Monday, July 21, 2014

แรงจูงใจกับการลงทุน



    คนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น  หุ้น  และการลงทุนนั้นมีมากมาย  แต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มนั้นต่างก็มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน  พวกเขาอยากที่จะเห็นตลาด  หุ้น  และการลงทุนมีทิศทางที่สอดคล้องตรงกับผลประโยชน์ของตนเอง  พวกเขาจะทำสิ่งต่าง ๆ   ที่จะเอื้ออำนวยกับสิ่งที่ตนต้องการให้เป็น  ซึ่งก็รวมถึงการพูดโน้มน้าวจิตใจคนอื่นและสาธารณชนให้เห็นคล้อยตามคำพูดของเขา  ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของเราที่เป็นนักลงทุนแบบ VI   ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

            เริ่มตั้งแต่โบรกเกอร์ที่ผลประโยชน์หลักอยู่ที่ค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหุ้นนั้น  สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นก็คือการซื้อขายหุ้นของลูกค้าบ่อย ๆ   ดังนั้นพวกเขาก็มักจะออกบทวิเคราะห์หุ้นที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นสูงและเป็นหุ้นที่มีความผันผวนของราคาสูงเนื่องจากความไม่แน่นอนของตัวกิจการ  นอกจากนี้เจ้าหน้าที่การตลาดก็มักจะให้คำแนะนำให้ลูกค้าซื้อขายบ่อย ๆ  เวลาหุ้นขึ้นและลงแรงในช่วงเวลาสั้น ๆ    และสำหรับลูกค้ารายใหญ่หรือไม่ใหญ่มากแต่ซื้อขายหุ้นแบบเทรดเดอร์ที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงมากก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ  พวกเขาไม่ชอบและจะไม่แนะนำให้ลูกค้าลงทุนถือหุ้นระยะยาวแม้ว่าหุ้นจะเป็นกิจการที่ดีมากและเหมาะสมกับการลงทุนระยะยาว  และถ้าลูกค้าถือหุ้นดังกล่าวไว้บางครั้งเขาก็แนะนำว่าควร  “ขายไปก่อนแล้วค่อยซื้อกลับทีหลัง”   ในหลาย ๆ  กรณี  พวกเขาอ้างการวิเคราะห์ทาง  “เทคนิค”  ที่จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อขายทันทีเมื่อราคาหุ้นถึงจุดเปลี่ยน   ดังนั้น  เวลาเราฟังโบรกเกอร์หรือนักวิเคราะห์  เราจะต้องระวังว่า  วัตถุประสงค์ของเขาอาจจะไม่เหมือนของเรา  เราต้องการกำไรหรือได้ผลตอบแทนจากการลงทุน  ส่วนเขาต้องการค่าคอมมิชชั่น  แรงจูงใจไม่เหมือนกัน  เพราะฉะนั้นคำแนะนำหรือความเห็นของเขาจึงอาจจะ  Bias หรือลำเอียงได้

          เจ้าของและ/หรือผู้บริหารบริษัทนั้น  ถ้ามองหยาบ ๆ  ก็น่าจะมีวัตถุประสงค์คล้ายกับนักลงทุนเนื่องจากต่างก็เป็นผู้ถือหุ้นเหมือนกันหรือมีเป้าหมายที่อยากจะเห็นราคาหุ้นขึ้นไปสูงเหมือนกัน  อย่างไรก็ตาม  เจ้าของและ/หรือผู้บริหารนั้นมักมีผลประโยชน์อย่างอื่น  เช่น  มีเงินเดือน  โบนัส  และผลประโยชน์เกี่ยวพันอย่างอื่นกับบริษัทด้วย  ดังนั้น  ถ้าผลประโยชน์อย่างอื่นนอกจากปันผลจากหุ้นมีมากอย่างมีนัยสำคัญ  แรงจูงใจของเจ้าของหรือผู้บริหารก็อาจจะแตกต่างจากผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนได้  ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมง่าย ๆ  ที่สุดอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการจ่ายเงินปันผลที่บางครั้งหรือบางบริษัทอาจจะจ่ายน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเหตุเพราะว่าผู้บริหารอาจจะถือหุ้นน้อยหรือไม่มี  ดังนั้น  เขาก็อาจจะอยากเก็บเงินไว้ในบริษัทซึ่งเขาจะได้มีโอกาสใช้ได้มากกว่า  หรืออาจจะทำให้เขามีการบริหารงานที่สบายกว่าปกติ  ตัวอย่างของบริษัทที่เป็นแบบนี้ก็เช่น  บริษัทที่ผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติบางแห่งที่มีผู้บริหารที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นและจ่ายปันผลในอัตราที่ต่ำทั้งที่มีฐานะการเงินดี  เงินที่เหลืออยู่มากในที่สุดก็ถูกนำไปลงทุนซึ่งบางครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จและตรวจสอบได้ยาก  ถ้าเราเจอบริษัทแบบนี้ก็พึงรู้ไว้ว่าแรงจูงใจของเขากับเราที่เป็นนักลงทุนนั้นไม่ไปด้วยกัน  ดังนั้นแม้บริษัทอาจจะกำไรดีก็อาจจะไม่คุ้มที่จะลงทุน
          หุ้น IPO หรือหุ้นที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกนั้นเราก็จะต้องรู้ว่าเจ้าของน่าจะมีแรงจูงใจอย่างไร   ข้อแรกนั้นชัดเจนก็คือ  เขาต้องการขายหุ้นเพื่อเอาเงินเข้าบริษัทเพื่อเหตุผลในการขยายงานและทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง  หรือในบางกรณี  เจ้าของก็พ่วงหุ้นส่วนตัวเอามาขายด้วย  ในทุกกรณี  เขาต้องการขายได้ในราคาที่สูงเท่าที่จะเป็นไปได้และที่สำคัญก็คือเขาต้องคิดว่านั่นเป็นราคาที่เขาพอใจเมื่อเทียบกับคุณค่าของหุ้นในสายตาของเขา  แรงจูงใจนี้ทำให้เขาพยายามกำหนดราคาหุ้นให้สูงโดยอาจจะทำการแต่งตัวหรือใช้จังหวะที่เหมาะสมของบริษัทหรือภาวะตลาดหุ้นในการเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนทั่วไป  ผลก็คือ  หุ้น IPO มักจะแพงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นและนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่จูงใจให้เจ้าของเอาหุ้นเข้าตลาด   อย่างไรก็ตาม  ในบางกรณีก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเจ้าของอาจจะมีแรงจูงใจอย่างอื่นที่สำคัญกว่า  เช่น  เขาต้องการเอาหุ้นเข้าตลาดเพื่อให้บริษัทมีการบริหารงานที่เป็นมาตรฐานและหุ้นมีสภาพคล่องและมีราคาตลาดที่ทำให้เขารู้มูลค่าความมั่งคั่งของตนเองและสามารถขายเพื่อกระจายความเสี่ยงรวมถึงสามารถที่จะนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาทได้อย่างสะดวกในอนาคต  ในกรณีแบบนี้  การตั้งราคาหุ้นก็อาจจะไม่ได้สูงกว่าพื้นฐานก็ได้    สรุปก็คือการวิเคราะห์หรือมองถึงแรงจูงใจของเจ้าของที่นำหุ้นเข้าตลาดจะช่วยให้เรารู้ว่าราคา IPO นั้นมีความสมเหตุผลมากน้อยแค่ไหนได้

