Monday, June 29, 2015

เสาหลักของการลงทุน/ดร.นิเวศน์


  ถ้าจะเป็นนักลงทุนที่ดีนั้นเราจำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง?  นี่คือคำถามที่ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนแต่ละคนจะตอบไม่เหมือนกัน—ขึ้นอยู่กับว่าเขามีแนวความคิดและกลยุทธ์การลงทุนแบบไหนและอย่างไร  สำหรับผมซึ่งมีแนวทางการลงทุนระยะยาวที่เน้นพื้นฐานของกิจการเป็นหลัก  ผมคิดว่าความรู้และวิชาต่อไปนี้เป็น  “เสาหลัก”  หรือพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุน

  เสาที่หนึ่งหรือความรู้พื้นฐานกลุ่มแรกก็คือ  “ทฤษฎีการลงทุน”  นี่คือทฤษฎีเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะที่มีการศึกษาและพิสูจน์ว่ามีความถูกต้องเป็นที่ยอมรับในทางวิชาการแล้ว  หัวใจที่สำคัญก็คือกลุ่มทฤษฎี  “ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ” และ  “การลงทุนแบบพอร์ตโฟลิโอสมัยใหม่”  ที่บอกว่าตลาดทุนหรือตลาดหลักทรัพย์นั้นมีประสิทธิภาพสูงในการกำหนดราคาหุ้นทุกตัว  พูดง่าย ๆ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะหาหุ้นหรือหลักทรัพย์ราคาถูกหรือราคาแพงได้ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง  ผลตอบแทนที่เราจะได้จากการลงทุนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ “ความเสี่ยง” ของหลักทรัพย์  กล่าวคือหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนสูงก็จะเสี่ยงมาก  ถ้าไม่ต้องการเสี่ยงก็ต้องยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลงเช่น  ลงทุนในหุ้นกู้  พันธบัตร หรือเงินฝากแบ้งค์  และการลงทุนที่ดีที่สุดก็คือการลงทุนแบบเป็นพอร์ตโฟลิโอที่กระจายการลงทุนในหลาย ๆ กลุ่มหลักทรัพย์ทั้งหุ้น  พันธบัตร เงินฝากและทรัพย์สินอื่น ๆ  ในระดับของ “ความเสี่ยง” ที่เรารับได้

  นอกจากทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพแล้ว  เราก็ควรที่จะต้องเรียนรู้แนวความคิดของการลงทุนในสไตล์ต่าง ๆ  ที่มีการอ้างกันว่าสามารถที่จะทำให้นักลงทุนสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าปกติได้เช่น  การลงทุนแบบ “Value Investing” หรือ VI  หรือการลงทุนแบบ “Growth Investing” หรือการลงทุนในหุ้นโตเร็ว  หรือแม้แต่การลงทุนแนว “Momentum” หรือแนว “เทคนิค”  เพื่อที่ว่าเราจะได้รู้และเข้าใจว่าแต่ละแนวทางมีข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดอย่างไรและเราจะเลือกแนวทางไหนในการลงทุน

  เสาที่สองก็คือ  “ประวัติศาสตร์ของการลงทุน”  นี่คือความรู้ที่มักหาไม่ได้จากหนังสือตำราการลงทุนและมักจะไม่มีการสอนในหลักสูตร MBA  ประวัติศาสตร์การลงทุนนั้นมักกระจายอยู่ในหนังสือพอกเก็ตบุคเกี่ยวกับการลงทุนต่าง ๆ    เรื่องสำคัญที่เราควรจะต้องทำความเข้าใจเวลาอ่านประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นก็คือประวัติผลตอบแทนระยะยาวของหุ้น  ความผันผวนที่เกิดขึ้น  และที่สำคัญมากก็คือ  ประวัติของการเกิดของ “ฟองสบู่” และการแตกของมัน  รวมถึงสถานการณ์ที่ตลาดตกต่ำเนื่องจากความเจ็บปวดจากการลงทุนของนักลงทุนและ “โอกาส” ของการลงทุนที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น

  เสาที่สามก็คือ  “จิตวิทยาในการลงทุน”  นี่ก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในด้านของวิชาการลงทุนที่คนรู้สึกว่าอารมณ์ความรู้สึกของคนนั้นมีส่วนต่อราคาหุ้นมากกว่าเหตุผล  ในระยะหลัง ๆ  นั้น  การศึกษาเรื่องจิตวิทยาที่กระทบกับการลงทุนก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ   ความเข้าใจในเรื่องนี้จะทำให้เราสามารถซื้อขายหุ้นได้ถูกต้องถูกเวลามากขึ้นและอาจจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น  นอกจากนั้น  ผมเองยังคิดว่าจิตวิทยาของคนนั้น  ยังเป็นตัวกำหนดความต้องการสินค้าและบริการที่เขาต้องการ  และอุตสาหกรรมหรือกิจการหรือบริษัทแบบไหนจะเติบโตและแบบไหนจะถดถอย  ในส่วนนี้ผมมักจะศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ผ่านเรื่องของ  “ประวัติศาสตร์ของมนุษย์” และ “ยีนส์” ของมนุษย์ ที่ดูเหมือนว่าจะมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในการกำหนดเรื่องของพฤติกรรมและจิตวิทยาของคน

  เสาที่สี่ก็คือ  “ความรู้ทางธุรกิจ”  นี่คือความรู้และความเข้าใจในเรื่องการทำธุรกิจ  ประการแรกเลยเราจะต้องรู้  “ภาษาธุรกิจ” หรือบัญชี  นั่นก็คือ  เราควรจะสามารถอ่านจากงบการเงินได้ว่าฐานะและผลประกอบการของธุรกิจเป็นอย่างไร  ฐานะการเงินแข็งแกร่งแค่ไหน  บริษัททำกำไรได้ดีหรือไม่  เราอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียดวิธีการลงบัญชีแต่เราต้องรู้ตัวเลขหลัก ๆ  ที่จะบอกว่าผลงานของบริษัทที่ผ่านมานั้นโดดเด่นหรือเลวร้ายแค่ไหน   ในส่วนนี้คนที่ไม่ได้เรียนทางด้านบัญชีอาจจะกังวลแต่ผมคิดว่ามันไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง  หนังสือการอ่านบัญชีสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานนั้นมีมากมายและไม่ได้ใช้เวลามากที่จะเรียนรู้

  ความรู้ทางธุรกิจที่จะช่วยให้เราเข้าใจว่าอุตสาหกรรมหรือบริษัทไหนดีหรือแย่นั้น  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตลาด  ความรู้ทางด้านการตลาดที่ผมคิดว่าสำคัญสำหรับการเลือกอุตสาหกรรมหรือหุ้นนั้น  จะเป็นเรื่องของ  “ความสามารถหรือกลยุทธ์ในการแข่งขัน” ซึ่งน่าเสียใจว่าส่วนใหญ่มักจะไม่ใคร่ได้สอนกันในชั้นเรียนของ MBA  ดังนั้น  วิธีที่ดีก็คืออ่านจากหนังสือการตลาดที่เกี่ยวกับ  “กลยุทธ์” หรือ  “ตำแหน่ง”  ทางการตลาด  หรือ “Business Model” หรือรูปแบบการทำธุรกิจ  ของบริษัทแต่ละแห่ง  ประเด็นสำคัญก็คือ   สุดท้ายเราควรจะต้องเข้าใจว่าแต่ละธุรกิจนั้นแข่งขันกันด้วยอะไร  มีปัจจัยอะไรที่สำคัญที่จะทำให้บริษัทหนึ่งเอาชนะอีกบริษัทหนึ่งได้  และปัจจัยนั้นจะอยู่ต่อไปอย่างถาวรโดยที่คู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้  หรืออยู่ได้แค่ชั่วคราว   โดยสรุปแล้ว  ความรู้ทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดก็คือรู้ว่า “คุณภาพ”  ของบริษัทนั้นดีแค่ไหน

  สุดท้ายของเรื่องธุรกิจก็คือ  เราควรจะต้องศึกษาเกี่ยวกับมูลค่าที่ควรเป็นของกิจการ  พูดง่าย ๆ  แต่ละบริษัทที่เราสามารถกำหนด “คุณภาพ” ได้แล้ว  เราควรจะซื้อในราคาเท่าไร  เช่น  จะให้ค่า PE ค่า PB ปันผลตอบแทน  และมูลค่าตลาดของหุ้นหรือ Market Cap. เท่าไร  ซึ่งในส่วนนี้ประเด็นสำคัญก็คือ  เราต้องมั่นใจว่าเรารู้จักคุณภาพของมันเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการประเมินเรื่องของราคา  คำเตือนของผมก็คือ  หุ้นส่วนใหญ่นั้น  เรามักจะไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ถูกต้องเนื่องจากตัวธุรกิจผันผวนเกินไป

  เสาหลักสุดท้ายที่เราควรรู้ก็คือ  “ธุรกิจของการลงทุน”  นี่ก็คือคนที่ให้บริการและเกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้งหลาย  ซึ่งรวมถึงโบรกเกอร์  ผู้จัดการกองทุนรวม  ตลาดและกลต. นักวิเคราะห์หุ้น  หนังสือพิมพ์  เวบไซ้ต์ ไลน์ และรายการวิทยุและทีวีเกี่ยวกับหุ้น  บุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ  เหล่านี้ต่างก็มี  “Agenda” หรือ  “วาระ”  ของตนเอง  ซึ่งส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่ตรงกับนักลงทุนที่ต้องการทำกำไรหรือได้ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน  นอกจากนั้น  บางคนอาจจะมีวัตถุประสงค์ตรงกันข้ามกับเรานั่นคือ  เขาต้องการทำเงินจากเราโดยการพูดให้เราเชื่อและทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเขา  การศึกษาในเรื่องนี้นั้นผมคิดว่าเราต้องวิเคราะห์ถึง “แรงจูงใจ”  ของแต่ละคนโดยดูว่าผลประโยชน์ของเขาอยู่ตรงไหน   เช่นเดียวกัน  ในด้านของบริษัทจดทะเบียนเองนั้น  ผู้บริหารหรือเจ้าของเองบางทีเราก็อาจจะกล่าวได้ว่าเขาก็มีแรงจูงใจหรือมีวาระของตนเองที่อาจจะไม่สอดคล้องกับเรา  ดังนั้น  เราก็ต้องศึกษาให้เข้าใจว่าการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ  เช่น  การขายหุ้น IPO  การออกตราสารเช่น วอแร้นต์  การลดพาร์  และอื่น ๆ  นั้น  เขาทำเพื่ออะไร  เป็นประโยชน์และทำให้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเพิ่มขึ้นหรือไม่

  หลังจากที่ได้ศึกษาความรู้พื้นฐานทั้งห้ากลุ่มแล้ว  การลงทุนของเราก็จะอยู่บนแนวทางที่เหมาะสมและปลอดภัยมากขึ้น  ถ้าเรารู้ลึกซึ้งจริง ๆ  ก็เป็นไปได้ที่เราจะประสบความสำเร็จสูงกว่า “ปกติ”  หรือในกรณีที่เราขาดความสามารถบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถเป็นนักลงทุนที่โดดเด่นได้  อย่างน้อยเราก็น่าจะปลอดภัยกว่าคนที่มีพื้นฐานน้อยกว่า  แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่คนจะเริ่มลงทุนหลังจากเรียนรู้ทุกอย่างแล้ว  แต่อย่างน้อย  คนที่ลงทุนอยู่  รวมถึงคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงก็ควรที่จะศึกษาความรู้เหล่านี้ต่อไปเรื่อย ๆ  ซึ่งจะทำให้ความรู้ “แน่น” ขึ้นซึ่งจะช่วยการลงทุนต่อไปในอนาคต  จำไว้เสมอว่าการเรียนรู้นั้น  เราไม่สามารถหยุดได้ตลอดชีวิต  เพราะถ้าหยุด  นั่นก็แปลว่าเราจะถอยหลัง  และนั่นอาจจะกลายเป็นหายนะได้ไม่ว่าเราจะประสบความสำเร็จมามากเพียงใด

Friday, June 26, 2015

ฮือฮา! เศรษฐีดัง “วอร์เร็น บัฟเฟตต์” ยอมเผยเคล็ดลับ “การลงทุนที่ได้กำไรงดงามที่สุดในโลก”


วอร์เร็น บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีและนักลงทุนชื่อก้องโลกชาวอเมริกัน เผยเคล็ดลับ ระบุ ช่องทาง “การลงทุนที่ได้กำไรงดงามที่สุด” คือ “การลงทุนกับตัวเอง”
       
       วอร์เร็น เอ็ดเวิร์ด บัฟเฟตต์ ซีอีโอวัย 84 ปีแห่งบริษัท “เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์” ผู้ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ทรงอิทธิพลและประสบความสำเร็จที่สุดของโลก กล่าวระหว่างเข้าร่วมงานเสวนาด้านการศึกษาที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเนบราสกา โอมาฮา (ยูเอ็นโอ) โดยระบุการลงทุนที่ดีที่สุด คุ้มค่าที่สุด และได้ผลกำไรเยอะที่สุด คือ การลงทุนในตัวของคุณเอง
       
       บัฟเฟตต์ซึ่งมีทรัพย์สินในความครอบครองคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 68,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว “2.3 ล้านล้านบาท” ระบุว่า การลงทุนในตัวเองที่เขาหมายความถึงนี้ก็คือ การมอบการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ให้กับตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่อยู่ภายในห้องเรียน หรือความรู้ที่อยู่ในโลกกว้างนอกเหนือจากในตำรา
       
       “การลงทุนเพื่อเปิดโลกทัศน์และแสวงหาความรู้ใหม่ๆให้กับตัวเองอยู่เสมอ ทั้งในและนอกห้องเรียน ถือเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดและให้ผลตอบแทนคุ้มค่ามากที่สุด ผมขอยืนยันว่าไม่มีหุ้นตัวไหนที่น่าช้อนซื้อเก็บเอาไว้ มากไปกว่าหุ้นที่มีชื่อว่า การศึกษาอีกแล้ว และไอ้หุ้นตัวที่ชื่อว่าการศึกษานี้ถือเป็นหุ้นแบบปลอดภาษีเพียงตัวเดียวในโลก เพราะเป็นหุ้นที่คุณถือครองตลอดชีพได้โดยไม่ต้องถูกหักภาษี แม้แต่บุคคลที่มีอำนาจล้นฝ่ามืออย่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ยังสั่งรีดภาษีหุ้นตัวนี้ไปจากคุณไม่ได้” บัฟเฟตต์ กล่าว
       
       บัฟเฟตต์ระบุว่า การเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จนั้น จะอาศัยแต่เพียง “พรสวรรค์” ที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดไม่ได้ แต่จะต้องอาศัย “พรแสวง” นั่นคือการหาทางเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆให้กับตัวเองอยู่เสมอ และว่าบรรดานักลงทุนที่มีการเติบโตของ “พอร์ต” ในอัตราสูง ไม่ถือว่าเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ตราบใดที่นักลงทุนผู้นั้นยังไม่รู้จักแสวงหาความรู้-ความสามารถใหม่ๆมาเพิ่มพูนให้กับตัวเอง
       
       ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนปีที่แล้ว บัฟเฟตต์ได้เปิดใจระหว่างให้การต้อนรับผู้ถือหุ้นจากนครชิคาโก ณ บ้านพักของเขาในเมืองโอมาฮา มลรัฐเนบราสกา โดยบัฟเฟตต์ระบุเคล็ดลับการสร้างความสุขในชีวิตของเขา คือ การใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความพอดี และต้องตัดทิ้งความรู้สึกที่ว่า “อยากรวยมากยิ่งขึ้น” ให้หมดสิ้น
       
       โดยในครั้งนั้น บัฟเฟตต์ กล่าวต่อผู้ถือหุ้นเบิร์กไชร์ แฮธาเวย์โดยระบุว่า โลกของเราจะต้องเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่หาก บรรดา “คนรวย” ไม่รู้จักพอ และยังคงแสวงหาช่องทางในการสร้างความมั่งคั่งเพิ่มเติมให้แก่ตัวเองไม่รู้จักจบสิ้น
       
       ผู้บริหารสูงสุดแห่งเบิร์กไชร์ แฮธาเวย์รายนี้ยังระบุด้วยว่า การมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย มิได้หมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องใช้จ่ายให้มาก เพื่อให้สมกับฐานะทางเศรษฐกิจของตน พร้อมยืนยัน “เงินไม่สามารถซื้อทุกอย่างได้”
       
       “ในความเป็นจริงแล้ว ผมเชื่อว่ามนุษย์เราต้องการเพียงแค่การมีบ้านที่ดีสักหลังหนึ่ง มีสุขภาพที่ดี มีอาหารที่ดี รวมถึงการมียานพาหนะที่ดีสักคันหนึ่งก็เพียงพอแล้ว อย่างในกรณีของผม ผมก็ต้องการเพียงเท่านี้เช่นกัน ผมขอยืนยันว่าตัวเองไม่เคยมีความคิดที่จะมีบ้านหลังใหญ่สัก 6 หรือ 8 หลัง เพราะมันจะทำให้ชีวิตผมมีความสุขน้อยลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับการที่ผมมีบ้านที่ดีเพียงแค่หลังเดียว” บัฟเฟตต์กล่าว 

แม่น้ำร้อยสาย / โดย คนขายของ


มีนักลงทุนท่านหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์ยาวนานและมีมุมมองในการลงทุนที่เฉียบคมมากได้กล่าวไว้ว่า หากเราจะเชื่อในหลักการลงทุนของใครให้ดูผลงานในอดีตของเขาก่อนว่าประสบความสำเร็จมากน้อย เพียงใด คำพูดนี้ทำให้ผมได้ลองเริ่มค้นหาแนวทางการลงทุนของนักลงทุนท่านอื่น นอกเหนือจากที่เรา รู้จักกันดี เช่น Warren Buffett และ George Soros ว่าเป็นอย่างไร ผมเริ่มต้นโดยการไล่ดูรายชื่อ มหาเศรษฐีที่มีระดับความมั่งคั่งเกินกว่า 10,000 ล้านเหรียญขึ้นไป และมีรายได้หลักมาจากการลงทุนว่า มีใครบ้าง และ ศึกษาดูแนวทางในการลงทุนของเขาเป็นอย่างไร จะมีแต่เฉพาะแนวเน้นคุณค่า (VI) เท่านั้นหรือไม่ที่สามารถสร้างความมั่งคั่งระดับนี้ได้? โดยในบทความนี้ผมขอยกมาสามท่านเพื่อเป็น กรณีศึกษากัน

  ท่านที่หนึ่ง Ray Dalio ผู้ก่อตั้งบริษัทเพื่อการลงทุน Bridgewater Associates มีสินทรัพย์ส่วนตัว

ราว 15.4 พันล้านเหรียญ เขาเริ่มลงทุนในหุ้นครั้งแรกตอนอายุ 12 ปี โดยได้ยินเรื่องหุ้นจากในสนาม

กอล์ฟระหว่างที่ทำงานเป็นแคดดี้ แนวการลงทุนของ Dalio นั้นใช้ทั้งการมองภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ และ การวิเคราะห์บริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันประกอบกัน ผลงานในการลงทุนที่โดดเด่น ของเขาคือ ในปี 2006 บริษัท Bridgewater ได้ทำการวิเคราะห์ภาพใหญ่ของสหรัฐอเมริกาแล้วพบว่า ประเทศมีหนี้สินมากกว่ารายได้ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะล่มสลายตามมา Dalioได้ทำการเตือนรัฐมนตรีคลัง ของสหรัฐถึงวิกฤตในครั้งนี้ เขาได้ขายหุ้นธนาคารขนาดใหญ่และเปลี่ยนไปถือครอง ทองคำ และ พันธบัตรรัฐบาลในช่วงก่อนเกิดวิกฤต ซึ่งสามารถสร้างความมั่งคั่งให้แก่บริษัทได้อย่างมหาศาล

  ท่านที่สอง James Simons เป็นนักลงทุนที่เรียกได้ว่ามีพื้นการศึกษาแตกต่างจากมหาเศรษฐีนักลงทุน โดยส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะ Simons มีดีกรี PhD ทางคณิตศาสตร์ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์หรือบริหารธุรกิจ ความมั่งคั่งของ Simons ประเมินโดย Forbes ว่าอยู่ที่ราว 14 พันล้านเหรียญ  บริษัท Renaissance Technologies ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งนั้นจะรับเฉพาะคนที่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางการเงินเลย พนักงาน ส่วนมากเป็น นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ และ นักฟิสิกส์ ทั้งนี้เพราะหลักการลงทุนของบริษัทนี้ใช้หลัก โมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนในการลงทุน ซึ่ง Simons สามารถทำกำไรได้มากมายจากการลงทุน ของเขา ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือสินค้าโภคภัณฑ์ สิ่งที่ Simons ได้ริเริ่มนับเป็นต้นแบบของการใช้ คอมพิวเตอร์ในการตัดสินใจซื้อขายหุ้นในทุกวันนี้

  ท่านที่สาม Steve Cohen แนวทางการลงทุนของนักลงทุนท่านนี้นับว่าเป็นสุดขั้วในอีกด้านหนึ่งของ

แนวลงทุนเน้นคุณค่า VI) เพราะ Cohen ขึ้นชื่อในเรื่องของการถือครองในระยะสั้นมากๆ เน้นการซื้อ

ขายที่มีความถี่สูง มีคำกล่าวว่าในบางปีบริษัท SAC Capital ของเขามีวอลุ่มการซื้อขายคิดเป็น 3% ของวอลุ่มซื้อขายรายวันในตลาดหุ้นนิวยอร์คเลยทีเดียวกลยุทธ์หนึ่งที่ Cohen ใช้ในการลงทุนคือ ไล่ซื้อหุ้นที่มีนักลงทุนทำการ short ไว้มาก โดยเข้าไปไล่ราคาทำให้คนที่ short ต้องรีบซื้อคืน เว็ปไซด์investopedia.com เขียนถึง Cohen ว่าในปี 1998-1999 เขาไล่ซื้อหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีอย่างหนัก ก่อนจะขายออกทำกำไรได้ถึง 70% หลังจากนั้นในปี2000 ก่อนการล่มสลายของ Nasdaq เขาก็ short หุ้นเหล่านั้นอีกทีและทำกำไรไปอีก 70% ณ ปัจจุบัน Cohen มีความมั่งคั่งสูงถึง 11 พันล้านเหรียญ

  การเดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่นั้นผู้เดินทางสามารถเลือกได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน

รถไฟ หรือ รถยนต์ แม้ว่าจะเลือกแล้วว่าเป็นรถยนต์ก็ยังเลือกได้อีก ว่าจะขับรถอะไร ขับเร็วแค่ไหน การเดินทางสู่ความมั่งคั่งในการลงทุนก็เช่นเดียวกัน ก็มีหลายหลายหนทาง หลายรูปแบบ ทั้งนี้นักลงทุน

จะเลือกแบบไหนคงขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ความชอบส่วนตัว ความสามารถในการรับความเสี่ยง และ องค์ความรู้ในแนวการลงทุนนั้นๆ บางแนวทางการลงทุนอาจมีคนทำสำเร็จแต่ก็อาจไม่เหมาะสำหรับ คนธรรมดาสามัญชนทั่วไป ทั้งนี้เพราะต้องการทักษะพิเศษบางประการ แต่หากเราเลือกแนวทางใด



ได้แล้วฝึกฝนจนชำนาญ หมั่นศึกษาจนเกิดการตกผลึกขององค์ความรู้ ผมเชื่อว่าไม่ว่าจะแนวทางไหน ก็คงเหมือนแม่น้ำนับร้อยสายที่มีต้นกำเนิดที่ต่างกัน แต่ก็ไหลไปรวมกันในมหาสมุทรแห่งความมั่งคั่ง ในที่สุด

Monday, June 22, 2015

อุตสาหกรรมดาวตก/ดร.นิเวศน์

    
 ถ้าจะมีอุตสาหกรรมอะไรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว—จากอุตสาหกรรมที่ดีมากกลายเป็นธุรกิจที่ย่ำแย่เพียงชั่วเวลา “ข้ามคืน”  ผมคิดว่ามันคือธุรกิจการออกอากาศทางโทรทัศน์หรือเรียกง่าย ๆ ว่า  ธุรกิจ “TV” สาเหตุนั้นเกิดจากการให้ใบอนุญาตคลื่นความถี่เพื่อออกอากาศแบบดิจิตอลจำนวน 24 ใบของ กสทช. ซึ่งก่อให้เกิดทีวีขึ้นใหม่ 24 ช่องที่ผู้ชมสามารถรับชมรายการต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  การที่อุตสาหกรรมนี้เปลี่ยนแปลงไปมากนั้น  มาจากการที่  “พลังขับเคลื่อน” ของอุตสาหกรรม 5 พลัง  หรือที่เรียกกันว่า “Five Forces Model” ของ Michael Porter ของอุตสาหกรรมทีวีของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง  “จากหน้ามือเป็นหลังมือ”  มาดูกันว่าเป็นอย่างไร



  พลังขับเคลื่อนแรกคือ  “การแข่งขันระหว่างบริษัท”   ตามแนวคิดของพอร์ตเตอร์ก็คือ  อุตสาหกรรมอะไรก็ตาม  หากคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมมีน้อย  การแข่งขันกันของบริษัทต่าง ๆ  ก็จะมีน้อยเพราะความต้องการของคนใช้มีมากกว่าจำนวนผู้ให้บริการ  และนั่นก็คือพลังที่ดีสำหรับอุตสาหกรรม  อุตสาหกรรมที่เป็นแบบนี้ก็จะทำกำไรได้ดีกว่าอุตสาหกรรมที่มีคู่แข่งมากมายเต็มไปหมด  ในอดีต  ทีวีช่องฟรีนั้นก็มีเพียงไม่กี่ช่อง  ที่ทำงานแบบการค้าจริง ๆ  ดูเหมือนจะมีเพียง 3-4 ช่อง ทำให้ช่องเหล่านั้นสามารถตั้งราคาค่าโฆษณาได้สูงและบริษัทผู้ให้บริการสามารถทำกำไรได้สูงกว่าปกติ  แต่ปัจจุบันที่มีถึงเกือบ 30 ช่อง  พลังขับดันข้อนี้ก็กลายเป็นด้านลบไปในทันทีเพราะมีบริษัทที่แข่งขันมากเกินไปมาก

  พลังขับเคลื่อนที่สองก็คือ  “อำนาจของซัพพลายเออร์”   นั่นก็คือ  ถ้าอุตสาหกรรมมีซัพพลายเออร์จำนวนมากที่พร้อมจะเข้ามาเสนอขายสินค้าหรือบริการ  พวกเขาก็จะต้องแข่งขันในด้านของคุณภาพและราคาอย่างหนัก  บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมก็จะมีต้นทุนสินค้าต่ำและคุณภาพที่ดีที่จะนำมาขายต่อ  นี่เป็นพลังหรือปัจจัยที่ดีที่จะช่วยให้บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมสามารถทำกำไรได้สูง  แต่ถ้าซัพพลายเออร์มีไม่พอในขณะที่มีบริษัทผู้ซื้อมาก  อำนาจของซับพลายเออร์ก็จะสูง  อุตสาหกรรมนั้นก็จะแย่ลงนั่นก็คือทำกำไรได้ต่ำลง  ในอดีต  ผู้ผลิตรายการป้อนให้กับฟรีทีวีนั้น  มักจะไม่มีอำนาจต่อรองกับเจ้าของช่อง  ดังนั้น  ธุรกิจฟรีทีวีจึงมีพลังขับที่เป็นบวก  แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดทีวีดิจิตอลขึ้น  ซับพลายเออร์หรือผู้ผลิตรายการที่มีคุณภาพสูงกลายเป็นสิ่งที่หายาก  เพราะพวกเขาต่างก็ไปทำช่องทีวีของตนเอง  ดังนั้น  ช่องทีวีต่าง ๆ จึงไม่ได้เปรียบทางด้านของซับพลายเออร์อีกต่อไป  พลังด้านบวกก็กลายเป็นพลังด้านลบ

  พลังขับเคลื่อนที่สามคือ  “อำนาจของลูกค้า”  นี่คือพลังที่เกิดขึ้นจากเอกลักษณ์หรือแบรนด์ของสินค้าหรือบริการที่ทำให้ลูกค้าติดและเป็นสินค้าที่พวกเขาจะเลือกใช้  ถ้าอุตสาหกรรมนั้นลูกค้ามักจะติดที่จะเลือกแบรนด์  นั่นก็คืออุตสาหกรรมที่ดีและจะทำให้บริษัทมีกำไรสูง  แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่สินค้ามีความคล้ายคลึงกันมาก  การจดจำของแบรนด์ต่ำและลูกค้าไม่ได้มีการติดยึดและพร้อมจะเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น  แบบนี้ก็ถือว่าอำนาจของลูกค้ามีสูงก็จะเป็นผลลบต่อกิจการ  กำไรของบริษัทในอุตสาหกรรมก็จะต่ำ  ในกรณีของธุรกิจทีวีในอดีตนั้น  ผมคิดว่าอำนาจของผู้ชมมีไม่มาก  เนื่องจากรายการทีวีมักจะไม่หลากหลาย  ทางเลือกที่จะไปชมรายการแบบเดียวกันของช่องอื่นมีไม่มาก  แต่หลังจากที่มีช่องทีวีเกิดขึ้นมากมาย  การเปลี่ยนไปชมรายการของช่องอื่นที่ดีกว่าในแต่ละช่วงเวลาก็เพิ่มขึ้นมาก  ดังนั้น  นี่ก็เป็นอีกพลังหนึ่งที่เปลี่ยนจากบวกเป็นลบ

  พลังขับเคลื่อนที่สี่ก็คือ  “อุปสรรคในการเข้ามาและออกไปจากตลาด”    ถ้าการเข้ามาในอุตสาหกรรมเป็นเรื่องยากหรือมีค่าใช้จ่ายสูง  เช่น  ต้องมีใบอนุญาตหรือต้องลงทุนสูง  หรือการแข่งขันกับผู้เล่นเดิมทำได้ยากเนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ   แบบนี้ก็ต้องถือว่าเป็นปัจจัยที่ดีของอุตสาหกรรมและทำให้ผลตอบแทนในอุตสาหกรรมสูง  ตรงกันข้าม  ถ้าอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมมีน้อย  การเข้าสู่อุตสาหกรรมทำได้ง่ายและถ้ายิ่งเมื่อเข้ามาแล้วก็ออกไปยากก็จะทำให้เกิดภาวะกำลังการผลิตส่วนเกิน  นอกจากนั้นบริษัทที่เข้ามาใหม่ก็อาจจะสามารถลอกเลียนแบบหรือมีกลยุทธ์ในการแข่งขันที่สามารถเอาชนะผู้เล่นเดิมได้  ในกรณีแบบนี้ก็ถือว่าเป็นผลลบต่ออุตสาหกรรมทำให้ทำกำไรได้ต่ำ   ธุรกิจฟรีทีวีในอดีตนั้น  อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของรายใหม่สูงมาก  ว่าที่จริงในช่วงเวลานับสิบ ๆ  ปีนั้นไม่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเลย  แต่ในปัจจุบันนั้น  การเข้ามาเล่นหรือแข่งขันของรายใหม่นั้นผมคิดว่ามีอุปสรรคน้อย  ดังนั้น  นี่ก็เป็นอีกพลังหนึ่งที่เปลี่ยนจากดีเป็นร้าย

  พลังขับเคลื่อนสุดท้ายก็คือ  “สินค้าหรือบริการที่ทดแทนกันได้”  อุตสาหกรรมที่สินค้าหรือบริการไม่มีสินค้าอื่นมาทดแทนได้หรือทดแทนได้น้อยนั้นจะเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและปัจจัยนี้จะเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ผลตอบแทนของอุตสาหกรรมสูงขึ้น  ตรงกันข้าม  อุตสาหกรรมที่ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนไปใช้สินค้าอื่นที่สามารถตอบสนองความต้องการแบบเดียวกันได้ในราคาที่น่าพอใจและสินค้าเหล่านั้นมีมากมาย  แบบนี้ก็จะเป็นปัจจัยลบต่ออุตสาหกรรมและทำให้ผลตอบแทนหรือกำไรของอุตสาหกรรมต่ำลง  ในกรณีของธุรกิจฟรีทีวีนั้น  ในอดีต  สินค้าทดแทนการชมทีวีนั้นมีไม่มาก  แต่ในระยะหลังที่ระบบอินเตอร์เน็ตแพร่หลายและราคาถูกลงมาก  เช่นเดียวกับระบบทีวีที่มีต้นทุนในการรับชมต่ำมากเช่นกรณีของทีวีดาวเทียม  สินค้าทดแทนฟรีทีวีก็สูงขึ้นมาก  ดังนั้น  ปัจจัยในด้านของสินค้าทดแทนของธุรกิจฟรีทีวีก็กลายเป็นลบ

  การดูว่าอุตสาหกรรมไหนดีหรือไม่นั้น  โดยปกติเราก็จะต้องดูพลังทั้งห้าประกอบกัน  ถ้าพลังหรือปัจจัยส่วนใหญ่นั้นเป็นบวก  โอกาสก็เป็นไปได้สูงว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่ดีและจะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ประกอบการโดยเฉลี่ยสูง  ถ้าพลังส่วนใหญ่เป็นลบผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมก็จะต่ำ  ในอีกด้านหนึ่ง  ถ้าพลังทั้งห้าต่างก็เป็นบวก  นั่นก็แสดงว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่ดีและบริษัทส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมก็จะทำกำไรได้ดี  บริษัทที่โดดเด่นก็จะทำกำไรได้สูงลิ่ว  ตรงกันข้าม  ถ้าพลังทั้งหมดนั้นเป็นลบ  บริษัทในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็จะมักจะทำกำไรได้ยาก แม้แต่บริษัทที่เก่งหรือดีมากในอุตสาหกรรมก็อาจจะลำบาก

  ธุรกิจฟรีทีวีนั้น  ในอดีตต้องถือว่าพลังขับดันทั้งห้าต่างก็เป็นบวก  นั่นทำให้แทบทุกบริษัทที่อยู่ในธุรกิจต่างก็ได้กำไรกันทั่วหน้าโดยที่บริษัทที่เด่นนั้นทำกำไรได้สูงมากจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  อย่างไรก็ตาม  หลังจากการเปิดดิจิตอลทีวี  พลังทั้งห้าก็เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นลบแทบจะทั้งหมด  ดังนั้น  ถ้าจะคาดเดาต่อก็คือ  ธุรกิจทีวีจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ดีและน่าจะให้ผลตอบแทนต่ำลงไปมาก  บริษัทที่โดดเด่นเองนั้น  ในระยะสั้นหรืออาจจะถึงกลางก็อาจจะยังทำกำไรได้พอสมควรเนื่องจากคู่แข่งใหม่ยังไม่มีความสามารถพอที่จะแข่งขัน  แต่ในระยะยาวแล้วก็อาจจะหาบริษัทที่กำไรดีเยี่ยมเป็นซุปเปอร์สต็อกได้ยาก  ตรงกันข้าม  เนื่องจากมันอาจจะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ดีแล้ว  บริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันต่ำก็อาจจะขาดทุนและบางบริษัทก็อาจจะไม่สามารถอยู่ในธุรกิจได้  ว่าที่จริงในช่วงนี้เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าบางบริษัทได้ประกาศ “ถอนตัว”  ออกจากธุรกิจแล้ว  ผมเชื่อว่าในไม่ช้าก็จะมีบริษัทอื่นถอนตามอีก  อุตสาหกรรมฟรีทีวีตอนนี้ดูเหมือนจะเป็น  “อุตสาหกรรมดาวตก” ไปแล้วหรือ?  เวลาจะเป็นสิ่งที่บอก  ในระหว่างนี้  คนที่กำลังเล่นหุ้นทีวีโดยตั้งอยู่บนความคิดหรือสมมุติฐานว่านี่คือธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ดีอย่างที่เข้าใจมาตลอดนั้นจะต้องระวัง  เพราะถ้ามันไม่ใช่  เราก็อาจจะไม่เห็น “กำไรที่งดงาม” ในธุรกิจฟรีทีวีอย่างที่เป็นในอดีต และดังนั้น ราคาหุ้นของกิจการที่ทำฟรีทีวีก็ไม่ควรมีพรีเมียมมากหรือค่า PE สูงอย่างที่เคยเป็น

Monday, June 15, 2015

ม้าลายในดงสิงห์/ดร.นิเวศน์


   หนึ่งในนักลงทุนที่ “ยิ่งใหญ่” ของโลกแต่เดี๋ยวนี้คนรุ่นหลังก็อาจจะไม่ค่อยรู้จักก็คือ Ralph Wanger อดีตผู้จัดการกองทุนตระกูล “Acorn” ที่โด่งดังในช่วงกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 1970-2003  เขาดังเพราะว่าผลงานในช่วง 33 ปี ของเขานั้นให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยถึงปีละ 16.3% ในขณะที่ดัชนี S&P หรือดัชนีตลาดนั้นให้ผลตอบแทนเพียง 12.1%  ความแตกต่างถึงปีละกว่า 4% ต่อปีเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปีนั้น  เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากสำหรับการลงทุนที่มีพอร์ตขนาดใหญ่เป็นแสนล้านบาท  นอกจากเรื่องของผลงานแล้ว  สิ่งที่ทำให้แวงเกอร์ดังเป็นพิเศษก็คือ  เขาเป็นผู้จัดการกองทุนที่เป็นผู้นำในการลงทุนในหุ้น “ขนาดเล็ก”  ที่โตเร็วทั้งในตลาดหุ้นสหรัฐและต่างประเทศเป็นคนแรก ๆ   อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้คนกล่าวขวัญถึงก็คือ  “รายงานถึงผู้ถือหน่วยลงทุน” ที่เขาส่งให้ลูกค้าของเขาเป็นประจำทุกไตรมาศนั้น  ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยสาระความรู้และน่าอ่าน  ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ศึกษาแต่มันคงจะคล้าย ๆ  กับรายงานประจำปีของเบิร์กไชร์  และหลังจาก  “ประสบความสำเร็จสูง” ก็เป็น  “ธรรมเนียม” ที่จะต้องมี  “หนังสือ”  ของตนเอง  ซึ่งผมได้อ่านมานานแล้วตั้งแต่ผมเริ่มชีวิตการลงทุนใหม่ ๆ  หลังปีวิกฤติตลาดหุ้นไทยในปี 2540  หนังสือที่เขาเขียนชื่อ  “A Zebra In Lion Country” แปลเป็นไทยก็คือ  “ม้าลายในดงสิงห์”

             ความหมายของ  “ม้าลายในดงสิงห์” ของแวงเกอร์ก็คือ  เขาเปรียบนักลงทุนรายย่อยเป็น  “ม้าลาย” ที่หากินกันเป็นฝูงในทุ่งหญ้า  ม้าลายที่อยู่ตรงกลางของฝูงนั้น  ปกติก็มักจะ “ปลอดภัย” จากการกลายเป็นอาหารของสิงโตที่มักจะล่าเหยื่อที่เป็นม้าลาย  อย่างไรก็ตาม  ม้าลายที่หากินอยู่กลางฝูงนั้นก็มักจะได้กินแต่หญ้าจำนวนน้อยและคุณภาพต่ำที่ถูกเหยียบย่ำโดยฝูงม้าลาย  ความหมายก็คือ  ถ้าเราเป็นนักลงทุนรายย่อยที่ “กลัวความเสี่ยง”  เราก็จะลงทุนแบบอนุรักษ์นิยมเช่น  ลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ที่เป็น  “หุ้นมาตรฐาน” ของตลาดหรือลงทุนในกองทุนรวม  แต่วิธีนี้เราก็ต้องยอมรับว่าจะได้ผลตอบแทนที่ “ต่ำ”   ในทางตรงกันข้าม  ม้าลายที่หากินอยู่ที่ขอบรอบนอกของฝูงนั้น  ก็มักจะได้กินหญ้าจำนวนมากที่เขียวขจีแต่พวกมันก็จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ฝูงสิงโตจะเข้าโจมตีและจับมันเป็นอาหาร  ความหมายก็คือ  ถ้านักลงทุนรายย่อยอยากที่จะรวยหรือทำเงินจากการลงทุนสูง  เขาจะต้องกล้าลงทุนใน  “หุ้นขนาดเล็ก” ซึ่งจะต้อง  “เสี่ยง”  และจะต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถอยู่รอดได้อย่างปลอดภัย

             ในตลาดหุ้นไทยนั้น  นักลงทุนรายย่อยบ้านเราที่มักจะเข้ามา “เล่นหุ้น” โดยไม่มีความรู้ในการลงทุนจริง ๆ  นั้น  มักจะถูกเปรียบเทียบให้เป็น  “แมงเม่า”  นั่นก็คือ  เข้ามาซื้อขายหุ้น  “ตามแห่”  คือถ้าหุ้นตัวไหนราคาปรับตัวขึ้นแรงและเร็วพวกเขาก็จะแห่เข้าไปซื้อตาม  ในทางตรงกันข้าม  ถ้าหุ้นตัวนั้นเริ่มปรับตัวลง  พวกเขาก็จะรีบชิงขายโดยไม่ได้พิจารณาถึงพื้นฐานของกิจการไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง  ผลก็คือพวกเขาก็มักจะขาดทุน  นี่เปรียบเสมือนกับแมงเม่าที่มักจะบินเข้าไป “เล่นกับไฟ”  ที่มีคนจุดขึ้น  ซึ่งก็มักจะถูก “เผา”สถานเดียว  พูดง่าย ๆ  กลยุทธ์แบบนี้มีแต่ขาดทุน  โอกาสกำไรไม่มี

              ในระยะหลังที่การลงทุนแบบ “VI”  เกิดขึ้นในประเทศไทย  นักลงทุนรายย่อยที่เป็น VI นั่นคือคนที่ศึกษาหลักการลงทุนที่เน้นลงทุนในกิจการที่ดีมีราคาถูกนั้น  พวกเขาพบว่าหุ้น  “ขนาดเล็กที่โตเร็ว” นั้น  เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมกว่าการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่  การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ทำให้พวกเขาจำนวนมากประสบความสำเร็จสูงมากโดยที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา  พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงจากการขาดทุนที่มักเกิดขึ้นกับนักลงทุนรายย่อยตลอดมา  พวกเขาได้กำหนด  “มาตรฐานใหม่” ขึ้นมาว่า  นักลงทุนรายย่อยที่รู้จริงและใช้หลักการแบบ VI นั้น  ไม่ใช่แมงเม่าที่จะถูกหลอกล่อให้บินเข้ากองไฟ  ตรงกันข้าม  พวกเขานั้นคือ  “ม้าลาย” ที่หากินอยู่ที่ขอบนอกของฝูงที่ได้กิน “หญ้าที่เขียวขจี” และสามารถเอาตัวรอดจาก  “สิงห์”  ที่คอยจับม้าลายที่ไม่รู้จักวิธีหลบหลีก “กรงเล็บ” ของมัน

               แน่นอนว่าไม่ใช่ “หุ้นตัวเล็ก” ทุกตัวเป็นหุ้นที่ดีน่าลงทุน  และก็ไม่ใช่ “หุ้นตัวเล็กที่โตเร็ว”  ทุกตัวเป็นหุ้นที่น่าลงทุน  ตรงกันข้าม  หุ้นตัวเล็กไม่ว่าจะโตเร็วหรือไม่  ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ใช่หุ้นที่น่าลงทุน  จริงอยู่ หุ้นเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยมีราคาปรับตัวขึ้นไปเร็ว  บ่อยครั้งก็ทำกำไรให้กับนักลงทุนบางคนมหาศาล  แต่กลับทำให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากขาดทุนอย่างหนัก  ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็คือ  นักลงทุนรายย่อยเหล่านี้ก็คือ  “ม้าลาย”  ที่ออกมาหากินหญ้าที่ขอบนอกของฝูงโดยที่ไม่ตระหนักว่ามันมีอันตรายจาก “สิงโต”  ที่คอยจับ “เหยื่อ”  ที่ไม่รู้และมองหาแต่หญ้าที่ “เขียวขจี” อยู่ที่ขอบนอกของฝูงโดยที่ไม่รู้วิธีป้องกันหรือเอาตัวรอดเมื่อสิงโตมา  และนี่ก็คือนักลงทุนที่  “พยายามเป็น VI” โดยที่ไม่ได้ศึกษาจริง ๆ  พวกเขาเข้ามาเล่น  “หุ้นตัวเล็กที่โตเร็ว” ที่มีราคาปรับตัวขึ้นมากและเร็วเพราะหวังผลตอบแทนที่สูงลิ่วแต่กลับขาดทุนอย่างหนักเมื่อหุ้นปรับตัวลง  พวกเขา  “ร้องไห้หนักมาก”  อย่างที่วัยรุ่นชอบพูดกันในช่วงเร็ว ๆ  นี้

              วิธีที่จะเป็น  “ม้าลายที่หากินหญ้าที่เขียวขจีที่อยู่ขอบนอกของฝูงและเอาตัวรอดได้” ของแวงเกอร์นั้น  พอสรุปได้คร่าว ๆ  ดังต่อไปนี้

              ประการแรกก็คือ  ให้เน้นการมองหรือค้นหาแนวโน้มหรือเทรนด์ที่จะดำเนินต่อเนื่องไปอย่างน้อย 4- 5 ปีข้างหน้า  เพราะเขาเห็นว่าชีวิตของเรานั้นจะถูกขับเคลื่อนโดยกระแสของเศรษฐกิจและสังคมเหล่านั้น  ซึ่งก็จะไปขับเคลื่อนยอดขายและกำไรของบริษัทหรือกิจการต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้อง  ตัวอย่างเช่น แวงเกอร์เองนั้นมองว่ามีเทรนด์ที่จะดำเนินต่อไปอีก 4-5 เรื่องคือ  1)  การปฏิวัติของระบบข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะผลกระทบของมันต่อต้นทุนต่าง ๆ  2) คือการขยายตัวของระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต 3) ธุรกิจความบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจซึ่งจะถูกเร่งขึ้นโดยการเพิ่มขึ้นของคนรุ่นเบบี้บูมที่มีความมั่งคั่งสูง  4) คือระบบ Outsource หรือการจ้างบริษัทภายนอกทำงานแทนบริษัทของธุรกิจและบริษัทต่าง ๆ  ที่จะเพิ่มมากขึ้น  สุดท้ายคือ 5) การเจริญเติบโตของธุรกิจบริหารเงินซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในโลกที่คนมีความมั่งคั่งสูงและแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว

              ประการที่สองที่เป็นหลักการและคำแนะนำของแวงเกอร์ก็คือ  เขาบอกว่าบริษัทขนาดเล็กนั้น  โดยเฉลี่ยแล้วจะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่าบริษัทขนาดใหญ่  แต่เราควรจะหลีกเลี่ยงบริษัทขนาด “จิ๋ว”  เพราะมันจะมีความเสี่ยงสูงเกินไป  เช่น ขนาด Market Cap.ไม่ควรต่ำกว่า 2-3000 ล้านบาท เป็นต้น)  บริษัทขนาดเล็กที่ดีที่สุดควรเป็นบริษัทที่โดดเด่นและยึดครองตลาดเฉพาะจุดหรือ Niche ของตนเอง  ซึ่งคุณลักษณะของมันควรจะรวมถึงประเด็นดังต่อไปนี้คือ  1) บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดที่โตขึ้นในผลิตภัณฑ์ของตน  2) มีการออกแบบที่ดี 3) ถ้าเป็นการผลิตก็ต้องมีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำ 4) ผู้บริหารมีความเป็นผู้ประกอบการที่โดดเด่น 4) มีทักษะทางการตลาดสูง 5) ธุรกิจมีกำไรต่อยอดขายหรือ Profit Margin สูง  นอกจากนั้น  แวงเกอร์ชอบบริษัทที่ทำธุรกิจที่อยู่ปลายน้ำมากกว่าต้นน้ำ  ตัวอย่างเช่นในกรณีที่ธุรกิจไมโครชิพและหุ้นอย่าง Intel เติบโตเร็ว  แวงเกอร์จะชอบที่จะลงทุนในบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ใช้ผลิตภัณฑ์ไมโครชิพมากกว่า

             ประการต่อมาก็คือ  แวงเกอร์เน้นลงทุนในบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมีหนี้น้อยและธุรกิจนั้นสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ดี เขาจะหลีกเลี่ยงพวกบริษัทฟื้นตัว  บริษัทที่เพิ่งก่อตั้งไม่นานและหุ้น IPO ที่มักจะมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอ  และสุดท้าย  เขาจะดูความถูกความแพงของหุ้นจากค่า PEG คล้าย ๆ  กับปีเตอร์ ลินช์ หรือที่ดีไปกว่านั้นก็คือ  เขาชอบที่จะคาดการณ์กำไรต่อหุ้นใน 2 ปีข้างหน้าแล้วคูณด้วยค่า PE ที่เหมาะสมเพื่อหามูลค่าที่เหมาะสม  เมื่อซื้อหุ้นได้ถูกต้องแล้ว  เขาบอกว่าเราควรสามารถที่จะถือมันไว้ได้อย่างน้อย 4-5 ปี  และจะขายต่อเมื่อราคาขึ้นไปสูงเกินกว่าพื้นฐานหรือเมื่อค่า PE สูงเกินไปเพื่อลดความเสี่ยง  ทั้งหมดนั้นคือหลักการ  แต่ในชีวิตจริงเขาบอกว่าเขาจะประเมินและทบทวนสถานการณ์ตลอดเวลาเพื่อที่จะดูว่าจะทำอย่างไรกับหุ้นและพอร์ตของตนเอง

Sunday, June 14, 2015

รวยหุ้นรุ่นใหม่ / โดย คนขายของ

 

   หากคุณลองเดินเข้าไปในร้านหนังสือวันนี้  คุณจะเห็นหนังสือที่หน้าปกมีคำว่า “รวย” กับคำว่า "หุ้น" อยู่มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นแสดงว่าผู้คนต่างให้ความสนใจกับการลงทุนมากขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่ถ้าหากจะถามว่าคนอ่านหนังสือพวก "รวยหุ้น" นั้นเป็นคนกลุ่มไหน ผมเชื่อว่ากลุ่ม เป้าหมายน่า จะเป็นคนวัยทำงาน อายุตั้งแต่ 20-35 ปี หรือ ที่ฝรั่งเขาเรียกว่ากลุ่ม "Millennials" ที่ได้ชื่อว่า "Millennials" นั้นเป็นเพราะว่าเป็นคนที่เริ่มใช้ชีวิตวัยทำงานตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ผมเองทำ งานให้ทางสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า ประเทศไทย) ก็สังเกตุว่าสมาชิกสมาคม­­ส่วนใหญ่มีอายุ อยู่ในช่วงนี้เช่นกัน ทำไมคนรุ่นนี้ถึงมาสนใจการลงทุนหุ้นกันมาก? จริงหรือไม่ที่เขาว่ากันว่าการ ลงทุนในหุ้นเป็นงานง่ายๆสบายๆ ดังนั้นจึงเหมาะกับนิสัยรักงานสบายของคนกลุ่มนี้?

  ในช่วงที่ผ่านมามีหลายบทความที่เขียนถึงพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ ความเชื่อโดยทั่วไปเห็นว่าพวก Millennials นี้เป็นพวกไม่จงรักภัคดีต่อองค์กรเหมือนรุ่นก่อน ไม่สู้งานหนัก และ รักงานสบาย ในปี 2010 บริษัท PricewaterhouseCoopers PwC) เริ่มสังเกตุเห็นอัตราการลาออก ของพนักงานอายุงานน้อยที่สูงขึ้นอย่างผิดสังเกตุ จึงได้ริเริ่มการทำวิจัยร่วมกับ University of Southern California และ London Business School เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนกลุ่ม Millennials โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานของบริษัทมากกว่าหมื่นคน ผลวิจัยออกมาอย่างน่า

ประหลาดใจว่า คนในกลุ่ม Millennials นั้นไม่ได้เป็นคนที่เกี่ยงงานหนักอย่างที่เชื่อกัน

  ผมเองพอรู้จักนักลงทุนที่อายุน้อยกว่า 35 ปีที่สร้างพอร์ตจนมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทอยู่บ้าง และจากการสังเกตุการใช้ชีวิตในการเป็นนักลงทุนของพวกเขา ทำให้ผมเชื่อว่างานวิจัยของ PwC ที่บอกว่า คนในกลุ่ม Millennials เป็นคนขยันทำงานไม่ใช่รักแต่งานสบายนั้นเป็นความจริง ผมเห็นน้องๆ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จล้วนทำการศึกษาธุรกิจของหุ้นที่ตัวเองถืออยู่จนเข้าใจ อย่างถ่องแท้ เข้าเยี่ยมชมบริษัท พบปะผู้บริหาร เข้าร่วมกิจกรรม "Opportunity Day" ที่ตลาดหลัก ทรัพย์ฯ จัดขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ บางคนอ่านหนังสือ การลงทุน, งานวิจัย และ บทวิเคราะห์ ถึงตีหนึ่ง ตีสอง ถึงจะเข้านอน ผมเองยังไม่เห็นใครเลยที่ไม่ ศึกษาหาความรู้ มุ่งแต่เก็งกำไรราคารายวัน มองหุ้นเป็นการพนัน แล้วลงทุนประสบความสำเร็จ

  แล้วทำไมคนรุ่นนี้ถึงมาสนใจหุ้นกันมาก? ผมคิดว่าทั้งนี้เพราะเมื่อคนรุ่นนี้เรียนจบออกมา สภาพ เศรษฐกิจไทยไม่ได้สวยหรูแบบสมัยก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะ Millennials รุ่นแรกๆที่เรียน จบมาตอนปี พ.ศ. 2543-2545 การหางานไม่ได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน บางคนหันไปเรียนปริญญา โทต่อทันที และมีบางคนเริ่มศึกษาการลงทุนหุ้นเพื่อเป็นรายได้เสริม แต่พอตลาดหุ้นกลับตัวเป็น ตลาดกระทิงในปี 2546 สร้างผลตอบแทนอย่างงามให้กับผู้ลงทุน ทำให้หลายคนยึดเอาอาชีพ นักลงทุนเป็นอาชีพหลักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 Michael Liersch ผู้อำนวยการทางด้าน Behavioral Finance ของ Merrill Lynch ได้ทำการ

  ศึกษาพฤติกรรมการลงทุนของกลุ่ม Millennials ที่มีความมั่งคั่งสูงในอเมริกาแล้วพบว่า ส่วนใหญ่ ต้องการตัดสินใจในเรื่องการลงทุนด้วยตัวเอง โดยกลยุทธที่ใช้ในการลงทุนที่นิยมมากที่สุด ที่ถูก เลือกโดย 40% ของกลุ่มตัวอย่างคือ การซื้อและถือยาว Buy and Hold) ซึ่งก็สอดคล้องกับหลัก การการลงทุนแบบเน้นคุณค่า จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าหนังสือแนวลงทุนเน้นคุณค่า Value Investing) จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักลงทุนรุ่นนี้

  อาชีพนักลงทุน ดูเหมือนจะเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย คงจะเหมือนกับการเป็น ดารา นักร้อง นักแสดงในสมัยก่อนที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ให้การยอมรับ มองว่าเป็นอาชีพที่มีความไม่แน่นอนสูง แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนรุ่นใหม่กลับเห็นเป็นตรงกันข้าม แต่ทั้งนี้ การที่ Millennials หันมาเป็น นักลงทุนหุ้นกันมาก ก็คงต้องเตรียมใจเหมือนในวงการเบินเทิงไว้ด้วยว่า ใช่ว่าดาราทุกคนจะประสบ ความสำเร็จโด่งดังทำเงินมหาศาลเหมือนกัน หลายคนทำเงินแค่เลี้ยงครอบครัวไปได้ หลายคนต้อง เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ดูเหมือนว่า โชคชะตา พรสวรรค์ ความมุ่งมั่น และฝีมือ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าวันนี้คุณเลือกที่จะอยู่ในวงการมายา หรือเลือกว่าจะเป็นนักลงทุน

Monday, June 8, 2015

M&A ยี่ห้อบัฟเฟตต์ / ดร.นิเวศน์

 

    การทำ M&A หรือการซื้อหรือควบรวมกิจการนับวันจะเป็นเรื่องปกติของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ต้องการเติบโตอย่างรวดเร็วแต่กิจการเดิมที่มีอยู่นั้นไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่มเร็วและมากพอเนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ   การซื้อกิจการต่าง ๆ  ทั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมหรือธุรกิจใหม่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่บริษัทที่มีทรัพยากรทางการเงินเหลือเลือกใช้   ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า  มันคุ้มค่าไหมที่จะทำ?  เพราะแม้ว่าการซื้อกิจการจะทำให้มีรายได้และอาจจะทำกำไรเพิ่มทันทีแต่ราคาที่ซื้อก็มักจะแพงกว่าปกติค่อนข้างมาก  ถ้าเป็นบริษัทหรือหุ้นในตลาดก็มักจะแพงกว่าอย่างน้อยก็ 30-40% จากราคาก่อนมีข่าวเทคโอเวอร์  อย่างไรก็ตาม  คนที่ซื้อกิจการก็มักจะมี “ข้อแก้ตัว” หรือมีเหตุผลว่าตนเองจะสามารถปรับปรุงหรือพัฒนากิจการที่ซื้อมาให้ดีขึ้นได้อย่าง “ก้าวกระโดด” ผ่านกิจกรรมบางอย่างเช่น  เปลี่ยนผู้บริหาร  หรือไม่ก็โดยการทำ  “Synergies” หรือสามารถสร้างรายได้เพิ่มและ/หรือลดต้นทุนให้กับกิจการเมื่อนำธุรกิจใหม่และธุรกิจเดิมที่มีอยู่มา “บริหารร่วมกัน”  ดังนั้น  สำหรับบริษัทที่เทคโอเวอร์บริษัทอื่นแล้ว  พวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องที่คุ้มค่าเสมอ  และก็เช่นเดียวกัน  นักลงทุนจำนวนมากก็มักจะคิดว่าบริษัทจะดีขึ้นและโตขึ้นอย่างรวดเร็วพวกเขาจึงแห่กันไปซื้อหุ้น  ผลก็คือ  ทั้งหุ้นของบริษัทที่ถูกเทคและ บริษัทที่เทคโอเวอร์คนอื่นต่างก็ “วิ่งกันระเบิด”  ในวันประกาศข่าว   อย่างไรก็ตาม  ประวัติศาสตร์บอกเราว่า  หลังจากการเทคโอเวอร์แค่ 2-3 ปี ความหวังหรือความฝันมักจะสูญสลาย  การทำ M&A ส่วนใหญ่มีแต่ทำให้บริษัทแย่ลง

  วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น  คนส่วนใหญ่คิดว่าเขาเป็น “นักลงทุน” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกที่รู้ว่าจะซื้อและขายหุ้นตัวไหนให้ได้กำไรงดงาม   แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าที่จริงแล้วการลงทุนของบัฟเฟตต์ส่วนใหญ่แล้วก็คือ  การเทคโอเวอร์หรือทำ M&A นั่นก็คือ  เขามักจะซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทหรือเป็นหุ้นใหญ่ที่เขามีอำนาจควบคุมเหมือนกับเป็นเจ้าของโดยที่เขาซื้อโดยไม่มีจุดประสงค์ในการขาย  บัฟเฟตต์ทำแบบนี้มานานหลายสิบปีและเป็นเจ้าของบริษัทมากมาย  รายได้และกำไรของบริษัทที่อยู่ใน “อาณาจักร” ของเบิร์กไชร์รวมกันนั้นสูงเป็นอันดับ 1 ใน 5 ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐรองจากหุ้นอย่างวอลมาร์ทหรือแอปเปิลคอมพิวเตอร์  บัฟเฟตต์ทำได้อย่างไรในการเทคโอเวอร์บริษัทที่ดีเยี่ยมและไม่เป็นปัญหาในภายหลังอย่างคนอื่นและเขาบริหาร  “บริษัทลูก ๆ” อย่างไรที่ทำให้เบิร์กไชร์ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้ง ๆ ที่ทั้งบริษัทแม่ที่เมืองโอมาฮามีคนทำงานไม่เกิน 20 คน

  ความสำเร็จในการทำ M&A ของบัฟเฟตต์นั้นผมคิดว่าอยู่ที่  “ยี่ห้อ” ของบัฟเฟตต์ที่ต้องบอกว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือนและทำให้มัน  “ขาย” ได้ดีมาก  พูดง่าย ๆ  เจ้าของธุรกิจที่ดี ๆ และอยากที่จะขายธุรกิจเนื่องด้วยเหตุผลร้อยแปด  ถ้าเลือกได้  พวกเขาอาจจะอยากขายให้บัฟเฟตต์แม้ว่าบางทีราคาขายอาจจะถูกกว่าขายให้คนอื่นด้วยซ้ำ  นี่ทำให้บัฟเฟตต์สามารถซื้อหุ้นหรือกิจการที่ดีเยี่ยมในราคาถูกอยู่ตลอดเวลา  สิ่งนี้ประกอบกับความสามารถในการบริหารกิจการและคนของบัฟเฟตต์  และเม็ดเงินสดต้นทุนต่ำโดยเฉพาะจากกิจการประกันภัยและจากเงินปันผลจากบริษัทลูกจำนวนมหาศาล  ทำให้เบิร์กไชร์สามารถซื้อบริษัทที่ดีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุดและไม่ประสบปัญหาเหมือนบริษัทอื่น   มาดูกันว่า  “ยี่ห้อ” หรือชื่อเสียงของการทำ M&A ของบัฟเฟตต์คืออะไร

  ข้อแรก บัฟเฟตต์จะไม่ทำ M&A แบบ  “ไม่เป็นมิตร”  นั่นก็คือ  ถ้าผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทไม่เห็นด้วยกับการเสนอเทคโอเวอร์  บัฟเฟตต์ก็จะไม่เข้าไปซื้อ  เหตุผลก็คือ  เวลาบัฟเฟตต์ซื้อกิจการนั้น  เงื่อนไขสำคัญก็คือ  ผู้บริหารจะต้องอยู่บริหารต่อไป  เพราะบัฟเฟตต์คิดว่าคุณค่าของบริษัทหรือกิจการนั้นอยู่ที่ผู้บริหาร  ถ้าเขาซื้อแล้วผู้บริหารออกไปใครจะบริหารและเขาจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคนใหม่จะทำได้ดีเช่นคนเก่าและกิจการจะดี  “เหมือนเดิม”  และนี่ก็เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขข้อสองนั่นก็คือ

  บัฟเฟตต์จะซื้อเฉพาะกิจการที่ดีหรือดีเยี่ยมเท่านั้น  เขาไม่สนใจกิจการที่ย่ำแย่หรือกิจการที่จะ “Turn Around” หรือกิจการที่จะ “ฟื้นตัว”  เพราะเขาพูดว่าหุ้นเหล่านี้มักจะไม่ฟื้นจริง  ยกเว้นแต่ว่าถ้าเป็นบริษัทที่มีปัญหาในเรื่องสภาพคล่องทางการเงินแต่ตัวธุรกิจนั้นยังดีเยี่ยม  แบบนี้เขาก็จะสนใจเพราะเบิร์กไชร์นั้นมีเงินสดมากและต้นทุนต่ำที่พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนเต็มที่  ตัวอย่างน่าจะเกิดในช่วงวิกฤตซับไพร์มปี 2008-9 ที่บริษัทดีเยี่ยมจำนวนมากเช่น GE และสถาบันการเงินหลายแห่งเกือบล้มละลายเพราะขาดเงินซึ่งบัฟเฟตต์เข้าไปลงทุนอัดฉีดเงินให้จนฟื้น

  ข้อสามที่เป็นที่ชื่นชอบของเจ้าของธุรกิจที่ต้องการขายบริษัทให้กับบัฟเฟตต์ก็คือ  เขาจะไม่มีการปลดผู้บริหารหรือบุคคลากรของบริษัท  เขาต้องการให้เจ้าของเดิมบริหารบริษัทต่อไป  “ตลอดชีวิต” ดังนั้น  สำหรับเจ้าของที่เป็นผู้บริหารด้วยนั้น  เมื่อขายให้บัฟเฟตต์แล้ว  พวกเขาก็จะยังทำงาน  “ที่เขารัก”  และมีชีวิตประจำวันเหมือนเดิม  พวกเขาจะรู้สึกแย่ในกรณีที่ถ้าขายให้กับคนอื่นแล้วบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีอัตลักษณ์เดิมของครอบครัวและที่สำคัญที่สุดก็คือพนักงานเก่าแก่ที่เคยอยู่ด้วยกันและผูกพันกันมานานอาจจะถูก “ลอยแพ” ถ้าขายให้คนอื่น

  ข้อสี่ก็คือ  บัฟเฟตต์ จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของบริษัทที่เขาเทคโอเวอร์โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจประจำ  เขาอาจจะติดต่อกับบริษัทบ้างอาจจะปีละครั้งหรือไม่ต้องคุยเลย  สิ่งที่บัฟเฟตต์ต้องการให้ผู้บริหารทำก็คือ  “คิดและทำเหมือนเป็นเจ้าของบริษัท”  อะไรที่เป็นประโยชน์คุ้มค่าก็ทำ  อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ต้องทำ  ตัวอย่างเช่น  อย่าขยายงานถ้าผลตอบแทนต่ำ  ผลงานของผู้บริหารนั้นวัดที่ผลกำไรเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น  ถ้าลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนต่ำก็อย่าลงทุน  ให้จ่ายเป็นปันผลออกมา  ไม่ต้องห่วงว่าบริษัทจะโตช้าหรือไม่โต

  ข้อห้าและน่าจะเป็นเรื่องที่ “หักล้าง” ความคิดเรื่อง M&A สายหลักอย่างสิ้นเชิงก็คือ  บัฟเฟตต์ไม่สนใจเรื่อง Synergies ทางด้านการทำธุรกิจ  บริษัทในเครือข่ายของเบิร์กไชร์นั้นต่างคนก็ต่างอยู่ไม่จำเป็นที่จะต้องมาหาทางเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดต้นทุน  ไม่ต้องมายุ่งกันในเรื่องของการขายหรือการตลาด  ตัวอย่างเช่น  เบิร์กไชร์มีบริษัทที่ขายเฟอร์นิเจอร์หลายแห่งหลายเมืองแต่ทุกรายต่างก็ทำของตนเองไม่ยุ่งเกี่ยวกัน  ผมคิดว่ากลยุทธ์นี้ทำให้แต่ละบริษัทต่างก็ไม่ต้องไปขึ้นอยู่หรือไปสัมพันธ์ทางธุรกิจกับคนอื่นซึ่งจะทำให้แต่ละคนมีความคล่องตัวน้อยลงซึ่งอาจจะกลายเป็นว่าผู้บริหารที่เคยมี  “อิสระ”  ก่อนถูกเทคโอเวอร์  กลายเป็นว่าจะไม่มีอิสระแล้ว  ดังนั้น  แนวทางของบัฟเฟตต์ข้อนี้น่าจะทำให้เจ้าของและผู้บริหารบริษัทอยากขายบริษัทให้บัฟเฟตต์มากกว่าขายให้คนอื่น  เพราะขายไปแล้วตนก็ยังมีอิสระในการทำงานเหมือนเดิม  Synergies แบบเดียวที่บัฟเฟตต์ให้กับบริษัทลูก ๆ ก็คือ ในเรื่องของการเงิน  นั่นก็คือ  เวลาบัฟเฟตต์เทคโอเวอร์บริษัทแล้ว  เขามักจะช่วยลดต้นทุนทางด้านการเงินให้  เช่น  เคยจ่ายดอกเบี้ยสูงก็จะจ่ายต่ำลงเพราะเครดิตของเบิร์กไชร์นั้นดีมาก

  สองข้อสุดท้ายที่ทำให้ยี่ห้อเทคโอเวอร์ของบัฟเฟตต์ดึงดูดใจเจ้าของธุรกิจมากก็คือ  เขาสามารถ  “ปิดดีล” ได้เร็วมากและมักจะไม่มีการทำ “Due Diligent” หรือศึกษาข้อมูลรายละเอียดของบริษัทให้  “เสียอารมณ์” อย่างบริษัทอื่น  ถ้าตกลงราคาได้เขาสามารถจ่ายเงินได้ภายใน “บ่ายนี้”  หรือใน “วันจันทร์” เป็นเงินสด  ไม่ใช่เป็นการแลกหุ้นหรือจ่ายเป็นงวด ๆ  นอกจากนั้น  คนขายอาจจะรู้สึกมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็น “หนึ่งในบริษัทของเบิร์กไชร์”  และทั้งหมดนี้ก็คือ  “ยี่ห้อ” ของเบิร์กไชร์ ที่  “สุดยอด” ไม่มีใครสามารถเลียนแบบได้และน่าจะเป็นปัจจัยของความสำเร็จที่สำคัญที่สุดที่บัฟเฟตต์ได้สร้างไว้

Sunday, June 7, 2015

กำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย? / ดร.วิรไท สันติประภพ


ช่วงนี้ผมมักถูกถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย หลายคนกังวลกับข่าวและตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัว บางคนสับสนกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้น(หรือไม่เกิดขึ้น) และบางคงหงุดหงิดกับนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐที่ไม่เกิดผลแบบทันอกทันใจ

หลายคนสงสัยและหงุดหงิดเพราะมองไม่ออกว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยเวลานี้เป็นปัญหาวัฏจักรทางเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ (cyclical) หรือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง (structural) ที่ต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด คนที่มองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวัฎจักรทางเศรษฐกิจ มักหวังให้ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากเข้าไว้เพื่อจุดเครื่องยนต์ภาคเอกชนให้กลับมาเดินเครื่องใหม่ แต่สำหรับคนที่มองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะเกิดผลเพียงเล็กน้อยในช่วงสั้นๆ ไม่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้จริง ที่สำคัญผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ จะทำให้เราชะล่าใจ ผลักปัญหาไปข้างหน้า ไม่จัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ซ่อนไว้เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นในอนาคต

ผมเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างหลายจุด ถ้าจะเปรียบกับร่างกายคน เศรษฐกิจไทยเวลานี้เหมือนกับคนอ้วนที่เคยปล่อยเนื้อปล่อยตัวกินตามใจปากมานาน มีอาการทั้งโรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อเข่าเริ่มเสื่อม กระดูกหลายชิ้นเริ่มทรุด ทางเดียวที่จะทำให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างแท้จริง คือต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดการกินตามใจปาก หันมาออกกำลังกายรีดไขมัน สร้างกล้ามเนื้อ รวมทั้งยอมเจ็บผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข้าและชิ้นกระดูกที่เป็นปัญหา

ใครก็ตามที่โดนหมอวินิจฉัยโรคแบบนี้ย่อมทำใจยาก การเลิกกินตามใจปากและหันมาออกกำลังกายทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง ทั้งหน้ามืด อ่อนแรง หงุดหงิด จนหลายคนควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ คนไข้ที่ใจอ่อนมักหันกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม และหวังว่าจะเจอหมอคนใหม่ที่ชอบเอาใจ วินิจฉัยโรคว่าไม่ได้เป็นอะไรรุนแรง ทุกคนรู้ดีว่าคนไข้ที่หลอกตัวเอง มีแต่จะสะสมโรคร้ายมากขึ้น เสี่ยงที่จะหัวใจวาย หรือเส้นเลือดในสมองแตกได้แบบฉับพลัน ถ้าเราปล่อยให้สุขภาพเสื่อมลงถึงจุดนั้นแล้ว การรักษาให้กลับมาปกติใหม่จะยากขึ้น และต้นทุนค่ารักษาพยาบาลก็จะสูงขึ้นมาก (จนอาจจะทำให้คนไข้และญาติพี่น้องหมดเนื้อหมดตัว)

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเหมือนกับคนอ้วนที่เคยกินตามใจปากจนเกินพอดี เป็นเพราะนโยบายภาครัฐในอดีตหลายเรื่องที่สร้างรายได้เทียมให้แก่ประชาชน ส่งเสริมให้คนนำเงินในอนาคตมาใช้ล่วงหน้า และสร้างวัฒนธรรมรอรัฐอุปถัมภ์ หมอที่ชอบเอาใจคนไข้มักเร่งให้คนไข้ดูดี ด้วยการเร่งการบริโภคและการลงทุน เพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วในช่วงสั้นๆไม่ว่าจะเป็นโครงการรถคันแรก (ที่หลายคนกู้เงินซื้อรถเพื่อรักษาสิทธิ์เอาภาษีคืนจากรัฐบาล) โครงการรับจำนำข้าวในราคาที่สูงเกินจริง (ที่สร้างผลขาดทุนกว่าครึ่งล้านล้านบาท สร้างหนี้สาธารณะ และทำให้เกษตรกรถูกหลอกว่าจะมีรายได้ดีต่อเนื่อง จนใช้จ่ายจนเกินตัว) การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ (ทำให้แรงงานเชื่อว่าจะมีรายได้สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กไปไม่รอด และราคาสินค้ากระโดดขึ้นเร็ว ) และการขึ้นเงินเดือนข้าราชการแบบก้าวกระโดดโดยไม่เพิ่มประสิทธิภาพ (ได้สร้างข้อจำกัดทางงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ) ทั้งนี้ยังไม่รวมโครงการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และโครงการเร่งลงทุนผ่านรัฐวิสาหกิจที่ไม่คุ้มค่าอีกหลายสิบโครงการ

เมื่อนโยบายเหล่านี้เริ่มอ่อนฤทธิ์ และร่างกายเริ่มแสดงอาการที่แท้จริง จึงพบสัญญาณหลายอย่างว่าการกินเกินพอดีที่ผ่านมาได้ทำให้โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงมาก ตัวบ่งชี้โรคร้ายหลายตัวกระโดดขึ้นเกินค่ามาตรฐานมาก ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ประชาชาติ สัดส่วนรายจ่ายประจำของรัฐบาล อัตราหนี้เสียของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ผลขาดทุนของรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง หนี้สาธารณะของรัฐบาล ตลอดจนการคอรัปชั่นในหลายรูปแบบ ที่เป็นพยาธิคอยสูบเลือดจากทุกอวัยวะของระบบเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ เรากำลังเผชิญกับปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อเข่าเสื่อม และกระดูกทรุดอีกมากมาย จากการอ่อนประสิทธิภาพของระบบราชการ การด้อยคุณภาพของระบบการศึกษาไทย ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยที่ถดถอยลง โดยเฉพาะการส่งออก การขาดแคลนแรงงานอาชีวะและแรงงานมีฝีมือ รวมไปถึงความแตกแยกในสังคมที่ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนมือยาวสาวได้สาวเอา การที่เราเพลินกับการกินตามใจปาก ไม่รักษาสุขภาพ และขาดวินัย ได้สร้างปัญหาให้กับเราแล้วในวันนี้และจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตถ้าเราไม่แก้ไข

จุดเริ่มต้นของการรักษาคือ ต้องทำให้คนไข้ยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจไทยกำลังป่วยรุนแรงด้วยปัญหาเชิงโครงสร้าง คนไข้ต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง และต้องยอมรับการผ่าตัดในหลายจุด คนไทยหลายกลุ่มยังคิดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวัฎจักรเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ เช่น เศรษฐกิจไม่ดีเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คนไม่ยอมใช้จ่ายเงินเพราะขาดความมั่นใจในรัฐบาล รัฐบาลเบิกจ่ายเงินช้า ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำชั่วคราว หรือค่าเงินบาทแข็งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกมีปัญหา คนกลุ่มนี้(ซึ่งส่วนหนึ่งเคยชินกับวัฒนธรรมรอรัฐอุปถัมภ์) มักเรียกร้องให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยยาชูกำลังแบบเดิมๆ ซึ่งจะทำให้อาการป่วยหลบใน รอเวลาสำหรับการเจ็บป่วยที่รุนแรงกว่าในอนาคต
ในสภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ หรือเร่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปล่อยสินเชื่อ เป็นได้เพียงแค่ยาชูกำลังที่ทำให้คนไข้สดชื่นชั่วคราว หรือเป็นเพียงยาหอม ยาดม ที่เยียวยาอาการภายนอกในช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะภาครัฐมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดของระบบเศรษฐกิจไทย และการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้แก้ต้นเหตุของปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายใน แต่ถ้าเราใช้ยาพวกนี้มากเกินควรย่อมเกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง รวมทั้งต้องระวังไม่ให้รัฐบาลซื้อยาชูกำลัง ยาหอม ยาดมจนเงินหมดกระเป๋า ไม่เหลือเงินสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงที่ต้นเหตุของปัญหา ในเวลานี้ หมอและคนไข้ต้องร่วมกันแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปการศึกษา และการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นทุกระดับ

การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจสำคัญมากสำหรับอนาคตของประเทศไทย (สำคัญกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ หลายเท่านัก) ปัญหาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้เราวุ่นวายกับเรื่องภายใน และมองแต่ปัญหาระยะสั้นมากกว่าการทำเรื่องระยะยาว ในขณะที่ประเทศคู่แข่งรอบบ้านของเราตั้งแต่จีนถึงอินโดนีเซีย และพม่าถึงเวียดนาม ได้เดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศ(และนักลงทุนไทย)มองข้ามประเทศไทย และสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการเริ่มตกรุ่น แข่งขันไม่ได้

นโยบายปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจหลายเรื่องไม่ต้องใช้เงินงบประมาณและไม่สร้างภาระการคลังให้แก่รัฐบาล การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนใหม่ๆ ของภาคเอกชน ภาครัฐต้องทำงานเชิงรุกเพื่อเพิ่มการลงทุน โดยเฉพาะในกิจกรรมที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ต้องเร่งทำให้นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษตรงกับตามความต้องการของธุรกิจในอนาคตและเกิดผลจริงในทางปฏิบัติ ต้องยอมตัดใจเลิกอุดหนุนกิจกรรมที่ล้าสมัยหรือไม่สอดคล้องกับการแข่งขันในอนาคต ภาครัฐต้องเร่งเปิดประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายเรื่องที่ภาคเอกชนเฝ้ารอมานาน ภาครัฐต้องสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับจุดยืนของประเทศไทยในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ (โดยเฉพาะ Trans Pacific Partnership หรือ TPP และ EU-Thailand FTA) นอกจากนี้ ภาครัฐควรเปิดเสรีเพิ่มเติม โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจที่(ธุรกิจไทยขนาดใหญ่)ได้รับการคุ้มครองมากเกินควร เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจในประเทศไทย และส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ โดยผู้ประกอบการที่มีความสามารถสูงกว่า

ความสงสัยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย และความหงุดหงิดว่านโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐไม่เกิดผลแบบทันอกทันใจจะบรรเทาลง ถ้าเรายอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจไทยกำลังป่วยด้วยปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องเลิกกินตามใจปาก ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง และยอมเจ็บตัวผ่าตัดเปลี่ยนชิ้นกระดูกหลายจุดที่มีปัญหา การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไม่มีทางลัด ต้องใช้ความอดทนและใช้เวลากว่าจะเห็นผล ตอนนี้ได้แต่หวังว่าหมอต้องมั่นคงและคนไข้ต้องเข้าใจ ไม่ใจอ่อน กลับมารักษาโรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจ ด้วยยาหอม ยาดม ยาชูกำลัง แบบเดิมๆ

จัดกลุ่มหุ้นจากผลประกอบการ

 
  เทคนิคการวิเคราะห์และคัดเลือกหุ้นที่จะซื้อ—และขาย  ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์มากอย่างหนึ่งก็คือ  การวิเคราะห์และแยกแยะหุ้นออกเป็น 6 แบบในสไตล์ของปีเตอร์ ลินช์ เซียนหุ้น “ในตำนาน” ชื่อดัง  โดยหุ้นแต่ละตัวนั้นจะถูกคัดแยกหรือกำหนดออกมาว่ามันเป็น 1 ใน 6 กลุ่มดังต่อไปนี้คือ  1 หุ้นโตช้า  2 หุ้นโตเร็ว  3 หุ้นแข็งแกร่ง 4 หุ้นทรัพย์สินมาก 5 หุ้นวัฎจักร หรือ 6 หุ้นฟื้นตัว  ในกรณีที่เป็นหุ้นโตช้า  ปีเตอร์ ลินช์ บอกว่าเราไม่ควรซื้อเลย  เขาจะชอบหุ้นโตเร็วเพราะราคาหุ้นจะขึ้นไปมากซึ่งเขาก็จะถือไว้จนกระทั่งหุ้นหรือบริษัทเริ่มหยุดโตซึ่งก็มักจะใช้เวลาหลาย ๆ  ปี และนี่คือหุ้นที่ทำให้ผลตอบแทนของพอร์ตเพิ่มขึ้นมาก  บางครั้งเขาก็ซื้อหุ้นที่แข็งแกร่งในเวลาที่มันไม่แพงและจ่ายปันผลที่ดีและจะขายเมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นไป 20-30% ต่อปี  หุ้นเหล่านี้มักเป็นหุ้นตัวใหญ่ที่เขามักจะต้องซื้อเก็บไว้บ้างเพราะมันช่วย “ถ่วง” ไม่ให้พอร์ตผันผวนเกินไป  หุ้นกลุ่มทรัพย์สินมากนั้นเมื่อเราเจอว่าทรัพย์สินมีค่ามากเมื่อเทียบกับราคาหุ้นและเป็นทรัพย์สินที่จะสามารถนำมาขายได้กำไรมากในเวลาไม่นาน  ก็เป็นหุ้นที่ลงทุนได้  ในกลุ่มหุ้นวัฏจักรนั้น  เราต้องซื้อในยามที่หุ้นกำลังอยู่ในช่วงตกต่ำสุดแล้วและกำลังจะขึ้นซึ่งก็เป็นช่วงที่บริษัทไม่มีกำไรหรือกำไรน้อยมากทำให้ค่า PE สูง  และควรขายเมื่อกำไรดีขึ้นมาก ๆ  ค่า PE ต่ำ  ในกลุ่มสุดท้ายที่เป็นหุ้นฟื้นตัวนั้น  ควรซื้อบริษัทที่มีฐานะทางการเงินดีและการฟื้นตัวนั้นเป็นไปได้สูง  ขายเมื่อบริษัทฟื้นตัวและมีกำไรแล้ว

  ประเด็นก็คือ  นักลงทุนจำนวนมากนั้น  วิเคราะห์ไม่ออกหรือวิเคราะห์ผิดพลาดว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้นกลุ่มไหน   ข้อผิดพลาดที่เกิดมากที่สุดนั้นอยู่ที่  “หุ้นโตเร็ว”  ที่ทุกคนอยากจะซื้อเนื่องจากมันเป็นหุ้นที่จะทำกำไรได้มากและเร็ว  นักลงทุนมักจะมองว่าถ้ากำไรและยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นในปีล่าสุดในระดับที่สูงเช่น 30-40%  และยิ่งถ้าเพิ่มมาแล้ว 2 ปี แบบนี้เขาก็จะสรุปเลยว่ามันเป็นหุ้นโตเร็วและจะเข้าไปซื้อ  “ไล่ราคา”  ทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปแรงซึ่งก็ยิ่งทำให้คนอื่นเชื่อกันว่านี่คือ “หุ้นโตเร็ว”  และเข้าไปร่วมซื้อด้วยทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปอีก  แต่นี่อาจจะไม่ใช่หุ้นโตเร็วจริง  เพราะหลังจากนั้น  กำไรของบริษัทอาจจะลดลงและราคาหุ้นก็ตกตามกันไป  คนที่เข้าไปเล่น “หุ้นโตเร็ว”  หลังจากที่หุ้นขึ้นไปโดยที่มันไม่ใช่หุ้นโตเร็วจริงก็จะขาดทุนได้   ดังนั้น  การวิเคราะห์หุ้นเพื่อที่จะแบ่งกลุ่มหุ้นจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง  และต่อไปนี้ก็คือวิธีดูว่าหุ้นตัวไหนควรอยู่กลุ่มไหนจากข้อมูลผลประกอบการของบริษัท

  การดูผลประกอบการที่จะพอบอกได้ว่าเป็นหุ้นกลุ่มไหนนั้น  จำเป็นที่เราจะต้องดูข้อมูลย้อนหลังซึ่งผมคิดว่าอย่างน้อยต้อง 4-5 ปีขึ้นไปในทุกกรณี  โดยที่ถ้าเราพบว่ายอดขายและ/หรือกำไร ของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น  แม้ว่าในหลายกรณีจะมีกำไรทุกปี  แต่การเติบโตมีน้อยเฉลี่ยไม่เกิน 5-6%  หรือบางทีมองย้อนกลับจากปีล่าสุดไป 4-5 ปีนั้น  ตัวเลขกำไรก็เท่าเดิม  แบบนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นหุ้นโตช้าหรือไม่โต  ในบางกรณีกำไรกลับลดลงด้วยซึ่งก็ถือว่าเป็นหุ้นกลุ่มเดียวกัน  และถ้าเราเจอแบบนี้  วิธีที่ดีก็คือ  อย่าไปซื้อแม้ว่าบางทีเขาอาจจะจ่ายปันผลใช้ได้และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดด้วยซ้ำ  เพราะถ้าเราซื้อไว้  อนาคตกำไรอาจจะลดลงและปันผลก็จะลดลงด้วย

  ถ้าเราดูข้อมูลพบว่ายอดขายและกำไร “ปกติ” ของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี  บางทีแม้ว่าภาพเศรษฐกิจโดยรวมก็ไม่ดีแต่ผลประกอบการของบริษัทก็ยังโต  โดยเฉลี่ยแล้วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานั้นการเติบโตต่อปีเกิน 10% หรือบางทีเกิน 15% แบบนี้เราก็อาจจะกำลังเจอหุ้นโตเร็วเข้าแล้ว  ถ้าเราวิเคราะห์ต่อและพบ “แหล่งของการเติบโต”  เช่น เกิดจากอุตสาหกรรมที่เติบโต  หรือการกินส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่ง  ไม่ใช่ราคาของสินค้าที่เพิ่มขึ้น  แบบนี้ก็อาจจะชัดเจนว่ามันเข้าข่ายเป็นหุ้นโตเร็วที่เราจะซื้อได้  บางทีในราคาที่อาจจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดนั่นก็คือ  เราอาจจะให้ค่า PE ที่สูงถึง 20-30 เท่าในบางกรณีก็เป็นไปได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  ที่กำลังมีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืนซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตต่อไปได้นานโดยมีความเสี่ยงต่ำ

  หุ้นตัวใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดสูง  เป็นธุรกิจที่อยู่มานาน  มีผลประกอบการที่ดีมีรายได้และกำไรสม่ำเสมอ  และมีการเติบโตพอใช้ประมาณ 5-10% ต่อปี ในปีที่ “เลวร้าย” ก็มักจะยังมีกำไรแม้ว่าอาจจะลดลงบ้างแต่ก็ไม่มาก  อาจจะซัก 20-30%  มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอในระดับเฉลี่ยของตลาดเช่น 2.5-3.5% ต่อปี แบบนี้มักจะเข้าข่ายเป็น “หุ้นแข็งแกร่ง” ที่เรามักจะมีโอกาสได้ลงทุน  และจังหวะที่ดีก็คือช่วงที่ราคาหุ้นอาจจะปรับตัวลงมาจนค่า PE ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตหรือต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนอย่างอื่นเช่นการฝากเงิน  เมื่อซื้อหุ้นไว้แล้วก็อาจจะต้องรอจนหุ้นปรับตัวขึ้นไปทำกำไรให้เราคุ้มค่าเช่นได้กำไรเฉลี่ยปีละ10-15% เราก็อาจจะพิจารณาขายทิ้ง  เพราะโดยปกติราคาหุ้นแข็งแกร่งนั้นมักจะปรับตัวหรือโตขึ้นไปไม่สูงมากเนื่องจากมันอาจจะตัวใหญ่เกินไปและกำไรก็มักจะไม่สามารถโต “ก้าวกระโดด” แบบหุ้นโตเร็ว

  ถ้าเราเปิดดูข้อมูลผลประกอบการหรือกำไรของบริษัทแล้วพบว่าในช่วง 5-6 ปีหรือถ้าให้ดีดูย้อนหลังไป 10 ปี นั้น  ในบางช่วงบริษัทมีกำไรดีมากติดต่อกันหลายปี  แต่หลังจากนั้นบริษัทก็ขาดทุนติดต่อกันหลายปี แล้วก็ย้อนกลับมากำไรอีก  แบบนี้เราก็อาจจะเจอกับหุ้นวัฏจักรเข้าให้แล้ว  แน่นอน ในบางครั้งเราอาจจะไม่เห็นการขาดทุน  แต่กำไรในบางช่วงมักจะสูงและบางช่วงก็มักจะต่ำ  ช่วงเวลาของการขึ้นลงในแต่ละบริษัทก็อาจจะไม่เท่ากัน  บางบริษัทนั้นเวลาดีอาจจะหลายปีเช่นเดียวกับเวลาที่ไม่ดี  บางบริษัทก็อาจจะดีแค่ปีหรือสองปีแล้วก็กลับไปแย่  ในกรณีแบบนี้  เราต้องรู้ว่าเวลาซื้อหุ้นนั้น  อย่าไปดูว่าบริษัทกำลังกำไรดี  เราต้องดูว่า “วัฏจักร” มันอยู่ในช่วงไหน  การเล่นหุ้นวัฏจักรนั้นไม่ง่ายโดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้อยู่ในวงการของธุรกิจ  ประเด็นที่ต้องระวังก็คือ  อย่าซื้อในราคาที่สูงเกินไปและอย่าไปเข้าใจผิดว่ามันเป็นหุ้นโตเร็ว

  ถ้าเราเปิดดูข้อมูลผลประกอบการแล้วพบว่ากำไรก็ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจนัก  แต่ข้อมูล PB หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นทางบัญชีนั้นต่ำมาก  เช่น  ในปัจจุบันที่ค่าเฉลี่ยของตลาดประมาณ 2.1 เท่าและบริษัทใน MAI เท่ากับ 4.3 เท่า  แต่ของบริษัทเท่ากับแค่ 0.7 เท่า แบบนี้ก็อาจจะสงสัยว่าบริษัทอาจจะเข้าข่ายเป็นหุ้นทรัพย์สินมาก  ถ้าเราศึกษาต่อแล้วพบว่าทรัพย์สินที่ลงบัญชีไว้นั้น  น่าจะมีค่าหรือมีราคาตลาดที่สูงไม่น้อยกว่ามูลค่าในบัญชีหรืออาจจะสูงกว่าด้วยซ้ำ  เช่น เป็นที่ดินในทำเลที่ดีมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาหรือขายต่อได้ไม่ยาก  และกำไรที่ได้นั้นอาจจะมากกว่า Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งหมดบวกหนี้สินทั้งหมดของบริษัทมาก  แบบนี้  เราก็อาจจะพิจารณาซื้อหุ้นแล้วก็รอว่าวันหนึ่งผู้บริหารจะขายทรัพย์สินนั้นออกไปซึ่งจะส่งผลให้ได้กำไรและราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามากซึ่งก็จะเป็นวันที่เราจะขายหุ้นทิ้ง  อย่างไรก็ตาม  การซื้อหุ้นทรัพย์สินมากนั้น  ถ้าผู้บริหารไม่ทำอะไรกับทรัพย์สินและปล่อยทิ้งไว้นาน  เราก็อาจจะขาดทุนจากการเสียโอกาสทางการเงินได้

  สุดท้าย  ถ้าเราพบหุ้นที่เคยกำไรแต่ต่อมาขาดทุนอย่างหนักและขาดทุนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  ดูไปแล้วไม่รู้ว่าธุรกิจจะ “รอด” หรือเปล่า  อย่างไรก็ตาม  หนี้สินของบริษัทเปรียบเทียบกับขนาดของทรัพย์สินแล้วก็ดูเหมือนว่าจะไม่สูงเกินไป  สินค้าของบริษัทเองก็ยังขายได้ แข่งขันได้พอสมควร  ถ้ามองลึกลงไปแล้วพบว่าปัญหาของบริษัทที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวหรือเป็นสาเหตุจากปัจจัยที่พอแก้ไขได้โดยที่ไม่ต้องระดมทุนใหม่มากมายมาแก้ปัญหา  เราก็อาจจะได้พบกับหุ้นฟื้นตัวแล้ว  เวลาซื้อหุ้นก็น่าจะเป็นว่าบริษัทได้เริ่มกระบวนการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตอบรับการฟื้นฟูแล้วในขณะที่มูลค่าตลาดหรือ Market Cap. ของบริษัทนั้นอยู่ในระดับต่ำสุด