Monday, February 29, 2016

ธนาคารของ Bill Gates / โดย คนขายของ


  จากการศึกษาการลงทุนของ บิล เกตส์ ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ผมสังเกตุว่าพอร์ตการลงทุนของมูลนิธิ Bill & Melinda Gates แทบไม่เคยลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารเลย แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ผมแปลกใจมากที่ได้ข่าวว่า บิล เกตส์ ได้ร่วมลงทุนในสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง และ ยิ่งแปลกใจขึ้นไปอีก เมื่อได้ทราบว่าสถาบันการเงินแห่งนี้ไม่ได้อยู่ในอเมริกา แต่อยู่ในประเทศบังกลาเทศ ประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย มีประชากรราว 170 ล้านคน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ราว 80% อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท แม้จะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อเดือนเพียง 3,600 บาท แต่มีประชากรที่มีโทรศัพท์มือถือถึง 70 ล้านคน

  “bKash” คือชื่อของธนาคารที่มูลนิธิของ บิล เกตส์ ได้ร่วมลงทุนตั้งแต่ปี 2014 ธนาคารแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2011 โดย BRAC Bank บังกลาเทศ และ Money In Motion จากอเมริกา โดยมุ่งเน้นการให้บริการ Mobile Financial Service (MFS) แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย   บริการหลักที่มีในตอนนี้ได้แก่ การฝาก-ถอน, การโอนเงิน และ การรับชำระเงิน Bill Payment) โดยทำรายการผ่าน “ตัวแทน” ซึ่งโดยมากเป็นร้านโชห่วย ร้านให้บริการเติมเงินมือถือ หรือ ร้านขายยา ในการฝากเงินลูกค้าจะนำ เงินสดไปให้ กับร้าน “ตัวแทน” เจ้าของร้านจะทำรายการเหมือนพนักงานเคาเตอร์ของธนาคารทั่วไปผ่าน ทางโทรศัพท์มือถือ เงินจะเข้าไปยัง “bKash Wallet” ซึ่งเป็นเหมือนกระเป๋าสตางค์อีเล็คโทรนิคของ เจ้าของบัญชี พร้อมทั้งได้รับ sms ยืนยันการทำรายการ ส่วนการชำระเงิน หรือ การโอนเงินลูกค้า สามารถทำรายการผ่านมือถือได้เอง

  ในช่วง 18 เดือนแรกที่เปิดให้บริการ ธนาคารเริ่มมีฐานลูกค้าราว 2 ล้านคน และตัวเลขฐานลูกค้าได้เพิ่ม ขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 20 ล้านคน และมีร้านค้า “ตัวแทน” ที่ทำหน้าที่เหมือนสาขาของธนาคารถึง 110,000 ร้านในปี 2015 เพราะเหตุใด bKash จึงประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว? เหตุผลหลัก น่าจะเป็นเพราะว่า บริการ MFS ซึ่งเป็นการให้บริการทางการเงินที่ต้นทุนต่ำ สามารถตอบโจทย์ ประชากรส่วนใหญ่ของบังกลาเทศซึ่งมีรายได้น้อย ทั้งนี้เพราะมีการคิดค่าธรรมเนียมที่ต่ำมาก เป็นผลให้การเข้าถึงบริการธนาคารเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกขึ้น แต่กระนั้นก็ตาม การแข่งขันในธุรกิจ MFS ในบังกลาเทศนั้นดุเดือดมากเพราะทางรัฐบาลได้ออกใบอนุญาติให้ถึง 28 ราย แต่เพราะเหตุใด bKash จึงสามารถสร้างส่วนแบ่งการตลาดได้มากกว่า 50%?

  บทวิเคราะห์ของ Jadara Partner LLC ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในประเทศ เกิดใหม่ ได้ชี้แจงว่า bKash นั้นเป็นธนาคารที่เน้นเรื่อง MFS อย่างแท้จริง บริษัท MFS ส่วนใหญ่มักเป็นเพียงฝ่ายหรือแผนกของธนาคาร แต่ bKash ถูกตั้งออกมาเป็นบริษัทต่างหาก เพื่อให้การบริหาร และการจัดการทรัพยากรเป็นไปอย่างอิสระ และเพื่อให้ผู้บริหารโฟกัสในธุรกิจนี้อย่างจริงจัง

  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รายได้ด้านค่าธรรมเนียมของธนาคารไทยได้เติบโตโดยตลอด แต่ทั้งนี้อาจเป็น เพราะ เรายังไม่ได้เห็นธนาคารประเภท “Low Cost” เกิดขึ้นในไทย จากการศึกษาค่าธรรมเนียมการ โอนเงินไปยังบุคคลอื่นของ bKash พบว่าไม่มีการคิดเป็นระบบแบ่งเขตเหมือนในไทยที่มีการคิด ค่าธรรมเนียมในการโอนไปต่างจังหวัด แต่ bKash จะคิดราวๆ 2.5 บาท ต่อหนึ่งรายการ สำหรับ การโอนเงินเพื่อชำระสินค้าหรือบริการ bKash ไม่คิดค่าธรรมเนียม แม้แต่ขอ statement ก็ไม่คิดค่า ธรรมเนียม แต่ที่ bKash จะคิดค่าธรรมเนียมหนักตอนถอนเงิน โดยคิด 1.85% ของยอดเงินเพื่อเป็น ค่าธรรมเนียมให้ “ตัวแทน”

  การแข่งขันทางด้าน “ต้นทุน” ในการดำเนินธุรกิจมีมาช้านาน ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทอย่างสูงมากในการลดต้นทุนเพื่อให้สินค้าและบริการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น มีหลายตัวอย่างในอดีตที่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ปรับตัวไม่ทันต้องพ่ายแพ้ไป โดยเฉพาะในธุรกิจธนาคารซึ่งในปัจจุบันช่องทาง Mobile Banking มีการเติบโตในอัตราที่สูงมาก PwC (ประเทศไทย) เคยประเมินว่า สาขาของธนาคารที่เปิดอยู่ทั่วไป จะหายไปจากภายใน 15 ปี ดูเหมือนว่าเมื่อโลกของการเงินมารวมกับเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงใน อุตสาหกรรมนี้กำลังจะรวดเร็ว และรุนแรงอย่างที่เราคาดไม่ถึง

Monday, February 22, 2016

ดราม่าในตลาดหุ้น /โดยดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล


สิ่งที่ตามมาจากความแพร่หลายของการใช้อินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมสมัยใหม่อย่างหนึ่งก็คือปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “Drama” นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมที่คนจำนวนมากสนใจและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในเวบไซ้ต์  สื่อสังคมบนอินเตอร์เน็ต  สื่อสิ่งพิมพ์และอื่น ๆ   บ่อยครั้งการวิจารณ์โต้เถียงกันนั้นขัดแย้งรุนแรงเนื่องจากผู้เข้ามาร่วมนั้นต่างก็ไม่ต้องปรากฏตัวหรือเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงกันข้าม  บางครั้งเรื่องที่พูดกันก็เป็นเรื่องที่ซาบซึ้งกินใจที่คนอยากจะแสดงออก  บางครั้งก็เป็นเรื่องที่คนต่างก็ประณามการกระทำที่ “เลวร้าย” และในบางเรื่องก็เป็นแค่การ  “ลุ้น” ว่าใครจะ “ชนะ” หรือใครจะ “แพ้” เพราะอะไร    นอกจากคนที่เข้าไปคอมเม้นต์หรือออกความเห็นแล้ว   ก็ยังมีคนจำนวนมากมายที่เข้าไปดูแล้วก็เก็บไว้ในใจหรือไม่ก็ไปพูดคุยต่อกับคนรู้จักหรือคนในกลุ่มอื่น ๆ  จนสุดท้ายสังคมแทบทั้งหมดก็จะรู้เรื่องและมีความคิดและความเห็นต่อเรื่องราวหรือเหตุการณ์ดังกล่าว  ถ้าจะพูดก็คือ  เกิดเป็น “กระแสสังคม” ที่จะไปมีผลกับคนหรือหน่วยงานต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้อง  ในบางกรณี  อิทธิพลของ  “ดราม่า”  ก็มีผลรุนแรงจนคนคาดไม่ถึง

“ดราม่า” นั้น  มักจะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปสนใจและมีกรอบความคิดและความเชื่อที่เป็นที่ยอมรับกันในสังคมไทยเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นกลับเป็นเรื่องที่ผิดคาดไปจาก “มาตรฐาน” ไว้มาก  และสิ่งที่ผิดไปนั้น  เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล  เช่นเป็นเรื่องของความรัก  ศาสนา  จริยธรรม  ความเจริญรุ่งเรืองและความล่มสลาย  เรื่องของ “ความดี” และ “ความเลว” เป็นต้น  ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ  เรื่องราวของคนหรือหน่วยงานที่จะเกิดดราม่านั้น  มักจะเป็นคนหรือหน่วยงานที่ “โดดเด่น” เป็นที่รู้จักหรือได้รับการยอมรับอย่างสูงเนื่องจากสถานะทางสังคม  หรือถ้าไม่ใช่คนที่โดดเด่น  เรื่องราวนั้นก็จะต้องแตกต่างจาก “ค่านิยม” ไปมากโดยที่สังคมหรือกฎหมายไม่สามารถที่จะไปกำหนดหรือจัดการอะไรได้ทำให้คนต้องออกมาว่ากล่าว  “ผ่านสื่อ” ด้วยตนเอง

