Monday, May 4, 2015

ฟองสบู่ของนักลงทุน / ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล


  ในแวดวงตลาดหุ้นและการลงทุนนั้น  เราคุ้นเคยกับเรื่องของการ  “เฟ้อ” ของราคาหลักทรัพย์หรือที่มักเรียกกันว่า  “ฟองสบู่”  ซึ่งความหมายก็คือ  ราคาหลักทรัพย์ปรับขึ้นไปสูงกว่า “พื้นฐาน” ที่ควรเป็นอันมาก  ซึ่งอาการแบบนั้น  ในที่สุดแล้วมันก็มักจะ “แตก”  นั่นก็คือ  ราคาก็จะตกลงมาแรงจนถึงราคาพื้นฐานหรือต่ำกว่านั้น    เช่นเดียวกับราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์   สิ่งอื่น ๆ  ที่ปรับตัวขึ้นไปมากเกินกว่าที่ควรเป็นมาก  อาจจะไม่ใช่เรื่องของราคา  แต่เป็นเรื่องของปริมาณหรือแม้แต่ความรู้สึกทางสังคม  เราก็อาจจะเรียกว่าเป็น  “ฟองสบู่” ได้เหมือนกัน  และฟองสบู่ที่ว่านั้น  ในที่สุดมันก็มักจะ “แตก” และทุกอย่างก็จะปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมซึ่งเป็นระดับที่น้อยลงไปมาก   หนึ่งใน  “ฟองสบู่”  ที่ผมเห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพร้อม ๆ  กับการปรับตัวขึ้นอย่างแรงของหุ้นโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็กก็คือ  “ฟองสบู่ของนักลงทุนส่วนบุคคล”

  อาการ “ฟองสบู่ของนักลงทุน” นั้น  เห็นได้ชัดจากเครื่องชี้มากมายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี  เรื่องแรกก็คือ  จำนวนคนทั่วไปที่ไม่ได้เชี่ยวชาญการลงทุนเข้ามาลงทุนหรือเล่นหุ้นเองนั้น  เพิ่มขึ้นมาก  บางคนอาจจะเข้ามาลงทุนในกองทุนรวม  ซึ่งบางทีก็ดูเหมือนว่าเขาต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อการ “เกษียณ”  และดังนั้นก็อาจจะไม่เกี่ยวกับการเร่งตัวของนักลงทุนหรือการเล่นหุ้น  แต่เมื่อดูไปแล้วผมเองก็สงสัยว่าพวกเขาจำนวนไม่น้อยนั้นกลับเป็นนัก “เก็งกำไร” จากการผันผวนของตลาดหุ้น  หลักฐานอยู่ที่ว่า  คนที่ลงทุนในกองทุนรวมจำนวนไม่น้อยเข้าไปซื้อกองทุน “ทริกเกอร์ฟันด์” โดยเฉพาะของตลาดหุ้นต่างประเทศ  โดยหวังที่จะทำกำไรเร็วและออกจากการลงทุนในจังหวะที่เหมาะสม

  นอกจากหุ้นแล้ว  นักลงทุนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากนั้น  ยังพร้อมที่จะเข้าไปเล่นอะไรก็ได้ถ้าเขาคิดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะสั้น  เช่น  วอแร้นต์ ทอง  น้ำมัน  คอนโด หรือบางทีก็อาจจะรวมไปถึงตราสารหรือการลงทุนที่ซับซ้อนอื่น ๆ  เช่น  กองทุนรวมอสังหาฯหรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ซับซ้อนบางกอง  และอาจจะรวมไปถึงการซื้อขาย “เงินดิจิตอล”  ที่มีความเสี่ยงสูงมากแต่ในความคิดของเขาอาจจะ  “ไม่เสี่ยง”  อย่าลืมว่าในช่วง  “ฟองสบู่”  นั้น  คนจะ “ไม่กลัวความเสี่ยง”

  สัญญาณที่สองของฟองสบู่ของนักลงทุนก็คือ  มี  “เซียน”  เกิดขึ้นมาก   ความเป็นเซียนนั้น  มักจะเกิดขึ้นจากการที่เขาสามารถทำเงินจากการลงทุนได้สูงมากในเวลาอันสั้นด้วยการลงทุนซื้อขายหุ้นหรือทรัพย์สินบางตัวในปริมาณที่มากเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งของตนและข้อเท็จจริงหรือเรื่องราวนั้นถูกเผยแพร่ออกมาผ่านสื่อที่มีคนติดตามกันมากทั้งที่เป็นสื่อมวลชนและสื่อสังคมอื่น ๆ  ที่มีมากมายในวันนี้  นอกจากนั้น  บางคนก็อาจจะเป็น “เซียน” ได้จากการที่พอร์ตมีขนาดใหญ่เป็น  “พันล้านบาท”  โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีสถิติหรือผลตอบแทนการลงทุนที่เห็นเป็นประจักษ์

  ความหลากหลายของ “เซียน”  หรือบางครั้งก็เรียกว่า “กูรู” การลงทุนเองนั้น  ก็มีมากมายตามฐานะ  ผลงาน  หรือ ชีวิต ของแต่ละคนที่ได้รับการกล่าวขวัญหรือได้มีการเปิดเผยออกมาสู่สาธารณะ  ผมคิดว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น  เราแทบจะเห็น “เซียน”  เกิดใหม่  แทบจะทุกเดือนหรือบางทีติดต่อกันหลายสัปดาห์  กูรูคนใหม่นั้นก็มักจะมีผลงานและชีวิตที่ “น่าทึ่ง” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับที่อายุของเซียนคนใหม่เองนั้นก็มีแนวโน้มจะน้อยลง  บางคนอายุเพิ่งจะ 30 ปีเศษก็ประสบความสำเร็จและอ้างว่ามีความมั่งคั่งเป็นร้อยหรือพันล้านบาทแล้วจากการลงทุนไม่ถึง 10 ปีด้วยซ้ำ  นอกจากนั้น  ชีวิตของเซียนเองก็ดูว่าเหมือน  “เทพนิยาย”  หรือ  “มหัศจรรย์” ขึ้นทุกที  ประวัติการทำงานหรือผลงานนั้นบางทีไม่รู้ว่าเคยทำอะไรแต่ความสำเร็จจากการลงทุนนั้นมาง่ายแทบจะ “พลิกฝ่ามือ”  แต่เขาก็มักจะเล่าว่ามันผ่าน  “อุปสรรคและวิกฤติ”  มามากมายก่อนที่จะมาเป็น  “เขาในวันนี้”

  ฟองสบู่ของนักลงทุนเองนั้น  ยังเห็นได้จาก  “ความคาดหวังผลตอบแทน” จากการลงทุนที่สูงเกินกว่าที่จะเป็นในระยะยาว  นักลงทุนส่วนบุคคลส่วนใหญ่ในขณะนี้น่าจะคิดว่าตนเองสามารถลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 15-20% ต่อปีในระยะยาวได้อย่างไม่ยากเย็นนัก  เหนือสิ่งอื่นใด  พวกเขาได้รับคำบอกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวของตลาดหุ้นไทยนั้นอยู่ที่ประมาณ 12% ต่อปี ซึ่งไม่จริง)  ดังนั้น  ด้วยการลงทุนเองพวกเขาเชื่อว่าจะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่านั้น  คนที่ลงทุนเองและประสบความสำเร็จ  “อย่างงดงาม”  ในช่วงที่ผ่านมาหลายปีจึงมักจะตั้งเป้าผลตอบแทนของตนเองสูง  คนที่คิดว่าตนเอง  “ไม่เก่ง”  ก็อาจจะตั้งไว้ปีละ 15%  หรือพอร์ตโตเป็นเท่าตัวใน 5 ปี  รายที่คิดว่าตนเองก็เป็น  “เซียน” อาจจะตั้งไว้สูงถึงขนาดว่า  “10 ปีโต 10 เท่า”  หรือโตปีละประมาณ 26% หรือมากกว่านั้น  ซึ่งก็แปลว่าภายในเวลาไม่กี่ปีก็จะมีเงินเป็นร้อยเป็นพันหรือหมื่นล้านบาทได้ในชั่วชีวิตนี้

  แนวความคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการลงทุนที่จะประสบความสำเร็จนั้น  มีมากมายตาม  “เซียน” หรือ  “กูรู”  ที่ประสบความสำเร็จสูง  ทฤษฎีการเงินที่เป็นวิชาการและได้รับการพิสูจน์จากนักวิชาการในระดับสากลที่บอกว่าการลงทุนนั้นเป็นเรื่องยากที่จะเอาชนะตลาด  ทฤษฎีการเงินที่บอกว่าผลตอบแทนการลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับความเสี่ยง  ผลตอบแทนที่สูงในตลาดหุ้นนั้นมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงนั้น  ไม่มีใครสนใจที่จะฟัง   ในตลาดหุ้นไทยวันนี้  ดูเหมือนว่าทุกทฤษฎีหรือหลักการนั้น  สามารถทำกำไรได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำได้ถูกต้องแค่ไหน  ในบางช่วง  Value Investment ดูเหมือนว่าจะโดดเด่นมากเมื่อ  เซียนหุ้น VI กำลังมาแรงและทุกคนต่างก็เป็น VI   ในบางช่วง  “เทคนิคอล” เองก็เป็นวิธีการที่ทำกำไรได้ดี  ถ้าคุณมี “วินัยกับกราฟ” ในหลาย ๆ  โอกาส  “เกร็ดการลงทุน” ของ “เซียน”  คนนั้นคนนี้คือวิธีที่จะทำเงินได้มากกว่าการยึดทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งตายตัว

  “อิทธิพล” และ  “บารมี”  ของนักลงทุนส่วนบุคคลก็เป็นอาการอีกอย่างหนึ่งของ “ฟองสบู่นักลงทุน”  ผมเชื่อว่าเวลานี้  นักลงทุนกลายเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อในระดับสูงมากที่คนค้าขายของหรูของแพงให้ความสนใจ  รถหรูระดับเฟอร์รารี่  คอนโดราคายูนิตละเป็นร้อยล้านบาท อาหารหรูหราจากเชฟระดับมิชลินหลายดาว นั้นผมคิดว่ามีลูกค้าที่เป็นนักลงทุนที่มีความมั่งคั่ง “ระดับมหาเศรษฐี” ในช่วงที่ผ่านมาหลายปีอยู่ไม่น้อย   นี่ยังไม่รวมรถหรูระดับเบนซ์  คอนโดราคา 10 ล้าน และสินค้าหรูอย่างอื่นที่มีลูกค้าที่เป็นนักลงทุน  “อาชีพ”  ที่มีความมั่งคั่งเกินอายุอยู่ไม่น้อย  ในส่วนของบริษัทหรือธุรกิจเองนั้น  อิทธิพลของนักลงทุนต่อผู้บริหารหรือการจัดการบริษัทนั้นผมเห็นว่าสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับระดับที่ควรจะเป็นอย่างเช่นในต่างประเทศ  นักลงทุนส่วนบุคคลไทยนั้น  ผมคิดว่ามีสิทธิมีเสียงและเป็นกลุ่มคนที่บริษัทต้องคำนึงถึงมาก   พวกเขาต้องให้ข้อมูล  ต้องฟัง  และอาจจะต้องปฏิบัติตาม   ในหลาย ๆ กรณีในระยะหลังนั้น  นักลงทุนส่วนบุคคลสามารถเข้าไป “ยึดกุม” การบริหารของบริษัทได้ด้วยซ้ำ  

  สื่อสารเกี่ยวกับการลงทุนที่มีมากมายในปัจจุบันและแทบทุกรายการนั้นเน้นที่การลงทุนของนักลงทุนส่วนบุคคลก็เป็นอาการอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีฟองสบู่ของนักลงทุนอยู่  แม้แต่รายการที่เป็นMass และเป้าหมายคือชาวบ้านทั่ว ๆ ไปนั้น  บางครั้งก็เริ่มเห็นการสัมภาษณ์นักลงทุนหรือดึงนักลงทุนที่  “ประสบความสำเร็จสูง” มาร่วมรายการ  “เซเลบ” ที่เป็นนักลงทุนและเป็น  “คนรุ่นใหม่”  มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และนั่นก็คือสัญญาณทั้งหมดที่ทำให้ผมเชื่อว่าเรากำลังมีฟองสบู่ของนักลงทุน  ผมเองเชื่อว่า  “ฟองสบู่”  นี้จะต้องแตกซักวันหนึ่ง  อาจจะตามการชะลอตัวลงยาวนานหรือการ “แตก” ของ  “ฟองสบู่” ตลาดหุ้น—ถ้ามี  และหลังจากนั้น  นักลงทุนก็จะกลับไปมีสถานะตามเดิมก่อนที่จะเกิดฟองสบู่ นั่นก็คือ  เป็นคนธรรมดา ๆ