Sunday, May 10, 2015

จิตวิทยาของคนเล่นหุ้น/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


 แม้ว่า Value Investor ผู้มุ่งมั่นส่วนใหญ่อาจจะบอกว่าตนเองไม่ใคร่สนใจภาวะตลาดหลักทรัพย์มากนักเพราะว่าเขา  “ลงทุนหุ้นเป็นรายตัว”  ไม่ได้ลงทุนในดัชนีหุ้น  แต่การดูภาวะตลาดหุ้นว่ามันน่าจะแพงหรือถูกก็ไม่ได้เสียอะไร  แต่ข้อดีก็คือ  อย่างน้อยมันอาจจะช่วยเตือนให้เราระมัดระวังมากขึ้นในยามที่คน  “กำลังโลภ”  หรือกล้ามากขึ้นในยามที่คน  “กำลังกลัว”  อย่างที่วอเร็น บัฟเฟตต์ พูดไว้

    วิธีที่จะดูว่าภาวะตลาดหุ้นอยู่ในช่วงไหนนั้น  นอกจากการดูตัวเลขดัชนีหุ้นหรือปริมาณการซื้อขายหุ้น  ค่า P/E  P/B  Dividend Yield หรือเครื่องชี้อย่างอื่นเช่น จำนวนของหุ้น IPO และราคาที่เพิ่มขึ้นเมื่อเข้าซื้อขายในตลาดวันแรก ๆ  แล้ว  อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราเห็น “ภาพใหญ่” ก็คือ  การวิเคราะห์เรื่องของ  “จิตวิทยา”  ของคนเล่นหุ้น   เพราะจิตวิทยาหรือความคิดของคนแต่ละคนจะสะท้อนไปถึงหรือเป็นตัวกำหนดการซื้อหรือขายหุ้นของเขา  และเมื่อรวมเอาความคิดของคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น  มันก็จะสะท้อนไปถึงหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น  ซึ่งในที่สุดก็สะท้อนไปที่ดัชนีตลาด  พูดแบบรวม ๆ  ก็คือ  ถ้าคนมองโลกในแง่ดีกับหุ้น  ราคาหุ้นก็น่าจะปรับตัวขึ้นไป  ตรงกันข้าม  ถ้าคนมองโลกในแง่ร้าย  หุ้นก็จะปรับตัวลงมา  ประเด็นก็คือ  มองโลกในแง่ดีแค่ไหน?  หรือมองโลกในแง่ร้ายแค่ไหน? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนส่วนใหญ่มองโลกไปในแง่ไหน?

    ก่อนที่เราจะพูดถึงว่าคนมองโลกในแง่ไหนนั้น  สิ่งที่จะต้องกำหนดก่อนก็คือ  ระดับของ  “จิตวิทยาสังคม”  ที่นักวิชาการได้กำหนดไว้เป็นขั้น ๆ  เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 นั่นก็คือ  สิ่งที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  Optimism หรือคนเริ่มมีความหวังหรือ  “มองโลกในแง่ดี”  และถ้าคนส่วนใหญ่มองโลกในแง่ดี  สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ  พวกเขาจะอยากลงทุนซื้อหุ้นเพราะมองว่าภาวะทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น  บริษัทจดทะเบียนจะขายสินค้าได้มากขึ้นและมีผลกำไรที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถจ่ายปันผลได้สูงขึ้นหรือสูงกว่าการลงทุนอย่างอื่นที่มีอยู่เช่นการฝากเงิน  ผลก็คือ  ราคาหุ้นก็จะทยอยปรับตัวขึ้น  อาจจะถึง 10%

    ขั้นที่สองของจิตวิทยาสังคมก็คือ  Excitement หรือนักเล่นหุ้นจะเริ่มรู้สึก  “ตื่นเต้น” หลังจากที่หุ้นที่พวกเขาถือและดัชนีหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้นมาถึงระดับหนึ่งที่ก็ยังไม่สูงมากจากจุดเริ่มต้น  คนที่ทำกำไรได้แล้วก็อาจจะเริ่มลงทุนเพิ่ม  นักเล่นหุ้นที่เคยเล่นและเลิกไปแล้วก็อาจจะเริ่มกลับเข้าตลาด  เม็ดเงินที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มก็จะผลักดันให้หุ้นและดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นไปอีก  ดัชนีหุ้นในช่วงนี้อาจจะขึ้นไปแล้วถึง 20%