วิธีที่จะดูว่าเรื่องใดเข้าข่ายที่จะเป็นดราม่านั้น  ผมคิดว่าข้อแรก  ข่าวหรือเรื่องราวนั้นน่าจะต้องปรากฏอยู่ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายวันแต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเริ่มที่หนังสือพิมพ์ก่อน  ข้อสองซึ่งผมคิดว่าน่าจะสำคัญยิ่งกว่าก็คือ  เรื่องราวนั้นจะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์กันแพร่หลายในสื่ออินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะเวบไซ้ต์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นของข่าวหรือเรื่องราวนั้นโดยตรง  ข้อสาม  เรื่องที่จะเป็นดราม่านั้น  จะต้องมี “ตัวละคร”  ที่เป็นตัวเอกที่คนพูดถึงกันมาก  บางทีตัวละครก็อาจจะไม่ใช่คนแต่เป็นประเด็นที่เป็นเป้าหมายในการถกเถียงหรือต่อว่าหรือชมเชยกันอย่าง  “สุดโต่ง”  และสุดท้ายก็คือ  ดราม่าก็มักจะจบลง  คือคนเลิกสนใจไม่พูดกันอีกต่อไปในเวลาไม่นานนัก  ส่วนผลกระทบนั้น  ผมคิดว่ามันคือ “บาดแผล” ทางสังคมของคนหรือหน่วยงานที่ถูกกระทบที่จะต้องใช้เวลารักษาฟื้นฟูยาวนานหรืออาจจะไม่ได้เลย  แต่ในกรณีที่เป็นผลกระทบด้านดีนั้น  คนก็มักจะลืมไปในไม่ช้า

ถ้าจะดูดราม่าในช่วงนี้ในด้านของสังคมทั่วไปผมคิดว่าการ “หนีทุน” ของนักวิชาการชาวไทยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดน่าจะเข้าข่ายเต็มที่  เรื่องนี้ผมคิดว่าที่กลายเป็นดราม่าใหญ่โตนั้นคงไม่ใช่แค่เรื่องหนีทุนซึ่งถ้าบังเอิญเป็นคนที่ไม่มีชื่อเสียงหรือไม่ได้ทำงานในมหาวิทยาลังดังอย่างฮาร์วาร์ด  เรื่องนี้ก็อาจจะไม่มีใครสนใจและไม่เป็นข่าวเลย  แต่การที่มีสถานะที่ “สูงส่ง” โดยอาศัยเงินของหลวงและการค้ำประกันจากเพื่อนและคนที่เสียสละเห็นแก่ความก้าวหน้าของหน่วยงานและประเทศไทย  นี่เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับ  “มาตรฐาน”  ของสังคมมาก  และมันจึงเป็น  “ดราม่า” ที่ร้อนแรงและ “ทำลาย” เจ้าตัวอย่างแรงโดยที่อาจจะ  “ไม่คาดคิด” เนื่องจากเหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว  ก่อนหน้านี้ก็มีดราม่าที่เป็นเรื่องของดาราดังที่เป็นโรคไข้เลือดออกและเสียชีวิตซึ่งก่อ “กระแส” ความเห็นอกเห็นใจเอาใจช่วยและส่งผลถึงครอบครัวที่ได้รับความนิยมขึ้นอย่างมากทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่มีคนรู้จัก

ตลาดหุ้นเองนั้นก็มีดราม่ามาโดยตลอดเช่นเดียวกันทั้งทางด้านดีและร้าย  โดยที่ด้านร้ายนั้นก็มักจะมากกว่าด้านดีเช่นเดียวกับดราม่าในสังคมอื่น  ข่าวที่เป็นเรื่องของดราม่านั้น  ผมคิดว่ารวมถึงการประมูลทีวีดิจิตอลซึ่งก็ผ่านมาหลายปีแล้วแต่ผลกระทบก็ยังอยู่หรืออาจจะพูดว่าเพิ่งจะเริ่มต้นก็ได้  ต่อมาก็คือ  การประมูลคลื่นวิทยุเพื่อใช้ในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นดราม่าอยู่นานพอสมควรและจะยังอยู่ต่อไปอย่างน้อยอีกระยะหนึ่งเพราะมันอาจจะมี  “ภาคสอง” และภาคต่อ ๆ  ไป    การเทคโอเวอร์กิจการขนาดใหญ่โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกเช่นบิ๊กซีผมเองก็ถือว่าเป็นดราม่าเล็ก ๆ  ที่มีการกล่าวขวัญถึงพอสมควรทั้งทางด้านหุ้นและการประกอบการในอนาคต  ในด้านของการประกอบการและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเองนั้น  ผมคิดว่าก็มีดราม่าเช่นเดียวกัน  ราคาน้ำมันที่ตกลงมาแรงซึ่งทำให้ผลประกอบการของบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ลดลงจนขาดทุนหนักและส่งผลให้ราคาหุ้นตกลงมาเกิน 50% นั้นไม่ใช่ธรรมดา  มันเป็น  “ดราม่า”  และล่าสุดก็ แน่นอน เป็นเรื่องของดราม่าเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้วแต่ก็ไม่แน่ใจว่าใกล้จบหรือยัง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับหุ้นที่เกิดดราม่านั้น  ที่ชัดเจนก็คือ  ราคาหุ้นหรือมูลค่าตลาดของหุ้น  ถ้าเป็นดราม่าที่ดี  กิจการรุ่งเรืองสุด ๆ  ราคาและมูลค่าหุ้นก็ขึ้นไปแรงมาก  แต่ถ้าเป็นดราม่าที่เลวร้าย  ราคาและมูลค่าหุ้นก็จะลดลงมามาก  ประเด็นที่สำคัญก็คือ  นักลงทุนและคนเล่นหุ้นนั้นก็เป็นคนธรรมดาที่มีอารมณ์และอารมณ์นั้นมักจะไปลดการใช้เหตุผลนี่คือธรรมชาติของมนุษย์  ดังนั้น  เวลาไปเจอหรือไปอ่านเรื่องราวดราม่าก็มักจะถูกอิทธิพลของดราม่าซึ่งบ่อยครั้งทำให้มีความรู้สึกที่รุนแรงกว่าความเป็นจริงและ React หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองแรงกว่าที่ควรจะเป็น  และนั่นส่งผลถึงราคาหุ้นให้ปรับตัวผิดจากที่ควรเป็น  พูดให้เฉพาะก็คือ  กิจการอาจจะดีและมีแต่เรื่องดี ๆ  แต่ราคาหุ้นอาจจะวิ่งนำหน้าไปมาก  หรือกิจการอาจจะด้อยลงบ้างแต่ราคานั้นอาจจะตกลงไปเกินความเป็นจริงในช่วงที่กำลังเป็นดราม่า

ถ้าเราเชื่อว่าในที่สุดแล้วราคาและมูลค่าตลาดของหุ้นก็จะต้องสะท้อนพื้นฐานของกิจการเมื่อเวลาผ่านไป  และเราเชื่อว่าในที่สุดดราม่าก็จะต้องผ่านไป  เราก็จะต้องพยายามไม่ Over react หรือไม่ตัดสินใจในการซื้อขายหุ้นโดยอิงอยู่กับดราม่าเป็นหลัก  แน่นอนว่าเราต้องศึกษาและดูว่าอะไรเกิดขึ้นกับกิจการและหุ้นและดูว่าสังคมมีปฏิกิริยาอย่างไร  เราต้องเอาข้อเท็จจริงมาเปรียบเทียบกับความเห็นของสังคมในช่วงที่เกิดดราม่า  เป็นไปได้ว่าสิ่งที่สังคมเชื่อนั้นถูกต้องแล้วและราคาหุ้นก็สะท้อนกับความเป็นจริง  เราก็ลงมือปฏิบัติไปตามนั้น  แต่ถ้าไม่ใช่  มันก็อาจจะเป็นโอกาสที่เราจะซื้อหรือขายหุ้น  หน้าที่ของเราในฐานะที่เป็นนักลงทุนนั้นก็คือ  เราต้องพิจารณาอย่างเป็นอิสระจากฝูงชน  นี่ไม่ได้หมายความว่าเราทำตรงกันข้าม  เราอาจจะทำแบบเดียวกันก็ได้ถ้าเราคิดว่ามันถูกต้อง

ทุกคนต่างก็มีความคิด  ความเชื่อและศรัทธาของตนเอง  บางคนเป็นนักอนุรักษ์นิยม  บางคนเป็นเสรีนิยม  บางคนให้คุณค่าในบางสิ่งบางอย่างมากกว่าอีกสิ่งหนึ่ง  บางคนชอบดูอะไรตามกฎเกณฑ์  บางคนดูตามพฤติกรรม  คนส่วนใหญ่แล้วต้องการให้คนอื่นคิดและทำเหมือนตนเองโดยที่เขาเชื่อว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดีและถูกต้องและนั่นก็คือสิ่งที่เขาแสดงออกมาและกลายเป็นดราม่าเพราะบางครั้งความคิดไม่เหมือนกัน  ในสังคมทั่วไปนั้น  ดราม่าเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งที่พยายามหล่อหลอมให้สังคมเป็น “หนึ่ง” เดียว  แต่ดราม่าในตลาดหุ้นนั้น  เราไม่จำเป็นต้องตาม  เราไม่ได้คิดต่าง  แต่เราต้องคิดอย่างเป็นอิสระและเราต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะต้องไม่อยู่ในอิทธิพลของดราม่า

Thursday, February 18, 2016

ปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 /โดยคุณวีรพงษ์ ธัม

 