            นักลงทุนแต่ละคนที่เข้าไปซื้อขายหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเองนั้นก็มีแรงจูงใจที่แตกต่างกัน   คนที่เข้าไปซื้อหุ้นลงทุนจนได้หุ้นครบจำนวนตามที่ต้องการแล้วนั้นต่างก็ต้องการให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป  แรงจูงใจนี้ทำให้เขาอยากจะเชียร์หุ้นตัวนั้นถ้ามีโอกาสทำได้  คนที่ซื้อหุ้นตัวนั้นในปริมาณที่มากและเป็นการซื้อเพื่อ  “เก็งกำไร”  ก็จะมีแรงจูงใจที่จะเชียร์หุ้นมากเนื่องจากเขาอยากที่จะเห็นหุ้นขึ้นไปเร็วเพื่อที่ว่าเขาจะได้ขายทำกำไรและหันไป  “เล่น” หุ้นตัวอื่น  คนที่ลงทุนระยะยาวเองนั้น  การเชียร์อาจจะไม่มากเท่าเนื่องจากเขาไม่คิดที่จะขายหุ้นในระยะเวลาอันสั้น  ในทางตรงกันข้าม  คนที่ยังไม่ได้ซื้อหุ้นหรือคนที่ขายหุ้นตัวนั้นไปแล้วก็อาจจะมีแรงจูงใจในทางตรงกันข้าม  พวกเขาไม่อยากให้หุ้นขึ้น  ดังนั้นเขาไม่เชียร์  แถมอาจจะวิจารณ์ในด้านลบ  ดังนั้น  เวลาที่เราฟังการวิเคราะห์วิจารณ์หุ้นแต่ละตัวจากนักลงทุนคนอื่น  เราก็ควรจะรู้ว่าแต่ละคนมีแรงจูงใจไม่เหมือนกันและดังนั้นการวิเคราะห์หุ้นก็อาจจะมีความลำเอียงทั้งในด้านที่ดีและร้ายขึ้นอยู่กับแรงจูงใจของแต่ละคน

             การซื้อขายหุ้นของผู้บริหารที่ต้องมีการแจ้งต่อ กลต. ทุกครั้งนั้นเราก็ต้องพยายามมองหาว่าแรงจูงใจของเขาเป็นอย่างไร  โดยปกติ  ถ้าเป็นการขายรายการใหญ่มาก  เช่น  ขายถึง 10% ของบริษัท  ในกรณีแบบนี้เราก็ต้องวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดเขาจึงขายและขายให้ใคร  ในราคาเท่าไร  แรงจูงใจในการขายคืออะไร  เช่นเดียวกับแรงจูงใจของผู้ซื้อ  เป็นไปได้ว่าเจ้าของอาจจะมองเห็นถึงความเสี่ยงในอนาคตของบริษัทเขาจึงขายไปในขณะที่หุ้นมีราคาที่ดี  เป็นไปได้อีกเช่นกันว่าคนซื้อมองเห็นว่าบริษัทมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตต่อไปอีกนานดังนั้นเขาจึงอยากซื้อหุ้นล็อตใหญ่เพื่อการลงทุนและเขาคิดว่าราคาที่ซื้อนั้นคุ้มค่า  ในหลาย ๆ  กรณี  การซื้อหุ้นล็อตใหญ่ก็เพื่อที่จะเข้ามาเป็น Strategic Partner หรือเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่จะทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นหลังจากการเข้ามาลงทุน  ในกรณีแบบนี้  เราก็ต้องวิเคราะห์ว่ามันจะดีขึ้นจริงหรือไม่  และถ้าราคาหุ้นสูงขึ้นไปมากจากช่วงก่อนการขาย   เราควรจะทำอย่างไร

              การซื้อขายหุ้นของผู้บริหารที่ไม่ใช่รายการใหญ่และเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้นเราต้องดูเป็นกรณี ๆ  ไป  โดยปกติถ้าเป็นผู้บริหารที่ไม่ใช่เจ้าของบริษัทหรือเป็นระดับซีอีโอหรือคนที่มีอำนาจกำหนดทิศทางของบริษัทจริง ๆ  นั้น  มักจะไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรมากนัก  แรงจูงใจในการขายหุ้นของพวกเขานั้นอาจจะเกิดจากความต้องการใช้เงินธรรมดาหรืออาจจะเกิดจากความรู้สึกว่าหุ้นมีราคาสูงเต็มมูลค่าหรือเกินพื้นฐานไปแล้ว  เช่นเดียวกับการซื้อหุ้นที่อาจจะเกิดจากความคิดที่ว่าหุ้นมีราคาถูก  อย่างไรก็ตาม  เขาอาจจะคาดผิดได้เพราะเขาอาจจะไม่รู้จริง   แต่ในกรณีที่ผู้บริหารคนสำคัญหรือเจ้าของเข้ามาซื้อ ๆ  ขาย ๆ  หุ้นค่อนข้างบ่อยนั้นผมคิดว่าเราคงต้องวิเคราะห์แรงจูงใจของเขาว่าเพราะอะไร  เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะพยายาม  “ส่งสัญญาณ”  ซึ่งอาจจะ “ลวง” ให้นักลงทุนเข้าใจผิดในคุณค่าของหุ้นในเวลานั้น  โดยมีแรงจูงใจที่จะทำให้ราคาหรือสภาพคล่องของหุ้นแตกต่างจากที่ควรจะเป็นเพื่อเหตุผลบางอย่าง  เราในฐานะที่เป็น VI จะต้องติดตามและวิเคราะห์ว่ามันควรจะเป็นอะไร  ประเด็นสำคัญก็คือ  เราจะต้องคิดอย่างเป็นอิสระและไม่ถูกชักนำโดยข้อมูลที่ออกมาจากแรงจูงใจของคนอื่นที่ไม่ได้มีเป้าหมายเหมือนกับเราหรือตรงข้ามกับเรา

CR. ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากุล

นิวตัน VS ดาร์วิน

       

        ถ้าเราดูภูมิหลังหรือประวัติการเรียนและทักษะของนักการเงินซึ่งรวมถึงนักลงทุนแนวหน้าของโลกหรือของประเทศไทยเรามักจะพบว่าจำนวนไม่น้อยมีพื้นฐานของการเรียนทางด้านวิศวกรรม  ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น  ว่าที่จริงผมเองก็รู้สึกแปลกใจตั้งแต่เรียนวิชาการเงินในช่วงปริญญาเอกที่พบว่าทฤษฎีสำคัญทางการลงทุนบางเรื่องนั้น  ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยอาศัยหลักการทางวิศวกรรมเรื่อง  “การส่งผ่านความร้อน”  หรือ  Heat Transfer ซึ่งเป็นวิชาที่ยากและผมทำได้ไม่ดีเลยในสมัยที่ผมเรียนปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรม  นอกจากนั้น  ทฤษฎีการเงินต่าง ๆ  มากมายต่างก็ใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนจำพวก  Calculus ที่  “เด็กวิศวะ”  ต้องเรียนมากมาย  ดังนั้น  ผมจึงสรุปเองว่าคนที่เรียนมาทางด้านวิศวกรรมหรือเก่งทางด้านวิศวกรรมนั้น  หากหันมาเรียนและทำงานทางด้านการเงินก็น่าจะได้เปรียบคนที่เรียนมาทางสายอื่น   และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้อาชีพทางการเงินถูก “ครอบงำ” โดยคนที่มีฐานทางด้านวิศวกรรม