    ขั้นที่สามคือ Thrill หรือที่เรียกว่าขั้น  “เร้าใจ”  ถึงจุดนี้  คนที่เข้ามาตั้งแต่แรกก็เริ่มทำเงินเป็นกอบเป็นกำจากการเล่นหุ้นและได้ประกาศหรือบอกต่อกับคนที่รู้จัก  หลายคนก็เริ่มเขียนหนังสือหรือแนะนำวิธีการลงทุนที่จะทำกำไรได้มหาศาลในเวลาอันสั้นผ่านสื่อต่าง ๆ  อัจฉริยะหรือเซียนหุ้นเริ่มปรากฏตัวขึ้น  การลงทุนในตลาดหุ้นกลายเป็นกิจกรรมที่ดีและทำเงินได้ดีกว่าการทำงานหรือลงทุนอย่างอื่น  คนที่ไม่เคยสนใจหุ้นแต่มีเงินก็เริ่มเข้ามาซื้อขายหุ้น  การลงทุนดูเหมือนจะง่ายและทำเงินได้ดี  เม็ดเงินที่เข้ามาดันดัชนีหุ้นให้ขึ้นไปอย่างรวดเร็ว  หุ้นอาจจะขึ้นไปแล้ว 40%

    ขั้นที่สี่คือ Euphoria หรือขั้น  “เคลิบเคลิ้ม”  นี่คือช่วงที่หุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปสูงมากถึงจุดสุดยอด  คนจำนวนมากคิดว่าหุ้นนั้นสามารถให้ผลตอบแทนได้มหาศาลในเวลาอันสั้น  หุ้นเกือบทุกตัวที่เป็น IPO ต่างก็ปรับตัวขึ้นไปมหาศาลตั้งแต่วันเข้าซื้อขายในตลาดวันแรก  หุ้นตัวเล็กตัวน้อยนั้น  ถ้ามีขาใหญ่หรือเซียนหุ้นเข้ามาเล่นก็จะวิ่งขึ้นมโหฬารภายในเวลาอันสั้น  การขึ้นลงของราคาหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับข่าวหรือการคาดการณ์อนาคตมากกว่าพื้นฐานในปัจจุบัน  นักเล่นหุ้นระยะสั้นที่อายุน้อยและประสบความสำเร็จกลายเป็น  “มหาเศรษฐี”  จากเงินเริ่มต้นเพียงน้อยนิดปรากฏตัวขึ้นเป็นว่าเล่นกลายเป็น  “ไอดอล” ของคนจำนวนมาก  และนี่ก็ดึงดูดนักเล่นหุ้นหน้าใหม่ที่ไม่มีทั้งประสบการณ์และเงินแต่มี “ความฝัน”  ว่าจะรวยได้อย่างรวดเร็ว  เข้ามาในตลาดหุ้น  คนเลิกคิดว่าหุ้นนั้น  “มีความเสี่ยงสูง”  ช่วงนี้หุ้นอาจจะขึ้นมาจากจุดเริ่มต้นตั้งแต่ 50% ถึงกว่า 100% แล้ว  และเริ่มจะตกลงเมื่อทุกคนที่สนใจเล่นหุ้นต่างก็อยู่ในตลาดหมดแล้ว

    ขั้นที่ห้านั้นเป็นช่วง “ขาลง”  ของตลาดหุ้นที่เรียกว่า Anxiety หรือช่วง “กังวล”  นี่คือช่วงที่นักเล่นหุ้นโดยเฉพาะที่เพิ่งเข้ามาในตลาดในช่วงที่ราคาหุ้นและดัชนีตลาดอยู่ในระดับสูงมาก  แทนที่จะกำไรง่าย ๆ เหมือนช่วงก่อนหน้านั้น  พวกเขากลับขาดทุนแม้จะไม่มากนัก  ราคาหรือดัชนีหุ้นตกลงมา  อาจจะแค่ 10%  นี่ทำให้เขากังวล  อย่างไรก็ตาม  นักวิเคราะห์และเซียนหุ้นต่างก็ปลอบใจว่านี่เป็นการปรับตัวเล็ก ๆ  น้อย ๆ  อนาคตหรือไตรมาศหน้าหุ้นก็จะปรับตัวขึ้น  ไม่มีอะไรน่าห่วง  บริษัทมีพื้นฐานที่ดี  เศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็จะดีขึ้นแน่นอน  เหนือสิ่งอื่นใด  หุ้นไม่ได้มีราคาแพงเทียบกับประเทศอื่นหรือเทียบกับการลงทุนอื่นหรือการฝากเงิน

    ขั้นที่หกก็คือ  Denial หรือ  “การปฏิเสธ”  นี่คือช่วงที่หุ้นตกลงมาอีก  อาจจะ 15-20% จากจุดสูงสุด  คนเล่นหุ้นต่างก็ไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจ ผลประกอบการ  หรือภาวะทางการเงินนั้นไม่เอื้ออำนวย  และหุ้นอาจจะตกลงมาเพื่อสะท้อนความเป็นจริง  คนที่ยังถือหุ้นอยู่ “ปฏิเสธที่จะขาย”  แม้ว่าจะขาดทุนเพิ่มขึ้น  พวกเขาเชื่อว่าหุ้นจะต้องกลับมา  แน่นอน  นักลงทุนจำนวนไม่น้อยได้ขายหุ้นไปแล้ว  พวกเขาอาจจะขาดทุนกำไรไปบ้าง  และนั่นทำให้หุ้นตก

    ขั้นที่เจ็ด  Fear หรือขั้น  “กลัว” นี่คือช่วงที่ราคาหุ้นตกลงไปมาก อาจจะ 20% ขึ้นไป  ข่าวเกี่ยวกับหุ้นและภาวะทางเศรษฐกิจการเงินและตลาดหุ้นน่ากลัว  คนที่ขาดทุนจากหุ้นมีมากมาย  ข่าวที่เกี่ยวกับหุ้นและนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหายไปมาก  ข่าวคน “เจ๊ง” หุ้นเริ่มออกมาเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับ “ข่าวร้าย” ของบริษัทจดทะเบียน  สถานการณ์เลวร้ายลงจนถึงขั้นที่แปดคือ Desperation หรือช่วง  “เข้าตาจน” หลายคนต้องเอาตัวรอดโดยอาจจะต้องขายหุ้นเท่าที่จะทำได้เพื่อรักษาเงินที่ยังเหลืออยู่และนั่นก็อาจจะทำให้หุ้นตกแรงจนถึงจุดที่แม้แต่หุ้นที่ดีก็ตกลงมามากราวกับว่ามันไม่มีค่า  ซึ่งนี่คือจิตวิทยาในขั้นที่ 9 ที่เรียกว่า  Panic หรือขั้น  “ขวัญผวา”  ซึ่งเป็นขั้นตอนที่นักลงทุนตกใจกลัวอย่างรุนแรงและเทขายหุ้นโดยที่ไม่ได้สนใจมูลค่าพื้นฐานที่ควรเป็น  จนถึงขั้นที่ 10 ของจิตวิทยาที่เรียกว่า Capitulation หรือการ  “ยอมแพ้” ซึ่งจะตามมาด้วยขั้นตอนต่ำที่สุดทางจิตวิทยาคือ Despondency หรือ การ  “สิ้นหวัง”  ซึ่ง ณ.  จุดนั้นก็จะกลายเป็น “โอกาสที่ยิ่งใหญ่” ของการลงทุน  เพราะมันเป็นจุดที่หุ้นตกลงมาต่ำสุด

    ขั้นตอนการฟื้นตัวของหุ้นและตลาดหุ้นจะเริ่มต้นที่ขั้น 12 คือช่วง Depression หรือช่วง  “หดหู่”  ช่วงที่ 13 ช่วง Hope หรือช่วงของ  “ความหวัง”  และช่วงที่ 14 คือ Relief หรือช่วง  “ผ่อนคลาย” ซึ่งจะตามมาด้วยช่วง ที่หนึ่งคือ Optimism หรือนักลงทุนกลับมามองโลกในแง่ดีอีกครั้งหนึ่ง

    ถ้าจะถามว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันนี้จิตวิทยาของนักลงทุนอยู่ในช่วงไหน  คำตอบของผมคงอยู่ที่ช่วงระหว่าง 3ถึง 5 นั่นก็คือ  ระหว่างช่วงเร้าใจ เคลิบเคลิ้ม และกังวล ซึ่งถ้าอยู่ที่ช่วงเร้าใจ  นั่นแปลว่าหุ้นยังอาจจะขึ้นได้อยู่อีกหนึ่งช่วงสุดท้าย  ถ้าเป็นช่วงเคลิบเคลิ้ม ก็แปลว่ามันกำลังอยู่ในจุดที่สูงที่สุดแล้ว  และถ้าเป็นช่วงกังวล  นั่นก็หมายความว่าหุ้นได้ผ่านจุดสูงที่สุดไปแล้วและกำลังจะตกลงมาเป็น “ขาลง” อย่างต่อเนื่อง  ระยะเวลาของแต่ละช่วงนั้น  เป็นสิ่งที่บอกไม่ได้ว่านานเท่าใด  และทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการกำหนดและคาดการณ์ของนักลงทุนแต่ละคน