  อุตสาหกรรม หรือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อผลิตสินค้าและบริการผ่านการ “ปฏิวัติ” มาหลายครั้งในประวัติศาสตร์ โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1760 ที่มนุษย์รู้จักใช้พลังงานไอน้ำมาสร้างผลผลิตทวีคูณแทนช้างม้าวัวควาย ต่อเนื่องมาถึงค.ศ. 1870 เราก็เอาพลังงานเหล่านั้นมาสร้างระบบการผลิตอย่างเป็นระบบจำนวนมากบนสายพาน การกำเนิดโรงงานที่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง พาโลกเข้าสู่ยุคทองของสินค้าอุตสาหกรรม เช่นรถยนต์ เรือ น้ำมัน เหล็ก จนกระทั่งปี 1960s เราก็เข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม หรือบางครั้งเราก็เรียกว่ายุคดิจิตอล เมื่อเราสามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และอินเตอร์เน็ต และโลกกำลังจะก้าวสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือการเชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าหากัน จนเกิดความเป็นไปได้ที่ไม่จำกัด

            ประเทศมหาอำนาจของโลกรวมไปถึงประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละครั้งอย่างเป็นขั้นเป็นตอน พวกเขาอาศัย First Mover advantage เก็บเกี่ยวความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจนขึ้นมาเป็นผู้นำ ในขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนาที่ตามมาทีหลังก็ใช้วิธีเดียวกัน สร้างเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเติบโตเป็นลักษณะ “เลียนแบบ” แต่ “ไม่ได้พัฒนาต่อ” จึงมักจะจบด้วยการ “ติดหล่ม” อันที่เราเห็นตัวอย่างในแถบละตินอเมริกา

            ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อมีการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 ผลลัพท์คือการเติบโต GPP หรือผลผลิตมวลรวมของแต่ละจังหวัดที่สูงสุดใน 5 อันดับแรกในปัจจุบัน คือ กรุงเทพฯ ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ อยุธยา ล้วนเกิดจากอิทธิพล “โรงงาน” และ “นิคมอุตสาหกรรม” หรือร่องรอยของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองของประเทศไทยทั้งสิ้น แต่ปัญหาแรกที่เราเห็นมาตลอดคือช่องว่างระหว่างขนาดเศรษฐกิจของจังหวัดสูงสุด 5 อันดับบนและล่างนั้นสูงมาก เนื่องจากเราไม่สามารถขยายการปฏิวัติอุตสาหกรรมไปยังจังหวัดรองอื่น ๆ อย่างครอบคลุมได้เหมือนกับประเทศพัฒนาแล้วที่เคยทำได้ส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างพื้นฐานระบบ Logistic ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญนั้นไม่สามารถรองรับได้

            ปัญหาที่สองคือการเติบโตของการส่งออกที่ติดลบและ GDP ที่เชื่องช้า กำลังจะบอกว่าต่อจากนี้ไปการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองของไทยจะพบกับความยากลำบากมากขึ้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านกำลังเดินตามรอยด้วยเส้นทางเดียวกัน ฐานการผลิตย้ายง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะเครื่องจักรเป็นอัตโนมัติมากขึ้น แรงงานใหม่สามารถเรียนรู้การผลิตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นไทยจึงเหมือนถูกบังคับให้ขึ้นไปแข่งในอุตสาหกรรมที่ซับซ้อนกว่าเดิม ที่ไม่ได้ง่ายนักเพราะต้องเจอคู่แข่งที่ล่วงหน้าไปก่อน เช่นประเทศไต้หวัน เกาหลี มาเลเซีย สิงค์โปร์

            ส่วนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ของไทยก็เริ่มจริงจังมากขึ้นตั้งแต่เราเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากขึ้นด้วยความเร็วที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ผลการวิจัยของมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตต์พบว่า การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมีส่วนช่วยเพิ่มผลิตผลทางเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าการที่ประชาชนเข้าถึงไฟฟ้าในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง จังหวัดอย่างกรุงเทพฯ ที่มีอินเตอร์เน็ตที่มีเสถียรภาพจึงพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ได้ดีกว่า ดังที่เราเห็น e-commerce โตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีคนรุ่นใหม่พัฒนา Tech Startups เป็นดอกเห็ด

            การปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละครั้ง ส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แรงงานสามารถปรับตัวโดยย้ายจากภาคเกษตรมาสู่อุตสาหกรรม แต่สัตว์อย่าง “ม้า” เป็นล้าน ๆ ตัวที่ปรับตัวไม่ได้ ตกงานจากการเป็นพาหนะให้กับรถยนต์ อุตสาหกรรมยุคใหม่ยิ่งทำให้การปรับตัวยากขึ้นกว่าเดิม สำหรับคนที่กำลังวางแผนการศึกษาให้ลูก เด็กที่กำลังเข้าโรงเรียนประถมในวันนี้ 65% จะทำงานที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุคปัจจุบัน ดังนั้น “ความสามารถในการเรียนรู้” จึงจำเป็นกว่า “ความรู้” หรือ “ทักษะ” ที่เรามีอยู่ คุณเริ่มคิดจะปฏิวัติตัวเองหรือยัง เพราะใครจะรู้ว่าเราอาจจะกลายเป็น “ม้า” ที่หมดความหมายลงในอนาคต

Monday, February 15, 2016

รายการตรวจสอบซุปเปอร์สต็อก /โดยดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล

   
  นึกย้อนหลังไปนาน ๆ  ผมรู้สึกว่าผมได้พูดถึงเรื่องของหุ้นที่เป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ค่อนข้างบ่อย  เหตุผลก็คงเป็นเพราะว่าผมเน้นลงทุนในหุ้นซุปเปอร์สต็อกและก็มีความเชื่อว่านี่คือหุ้นที่สามารถลงทุนระยะยาวและให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีโดยที่มีความเสี่ยงต่ำ  โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เป็น  “หายนะ”  ประสบการณ์ของผมก็คือ  หุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกนั้นมักจะโตขึ้นเรื่อย ๆ  แม้ว่าหุ้นจะ “สะดุด”  ไม่ไปไหน บางที 2-3 ปี  หรือตกลงมาแรงตามภาวะตลาดหรือเพราะปัญหาของบริษัทเอง  การตกลงมานั้นก็มักไม่ถึงกับรุนแรงมากจนรับไม่ไหว  แต่เมื่อทุกอย่างกลับมาเป็น  “ปกติ”  ราคาหุ้นก็กลับขึ้นมาใหม่และสูงกว่าเดิม  นี่คือเหตุผลข้อแรก  เหตุผลข้อสองก็คือ  การเรียนรู้จักซุปเปอร์สต็อกนั้น  จะทำให้เรารู้จักหรือเข้าใจวิธีวิเคราะห์  “คุณภาพของกิจการ” ทุกประเภท  เพราะซุปเปอร์สต็อกก็คือบริษัทที่มี Business Model ที่ดีสุดยอดในแทบทุกด้าน  พูดง่าย ๆ  โครงสร้างของธุรกิจและการแข่งขันทางธุรกิจของหุ้นที่เข้าข่ายเป็นซุปเปอร์สต็อกนั้น  จะได้เปรียบคู่แข่งและสามารถทำเงินหรือทำกำไรได้ดีต่อเนื่องยาวนานโดยที่คนอื่นไม่สามารถมาทำลายได้ง่าย  ดังนั้น  ถ้าเราเข้าใจ  เราก็สามารถนำหลักการนั้นมาใช้กับทุกบริษัทได้  บริษัทไหนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับซุปเปอร์สต็อกก็จะเป็นบริษัทที่มีคุณภาพดี  บริษัทไหนที่มีคุณสมบัติห่างก็จะเป็นบริษัทที่มีคุณภาพแย่  ซึ่งก็จะช่วยให้เรารู้ว่าบริษัทควรมีมูลค่าแค่ไหน

ต่อไปนี้ก็คือ  Checklist หรือรายการตรวจสอบว่าหุ้นซุปเปอร์สต็อกนั้นมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง  ประการแรกก็คือ  มันมักเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็น Megatrend หรือเป็นบริษัทที่ขายสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  หรือเพิ่มขึ้นเร็วมากจนมีมูลค่าสูงขึ้นมากเทียบกับสถานะปัจจุบัน  ซึ่งนั่นก็มักจะเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ “ใหม่”  ที่คนรุ่นใหม่นิยมใช้กันแต่ไม่ใช้สินค้าแฟชั่นที่จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่นสินค้าเกี่ยวกับ IT และอินเตอร์เน็ต  บางทีก็เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของอายุประชากรของสังคมที่ “แก่ตัวลง” เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพ  หรือไม่ก็เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้นหรือราคาลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่ทำให้คนเข้ามาซื้อมากขึ้น  ตัวอย่างเช่น  การท่องเที่ยวเดินทางทางอากาศหรือการกินอาหารภัตตาคาร  เป็นต้น

หลังจากผ่านเกณฑ์ข้อแรก  เราก็ต้องมาดูว่าในอุตสาหกรรมดังกล่าวนั้น  มีหรือจะมี  “ผู้ชนะ”  หรือไม่  คำว่าผู้ชนะก็คือ  บริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงกว่าคู่แข่งระดับรองลงไปมาก  คร่าว ๆ  อาจจะมากกว่าเท่าตัว  เช่น  บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาด 30%  คู่แข่งอันดับรองลงไปมีแค่ 15% หรือต่ำกว่านั้น  และโดยทั่วไปแล้วบริษัทก็จะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดในอุตสาหกรรม  แต่ในบางอุตสาหกรรมนั้น  ก็อาจจะมีผู้ชนะมากกว่าหนึ่งราย  เช่น มีสองรายที่มีส่วนแบ่งการตลาดพอ ๆ  กันและทิ้งห่างอันดับสาม  มีอุตสาหกรรมน้อยมากที่มีผู้ชนะเกินสองราย  ดังนั้น  ซุปเปอร์สต็อกโดยปกติแล้วก็จะต้องไม่เป็นบริษัทหมายเลข 3  ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหมายเลข 1  และแน่นอนว่าในหลาย ๆ  อุตสาหกรรมนั้น  เราหาผู้ชนะไม่ได้เนื่องจากไม่มีบริษัทไหนที่ใหญ่กว่าคู่แข่งอันดับรองลงไปมาก ๆ  ตัวอย่างก็คือ  สถาบันการเงินทั้งหลายและบริษัททำบ้านจัดสรรที่ “ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร”