            แต่ในเรื่องของการลงทุนในทางปฏิบัตินั้น  บางทีก็มีประเด็นที่ทำให้เราสงสัยอยู่เหมือนกันว่าคนที่เก่งทางด้านฟิสิกส์ซึ่งเป็นฐานของวิศวกรรมที่สำคัญที่สุดนั้นจะสามารถลงทุนได้ดีกว่าคนสายอื่นหรือไม่?  เพราะเรื่องที่มีการอ้างถึงกันบ่อย ๆ ก็คือ  เรื่องที่เซอร์ ไอแซ็ค นิวตัน  นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกเคยกล่าวไว้กว่า 300 ปีมาแล้วว่า  “ผมสามารถที่จะคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวบนฟากฟ้า  แต่ไม่สามารถคาดการณ์ความบ้าคลั่งของคนได้” เมื่อเขาขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นเซ้าท์ซีอย่างหนัก  อย่างไรก็ตาม  ความพยายามที่จะเอาชนะในการลงทุนก็ยังคงดำเนินต่อไปจากนักการเงินที่ใช้หลักการในแบบของนิวตัน  โดยล่าสุดดูเหมือนจะเป็นการพยายามซื้อขายหุ้นโดยกลุ่มนักการเงินที่เรียกว่า  “Quant” ซึ่งก็คือการใช้ข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ  ในการสร้างแบบจำลองที่จะทำการซื้อขายหุ้น  ผมเองไม่แน่ใจว่าพวกเขาประสบความสำเร็จหรือไม่  แต่ประสบการณ์ของ “Long Term Capital Management (LTCM)” ซึ่งเคยเป็นกองทุนที่บริหารโดยนักการเงินระดับโนเบลไพร์ซที่เน้นการใช้วิชาการแบบของนิวตันนั้น  อาจจะบ่งบอกเราว่า  หลักการทางด้านของฟิสิกส์นั้น  อาจจะเหมาะเฉพาะกับการลงทุนในระยะสั้น ๆ  ที่ปัจจัยและภาวะแวดล้อมไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ   เพราะในช่วงแรกนั้น LTCF ประสบความสำเร็จอย่างสูง  แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่าง  “คาดไม่ถึง”  กองทุนก็ล่มสลายลง

           นั่นนำมาถึงอีกสิ่งหนึ่งที่ผมเองคิดว่าน่าจะสามารถอธิบายทฤษฎีการลงทุนในระยะยาวได้ดีกว่านั่นก็คือหลักการพื้นฐานที่ถูกค้นพบโดย  Charles Darwin นักชีววิทยาที่มีเสียงมากที่สุดในโลก  ทฤษฎีของดาร์วินอย่างที่เรารู้ก็คือ  ทฤษฎี  “วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต”  ซึ่งบอกว่าสิ่งมีชีวิตต่างก็ปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมตลอดเวลา  ผู้ที่เหมาะสมนั้นจะรอดและเติบโตต่อไป  Survival of the fittest)  ส่วนผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะตายหรือค่อย ๆ  หมดไป  การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตมาเป็นล้าน ๆ  ปีนี้เองที่นำไปสู่สิ่งมีชีวิตที่สลับซับซ้อนอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งรวมถึงมนุษย์    ที่ประกอบไปด้วยระบบต่าง ๆ  ในร่างกายที่ทำงานประสานสอดคล้องกันอย่างน่าทึ่งและกระบวนการหรือระบบต่าง ๆ  เหล่านี้ก็ยังปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ  เพียงแต่เราไม่สามารถสังเกตได้ในระยะเวลาสั้น ๆ

            ทฤษฎีของดาร์วินซึ่งอธิบายเรื่องของสิ่งมีชีวิตนั้น  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็มีคนนำไปเปรียบเทียบกับระบบของสังคมว่ามันมีส่วนที่คล้ายกันมาก  การอธิบายเรื่องของการเมือง  เศรษฐกิจ  ตลาดหุ้น  การทำงานของธุรกิจข้ามชาติ  ระบบอินเตอร์เน็ตและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์  ต่าง ๆ  เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีคุณลักษณะและพฤติกรรมแบบเดียวกับสิ่งมีชีวิต  พูดง่าย ๆ  ระบบต่าง ๆ  เหล่านั้นจริง ๆ  แล้วมัน  “มีชีวิต”  ในแง่ที่ว่า  ระบบที่เหมาะสมก็จะอยู่รอด  ระบบที่  ปรับตัวไม่ได้ก็จะตายหรือหายไป  เราเรียกมันว่า “Complex Adaptive System” (CAS)  หรือ “ระบบที่ซับซ้อนและปรับตัวตลอดเวลา”   ความหมายของ CAS ก็คือ  ระบบอย่างเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นนั้น  เป็นระบบใหญ่ คล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม)  ที่ประกอบไปด้วย “ผู้เล่น”  หรือปัจจัยต่าง ๆ มากมาย อาจจะคล้าย ๆ กับระบบหายใจ  และระบบย่อยอาหาร ต่าง ๆ ) ที่ต่างก็มีบทบาทหรือมีอิทธิพลต่อระบบและต่อผู้เล่นอื่น ๆ   ผู้เล่นและปัจจัยนั้นมีหลากหลายมากมาย  เช่นเดียวกับผลกระทบนั้นก็มีหลากหลาย  นอกจากนั้น  เวลาที่ผู้เล่นหนึ่งเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบไปยังคนอื่น  คนอื่นก็เปลี่ยนแปลงและสุดท้ายก็ส่งผลกลับไปยังผู้เล่นคนแรก  และนี่จึงทำให้มันมีความซับซ้อนจนยากที่จะบอกว่าอะไรคือเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระบบเกิดขึ้น  เรารู้แต่เพียงว่า  การเปลี่ยนแปลงนั้นเพื่อที่จะสะท้อนหรือปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้ระบบอยู่รอดและทำงานต่อไป

            ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนั้น  ไม่ใช่เส้นตรงและระบบนั้นไม่เสถียรและจำเป็นต้องมีพลังงานที่ต้องป้อนเข้ามาตลอดเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบ  นอกจากนั้น  ระบบ CAS นั้นมี  “ประวัติศาสตร์” นั่นก็คือ  มันมี  “วิวัฒนาการ”  คล้าย ๆ  กับสิ่งมีชีวิตจริง ๆ   ข้อสรุปอย่างย่อที่สุดก็คือ  ระบบ CAS นั้น  เป็นระบบที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ หรือ Dynamic  ปัจจัยต่าง ๆ  หรือผู้เล่นต่าง ๆ  ในระบบก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ   ผลกระทบก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ  และมีผลย้อนกลับด้วย  ดังนั้น  การคาดการณ์ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลต่อระบบหรือปัจจัยหรือผู้เล่นอื่นอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากหรือแทบจะทำไม่ได้เลย  ยกตัวอย่างง่าย ๆ  ก็อาจจะเป็นว่า  การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางขึ้นมา 1 เปอร์เซ็นต์นั้นจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์?  คำตอบที่ถูกต้องนั้นก็คือ  บอกไม่ได้!  ระบบการปรับตัวที่ซับซ้อนหรือ CAS ไม่ได้ทำงานเหมือนกับการคำนวณว่าถ้าจะไปดวงจันทร์ต้องยิงจรวดในทิศทางไหนและใช้เชื้อเพลิงเท่าไร

           กลับมาดูการลงทุนในตลาดหุ้นว่ามันควรเป็นอย่างไร?   ส่วนตัวผมคิดว่าตลาดหุ้นและการลงทุนนั้นเป็น  CAS  และมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด  เมื่อคิดย้อนหลัง  ผมเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของนักลงทุน  กลุ่มหุ้นที่เคยเป็นหุ้นยอดนิยมในตลาด  กลุ่มหุ้นที่เจริญรุ่งเรืองในแต่ละยุค  การควบคุมบริษัทจดทะเบียน  การเติบโตของ VI ในตลาดหุ้น  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ทำให้ผมคิดต่อไปว่าอนาคตมันก็คงจะเปลี่ยนแปลงไปอีก  สิ่งที่เราเห็นในวันนี้ไม่ว่าในด้านไหนหรือผู้เล่นไหนก็น่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไป  แม้แต่สภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของไทยที่มีผลต่อตลาดหุ้นเองก็เปลี่ยนแปลงไป  บางทีอาจจะรุนแรง  “ไม่เป็นเส้นตรง”  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ  ดังนั้น  เราก็จะต้องพร้อมที่จะปรับตัวเช่นเดียวกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือคำว่า  “Survival of the fittest”  หรือคนที่เหมาะสมที่สุดก็จะอยู่รอดและเฟื่องฟู

            ประเด็นสำคัญของผมก็คือ  นักลงทุนในช่วงนี้—ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา  พวกเราคือคนที่ “เหมาะสมที่สุด”  โดยเฉพาะ  “VI” จำนวนมากที่ร่ำรวยขึ้นมามากอย่าง “ไม่น่าเชื่อ”  เหตุเพราะว่า  ระบบที่เป็น  CAS นั้นจะมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  บางทีก็เร็วมาก  ความเหมาะสมในวันนี้อาจจะกลายเป็นความไม่เหมาะสมในวันข้างหน้าได้  และถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เราเป็นเราทำนั้นดีและเหมาะสมที่สุดแล้ว  เราอาจจะกลายเป็นคนที่ล้าสมัยได้เมื่อสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ประวัติศาสตร์ของบริษัทที่ยิ่งใหญ่  ประวัติของผลงานการลงทุนที่ยิ่งใหญ่นั้น  ไม่ได้รับประกันว่ามันจะคงอยู่ได้ตลอดไป  และประวัติศาสตร์บอกว่า  การรักษามันเป็นสิ่งที่ยากมาก

CR. ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากุล

ความสวยงามของหุ้นขนาดเล็ก (Small is Beautiful)


หุ้นขนาดเล็ก (Small Cap Stocks) คือหุ้นที่มีขนาดของกิจการยังไม่ใหญ่มาก ซึ่งโดยมากจะหมายถึงหุ้นที่มีมูลค่ากิจการตามราคาตลาดต่ำกว่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท) ผู้เขียนมองว่าการลงทุนในหุ้น Small Cap เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตการลงทุนในระยะยาว จากคุณลักษณะสำคัญหลายประการ ดังนี้ครับ

ศักยภาพในการเติบโตที่สูงกว่า

ผู้เขียนเชื่อเสมอว่า “ราคาหุ้น ระยะสั้นตามข่าว ระยะยาวตามกำไร” คือราคาหุ้นในระยะสั้นมักจะผันผวนไปตามกระแสข่าวต่าง ๆ เกี่ยวกับบริษัท ขณะที่การเติบโตของราคาหุ้นระยะยาวจะสอดคล้องกับการเติบโตของกำไรของแต่ละบริษัท จากการศึกษาพบว่าการเติบโตของหุ้น Small Cap ทั่วโลกมีอัตราการเติบโตของกำไรอยู่ประมาณ 14.7% ขณะที่การเติบโตของตลาดหุ้นโลกโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 11.1% ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากหากคิดจากหลักความเป็นจริง บริษัทที่มีขนาดใหญ่ มีฐานกำไรที่ใหญ่มาก ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีการเติบโตกำไรสูง ๆ เมื่อเทียบกับบริษัทขนาดเล็กที่กำลังอยู่ในช่วงวัฏจักรของการเติบโต

หากมองกันในระยะยาว ๆ บนสมมติฐานว่าราคาหุ้นจะปรับตัวเท่ากับอัตราการเติบโตของกำไร การลงทุนในหุ้น Small Cap ทั่วโลกเป็นเวลา 10 ปีจะให้ผลตอบแทนสูงถึง 394% หรือประมาณ 4 เท่าตัว ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในหุ้นทั่วโลกที่จะให้ผลตอบแทนประมาณ 286% ในระยะเวลาการลงทุน 10 ปีเท่ากัน เรียกได้ว่าแตกต่างกันกว่าร้อยเปอร์เซนต์เลยครับ

ความสวยงามที่ยังไม่ถูกค้นพบ

หุ้นขนาดเล็กจำนวนมากยังคงเป็นบริษัทที่ตลาดยังไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสาร นักวิเคราะห์ยังไม่ออกบทวิเคราะห์มากนัก หรือบางครั้งอยู่ในช่วงแรกของการ IPO จึงทำให้บ่อยครั้งหุ้นขนาดเล็กมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น ภายหลังจากที่หุ้นขนาดเล็กทำกำไรเติบโตดีซักระยะ นักลงทุนรวมถึงนักวิเคราะห์ก็จะเริ่มตระหนักถึงมูลค่าที่แท้จริงของกิจการและเข้าลงทุนในหุ้นทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นได้มาก นอกจากนี้ในบางกรณีบริษัทขนาดเล็กก็กลายเป็นเป้าหมายในการควบรวมกิจการของบริษัทขนาดใหญ่ (Takeover Target) ได้อีกด้วย

Apple Inc.

