุ้นคือ การลงทุนชนิดหนึ่ง เมื่อคิดได้เช่นนั้น เราไม่จำเป็นต้องนั่งเฝ้าตลาดหุ้นทุกวัน เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ดีกว่า”
“ไอดอลแห่งการลงทุน” ของผมมีอยู่ 3 คน อาทิเช่น “วอร์เรน บัฟเฟตต์” คนนี้จะสอนว่า ซื้อหุ้นเหมือนซื้อธุรกิจ “ฟิลลิป ฟิชเชอร์” จะสอนว่า ต้องถือหุ้นระยะยาว 5-10 ปี ส่วน “จอร์จ โซรอส” ไม่ได้นำวิธีการของเขามาใช้ นำมาแต่หลักคิด “ควรมอง “Downside” ก่อน “Upside” สำหรับ “เบนจามิน เกรแฮม” เขาไม่ค่อยมองธุรกิจสนใจแต่งบการเงิน “ปีเตอร์ ลินซ์” ชอบหุ้นพื้นฐาน แต่ทำมาทำไปเล่นสั้นไปหน่อย นักลงทุน 2 รายหลัง ไม่ค่อยนำหลักคิดเขามาใช้เท่าไร ดูไม่ค่อยเหมาะกับจริตของเรา”

“ผมไม่ค่อยชอบคุยกับผู้บริหาร บ้างคนขี้โม้ ทำไม่ได้แต่ชอบพูด บางคนไม่ชอบพูดความจริง แต่ผมชอบไปเดินเยี่ยมชมกิจการที่ตัวเองลงทุน โรงพยาบาล,เซเว่น อีเลฟเว่น เดินปล่อยมาก หากจำเป็นต้องสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หากมีโอกาสจะพูดคุยกับฝ่าย IR ”

ค่าเช่าตู้นิรภัย (ราคาแพง)

 
   เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมคิดว่าผมควรมีตู้นิรภัยในธนาคารที่อยู่ใกล้บ้านเพื่อที่จะเก็บทรัพย์สินมีค่าบางอย่างที่ผมและครอบครัวไม่เคยมีแต่ตอนนี้เริ่มมีบ้าง  ผมจึงไปติดต่อสาขาธนาคารที่ผมใช้อยู่เป็นประจำซึ่งก็เป็นธนาคารที่ผมใช้เป็นหลักมาหลายสิบปีแล้ว  โชคดีที่ยังมีตู้เหลืออยู่บ้างผมตัดสินใจเช่าแต่ก็รู้สึกว่าค่าเช่าใช้นั้นไม่ถูกเลย  ตู้ขนาดกว้างยาวเท่า ๆ  กับซองน้ำตาลใส่เอกสารขนาดใหญ่และสูงซักสิบกว่าเซนติเมตรนั้น  ค่าเช่าตกปีละ 4-5,000 บาท และเราต้องจ่ายมัดจำค่าแรกเข้าอีกน่าจะเป็นหมื่นบาทขึ้นไปถ้าจำไม่ผิด  ผมนึกดูแล้ว  นี่ก็เป็นธุรกิจที่ไม่เลวนักสำหรับธนาคาร  เพราะมันเหมือนกับว่าคนเช่าเป็นคนจ่ายค่าก่อสร้างห้องและตู้นิรภัย  เสร็จแล้วก็จ่ายค่าเช่ารายปีให้กับธนาคาร  ห้องและตู้นิรภัยนี้  ผมดูแล้วแทบไม่ต้องดูแลรักษาอะไร  ต้นทุนในส่วนนี้แทบไม่มี  อย่างไรก็ตาม  สำหรับคนที่มีทรัพย์สินหรือของสำคัญที่ต้องการเก็บรักษาในที่ที่ปลอดภัยนั้น  เงินแค่นี้ก็มักไม่มีปัญหาอะไร  ดังนั้น  ผมจึงตัดสินใจเช่า

  ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่อาวุโสอีกคนหนึ่งเข้ามาบอกว่าผมต้อง “ซื้อประกันชีวิต”  ด้วยจึงจะมีสิทธิเช่าตู้นิรภัยเพราะนี่คือ “นโยบาย” ของแบ็งค์ว่าจะเก็บตู้นิรภัยให้เช่าเฉพาะคนที่ซื้อประกันชีวิตเท่านั้น  ผมนั่งนิ่งด้วยความมึนงงไปชั่วขณะแต่แล้วก็เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น   ผมไม่เชื่อหรอกว่านี่คือนโยบายของธนาคาร  การทำแบบนั้นน่าจะผิดกฎเกณฑ์ของทางการและการปฏิบัติที่ดีในแง่ของการทำธุรกิจของธนาคารซึ่งต้องมีมาตรฐานสูง  แต่ผมเชื่อว่าเป็นข้ออ้างของสาขาที่ต้องการบีบให้ผมต้องทำประกันชีวิตเพราะนี่คือผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ธนาคารต้องการขายมากและสั่งการให้แต่ละสาขาต้องทำยอดขายให้ได้เป้ามิฉะนั้นก็จะกระทบกับการประเมินผลงานของสาขาและพนักงานแต่ละคน  ดูเหมือนว่าการประกันชีวิตจะเป็นสิ่งที่ทำกำไรสูงมากสำหรับธนาคารเช่นเดียวกับที่มันเป็นสิ่งที่  “ขายยาก” มาก  ดังนั้นแม้ว่าผมจะพยายามขอร้องว่าผมจะช่วยซื้อผลิตภัณฑ์อย่างอื่น  เช่น  กองทุนรวมตราสารการเงินระยะสั้น  เขาก็ยังยืนกรานว่าผมต้องซื้อประกันชีวิตเท่านั้นจึงจะสามารถเช่าตู้นิรภัยได้

  ว่าที่จริง  ผมเองถูกขอร้องแกมบีบบังคับมาหลายครั้งแล้วให้ซื้อประกันชีวิต  เกือบทุกครั้งที่ผมเข้าไปใช้บริการ  ผมจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์แบบนี้จนผมรู้สึกว่าการเข้าแบ็งค์นี้เป็นสิ่งที่ “น่าอึดอัด” แม้ว่าการต้อนรับและการใช้บริการอื่น ๆ  โดยทั่วไปนั้นค่อนข้างดีทีเดียว  คนในแบ็งค์เองก็รู้จักผมเป็นอย่างดีค่าที่ว่าผมใช้บริการมาหลายสิบปีและก็เข้าไปใช้บริการบ่อย ๆ  แทบทุกสัปดาห์  และประเด็นนี้เองก็อาจจะทำให้เขารู้ว่าผมนั้นพอมีเงินสดเหลือที่จะทำประกันชีวิตได้โดยไม่เดือดร้อน  นอกจากนั้น  เขาอาจจะคิดด้วยว่าการทำประกันชีวิตนั้น  ผม “ไม่มีอะไรเสียเลย”  เพราะดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่จะได้รับจากการประกันชีวิตนั้น  ดีกว่าการฝากเงินออมทรัพย์ที่ผมมีเงินคงค้างอยู่มากตลอดเวลาด้วยซ้ำ  แต่ผมก็ไม่ยอมทำประกันซักที  ผมบอกเขาว่า  ผมไม่มีความจำเป็นต้องประกันชีวิต  เพราะเงินที่จะได้ถ้าผมตายนั้น  มันไม่ได้มีความหมายอะไรกับทายาทผมเลย  ผมมีเงินเป็นมรดกเพียงพออยู่แล้ว  เหนือสิ่งอื่นใด  กรมธรรม์ประกันชีวิตนั้น  ก็จะเป็น  “เบี้ยหัวแตก”  อีกอันหนึ่งที่อาจจะหายสาบสูญไปเมื่อเวลาผ่านไป เช่นเดียวกับทรัพย์สินอื่น ๆ  อีกหลายอย่างที่ผมคิดว่า  “ไม่รู้อยู่ไหน” หรือผมลืมไปแล้วว่ามีอยู่