หลังจากเจอผู้ชนะแล้ว  สิ่งที่ต้องดูต่อไปก็คือบริษัทจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้  ข้อแรกก็คือ  บริษัทจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Durable Competitive Advantage หรือการได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน  นั่นก็คือ  บริษัทมีปัจจัยในการแข่งขันหรือการทำธุรกิจบางอย่างที่ทำให้ได้เปรียบคนอื่น  และปัจจัยนั้นคู่แข่งหรือคนอื่นไม่สามารถหามาได้หรือได้ก็ยากมาก  ปัจจัยที่ว่ามีหลายอย่างเช่น  หนึ่ง  บริษัทมียี่ห้อสินค้าที่โดดเด่นมากจนคนต้องการซื้อแม้ว่าจะมีราคาแพงมาก เป็น  “ซุปเปอร์แบรนด์” เช่น  ยี่ห้อแอร์เมส หลุยส์วิตตอง หรือ เฟอรารี่ เป็นต้น  หรือสอง บริษัทมีการผลิตที่สูงมากที่ทำให้ต้นทุนถูกกว่าคู่แข่งมากหรือเรียกว่ามี Economies of Scale สูงกว่าคู่แข่งมาก  หรือสาม  บริษัทมี “เครือข่าย”  ของผู้ใช้ที่ใหญ่กว่าคู่แข่งมาก  นี่คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ IT และอินเตอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น ไมโครซอฟท์ กูเกิล อูเบอร์ อะเมซอน เป็นต้น  หรือสี่  บริษัทที่มี  “ต้นทุนของการเลิกใช้บริการสูง”  เช่น ธุรกิจโรงพยาบาลที่ลูกค้ามักไม่อยากเปลี่ยนโรงพยาบาลเนื่องจาก “ติดหมอ” ที่รักษากันมานาน  หรือห้า  บริษัทที่เป็น  ผู้  “ผูกขาดโดยธรรมชาติ”  เช่น  สนามบินที่มักจะมีผู้ให้บริการรายเดียวในท้องถิ่น  หรือหก  บริษัทที่ควบคุมวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำเช่นในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้นและแร่ธาตุหายากเช่น ยูเรเนียม  และสุดท้าย บริษัทจะต้องไม่ถูกทำลายโดยเทคโนโลยีและ IT ได้ง่ายเช่นพวกหนังสือหรือ CD  เป็นต้น

หุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกนั้น  จะต้องอยู่ในช่วงที่เรียกว่า “Virtuous Cycle” คือเป็นช่วงที่บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อเวลาผ่านไป  อาจจะเนื่องจากบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้บริษัทมีต้นทุนที่ถูกลงและมีคุณภาพของสินค้าหรือบริการที่ดีขึ้นซึ่งก็จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอีก  เป็นวัฏจักรที่ดีขึ้นและดีขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้ชนะนั้นจะต้องมีผลประกอบการและฐานะทางการเงินที่ดี  โดยข้อแรก  จะต้องมีกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูงเกิน 15% ต่อปีขึ้นไป สอง  มีกำไรต่อยอดขายหรือ Profit Margin สูงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน  และสามที่น่าจะสำคัญอย่างยิ่งก็คือ  บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ทุกปีหรือเกือบทุกปีติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 6-7 ปีขึ้นไป ยิ่งยาวยิ่งดี ข้อสี่ บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดี  อาจจะเนื่องจากเวลาขายสินค้ามักจะได้เงินสดแต่เวลาซื้อสินค้าจ่ายเป็นเงินเชื่อ  ข้อห้า  บริษัทใช้เงินลงทุนต่ำในการขยายงานและบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ ซึ่งทั้งสองข้อหลังนี้ทำให้บริษัทมีเงินสดสูงซึ่งทำให้บริษัทสามารถจ่ายปันผลได้มาก

สุดท้ายก่อนที่จะเป็นซุปเปอร์สต็อกที่เราจะซื้อก็คือ  ราคาหุ้นจะต้องเหมาะสมหรือมีราคาถูก  ค่า PE จะต้องไม่เกิน 30 เท่าในกรณีที่เป็นหุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกโดยสมบูรณ์แล้ว  แต่ในกรณีของบริษัทที่กำลังจะเป็นซุปเปอร์สต็อกในด้านของการตลาดแต่ยังไม่มีกำไรเนื่องจากกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว  เราก็จะต้องดู Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นเทียบกับศักยภาพของตลาดในอนาคต  ดูว่ามูลค่าหุ้นนั้นไม่สูงเกินไปซึ่งกรณีนี้ก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ง่ายนัก

หลังจากที่ซื้อหุ้นซุปเปอร์สต็อกแล้ว  โดยปกติเราก็จะไม่ขายหุ้นนั้นง่าย ๆ  ไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง  เรามักจะไม่มีเป้าหมายราคาที่จะขายหรือเวลาที่จะถือหุ้น  ตราบใดที่มันยังเป็นซุปเปอร์สต็อกอยู่เราก็มักจะถือเอาไว้   อย่างไรก็ตาม  มีบางกรณีที่เราอาจจะขายหุ้นทิ้งเช่น  ข้อหนึ่ง หุ้นหมดสภาพความเป็นซุปเปอร์สต็อก  อาจจะเพราะมีคู่แข่งที่เหนือกว่าหรือใกล้เคียงที่เข้ามาในตลาดหรือบริษัททำผิดพลาดรุนแรงจนทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการย่ำแย่ลงมาก  สอง  ตลาดของสินค้าอาจจะเริ่มอิ่มตัว  การเติบโตในอนาคตจะช้ามากและอาจจะถดถอยซึ่งจะทำให้หุ้นกลายเป็นหุ้นแข็งแกร่งจ่ายปันผลดีแต่ไม่โต  สาม เราอาจจะไปเจอหุ้นซุปเปอร์สต็อกตัวใหม่ที่ดูแล้วมีคุณค่าเหนือราคามากกว่าตัวเดิมที่เราถืออยู่มากแต่เราไม่มีเงินสดที่จะลงทุน  เราจึงตัดสินใจขายตัวเก่าเพื่อที่จะลงทุนในตัวใหม่  และสี่ก็คือ  ในบางครั้งซึ่งมักไม่เกิดขึ้นบ่อยก็คือ  ราคาหุ้นซุปเปอร์สต็อกนั้นขึ้นไปสูงมากเกินพื้นฐานไปมาก  เช่น  ค่า PE สูงถึง 40-50 เท่า  อาจจะเนื่องจากภาวะตลาดหุ้นที่เป็น “ฟองสบู่”  หรือมีการเก็งกำไรในตัวหุ้นรุนแรง  ในกรณีแบบนี้เราก็อาจจะพิจารณาขายไป

และทั้งหมดนั้นก็คือ  Checklist ที่จะบอกและเตือนเราเกี่ยวกับการมองหา  ลงทุน  และการขายซุปเปอร์สต็อก  อย่างไรก็ตาม  การลงทุนนั้น  “ไม่มีกฎตายตัว”  ในทุกขั้นตอนเราต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามีอะไรที่อาจจะทำให้เราควรละเว้นกฎเกณฑ์เหล่านั้นหรือไม่ด้วย

Thursday, February 11, 2016

ถูกหรือแพง? / โดย คนขายของ


 ถ้ารถที่เรานั่งอยู่ขับด้วยความเร็ว 100 กม/ชม และรถที่อยู่ข้างหน้าเราขับด้วยความเร็ว120 กม/ชม เราจะรู้สึกว่ารถคันหน้าขับด้วยความเร็วแค่ 20 กม/ชม เท่านั้น บทเรียนนี้อยู่ในสมัยมัธยมปลาย ในหัวข้อเรื่อง “ความเร็วสัมพัทธ์” ในการลงทุนในหุ้นผมคิดว่า การที่จะบอกได้ว่าตอนนี้หุ้นส่วนใหญ่ ถูกหรือแพง เราอาจจะไม่สามารถบอกโดยดูข้อมูลจากหุ้นเพียงอย่างเดียว เราอาจจะต้องดูผลตอบแทน ที่ได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นเพื่อเปรียบเทียบก่อนการตัดสินใจ

                Warren Buffett ให้สัมภาษณ์ CNBC เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2015  ซึ่งขณะนั้นดัชนี Dow Jones อยู่ที่เกือบ All-Time-High ที่ 18,000 โดยได้กล่าวว่า  “ถ้าดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำแบบนี้ไปอีก 10 ปี ราคาหุ้นตอนนี้ถือว่าถูกมาก” จากบทสัมภาษณ์เราจะเห็นว่า Buffett ใช้ดอกเบี้ยเป็นตัวอ้างอิงที่จะ บอกว่าหุ้นนั้นถูกหรือแพง ซึ่งส่วนมากดอกเบี้ยที่ใช้ในการเปรียบเทียบในการลงทุนระยะยาว มักจะใช้ ดอกเบี้ยของพันธบัตร 10 ปีเป็นเกณฑ์ หลังจากการให้สัมภาษณ์ในครั้งนั้นราว 6 เดือน FED ก็ได้ ประกาศขึ้นดอกเบี้ย หุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง พร้อมราคาน้ำมันที่ถล่มลงมา เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ เลือกที่จะหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเช่น หุ้น หรือ สินค้าโภคภัณฑ์ จึงทำให้ความต้องการ ลงทุนในพันธบัตรมีสูงขึ้น กลายเป็นว่าหลังจาก FED ขึ้นดอกเบี้ย  ผลตอบแทน 10-Yr Bond Yield ของอเมริกาได้ปรับตัวลดลงจาก 2.3% ในวันที่ FED มีมติ ลงมาเหลือแค่ 1.87% ในอีก 45 วันต่อมา