16 ปีที่แล้วมีบริษัทขนาดเล็กแห่งหนึ่งชื่อ Apple Inc. ซึ่งขณะนั้นมีผลิตภัณฑ์หลักคือเครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh ซึ่งไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก โดยในปี ค.ศ. 1998 บริษัท Apple มีมูลค่ากิจการอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีกำไรในปีนั้นที่ 309 ล้านเหรียญสหรัฐฯ   16 ปีผ่านไป ณ สิ้นปี ค.ศ. 2013 มูลค่ากิจการของ Apple เพิ่มขึ้นถึง 300 เท่าตัวอยู่ที่ประมาณ 5.05 แสนล้านเหรียญ และมีกำไรเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 120 เท่าตัวอยู่ที่ประมาณ 37 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ บริษัทอย่าง Apple ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของเรื่องราวการเติบโตของหุ้น Small Cap ที่เติบโตเป็นหุ้น Big Cap ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์

ผลตอบแทนในอดีตของหุ้นกลุ่ม Small Cap

หากดูผลตอบแทนของการลงทุนในหุ้น Small Cap เปรียบเทียบกับหุ้น Big Cap ในแต่ละภูมิภาคของโลกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าผลตอบแทนของหุ้น Small Cap มีอัตราที่สูงกว่าหุ้น Big Cap อย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้

สหรัฐฯ ผลตอบแทนของหุ้น Small Cap สูงถึง 296% ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าหุ้น Big Cap ถึง 55%
ยุโรป ผลตอบแทนของหุ้น Small Cap สูงถึง 263% ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าหุ้น Big Cap ถึง 79%
เอเชียฯ ผลตอบแทนของหุ้น Small Cap สูงถึง 193% ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าหุ้น Big Cap ถึง 22%

ทั้งหมดก็เป็นเรื่องราวความสวยงามของหุ้นขนาดเล็กที่นำมาเสนอให้กับท่านนักลงทุนในวันนี้ โดยผู้เขียนมองว่าเป็นอีก Asset Class หนึ่งซึ่งควรมีไว้ในพอร์ตลงทุนเพื่อช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวครับ

Tuesday, July 15, 2014

การลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์เงินเดือน

   

      สำหรับ “มนุษย์เงินเดือน” ที่ไม่ได้มีเงินจากพ่อแม่หรือมีความสามารถพิเศษในการลงทุนและคิดว่าตนเอง  “ไม่มีปัญญา” ในการที่จะเรียนรู้เทคนิคการลงทุนที่จะทำให้สามารถลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูง ๆ  ได้   ต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นกลยุทธ์หรือวิธีการลงทุนระยะยาวที่  “ดีที่สุด” สำหรับเขา  มันจะเป็นการลงทุน  “เพื่อการเกษียณ” ที่จะทำให้เขาสามารถมีเงินใช้จ่ายได้ตามสถานะที่เขาเป็นอยู่แบบเดิมไปได้ตลอดชีวิตหลังเกษียณโดยที่ความเสี่ยงที่จะ “ขาดเงิน” มีน้อยมาก ๆ  สิ่งที่เขาจะต้องทำหรือเงื่อนไขนั้นมีหลักการใหญ่ ๆ สามข้อ  มันเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากแต่ต้องอาศัยวินัยและความศรัทธาสูง

            หลักการสามข้อนั้นผมขอเรียกว่าเป็น  “แก้ว 3 ประการ ของการลงทุน”  ที่ผมเคยพูดไว้ในหลาย ๆ  โอกาสซึ่งผมจะทวนอีกครั้งหนึ่งก็คือ  ถ้าหากใครหวังจะรวยหรือประสบความสำเร็จจากการลงทุนสูงนั้น  เขาจะต้องมีแก้วที่ “สุกสว่าง” ทั้ง 3 ดวง  โดยที่แก้วดวงแรกก็คือ  เขาจะต้องมี  “เงินลงทุนเริ่มต้น”  หรือเงินที่ได้จากแหล่งอื่นนอกเหนือจากเงินจากการลงทุน  เช่น  จากเงินเดือน  เงินที่พ่อแม่ให้หรือเงินมรดก เป็นต้น  “แก้ว”  ดวงนี้จะ “สุกสว่าง” มากน้อยนั้น  บางทีก็ขึ้นอยู่กับ  “โชคชะตา” เช่น  คนที่มีพ่อแม่รวยและพ่อแม่แบ่งเงินมาให้ลงทุนมาก  “แก้ว”  ดวงนี้ของเขาก็สุกสว่างมาก  แต่ในอีกด้านหนึ่ง  ความสุกสว่างของแก้วก็อาจจะมากขึ้นได้จากการ  “อดออม”  ของเราเอง  นั่นก็คือ  เราสามารถเพิ่มความสว่างของแก้วของเราได้โดยการบริโภคน้อยลงและเก็บออมแล้วเอามาลงทุนมากขึ้น

            แก้วดวงที่สองคือ  ผลตอบแทนที่เราได้รับจากการลงทุน  ความสุกสว่างของแก้วดวงนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของเราในการวิเคราะห์และลงทุนอย่างถูกต้อง  อย่างไรก็ตาม  ตามทฤษฎีและตามประวัติศาสตร์การลงทุนที่มีการเก็บสถิติมายาวนานนั้นบอกว่า  หุ้นให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุดในบรรดาการลงทุนหลักทั้งหลายในระยะยาว  ดังนั้น  แก้วดวงนี้จะสุกสว่างได้นั้น  เราคงต้องลงทุนในหุ้นเป็นหลัก  ในขณะที่การฝากเงินให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด  ถ้าเงินส่วนใหญ่ของเราอยู่ในเงินฝาก  แก้วดวงนี้ของเราก็จะหมองมัว  ส่วนพันธบัตรหรือหุ้นกู้นั้นให้ผลตอบแทนกลาง ๆ   ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงก็คือ  ถ้าเราเน้นซื้อหุ้นลงทุนเป็นรายตัวที่อาจจะทำให้แก้วของเราสว่างที่สุด  มันก็มีโอกาสเช่นกันที่แก้วดวงนี้จะ  “แตก”  และความสว่างจะหายไปกลายเป็นแก้วที่  “มืดมน”   เปรียบเทียบก็คือ  แทนที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงก็อาจจะขาดทุนได้  โชคดีที่ว่าเราสามารถที่จะลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนรวมที่จะให้ผลตอบแทนที่สุกสว่างพอสมควรได้โดยที่ความเสี่ยงที่จะเสียหายมีน้อยในระยะยาว  ดังนั้น  สำหรับคนที่ไม่เชี่ยวชาญในการเลือกหุ้น  การลงทุนในกองทุนรวมที่อิงดัชนีจึงเป็นทางเลือกที่ดีมาก

             แก้วดวงสุดท้ายก็คือ  ระยะเวลาในการลงทุน  ยิ่งเราลงทุนยาวนานเท่าไร แก้วของเราก็จะสุกสว่างมากขึ้นเท่านั้น  ดังนั้น  คนที่อายุน้อยและแน่วแน่ในการลงทุน  ไม่ออกจากตลาดไม่ว่าในสถานการณ์อะไร  จึงเป็นคนที่มีแก้วที่สุกสว่างอยู่ในมือ 1 ดวงเสมอ  เช่นเดียวกัน  คนที่มีอายุยืนยาวและมีสุขภาพที่ดีก็เป็นคนที่มีแก้วที่สว่างกว่าคนที่อายุสั้นกว่า

            คนที่มีแก้วที่สุกสว่างทั้ง 3 ดวง  และใช้มัน  โอกาสที่เขาจะรวยจากการลงทุนก็จะสูงมาก  คนที่มีแก้วอยู่ในมือแต่ไม่รู้จักใช้ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย  ส่วนคนที่แทบจะไม่มีแก้วที่สุกสว่างเลยซักดวงก็ต้องยอมรับว่าเราอาจจะไม่สามารถรวยจากการลงทุนได้   อย่างไรก็ตาม  คนส่วนใหญ่ที่  “กินเงินเดือน” และอายุยังไม่มากนั้น  หากมีการวางแผนการลงทุนที่ดี  และด้วยการ  “เสียสละ”  การบริโภคในปัจจุบันพอประมาณแต่อยู่ในระดับที่ไม่น่าจะเดือดร้อนนัก  จะสามารถที่จะลงทุนจนมีเงินเพียงพอที่จะใช้ในยามเกษียณได้อย่างสบายโดยที่ความเสี่ยงที่จะทำไม่ได้มีน้อยมาก  มาดูกันว่าทำอย่างไรและเราจะบรรลุเป้าหมายอะไร?

            สมมุติว่าเราอายุ 30 ปี  มีงานประจำที่มั่นคง  มีเงินเดือนตามควรแก่อัตภาพเช่น  เฉลี่ยเดือนละ 50,000 บาท และยังไม่เคยลงทุนอะไรเป็นเรื่องเป็นราว  ข้อเสนอของผมก็คือ  เราต้องเริ่มเก็บออมเงินและลงทุนโดยการหักออกจากเงินรายได้ 15% ทุกครั้งที่ได้รับเงิน  ซึ่งก็คือเดือนละ 7,500 บาท  แล้วนำเงินนั้นลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่อิงดัชนี  SET50 ซึ่งก็คือการลงทุนในหุ้นที่ใหญ่ที่สุด 50 ตัวโดยไม่มีการเลือกหุ้น  เราทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกเดือน  ถ้าเงินเดือนเราสูงขึ้น  เม็ดเงิน 15% ของเราก็สูงขึ้นตามกันไป  เวลาได้เงินพิเศษเช่น โบนัส  เราก็ยังคงต้องหักเงิน 15% ก่อนเพื่อเอาไปลงทุนในหุ้น  การลงทุนในหุ้นทั้งหมดนั้นอาจจะดูว่า  “เสี่ยง”  แต่การที่เราทยอยลงไปเรื่อยเป็นเวลาถึง 30 ปี  ความเสี่ยงจะหายไปมาก  เพราะเราจะซื้อหุ้นเฉลี่ยกันไปทั้งช่วงที่หุ้นถูกและแพง  โอกาสที่เงินออมจะเสียหายมีน้อยมาก  แต่มีโอกาสสูงที่เราจะได้ผลตอบแทนแบบทบต้นปีละประมาณ 10% ตามสถิติที่เป็นมาในอดีต  ถ้าเราทำแบบนี้  ผลที่จะได้รับหลังจากที่เราเกษียณที่ 60 ปีคืออะไร?

            คำตอบอย่างที่ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายที่สุดก็คือ  หลังจากเกษียณแล้ว  เราก็จะสามารถใช้เงินได้เดือนละเท่าเดิมเท่ากับช่วงที่เราทำงานอยู่โดยที่เราไม่ต้องทำงานต่อไปอีก 30 ปี เช่น ถ้าเราได้เงินเดือนในช่วงแรกที่อายุ 30 ปี เป็นเงิน 50,000 บาท ในวันที่เราเกษียณเดือนแรกเราก็สามารถใช้เงินได้เดือนละ 50,000 บาทเช่นกันหลังจากคำนึงถึงเรื่องเงินเฟ้อแล้ว  ที่จริงก็คือใช้ได้ประมาณ 120,000บาท ต่อเดือนซึ่งมีค่าเท่ากับ 50,000ในวันนี้)  และถ้าในช่วงที่เราอายุ 40 ปี  เรามีรายได้เดือนละ 100,000 บาท และเรากันเงิน 15% ซึ่งเท่ากับ 15,000 บาทไว้ลงทุน  ในช่วงที่เรามีอายุ 70 ปี  เราก็จะสามารถใช้เงินได้เดือนละ 100,000 บาทเช่นกันหลังคำนึงถึงเรื่องเงินเฟ้อแล้ว

           มองอีกด้านหนึ่งก็คือ  เงินเพียง 15% นั้น  ถ้าเรากันไว้ลงทุนในหุ้นในวันนี้  มันจะโตขึ้นเป็น 100% หลังหักอัตราเงินเฟ้อแล้ว  ภายในเวลา 30 ปี  ดังนั้น  เงินเพียง 15% ของทุกเดือนที่เราลงทุนไปในวันนี้  อีก 30 ปี มันก็จะกลับมาเลี้ยงเราเต็มจำนวน  ถ้าเราลงทุนตั้งแต่อายุ 25 ปี  โอกาสที่เราจะเกษียณอย่างสบายก็จะสูง  ถ้าเราลงทุนหลังจากอายุ 30 ปีไปแล้ว เช่น เริ่มลงทุนเมื่ออายุ 40 ปี ถ้าจะให้เราสามารถใช้เงินได้เท่าเดิมหลังเกษียณ  เราก็อาจจะต้องกันเงินไว้มากกว่า 15% ของเงินเดือนเพื่อที่จะลงทุน  ภาระก็จะหนักขึ้น หรือถ้ายังรักษาระดับที่ 15%  ในวันที่เกษียณเราก็มีเวลาลงทุนแค่ 20 ปี ซึ่งก็จะทำให้เงินที่เราจะได้นั้นไม่ถึง 100%  ซึ่งก็แปลว่า  ในวันเกษียณ  เราอาจจะต้องลดระดับความเป็นอยู่ลง

             คนอายุ 30 ปี ที่เริ่มกันเงินถึง 15% ของเงินเดือนเพื่อลงทุนแต่เขาเน้นไปที่การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้หรือกองทุนผสมที่มีหุ้นน้อย  ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะต่ำ  ซึ่งก็อาจจะทำให้เขาไม่สามารถใช้เงินได้เท่าเดิมหลังเกษียณ  และนี่สำหรับผมแล้ว  เป็นการลงทุนที่ไม่เหมาะสม  ในระยะสั้น ๆ  นั้น  ความรู้สึกมั่นคงและ “ไม่เสี่ยง”  จากการลงทุนในตราสารหนี้หรือเงินฝากนั้น  ไม่คุ้มกับการเสียโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจากการลงทุนในหุ้น  ว่าที่จริง  ในระยะยาวตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป  หุ้นโดยรวมนั้นมีความเสี่ยงน้อยมาก  โอกาสที่หุ้นจะให้ผลตอบแทนรวมต่ำกว่าตราสารหนี้หรือเงินฝากนั้นผมคิดว่าน่าจะอยู่แค่ในช่วง 5-10 ปีแรกเท่านั้น  หลังจากนั้นแล้วหุ้นก็จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลอด  ดังนั้น  อย่ากลัวที่จะลงทุนหุ้นเต็มที่ถ้าเราจะลงระยะยาวมาก

           สุดท้ายที่ผมอยากจะเพิ่มเติมสำหรับคนที่ต้องเสียภาษีรายได้สูงนั้น  การลงทุนในกองทุน LTF และ RMS ในอัตราที่สูงได้ถึง 15% ของรายได้นั้น  ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ผมกล่าวถึงมาทั้งหมด  แต่ยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลด้วย  ดังนั้น  ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เหมาะสมและดีที่สุดที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรทำ

cr. ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากุล

อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้า

     

    การลงทุนในตลาดหุ้นแบบระยะยาวจริง ๆ  คือถือหุ้นแต่ละตัวโดยเฉลี่ยมากกว่าหนึ่งปีหรือหลาย ๆ ปีขึ้นไปนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องยากสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่ยังมีอายุน้อยและมีความหวังที่จะ  “รวย”  จากการลงทุนในเวลาอันสั้น  เหตุผลที่สำคัญก็คือ  คนจำนวนมากคิดว่าการลงทุนระยะสั้นนั้นน่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการซื้อหุ้นแล้วไม่ขาย  พวกเขาคิดว่าการ “ซื้อแล้วเก็บ” นั้น  ผลกำไรหรือผลตอบแทนของการลงทุนก็มักจะเป็นไปตามผลกำไรของบริษัทในระยะยาว  ซึ่งก็มักจะ  “ไม่สูง”  นั่นคืออย่างมากก็ประมาณ 15%  ต่อปี  แต่ถ้า  “เล่นสั้น”  ก็จะมีโอกาส  “ทำกำไร” ปีละหลายรอบ  บางทีรอบละ 10%-20%  ปีหนึ่งก็อาจจะสามารถสร้างผลตอบแทนหลายสิบเปอร์เซ็นต์  จริงอยู่  ในบางครั้งอาจจะพลาด  แต่โดยรวมแล้วเขาคิดว่ากำไรจะมากกว่าขาดทุน   ดังนั้น  คนส่วนใหญ่  แม้แต่ที่เป็น VI จึงนิยมลงทุนค่อนข้างสั้นไม่เกินหนึ่งปี   ถ้าไม่ใช่ VI ก็อาจจะสั้นขนาดเป็นวัน  ที่เป็น VI ก็อาจจะเป็นเดือนหรืออาจจะหลายเดือน  สถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ทำให้คนเล่นสั้นนั้นมีหลากหลายและต่อไปนี้ก็คือ  “สิ่งยั่วเย้า”  ที่ทำให้คนเข้ามาซื้อขายหุ้นอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนตัวหุ้นไปเรื่อย ๆ

             สำหรับคนที่เป็น  “เทรดเดอร์”  หรืออาจจะเป็น  “นักลงทุนรายวัน”  สิ่งที่ “ยั่ว” ให้เขาเข้ามาซื้อหรือขายหุ้นนั้นก็คือ  ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น  นี่คือการเล่นหุ้นตามแนวเทคนิคที่เน้นการซื้อขายหุ้นตามความผันผวนของราคาและความคึกคักของหุ้น  หุ้นที่กำลังวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว  เช่น  ภายในเวลาเพียงชั่วอึดใจราคาอาจจะปรับขึ้นไปเป็น 10%  หรือในช่วงไม่กี่วันราคาขยับขึ้นไปต่อเนื่องหลายสิบเปอร์เซ็นต์  อาการแบบนี้ทำให้นักเล่นหุ้นระยะสั้นแนวเทรดเดอร์  “อดทนไม่ไหว”  ต้องเข้าไปเล่นโดยหวังว่าหุ้นจะวิ่งต่อไปและตนเองสามารถทำกำไรได้อย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น   คนที่เข้าไปเล่นหุ้นตามแนวทางนี้เมื่อได้กำไรในระดับหนึ่ง  เช่น  อาจจะ 5%-6% ก็มักจะรีบขายทำกำไรเพราะอาจจะกลัวว่าหุ้นจะ “ปรับตัวลง”  เช่นเดียวกัน  บางคนเข้าไปซื้อ  “ช้าเกินไป”  และหุ้นปรับตัวลงต่ำกว่าต้นทุน  บางทีเข้าก็อาจจะขายทิ้งเหมือนกัน

             “สิ่งยั่วเย้า”  ต่อมาที่มักทำให้คนเข้าไปซื้อหุ้นโดยไม่ได้ศึกษาบริษัทอย่างลึกซึ้งก็คือ  “ข่าวดี” ของบริษัท  เช่น  บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้โดดเด่น  เช่น ขายคอนโดหมดได้อย่างรวดเร็ว  บริษัทได้รับงานใหม่ที่มีขนาดหรือรายได้สูง  เช่น  บริษัทรับเหมาก่อสร้างประมูลงานได้  หรือบริษัทชนะประมูลแข่งในกิจการสัมปทานหรืองานจากหน่วยงานรัฐและเอกชนต่าง ๆ  เป็นต้น   ข่าวดีเหล่านั้นถึงจะทำรายได้ให้บริษัทเพิ่มขึ้นในอนาคตและอาจจะช่วยทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้นซึ่งก็จะทำให้หุ้นมีค่ามากขึ้นได้  แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็นเรื่องที่  “เกิดขึ้นครั้งเดียว”  หรือไม่ถาวร  ดังนั้นผลกระทบในแง่ของมูลค่าของบริษัทก็อาจจะไม่มากนัก  อย่างไรก็ตาม  นั่นเป็นเรื่อง  “ระยะยาว”  แต่ใน “ระยะสั้น”  คนก็น่าจะเข้ามาเก็บหุ้นและราคาก็จะปรับตัวขึ้น  นั่นคือสิ่งที่เราคิด  และนั่นทำให้เรา “อดไม่ได้” ที่จะต้องซื้อหุ้น  เราคิดว่านี่คือเงินที่จะได้มาง่าย ๆ  หรือเป็น  “Easy Money”

            สิ่งยั่วเย้าให้คนแห่กันเข้ามาซื้อหุ้นโดยที่ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพื้นฐานของบริษัทอีกกลุ่มหนึ่งก็คือสิ่งที่ผมเรียกว่า  “Financial Engineering” ในความหมายที่ไม่ได้ตรงกับชื่อจริง ๆ  แต่ในความหมายของผมก็คือ  การออกตราสารการเงินทั้งที่เป็นหุ้นหรืออนุพันธ์ที่ให้ฟรีหรือเกือบฟรีกับผู้ถือหุ้น  หรือการปรับแต่งตัวเลขทางการเงินเช่นการปรับพาร์หรือแตกหุ้นต่าง ๆ  เหล่านี้  ซึ่งในพื้นฐานจริง ๆ  แล้วเป็นเรื่องของการพิมพ์หรือปรับตัวเลขบนกระดาษเพื่อส่งให้ผู้ถือหุ้น  แต่ผลที่มักเกิดขึ้นก็คือ  นักลงทุนคิดว่าบริษัทกำลังจ่ายปันผลหรือให้สิทธิต่าง ๆ  ที่มีค่า  ดังนั้นพวกเขาก็เข้ามาเก็งกำไรโดยการซื้อหุ้นเพื่อหวังปันผลหรือสิทธินั้นโดยอาจจะไม่เข้าใจว่ามูลค่าของหุ้นเดิมจะต้องถูกลดทอนลงหรือเกิด  “Dilution”  ราคาหุ้นก็มักจะเพิ่มขึ้น  นักลงทุนที่เห็นประกาศการทำ “Financial Engineering” ก็มักจะอดไม่ไหวที่จะเข้าไปซื้อหุ้นเพราะหวังที่จะได้กำไรอย่างง่าย ๆ

             นอกจาก “Financial Engineering” แล้ว  สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ไม่แพ้กันก็คือ  “Business Engineering” ในความหมายของผมอีกเช่นกันที่ผมหมายถึงการดัดแปลงหรือหาธุรกิจใหม่ที่  “หวือหวา”  ที่เป็นธุรกิจที่  “มีกำไรดี” และ  “ทำได้ง่าย ๆ”  เช่น พัฒนาอสังหาริมทรัพย์    หรือเป็นธุรกิจ  “แห่งอนาคต”  เช่น  พลังงานทดแทน  มาทำแทนหรือเสริมธุรกิจเดิมอย่างมีนัยสำคัญ  ผลที่เกิดมักเกิดขึ้นก็คือ  บริษัทถูกมองว่าจะกลายเป็นบริษัทที่มีกำไรและเติบโตมหาศาลจากเดิมที่เป็นบริษัทที่น่าเบื่อและไม่มีอนาคต  นักลงทุนจะเข้ามาซื้อหุ้นและให้มูลค่าเท่า ๆ  หรือมากกว่าบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันทั้ง ๆ ที่บริษัทยังไม่ได้พิสูจน์ผลงานเป็นที่ประจักษ์  ผลก็คือ  ราคาหุ้นพุ่งพรวดและนักลงทุนจำนวนมากก็ “อดไม่ได้”  ที่จะ “ร่วมขบวน” การ  “หาเงินง่าย ๆ”  นี้

            ในยามที่ตลาดหุ้นบูมหนักอย่างในช่วงเร็ว ๆ  นี้  ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรที่จะทำกำไรแบบ Easy Money มากเท่ากับหุ้น  IPO  หรือหุ้นเข้าตลาดครั้งแรก  นี่เป็นการเก็งกำไรที่ได้เสียเร็วมากที่สุดอย่างหนึ่งเพราะราคาหุ้นผันผวนเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง  แม้แต่ชั่วนาทีก็อาจจะทำกำไรหรือขาดทุนได้หลาย ๆ  เปอร์เซ็นต์  แน่นอน  คนที่เข้าไปเล่นในวันแรกที่หุ้นเข้าตลาดนั้นต่างก็หวังกำไรทั้งนั้นและพวกเขาก็อดกลั้นไม่ไหวที่จะอยู่เฉย ๆ  และมอง  “กำไรที่หายไปต่อหน้าต่อตา”  ดังนั้น  พวกเขาก็เข้าไปเล่นโดยไม่ได้สนใจพื้นฐานของกิจการ

           การสนองตอบต่อสิ่งยั่วเย้านั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะต่อนักลงทุนที่  “ไม่รอบรู้”  เท่านั้น  แม้แต่คนที่เก่งกาจและเป็น VI ผู้มุ่งมั่นเองก็ประสบกับมันเช่นกัน  ความต้องการกำไรที่มากและรวดเร็วหรือเป็น  Easy Money นั้น  ทำให้หุ้นประเภทที่มีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นมากและรวดเร็วเป็นที่สนใจของ VI จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะที่อายุยังไม่มากและพอร์ตยังไม่ใหญ่นัก  นั่นก็คือหุ้นที่ถูกจัดว่าเป็นหุ้น Turnaround หรือหุ้นฟื้นตัว  หรือหุ้น  Cyclical หรือหุ้นวัฎจักร  หุ้นสองกลุ่มนี้คือหุ้นที่พื้นฐานหรือผลการดำเนินงานกำลังเปลี่ยนจากบริษัทใกล้ล้มละลายหรือตกต่ำอย่างหนักจากภาวะแวดล้อมทางอุตสาหกรรม  กลายเป็นบริษัทที่ “เกิดใหม่” และจะมีกำไร  หรือกลายเป็นบริษัทที่กำลังจะมีกำไรดีต่อเนื่องไปในอนาคตหลังจากตกต่ำมาช่วงเวลาหนึ่ง  ภาวะที่ดีขึ้นอย่างมากในเวลาอันสั้นนั้นมักจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า  “Euphoria”  หรือเป็นความรู้สึกที่ดีอย่างเคลิบเคลิ้มจนลืมไปว่าผลประกอบการในอนาคตนั้นอาจจะไม่ได้สวยสดต่อเนื่องยาวนาน  และดังนั้นพวกเขาก็มักจะให้มูลค่าที่สูงเทียบกับผลกำไรของบริษัทที่กำลังดีขึ้นแต่อาจจะไม่คงทน  ผลก็คือ  ราคาหุ้นถูก “ดัน” ขึ้นไปมากเนื่องจากนักลงทุน  “ทนไม่ไหว”  ที่จะไม่เข้าไปซื้อหุ้นที่เห็นว่าอาจจะโตขึ้นไปได้อาจจะอีกหลายเท่า

             ยังมีสิ่งยั่วเย้าอีกมากมายในตลาดหุ้นที่ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นในระยะสั้น  ตัวอย่างเช่น  การที่หุ้นถูกซื้อโดย  “เซียน”  หรือนักลงทุน  “รายใหญ่”  ในตลาดหุ้น  หรือถูกซื้อโดยผู้บริหารในจำนวนมาก  หรือเรื่องราวต่าง ๆ  อีกร้อยแปดที่อาจจะมีผลต่อราคาหุ้นอย่างรุนแรงและทำให้นักลงทุนที่ติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านั้นเข้ามาซื้อหุ้นโดยหวังที่จะทำกำไรอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นเพราะเขา “อดกลั้นไม่ได้”

            ผมเองไม่ได้บอกว่าการเข้าซื้อหุ้นบ่อย ๆ  เพราะเราอดกลั้นไม่ได้ต่อสิ่งยั่วเย้าเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี  มันคงเป็นประสบการณ์ของนักลงทุนแต่ละคน  และคงขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ว่าถูกต้องหรือไม่และบางทีก็เป็นเรื่องของช่วงเวลาที่ทำ  ส่วนตัวผมเองเชื่อว่า  การทำหรือซื้อหุ้นบ่อย ๆ  ซึ่งก็แปลว่าต้องขายบ่อยด้วยนั้น  ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนส่วนใหญ่  และนั่นทำให้การรู้จักอดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้านั้น  เป็นศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่งของ VI

CR> ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากุล