Sunday, May 10, 2015

อนาคตตลาดหุ้นไทย


ตลาดหุ้นไทยได้ครบรอบ 4 ทศวรรษในวันที่ 30 เมษายน 2558 ซึ่งต้องบอกว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาพร้อม ๆ กับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน ผมอยากจะใช้โอกาสนี้แสดงความยินดีกับตลาดหุ้นไทย ที่สร้างความมั่งคั่งให้ทั้งบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้ประเทศไทยมีแหล่งระดมทุนที่มีคุณภาพ และช่วยยกระดับให้บริษัทจดทะเบียนไทยจำนวนมากก้าวขึ้นมาเป็นระดับภูมิภาคจนถึงระดับโลกได้ และผมจะใช้เวลาสั้น ๆ เพื่อวิเคราะห์ภาพสิ่งที่เกิดขึ้นของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน และมุมมองสู่อนาคต

    ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันมาได้ไกลแค่ไหน ผมจะลองยกสถิติต่าง ๆ มาเปรียบเทียบให้ดู จำนวนบริษัทจดทะเบียน ณ สิ้นปี 2014 มี 613 บริษัท มีมูลค่าตลาดหรือ Market Capitalization ราว 14 ล้านล้านบาท ตลาดหุ้นในภูมิภาคที่มีขนาดใกล้เคียงกับเราคือตลาดหุ้นของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ส่วนตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้คือสิงค์โปร์ มีขนาดใหญ่กว่าเราราว 80% ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เล็กกว่าเราครึ่งนึง ส่วนตลาดหุ้นเวียดนามมีขนาดแค่ 1 ใน 10 ของไทย ตลาดหุ้นอื่น ๆ ยังมีขนาดเล็กมาก หรือกำลังจัดตั้ง แต่อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นเรายังคงอยู่ในระดับกลาง ๆ คือไม่เล็กมากเกินไป แต่ก็ยังไม่ใช่ตลาดหุ้นที่มีบทบาทมากนักในเวทีโลก เรายังอยู่ในกลุ่มที่กึ่ง ๆ จะเป็น Emerging หรือ Frontier market ในสายตากองทุนใหญ่ ๆ ของโลกอยู่

    ถ้าเทียบสัดส่วน Market Capitalization เรามีสัดส่วนราว 2% ของตลาดเอเชีย และเป็นแค่ 0.6% ของโลก แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะอยู่ในอันดับ 24 ของทั้งตลาดหุ้นทั่วโลก 65 แห่งที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchange เรียกได้ว่าแม้อันดับจะดูไม่ขี้เหร่ แต่ตลาดหุ้นใหญ่ ๆ มีส่วนแบ่งในตลาดโลกที่ “สูงมาก” ถ้าเราอยากจะอยู่ในอันดับ Top 20 เราต้องมีขนาดใหญ่กว่าปัจจุบันมากกว่า “เท่าตัว” สถิติที่น่าเหลือเชื่อคือตลาดหุ้น 20 แห่งแรก มีส่วนแบ่งถึง 95% ของตลาดหุ้นทั้งหมดของโลก ดูเหมือนตลาดหุ้นก็มีลักษณะ Winner takes all พอสมควร บริษัทใหญ่ ๆ นิยมเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ใหญ่กว่า เนื่องจากมีเม็ดเงินสะพัดกว่า

    เหตุผลนี้ทำให้ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นต่าง ๆ ในโลกมีลักษณะแย่งพื้นที่พอสมควร วิธีหนึ่งคือการควบรวมของตลาดเข้าด้วยกัน เช่น Euronext, London Stock Exchange, Japan Exchange Group เพื่อสร้างตลาดที่สามารถ “เรียกลูกค้า” ทั้งจากบริษัทจดทะเบียน และนักลงทุน เช่นเดียวกับ AEC ที่กำลังรวมกลุ่มตลาดหุ้นในภูมิภาคจัดตั้ง ASEAN STARS ให้เป็นรูปธรรม ปัจจุบันตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่เป็น 5 อันดับของโลกคือ 1. NYSE (ก่อตั้งปี 1817) ในนิวยอร์ค 2. NASDAQ (ก่อตั้งปี 1971) ในนิวยอร์ค 3. London Stock Exchange (ก่อตั้งปี 1801) ในลอนดอน 4. Japan Exchange Group (ก่อตั้ง 2013 จากการควบรวมตลาด Tokyo และ Osaka) ในโตเกียว 5. Shanghai Stock Exchange (ก่อตั้งปี 1990) ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกทั้งสิ้น บ่งบอกความสำคัญของตลาดทุนต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างดี

    กลับมาที่ตลาดหุ้นในภูมิภาค AEC ตลาดหุ้นไทยมีจุดเด่นหลายอย่าง เช่น อัตราเงินปันผลสูง มีระบบสนับสนุนนักลงทุนรายย่อย มีสภาพคล่องสูง และพักหลังบริษัทไทยที่เป็นลักษณะกิจการครอบครัวจำนวนมากนิยมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยหลาย ๆ สาเหตุ ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี สาเหตุหลักคงเห็นว่ากิจการที่เข้าตลาดจำนวนมากเติบโต และมีมูลค่ากิจการสูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการแบ่งปันข้อมูลกับนักลงทุนซึ่งช่วยสอดส่องดูแล พัฒนาบริษัท เพราะนักลงทุนรุ่นใหม่ ๆ คิดว่าตัวเองเป็น “หุ้นส่วน” กับกิจการมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นอกจากนั้นเรายังมีตลาดหุ้นรองอย่าง MAI ที่แม้ว่า Venture Capital ยังไม่เฟื่องฟูนัก แต่ MAI ก็ช่วยสนับสนุนการะดมทุนให้กับบริษัทขนาดกลางเล็กได้เป็นอย่างดี

    สำหรับผลตอบแทนสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นในรอบ 40 ปีผ่านมา คิดเป็นประมาณ 7% ต่อปี รวมเงินปันผลราว 3-4% ดังนั้นตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 10% ต่อปี หรือถ้าเริ่มต้นลงทุน 1 ล้านบาทเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ก็จะกลายเป็นเกือบ 50 ล้านบาท นี่คือเส้นทางที่คนธรรมดา สามารถมั่งคั่งได้ อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงตลาดหุ้นไม่เคยราบเรียบ นักลงทุนส่วนหนึ่งขาดทุนหนักจากความผันผวน แต่นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยความไม่ราบเรียบของตลาดหุ้นเป็นโอกาสชั้นดี เพราะตลาดทุนคือโอกาสของทุกคนที่ใช้มันเป็นครับ