                ในช่วงเดียวกันที่ผลตอบแทนของพันธบัตร 10 ปีปรับตัวลง ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลงด้วยเช่นกัน จนใน ปัจจุบัน อัตราเงินปันผลของหุ้นที่ใช้คำนวณดัชนี S&P 500 ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นของบริษัทที่มีความมั่นคง ในระดับสูง ขึ้นมาอยู่ที่ 2.31% ทำให้ผมเชื่อว่ามีนักลงทุนหลายท่านเริ่มให้ความสนใจในหุ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเรื่องที่เงินปันผลจากหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพันธบัตร 10 ปีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐ อเมริกาเพียงประเทศเดียว จากการศึกษาผลตอบแทนใน จีน, ญี่ปุ่น, เยอรมัน, อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่มี GDP ใหญ่เป็นอันดับ 2-6 ของโลก พบว่าอยู่ในสภาวะที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงกว่าดอกเบี้ยที่ได้จากพันธบัตร 10 ปีทั้งสิ้น โดย ญี่ปุ่นครองแชมป์ส่วนต่างมากที่สุด โดยเงินปันผล จะให้ผลตอบแทนมากกว่าพันธบัตรถึง 66 เท่า ตามมาด้วย เยอรมัน 8.6 เท่า

                หันมาดูข้อมูลของประเทศไทยกันบ้าง ตอนนี้พันธบัตร 10 ปีให้ดอกเบี้ยที่ 2.31% ในขณะที่ปันผลเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 3.26%  จากข้อมูลข้างต้นทำให้ผมรู้สึกว่า การลงทุนในหุ้นโดยภาพรวมนั้น ยังดูไม่แพงจนเกินไป เพราะยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพันธบัตรอยู่บ้าง แต่กระนั้นก็ตามตัวเลขสถิติเงินปันผลส่วนใหญ่เป็นตัวเลข 12 เดือนที่ผ่านมา อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต นักลงทุนควรใช้ ความระมัดระวังและพิจารณาเป็นรายตัวอีกที

                ในสภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผมเชื่อว่าการลงทุนในหุ้น ยังไม่ถึงกับหมดเสน่ห์ไปเสียเลยทีเดียว ทั้งนี้เพราะดอกเบี้ยซึ่งอยู่ในระดับต่ำ เป็นตัวผลักดันให้ผู้คนต้อง แสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า แต่กระนั้นก็มีอันตรายแฝงอยู่ด้วย เพราะหุ้นบางตัวอาจ ได้รับผลกระทบเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ทำให้กำไรอาจไม่ดีเหมือนแต่ก่อน ดังนั้น กลยุทธ์ในการลงทุนในช่วงนี้ สำหรับตัวผู้เขียนเอง จะไม่ค่อยเน้นหุ้นที่มีการเติบโตของกำไร (Growth Stocks) มากนัก แต่เน้นลงทุนในหุ้นที่กิจการมั่นคง กระแสเงินสดดี หนี้ไม่มากนัก และ คาดว่าน่าจะ ปันผลได้มากกว่าผลตอบแทนพันธบัตรได้อย่างสม่ำเสมอ

                แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีการกล่าวถึงวิกฤตเศรษฐกิจในระดับโลกมากขึ้น นักลงทุนต่างขวัญหนีดีฝ่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำมันราคาลดลงรุนแรง เศรษฐกิจจีนชะลอตัว เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจกลับไปถดถอย ทำให้หุ้นในหลายตลาดถูกเทขายลงมา หลายคนตอนนี้ไม่กล้าที่จะลงทุนอะไรเลย เก็บเงินสดไว้ใน ธนาคารอย่างเดียว จนอาจลืมไปว่าดอกเบี้ยในปัจจุบันนั้นต่ำขนาดไหน และ ยังมีผลตอบแทนอะไรอย่างอื่นที่อาจจะดีกว่าหรือไม่? ซึ่งถ้าเราศึกษาวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลก เราจะเห็นชัดเลยว่า การเก็บเงินสดไว้ในธนาคารนั้นไม่ได้ปลอดภัยจริงอย่างที่คิด เพราะในวิกฤต มักจะมีธนาคารบางแห่งล้มละลาย ในขณะที่กิจการบางอย่างที่จำเป็น ผู้คนต้องกิจต้องใช้ กลับผ่านวิกฤตมาได้สบาย และกลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิมอีกด้วยซ้ำ

Monday, February 8, 2016

สามคำสามปี โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากุล


วิธีการลงทุนที่ผมคิดว่าง่ายและปลอดภัยพอสมควรและได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีในระยะยาวก็คือ  การลงทุนใน “ซุปเปอร์สต็อก” คือซื้อหุ้นของบริษัทที่  “ดีเยี่ยม”  ในด้านของการตลาด  เช่น  เป็นบริษัทที่ขายสินค้าได้มากเป็นอันดับหนึ่งและมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าคู่แข่งอันดับรองลงมาเป็นเท่าตัว  หรือมีสินค้าที่เป็นที่นิยมของผู้ใช้มากกว่าคู่แข่งมากจนทำให้ลูกค้ายินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นพอสมควรเพื่อใช้สินค้าของบริษัท  หรือเป็นบริษัทที่ยังไงผู้บริโภคหรือลูกค้าก็ต้องใช้เนื่องจากเป็นกิจการที่ “ผูกขาด” ธุรกิจในพื้นที่นั้น  เป็นต้น  ในด้านของการเงินเองนั้น  บริษัทก็มีฐานะและผลประกอบการที่ดีมาก  มีกำไร  “งดงาม” เมื่อเทียบกับคู่แข่งและเงินลงทุนของตนเอง มีงบการเงินที่  “แข็งแกร่ง”  เนื่องจากธุรกิจนั้นสร้างกระแสเงินสดได้ดีและไม่ต้องลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์มาก  และสุดท้าย  เราสามารถซื้อหุ้นในราคาที่ถูกหรือ  “ไม่แพง” คิดจากค่า PE และ PB ที่ไม่สูงเกินไป  และ ปันผลตอบแทนที่ไม่ต่ำเกินไป  หรือในกรณีของบริษัทที่ยังไม่ค่อยมีกำไรเนื่องจากกำลังขยายตัวเราก็จะต้องดูเรื่องของ Market  Cap. ที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับศักยภาพของบริษัทในอนาคต

หลังจากที่ซื้อหุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกแล้ว  โดยปกติเราก็ไม่ต้องทำอะไรมาก  สิ่งที่ต้องทำก็คือ  ติดตามดูสถานะของบริษัทไปเรื่อย ๆ  ว่ามันยังเป็นบริษัทที่ดีเยี่ยมอยู่หรือเปล่า  คู่แข่งเข้ามาแย่งชิงลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน  ถ้าพบว่าบริษัทเริ่มจะ  “เพลี่ยงพล้ำ”  และไม่มีท่าทีว่าจะแก้ไขได้  หรือมีการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม เช่น มีเทคโนโลยีใหม่หรือรูปแบบการทำธุรกิจใหม่เข้ามาแข่งกับธุรกิจเดิม แบบนี้เราก็อาจจะต้องขายหุ้นทิ้ง  แต่ถ้าไม่ใช่  เราก็ไม่ต้องทำอะไร  ไม่ต้องสนใจว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงยกเว้นว่าหุ้นจะขึ้นไปมากจนค่า PE อาจจะขึ้นไปถึง 50-60 เท่า ถ้าเป็นแบบนั้นเราก็อาจจะพิจารณาขายหุ้นทิ้งเพราะมันอาจจะแพงเกินไปจริง ๆ อาจจะเนื่องจากเหตุผลพิเศษเช่นตลาดหุ้นกลายเป็นกระทิงหรือมีการเก็งกำไรในหุ้นที่รุนแรงเกินไป  ส่วนในกรณีที่หุ้นตกลงมานั้น  เรามักจะไม่ขายซุปเปอร์สต็อกเลย

หลายคนบอกว่าตนเองนั้นอยากลงทุนในซุปเปอร์สต็อกเหมือนกันแต่ไม่รู้ว่าหุ้นตัวไหนเป็นซุปเปอร์สต็อกจริง ๆ   หรือรู้ว่าน่าจะเป็นซุปเปอร์สต็อกแต่ก็ไม่รู้ว่ามันแพงเกินไปหรือเปล่า  นอกจากนั้น  บางคนถือหุ้นที่น่าจะเป็นซุปเปอร์สต็อกแต่ก็ไม่รู้ว่าจะขายเมื่อไร  บ่อยครั้งก็รีบขายเกินไป  บ่อยครั้งก็ถือยาวเกินไป  สุดท้ายก็พลาดที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีใน “ระยะยาว”  ซึ่งก็ไม่รู้ว่ายาวแค่ไหน  ความไม่เข้าใจหรือความสับสนต่าง ๆ  เหล่านี้มักทำให้การลงทุนในซุปเปอร์สต็อกของหลายคนนั้น  ทำไม่ได้!  และนั่นทำให้หลักการและวิธีการลงทุนง่าย ๆ  แบบนี้กลายเป็นของยาก  เพราะเหตุว่าคนส่วนใหญ่  “ทำใจไม่ได้” เวลาที่เห็นราคาหุ้นขึ้นลงผันผวนรุนแรงทุกวัน ทุกเดือน และทุกปี