  พนักงานธนาคารยังไม่ยอมให้ผมเช่าตู้นิรภัยอยู่ดี  เขาคงรู้สึกว่าด้วยเงินเอาประกันที่เขายอมลดลงมาเหลือเพียง 500,000 บาท เวลารับประกัน 15 ปี  และจ่ายเบี้ยเพียง 6 ปี ปีละ 166,750 บาท แถมในแต่ละปีนั้น  เขายังคืนเงินผลประโยชน์ให้ปีละ  “2.5%” ของเงินเอาประกันคิดเป็นเงินปีละ 12,500 ตลอดระยะเวลา 15 ปีด้วย  และเมื่อสิ้นสุดสัญญา 15 ปี ถ้าผมยังมีชีวิตอยู่ก็จะได้รับเงินเบี้ยประกัน 1,050,000 คืน ฟังดูแล้ว  ผมมีอะไรเสียหายหรือเสียเปรียบ?  วันนั้นผมต้องกลับบ้านไปคิด  พื้นฐานความคิดของผมก็คือ  การได้รับความ “คุ้มครอง” ในกรณีที่ผมตายนั้น  ไม่มีประโยชน์สำหรับผม  ในแง่ของการ  “ลงทุน”  เองนั้น  ผมไม่คิดว่ามันเป็นการลงทุนอะไรเลย  เม็ดเงินลงทุนมันน้อยเกินไป  นอกจากนั้น  ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในกรณีที่ผมไม่ตายใน 15 ปี ก็น่าจะต่ำมาก  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  มันไม่คุ้มที่จะต้องใช้เวลาคอยส่งเบี้ยประกันหรืออื่นๆ  ข้อสรุปเบื้องต้นของผมก็คือ  “ค่าเช่าใช้ตู้นิรภัย” ของผมครั้งนี้ก็คือ  ประมาณ 1 ล้านบาทใน 15 ปี  ผมคิดว่ามัน  “แพงเกินไป”

  ผมตัดสินใจหาทางใหม่  ผมลองติดต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานใหญ่ที่ดูแลบัญชีผมในฐานะของลูกค้า  “High Net Worth” หรือลูกค้า “รายใหญ่” ของธนาคารที่ผมบังเอิญเข้าข่ายเนื่องจากระยะหลังผมมีเงินสดเหลือหลังจากที่ได้รับเงินจากปันผลหรือขายหุ้นแล้วไม่ได้นำกลับไปลงทุนในหุ้นอย่างที่เคยทำมาหลายสิบปี  การเป็นลูกค้ารายใหญ่นั้นผมรู้ว่ามีสิทธิประโยชน์หลายอย่างแต่ผมก็ใช้น้อยมาก  เหตุผลก็เพราะสิ่งที่แบ็งค์ให้นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการเท่าไรนัก  ดังนั้น  แบ็งค์แทบจะไม่เคยต้องเสียอะไรให้ผมเลย  ผมเองก็ไม่รู้สึกอะไร  ผมไม่ใช่คนที่แสวงหาหรือใช้ในสิ่งที่ผมไม่ต้องการแม้ว่ามันจะ “ฟรี” ผมคิดว่ามันไม่มีประโยชน์  มันเสียเวลา และต้นทุนในการเสียเวลาของผมนั้นผมคิดว่ามัน  “สูงลิ่ว”  มากกว่าประโยชน์ที่จะได้ใช้ของที่เราไม่ต้องการ   แต่เวลานี้ผมต้องการตู้นิรภัย  เขากลับบอกให้ไม่ได้!  ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่อง  “ตลก” มาก   โชคดี  หลังจากการติดต่อซึ่งใช้เวลา 2-3 วัน  ผ่านช่องทางที่ “ไม่น่าเป็นไปได้”  ผมก็ได้พบกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลบัญชีลูกค้ารายใหญ่  ซึ่งได้ช่วยให้ผมได้เช่าใช้ตู้นิรภัยของแบ็งค์ตามที่ต้องการโดยไม่ต้องจ่ายเงินที่แพงมาก  “สำหรับผม”

  เมื่อคิดดูให้ลึกซึ้งอีกทีหนึ่ง  กรณีนี้มันเป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือไม่  สำหรับคนทั่วไปแล้ว  เขาจะเสียหายหนักหรือถ้าเขาต้องถูกขอร้องหรือบังคับให้ทำประกัน?  ถ้าผมไม่ได้มีเงินมาก   ข้อสรุปจะเป็นแบบนั้นหรือไม่?  คำตอบของผมในฐานะที่เป็น Value Investor ที่มุ่งมั่นก็อาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก  ถ้าสมมุติว่าคุณเป็น VI ที่อาจจะมีความมั่งคั่งหรือมีเงินลงทุนในระดับเช่น 10 ล้านบาทและแน่นอนคุณรู้ถึงพลังของการเติบโตของการลงทุนแบบทบต้น  คุณก็จะรู้ว่าในระยะยาวเป็น 10 ปีขึ้นไปนั้น  ถ้าคุณลงทุนได้ผลตอบแทนที่ดีปีละ 20-30% อย่างที่อาจจะทำได้ในช่วงที่ผ่านมา  เงินค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายออกไปนั้น  ภายในเวลา 15 ปีจะมีมูลค่ามหาศาล  ดังนั้น  ถ้าคุณเอาเงินไป “จม”  อยู่ในการประกันชีวิต  คุณก็จะเสียโอกาสที่จะทำเงินไปมากมายโดยเฉพาะถ้าคุณคิดว่าคุณคงยังไม่ตายหรือถ้าตายทายาทก็ไม่เดือดร้อน  ลองมาดูกันว่าในกรณีกรมธรรม์ที่ผมถูกขอให้ซื้อนั้น  ถ้าคิดไปถึงวันสิ้นสุด 15 ปี เงินของคุณจะหายไปเท่าไรถ้าเราสามารถนำมันไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นตลอด 15 ปีและได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% แบบทบต้น   คำตอบที่ได้ก็คือ  ถ้าคุณเอาไปลงทุนเองเม็ดเงินจะกลายเป็นประมาณ 3.3 ล้านบาท ในขณะที่เงินที่คุณจะได้คืนจากการประกันเท่ากับประมาณ 1.3 ล้านบาท  ผลต่างก็คือ 2 ล้านบาท  แพงไหมครับสำหรับการใช้ตู้นิรภัย?

  ที่พูดมาทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้ต้องการที่จะบอกให้คนเลิกซื้อประกันชีวิต  การประกันชีวิตนั้นเป็นเรื่องดีถ้าคุณต้องการประกันความมั่นคงทางการเงินให้กับทายาทในกรณีที่คุณตายก่อนเวลาอันควรและพวกเขายังช่วยตัวเองไม่ได้  ถ้าคุณไม่ได้มีปัญหาแบบนั้นแต่คุณคิดว่านี่เป็นการลงทุนอีกแบบหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินธนาคาร  นี่ก็อาจจะยังมีเหตุผลอยู่ในกรณีที่คุณไม่มีความรู้ทางด้านการลงทุนหรือไม่กล้าที่จะ “เสี่ยง”  ในตลาดหุ้น  แต่ถ้าคุณเป็นคนที่รู้เรื่องการลงทุนดีและเข้าใจเรื่องของความเสี่ยงและคุณรับมันได้  การซื้อประกันชีวิตแบบออมทรัพย์นั้นก็อาจจะเป็นการตัดสินใจที่  “แพงมาก” ในกรณีที่ทายาทของคุณไม่ได้มีปัญหาทางการเงินถ้าคุณตาย  ดังนั้น  ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อประกันชีวิตอาจจะเพราะด้วยทนแรง  “บีบ” อะไรไม่ไหวก็ตาม  คุณควรที่จะคิดให้หนักถึงผลทางการเงินของมัน

cr.ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากุล