Monday, November 24, 2014

เล่นหุ้น- ต้องดูคน

         

        การลงทุนในตลาดหุ้นนั้น  นอกจากต้องดูข้อมูล “พื้นฐาน”  ต่าง ๆ  เช่นตัวเลขผลประกอบการและข้อมูลเชิงคุณภาพอื่น ๆ  เช่นความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจแล้ว  การดู  “คน”   ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและหุ้นก็เป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่ง  นักลงทุนแนว VI นั้น  มักจะเน้นที่การดูผู้บริหารสำคัญและผู้บริหารสูงสุดของบริษัทเป็นหลักว่า  พวกเขานั้นมีความสามารถและความซื่อสัตย์และ  “เห็นแก่ผู้ถือหุ้น”  หรือมองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นมากน้อยแค่ไหน  การที่จะเข้าใจในตัวผู้บริหารได้ดีก็ต้องคอยติดตามว่าพวกเขามีพฤติกรรมอย่างไรในประเด็นต่าง ๆ  เกี่ยวกับบริษัท  และบางทีก็ในเรื่อง  “ส่วนตัว”  ด้วย   ส่วน “นักเก็งกำไร”  นั้น  จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ในเรื่องของ  “คน”  มากขึ้นมาก  เพราะนอกจากผู้บริหารแล้ว  พวกเขาจะต้องมองไปถึงผู้ถือหุ้นใหญ่  นักเล่นหุ้น  “ขาใหญ่” รวมไปถึงนักเล่นหุ้นคนอื่น ที่สนใจและเข้าไปเล่นหุ้นด้วย  ว่าที่จริงหลาย ๆ คนนั้นดูเรื่องนี้เป็นหลัก  ส่วนเรื่องพื้นฐานของบริษัทนั้นเป็นรอง  เหนือสิ่งอื่นใด  พวกเขาคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะวิเคราะห์หุ้นได้ถูกต้องจริง ๆ  และถึงจะวิเคราะห์ได้ถูกต้อง  มันก็เป็นเรื่อง  “ระยะยาว”  ที่ไม่มีประโยชน์มากนักในการเล่นหุ้นในช่วงสั้น ๆ  หรือวันต่อวัน

เรื่องของคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับหุ้นที่มีทุกวันเรื่องแรกก็คือ  การซื้อ-ขายของผู้บริหาร หรือที่เรียกว่า Insider Trading นั้น  เป็นสิ่งที่ผมมักตามดูอยู่ห่าง ๆ  โดยทั่วไป  การซื้อขายจำนวนน้อยและทำโดยพนักงานหรือคู่สมรสนั้น  ผมคิดว่าไม่ใคร่จะมีความหมายหรือมีสัญญาณอะไร  ว่าที่จริงผมคิดว่าพวกเขาไม่ได้รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับบริษัท  แต่การซื้อหรือขายโดยผู้บริหารระดับสูงสุดหรือเป็นคนสำคัญของบริษัทนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมีความหมายพอสมควร  การขายหุ้นจำนวนมากซึ่งบ่อยครั้งทำเป็นเรื่อง  “โอนออก” นั้น  เราจะต้องวิเคราะห์ให้ออกว่ามันหมายความว่าอะไร?  โดยส่วนใหญ่แล้วผมมองว่ามันอาจจะไม่ใคร่ดีนัก  เขาอาจจะดูว่าหุ้นมีราคาสูงมากหรืออาจจะเกินพื้นฐานไปแล้วเขาจึงขาย  หรือเขาแค่ต้องการลดความเสี่ยงที่มีหุ้นตัวเดียวมากเกินไป?  เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องคิด

บางครั้งผู้บริหาร  รวมถึงผู้บริหารสูงสุด  เข้ามาซื้อหรือขายหุ้นบ่อย ๆ  หรือ  “ตลอดเวลา”  ซึ่งในกรณีนี้  ส่วนมากแล้วจะเป็นการซื้อมากกว่าขาย  ถ้าเป็นแบบนี้  ผมมักมีความรู้สึกว่า  พวกเขาพยายาม “ส่งสัญญาณ”  ว่า  หุ้นเขา “ราคาถูกกว่าพื้นฐาน”  ดังนั้น  นักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นจึงควรเข้ามาซื้อ  เพราะ  “ขนาดเจ้าของที่มีหุ้นมากมายอยู่แล้วยังเข้ามาเก็บหุ้นเลย”  อย่างไรก็ตาม  เราก็ต้องดูอย่างอื่นประกอบด้วย  เพราะเจ้าของเองอาจจะมี  “วาระซ่อนเร้น” อยู่  พวกเขาอาจจะอยากทำให้ราคาหุ้นสูงเพื่อเหตุผลบางอย่าง  หรือไม่พวกเขาบางคนก็อาจจะคิดไปเองว่าหุ้นของตนเองมีราคาถูกโดยที่ตนเองก็วิเคราะห์ไม่เป็น  และมักจะมีความ  “ลำเอียง” ว่าหุ้นของบริษัทตนเองนั้นดีกว่าความเป็นจริง  ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน  สำหรับผมเองแล้ว  ผมไม่ชอบที่ผู้บริหารเข้ามาซื้อขายหุ้นตัวเองมากเกินไป  เพราะมันอาจจะทำให้ราคาหุ้นไม่เป็นไปตาม  “ธรรมชาติ”

ในช่วงที่ตลาดมีการเก็งกำไรในหุ้นโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นตัวเล็กอย่างหนักนั้น  นักเล่นหุ้นจำนวนมากนั้น  ชอบดู  “ขาใหญ่”  ว่ากำลังเข้ามาเล่นหุ้นตัวใดตัวหนึ่งหรือเปล่า?  เพราะเขาเชื่อว่า  ราคาหุ้นจะปรับตัวแรงมากน้อยแค่ไหนสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ   มีนักเล่นหุ้นรายใหญ่เข้าไปซื้อ  ซึ่งจะทำให้หุ้นสามารถวิ่งขึ้นไปได้อาจจะหลายเท่าในเวลาอันสั้น  ความคิดแบบนี้ผมคิดว่ามีอยู่มากในบรรดานักเล่นรายวันจำนวนมาก  ดังนั้น  นักเล่นหุ้นรายใหญ่จึงมักจะพยายามส่งข้อมูลหรือสัญญาณว่าตนเองได้เข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้นจำนวนมากเพราะเห็นว่ามันเป็นหุ้นที่ดีราคาถูกและจะปรับตัวขึ้นไปอีกมากอาจจะหลายเท่า  ผลก็คือ  ราคาหุ้นก็มักจะมีการปรับตัวขึ้นไปอย่างรวดเร็วด้วยแรงซื้อของนักลงทุนและคนเล่นหุ้นรายย่อยจำนวนมาก  แต่หุ้นลักษณะแบบนี้นั้นก็มักจะมีอันตรายสูงที่จะปรับตัวลงอย่างรวดเร็วถ้ารายใหญ่ขายหุ้นทิ้งเนื่องจากราคาอาจจะสูงเกินพื้นฐานไปมาก  พูดถึงเรื่อง  “ขาใหญ่”  แล้ว  ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นไทยในยามนี้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก  เหตุผลก็เพราะตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนสูงมายาวนานและนักลงทุนที่ “กล้าได้กล้าเสีย” สามารถทำกำไรมโหฬารจนกลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่จำนวนมาก  ผลก็คือ  หุ้นตัวเล็กที่ “วิ่งกันระเบิด”  นั้น  แทบทุกตัวก็จะต้องมี  “ขาใหญ่” บางคนหรือบางกลุ่มเข้าไปเล่นทั้งสิ้น

การดูผู้บริหารหรือเจ้าของที่เกี่ยวกับตัวหุ้นนั้น  ยังต้องดูแรงจูงใจของพวกเขาด้วย  ผู้บริหารบางคนนั้น  ชอบ  “ดูแลหุ้น” ตัวเองมาก  เขาจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้หุ้นมีราคาดีมีปริมาณการซื้อขายสูง  การพูดโปรโมตหุ้นนั้น  จะทำอยู่ตลอดเวลาถ้าทำได้  นอกจากนั้น  หลายคนยังเข้าไปซื้อขายหุ้นของตนเอง  โดยอาจจะผ่านนอมินีหรือส่งเสริมให้คนอื่นเข้ามาช่วย “ทำราคา” ด้วย  เจ้าของหรือผู้บริหารบริษัทบางคนโดยเฉพาะที่อยู่ในอุตสาหกรรมโตช้าหรือตะวันตกดินนั้น  ตรงกันข้าม  ไม่ดูแลหุ้นของตนเองเลย  พวกเขาไม่สนใจที่จะพบนักลงทุนหรือให้ข่าวข้อมูลของกิจการแก่นักลงทุนถ้าไม่จำเป็น  ราคาหุ้นจะเป็นอย่างไรเขาไม่สนใจ  ในกรณีแบบนี้  บ่อยครั้งก็พบว่าพวกเขาไม่ต้องการจะจ่ายปันผลที่งดงามให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วย  ดูเหมือนว่าพวกเขาอยากจะบริหารบริษัทคล้าย ๆ  กับบริษัทส่วนตัวมากกว่า  ในทั้งสองกรณีคือ  ดูแลหุ้นตัวเองมากเกินไปและไม่ดูแลหุ้นเลยนั้น  ผมไม่ชอบทั้งคู่  โดยที่ไม่ชอบมากกว่าก็คือการไม่ดูแลหุ้นเลย  หุ้นที่ดีนั้นผมคิดว่า  ควรจะเป็นหุ้นที่ผู้บริหารและเจ้าของควร “ดูแล” พอประมาณในด้านของการให้ข้อมูลและการจ่ายปันผลรวมถึงการปรับในเรื่องต่าง ๆ  ยกเว้นการเข้ามาซื้อขายหุ้นเอง  การดูแลหุ้นมากเกินไปนั้น  ผมคิดว่ามันทำให้หุ้นอาจจะไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง  ราคาอาจจะเกินมูลค่าที่แท้จริง  ในขณะที่หุ้นที่เจ้าของไม่ดูแลเลยนั้น  ผู้ถือหุ้นมักจะไม่ได้ผลตอบแทนตามพื้นฐานที่ควรเป็นและผมมักจะหลีกเลี่ยง

ประวัติหรือพฤติกรรมของผู้บริหารหรือเจ้าของหุ้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมมอง   ถ้าเจ้าของมีประวัติเป็น  “นักเล่นหุ้น” เคยซื้อขายหุ้นในฐานะ  “ขาใหญ่” ผมจะไม่ชอบ  ข้อแรกก็คือ  ผมไม่แน่ใจในเรื่องทักษะหรือความสามารถในการบริหารธุรกิจที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ  ข้อสองก็คือ  ผมคิดว่าเขามักจะเน้นไปที่การทำหรือดูแลราคาหุ้นมากเกินไปซึ่งนี่อาจจะนำไปสู่ราคาหุ้นที่สูงกว่าพื้นฐาน  ผู้บริหารที่ดีนั้น  ควรเป็นคนที่คลุกคลีและสร้างธุรกิจด้วยตนเองหรือสืบทอดธุรกิจต่อมาอย่างประสบความสำเร็จ  ในด้านของประวัติทางการเงินนั้น  ผมชอบคนที่มีความรับผิดชอบและน่าเชื่อถือ  ไม่เคยถูก  “Blacklist” หรือถูก  “ตราหน้า” ในสังคมของสถาบันการเงินว่าเป็นลูกหนี้ที่  “เบี้ยว” หนี้ทั้งที่ธุรกิจยังพอไปได้  เช่นเดียวกัน  เขาก็ควรจะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและสังคมไม่มีประวัติที่  “น่ารังเกียจ”  และสุดท้ายก็คือ  เมื่อนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายหุ้นและเป็นบริษัทมหาชนแล้ว  เขาควรที่จะต้องคำนึงถึงนักลงทุนเสมอเวลาที่จะตัดสินใจทำอะไรโดยเฉพาะในสิ่งที่มี  “ผลประโยชน์ขัดกัน” ระหว่างตนเองและบริษัทในฐานะที่เป็นของมหาชนที่เขาเป็นผู้บริหาร

สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือเรื่องของคนที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นหรือเล่นหุ้นแต่ละตัวว่าพวกเขามีหลักการหรือกลยุทธ์การลงทุนหรือเล่นหุ้นอย่างไร  เป็น VI หรือเป็นแนวเทคนิค  พฤติกรรมของพวกเขาที่ผ่านมาเป็นอย่างไรเช่นลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว  ต่าง ๆ  เหล่านี้  ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราต้องค่อย ๆ  เรียนรู้และต้องอาศัยประสบการณ์เพราะมันไม่มีใครเขียนเป็นบันทึกให้อ่านหรือบางทีเราอ่านพบก็อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง   ถ้าจะถามว่าเราจะต้องรู้ไปทำไมว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้ใครเป็นเจ้าของหรือใครเข้าไปเล่น  คำตอบของผมก็คือ  การที่รู้ว่าใครเข้าไปเล่นหุ้นตัวไหนนั้น  อาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยบอกหรือเตือนเราว่า  ราคาหุ้นที่เราเห็นนั้น  อาจจะต่างจากมูลค่าพื้นฐานได้มากน้อยแค่ไหน  หุ้นบางตัวนั้น  ผมคิดว่าราคาอาจจะสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานได้หลายเท่า  กลายเป็นหุ้น  “อภินิหาร”  ได้  เพียงเพราะคนที่เข้าไปเล่นนั้นกล้าทำและทำได้  ในกรณีแบบนี้เราอาจจะต้องหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปเล่นถ้าไม่ต้องการ  “หายนะ”

ดร.นิเวศน์  เหมวชริวรากุล

Tuesday, November 18, 2014

Smart Money Set In The CITY 2014



เปลี่ยนจากวัยรุ่น  เป็นเศรษฐีเงินล้าน  ผ่านการวางแผนทางการเงิน....


    หลายคนคงเคยถามตัวเองว่า..ในวัยเท่าๆ กัน ทำไมเพื่อนหรือคนใกล้ตัวจึงมีเงินมากกว่าเรา

     สารพัดคำตอบที่เราคิด  เช่น.. อาจเป็นเพราะเขาเหล่านั้นสามารถออมเงินในกระเป๋าได้ดีกว่าเราจึงมีเงินเหลือไปใช้จ่ายสิ่งของต่างๆ หรืออาจเพราะเขาเหล่านี้มีต้นทุนชีวิตที่สูงกว่าเรา ฯลฯ

     ท่ามกลางคำถามคำตอบเหล่านี้  ทราบหรือไม่ว่า เราทุกคนสามารถเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเศรษฐีเงินล้านได้  ด้วยการวางแผนทางการเงินที่ดี  ผ่านการแนะนำของมืออาชีพโดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย

       คำว่า "การวางแผนทางการเงิน" ก็คือการบริหารจัดการทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินที่เรามีอยู่ให้เกิดผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้  วันนี้ "การวางแผนทางการเงิน" ไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่อีกต่อไป  ใครก็ตามที่ได้เงิน  ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่รับค่าขนมรายเดือน, ได้เงินจากงานพาร์ทไทม์  และในอนาคตเมื่อเริ่มต้นทำงาน  นับตั่งแต่เงินเดือนแรกเราก็ควรวางแผนทางการเงิน  เพราะยิ่งเราเริ่มต้นเร็วก็จะมีโอกาสมากกว่าซึ่งการวางแผนทางการเงิน  มี 2 สิ่งที่ต้องคิด คือ


    1. กำหนดเป้าหมาย
    2. วางแผนการบริหารจัดการเรื่องเงินๆ  ทองๆ ของเรา

     วางเป้าหมายชัดเจน : ฝันล้าน  ต้องหาให้ได้ล้าน

        การวางเป้าหมายให้ชัดเจน  นับเป็นหัวใจสำคัญของการวางแผนการเงิน  ฟังดูง่าย  แต่การวางเป้าหมายอาจมีจุดเริ่มต้นมาจากความอยากได้สิ่งต่างๆ ของเรา เช่น ฝันอยากมีเงินล้านก่อนอายุ 30 ปี, อยากมีเงินดาวน์คอนโดฯ  ทันทีที่เรียนจบ  หรืออยากท่องเที่ยวยุโรปตอนอายุ 25 ปี ฯลฯ เหล่านี้คือการตั้งเป้าหมายที่มีการกำหนดมูลค่าและระยะเวลาที่ชัดเจน  ทำให้เรารู้ว่ามีระยะเวลาที่เหลืออยู่เท่าไหร่เพื่อที่จะพิชิตเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

       ในเรื่องนี้มีข้อคิดสำคัญคือ   เราอยากให้คุณกำหนดเป้าหมายทั้งระยะสั้น  กลาง และยาว คิดไปให้ไกลถึงตอนเกษียณเลยก็ได้ว่าคุณอยากส่องกระจกแล้วเห็นตัวเองเป็นอย่างไรเมื่อตอนอายุ 60 ปี? ลองทำการบ้านกับตัวเองดู  ให้เวลาตัวเองสักนิด  คิดให้ถึ่ถ้วน  สามารถปรึกษาครอบครัวหรือคนรู้จักก็ได้

     บริหารเงินเริ่มต้นได้ทันที  เพราะมีมืออาชีพช่วยเหลือ

       เมื่อรู้ว่าเรามีรายได้เท่าไหร่  รายจ่ายเท่าใด  เป้าหมายที่ชัดเจนของเราก็เหมือนกับตุดหมายการเดินทาง

      เมื่อรู้เป้าหมายแล้ว  ขั้นตอนต่อไปคือการเลือก "พาหนะ" ที่จะนำคุณไปให้ถึงเส้นทางนั้นๆ เช่น การพิชิตเงนิล้านก่อนอายุ 30 ปี  ถ้าให้คิดเร็วๆ เราก็ต้องเริ่มสะสมเงินตั้งแต่วันนี้ด้วยการออมเงิน  การออมเป็นสิ่งที่ดีและมั่นคง  แต่ต้องพิจารณากับสัดส่วนของเงินที่ได้ต่อเดือนและระยะเวลาของเป้าหมายของเราด้วยว่าเป็นไปได้แค่ไหน

       เพราะหากเรากำหนดเป้าหมายไว้สูง  แต่เลือกออมเพียงอย่างเดียวก็เหมือนกับการเลือกขี่จักรยานขึ้นภูเขา  ซึ่งจักรยานอาจไม่ใช่พาหนะที่ถูกที่ควรนัก

      ในโลกของการเงิน  มี "พาหนะ" ให้เราเลือกมากมาย  และมีคุณสมบัติทำให้เงินของเรางอกเงยได้ต่างกัน  ซึ่งมีความเหมาะสมกับแต่ละบุคคลและช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปด้วย เช่น

     บริหารเงินผ่าน  ธนาคาร  จะได้ผลตอบแทนต่ำ  ความเสี่ยงต่ำ  สภาพคล่องสูง  ฝากถอนเมื่อไหร่ก็ได้

     ซื้อพันธบัตร/สลากออมสิน  จะได้ผลตอบแทนต่ำ  ความเสี่ยงต่ำ  สภาพคล่อต่ำกว่าการฝากเงิน
   
     ลงทุนในหุ้น  หรือกองทุนรวม  ผลตอบแทนสูง  ความเสี่ยงสูงตาม  ใช้ความรู้ความสามารถในการเลือก  อาจจะมีผลประโยชน์ทางด้านภาษี

     ซื้อประกัน   มีความคุ้มครอง  อาจจะได้รับผลตอบแทนบ้าง  และลดหย่อนภาษีได้

      นอกจากนี้  ยังมีสินค้าทางการเงินอื่นๆ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก  สินค้าทางการเงินที่จะพาเราไปสู่จุหมายนั้นต้องศึกษาข้อกำหนดให้ดี  และต้อรับรู้ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและศึกษาให้เข้าใจก่อนจะตัดสินใจเลือกวิธีการใด  ซึ่งการเดินทางไปสู่จุดหมาย  เราอาจต้องใช้หลายพาหนะ  จึงต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกด้วย

      อาจฟังดูน่าปวดหัว  แต่อย่าเพิ่งเปลี่ยนเป้าหมายของคุณเพราะว่าขยาดกับการวางแผนการเงิน  เพราะปัจจุบันเรามีตัวช่วย  คือ  "นักวางแผนการเงิน CFP" หรือผู้ประกอบวิชาชีพนักวางแผนการเงิน  ที่สามารถให้บริการวางแผนการเงิน  ซึ่งประกอบไปด้วย  แผนการลงทุน  แผนการประกันชีวิต  แผนภาษีและมรดก  และแผนเพื่อวัยเกษียณแก่ลูกค้า

    นักวางแผนการเงิน "CFP" 

       นักวางแผนการเงิน "CFP" เปรียบเสมือนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างจุดที่เราอยู่ในปัจจุบันไปสู่เป้าหมายในอนาคต


      บริการของนักวางแผนการเงิน "CFP" จะครอบคุมทั้งการให้คำปรึกษาและจัดทำแผนการเงิน  ในทุกๆ ด้านตามที่กล่าวมา  ภายใต้ข้อจำกัดและเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละบุคคล  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเงินตามต้องการ  และมีชีวิตภายหลังเกษียณอย่างมีความสุข  นักวางแผนการเงิน "CFP" จึงเปรียบเสมือนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างจุดที่เราอยู่ในปัจจุบันไปสู่เป้าหมายในอนาคต  โดยนักวางแผนการเงิน "CFP" จะต้องสอบผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด  และปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ

      และช่วงนี้ต้องถือว่าเป็นโอกาสดีสำหรับคุณๆ ที่สนใจในเรื่องการวางแผนทางการเงิน  คุณสามารถเริ่มต้นวางแผนทางการเงินผ่านมืออาชีพได้ฟรี ณ จุดบริการ  Wealth coaching จากสุดยอกนักวางแผนทางการเงินแบบตัวต่อตัว ในงาน Set in The City 2014 ระหว่างวันที่ 20 - 23 พ.ย. 2557 นี้  ที่ รอยัล ฮอลล์  ชั้น 5 สยามพารากอน  ลงทะเบียนล่วงหน้าที่ http://tfpa.or.th/event/

     เมื่อคุณลงทะเบียนล่วงหน้าแล้ว  สามารถจูงมือทั้งครอบครัวไปช่วยกันคิดช่วยกันฟังได้  แต่อย่าลืมทำการบ้านเรื่องเป้าหมายให้ชัดเจนไปด้วย  และเมื่อคุณได้รับแผนการบริหารจัดการเงินมาแล้ว  เส้นทางต่อไปจากนั้นคือการดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด  พร้อมกับตรวจสอบและปรับแผนตามสถาณการณ์  เพียงเท่านี้คุณก็จะสามารถมีเงินล้านได้ตามฝันอย่างแน่นอน

     และนอกจากเรื่องการวางแผนทางการเงินแล้ว  ภายในงาน SET in The City 2014 ยังมีกิจกรรมน่าสนใจให้คุณได้เรียนรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนอีกด้วย  สามารถดูรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ  ภายในงาน ได้ที่  www.set.or.th/setinthecity
   

Sunday, November 16, 2014

vi ออกหุ้นเพิ่ม - ซื้อหุ้นคืน

   

    ในตลาดหุ้นไทยนั้น  อาจจะเป็นเพราะคนที่เข้ามาซื้อขายหุ้นจำนวนมากเป็นนักลงทุนส่วนบุคคลที่เข้ามา  “เล่นหุ้น”  เพื่อหวังทำกำไรระยะสั้นในลักษณะของการ “เก็งกำไร”  ดังนั้น  ผลประกอบการระยะยาวของบริษัทจึงไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาจะสนใจมากนัก  สิ่งที่เขาสนใจมากกว่าก็คือ  ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงในระยะสั้น  และสิ่งที่พวกเขาคิดว่าจะทำให้หุ้นขึ้นหรือลงในระยะสั้นนั้น  นอกจากผลประกอบการในระยะสั้นเพียงหนึ่งหรือสองไตรมาศแล้วก็คือ  “ข่าว”  ต่าง ๆ  ที่พวกเขาคิดว่ามีผลต่อราคาหุ้นในระยะสั้นหรือทำให้มูลค่าหุ้นโดยรวมของเขาเพิ่มขึ้น  ซึ่งการประกาศเรื่องหนึ่งที่มีผลค่อนข้างมากต่อมูลค่าหุ้นโดยรวมก็คือ  ข่าวการ  “ออกหุ้นเพิ่ม” และการ “ซื้อหุ้นคืน” ของบริษัท  อย่างไรก็ตาม  เรามาดูกันว่าเรื่องนี้จะมีผลอย่างไร  ทั้งในด้านของผลกระทบต่อราคาหุ้นและมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทในด้านของพื้นฐาน


ก่อนอื่นคงต้องบอกเสียก่อนว่า  ในความคิดของ Value Investor “พันธุ์แท้” นั้น  การออกหุ้นเพิ่มแทบจะร้อยทั้งร้อยมักเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์  เพราะพวกเขาคิดว่านี่คือการ “ดูดเงิน” เข้าบริษัทของธุรกิจ  การดึงเงินเข้าบริษัทนั้นอาจจะส่งผลดีต่อฐานะทางการเงินของกิจการ  แต่การมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นมานั้นก็จะทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง  ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าของกิจการ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  มูลค่าของหุ้นในทางทฤษฎีนั้น  จะมากหรือน้อย  ขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดที่บริษัทจะ  “จ่ายออก” มาให้ผู้ถือหุ้นมากหรือน้อยและจ่ายออกมาเร็วหรือจ่ายออกมาช้า  ส่วนการ “ดูดเงิน” เข้านั้นจะเป็นตัว  “ทำลาย” มูลค่าของหุ้น  ประเด็นสำคัญก็คือ  VI ที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่ดีมาก ๆ  แนวซุปเปอร์สต็อกนั้น  มักจะไม่ชอบลงทุนในกิจการที่มีผลกำไรต่ำและต้องลงทุนมาก  พวกเขาชอบบริษัทที่ทำกำไรดีและมีกระแสเงินสดดีมากที่มักจะไม่มีความจำเป็นต้องระดมเงินเข้าบริษัท  ดังนั้น  บริษัทที่พวกเขาลงทุนจึงไม่ใคร่มีความจำเป็นที่จะต้อง  “หาเงิน” โดยการออกหุ้นใหม่  ตรงกันข้าม  หุ้นเหล่านั้นมักจะ  “จ่ายเงิน”  ออกมาให้กับผู้ถือหุ้น  โดยวิธีการจ่ายปันผล  หรือไม่ก็โดยการซื้อหุ้นคืน

การออกหุ้นเพิ่มเพื่อระดมเงินเข้าบริษัทนั้น  มีสองวิธีใหญ่ ๆ  คือ  การออกหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิมที่เป็นการให้สิทธิในการจองซื้อ  ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดนั้นมักจะกำหนดราคาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับราคาตลาด  และจำนวนมากนั้นบริษัทก็จะจ่ายปันผลเป็นเงินสดเพื่อที่จะเอามาจองหุ้นและจ่ายภาษีเงินปันผล  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  บริษัทจ่ายปันผลเป็นหุ้น  ในกรณีแบบนี้ก็อาจจะถือได้ว่าบริษัทไม่ได้ดูดเงินของผู้ถือหุ้น  แต่บริษัทก็ไม่ได้จ่ายเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นอย่างที่ควรจะทำ  ถามว่าดีหรือไม่ต่อมูลค่าของกิจการ?  คำตอบขึ้นอยู่กับว่าเงินที่เก็บเอาไว้นั้นเอาไปทำอะไร  ถ้าเงินนั้นสามารถเอาไปลงทุนเพื่อขยายกิจการอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีโอกาสทางธุรกิจสูงและ “รอไม่ได้”  เนื่องจากจะทำให้คู่แข่งเข้ามา “ยึดหัวหาด” แทน  ในกรณีแบบนี้ก็น่าจะพอรับได้  และมันอาจจะช่วยให้มูลค่าหุ้นของบริษัทดีขึ้น   แต่ถ้าไม่ใช่  มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีและอาจจะเป็นสันญาณว่าบริษัทกำลังขาดเงินหรือบริษัทกำลังนำเงินไปทำในสิ่งที่สุ่มเสี่ยงและอาจเกิดความเสียหายได้

การออกหุ้นใหม่โดยการให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นเดิมนั้น  หลายครั้งและหลายบริษัทยังมีการออกวอแร้นต์ซึ่งก็คือสิทธิในการซื้อหุ้นใหม่ในเวลาที่กำหนด “แถม” ให้ด้วย   วอแร้นต์นั้นมักจะกำหนดราคาที่สูงกว่าราคาหุ้นในตลาดในวันที่ออก  ดังนั้น  คนก็จะยังไม่ใช้สิทธิในการซื้อหุ้นจนกว่าราคาตลาดจะสูงเกินกว่าราคาใช้สิทธิ  ผลก็คือ  บริษัทยังไม่ได้ “ดูด” เงินหรือไม่ได้เงินมาใช้  และบริษัทก็ไม่ได้จ่ายเงินสดมาให้กับผู้ถือหุ้น  แต่ผู้ถือหุ้นเองนั้นกลับสามารถนำวอแรนต์ไปขายได้เงินสดมา  การที่ผู้ถือหุ้นได้เงินสดนั้น  พวกเขาก็ตีความเสมือนว่าเป็น “ปันผล” ที่เพิ่มขึ้น  ดังนั้น  พวกเขาจึงคิดว่าหุ้นจะต้องมีมูลค่าสูงขึ้นและดังนั้นนักลงทุนก็จะเข้ามา  “เก็งกำไร”  ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมา   แต่นี่ไม่ได้ตรงกับพื้นฐานที่ควรจะเป็นจริง ๆ  เพราะวอแร้นต์ที่ออกมานั้น  ถ้าในอนาคตถูกใช้สิทธิซื้อหุ้นใหม่  จำนวนหุ้นของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้กำไรและปันผลต่อหุ้นลดลง  ดังนั้น  คนที่จะเข้ามาซื้อหุ้นหลังจากวอแรนต์ออกไปแล้วจึงต้องคำนึงถึงหุ้นที่จะเพิ่มส่วนนี้  ข้อสรุปก็คือ การออกวอแร้นต์นั้น  มักจะไม่ได้มีผลอะไรต่อพื้นฐานของบริษัท   อาจจะดีต่อผู้ถือหุ้นเดิมที่ถือหุ้นและได้วอแร้นต์มาฟรีสามารถนำไปขายได้เงินสดมาคล้าย ๆ  กับได้ปันผล  แต่จะเป็นข้อเสียสำหรับนักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นภายหลังและไม่รู้ว่าอนาคตการเติบโตของกำไรของบริษัทจะลดลงเพราะอาจจะมีหุ้นใหม่ที่เกิดจากการใช้สิทธิของวอแร้นต์

การออกหุ้นใหม่ขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในราคาต่ำโดยไม่มีวอแร้นต์นั้น  เป็นการ “ดูดเงิน” จากผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้นก็เพิ่มขึ้นทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง   ดังนั้น  นักลงทุนก็มักจะประเมินมูลค่าหุ้นโดยรวมลดลง  แต่การออกหุ้นใหม่ให้กับนักลงทุนคนอื่นหรือที่เรียกว่าทำ PP นั้น  มีความแตกต่างออกไป  ประการแรก  มันไม่ได้ “ดูดเงิน” จากผู้ถือหุ้นเดิมและประการที่สอง  ราคาที่ขายนั้นก็มักจะใกล้เคียงกับราคาตลาดทำให้บริษัทได้เงินมาใช้มากเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น  ผลก็คือ  กำไรต่อหุ้นก็อาจจะไม่ลดลงหรือลดไม่มาก  มูลค่าหุ้นของบริษัทตามพื้นฐานจึงไม่ถูกกระทบและราคาหุ้นก็มักจะไม่ไปไหนมาก

อย่างไรก็ตาม  ในระยะหลังนี้  การออกหุ้นใหม่ที่เป็นแบบ PP ของหลายบริษัทกลับตั้งราคาขายที่ต่ำมาก  บางรายต่ำกว่าราคาหุ้นในตลาดหลายเท่า  ผลกระทบต่อกิจการก็คือ  บริษัทได้เงินมาใช้ในกิจการไม่มาก  แต่จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นนั้นสูงกว่ามาก  กำไรต่อหุ้นของบริษัทจึงน่าจะลดลงมาก  มองในแง่นี้  มูลค่าของหุ้นก็น่าจะลดลงอย่างรุนแรง    อย่างไรก็ตาม  หุ้นหลายตัวกลับมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก  ประเด็นอาจจะเป็นว่า  กิจการเหล่านั้นจริง ๆ  แล้วนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นเดิมนั้นไม่ใคร่มีความหวังที่จะได้ปันผลเป็นเงินสดอยู่แล้วและความหวังในอนาคตก็ “ริบหรี่”  การได้เงินจาก  “คนอื่น”  มาช่วยกู้ฐานะของกิจการจะทำให้บริษัทดีขึ้น  เติบโต และสามารถทำกำไรและจ่ายปันผลได้  ดังนั้น  คนจึงเข้ามาซื้อหุ้น “เก็งกำไร” ทำให้หุ้นขึ้นไปมหาศาล  แต่ข้อสรุปของผมก็คือ  ในกรณีแบบนี้  พื้นฐานของบริษัทคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก  มูลค่ากิจการก็น่าจะใกล้เคียงกับของเดิม  คนที่ซื้อหุ้น PP คงได้กำไรมหาศาล  ส่วนคนที่ขาดทุนน่าจะเป็นคนที่เข้าไปซื้อหุ้น  “เก็งกำไร”  ที่มีราคาหรือมูลค่าสูงขึ้นมาก

การซื้อหุ้นคืนนั้น  ตรงกันข้ามกับการขายหุ้นเพิ่ม  ผลกระทบสุดท้ายจริง ๆ  ก็คือ  การ  “จ่ายเงินสด” ออกไปและ  “ลดจำนวนหุ้น” ลงซึ่งจะทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น  นี่คือวิธีการที่ช่วยเพิ่มมูลค่าหุ้นได้มากในทัศนะของวอเร็น บัฟเฟตต์  และเหตุผลที่ทำได้ต่อเนื่องยาวนานก็เพราะว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรสูง  มีกระแสเงินสดดีและเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนมาก   อย่างไรก็ตาม  ในตลาดหุ้นไทยนั้น  บริษัทที่ประกาศซื้อหุ้นคืนส่วนใหญ่มักจะทำตอนหุ้นตกหนักและผู้บริหารต้องการ “พยุง” หรือรักษาราคาหุ้นไว้  พวกเขาอาจจะคิดว่าการประกาศจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนรวมถึงการที่มี  “แรงซื้อ”  จากเงินก้อนใหญ่มากของบริษัทจะทำให้ราคาหุ้นยืนอยู่ได้หรืออาจจะวิ่งขึ้นด้วยซ้ำ  อย่างไรก็ตาม  หุ้นที่มีการซื้อคืนจำนวนมากต่างก็ไม่ใคร่จะดีนัก  หลายตัวราคาก็ยังตกต่ำอยู่ดีหลังมีการประกาศซื้อคืน  เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเมื่อบริษัทเริ่มซื้อหุ้นคืนระยะหนึ่งแล้วหุ้นก็ยังตกลงไปอีก  แต่พอถึงจุดนั้น  แทนที่บริษัทจะซื้อหุ้นเพิ่ม  บริษัทกลับหยุดซื้อ  ซึ่งก็เหมือนกับว่าเหตุผลที่ซื้อหุ้นคืนนั้นไม่ใช่เพราะเห็นว่าหุ้นมีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน  แต่ที่ประกาศซื้อคืนนั้น  เป็นเรื่องของการพยุงราคาที่อาจจะไม่เกี่ยวกับพื้นฐานของกิจการจริง ๆ

ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  การประกาศเพิ่มทุน  ออกหุ้นเพิ่ม  ให้สิทธิผู้ถือหุ้น  ขายหุ้นแก่นักลงทุนอื่น  แจกวอแร้นต์  หรือแม้แต่ซื้อหุ้นคืน  รวมถึงการลดพาร์ของหุ้นและอื่น ๆ  ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น  ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของการ  “เล่นเกม” การเงินที่พยายามเพิ่มราคาและมูลค่าหุ้นโดยที่มีผลกระทบกับพื้นฐานน้อย  ดังนั้น  ผมจะไม่ใคร่ชอบ  หุ้นจำนวนมากนั้นผมหลีกเลี่ยงเนื่องจากมันมีหุ้นจดทะเบียนค้างคารุงรังไปหมดผ่านวอแร้นต์จำนวนมหาศาลที่ไม่รู้ว่าจะแปลงมาเป็นหุ้นเมื่อไร  และดังนั้น  มันจึงไม่เหมาะที่จะถือระยะยาว  แต่เหมาะกับการเล่นเก็งกำไรสำหรับคนที่รู้ข้อมูลและคนที่มีโอกาสในการเล่นเกมนี้มากกว่าคนอื่น

ดร.นิเวศน์  เหม

Monday, November 10, 2014

Amazing Japan

         

     ผมเพิ่งกลับจากการเที่ยวเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆ  นี้  ซึ่งก็ทำให้ผมได้ความรู้และความเข้าใจในประเทศและคนญี่ปุ่นมากขึ้น  ว่าที่จริง  ผมเองไปเยี่ยมเยือนญี่ปุ่นมาหลายครั้งและต้องถือว่าเป็นประเทศที่ผมไปเที่ยวมากที่สุดประเทศหนึ่ง  ไม่ใช่ว่าผมจะชอบมากเป็นพิเศษ  แต่เหตุผลสำคัญก็เพราะว่าคนใกล้ชิดผมนั้นชอบไปเนื่องจากญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่ “อะไร ๆ  ก็ดูดีไปหมด”  แม้ว่าจะไม่มีอะไรที่ดูมหัศจรรย์หรือน่าทึ่งอย่างปิรามิดหรือกำแพงเมืองจีน  แต่ญี่ปุ่นมีสินค้ามากมายที่  “กุ๊กกิ๊ก”  สภาพของเมืองและสถานที่ที่สะอาดดูดี  มีดอกและใบไม้ที่สวยงามในบางช่วงเวลา  มีคนที่สุภาพน่ารัก  มีอาหารการกินที่คุ้นปาก  มีสถานที่ท่องเที่ยวที่จัดสร้างและบริหารอย่างดีซึ่งรวมถึงสวนสัตว์และสวนสนุกที่ทำได้ดีมากไม่นับโบราณสถานที่ไม่ด้อยกว่าใครในย่านนี้  และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมไปมากขึ้นยังอยู่ที่การเปิดให้นักท่องเที่ยวไทยเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องมีวีซ่าเพื่อที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  คนไทยที่ไปญี่ปุ่นหลังการเปิดให้เข้าประเทศโดยไม่ต้องมีวีซ่าเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด  เข้าใจว่าถึง 50% และผมก็รู้สึกได้จากการที่พบคนไทยจำนวนมากที่ฮอกไกโด


ความ “น่าทึ่ง” ของญี่ปุ่นนั้น  ผมคิดว่าไม่ได้อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นในแง่ของสถานที่หรือโบราณสถานหรือการช็อบปิ้ง  แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นแตกต่างจากคนอื่นโดยเฉพาะคนไทยมากนั้นอยู่ที่คนและสังคมของคนญี่ปุ่นเองที่ผมคิดว่าหาได้ยากในโลกนี้  ในมุมหนึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่  “สมบูรณ์แบบ” ในแง่ที่ว่ามันทำให้การอยู่ร่วมกันของคนญี่ปุ่นมีความกลมเกลียว  ปรองดอง  และช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี  การทะเลาะเบาะแว้งทำร้ายกันหรือการโกงหรือฉ้อฉลมีน้อยมากเมื่อเทียบกับสังคมอื่น ๆ  ทั้ง ๆ ที่เป็นสังคมหรือประเทศที่ใหญ่มาก  มีผู้คนกว่าร้อยล้านคนและอยู่กันอย่าง “แออัด”  นอกจากนั้น  นิสัยและพฤติกรรมนั้นยังส่งมาถึงนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนอย่างตัวผมด้วย  

เริ่มที่ระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่นนั้น  ต้องบอกว่าเป็นจุดเด่นที่หาไม่ได้ง่ายในสังคมอื่น  การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่มีการกำหนดไว้นั้นจะเป็นไปอย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก  และเนื่องจากคนเกือบทั้งหมดทำตาม  คนที่ไม่ปฏิบัติจะถูกมองในแง่ที่ไม่ดีมาก  ผลก็คือ  น้อยคนจะ “แหกกฎ”   ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น  การทิ้งขยะของแต่ละบ้านนั้น  เขาจะมีเวลากำหนดให้ทิ้งแน่นอนและขยะทุกชิ้นจะต้องมีการแยกแยะอย่างถูกต้องออกเป็นหลายใบ เช่น  ขยะเปียกหรือแห้งหรือขยะที่สามารถรีไซเคิลได้  เป็นต้น   ส่วนในที่สาธารณะนั้น  คนญี่ปุ่นจะไม่ทิ้งสิ่งของลงบนพื้น  ในบางกรณีที่ไม่สามารถหาถังขยะได้ซึ่งก็เกิดได้บ่อย ๆ  พวกเขาจะต้องเก็บกลับไปทิ้งที่บ้าน  ดังนั้น  ถนนหนทางและที่สาธารณะของญี่ปุ่นนั้นจะสะอาดมาก   ไม่ต้องพูดถึงขยะ  แม้แต่ใบไม้ก็มักจะถูกเก็บโดยเจ้าของบ้านที่ต่างก็ต้องกวาดเก็บหน้าบ้านให้ดูสะอาดทุกวัน

คนไทยคงจำได้ถึงภาพที่คนญี่ปุ่นต่อแถวรับอาหารหรือความช่วยเหลือจากกรณีสึนามิอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่มีการแซงคิวหรือแก่งแย่งกันทั้ง ๆ  ที่กำลังประสบความลำบากเหลือล้น   นั่นเป็นเรื่องปกติ  การเข้าคิวเพื่อรับบริการต่าง ๆ  หรือใช้บริการหรือทำสิ่งต่าง ๆ  นั้น  จะไม่มีการแซงคิวกันเลย  แม้แต่การข้ามถนน  ถึงจะไม่มีรถมาทุกคนต่างก็จะรอจนสัญญาณไฟเขียวขึ้นจึงจะข้าม  คนญี่ปุ่นนั้น  ตั้งแต่เด็กก็ถูกฝึกให้เป็นคนมีวินัยสูงมาก  ครูสอนเปียโนอย่างภรรยาผมเล่าว่า  เด็กเล็กชาติอื่นนั้น  มักจะไม่ค่อยซ้อมตามที่ครูสั่งก่อนเข้าเรียน  เวลาเรียน ก็มักจะลุกเดินไปมาและหาเรื่องคุย  แต่เด็กญี่ปุ่นนั้น  จะทำการบ้านหรือซ้อมเล่นตามที่ครูสั่งเสมอ  เวลาเรียนก็มักจะตั้งใจมีสมาธิในการเรียน  ผมเคยเห็นเด็กอนุบาลขึ้นรถไฟจากบ้านไปเรียนคนเดียวที่ญี่ปุ่นแล้วก็รู้สึกทึ่ง  ผมเพิ่งรู้จักไก้ด์คนไทยที่เคยเรียนที่ญี่ปุ่นเล่าให้ฟังว่า  เขาไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองมาส่ง  แต่ที่เขาทำอย่างนั้นได้ผมคิดว่าเป็นเพราะที่ญี่ปุ่นนั้นสถิติอาชญากรรมต่ำมาก  และโรงเรียนก็ไม่ไกลจากบ้านและเด็กก็ไม่ไปเรียนที่ไกล ๆ  เนื่องจากโรงเรียนที่ญี่ปุ่นในระดับเด็กนั้นต่างก็มีมาตรฐานเท่ากัน

จุดที่เด่นมากที่สุดของญี่ปุ่นนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องของวินัย  แต่เป็นเรื่องของความ  “เสมอภาค” ที่คนญี่ปุ่นยึดถือเมื่อมองคนอื่นหรือปฏิบัติต่อคนอื่น  ทุกคนเคารพสิทธิของคนอื่นอย่างเท่าเทียมกับสิทธิของตนเอง  เวลาจะทำอะไรจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้  และเรื่องของวินัยหลาย ๆ  เรื่องก็เกิดจากเรื่องนี้  เช่น  ที่เขาไม่แซงคิวคนอื่นก็เพราะเขารู้สึกว่าทุกคนเสมอกัน  การแซงคิวก็คือการไม่เคารพสิทธิของคนอื่นที่มาก่อนและต้องได้สิทธิก่อน  ดังนั้น  เรื่องของ  “มนุษย์ป้าหรือมนุษย์ลุง” ที่เอาเปรียบคนอื่นจึงไม่มี  เรื่องสิทธิของคนอื่นนั้นกินความไปถึงสิทธิที่จะอยู่อย่างสงบไม่มีใครมารบกวนไม่ว่ากรณีใดด้วย  ดังนั้น  เวลาที่ใครต้องการเลี้ยงสุนัข  สิ่งสำคัญก็คือเขาจะต้องเอาสุนัขไปเข้าโรงเรียนเพื่อสอนให้ไม่เห่าทำเสียงดังรบกวนชาวบ้านด้วย  พูดถึงความเสมอภาคแล้วต้องยอมรับว่าคนญี่ปุ่นนั้น  มีความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศอื่น ๆ    รายได้ระหว่างพนักงานในบริษัทที่เป็นผู้บริหารกับพนักงานนั้นไม่ต่างกันมาก  ผมเคยได้รับฟังมาว่าผู้บริหารกับคนขับรถของบริษัทใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่นนั้นเงินเดือนอาจจะห่างกันแค่ 1 หรือ 2 เท่าตัวในขณะที่ในประเทศไทยนั้นอาจจะเป็น 8 หรือ 10 เท่า  และนี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นนั้นมีความเสมอภาคกันสูงมาก

ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าแปลกเหมือนกันเมื่อคำนึงถึงว่าคนญี่ปุ่นนั้นเป็นคนที่เก่งและฉลาดวัดจาก IQ ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก  พวกเขาจะโค้งให้กันและกันเวลาพบเจอและทักทายกันไม่ว่าจะเป็นคนที่สูงกว่าในด้านของอายุหรือฐานันดรหรือความมั่งคั่ง  คำพูดในภาษาญี่ปุ่นนั้นบางทีจะรู้สึกว่ายาวมากในแต่ละประโยคที่พูด  คนที่รู้ภาษาบอกผมว่าเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่ามันมีความหมายที่เป็นการให้เกียรติหรือให้ความนับถือหรืออะไรทำนองนั้นอยู่ตลอดเวลาในการพูดกับคนอื่น  นอกจากนั้น  คนญี่ปุ่นจะไม่พูดอะไรที่จะทำให้คนอื่นเสียหน้าหรือเป็นการหักหน้าคนอื่น   บ่อยครั้งพวกเขาก็มักจะไม่พูดอะไรเลยในที่ประชุมสาธารณะ

พูดถึงเรื่อง  “หน้าตา” แล้ว  คนญี่ปุ่นคำนึงถึงหน้าตาสูงมาก  พวกเขาจะไม่ทำอะไรที่ทำให้หน้าตาเขาดูไม่ดี  พวกเขาต้องใช้สินค้าเช่นเสื้อผ้าที่มียี่ห้อดีถ้าสามารถทำได้  ว่ากันว่าผู้ชายญี่ปุ่นนั้นเลิกงานแล้วต้องกลับบ้านค่ำ  เพราะถ้ากลับเร็วจะถูกมองว่าไม่ได้ไปดื่มสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานที่เป็นธรรมเนียมของพนักงานที่ทำงานหนักและมีสังคมที่จะมีความก้าวหน้า  ซึ่งนั่นหมายความว่าคุณเป็นพนักงานที่ไม่ค่อยมีอนาคต  ในด้านของผู้หญิงเอง  เมื่อแต่งงานแล้วก็มักจะต้องออกมาเป็นแม่บ้าน  ถ้ายังทำงานต่อก็จะถูกมองว่าสามีคงไม่ค่อยมีปัญญาเลี้ยงภรรยา  แต่เรื่องนี้ยังเป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ผมเองก็ไม่แน่ใจ  อีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับเรื่องหน้าตาหรือไม่ก็คือ  คนญี่ปุ่นที่ทำงานผิดหรือพลาดนั้น  ก็มักจะต้องออกมาขอโทษต่อหน้าสาธารณชนอย่างที่เราพบเห็นบ่อย ๆ  เวลานักการเมืองหรือผู้บริหารกิจการทำผิดหรือทำพลาดรุนแรง  พวกเขาจะต้องออกมายอมรับและขอขมาซึ่งนี่ก็ตรงกันข้ามกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่คนทำผิดมักจะออกมาปฏิเสธหรือแก้ตัวเสมอ

สุดท้ายคือเรื่องของความ “เนี้ยบ”  ของคนญี่ปุ่นที่ผมประสบทุกครั้งที่มาซื้อของและใช้บริการในญี่ปุ่น  ตัวอย่างเช่น  ไม่ว่าเราจะซื้ออะไรที่ร้าน  เขาก็มักจะห่อด้วยกระดาษของขวัญให้เราเสมอ  ทำให้ดูเป็นของที่มีค่ามากทั้ง ๆ  ที่มันอาจจะเป็นแค่ขนมอบกรอบ  หรืออย่างเวลาเขายื่นของให้เราไม่ว่าจะเป็นจานอาหารหรือเงินทอน  เขาก็จะใช้สองมือจับของสิ่งให้เราเสมอ  และอีกเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจก็คือ  เขาให้บริการทุกคนที่เป็นลูกค้าอย่างเสมอภาค  ไม่เหมือนสังคมอื่นที่มักจะดูว่าเราจะมีทิปให้หรือไม่  และคนญี่ปุ่นเองนั้นก็ไม่มีธรรมเนียมในการให้หรือรับทิปในการให้บริการด้วย

ผมไม่มีเนื้อที่เหลือพอที่จะสรุปอะไรทั้งสิ้น  ดูเหมือนว่าจะเป็นรายการโปรคนญี่ปุ่นสุด ๆ  แต่จริง ๆ  แล้วผมไม่มีอะไรซ่อนเร้น  ผมแค่ทึ่งและผมจึงเขียน  แค่นั้นจริง ๆ

Sunday, November 2, 2014

The Lewis Turning Point



สำหรับนักลงทุนระยะยาวนั้น การคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าประเทศที่ตนเองลงทุนนั้น จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างไรนับว่ามีประโยชน์มาก เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ จะได้รู้ว่าบริษัทจดทะเบียนที่เราจะลงทุนนั้นจะมีการเติบโตเร็วขึ้นหรือช้าลงและอาจจะหยุดโตเมื่อไรตามภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ประเทศหรือสังคมที่เศรษฐกิจไม่โตนั้น โอกาสก็ยากที่ดัชนีหุ้นของประเทศจะปรับตัวขึ้นไปได้มาก ตัวอย่างของตลาดหุ้นในยุโรปและญี่ปุ่นที่ไม่ไปไหนมานานตามภาวะเศรษฐกิจที่โตน้อยมากมานานย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดี ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างไร? เรื่องนี้ผมคิดว่าโมเดลของ Arthur Lewis นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิล ที่ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องของการพัฒนาทางเศรษฐกิจตั้งแต่ 60 ปีที่แล้วสามารถจะอธิบายได้ดี....


แนวความคิดของ Lewis ก็คือ ในสังคมที่มีคนอยู่ในสองภาค ภาคหนึ่งคือสังคมแบบ “ทุนนิยม” เช่นในเมืองหลวงหรือเมืองท่าขนาดใหญ่ กับอีกภาคหนึ่งคือสังคมแบบ “พออยู่พอกิน” เช่นในชนบทหรือในต่างจังหวัดที่ห่างไกลนั้น กระบวนการการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะเริ่มต้นโดยที่โรงงานอุตสาหกรรมหรือธุรกิจสามารถที่จะลงทุนขยายงานโดยที่มี “แรงงานส่วนเกินที่ไม่จำกัด” จากชนบท ดังนั้นพวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม นี่ทำให้ธุรกิจมีกำไรดีกว่าปกติและกำไรที่ได้ก็นำไปลงทุนขยายงานเพิ่มโดยที่สามารถดึงคนจากชนบทมาทำงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม กระบวนการนี้ทำให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ จุดที่แรงงานในภาคพออยู่พอกินถูก “ดูดซับ” ไปหมดและการลงทุนเพิ่มต่อไปจะทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นนั้นก็คือจุดที่เรียกว่า “Lewis Turning Point” (LTP)

ณ. จุด LTP นั้น ค่าแรงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การหาแรงงานจะยากขึ้นมาก อุตสาหกรรมที่ต้องจ่ายค่าแรงสูงขึ้นนั้นจะทำให้การลงทุนมีความคุ้มค่าน้อยลงเพราะผลตอบแทนจะต่ำลงส่งผลให้การขยายการลงทุนของประเทศลดลง ผลก็คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะชะลอลงกว่าที่เคยเป็นมาก การที่จะทำให้ประเทศเจริญเติบโตต่อไปนั้น ก็จะต้องอาศัยแรงงานใหม่นั่นก็คือ คนที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นแรงงานใหม่ แต่โดยปกติมันมักจะไม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเหมือนกับการเคลื่อนย้ายคนจากภาคเกษตรในต่างจังหวัดอยู่แล้ว อีกวิธีหนึ่งก็คือ การเพิ่ม Productivity หรือผลิตภาพของแรงงานให้มีความสามารถในการทำงานสูงขึ้นซึ่งอาจจะใช้การเพิ่มสัดส่วนของเครื่องจักร เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ เหมือนกับการดึงคนที่มีค่าแรงต่ำจากภาคเกษตรมาทำงาน

ประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่ามีการพัฒนาทางเศรษฐกิจตรงกับโมเดลของ Arthur Lewis ก็คือจีน ส่วนตัวผมเชื่อว่าประเทศไทยเองก็เป็นแบบเดียวกัน ว่า เศรษฐกิจของเรากำลังมุ่งเข้าสู่ “จุดกลับของลิวอิส” หรือ LTP ซึ่งหมายความว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะช้าลงเมื่อเทียบกับอดีต “อย่าถาวร” สิ่งที่ทำให้เชื่อว่าเป็นอย่างนั้นก็คือ ในปัจจุบันการหาแรงงานของไทยนั้นยากขึ้นมากจนเราต้องนำเข้าแรงงานจากเพื่อนบ้านจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ค่าแรงเองก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเร็ว ๆ นี้ และว่ากันว่าในชนบทของไทยนั้น เวลานี้มีแต่คนแก่กับเด็ก อัตราการว่างงานของไทยนั้นต่ำมากจนแทบเป็นศูนย์ ส่วนคนหนุ่มสาวต่างก็เข้ามาทำงานในเมืองกันหมด ประเทศจีนเองนั้นก็มีอาการแบบเดียวกันที่ค่าแรงปรับตัวขึ้นสูงจากที่เคยต่ำมากจนเวลานี้สูงกว่าค่าแรงของไทยไปแล้ว

ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ Demography หรือโครงสร้างประชากรของทั้งจีนและไทยนั้นต่างก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการที่ประชากรวัยทำงานจะเพิ่มขึ้น มีการศึกษาและพบว่าประชากรในวัยทำงานทั้งของจีนและไทยนั้นจะเพิ่มขึ้นอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้นก็จะลดลง คาดการณ์กันว่าอาจจะภายในปี 2020-2025 หรือประมาณ 6-11 ปี จีนก็อาจจะถึงจุด LTP ส่วนของไทยเองนั้น ผมก็คิดว่าไม่ต่างกันมาก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นและไม่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นเช่นการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพของแรงงาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศก็จะช้าลงมาก

โครงสร้างประชากรของจีนนั้น กล่าวกันว่ามีความผิดเพี้ยนไปอย่างแรงตรงที่มีนโยบาย “ลูกคนเดียว” มานานซึ่งทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ในช่วงเวลานั้นมีน้อยลงไปมาก แม้ว่าในขณะนี้เริ่มจะมีการปรับในบางเขตของประเทศ ก็ไม่น่าจะทันกาล ส่วนของไทยเองนั้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน “รุ่นใหม่” ทำให้เรามีลูกน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด ผมดูตัวเลขประชากรของไทยกับของจีนแล้วปรากฏว่าต่างก็มีโครงสร้างประชากรใกล้เคียงกันมากทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้มีนโยบายลูกคนเดียวแบบจีน นั่นคือ เรามีเด็กอายุ 0-14 ปี 17.6% ในขณะที่จีนมี 17.1% อายุ 15-24 ปี เรามี 15% ในขณะที่จีนมี 14.7% ในด้านของคนสูงอายุ ตั้งแต่ 55-64 ปี เรามี 10.9% ขณะที่จีนมี 11.3% และคนที่เกษียณแล้วที่ 65 ปีขึ้นไป เรามี9.5% ในขณะที่จีนมี 9.6% ว่าที่จริงทั้งไทยและจีนต้องบอกว่าเรากำลังเป็นสังคม “คนแก่” ของเอเซียในขณะที่ “คู่แข่ง” ของเราในอาเซียนเองนั้น ต่างก็ยังเป็นสังคมของคน “หนุ่มสาว”

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่น่าจะ “เด็ก” ที่สุด เพราะมีเด็กอายุไม่เกิน 14 ปีสูงถึง 33.7% ของประชากรหรือเกือบเท่าตัวของไทยในขณะที่คนแก่อายุเกิน 65 ปี ที่เกษียณแล้วมีแค่ 4.5% หรือน้อยกว่าครึ่งของไทย ลองลงมาคือมาเลเซียที่มีเด็ก 28.8% และคนแก่แค่ 5.5% ตามด้วยอินโดนีเซีย ที่มีเด็ก 26.2% และคนแก่ 6.5% ทั้งหมดนั้นน่าจะมาจากเรื่องของศาสนาที่ห้ามคุมกำเนิดทำให้มีประชากรเกิดมาก ส่วนเวียตนามซึ่งไม่ได้มีข้อห้ามคุมกำเนิดเองก็ค่อนข้างเป็นสังคมคนหนุ่มสาวมีเด็ก 24.3% และคนแก่เพียง 5.7% ในส่วนของสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แม้ว่าโดยรวมยังอ่อนกว่าไทยเล็กน้อย แต่ตัวเลขเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างฮวบฮาบ ปัจจุบันมีคนแก่ 8.5% แต่มีเด็กเพียง 13.4% เท่านั้น ทำให้สิงคโปร์ต้องรนณรงค์ให้คนมีลูกมากขึ้น

ประเทศคู่แข่ง-และ “คู่ค้า” ที่อยู่รอบบ้านเรานี้ กำลังมาแรงในด้านของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พวกเขายังห่างจากจุด LTP มาก ว่าที่จริงหลายประเทศเพิ่งจะเริ่มพัฒนาทางเศรษฐกิจและอาศัยแรงงานที่มีค่าแรงถูกที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด ไทยเองใกล้หรืออาจจะถึงจุด LTP แล้ว ดังนั้น การที่จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วต่อไปจึงต้องการแรงงานเพิ่มซึ่งในปัจจุบันก็คือแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะเพิ่มคนโดยการกระตุ้นให้คนไทยมีลูกมากขึ้นหรือเปิดรับคนเข้าเมืองแบบ อเมริกาหรือออสเตรเลีย นอกจากนั้น การเพิ่มผลิตภาพของแรงงานเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดเนื่องจากมันจะช่วยสร้างความ “อยู่ดีกินดี” ของประชาชนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากมันต้องอาศัยการศึกษาที่ดีของประชากรและอื่น ๆ อีกมากรวมถึงการจัดการและลงทุนในด้านของสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งก็ต้องอาศัยรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมองการณ์ไกล ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ไทยยังไม่พร้อมนัก

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าเมืองไทยเองนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่จะ “รวม” เป็นเออีซีในปีหน้า เราคงเสียเปรียบ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวเราคงสู้ไม่ได้ และผลที่ตามมาก็คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นก็อาจจะไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม บริษัทจดทะเบียนไทยที่สามารถรุกเข้าไปในเออีซีก็อาจจะเติบโตได้ดีและรุ่งเรืองได้ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจไทยอาจจะไม่โดดเด่นนัก นอกจาก “ซุปเปอร์สต็อก” เหล่านั้นแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่จะอยู่รอดและสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวก็คือ เข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านั้นโดยตรง

CR. ดรนิเวศน์  เหมวชิรวรากร

เดือนที่เหมาะกับการซื้อหุ้น







   ในการตัดสินใจที่จะลงทุนในหลักทรัพย์นั้น  นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะมองหาตัวช่วยประกอบการตัดสินใจในการลงทุน  เช่น  บทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์  หรือการวิเคราะห์ทางเทคนิค  ความเข้าใจในการประกอบธุรกิจของบริษัทที่ต้องการลงทุน  ในขณะที่การเลือกช่วงเวลาในการลงทุนนั้น นับว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

    ในรอบระยะเวลา 1 ปี หรือ 12 เดือนนั้น  มักจะมีคำถามเกิดขึ้นสำหรับนักลงทุนว่า  เดือนใดจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น  หรือเดือนใดจะเป็นเดือนที่สร้างผลตอบแทนได้ต่ำที่สุด  ช่วงเวลาที่ดีที่สุดหรือฤดูของการลงทุนสำหรับนักลงทุนนั้นอาจจะหมายถึง  การวิเคราะห์ทางเทคนิคก่อนที่จะตัดสินใจเลือกเวลาที่ดีที่สุดที่จะลงทุน  หรืออาจจะมองไปที่สถิติผลตอบแทนย้อนหลังของตลาดหุ้นไทยในแต่ละเดือนตั้งแต่เริ่มซื้อขาย



      จากผลการศึกษาสถิติย้อนหลังในตลาดหุ้นทั่วโลกมักจะมีเดือนที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนจากปรากฏการณืต่างๆ ที่เกิดขึ้น  เช่น January Effect หรือปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นมักจะให้ผลตอบแทนที่สูงในช่วงเดือนมกราคม  รวมถึงมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นสูงด้วยเช่นกันเนื่องจากบรรดากองทุนรวมถึงนักลงทุนต่างประเทศจะเริ่มกลับมาซื้อหุ้นอีกครั้งหลังจากที่ขายไปตอนสิ้นปี

      ตลาดหุ้นไทยในปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่ค่อนข้างผันผวนจากความกังวลการชะลอมาตรการ QE การเคลื่อนย้ายเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติและความไม่แน่นอนจากปัจจัยในประเทศ  และจากสถิติผลตอบแทนในปีที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ทำผลตอบแทนสูงสูดในเดือนมกราคมที่ 9.01% มูลค่าการซื้อขาย 77,471 ล้านบาท
 
     หากมองอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรายเดือนย้อนกลับไปตัั่งแต่ที่ตลาดหุ้นทั้ง SET และตลาดหลักทรัพย์  เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้เริ่มเปิดซื้อขายในครั้งแรก  จากสถิติย้อนหลัง 39 ปี ของ SET Index เดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่น่าสนใจที่สุดสำหรับตลาด SET เพราะให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนได้สูงที่สุดที่ 1.871% รองลงมาคือเดือนมกราคม 1.818% และเดือนที่ SET Index ให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากที่สุดนับตั่งแต่ปี 2518 ที่เป็นปีที่ SET Index เริ่มการซื้อขายครั้งแรกคื เดือนมิถุนายนที่ SET Index ให้ผลตอบแทนเป็นบวกมาแล้วถึง 26 ครั้ง (67%) จากทั้งหมด 39 ครั้ง  รองลงมาคือเดือนเมษายน 63%

     ในขณะที่เดือนมกราคมหรือที่นักลงทุนมีความเชื่อเกี่ยวกับ January Effect จากข้อมูลสถิติ SET Index ในเดือนมกราคมสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกทั้งหมด 22 ครั้ง  หรือคิดเป็น 58% ของจำนวนครั้งทั้งหมด

     อย่างไรก็ตาม January Effect  ไม่ได้เกิดขึ้นสม่ำเสมอในตลาดหลักทรัพย์ และในทางตรงกันข้ามนั้นเดือนที่สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยรายเดือนได้น้อยที่สุดคือเดือนมีนาคมซึ่งมีค่าเฉลี่ยติดลบที่ -0.26% ซึ่งให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกแค่เพียง 47% จากจำนวนครั้งทั้งหมด

     นับตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นปีแรกที่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เริ่มทำการซื้อขาย  จากสถิติข้อมูลที่ผ่านมาผลตอบแทนเฉลี่ยรายเดือนของ mai index สูงที่สุดในเดือนตุลาคมที่ 6.590% ในขณะที่เดือน มิถุนายน และเมษายน เป็นเดือนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่เป็นบวกมากที่สุด 8 ครั้ง (73%) จากทั้งหมด 11 ครั้ง  เดือนที่ Mai Index ให้ผลตอบแทนเป็นบวกน้อยที่สุดคือเดือนมกราคมและพฤษภาคม ซึ่งให้ผลตรงกันข้ามกับตลาด SET ที่มีผลตอบแทนเป็นบวกบ่อยครั้งรวมถึงมีผลตอบแทนเฉลี่ยรายเดือนที่สูงทั้ง 2 เดือนนั้น

    อย่างไรก็ตามจากข้อมูลสถิติที่ผ่านมาไม่มีเดือนใดที่มีโอกาส 100% ในการสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวก  ดังนั้น  ตัวช่วยของนักลงทุนที่ดีที่สุดคือการมองไปที่ปัจจัยพื้่นฐานของตลาดทุนและบริษัทจดทะเบียนก่อนที่จะทำการตัดสินใจที่สำคัญว่าจะลงทุนหรือไม่ ณ ช่วงเวลานั้น

   การวิเคราะห์พื้นฐานรวมถึงความน่าสนใจของตลาด  การเติบโตของกำไรและสถาณการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ณ ปัจจุบันมีสำคัญมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต  นักลงทุนควรมีความรอบคอบในการตัดสินใจลงทุน  และตัดสินใจอย่างมีสติเพื่อนำไปสู่การลงทุนที่มีประสิทธิภาพในภาวะที่ตลาดหุ้นยังคงผันผวนยากแก่การคาดเดา...

Saturday, November 1, 2014

ลงทุนแบบก้นบุหรี่ (Cigar Butt Investing)

       

    เห็นพูดกันถึงอาจารย์เบนจามิน  เกรแฮม  ทำให้ผมนึกถึงวิธีการลงทุนตามแบบท่านอาจารย์ผู้นี้คือ  แบบก้นบุหรี่จริงๆ แล้วเป็นคำเหน็บแนมของวอร์เรน บัฟเฟตต์ต่อการลงทุนที่ถอดแบบจากท่านเกรแฮม  เขากล่าวว่า  มันเป็นเสมือนการหยิบก้นบุหรี่ที่คนื่นทิ้งไว้ที่พื้น    แต่มันยังคงมียาสูบเหลืออยู่  แล้วเราเก็บมาสูบ  แม้มันจะยังคงมีควันอยู่  แต่มันก็สูบได้อีกครั้งสองครั้งก็ต้องทิ้งแล้ว  แต่มันเป็นของฟรี คับ....


        ผมเองใช้การลงทุนหุ้นVI แบบนี้ก็บ่อยเหมือนกันครับ  สำหรับผมแล้วการลงทุนแบบนี้ใช้ได้ผลดีทีเดียว  แต่ในระยะยาวแล้วจะไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไหร่นัก   หากไม่ขายหุ้นตัวนั้นออกไปก่อนเมื่อราคาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงราคาที่แท้จริงในระยะสั้นๆ ในแบบของเกรแฮมจะขายเมื่อราคาปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 50๔  ของราคาที่ซื้อ  แต่สำหรับลูกศิษย์รุ่นต่อๆ มาของเกรแฮมได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้นซึ่งได้ผลดีทีเดียว...

         วิธีคิดในการเลือกซื้อหุ้นตามแบบก้นบุหรี่นี้ต้องใช้งบการเงิน  โดยเฉพาะงบดุลเป็นสำคัญ  เพราะเราต้องหา NET-net Asset Value นักลงทุนVI บางท่านเรียกหุ้นแบบนี้ว่า NET-NET Stock อย่าเข้าใจผิดว่าซื้อตอนเช้าจายตอนบ่ายนะคับ NET-NET Stock นี้ซื้อแล้วถือรอราคาปรับตัวขึ้น  ใช้เวลาพอสมควรนะคับ  ไม่เสี่ยงขนาดนั้น  การลดความเสี่ยงของการลงทุนแบบนี้ใช้การวิเคราะห์งบดุลและกระจายความเสี่ยงไปในหุ้นแบบนี้หลายๆ บริษัท

         สูตรของ NET-NET Asset Value เป็นดังนี้คับ

        NET-NET Asset Value = สินทรัพย์หมุนเวียน - หนี้สินหมุนเวียน  หนี้สินระยะยาว

        จะเห็นว่า NET-NET Asset Value คือเอาสินทรัพย์หมุนเวียนมาหักเอาหนี้สินทั้งสั้นและยาวออกให้หมด  สังเกตว่าเขาไม่เอาสินทรัพย์คงที่หรือ Fixed Assets มาคิดเลย  ยังไม่พอนะคับ  เราจะต้องซื้อหุ้นแบบนี้ในราคา 1/3 NET-NET Asset Value อีกต่างหาก

       ลำพังหาหุ้นที่ NET-NET Asset Value ต่ำกว่าราคาหุ้นก็ยากอยู่แล้วนี่ต้องหาหุ้นที่ต่ำกว่า NET-NET Asset Value ถึงสามเท่าอีก  ยิ่งไปกันใหญ่  ผมเคยหาตอนตลาดประมาณ 200 - 300 จุด เอาหุ้นที่กำลังซื้อขายได้ก็ยังหาไม่เจอเลยคับ ที่มีอยู่ก็กำลังจะไปไม่รอดแล้วคับ

       เมื่อหาไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร  มีนักลงทุนVI ลูกศิษย์ของอาจารย์เกนแฮมท่านหนึ่งคือ วอลเตอร์  ชลอส  (Walter Scholsse) ได้ใช้หลักการ NET-NET Asset Value ก่อนแต่หลังๆ ใช้ไม่ได้  เขาเลยใช้  สินทรัพย์ที่่จับต้องได้ทั้งหมด หรือ Total ธangible Assets หักด้วยหนี้สินระยะสั้น  นำมาหักลบกัน  แล้วมองหาหุ้นที่ราคาต่ำกว่าค่าหาได้นั้น  ไม่จำเป็นต้องมีราคาต่ำกว่าค่าที่หาได้ถึงสามเท่าคับ ซึ่งก็ใช้ได้ผลดี  เพราะถ้าดูแล้ว (ความคิดเห็นของผู้เขียน)

          เราควรเอาสินทรัพย์ที่มีตัวตนทั้งหมด เช่น โรงงาน เครื่องจักรที่ยังใช้งานได้  สินค้าคงเหลือ  และลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้สูญเพราะเห็นอยู่ว่ามันมีอยู่จริง  ส่่วนหนี้สินระยะสั้น ต้องตัดออกแน่ๆ เพราะอย่างไรต้องจ่ายเจ้าหนี้ภายในหนึ่งปี  หากไม่มีจ่ายเราไม่ควรไปยุ่งเพราะบริษัทก็คงไม่มีอะไรเหลือจ่ายผู้ถือหุ้นเช่นกัน  ส่วนหนี้สินระยะยาวนั้น เชื่อว่าหากบริษัทยังพอไปได้เจ้าหนี้ก็ยังคงยอมประนอมหนี้ให้ได้ ไม่น่าห่วงนักซึ่งเราก็เห็นกรณีอย่างนี้มากมาย  เช่น แปลงหนี้เป็นทุน ลดหนี้ ตัดดอก เป็นต้น 

       สำหรับตัวอย่างที่ผมจะยกมาให้ดูกันนั้นเป็นตัวอย่างในอดีตทั้งนั้นครับ เพราะเพื่อไม่ให้เกิดการชี้นำ เป็นเพื่อการยกตัวอย่างเป็นกรณีศึกษาจริงๆ ผมขอยกกรณีหุ้น ATC ในอดีตที่เศรษฐกิจดีราคาสูงมาก แต่เมื่อเกิดวิกฤติราคาร่วงเอาร่วงเอา จนราคามาอยู่แถวๆ 3 – 5 บาท แต่ถ้าเราไปดูสินทรัพย์แล้วพบว่ามีมากเอาการ แต่หนี้สินก็ไม่น้อย แต่อย่าลืมว่า บริษัทนี้ตั้งมาได้ไม่นานเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ก็ยังคงมีสภาพดีอยู่ แถมบริษัทนี้มีการดำเนินธุรกิจแบบเป็นรอบ ที่ราคา 3-5 บาท ถือว่าต่ำมากๆ เอาจำนวนหุ้นคูณราคาแล้ว สร้างโรงงานขนาดนี้ไม่ได้แน่ พอราคาผ่านไปไม่นานประมาณ ปีสองปี ราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นแบบไม่เคยให้เห็นเลขหลักเดียวอีกเลย ขณะนี้ราคาก็อยู่ 60 กว่าบาท(ขณะเขียนต้นฉบับ) ใครซื้อไว้แล้วใจแข็งถือมาจนทุกวันนี้รวยไม่รู้เรื่องครับ ผมเองรับสารภาพว่าซื้อแถว 3 – 5 บาท แต่จากหลักการก้นบุหรี่แล้วคาบไว้นานไม่ได้เลยคายเร็วไปหน่อยเลยอดรวยเลย และนี่คือจุดอ่อนของหลักการแบบนี้

      อีกตัวอย่างหนึ่งค่อนข้างคลาสสิกมากครับ กรณีหุ้น APRINT เมื่อหลายปีก่อนราคาร่วงมาแถวๆ 7 – 10 กว่าบาท ในขณะที่ Book Value ก็สูงกว่าราคามาก แถมบริษัทมีกำไรและจ่ายปันผลตลอดไม่เคยขาดเลย ราคาหุ้นแม้จะปรับตัวสูงขึ้นแต่ก็ยังต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีมาหลายปีแต่เนื่องจากเป็นหุ้นที่ไม่ค่อยหวือหวาจึงไม่ค่อยมีคนสนใจ ปรากฏว่าเวลาผ่านไปราคาก็สะท้อนมูลค่าจนได้ เป็นกรณีคลาสสิกอย่างไรหรือครับ ก็ตรงที่ว่าเป็นบริษัทที่ดีไม่ขาดทุนจ่ายปันผลตลอด มูลค่าตามบัญชีสูงกว่าราคาหุ้นมาก จัดว่าเป็นบริษัทที่ไม่วิกฤติเลยแต่ราคาวิกฤติมากจริงๆ ใครซื้อแล้วถือไว้สบายใจไม่ต้องระแวง ลุ้นปันผลอย่างเดียวครับ

        ว่าไปแล้วถ้าขยันหาเราจะพบหุ้นก้นบุหรี่มากมายในช่วงวิกฤติ และหากถือมาจนปัจจุบันเราก็แทบไม่ต้องทำอะไรเลย ราคาปรับตัวขึ้นเอง แต่ในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่าหายากมากครับ ถึงมีก็ถือได้สั้นๆ ไม่ยาวจนราคาปรับตัวขึ้นหลายเท่าตัว และเราต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะมีนวัตกรรมใหม่ทางการเงินและการบัญชีมากมาย ตบแต่งบัญชีได้แนบเนียนมาก การปล่อยข่าวลือ การปั่นหุ้น สารพัดวิธีการจนผมเองก็งงไปหมด หากมีโอกาสจะเอามาคุยให้ฟังคับ

        การลงทุนVI แบบก้นบุหรี่นี้ค่อนข้างใช้ได้ผลดีในยามเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้หุ้น ราคาตกมากเกินกว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่ควรจะเป็น แต่จุดอ่อนของมันก็คือเราไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลเชิงคุณภาพของมัน ทำให้บางครั้งเราอาจพลาดท่าได้ หรือเราอาจขายออกเร็วเกินไปได้ หากเราตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ครับ อีกอย่างหนึ่งคือจิตใจต้องมั่นคงไม่หวั่นไหวง่ายๆ แม้ซื้อแล้วราคาจะลงมาอีก เราต้องตรวจดูให้ชัดยิ่งขึ้นว่าเป็นอย่างที่เราคิดหรือไม่ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากที่วิเคราะห์ไว้ราคาลงมาถือเป็นการลดราคาท้า วิกฤติครับ รีบตะครุบด่วน