วิธีที่จะ “เอาชนะ” จิตวิทยาของเราเองนั้น  ผมคิดว่าเราควรที่จะท่องคำว่า  “สามคำสามปี”  ไว้ในใจตลอดเวลา  สามคำที่ว่าก็คือ  “รายได้เพิ่ม  กำไรเพิ่ม  ปันผลเพิ่ม”  นั่นก็คือ  เราต้องคิด  วิเคราะห์  และมั่นใจว่ากิจการหรือบริษัทนั้นจะมีรายได้ในปีปัจจุบันเพิ่มขึ้น  คำว่ามั่นใจนั้นแปลว่าโอกาสที่รายได้จะเพิ่มขึ้นนั้นสูงมาก  อย่างน้อยอาจจะ 80% ขึ้นไป  โอกาสที่รายได้จะไม่เพิ่มขึ้นนั้นน้อยมากไม่ถึง 20%  การวิเคราะห์ของเราจะต้องไม่ลำเอียงและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน  อย่าไปเชื่อการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่มักจะลำเอียงในทางที่รายได้สูงกว่าความเป็นจริงและมักไม่พูดถึงโอกาสความเป็นไปได้  พวกเขามักจะวิเคราะห์อย่างมั่นใจแต่ก็จะมีอักษรตัวเล็ก ๆ  กำกับไว้ตอนท้ายของบทวิเคราะห์ว่า  ที่พูดมาทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่….  ซึ่งทำให้การคาดการณ์ต่าง ๆ  ที่กล่าวมานั้น  ไม่ผิด!  ในตอนที่พูด  แต่อาจจะผิดจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายหลัง  แต่เมื่อถึงเวลานั้น  ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้วสำหรับคนที่เชื่อบทวิเคราะห์ซื้อหรือขายหุ้น

คำต่อมาก็คือ  กำไรเพิ่ม  นี่ก็เช่นเดียวกัน  เราต้องมีเหตุผลประกอบอย่างชัดเจนและโอกาสที่จะเป็นอย่างนั้นก็ต้องสูงเป็น 80% ขึ้นไป  โอกาสที่กำไรจะลดลงนั้นน้อยมาก    พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ  เรามีความมั่นใจมากว่าเมื่อยอดขายเพิ่มขึ้น  ยอดขายนั้นจะก่อให้เกิดกำไรมากขึ้นเนื่องจากบริษัทจะสามารถรักษา Profit Margin หรือกำไรต่อยอดขายเท่ากับปีก่อนหรือสูงขึ้นอย่างแน่นอน  ไม่ใช่ยอดขายเพิ่มขึ้นแต่กำไรต่อยอดขายลดลง  ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นเราก็อาจจะไม่มีกำไรเพิ่ม   การรักษากำไรต่อยอดขายไว้ได้นั้น  เหตุผลต้องชัดเจนและมีโอกาสเกิดขึ้นสูง  เช่น  สินค้าของเรานั้นสามารถตั้งราคาได้เองไม่ใช่เป็นราคาตลาดโลกที่เราควบคุมไม่ได้เป็นต้น

คำที่สามก็คือ  ปันผลเพิ่มขึ้น  นี่ก็ต่อมาจากคำแรกและคำที่สองที่ว่ารายได้เพิ่มขึ้น  และกำไรเพิ่มขึ้น  ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นอย่างนั้นและบริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี  อาจจะเนื่องจากว่าบริษัทขายสินค้าส่วนใหญ่เป็นเงินสดแต่มักซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อ  หรือบริษัทไม่ต้องลงทุนในการซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์มากมายในการทำงานหรือขยายงาน   การจ่ายปันผลก็ควรที่จะเพิ่มขึ้น  ถ้าบริษัทไม่จ่ายปันผลเพิ่มทั้ง ๆ  ที่มีกำไรเพิ่ม  เราก็ต้องดูเหตุผลว่าเพราะอะไร  บางครั้งบริษัทอาจจะจ่ายปันผลเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับของเดิมมากเนื่องจากกำไรที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่มาก  แบบนี้เราก็อาจจะ  “พอทน”  ยอมรับได้

คำทั้งสามที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น  ผมต้องขอเพิ่มเงื่อนไขอีกหนึ่งข้อเพื่อไม่ให้เราหลงผิดคิดว่าบริษัทเข้าเกณฑ์หมด  เงื่อนไขที่ว่าก็คือ  รายได้  กำไร และปันผลที่เพิ่มขึ้นนั้น  จะต้องเป็นรายได้  กำไร  และปันผล “ปกติ”  จากการดำเนินงานตาม “ปกติ”  ไม่ใช่รายได้พิเศษ  กำไรพิเศษ  และปันผลพิเศษหรือปันผลเป็นหุ้น ที่  “เกิดขึ้นครั้งเดียว”  เช่น  จากการขายที่หรือขายทรัพย์สินอื่นรวมถึงการขายทรัพย์สินเข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นบ่อย   ในกรณีดังกล่าวนั้น  เราต้องตัดรายการพิเศษออกและคำนวณดูว่า  รายได้  กำไร  และปันผลที่มาจากการดำเนินงานปกติของบริษัทเป็นอย่างไร

เมื่อเราพบว่า  รายได้  กำไร และปันผลของบริษัทเพิ่มขึ้นหรือคาดว่าเพิ่มขึ้นแน่ด้วยความเป็นไปได้ถึง 80% ขึ้นไปในปีปัจจุบันแล้ว  สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือ  เราต้องวิเคราะห์และคาดการณ์ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้าว่า  บริษัทจะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ในอีกอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า  นี่ก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน  ถามตัวเองว่าอีก 3 ปี กิจการจะโตขึ้นไหมเพราะอะไร  ใครเป็นคู่แข่งและจะมีคู่แข่งใหม่ที่น่ากลัวไหม  เทคโนโลยีใหม่จะเข้ามาแย่งลูกค้าจากเราไหม  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้จะต้องถูกนำมาคิดอย่างไม่ลำเอียง  โอกาสที่เราจะพลาดสูงแค่ไหน  ถ้าคำตอบก็คือ  มีโอกาส 50-50 ที่ยอดขายเราอาจจะไม่เพิ่มขึ้น 3 ปีหลังจากนี้เนื่องจากเหตุผลอะไรก็ตาม  นั่นก็แสดงว่า  เราไม่ผ่านเกณฑ์ 3 ปี  ผมเองคิดว่าถ้าจะให้ผ่านเกณฑ์นี้  โอกาสความเป็นไปได้ควรจะเป็นอย่างน้อย 70-75% ขึ้นไป  ซึ่งนั่นหมายความว่าเรามีความมั่นใจสูงที่ รายได้  กำไร  และปันผลใน 3 ปีข้างหน้านั้นจะเพิ่มขึ้น  เราต้องมั่นใจว่าธุรกิจของบริษัทนั้นจะยังเติบโต  ไม่มีใครมาทำอะไรมันได้  และ ไม่เปลี่ยน  ในอีกอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า

ถ้าเราถือหุ้นที่เข้าเกณฑ์  “สามคำสามปี”  ดังที่กล่าว  เราก็มักไม่ต้องทำอะไร  บางทีไม่ต้องไปคิดด้วยว่าตกลงมันเป็นซุปเปอร์สต็อกจริง ๆ  หรือเปล่า  สิ่งที่ต้องทำก็คือ  คอยติดตาม  ทบทวนและวิเคราะห์กิจการไปเรื่อย ๆ  โดยเฉพาะตอนสิ้นปี  ถ้าผลออกมาบริษัททำได้คือ  มีรายได้เพิ่ม  กำไรเพิ่มและจ่ายปันผลเพิ่ม  เราก็สรุปว่ามันเป็นอย่างที่คาดไว้ในตอนต้นปี  แต่หลังจากนั้นเราก็ต้องวิเคราะห์และคาดการณ์ต่อไปข้างหน้าอีก 3 ปี   ถ้าคำตอบก็เป็นอย่างเดิม  นั่นก็คือ  บริษัทก็จะยังมีรายได้  กำไร  และปันผลเพิ่ม  เราก็จะยังคงถือหุ้นไว้  แต่ถ้าไม่ใช่  เราก็อาจจะต้องทำอะไรบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับเกณฑ์นี้

Friday, February 5, 2016

ปรับตัวรับเศรษฐกิจยุคใหม่ /โดยคุณวีระพงษ์ ธัม

   
ในปี 1990 สามบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของเมืองดีทรอยต์ เมืองที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งของยุคอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกา มีขนาดตลาดหรือ Market Capitalization 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีรายได้รวม 250,000 ล้านเหรียญ และมีพนักงาน 1.2 ล้านคน ในขณะที่ปี 2014 สามบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในซิลิคอนวัลเลย์ สัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งของ “เศรษฐกิจยุคใหม่” ยุคดิจิตอลในสหรัฐอเมริกา มี Market Capitalization 1.09 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีรายได้เกือบเท่า ๆ กันคือ 247,000 ล้านเหรียญ และที่น่าสนใจคือมีพนักงานเพียงแค่ 137,000 คน หรือน้อยกว่าเศรษฐกิจยุคเดิมเกือบ 10 เท่า

            อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Walmart บริษัทที่เคยเป็นอันดับหนึ่งหลายปีใน Fortune 500 มีพนักงาน 2.2 ล้านคน ในขณะเดียวกันธุรกิจในเศรษฐกิจยุคใหม่อย่าง e-commerce อย่างบริษัท Alibaba มีพนักงานแค่ 35,000 คน มีขนาดตลาดใกล้เคียงกับ Walmart และยังมีการเติบโตของรายได้ปีล่าสุดสูงกว่า Walmart เป็นสิบ ๆ เท่า

            ทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์ในการผลิตบอกว่า เราจะมีความถดถอยทางผลตอบแทน ( Diminishing return ) เมื่อเราเพิ่มกำลังการผลิตถึงจุด ๆ หนึ่ง เพราะเราอาจจะต้องเพิ่มคนงาน ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับคนงาน เราต้องมีความยุ่งยากในการจัดการเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่เงื่อนไขสำหรับธุรกิจ Digital ที่ต้นทุนส่วนเพิ่มที่เพิ่มขึ้นแทบจะเป็นศูนย์

            บทความใน Techcrunch อุปมายุคเศรษฐกิจ Digital ว่า Uber เป็นบริษัท Taxi ที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่มีรถแม้แต่คันเดียว Facebook สื่อกลางที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลก ไม่เคยสร้าง Content เองเลย Alibaba บริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุด ไม่มีสินค้าคงคลังของตัวเอง Airbnb บริษัทที่พักที่ใหญ่ที่สุด ไม่มีห้องของตัวเองเลย นี่คงเป็นเหตุผลที่ถนนทุกสายมุ่งหน้าสู่เศรษฐกิจ Digital คำว่า “Startup” เฟื่องฟู ธุรกิจ Platform เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด และมี Valuation ที่สูงเสียดฟ้า เศรษฐกิจยุคใหม่ไม่ได้มีเพียงแค่ Digital แต่เทคโนโลยีที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ก็มีอนาคตที่ “ใหญ่มาก” เช่น พาหนะขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ทั้งรถยนต์ โดรน เครื่องบิน เรือ หรือเทคโนโลยี 3D Printing ที่สามารถพิมพ์สิ่งที่มหัศจรรย์ได้มากขึ้นทุกที อนาคตเราอาจจะต้องกินอาหารที่ออกมาจากปริ้นเตอร์ตัวเอง ใส่เสื้อที่พิมพ์ออกมาจากปริ้นเตอร์ รวมไปถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ที่เข้ามาช่วยงานมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ จากที่เราเคยเห็นแต่ในโรงงานผลิต อนาคตมนุษย์อาจจะแต่งงานกับหุ่นยนต์ หรือพวกวัสดุศาสตร์ที่เบา แข็งแรง และทำหน้าที่ได้อย่างมหัศจรรย์ นาโนเทคโนโลยี ก็ไปไกลมากเช่นเดียวกัน

            ก่อนที่จะจะมาคุยต่อในเรื่องแนวคิดเหล่านี้ ที่จะส่งผลกับภาพการลงทุนในอนาคต เราต้องมองเห็นจุดอ่อนเรื่อง “ความเชื่อ” ของมนุษย์ก่อน ตัวอย่างหนึ่งคือข่าวใหญ่ในวงการดาราศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา ที่นักวิทยาศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ( Caltech ) พบข้อสมมุติฐานว่าอาจจะมีดาวเคราะห์ดวงใหม่ในระบบสุริยะที่ซ่อนอยู่ด้วยวงโคจรที่ไกลมาก

            ดาราศาสตร์เป็นหนึ่งในวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ที่ใช้เวลานานกว่าจะพิสูจน์อะไรได้อย่างหนึ่ง เช่นมนุษย์ใช้เวลาหลายพันปี กว่าที่โคเปอร์นิคัสจะค้นพบสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อหลักในยุคนั้น เขาพบว่า “พระอาทิตย์” ต่างหากคือจุดศูนย์กลางของ “ระบบสุริยะ” และนี่เป็นส่วนสำคัญของการปฏิวัติ “วิทยาศาสตร์” และฟื้นฟูศิลปวิทยาในยุโรป

            เมื่อมีหลักฐานใหม่ ความคิดเชื่อเดิม ๆ ก็จะถูกลบล้างไป สิ่งนี้เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ สิ่งที่เราเคยรู้อาจจะ “ล้าสมัย” ข้อมูลที่เรามีส่วนมากมักไม่ได้เป็น Fact หรือข้อเท็จจริง แต่มันเป็นแค่ Truth หรือสิ่งที่เป็นความจริง ณ ขณะหนึ่ง ๆ เท่านั้น

            ผมพบตัวอย่างที่ใกล้ตัวขึ้นอย่าง “การเลี้ยงลูก” นั้นก็เคยมีความเชื่อแบบที่เราไม่คุ้นเคยเลย เช่น “ความรักต่อลูก” หรือ “การให้เวลาลูก” เป็นสิ่งที่ “ไม่จำเป็น” แค่เราให้อาหารที่เหมาะสม ให้ที่อยู่อาศัย ก็สามารถให้ลูกโตขึ้นมาอย่างดีได้ ไม่น่าเชื่อว่าความเชื่อนี้ถูกเขียนโดยศาสตราจารย์เด็กอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ในหนังสือเลี้ยงเด็กที่ดีที่สุดเมื่อร้อยปีที่ผ่านมานี่เอง หลังจากนั้นก็มีการทดลองมากมาย จึงพบว่าความเชื่อนั้นผิด และเป็นที่มาของวิธีการเลี้ยงลูกในโลกยุคปัจจุบัน (ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาพิสูจน์ต่อว่าถูกต้องหรือไม่)

            โลกในยุคต่อไป จึงเป็นเรื่องของการพิสูจน์ความเชื่อเดิม ๆ ว่าสิ่งไหนถูกผิด อะไรจะเกิดขึ้น ช้าหรือเร็ว เรื่องราวเหล่านี้จะนำไปสู่แนวคิดอะไรใหม่ ๆ และเราต้องปรับตัวอย่างไร วิธีการลงทุนเดิม ๆ จะได้ผลหรือไม่ ธุรกิจไหนเป็นอนาคต วางแผนชีวิตอนาคตอย่างไรดีเพื่อเตรียมตัวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ติดตามได้ในตอนถัดไปครับ

Wednesday, February 3, 2016

โคมไฟสามดวง โดย ดร.นิเวศน์


กฎแห่งความมั่งคั่งต่อไปนี้ถ้าคนรู้และปฏิบัติตามเขาก็จะต้องร่ำรวยหรือมั่งคั่งขึ้น  การที่จะร่ำรวยเท่าไรนั้น  ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้เองทั้งหมด  บางคนไม่ต้องทำอะไรก็ร่ำรวยได้  บางคนทำแทบตายก็ไม่รวย  เพราะความร่ำรวยนั้นขึ้นอยู่กับ  “ดวง”  เช่นเดียวกับความสามารถและความพยายามของเจ้าตัว  สองอย่างนี้เกื้อกูลกัน  ถ้าอาศัยดวงหรือ “โชค” อย่างเดียว  โอกาสรวยก็ยาก  เช่นเดียวกัน  คนที่มีแต่ความสามารถและความพยายามเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่มี  “โชค” เลยนั้น  บางทีก็รวยได้ยาก  คนที่จะรวยได้มาก ๆ  นั้น  ส่วนใหญ่ก็น่าจะต้องมีทั้งโชคและความสามารถและความพยายาม  คำว่า “โชค”  ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าโชคดีถูกลอตเตอรี่เพียงอย่างเดียว  แต่รวมถึงโชคดีที่เกิดมารวย  โชคดีที่เกิดมาฉลาด  หรือโชคดีที่เกิดที่อเมริกา  หรือแม้แต่โชคดีที่เกิดมามียีนส์แข็งแรงทำให้อายุยืน  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ถือเป็นโชคดีทั้งสิ้นเพราะเราไม่ได้ทำหรือไม่ต้องทำ  มัน “บังเอิญ”  เกิดขึ้น

จินตนาการว่าทุกคนต่างก็มีโคมไฟวิเศษ 3 ดวงและเจ้าของเปิดไฟเพื่อให้เกิดแสงสว่าง  ความสว่างที่เกิดจากไฟสามดวงรวมกันนั้นยิ่งสุกใสเท่าไร  เจ้าของก็ยิ่งรวยเท่านั้น  นี่คือกฎ

ความสว่างสุกใสของโคมไฟแต่ละดวงนั้นขึ้นอยู่กับ 2 สิ่งนั่นคือ  หนึ่งคือ “โชค”  และสองคือการ  “ปรับ” โคมไฟของเจ้าของ  ในการปรับโคมไฟนั้น  บางครั้งเราก็ต้องอาศัย “ความพยายาม” อย่างมาก  แต่บางทีเราก็ต้องอาศัย “กลยุทธ์”  ที่ดี  ดังนั้น  โดยพื้นฐานแล้ว  โคมไฟทั้ง 3 ดวงเป็นโคมไฟที่  “กึ่งปรับแสงได้”  ความหมายก็คือ  ความสว่างของแต่ละดวงนั้นเริ่มต้นไม่เท่ากันแต่ก็สามารถปรับได้ในระดับหนึ่ง

เริ่มที่โคมดวงที่ 1  นี่คือเงินทุนเริ่มต้น  เงินนี้มีที่มาจาก 2 แหล่ง  แหล่งแรกก็คือเงินมรดกหรือเงินที่มีคนให้มาเป็นของขวัญ  ใครที่ได้เงินจากแหล่งนี้มาก  ความสุกสว่างของโคมก็มาก  เงินจากแหล่งนี้โดยปกติเราได้มาเพราะโชค  เช่น เราเกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยหรือเราถูกล็อตเตอรีรางวัลที่ 1 เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม  มีคนไม่มากที่โชคดี  ดังนั้นถ้าเราโชคไม่ดีก็ไม่ต้องเสียใจ  เพราะเงินจากแหล่งที่ 2 ก็คือเงินที่เราทำมาหาได้และเก็บออมไว้  เงินจากแหล่งนี้มีความสำคัญมาก  และถ้าเราเก็บออมได้มากเท่าไร  โคมไฟก็สุกสว่างขึ้นเท่านั้น

วิธีการปรับโคมไฟดวงแรกก็คือ  เราอาจจะพยายามแต่งงานกับคนรวย  วิธีนี้สะดวกมากที่จะทำให้โคมไฟสุกสว่างแต่สำหรับหลายคนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  ไม่ต้องพูดถึงคนที่แต่งงานไปแล้ว  อีกวิธีหนึ่งก็คือการทำงานหนัก  ทำงานฉลาดและเก็บออมให้มาก  กฎง่าย ๆ  อย่างหนึ่งก็คือ  ต้องเก็บออมอย่างน้อย 15% ของรายได้ทั้งหมด  ซึ่งจะทำให้เราอย่างน้อยก็สามารถเกษียณอย่างไม่ลำบาก  ยิ่งเก็บมาก  ไฟก็สว่างขึ้น

โคมไฟดวงที่สอง  นี่คือผลตอบแทนเงินต้นหรือเงินลงทุนของเรา  ยิ่งผลตอบแทนสูง  แสงไฟก็สุกสว่างขึ้น  แต่เรื่องนี้เราต้องมีกลยุทธ์และการดำเนินการที่ดี  ซึ่งก่อนที่จะทำ  เราต้องรู้ว่าทรัพย์สินแต่ละอย่างนั้นในระยะยาว 10-20 ปีแล้วมันจะให้ผลตอบแทนเท่าไรต่อปี   ตามประวัติศาสตร์แล้ว  ทองให้ผลตอบแทนที่ต่ำที่สุด  ให้ผลตอบแทนเพียงปีละ 2-3%  เช่นเดียวกับเงินฝากธนาคารที่ให้ผลตอบแทนพอ ๆ  กับอัตราเงินเฟ้อระยะยาวเท่านั้น  พันธบัตรและหุ้นกู้ให้ผลตอบแทนปีละประมาณ 4-5%  กองทุนรีทที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้ผลตอบแทนปีละประมาณ 7-8%  และหุ้นให้ผลตอบแทนสูงสุดประมาณ 10% ต่อปีแบบทบต้น  แต่ถ้าเราลงทุนแบบ VI เราอาจจะได้ผลตอบแทน 12-20% ขึ้นอยู่กับความสามารถของเรา

การปรับโคมดวงที่สองนั้นมีหลากหลายวิธี  วิธีแรกคือ  นำเงินทั้งหมดฝากในธนาคาร  นี่เป็นกลยุทธ์ของคนที่ไม่รู้เรื่องการเงินอย่างสิ้นเชิง  เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้แสงไฟริบหรี่ที่สุด  วิธีที่สองก็คือ  เราลงทุนโดยใช้หลักบริหารการเงินส่วนบุคคลสมัยใหม่ที่ลงทุนบางส่วนในหุ้น  บางส่วนในพันธบัตร  และบางส่วนเก็บเป็นเงินสด เช่น  เราเอา 80 ลบอายุของเราได้เท่าไรก็นำตัวเลขนี้มาเป็นเปอร์เซ็นต์ของเงินที่เราจะลงทุนในหุ้น  จากนั้น  เราก็กันเงินสดออกมา 5-10%  ที่เหลือก็เอาไปลงในพันธบัตร  เป็นต้น  วิธีนี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่ให้แสงที่สุกสว่างปานกลางและเหมาะกับคนทั่ว  ๆ  ไปที่ไม่ต้องการความเสี่ยงสูงแต่ต้องการผลตอบแทนที่ดีพอสมควร  วิธีที่สามก็คือ  การลงทุนเงินทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ในกองทุนหุ้นที่อิงดัชนีตลาด  วิธีนี้เราจะได้ผลตอบแทนปีละประมาณ 8-10% แบบทบต้น ซึ่งทำให้มันเป็นกลยุทธ์ที่ให้แสงที่สุกสว่าง  ในระยะสั้นอาจจะดูว่ามันเสี่ยงเพราะดัชนีหุ้นขึ้นลงรุนแรงปีต่อปี  แต่ในระยะยาวแล้ว  ความเสี่ยงกลับต่ำและผลตอบแทนสูง

วิธีที่สี่คือการลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์โดยใช้หลักการ VI และเน้นการลงทุนในหุ้นน้อยตัว อาจจะ 5-10 ตัวหลัก ๆ เฉพาะที่เป็นซุปเปอร์สต็อก  นี่เป็นกลยุทธ์ที่ผมใช้ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา  แต่กลยุทธ์นี้เหมาะสมเฉพาะกับคนที่เป็น VI ที่มุ่งมั่น  และถ้าโชคดี  เราก็อาจจะรวยได้ในระยะยาว  และนี่ก็คือกลยุทธ์ที่จะปรับแสงไฟให้สุกสว่างมาก    วิธีสุดท้ายก็คือการใช้หลักการลงทุนแบบ VI ที่เน้นเก็งกำไรและลงทุนในหุ้นน้อยตัวเช่น 2-3 ตัวในแต่ละช่วงเวลา  โดยที่ลงทุนด้วยเงินร้อยเปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้นโดยการใช้มาร์จิน   ส่วนหุ้นที่เล่นนั้นเป็นหุ้นตัวเล็กและเป็นหุ้นเก็งกำไรสูง  นี่คือกลยุทธ์ที่ปรับแสงไฟให้สุกสว่างสุดยอด  แต่มันอาจจะเหมาะสมเฉพาะกับ VI ที่ยังมีอายุไม่มากสามารถรับความเสี่ยงสูงได้ คนที่ใช้กลยุทธ์นี้อาจจะสามารถร่ำรวยได้อย่างรวดเร็วถ้าสถานการณ์เอื้ออำนวย  อย่างไรก็ตาม  มันเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงสูงมาก    เพราะหลอดไฟอาจจะ  “ระเบิด”  แทนที่จะรวยอย่างรวดเร็ว  ก็อาจจะหมดตัวได้

โคมไฟดวงที่สามคือ  ระยะเวลาของการลงทุน  ยิ่งมีเวลาลงทุนยาว  ไฟก็ยิ่งสุกสว่าง  และก็เช่นเดียวกับโคมไฟดวงอื่น  มันขึ้นอยู่กับโชคด้วย  เพราะบางคนอาจจะเกิดมาสุขภาพดีอายุยืนเพราะยีนส์ของตนเอง  ซึ่งทำให้มีเวลาลงทุนยาวกว่าคนอื่น  อย่างไรก็ตาม  เราอาจจะสามารถปรับให้ไฟดวงนี้สุกสว่างขึ้นได้หลายวิธีเช่น  เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุน้อยจะได้มีเวลาลงทุนยาวขึ้น  เราต้องลงทุนอยู่ตลอดเวลาไม่หนีออกจากตลาดไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง  และสุดท้าย  เราต้องรักษาสุขภาพโดยการกินอาหารที่ดีและออกกำลังกายสม่ำเสมอซึ่งจะทำให้เราอายุยืนขึ้น  มีเวลาลงทุนยาวขึ้น

คนที่มีโคมไฟวิเศษทั้ง 3 ดวงสุกสว่างมาก  เขาต้องรวยอย่างแน่นอน  ส่วนคนที่โคมไฟทั้งหมดริบหรี่  เขาไม่มีทางรวย  วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น  มีโคมดวงแรกสว่างปานกลางคือมีเงินลงทุนเริ่มแรกประมาณ 1 ล้านเหรียญ  แต่โคมดวงที่สองนั้นเจิดจรัสมาก  คือได้ผลตอบแทนทบต้นต่อปีถึงปีละ 20%  และที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ  โคมดวงที่สามของเขานั้นยิ่งสุกสว่างคือ  เขาลงทุนต่อเนื่องกันถึง 60 ปี  นั่นทำให้เงินเพียง 1 ล้านเหรียญของเขากลายเป็น 60,000 ล้านเหรียญ   เช่นเดียวกัน แอนน์ ไชเบอร์ นั้น  มีโคมไฟดวงแรกที่ริบหรี่เพียง 5,000 ดอลลาร์  แต่โคมไฟดวงที่สองสุกสว่างมากคือทำผลตอบแทนได้ปีละ 18% แบบทบต้น น้อยกว่าบัฟเฟตต์เพียงปีละ 2%  เช่นเดียวกับโคมไฟดวงที่สามที่มีเวลาลงทุนถึง 50 ปี ทั้งที่เธอเริ่มลงทุนเมื่ออายุ 51 ปี นั่นทำให้เงินเพียง 5,000 กลายเป็น 22 ล้านเหรียญ

นักลงทุน “ธรรมดา”  ที่มีความมุ่งมั่นสูงนั้นสามารถที่จะเพิ่มความสุกสว่างของโคมไฟแต่ละดวง  ถ้าเขาสามารถเก็บออมเงินในชีวิตของเขาได้ 5 ล้านบาทซึ่งผมคิดว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรง  นำมาลงทุนทั้งหมดในกองทุนรวมหุ้นอิงดัชนีได้ผลตอบแทนปีละ 10% ซึ่งผมคิดว่าคงได้ไม่ยาก  และลงทุนเป็นเวลา 50 ปี ซึ่งผมคิดว่าไม่ยากถ้าอายุเขาอยู่ในช่วง 30-40 ปี  ในวันที่เขาเลิกลงทุนนั้น  เขาจะมีเงินเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่าคือมีเงิน 500 ล้านบาท  และนั่นเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงไม่ใช่ความฝัน  ทั้งหมดนั้นอาศัยวินัยและความมุ่งมั่น  แต่ถ้าเขามีความสามารถลงทุนแบบ VI และได้ผลตอบแทนถึงปีละ 15% แบบทบต้น  เงินจะเพิ่มขึ้นถึง 1,000 เท่า  ก่อนตายมีเงินถึง 5,000 ล้านบาท  และนี่ก็คืออิทธิพลของโคมไฟวิเศษที่เราจะต้องตระหนักและคอยปรับแสงของมันตลอดเวลาเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งของเราโดยที่ไม่เสี่ยงเกินไป