Monday, May 25, 2015

บริษัทมหาอำนาจ / คนขายของ

 

   ถ้าพูดกันถึงประเทศระดับมหาอำนาจของโลก หลายท่านคงนึกถึง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน รัสเซีย เป็นต้น เหตุผลหนึ่งที่ประเทศเหล่านี้เป็นมหาอำนาจเพราะว่าสามารถต่อรอง เรียกร้อง ให้ประเทศที่มี ขนาดเล็กกว่ายอมทำตามสิ่งที่ต้องการได้เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีแสนยานุภาพทางทหารมีอำนาจ ต่อรองทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า  แต่ถ้าเรามาพูดถึงบริษัทที่เป็นมหาอำนาจบ้าง เราจะนึกบริษัทอะไร กันบ้าง? และ บริษัทเหล่านี้จะมีลักษณะอย่างไร มีจุดไหนที่จะพอเป็นที่สังเกตุได้บ้างว่าบริษัทไหน เป็นบริษัท “มหาอำนาจ”?

  อำนาจอย่างหนึ่งที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นประเด็นหลักในการเลือกหุ้นที่ Warren Buffett จะเลือกลงทุนคือ “อำนาจในการกำหนดราคา” (Pricing Power) บริษัทที่มีอำนาจในด้านนี้สูงโดยมากจะสามารถ ผลักดันต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้ลูกค้าได้ จึงทำให้กำไรสุทธิของบริษัทไม่แกว่งไปแกว่งมาเหมือนบางบริษัท ที่ไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ด้วยตัวเอง เราจะเห็นได้ว่าบริษัทขายสินค้าประเภทสินค้าโภคภัณฑ์นั้น มีการแกว่งตัวของกำไรสุทธิอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะว่าราคาขายสินค้าต้องอิงกับราคาตลาดโลก ไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ด้วยตัวเอง ดังเช่น อัตรากำไรสุทธิของบริษัท Exxon Mobil ในช่วง สิบปีที่ผ่านมามีอัตราต่ำสุดที่ 6.2% และ ทำจุดสูงสุดที่ 10 .7% แต่ของบริษัทค้าปลีกอย่าง Walmart นั้นอยู่ในช่วงที่แคบกว่ามากคือ 3.24% - 3.88% ดังนั้นหากพูดกันถึงเรื่องการประเมินกำไรในอนาคต นักลงทุนสามารถทำการประเมินกำไรของบริษัทที่มี Pricing Power สูงๆได้ง่ายกว่า

  อำนาจอย่างที่สองคือ อำนาจต่อรองกับลูกค้าและซัพพลายเออร์ บริษัทที่มีอำนาจด้านนี้สูงๆ สามารถได้ เครดิตจากซัพพลายเออร์เป็นระยะเวลายาวนานกว่าระยะเวลาเก็บเงินจากลูกค้า จึงสามารถนำเงินที่ได้ จากลูกค้ามาหมุนเวียนใช้ในธุรกิจได้ก่อน เป็นผลให้การใช้หนี้สินระยะสั้นในการดำเนินงานน้อย สร้างความสามารถในการแข่งขันได้เหนือคู่แข่ง เป็นผลให้อัตรากำไรสุทธิดีกว่า อย่างเช่นผู้ผลิต กระเบื้องรายหนึ่งของไทย มีระยะเก็บหนี้เพียง 5 วัน และ ระยะชำระหนี้ 49 วันต่างกันถึง 44 วัน บริษัทนี้สามารถทำกำไรสุทธิได้ถึง 17% แต่อีกบริษัทหนึ่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน มีระยะเก็บหนี้ 50 วัน แต่ระยะชำระเจ้าหนี้กลับเร็วกว่า คือ 43 วัน บริษัทนี้ทำกำไรสุทธิได้แค่ 0.4% ในปีที่ผ่านมา

  อำนาจอย่างที่สามคือ อำนาจชี้นำเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม บริษัทพวกนี้โดยส่วนมากจะเป็นผู้นำ ในตลาดสินค้านั้นๆ มีส่วนแบ่งการตลาดค่อนข้างมากทำให้เข้าถึงการประหยัดต่อขนาด Economies of Scale) ที่สูงกว่า ทำให้สามารถบีบบังคับคู่แข่งรายอื่นได้ สมัยเมื่อประมาณสามสิบปีก่อน SONY ออกเครื่องเล่นวีดีโอระบบ Betamax ซึ่งใช้ม้วนเทปขนาดเล็ก และเป็นเทคโนโลยีของ SONY เองแต่ Matsushita เจ้าของแบรนด์ “National” และ JVS ไม่ยอมรับในเทคโนโลยีนี้ จนทำให้ระบบ Betamax ของ SONY ต้องพ่ายแพ้แก่ระบบ VHS จนทำให้ SONY เสียส่วนแบ่งการตลาดในที่สุด

  เป็นที่รู้กันดีว่า ปตท. เป็นบริษัทที่มีมูลค่ากิจการสูงที่สุดของไทย โดยมีมวลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่เมื่อมองออกไปในตลาดโลก เป็นที่น่าแปลกใจมากที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องหนังหรูหราอย่างบริษัท “HERMES” ของฝรั่งเศสนั้นกลับมีมูลค่ากิจการที่สูงกว่าบริษัทปิโตเลียมที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิต ที่ซับซ้อนอย่าง ปตท ณ ปัจจุบัน HERMES มีมูลค่ากิจการถึง 1.2 ล้านล้านบาท ทั้งๆที่บริษัทมี รายได้แค่  140,000 ล้าน และ กำไร 29,000 ล้านบาท แต่ ปตท มีรายได้รวมเกือบ 3 ล้านล้าน และ กำไรราว 56,000 ล้านบาท อาจจะเป็นไปได้ไหมครับว่านักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อในพลังอำนาจที่ HERMES มี เพราะกระเป๋าของ HERMES นั้นเป็นที่รู้กันว่าแพงขึ้นทุกปีไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจ จะเป็นอย่างไร แต่ราคาน้ำมันนั้น แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในวงการยังไม่สามารถทำนายถึงราคาน้ำมัน ในอนาคตได้อย่างแม่นยำ